ยืมตัวนักเตะ : คำตอบของฟุตบอลยุคใหม่หรือช่องทางหากำไรที่ละเมิดสิทธิมนุษย์?
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/232/1160562/ee.jpgยืมตัวนักเตะ : คำตอบของฟุตบอลยุคใหม่หรือช่องทางหากำไรที่ละเมิดสิทธิมนุษย์?

    ยืมตัวนักเตะ : คำตอบของฟุตบอลยุคใหม่หรือช่องทางหากำไรที่ละเมิดสิทธิมนุษย์?

    2020-09-25T09:01:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า การยืมตัว กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในโลกฟุตบอล การย้ายทีมลักษณะนี้ ได้รับความนิยมจากหลายสโมสร เนื่องจากเสียเงินน้อยกว่า และป้องกันการขาดทุนมหาศาล หากผู้เล่นที่คว้ามาไม่ตอบโจทย์ที่ต้องการ

    ทีมฟุตบอลชั้นนำในปัจจุบัน จึงมีผู้เล่นในทีมไม่น้อยกว่า 30 คน สโมสรเหล่านี้ใช้ข้อได้เปรียบจากเม็ดเงินที่หนุนหลัง และความต้องการของตลาดที่ไม่พร้อมเสี่ยงในการลงทุนซื้อนักเตะ สร้าง กองทัพยืมตัว ที่หมายถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาล

    Main Stand พาคุณเจาะลึก การยืมตัวผู้เล่น หรือ Loan Transfer ในกีฬาฟุตบอล ว่าสรุปแล้ว การย้ายตัวที่กำลังนิยมในขณะนี้ คือ แนวทางของทีมฟุตบอลในอนาคต หรือ ธุรกิจอันสกปรก กันแน่ ?

    ผลประโยชน์ของดาวรุ่ง

    ก่อน การยืมตัว จะกลายเป็นแนวทางธุรกิจแบบใหม่ในโลกฟุตบอล ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นในปี 1967 การย้ายผู้เล่นในรูปแบบนี้ ไม่มีความหมายมากกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่ได้โอกาสลงสนาม

    จอห์น ด็อคเกอร์ (John Docker) ปีกวัย 19 ปี ของ โคเวนทรี ซิตี้ คือนักเตะรายแรกที่ย้ายทีมในรูปแบบยืมตัว เมื่อถูกปล่อยไปหาประสบการณ์กับ ทอร์คีย์ ยูไนเต็ด แม้เขาจะลงเล่นกับต้นสังกัดชั่วคราวเพียง 4 นัด แต่การย้ายทีมครั้งนี้ กลายเป็นแนวทางใหม่ของสโมสรทั่วโลกอีกหลายสิบปีถัดมา

    ประเทศที่ยึดมั่นรูปแบบดังกล่าวจนปัจจุบัน คือ เยอรมัน เนื่องจากกฏ 50+1 ที่บังคับให้แฟนฟุตบอลเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสโมสร ส่งผลให้หลายทีมไม่มีเงินมากพอซื้อนักเตะตามใจอยาก การลงทุนกับนักเตะดาวรุ่ง จึงเป็นทิศทางของหลายสโมสร และไม่มีวิธีใดที่จะฝึกฝนแข้งรุ่นเยาว์ให้แข็งแกร่ง มากกว่าการยืมตัว

    1

    บาเยิร์น มิวนิค คือ ทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยยืมตัวผู้เล่น ยกตัวอย่าง ฟิลิป ลาห์ม (Philipp Lahm) ฟูลแบ็คระดับตำนานของสโมสร ที่ถูกปล่อยไปค้าแข้งกับ สตุตการ์ท เป็นเวลา 2 ฤดูกาล (2003–2005) เขาพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว จนกลับมายึดตัวจริงในทัพเสือใต้ ยาวนาน 12 ปี

    "ช่วงเวลายืมตัวที่สตุตการ์ท ส่งผลดีอย่างมากต่อลาห์ม เขาพัฒนาตัวเองที่นั่น จนเป็นนักเตะที่พร้อมสำหรับเรา" ฮาซาน ซาลิฮามิดชิช (Hasan Salihamidžić) อดีตนักเตะ และผู้อำนวยการกีฬา บาเยิร์น มิวนิค กล่าว

    ลาห์ม ไม่ใช่ความสำเร็จเดียวจากแนวทางนี้ นักเตะอย่าง โทนี โครส, ดาบิด อลาบา หรือ แซร์จ นาบรี ต่างถูก บาเยิร์น มิวนิค ปล่อยไปเก็บประสบการณ์กับเพื่อนร่วมลีก เช่น ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน และ ฮอฟเฟนไฮม์ ก่อนกลับคืนสู่ต้นสังกัด ในฐานะแข้งฝีมือดีระดับโลก

    การยืมตัวเพื่อพัฒนาฝีเท้าดาวรุ่ง ไม่เพียงส่งผลดีแก่ต้นสังกัดนักเตะ (Parent Club) สโมสรที่ยืมตัวแข้งเหล่านี้มาใช้งาน ได้ประโยชน์ไม่แพ้กัน ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น คว้าแชมป์ครึ่งฤดูกาลแรก ในปีที่ โทนี โครส อยู่กับทีม (2009-10) ส่วน ฮอฟเฟนไฮม์ จบอันดับ 3 ในฤดูกาล 2017-18 คว้าโควต้า ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก จากผลงาน 10 ประตูของ แซร์จ นาบรี

    2

    การย้ายทีมด้วยรูปแบบยืมตัว จึงเป็นเครื่องมือรักษาสมดุลในโลกฟุตบอล ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากผลงานของแข้งรุ่นเยาว์ แต่เมื่อวันหนึ่ง ฟุตบอลหมุนเข้าสู่โลกทุนนิยมเต็มตัว การยืมตัว ไม่จำกัดผลประโยชน์แค่ในสนาม แต่หมายถึงมูลค่ามหาศาล ทางธุรกิจ

    โอกาสทางธุรกิจ

    เดือนกรกฎาคม ปี 2003 วงการฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เมื่อ โรมัน อบราโมวิช (Roman Abramovich) เข้าเทคโอเวอร์สโมสรเชลซี กลายเป็นเศรษฐีบุญทุ่มคนแรกในโลกลูกหนัง จนพาทีมดังจาก สแตมฟอร์ด บริดจ์ ประสบความสำเร็จ ถึงปัจจุบัน

    ไม่ใช่เรื่องแปลกหาก โรมัน จะหว่านเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อคว้านักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ แต่ความบ้าคลั่งของนักธุรกิจชาวรัสเซีย ไม่หยุดแค่นั้น ในแต่ละฤดูกาล เชลซี ทุ่มเงินมหาศาลในการสร้าง และซื้อดาวรุ่งฝีมือดีเข้าสู่ทีม หวังว่าสักวันหนึ่ง แข้งเหล่านี้ จะกลายเป็นตัวหลักของทีม

    "ผมอยากมอบบางสิ่งกลับสู่กีฬาฟุตบอล และวิธีที่ยอดเยี่ยมคือ การสร้างผู้เล่นเยาวชนของเชลซี" ทอเร อันเดร โฟล (Tore André Flo) อดีตนักเตะของ เชลซี และโค้ชเทคนิคฝ่ายผู้เล่นยืมตัว กล่าว

    3

    "เราติดตามเส้นทาง และเฝ้าดูการพัฒนาของพวกเขา หวังว่าวันหนึ่ง นักเตะเหล่านี้จะกลับมาเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของเรา"

    แผนการของ เชลซี ไม่แตกต่างจาก บาเยิร์น มิวนิค แต่ผลลัพธ์ที่ได้มากลับตรงกันข้าม นักเตะดาวรุ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีขณะออกไปยืมตัว และเมื่อกลับมาสู่ต้นสังกัด พวกเขาเหล่านี้ไม่มีพื้นที่ลงสนาม เนื่องจากตำแหน่งตัวจริงถูกครอบครองโดยผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์

    จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ตรงนี้ หากเป็นสโมสรที่ควบคุมการเงินเคร่งครัด เช่น ทีมฟุตบอลในเยอรมัน ย่อมปล่อยแข้งดาวรุ่งเหล่านี้ออกจากทีม เนื่องจาก ไม่มีเงินเพียงพอจะแบกค่าเหนื่อยของผู้เล่นที่ไม่ใช้งาน แต่สำหรับ เชลซี พวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องปล่อยแข้งเหล่านี้ ด้วยทรัพยากรมหาศาลจากเจ้าของ ที่คอยหนุนหลัง

    ดาวรุ่งฝีเท้าดี เช่น เควิน เดอ บรอยน์, โรเมลู ลูกากู หรือ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ถูกซื้อมาเป็นส่วนหนึ่งของทีม เมื่อพบว่านักเตะเหล่านี้สอบไม่ผ่าน เชลซีส่งพวกเขาออกไปหาประสบการณ์ราว 2-3 ฤดูกาล ไม่ใช่เพื่อเตรียมพร้อมใช้งาน แต่เพื่อหากำไร

    4

    เชลซี ขาย เดอ บรอยน์ ด้วยราคา 22 ล้านยูโร ได้กำไร 14 ล้านยูโร, ขาย ลูกากู 35 ล้านยูโร ได้กำไร 30 ล้านยูโร และ ขาย ซาลาห์ ด้วยราคาเกือบเท่าทุนที่ 15 ล้านยูโร เห็นได้ชัดว่า การส่งผู้เล่นออกไปยืมตัวของ เชลซี ไม่คล้ายคลึงกับ บาเยิร์น มิวนิค นักเตะเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นก็จริง แต่สโมสรไม่มีความคิดใช้งานนักเตะเหล่านี้ตั้งแต่ต้น

    การปล่อยนักเตะออกไปยืมตัว จึงไม่ใช่เพื่อพัฒนาฝีเท้า แต่เป็นการเพิ่มมูลค่านักเตะในสังกัด เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ แน่นอนว่า ไม่ใช่ดาวรุ่งทุกคนที่ประสบความสำเร็จ แต่หากคุณเป็นทีมเงินถุงเงินถัง เช่น เชลซี การลงทุนในลักษณะนี้ สร้างกำไรแก่สโมสรอย่างมหาศาล

    ไม่จำกัดเพียงผู้เล่นดาวรุ่ง นักเตะชุดใหญ่จำนวนมาก ถูกปล่อยจากทีมในสัญญายืมตัว แทนจะขายทิ้งในทันที เนื่องจาก สามารถหากำไรแบบทั้งขึ้นทั้งล่อง ยกตัวอย่าง อัลวาโร โมราตา (Alvaro Morata) ที่ เชลซี ยอมปล่อยให้ แอตเลติโก มาดริด ยืมตัวนาน 18 เดือน แลกกับเงิน 7 ล้านยูโร และค่าตัวซื้อขาด 56 ล้านยูโร รวมเป็น 63 ล้านยูโร ช่วยให้เชลซีขาดทุนจากนักเตะที่น่าผิดหวังรายนี้ ในตอนที่ซื้อมาจาก เรอัล มาดริด เพียง 3 ล้านยูโร

    5

    Loan Army หรือ กองทัพยืมตัว จึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น นักเตะดาวรุ่ง หรือ นักเตะวัยแก่ เชลซี ต่างปล่อยพวกเขาออกไปยืมตัว แก่สโมสรต่างๆ ฤดูกาล 2018-19 เชลซี ปล่อยยืมผู้เล่นออกจากทีม 40 ราย ก่อนลดเหลือ 28 ราย ในฤดูกาล 2019-20 โดยผู้เล่นจำนวน 15 ราย เป็นผู้เล่นอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปี 

    แนวทางแบบนี้ ไม่แตกต่างจาก การนำสินค้าเหลือในโกดัง มาลงทุนเพื่อดัดแปลงให้ดูเหมือนใหม่ จากเดิมที่เคยเป็นของค้างสต็อกรอวันทิ้ง กลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้แก่ธุรกิจ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากการยืมตัวด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจ จะแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

    นักกีฬา คือ สินค้า

    การปล่อยนักเตะยืมตัวเพื่อเก็งกำไร กลายเป็นแนวทางของทีมฟุตบอลทั่วโลก ที่มีงบประมาณเหลือเฟือ เช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เรอัล มาดริด หรือ บาร์เซโลนา สโมสรเหล่านี้ กักตุนผู้เล่นจำนวนมากไว้กับทีม เพื่อส่งออกให้ทีมอื่นใช้งานในลักษณะยืมตัว แทนจะขายทิ้ง

    ทางฝั่งทีมที่มีงบประมาณน้อยกว่า ยังได้ประโยชน์จากการใช้งานผู้เล่นสัญญาเช่า เพียงแต่ ไม่ใช่ผู้เล่นดาวรุ่งอีกต่อไป บาเยิร์น มิวนิค ยืมตัว ฮาเมส โรดริเกซ จาก เรอัล มาดริด ต่อด้วย ฟิลิปเป คูตินโญ จาก บาร์เซโลนา สรุปแล้ว ทัพเสือใต้จ่ายเงินเพียง 21.5 ล้านยูโร แต่ได้เพลย์เมคเกอร์ระดับโลกเข้ามาใช้งาน 3 ฤดูกาลติดต่อกัน ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคุ้มค่าแค่ไหน

    เหมือนกับธุรกิจอื่น ในตลาดเสรี เมื่ออุปสงค์อยากได้ และอุปทานอยากขาย การย้ายทีมแบบยืมตัว จึงกลายเป็นคำตอบของฟุตบอลสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงทีมระดับแถวหน้าเท่านั้น ที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจ ลักษณะนี้ ทีมฟุตบอลขนาดกลาง ลอกเลียนแนวคิดนี้มาใช้งาน เพื่อหากำไรเข้าสโมสร

    6

    สโมสร อตาลันตา ทีมฟุตบอลจากกัลโช เซเรีย อา คือทีมฟุตบอลระดับล่างที่ประสบความสำเร็จมากในธุรกิจนี้ ฤดูกาล 2019-20 พวกเขายืมตัวนักเตะ 3 ราย ได้แก่ มัตเตีย กัลดารา, ซิมง เคียร์ และ กิลแยร์เม อรานา ซึ่งมีค่าตัวในเว็บไซต์ transfermarkt รวมกัน 27 ล้าน มาใช้งานแบบฟรีๆ

    ขณะเดียวกัน นักเตะของ อตาลันตา ที่แท้จริง อย่าง เดยัน คูลูเซฟสกี และ จานลูก้า มันชินี กลับถูกปล่อยยืมตัว ก่อนขายขาดเวลาต่อมา สร้างรายได้เข้าสู่สโมสรเป็นเงินรวม 50 ล้านยูโร แถมพวกเขายังสร้าง กองทัพยืมตัวที่อลังการกว่า เชลซี ด้วยจำนวนมากถึง 54 ราย 

    สำหรับ สโมสรระดับล่าง พวกเขาทำหน้าที่เป็นลูกค้าใช้งานบริการจากกองทัพยืมตัว เช่น ฟอร์ทูนา ดุสเซลดอร์ฟ ที่ยืมผู้เล่นรวม 8 ราย เข้าสู่สโมสร แม้จะไม่สามารถรอดตกชั้นตามเป้าหมาย แต่อย่างน้อย ดุสเซลดอร์ฟ เสียงบประมาณไม่ถึง 4 ล้านยูโร ในการเสริมทัพ หมายความว่า ทีมไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาการเงิน แม้หล่นสู่ บุนเดสลีกา

    ไม่มีใครไม่ได้ประโยชน์จากดีลยืมตัว แม้แต่ เอเยนต์ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวของกับการย้ายตัวผู้เล่นในลักษณะนี้ แต่ผลสุดท้าย การยืมตัวด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจ จะนำมาสู่การซื้อขายในภายภาคหน้า เอเยนต์จึงไม่จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการย้ายทีมถาวร เนื่องจากพวกเขารู้ดีว่า ยังไงก็ได้รับส่วนแบ่งจากนักเตะเหมือนเดิม

    7

    การย้ายทีมแบบยืมตัว ดูเหมือนจะส่งผลดีต่อวงการฟุตบอล แต่ความจริงแล้ว การย้ายทีมลักษณะนี้ ถูกพิจารณาว่า ทำลายความสมดุลของโลกฟุตบอล และใกล้เคียงกับธุรกิจรูปแบบ "ค้ามนุษย์" องค์กรอย่าง FIFA จึงต้องรีบออกมายับยั้งการยืมตัวผู้เล่น เพื่อหากำไร ก่อนทุกอย่างจะบานปลายมากกว่านี้

    นับแต่ฤดูกาล 2020-21 เป็นต้นไป หนึ่งสโมสรไม่สามารถส่งผู้เล่นอายุ 22 ปีขึ้นไป ออกยืมตัวมากกว่า 8 คนต่อฤดูกาล และจะลดเหลือ 6 คนต่อฤดูกาล ในปี 2022 และจำกัดการยืมตัวระหว่าง 2 สโมสร ไว้ที่ 3 คนต่อฤดูกาล

    "เราอยากทำให้มั่นใจว่า การยืมตัว จะมีอยู่เพื่อจุดประสงค์ทางกีฬา เพื่อพัฒนาความสามารถของนักเตะเยาวชน นี่คือก้าวสำคัญที่จะรักษาสมดุลของระบบ และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน" FIFA กล่าวในแถลงอย่างเป็นทางการ

    "การพัฒนาผู้เล่นได้รับผลเสียอย่างมาก จากการย้ายตัวผู้เล่นจากสโมสรสู่อีกสโมสร โดยไม่มีแผนการที่ชัดเจนในภายภาคหน้า ระบบยืมตัวในปัจจุบัน กลายเป็นการส่งเสริมให้เกิดการกักตุนผู้เล่น โดยมีสโมสรจำนวนมากซื้อผู้เล่นเข้ามา เพียงเพื่อปล่อยยืมพวกเขาสู่อีกทีมหนึ่ง"

    8

    การปรับกฏเกี่ยวกับการยืมตัวครั้งนี้ มีขึ้นพร้อมกับข้อบังคับเรื่องผลตอบแทนของเอเยนต์ เราจึงพอจะกล่าวได้ว่า การยืมตัวผู้เล่นเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เลวร้ายในระดับใกล้เคียงกับที่เอเยนต์หาประโยชน์จากนักเตะ แค่ฝ่ายที่ได้ประโยชน์เปลี่ยหน้าไปเท่านั้น

    การยืมตัว กลายเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงถึงผลเสีย เมื่อแนวคิดทุนนิยมเข้ามามีบทบาทกับกีฬามากเกินไป จากวิถีทางที่เคยใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ จึงกลายเป็นหนทางหาผลประโยชน์จากผู้มีอำนาจในวงการ กลายเป็นอาชญากรรมแบบถูกกฏหมาย ที่ไม่มีใครไม่ได้ประโยชน์ นอกจาก นักฟุตบอล ที่ถูกเปลี่ยนสภาพจาก นักกีฬา เป็น สินค้า โดยสมบูรณ์

    อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ยืมตัวนักเตะ : คำตอบของฟุตบอลยุคใหม่หรือช่องทางหากำไรที่ละเมิดสิทธิมนุษย์?