"เอ็นวานโก คานู" : กองหน้าจอมคลาสสิคที่คอเกมยุค 90s ใช้เป็นจอมโหม่ง

"เอ็นวานโก คานู" : กองหน้าจอมคลาสสิคที่คอเกมยุค 90s ใช้เป็นจอมโหม่ง

"เอ็นวานโก คานู" : กองหน้าจอมคลาสสิคที่คอเกมยุค 90s ใช้เป็นจอมโหม่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จาก Winning Eleven สู่ PES (Pro Evolution Soccer) หนึ่งในเกมฟุตบอลที่อยู่คู่กับคอเกมมานาน มีหลากหลายเรื่องราวที่สร้างความทรงจำให้กับเรา ไม่ว่าจะเรื่องความประทับใจ, ความสุขที่ได้เล่น และความทรงจำของการลองผิดลองถูกตามจินตนาการ

นอกจากการเอา โรแบร์โต้ คาร์ลอส ไปเล่นกองหน้า หรือแม้กระทั่งการยัดนักเตะสปีด 9 ขึ้นไปเล่นกองหน้า หนึ่งในสิ่งที่คลาสสิกสุดๆของสมัยที่ยังเป็นวินนิ่งคือ "การใช้นักเตะสูงๆ ไปเป็นกองหน้าตัวเป้าในระบบ 4-3-3" 

ไม่ว่าเขาคนนั้นจะโหม่งเก่งหรือไม่ แต่ถ้าสูงขึ้นมาเเล้วล่ะก็ หน้าเป้าเท่านั้นที่พวกเราต้องการ และนี่คือเรื่องราวของ เอ็นวานโก้ คานู กองหน้าที่สูง 197 เซนติเมตร ที่ต้องรับบทตัวโหม่งไปแบบงงๆ ทั้งที่ชีวิตจริงนั้นเขาไม่ใช่นักเตะทรงนั้นแม้แต่น้อย.. ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

ไนจีเรีย สุดยอดทีมที่สู้ได้ทั้งโลก

ในตัวเกมทั้งภาค วินนิ่ง 3 และ วินนิ่ง 4 นั้น ถือว่าเป็นตัวเกมที่ระบบการแข่งขันและเกมเพลย์ที่เหมือนฟุตบอลจริงๆขึ้นมาบ้าง หากเทียบกับเกมในยุค 2-3 ปีก่อนหน้านี้อย่าง Goal Strom หรือแม้กระทั่งจากฝั่ง FIFA เองก็ยังมีเกมเพลย์ที่ไม่ลื่นไหลและเข้ามือเหมือนกับวินนิ่งเลย

อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่ง สิ่งที่ขาดหายไปของตัวเกมฟุตบอลแทบทุกเกมในยุค 90s ไม่ใช่แค่วินนิ่ง คือเรื่องความสมดุลของค่าพลัง และการแปลงค่าพลังนั้นให้สามารถแสดงผลในการเเข่งขันได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือค่าพลัง Curve (ปั่นไซด์โค้ง) Pass (ผ่านบอล) หรือแม้แต่ Stamina (ความอึด) ที่แทบไม่แสดงผลเลยในเกม 

ตัวอย่างที่เห็นภาพทันทีโดยไม่ต้องอธิบาย คือนักเตะอย่าง เดวิด เบ็คแฮม ในภาควินนิ่ง 3 หรือ วินนิ่ง 4 นั้น เเทบจะเป็นนักเตะที่สร้างประโยชน์ให้ทีมได้น้อยมาก ค่าพลังความอึดเยอะ ค่าพลังเตะไซด์โค้งเยอะ แต่สุดท้ายการโยนบอลจากริมเส้นแบบกด O สองครั้ง ก็เป็นการโยนใส่หัวกองหน้าอยู่ดี ไม่ว่านักเตะจะมีค่าพลัง Curve เท่าไหร่ก็ไม่แตกต่าง เบ็คแฮม ที่ Curve 9 ไม่สามารถโยนโค้งข้ามหัวกองหลังและลงใส่เท้าให้กองหน้าเพื่อนร่วมทีมหลุดเดี่ยวได้เหมือนกับตัวจริง การเปิดบอลของเบ็คแฮมไม่ต่างจากนักเตะธรรมดาทั่วไปเลย  

1

ไม่ใช่แค่เบ็คแฮมเท่านั้น จอมเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการจ่ายบอลหลายๆคนยกตัวอย่างเช่น ซีเนอดีน ซีดาน ในเกมนี้ก็ไม่ได้โดดเด่นเลย ถ้าเทียบกับนักเตะสายสปีด 8 สปีด 9 ที่เด่นชัดที่สุดอย่าง ทิยานี่ บาบันกิด้า และ ดาเนี่ยล อโมคาชี่ จากทีมชาติไนจีเรีย ที่เพียงแค่สปีด 9 ของพวกเขาก็สามารถทะลวงคู่แข่งได้ทุกทีม ประสิทธิภาพเกมรุกแทบไม่ต่างจากทีมระดับหัวแถวของโลกอย่าง บราซิล เลย 

ไนจีเรีย ถือเป็นกรณีตัวอย่างในความไม่สมดุลของค่าพลังในตัวเกมภาคเก่าๆได้เป็นอย่างดีที่สุด เพราะนอกจากตัวสปีด 9 ทั้งสองตัวอย่างที่กล่าวไปแล้ว พวกเขายังมีนักเตะสปีด 8 อีกเพียบทั้ง ซันเดย์ โอลิเซห์ (Shoot Power 9 อีกต่างหาก), วิคเตอร์ อิกเปบ้า หรือกองหลังอย่าง ตาริโบ เวสต์ และ เซเลสติน บาบายาโร่ ก็ล้วนเร็วนรกแตกทั้งสิ้น 

ความเร็วสำคัญเป็นอันดับ 1 และนั่นทำให้ ไนจีเรีย ในวินนิ่งภาคเก่าๆ กลายเป็นทีมที่น่ากลัว ทั้งๆที่ความจริงพวกเขาไม่เคยผ่านเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกได้เลยสักครั้ง.. 

อย่างไรก็ตาม มีนักเตะอีกหนึ่งคนที่ทำให้ ไนจีเรีย ในวินนิ่ง 3 และ 4 สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่แค่เร็วอย่างเดียวแต่เล่นลูกกลางอากาศได้ นั่นคือ เอ็นวานโก้ คานู กองหน้าหมายเลข 4 ของทีมนั่นเอง 

2

คานู ในเกมคือดาวยิงที่มีสปีดเป็นรองเพื่อนๆอยู่พอสมควร ค่าพลังสปีดของเขาแค่ 7 เท่านั้น แต่ส่วนที่ทดแทนกลับมา คือความสูงที่เหมือนติดบัก 197 เซนติเมตร และยังมีค่า Jump (กระโดด) อีก 8 เรียกได้ว่าเกือบเต็มหลอดครบเครื่องเรื่องสายโหม่งเลยทีเดียว 

เมื่อมีคานูค้ำหน้าและมีปีกสองข้างที่สปีด 9 พร้อมการครอสบอลที่ไม่อิงค่า Curve ก็ทำให้เขาได้ขึ้นเทคโขกแบบเต็มๆหัวทุกครั้งไป หนำซ้ำเมื่อบอลหลุดแถวสอง ยังมีสายยิงไกลอย่าง โอลิเซ่ห์ รอยิงซ้ำอีกต่างหาก นั่นและคือเหตุผลที่ใครต่อใครต่างก็เลือกใช้ไนจีเรียในการเเข่งกับเพื่อน บางครั้งทีมนี้ก็เก่งจนโดนห้ามให้ใช้เลยก็มี 

 

สุดท้ายเเล้วเกมก็คือเกม ยิ่งเกมยุคเก่าๆ ความแตกต่างหรือบักก็แสดงผลทำให้นักเตะบางคนถ้าได้เก่งก็เก่งสุดๆไปเลย ถ้าได้อ่อนก็อ่อนจนชนิดที่ว่าห่างไกลจากโลกความจริงคนละโยชน์ และเมื่อเกมคือเรื่องราวของความสนุกและความทรงจำ มันจึงทำให้เราเผลอเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในนั้นไปปนกับโลกความจริง และหนึ่งในความเชื่อที่หลุดมาจากเกมวินนิ่งคือ "คานู โหม่งโคตรเก่ง".. เพราะจริงๆแล้ว เขาไม่ใช่นักเตะแบบนั้นเลย

คานู ตัวจริง.. เกือบไม่เจ๋ง 

เอ็นวานโก้ คานู ถือว่าเป็นการค้นพบของสโมสรอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม และกุนซือ หลุยส์ ฟาน กัล อย่างแท้จริง เขาเป็นนักเตะที่เล่นในลีกไนจีเรียกับ Iwuanyanwu Nationale ได้แค่ปีเดียว ก่อนจะโดนอาแจ็กซ์ดึงตัวมาด้วยราคาที่ไม่ปรากฎ ทว่าแน่นอนมันไม่ใช่จำนวนที่มากมายอะไรอยู่แล้ว 

การดีลตัวของคานู เกิดขึ้นจากการที่แมวมองของทีมไปส่องฟอร์มนักเตะในศึกฟุตบอลโลกยู 17 ในปี 1993 ซึ่งแข่งที่ประเทศญี่ปุ่น และคานูในเวลานั้นคือความแตกต่างจากเด็กรุ่นเดียวกันอย่างแท้จริง เขาพาไนจีเรียชนะรวด 3 นัดในรอบแบ่งกลุ่ม (ยิง 5 ลูก) จากนั้นก็พาทีมคว้าแชมป์โลกด้วยสถิติชนะรวดทุกเกมที่ลงสนาม นั่นแหละเขาจึงได้บินตรงมายังเนเธอร์แลนด์ และสร้างทุกอย่างขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว 

4

ช่วงอยู่กับอาแจ็กซ์ เขาคว้าแชมป์ลีก 3 ปีรวดตั้งแต่ 1994 ถึงปี 1996 พ่วงด้วยแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก อย่างยิ่งใหญ่ ในปี 1995 ณ ตอนนั้นคนอาจจะไม่ได้จำภาพเขาในฐานะจอมยิงประตูเท่าไหร่ คนติดภาพของ พาทริก ไคลเวิร์ต มากกว่า เพราะตัวของไคลเวิร์ตนั้นคือเบอร์ 9 ธรรมชาติ จบสกอร์เฉียบขาดทุกระยะ แต่สำหรับคานู หากจะเรียกให้ถูกหมวดหมู่ เขาคือบอลสมองตัวจริง 

มันยากที่จะอธิบายภาพให้คนที่ไม่ทันดูคานูในยุคอาแจ็กซ์ หรือแม้แต่กระทั่งตอนที่พีกที่สุด อย่างช่วงเวลาที่อยู่กับอาร์เซน่อลได้เข้าใจทันที ดังนั้นการดูวีดีโอไฮไลต์การยิงในยูทูบของเขาคุณจะสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า "บอลสมอง" นั้นเหมาะกับเขาขนาดไหน

 

ตัวจริงๆของคานู ไม่ได้ดูเป็นยักษ์ใหญ่เหมือนในเกม เขาออกแนวผอมสูงดูเก้งก้างแบบเห็นได้ชัด ทว่าในความเก้งก้างนั้นมากับสเต็ปเท้าและการโยกหลอกที่ดูพริ้วไหวผิดกับสรีระ และสุดท้ายคือการเล่นจังหวะสุดท้ายของคานูนั้นเยือกเย็นเกินคาด เขาชอบทำประตูยากๆให้ดูเหมือนง่าย การล็อกผ่านกองหลัง 3-4 คน และเข้าไปยกบอลข้ามประตูแบบนิ่มๆคือภาพที่เห็นประจำ  

ลักษณะการยิงประตูของคานูนั้นเปี่ยมไปด้วยเทคนิค คนละแบบกับกองหน้ายุคเดียวกันที่ใส่ตูมหาย ใส่ตูมหาย แบบ อลัน เชียเรอร์ เพราะคานูมักจะเลือกยิงในมุมที่ใครไม่คาดฝันและเป็นไปได้ยาก จริงอยู่ที่ไม่ใช่ทุกครั้งหรอกที่เขาทำสำเร็จและมันเป็นประตู แต่การยิงประตูลักษณะนั้นได้บ่อยครั้ง คือภาพจำของคานู ในฐานะหนึ่งในนักเตะกองหน้าที่เยือกเย็นและเปี่ยมไปด้วยเทคนิคมากที่สุดคนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทั้งๆที่เก่งขนาดชนิดที่ว่าคว้าแชมป์ลีกกับอาแจ็กซ์ 3 สมัยพ่วงถ้วยบิ๊กเอียร์ รวมถึงเหรียญทองโอลิมปิกปี 1996 มันต้องมีเหตุผลที่ว่าทำไมคานูจึงกลายเป็นนักเตะที่คนรู้จักในเกมมากกว่าตัวจริง (โดยเฉพาะภาควินนิ่ง 3) เรื่องของเรื่องมันไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ แต่มันเป็นเรื่องสุขภาพร่างกายต่างหาก..

เพราะหลังจากระเบิดฟอร์มกับอาแจ็กซ์แล้ว เขาก็ถูก อินเตอร์ มิลาน ซื้อตัวไปร่วมทีมในปี 1996 ด้วยราคา 6 ล้านปอนด์ ทว่าหลังจากนั้นไม่นานเขาถูกตรวจพบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว และต้องเข้ารักษาตัวเองเป็นปีๆแบบไม่ได้ลงสนามเลย ณ นาทีนั้นมีวลีจากฝั่งอินเตอร์ว่า "เราได้เสียเงินกับนักเตะที่สูญเปล่าไปแล้ว" 

6

การไม่ได้เล่นในลีกเซเรีย อา ที่มีคนไทยบางส่วนติดตาม บวกกับการไม่ปรากฎชื่อบนหน้าข่าวฟุตบอลอยู่เกือบ 1 ปี ทำให้คานูอาจจะโดนมองว่าหมดค่าไปแล้วสำหรับอินเตอร์และโลกฟุตบอลฝั่งยุโรป ทว่ากับทีมชาติไนจีเรีย เขายังคงเป็นยอดกองหน้าเหมือนเช่นเคย และนั่นทำให้ทันทีที่เขาหายจากอาการโรคหัวใจ แม้อินเตอร์จะไม่ได้ใช้งานเขา แต่คานูก็ถูกเรียกติดทีมชาติทันที และเมื่อเขาอยู่ในทีมชาติ เขาก็ต้องอยู่ในเกมวินนิ่ง 

ดังนั้น เราจึงได้เห็นกองหน้าตัวสูง 197 เซนติเมตร กระโดดเทคตัวขึ้นโหม่งนิ่มๆเหมือนกับขนมกรุบได้นั่นเอง บางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหมอนี่เป็นใครมาจากไหน รู้อย่างเดียวว่าถ้าได้เล่นไนจีเรียและมีคานูอยู่ คุณสามารถจะเปิดโหม่งเท่าไหร่ก็ได้ตามที่คุณต้องการ แม้โลกแห่งความจริงลูกโหม่งของเขาอาจจะไม่ได้ปรากฎให้เห็นมากนักก็ตาม

ยืนยันอีกครั้งว่าผม "บอลสมอง" 

มีนักเตะแอฟริกันหลายคนที่เก่งกับทีมชาติแต่เล่นในยุโรปไม่รอด คานูเองก็เกือบจะเป็นหนึ่งในนั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง อินเตอร์หมดความอดทนกับดาวยิงที่ใช้ไม่ได้อย่างเขา และมีอาร์เซน่อลเซ้งต่อไปร่วมทีมในเดือนกุมภาพันธ์ 1999

7

เรียกได้ว่าการย้ายทีมครั้งนั้นคือการเกิดใหม่ของคานูอย่างแท้จริง เพราะ อาร์เซน เวนเกอร์ รู้ดีว่านักเตะแอฟริกันนั้นมีทีเด็ดซ่อนอยู่ในตัว แต่ต้องหยิบออกมาใช้ให้ถูกทาง ซึ่งเรื่องนี้เขาเคยทำสำเร็จจนถึงขั้นสร้างนักเตะบัลลงดอร์อย่าง จอร์จ เวอาห์ มาเเล้วในอดีต 

เวนเกอร์เคยเล่าว่า เขาเคยเซ็นสัญญานักเตะเข้ามาสู่ทีมมากมายนับตั้งแต่ที่เขาเข้ามาเป็นผู้จัดการทีมของอาร์เซน่อล แต่คานูคือหนึ่งในดีลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาเลยทีเดียว

"ผมใช้งานนักเตะแอฟริกันมาตั้งแต่สมัยคุมโมนาโก ผมชอบพวกเขาจริงๆ แข้งแอฟริกันมีความคิดสร้างสรรค์แบบสุดๆ เข้าทำและโจมตีพื้นที่สุดท้ายด้วยจินตนาการของพวกเขา ฝีเท้าก็ดีร่างกายก็แข่งแกร่งคล่องตัว นักเตะสไตล์แอฟริกันน่ะหายากนะ.. แล้วนักเตะอย่าง คานู เนี่ยถือเป็นนักเตะแอฟริกันขวัญใจอันดับ 1 ของผมเลย เขาติดลิสต์ยอดดีลของผมร่วมกับ จอร์จ เวอาห์ และ โคโล ตูเร่" เวนเกอร์กล่าว

จะพูดแบบนั้นก็ไม่แปลก แม้ช่วงเวลานั้น อาร์เซน่อลจะมีโคตรกองหน้าอย่าง เธียร์รี่ อองรี และ เดนนิส เบิร์กแคมป์ อยู่แล้วก็ตาม แต่ทันทีที่คานูย้ายมา เขาเริ่มต้นด้วยการเป็นตัวสำรอง นั่งอ่านเกมที่ข้างสนามอยู่พักเดียว เขาถูกเปลี่ยนตัวลงไปแล้วสร้างความแตกต่าง ด้วยการยิงประตูทันทีหลังจากรับคำสั่ง คานูออกตัวกับอาร์เซน่อลอย่างสวยงามด้วยการเป็นซูเปอร์ซับ ยิงประตูติดๆกันใส่ ดาร์บี้, เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์, แอสตัน วิลล่า และในลอนดอน ดาร์บี้ กับ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ 

ฤดูกาลต่อมา (1999-2000) คานูยิ่งเฉิดฉายกว่าเดิม กับการยิง 17 ประตูให้อาร์เซน่อล และสร้างตำนานแฮตทริกใน 15 นาที พาทีมพลิกชนะเชลซี 3-2 ซึ่งฟอร์มของเขาในเกมนั้นและประตูแต่ละประตูยังคงถูกพูดถึงจนทุกวันนี้

 

ประตูแรกรับบอลในกรอบเขตโทษ จิ้มนิ่มๆผ่าน 2 กองหลังแชมป์โลกของเชลซี อย่าง มาร์กแซล เดอไซญี่ และ ฟร้องก์ เลอเบิฟ, ประตูที่  2 โชว์เฟิร์สทัชด้วยการแตะบอลทีเดียวผ่านกองหลังเชลซี 2 คนเข้าไปยิงสวนตัว เอ็ด เดอ ฮุย และสุดท้ายลูกที่ 3 คลาสสิกที่สุดที่มุมธงฝั่งซ้าย เขาจับบอลนอกกรอบเขตโทษโดยมี เดอ ฮุย เข้ามาปิดมุม ทว่าคานูล็อกหลบอย่างใจเย็น แต่ไม่เหลือมุมให้ยิงแล้วเพราะกองหลังเชลซีปิดหน้าประตูอยู่ 3 คน 

สิ่งที่เกิดขึ้นจากนั้นคือตำนาน เขาคลึงบอลด้วยเท้าขวาแล้วอัดไซด์โค้งโป้งเดียวเข้าสามเหลี่ยมผ่านทุกคนที่บังอยู่อย่างเหลือเชื่อ.. แค่เกมนี้เกมเดียวก็บอกได้ว่าคานูคือพี่โย่งที่เล่นบอลกับพื้นได้ดีที่สุดเท่าที่โลกฟุตบอลเคยมี 

"ผมขอเลือก คานู ในฐานะนักเตะที่เข้ามาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทีมได้ทันที เขายิ่งใหญ่จริงๆ" เวนเกอร์ตอบคำถามอีกครั้งว่าสำหรับเขาแล้ว คานู หรือ ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง คือนักเตะที่ดีกว่ากัน

คานูอยู่กับอาร์เซน่อล และร่วมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 2 สมัย เอฟเอ คัพ 2 สมัย ยิงได้ 43 ประตูจาก 197 เกม.. แน่นอนมันไม่ใช่จำนวนที่เยอะ เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เขาไม่ใช่สายยิงประตูถล่มทลายเหมือนใคร แต่เขาคือสายเทคนิคที่สร้างความแตกต่างได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกจบสกอร์เพื่อเปลี่ยนเกม หรือการมองหาโอกาสและสร้างมันให้เพื่อนร่วมทีม ไม่ว่าจะในฐานะตัวจริงหรือตัวสำรอง คานูสามารถสร้างอิมแพ็คต์ได้ดีเหมือนกับที่เวนเกอร์บอก

หรือแม้กระทั่งในวันที่เขาแก่ตัวลง เขาก็ยังสร้างตำนานแชมป์เอฟเอ คัพ ร่วมกับ พอร์ทสมัธ ได้อีกในฤดูกาล 2007-08 ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ เพราะ แฮร์รี่ เร้ดแน็ปป์ กุนซือของปอมปีย์ก็บอกเหมือนกับเวนเกอร์ว่า นี่คือดีลที่ดีที่สุดในชีวิตการคุมทีมของเขา เพราะแม้แต่จะอยู่ช่วงปลายอาชีพ คานูก็ยังเป็นคนที่สร้างความแตกต่างในพื้นที่สุดท้ายได้เสมอ.. 

ไม่ว่าคุณจะคิดว่าเขาโหม่งเก่งแค่ไหน สุดท้ายแล้วคุณคิดผิด.. เขาคือจอมเทคนิคที่ใครก็ซูฮก ทว่าสุดท้ายแล้วความทรงจำล้วนมีค่า แม้ตัวจริงเขาจะไม่เหมือนในเกม ทว่าหากจะถามว่าเขาเก่งหรือไม่? คำตอบนั้นทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว นั่นคือ..

9

"แน่นอนที่สุด เอ็นวานโก้ คานู โคตรคลาสสิกเลย".. เชื่อว่าหลายคนคงตอบเช่นนี้

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ "เอ็นวานโก คานู" : กองหน้าจอมคลาสสิคที่คอเกมยุค 90s ใช้เป็นจอมโหม่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook