ทางตรงไม่ไหวให้ไปทางลัด : "รูลอน การ์ดเนอร์" นักมวยปล้ำลูกชาวนาที่คว่ำราชาผู้ไร้พ่าย 13 ปี

ทางตรงไม่ไหวให้ไปทางลัด : "รูลอน การ์ดเนอร์" นักมวยปล้ำลูกชาวนาที่คว่ำราชาผู้ไร้พ่าย 13 ปี

ทางตรงไม่ไหวให้ไปทางลัด : "รูลอน การ์ดเนอร์" นักมวยปล้ำลูกชาวนาที่คว่ำราชาผู้ไร้พ่าย 13 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สหรัฐอเมริกา กับ รัสเซีย (หรือ สหภาพโซเวียต เดิม) ชิงดีชิงเด่นกันทุกเรื่องมาเป็นระยะเวลาช้านานแล้ว หนึ่งในเวทีที่พวกเขาแสดงออกมาคือโอลิมปิก แม้จะเป็นการแข่งขันที่มีเป้าหมายความเป็นเลิศทางกีฬา ทว่าหากนักกีฬา 2 ชาตินี้เจอกัน ไม่มีใครอยากจะเป็นผู้แพ้

นี่คือเรื่องราวจาก รูลอน การ์ดเนอร์ ลูกชาวนาแห่งหุบเขาชื่อ สตาร์วัลเลย์ ที่เลี้ยงวัวมาเกือบตลอดชีวิต จนได้รู้จักกับมวยปล้ำและพยายามกระทั่งติดทีมชาติสหรัฐอเมริกาไปแข่งโอลิมปิก เพื่อเจอกับคนที่โลกคิดว่า "ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้" เจ้าของฉายา "ไอ้หมีขาว" และ "จักรพรรดิโลกมวยปล้ำ" จาก รัสเซีย

อัตราการเดิมพันในวันนั้นคือ 2,000-1 (แทง 1 ได้ 2,000) ซึ่งเป็นอัตราต่อรองที่เรียกอีกแบบว่า "โต๊ะเก็บกิน" แสดงถึงความห่างชั้น ทว่าสุดท้ายแล้ว รูลอน จาก สตาร์วัลเลย์ กลับเป็นฝ่ายชนะได้สำเร็จด้วยกลยุทธ์บางอย่างที่จักรพรรดิต้องเป็นงง?

เขาทำได้อย่างไร? ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

แค่ติดทีมชาติก็เกินฝัน 

นักกีฬาระดับโอลิมปิกของสหรัฐอเมริกาหลายรายนั้นมักจะเติบโตมาจากครอบครัวนักกีฬา มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้พวกเขามีแววมีพรสวรรค์แต่เด็ก อย่างไรเสียทุกเรื่องล้วนมีคนที่แตกต่าง หนึ่งในนั้นคือ รูลอน การ์ดเนอร์ นักมวยปล้ำผู้คว้าเหรียญทองระดับ "ประวัติศาสตร์" ที่ในวงการมวยปล้ำสมัครเล่นให้คำจำกัดความว่า "ช็อคที่สุดในโลก" รายนี้

1

รูลอน เกิดและโตในหุบเขาที่ชื่อ สตาร์วัลเลย์ ในรัฐไวโอมิง ซึ่งรัฐนี้เองคือแผ่นดินตำนานชาวอเมริกันพื้นเมืองอย่างอินเดียนแดง ก่อนที่ชาวยุโรปจะย้ายเข้ามาและมาตั้งถิ่นฐาน ซึ่งบรรพบุรุษของครอบครัวการ์ดเนอร์ก็หนึ่งในเฟิร์สคลาส (คนรุ่นแรก ๆ) แห่ง สตาร์วัลเลย์ เช่นกัน 

ชีวิตที่นี่ไม่มีอะไรให้หวือหวามากมายนัก เพราะมันรายล้อมไปด้วยความสงบและเต็มไปด้วยธรรมชาติ ตัวของ รูลอน นั้นเป็นลูกคนสุดท้องในครอบครัวเกษตรกรและทำฟาร์มโคนม เติบโตมากับการทำตามทุกสิ่งที่พ่อแม่บอกตั้งแต่การปลูกผัก ถางไร่ ไปจนถึงการรีดนมมัว เรียกได้ว่าเส้นทางชีวิตของเขาคือ คันทรี่บอย ขนานแท้เลยทีเดียว 

ช่วงเวลาว่างจากฟาร์ม ความสนุกเดียวที่เขาหาได้คือการเล่นต่อสู้กับพี่ชาย ทั้ง 2 คนจะสู้กันในรูปแบบของมวยปล้ำ ซึ่งความได้เปรียบตกเป็นของ รูลอน เพราะเขาคือเด็กยักษ์มาตั้งแต่เกิด อธิบายให้ชัดคือ ร่างกายของเขานั้นพัฒนาได้รวดเร็ว โตเท่าเด็กอายุมากกว่า 2-3 ปีเลยทีเดียว ซึ่งจากจุดนั้น รูลอน ต่อยอดไปถึงการเป็นนักมวยปล้ำในระดับมัธยม จนกระทั่งระดับมหาวิทยาลัย แต่ปัญหาคือ ตอนนั้นเขาไม่ค่อยมีเทคนิคเพราะอาศัยปล้ำกับพี่ชายตามมีตามเกิด จึงทำให้เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมายนัก

"ตอนเข้ามหาวิทยาลัยผมเข้าไปแข่งระดับประเทศแต่ก็ไม่ชนะ (ได้ที่ 4 ในการแข่ง NCAA ปี 1993 รุ่น 275 ปอนด์) ตอนนั้นผมคิดว่าจะต่อยอดด้วยการไปเป็นครูหรือเป็นโค้ชมากว่า" รูลอน กล่าวกับ Wyohistory

2

มันอาจจะเป็นจริงตามที่เขาว่า เพราะการแข่งขันโอลิมปิกในปี 1996 ที่เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา รูลอน ไม่ผ่านการคัดตัว ทำให้เขาได้แต่ดูผ่านโทรทัศน์และได้เห็นนักกีฬาจากรัสเซียที่ชื่อว่า อเล็กซานเดอร์ คาเรลิน คว้าเหรียญทองในรุ่นน้ำหนัก 130 กิโลกรัม ซึ่ง ณ เวลานั้น คาเรลิน ก้าวขึ้นมาในฐานะอันดับ 1 ของโลกอย่างไร้ข้อสงสัย เพราะนี่คือเหรียญทองเหรียญที่ 3 ของเขาแล้วสำหรับการแข่งขันโอลิมปิก หลังเคยได้มาก่อนหน้าในปี 1988 และ 1992

การได้เห็นคนเก่งอย่าง คาเรลิน ปลุกไฟในตัวของเขาขึ้น ช่วงเวลา 4 ปีหลังจากพลาดหวัง รูลอน เข้าโหมดฝึกทักษะแบบเต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มเติมสิ่งที่ขาดหายไป ร่างกายที่ทำงานฟาร์มมาตลอดชีวิตแข็งแกร่งอยู่แล้ว การเหลาทักษะคือสิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นนักปล้ำฝีมือดีขึ้นมาบ้าง แม้จะไม่ได้ชนะระดับประเทศ แต่ที่แน่ ๆ ความพยายามในการยกระดับตัวเองครั้งนี้ รูลอน สามารถคัดตัวไปแข่งมวยปล้ำโอลิมปิก ที่นครซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย ในรุ่น 130 กิโลกรัมได้สำเร็จ 

อเมริกา นั้นไม่เคยหวังอะไรน้อยกว่าเหรียญทอง พวกเขาต้องการเป็นเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกทุกครั้ง เพราะมันเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศ กระนั้นสำหรับ รูลอน เขาเองไม่ใช่ตัวความหวังอะไรของทีมมวยปล้ำ เพราะนอกจากรุ่นน้ำหนักของเขาจะมีคนมาเข้าคัดตัวน้อยแล้ว ข่าวร้ายก็คือ รัสเซียส่ง คาเรลิน แชมป์คนเดิมกลับมาแข่งในรุ่นน้ำหนักนี้อีกครั้ง ... โอกาสชนะแทบไม่มี แต่ถึงอย่างนั้นการติดทีมชาติก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เกินคาดแล้ว ที่เหลือจากนี้คือประวัติศาสตร์เท่านั้นที่รออยู่

เหรียญทองไม่เกี่ยวใส่เดี่ยวได้หมด

การแข่งขันมวยปล้ำโอลิมปิก 2000 รุ่นน้ำหนัก 130 กิโลกรัม นั้นมีการแข่งขันทั้งหมด 2 รอบ เริ่มจากรอบแบ่งกลุ่ม 6 กลุ่ม แชมป์แต่ละกลุ่มจะได้ไปต่อในรอบน็อกเอาต์ ซึ่งแชมป์จากกลุ่มที่มี 3 คน จะถูกจับคู่เจอกันเองก่อนในรอบก่อนรองชนะเลิศ หาผู้ชนะเข้ารอบรองชนะเลิศ ซึ่งแชมป์จากกลุ่มที่มี 4 คน เข้าไปรอก่อนหน้า หาผู้ชนะชิงเหรียญทอง ผู้แพ้แย่งเหรียญทองแดงปลอบใจ  

3

ในรอบแรกมีนักมวยปล้ำที่เด่น ๆ ขึ้นมาหลายคน แน่นอนว่า คาเรลิน เป็นหนึ่งในนั้น เขาชนะรวดในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มและต่อด้วยรอบก่อนรองชนะเลิศ (ต้องแข่งรอบนี้ก่อนเพราะอยู่ในกลุ่มที่มี 3 คน ขณะที่ รูลอน รอในรอบรองชนะเลิศเพราะอยู่ในกลุ่มที่มี 4 คน) สถิติโดยรวมจนถึง ณ เวลานั้น เขาไม่เคยแพ้เลยแม้แต่ไฟต์เดียวนับตั้งแต่เข้ามาแข่งขันโอลิมปิก ที่โหดกว่านั้นคือ ตลอดการเป็นนักมวยปล้ำตั้งแต่อายุ 16 ปี คาเรลิน ยังไม่เคยแพ้ใคร จนถึงโอลิมปิกที่ซิดนี่ย์ครั้งนั้นก็เป็นระยะเวลารวมถึง 13 ปี ที่ไม่มีนักมวยปล้ำในโลกคนไหนทำให้เขาพลาดท่าเสียทีได้ (แข่งชิงแชมป์ 28 รายการ เป็นแชมป์ทั้งหมด) นั่นคือดีกรีเหรียญทองรุ่น 130 กิโลกรัม มา 3 สมัยซ้อน ... อย่าว่าแต่แพ้สักเกมเลย 7 ปีให้หลังเขายังไม่เคยเสียแต้มจากการโดนเหวี่ยง, โดนทุ่ม หรือโดนล็อคเลยแม้แต่แต้มเดียวอีกต่างหาก  

ขณะที่ รูลอน การ์ดเนอร์ นอกจากแชมป์จังหวัดในช่วงเรียนมัธยมแล้ว ก็ไม่เคยมีเหรียญคล้องคอเขาอีกเลยจนกระทั่งถึงตอนนั้น 

ข้อมูลดังกล่าวทำให้สื่อหลายสื่อเจาะลึกลงไปในชีวิต คาเลริน และพบว่าเขามีวัยเด็กที่โหดยิ่งกว่า รูลอน การ์ดเนอร์ เยอะ รูลอน อาจจะโตกว่าเด็กรุ่นเดียวกันไม่กี่กิโลกรัม แต่ คาเลริน คือเด็กยักษ์ตัวจริงเสียงจริง น้ำหนักแรกเกิดคือ 5.5 กิโลกรัม (น้ำหนักเด็กแรกเกิดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.3-2.8 กิโลกรัม) เขาสูง 180 เซนติเมตร หนัก 80 กิโลกรัม ตั้งแต่อายุ 13 ปี และสู้ในมวยปล้ำรุ่นเฮฟวี่เวตมาตั้งแต่อายุ 16 ปี แถมยังได้ฉายาว่า "ไอ้หมีรัสเซีย" ซึ่งมาจากความทรงพลังคว่ำคู่แข่งล้มทิ่มล้มหงายมาจนนับไม่ถ้วน ... ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ไม่มีใครหวังว่า รูลอน การ์ดเนอร์ จากสหรัฐฯ จะสามารถหักปากกาเซียนอะไรได้ เพราะ คาเลริน นั้นสมบูรณ์แบบทั้งเรื่องขนาดตัว, ประสบการณ์ และทักษะที่เจนจัด  

รูลอน เองก็เคยเจอกับ คาเลริน มาแล้วแต่ไม่ใช่ศึกโอลิมปิก เรื่องราวเกิดขึ้น 3 ปี ก่อนการแข่งขันที่ ซิดนี่ย์ ซึ่งตัวของ รูลอน ได้รู้ซึ้งถึงความต่างของระดับ ณ เวลานั้นและทำให้เขาต้องถีบตัวเองครั้งใหญ่ ในการปล้ำเมื่อปี 1997 รูลอน โดน คาเลริน รัดเข้าที่เอวและเหวี่ยงข้ามหัวมาแล้ว แพ้หมดรูปชนิดที่ว่ากระดูกคอของเขาเคลื่อนเลยทีเดียว 

4

"ผมเคยปล้ำกับหมอนี่เมื่อ 3 ปีก่อน ผมเจอเหวี่ยงหมดทรงไปครั้งสองครั้ง กระดูกสันหลังและกระดูกคอของผมโดนเล่นงาน ไม่ต้องสืบสาวหาความเลย ไอ้หมอนี่เก่งสุด ๆ อย่าให้โดนเขาล็อกเชียวทุกอย่างจะจบในทันที" รูลอน กล่าว 

แม้จะเคยแพ้แบบหมดรูป โดนจับเหวี่ยงเหมือนกับคนงานในไร่เหวี่ยงกระสอบปุ๋ย แต่ รูลอน กลับมาแข่งรอบนี้ด้วยสติสัมปชัญญะซึ่งดีกว่าที่เคยเป็น รวมถึงมีทักษะดีกว่าการเจอกับ คาเรลิน ครั้งแรกพอสมควร แต่แน่นอนว่า 2 สิ่งที่เพิ่มมาไม่อาจจะทำให้เขาดีกว่า คาเรลิน ที่ชนะอย่างเดียวมา 13 ปี ได้ สิ่งที่จะทำให้เขาเสียเปรียบน้อยที่สุด คือนอกจากพลังทางร่างกายและความคิดแล้ว เขาต้องสู้อย่างมีแบบแผนและวิธีการ เพื่อเปิดโอกาสชนะของตัวเองให้กว้างขึ้นนั่นเอง อย่างน้อยๆ ขอสู้ให้ดีที่สุดก็พอ

ทำไมจะไม่ได้?

"หมอนี่ (คาเรลิน) คือคนที่ไม่เคยแพ้ใครมา 13 ปี คงยากจริง ๆ ที่ใครสักคนจะมีโอกาสเอาชนะเขา" รูลอน ว่าเช่นนั้นก่อนที่รอบน็อคเอาต์จะเริ่มขึ้น

ทั้ง รูลอน การ์ดเนอร์ และ อเล็กซานเดอร์ คาเรลิน มาด้วยทรงเดียวกัน คือไม่มีคู่แข่งคนไหนเอาชนะเขาได้ ทั้งคู่ผ่านเส้นทางมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศแบบชิล ๆ ทั้งคู่ และเมื่อถึงนัดชิงเหรียญทองก็เป็นอีกครั้งที่เป็นการเจอกับระหว่างนักกีฬาจากอเมริกาและรัสเซีย (โซเวียตเดิม) ซึ่งมีปมชิงดีชิงเด่นกันทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องกีฬายันดาราศาสตร์และวิทยาการ ... มันคือศึกที่ใหญ่ยิ่งกว่าเรื่องของการแข่งขัน แต่มันคือศักดิ์ศรีของประเทศ มันคือการแสดงออกทางสัญลักษณ์ของแต่ละประเทศว่า "ข้าชนะและข้ายิ่งใหญ่" ไม่ว่าจะเรื่องใด ๆ "ข้าคือมหาอำนาจ"

แน่นอนว่าตอนนั้นฝั่ง รัสเซีย เป็นฝ่ายลำพองใจ เพราะ คาเลริน นั้นปล้ำมาตั้งแต่อายุ 16 ปี ผ่านศึกมากมายเกือบ 300 ไฟต์ และอย่างที่ได้กล่าวไว้ การไม่เคยแพ้ใครทำให้หลายคนนึกภาพไม่ออกว่าเขาจะแพ้ให้กับ รูลอน การ์ดเนอร์ อดีตพนักงานรีดนมจาก สตาร์วัลเลย์ ได้อย่างไร แต่มาถึงขั้นนี้แล้ว รูลอน การ์ดเนอร์ เปลี่ยนนิยามการสู้ใหม่ การที่เขาเคยบอกว่าไม่มีใครมีหวังเอาชนะ คาเลริน ได้ถูกลืมไปชั่วขณะ นำไปสู่การมโนภาพแห่งชัยชนะขึ้นมาเพื่อเป็นการปลุกใจตัวเองไม่ให้แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง

"จำคำผมไว้.. คำว่าไม่มีโอกาสมันไม่มีในโลก คุณต้องลงไปสู้ด้วยความคิดที่ว่าคุณจะเป็นผู้ชนะ แม้ความจริงมันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นอย่างนั้นก็ตาม" นั่นคือสภาพจิตใจของ รูลอน ที่แสดงถึงความแข็งแกร่งได้อย่างชัดเจน และเขาคิดว่าจะไม่ใช่หมูให้ใครเคี้ยวได้ง่าย ๆ บทสัมภาษณ์ดังกล่าวถูกเปิดเผยภายหลังจากไฟต์นั้น

5

เขาปล่อยหัวสมองตัวเองให้โล่ง โยนความกดดันทุกอย่างทิ้ง เลิกกลัวแพ้ และบอกตัวเองว่า "มาไกลแค่นี้ก็สุด ๆ แล้ว" จากนั้นเหลือแค่ออกไปสู้ให้เต็มที่ เตรียมตัวให้ดีที่สุด เพื่อรอดูว่าจริงหรือที่คำตนเองเคยพูดไว้ว่า "คำว่าไม่มีโอกาสมันไม่มีในโลก" ไม่ใช่ประโยคหลอกตัวเองเท่านั้น" 

"ตอนนั้นคุณมีราคาต่อรองที่ 2,000-1 (เห็นภาพง่าย ๆ คือ แทง รูลอน ชนะ 1 บาทได้เงิน 2,000 บาท) คุณคิดจริง ๆ หรือว่าคุณจะเอาชนะเขาได้" นักข่าวถามเขา

"แปลกดี บางทีผมก็คุยกับตัวเองแล้วบอกว่า เอาวะอย่างน้อยเหรียญเงินก็อยู่ในมือแล้วนะ ผมรู้ หลายคนไม่คิดว่าผมจะเป็นฝ่ายเอาชนะได้หรอก แต่สุดท้ายผมก็ทำในแบบที่ผมคิด ผมจะลองลงไปสู้ดู ผมจะเดินลงสังเวียนในแบบของหมาจนตรอกแล้วบอกกับทุกคนว่า คอยดูเลยใครที่บอกว่าข้าจะไม่ชนะ ถ่างตาดูให้ดี ๆ เดี๋ยวพี่จะโชว์ให้ดู" นี่คือวิธีการสร้างความกล้าให้กับตัวเองในฉบับของเขา 

ขณะที่ คาเรลิน เดินลงสู่สังเวียนนัดชิงเหรียญทองด้วยความเชื่อเดิม ๆ แบบทุกครั้ง เหมือนกับที่เขาเคยทำมาได้เป็นร้อย ๆ ชัยชนะ "มันเป็นเรื่องจริง ผมเห็นความกลัวในสายตาของคู่แข่งของผมทุกคน และผมจะทำให้พวกเขาได้เห็นความกลัวที่แท้จริงเอง"

ทางตรงไม่ไหวให้ไปทางอ้อม

แน่นอนการสู้ไม่ได้นำมาสู่การวางแผนอย่างหนักเพื่อทดแทนส่วนที่เป็นรอง รูลอน ที่เคยโดนเดี่ยวมือ 2 จาก รัสเซีย (รองจาก คาเรลิน) ซูเพล็กซ์ 3 ครั้งตั้งแต่ยกแรกมาแล้วในอดีต เรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งเก่า เขารู้ว่าต้องถ่วงเวลาให้ได้ อย่าให้โดนล็อกหรือรวบเอวตั้งแต่ยกแรกเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นแพ้ 100%

6

"ผมต้องหาทางเตะถ่วงเขาเอาไว้ 1 เดือนก่อนโอลิมปิกผมเคยเจอนักมวยปล้ำเบอร์ 2 ของรัสเซียและแพ้เพราะโดนจับภายใน 13 วินาที ผมจะต้องดึงเวลาเอาไว้และไปจัดการกับเขาในช่วงท้าย ๆ นั่นคือแผน" 

สัญญาณยกแรกดังขึ้น รูลอน ไม่ได้เปิดเกมแลกแบบที่ใครคาดคิด แผนของเขาคือการทิ้งตัวนอนลงกับพื้น ทำให้ คาเรลิน เข้าล็อกเอวและดึงเขาขึ้นมาซูเพล็กซ์ไม่ได้ ครั้นจะให้ใช้ศิลปะการต่อสู้ก็ยากอีก เพราะตัวของ รูลอน ที่ติดพื้น ทำให้ คาเรลิน ก้มตัวลงมาอัดได้ไม่ถนัด หนำซ้ำหากพลาดนิดเดียวอาจจะเสียท่าโดนกดได้อีก ยกแรกแบบคนปอดแหกของ รูลอน นำมาซึ่งความหัวร้อนของ คาเรลิน อย่างไม่ต้องสงสัย เขาไม่ได้แต้มจาก รูลอน เลยแม้แต่คะแนนเดียว ซึ่งนั่นเป็นเรื่องผิดปกติของนักมวยปล้ำที่อัดคนอื่นเป็นของง่ายอย่างเขา 

นั่นคือสิ่งที่ รูลอน หวังให้มันเกิดขึ้น คาเรลิน จะเสียสมาธิเพราะความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นจากยกแรก

ยกที่ 2 รูลอน ยืนสู้และยืนแลกกันล็อกกับ คาเรลิน แต่กลายเป็นเจ้าหมีขาวเสียสมาธิ คลายล็อกเสียเฉย ๆ จนผิดกติกาและโดนปรับ 1 แต้ม ทำให้ รูลอน เป็นคนแรกในโอลิมปิกครั้งนี้ที่ได้แต้มจาก คาเรลิน และแต้มนี้มากับกึ๋นล้วน ๆ เพราะเนื่องจากหลังจบ 2 ยก แต้มอยู่ที่ 1-0 จึงต้องมีช่วงต่อเวลาพิเศษตัดสินผู้ชนะให้รู้ขาด คราวนี้ รูลอน กลับมาเล่นแท็คติกเดิมจากยกแรก นั่นคือการนอนคว่ำหน้ากับพื้นจนหมดเวลา และ คาเรลิน ไม่สามารถแก้ไม้ตายนี้ได้ ทั้ง ๆ ที่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คู่แข่งมาทำแบบนี้กับเขา แต่มันเป็นครั้งแรกที่เขาแก้ทางมวยแท็คติกแบบนี้ไม่ได้

แน่นอนว่าการนอนราบกับพื้นใครก็ทำได้ แต่การนอนราบกับพื้นจนเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกทำอะไรไม่ได้นั้น ไม่ใช่โชคและแท็คติกอย่างเดียวเท่านั้น มันต้องเกิดจากการฝึกฝนจนใช้มันได้อย่างชำนาญอีกด้วย 

หมดช่วงต่อเวลาพิเศษไปแบบม้วนเดียวจบ รูลอน คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ให้กับ สหรัฐอเมริกา ที่ไม่เคยมีใครทำได้มาร่วม 16 ปี โดยที่การชนะของเขานั้นไม่ได้มีการใช้ทักษะการจู่โจมเลย ... นอนกับพื้น, ได้แต้มจากการที่คู่แข่งผิดกติกา และ กลับมานอนราบกับพื้นอีกครั้งจนหมดเวลา แม้ในมุมมองของแฟนชาวรัสเซียจะบอกว่านี่คือทักษะที่แสนจะตาขาว แต่ตราบใดที่มันไม่ผิดกติกา ทักษะตาขาวของ รูลอน ก็กลายเป็นชัยชนะที่ทำให้ คาเรลิน ที่ไม่เคยแพ้ใครมาถึง 13 ปี ต้องเสียเชิงไปแบบเจ็บใจ เพราะนั่นคือแมตช์สั่งลาในฐานะนักมวยปล้ำของเขาแล้ว ตลอดชีวิตการปล้ำไม่เคยมีรอยด่างพร้อย แต่มาเสียท่าเอาในไฟต์สุดท้าย ... 

8

9

มันไม่ใช่เรื่องฟลุคและบังเอิญ อัตรา 2,000-1 แสดงให้เห็นถึงความห่างชั้นของทั้งสองคนอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก หาก รูลอน ปะทะตรง ๆ เหมือนกับคู่แข่งคนอื่น ๆ ของ คาเรลิน ชะตากรรมของเขาคงไม่ต่างกับอีกร้อยกว่าคนที่โดนหมีรัสเซียเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาจนเคล็ดขัดยอกไปทั้งตัว นี่คือชัยชนะในแบบของคนที่รู้จักสิ่งที่ตัวเองมี ซ้อมในสิ่งที่ตรงกับแผนที่วางไว้ และสุดท้ายคือการไม่ถอดใจขาสั่นตั้งแต่การประกบคู่ 

"จำคำผมไว้.. คำว่าไม่มีโอกาสมันไม่มีในโลก" แม้คำนี้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากการหลอกความคิดของตัวเองว่าสู้ได้ แต่สุดท้ายแล้วมันคือคำที่จุดประกายความหวังเล็ก ๆ จากโอกาสชนะ 0% กลายเป็น 0.1% ถึงแม้ใครจะมองว่าน้อยจนไม่น่าเสียเวลาคิด แต่ใครจะไปรู้ 0.1% อาจจะเกิดขึ้นก็ได้ อย่างไรเสียมันคือความหวังที่ทำให้ รูลอน รู้ว่าเขาจะเดินสู่สังเวียนแห่งความเป็นไปไม่ได้นี้เพื่ออะไร.. 

"แค่คิดจะถอดใจก็เท่ากับแพ้ไปแล้ว" ประโยคคลาสสิคปลอบใจมวยรองยังใช้ได้เสมอไม่ว่ากับเรื่องใดก็ตาม ถ้าคุณกำลังจะยอมแพ้กับอะไรสักอย่าง ลองพยายามดูใหม่อีกสักครั้ง หากไม่รู้จะพยายามอะไร ก็ลองพยายามหลอกความคิดของตัวเองว่าสู้ได้สู้ไหม เหมือนกับ  รูลอน การ์ดเนอร์ ก็ยังดี.. จุดเปลี่ยนแห่งชัยชนะอาจจะมาเยือนคุณบ้างในอีกไม่นานก็เป็นได้  

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ทางตรงไม่ไหวให้ไปทางลัด : "รูลอน การ์ดเนอร์" นักมวยปล้ำลูกชาวนาที่คว่ำราชาผู้ไร้พ่าย 13 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook