"บิลลี่ จีน คิง" : นักเทนนิสผู้เปลี่ยนโลกกีฬาหญิงแต่ถูกเพลง "ไมเคิล แจ็คสัน" บดบัง

"บิลลี่ จีน คิง" : นักเทนนิสผู้เปลี่ยนโลกกีฬาหญิงแต่ถูกเพลง "ไมเคิล แจ็คสัน" บดบัง

"บิลลี่ จีน คิง" : นักเทนนิสผู้เปลี่ยนโลกกีฬาหญิงแต่ถูกเพลง "ไมเคิล แจ็คสัน" บดบัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงชื่อ บิลลี่ จีน (Billie Jean) เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงบทเพลงของราชาเพลงป๊อปตลอดกาล ไมเคิล แจ็คสัน (Michael Jackson) อย่างเพลง Billie Jean

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ Billie Jean คือหนึ่งในบทเพลงที่ขึ้นหิ้งอมตะตลอดกาลของโลก โดยในปี 1983 ที่เพลงนี้ถูกปล่อยออกมาก็สามารถทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 ของบิลบอร์ดชาร์ตได้สำเร็จ และครองแชมป์ได้ยาวนานถึง 7 สัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้น Billie Jean ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ Thriller กลายเป็นอัลบั้มที่มียอดขายสูงที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยจำนวน 47.3 ล้านก๊อปปี้ ทิ้งห่างอัลบั้ม Back in Black ของศิลปินร็อครุ่นใหญ่ AC/DC เกือบเท่าตัวเลยทีเดียว

ด้วยความโด่งดังระดับนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า Billie Jean ได้บดบังชื่อของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีชื่อพ้องกับชื่อเพลงอย่าง บิลลี่ จีน คิง (Billie Jean King) ให้ลืมเลือนหายไป เพราะไม่ว่าเมื่อไรที่เอ่ยคำว่า บิลลี่ จีน ออกมา เพลงของ ไมเคิล แจ็คสัน มักจะเป็นสิ่งแรกที่ผู้คนนึกถึงเสมอ ทั้ง ๆ ที่ บิลลี่ จีน คิง เองก็ได้สร้างสิ่งยิ่งใหญ่ไว้ไม่แพ้กัน

สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าถ้าโลกนี้ไม่มี บิลลี่ จีน คิง ในตอนนี้ความเท่าเทียมเรื่องเพศในวงการกีฬาอาจจะยังเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน 

ความตลกร้ายยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในขณะที่ บิลลี่ จีน คิง คือผู้ผลักดันให้ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย เรียกได้ว่าเธอคือผู้บุกเบิกที่นำแนวคิดแบบเฟมินิสต์เข้ามามีบทบาทในโลกของกีฬา แต่บทเพลง Billie Jean ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์จริงของ ไมเคิล แจ็กสัน ที่ถูกคุกคามโดยแฟนเพลงสาว ที่เป็นผู้ป่วยทางจิตและอ้างว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ลูกแฝดของเขาอยู่ (ในตอนแรกเพลงนี้เคยเกือบถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Not My Lover เนื่องจากทางโปรดิวเซอร์กลัวผู้คนจะสับสนกับ บิลลี่ จีน คิง แต่ ไมเคิล ยืนยันที่จะใช้ชื่อเพลงนี้พร้อมบรรจุลงไปในแทร็กลิสต์ของอัลบั้ม Thriller) กลับมีเนื้อหาบางส่วนที่สะท้อนถึงทัศนคติแบบ "ชายเป็นใหญ่"

โดยถ้าตั้งใจฟังดี ๆ จะพบว่าเพลง Billie Jean นั้นมีเนื้อหาที่แสดงออกถึงการปัดความรับผิดชอบ เช่นในท่อน 

"Billie Jean is not my lover
She's just a girl who claims that I am the one
But the kid is not my son"

ที่ ไมเคิล บอกว่า บิลลี่ จีน ไม่ใช่แฟนเขา และเด็กในท้องก็ไม่ใช่ลูกเขา ก่อนที่ในท่อนต่อมาจะเนื้อหาที่ขัดแย้งกัน 

"This happened much too soon
She called me to her room" 

"His eyes were like mine"

ที่บ่งบอกว่าฝ่ายหญิงเรียก ไมเคิล ไปที่ห้อง และสื่อไปในทางว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งทางเพศกันจริง ๆ อีกทั้งเด็กที่เกิดออกมาก็มีดวงตาคล้ายกับ ไมเคิล ดังนั้นเขาก็มีโอกาสที่จะเป็นลูก ไมเคิล จริง ๆ แต่ฝ่ายนักร้องดังกลับเลือกที่จะปัดความรับผิดชอบ หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า "ท้องไม่รับ" นั่นเอง

ด้วยเนื้อหานี้ เรียกได้ว่าเพลง Billie Jean นั้นขัดแย้งกับแนวคิดและตัวตนของ บิลลี่ จีน คิง ที่เราหยิบยกเรื่องราวของเธอมากล่าวถึงในบทความนี้โดยสิ้นเชิง 

ติดตามเรื่องราวของนักเทนนิสหญิงยอดฝีมือผู้เปลี่ยนประวัติศาสตร์กีฬาไปตลอดกาลได้ที่ Main Stand

คอร์ทเทนนิสที่มีแต่สีขาว

บิลลี่ จีน คิง (นามสกุลเดิม มอฟฟิตต์) เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1943 ณ เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยครอบครัวของเธอเป็นชาวคริสต์นิกายเมธอดิสต์ อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง 

ความเป็นนักกีฬาได้ฝักรากลึกลงในจิตใจของเด็กหญิงตั้งแต่เด็ก เพราะนอกจากการประกอบอาชีพเป็นนักดับเพลิงเพื่อหาเงินเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัวแล้ว คุณพ่อของเธอยังเป็นอดีตนักบาสเกตบอลระดับท้องถิ่น ส่วนคุณแม่ที่เป็นแม่บ้านก็เคยเป็นนักว่ายน้ำมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น แรนดี้ มอฟฟิตต์ น้องชายของเธอก็ได้เติบโตขึ้นเป็นนักเบสบอลตำแหน่งพิชเชอร์ และโลนแล่นอยู่ในลีก MLB ยาวนานกว่า 12 ปีกับทีม San Francisco Giants, Houston Astros, และ Toronto Blue Jays

คิง ได้เรียนรู้ที่จะเล่นเบสบอลและซอฟท์บอล ซึ่งพรสวรรค์ของเธอก็ฉายแววตั้งแต่เริ่ม โดยในวัยเพียง 9 ปี คิง ก็คว้าแชมป์การแข่งขันเยาวชนของเมืองลองบีชร่วมกับเพื่อนร่วมทีมที่อายุมากกว่าเธอ 4-5 ปี ได้สำเร็จ

2

แต่สุดท้ายเมื่ออายุได้ 11 ปี คิง ก็ต้องเลิกเล่นซอฟท์บอล เนื่องจากพ่อของเธอมองว่ากีฬาชนิดนี้ไม่เหมาะกับภาพลักษณ์การเป็น "กุลสตรี" เท่าไร ก่อนที่จะผลักดันให้เธอเปลี่ยนมาเล่นเทนนิสแทน เพราะมองว่าเป็นกีฬาที่เกียวกับการวิ่งและตีลูกเหมือนกัน ที่สำคัญคือกีฬาชนิดนี้ผู้หญิงเล่นกันอย่างแพร่หลาย โดยไม้แร็กเก็ตแรกในชีวิตก็เป็นเด็กหญิงที่เก็บเงินจำนวน 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อมาด้วยตัวเอง

ในช่วงแรก คิง ตระเวนเรียนวิชาเทนนิสตามคอร์ทสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนสามารถใช้ได้ฟรีเมืองลองบีช และเธอก็รู้ตัวทันทีว่าตัวเองเกิดมาเพื่อกีฬาชนิดนี้

"ฉันรู้ตั้งแต่บทเรียนแรกที่ได้เรียนว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร" 

"ฉันต้องการที่จะเป็นนักเทนนิสที่เก่งที่สุดในโลก" คิง กล่าวย้อนความหลัง

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ คิง เริ่มจริงจังกับกีฬาเทนนิสมากขึ้น เธอก็เริ่มเข้าเป็นสมาชิกของคลับเทนนิสต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนอย่างจริงจัง มีคอร์ทสภาพสมบูรณ์ได้มาตรฐาน แต่ในทางตรงกันข้าม นี่คือครั้งแรกที่ คิง ได้เห็นว่ามีความไม่เท่าเทียมอย่างชัดเจนในกีฬาชนิดนี้

"ตอนอายุ 13 ฉันไปตีเทนนิสที่ Los Angeles Tennis Club และที่นั่นฉันก็ได้เห็นทุกคนมีผิวสีขาว สวมเสื้อผ้าสีขาว สวมรองเท้าสีขาว สวมถุงเท้าสีขาว"

"ในตอนแรกมันก็ดูสวยงามเป็นระเบียบดี แต่สักพักฉันก็เริ่มตั้งคำถามว่าแล้วคนอื่นๆอยู่ที่ไหน? หมายถึงคนสีผิวอื่นหรือคนที่ดูแตกต่างออกไป ฉันในฐานะเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่ฉันก็รู้ดีว่าอย่างน้อยฉันก็ผิวขาว ฉันมีอภิสิทธิ์มากมายที่เหนือกว่าคนผิวสีอื่นๆ"

3

"ตอนนั้นเองที่ฉันสัญญากับตัวเองว่า ฉันจะดำรงไว้ซึ่งความเสมอภาคของทุกชีวิตตลอดชีวิตที่เหลือของฉัน ไม่ใช่แค่ผู้หญิง แต่หมายถึงทุกคน ดังนั้นฉันจึงจำเป็นต้องเป็นนักเทนนิสมือ 1 ของโลก อย่างน้อยก็จะได้มีคนยอมฟังสิ่งที่ฉันพูด" คิง ย้อนความหลังกับ USA Today

ด้วยความแน่วแน่ของ คิง ส่งผลโดยตรงต่อฝีมือในคอร์ทที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่ออายุ 17 คิง ก็สามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมแรกในชีวิตของเธอได้สำเร็จ เป็นแชมป์ศึกวิมเบิลดันประเภทหญิงคู่ที่เธอได้มันมาร่วมกับ คาเรน แฮนต์ซ (Karen Hantze) นักเทนนิสเพื่อนร่วมชาติในปี 1961 

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นตำนานของ บิลลี่ จีน คิง เท่านั้น..

กระบอกเสียงเพื่อผู้หญิง

หลังจากที่ปักหมุดหมายแชมป์แกรนด์สแลมแรกในชีวิตได้สำเร็จ คิง ก็พุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะหลังจากนั้น คิง ก็คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้อีกมากมายจนไม่อาจนับนิ้วได้หมด โดยตลอดชีวิตการเป็นนักเทนนิสเธอคว้าแชมป์รายการระดับแกรนด์สแลมรวมกันได้มากถึง 39 ครั้ง โดยแบ่งเป็นประเภทเดี่ยว 12 ครั้ง ประเภทคู่ 16 ครั้ง และคู่ผสม 11 ครั้ง โดยเฉพาะการแข่งขันบนคอร์ทหญ้าแห่งวิมเบิลดันที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็น "ของหวาน" สำหรับ คิง เพราะเธอคว้าแชมป์ในทุกประเภทการแข่งขันได้มากถึง 20 รายการ

4

คิง ก้าวขึ้นเป็นนักเทนนิสหญิงมือวางอันดับ 1 ของโลก นับตั้งแต่ปี 1966 เป็นต้นมา และก็ครองตำแหน่งนั้นได้อย่างยาวนานหลายปี ถึงแม้ว่าในตอนแรกเธอจะโดนคัดค้านจากที่บ้านในการตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อมาทุ่มเทให้กับเทนนิส แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกคนก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการตัดสินใจของเธอคือการตัดสินใจที่ถูกต้อง

อย่างที่ คิง เคยบอกไว้ว่า เธอต้องการเป็นนักเทนนิสอันดับ 1 ของโลก เพื่อจะได้มีเสียงที่ดังพอสำหรับการเป็นกระบอกเสียงแห่งความเท่าเทียม และในตอนนี้เวลาดังกล่าวก็มาถึงแล้ว หลังจากที่ คิง คว้าแชมป์วิมเบิลดันประเภทเดี่ยวในปี 1968 เธอก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ทันที

"มันไม่มีเหตุผลเลยที่ผู้หญิงจะได้รับเงินรางวัลน้อยกว่า" คิง กล่าวออกมาเนื่องจากเธอได้รับเงินรางวัลเพียงแค่ 750 ปอนด์สำหรับตำแหน่งแชมป์ประเภทหญิงเดี่ยว ในขณะที่ ร็อด เลเวอร์ (Rod Laver) แชมป์ประเภทชายเดี่ยวในปีเดียวกันกลับได้รับมากถึง 2,000 ปอนด์

เมื่อได้เริ่มต้นปลุกกระแสขึ้นมาในสังคม คิง ก็ไม่รอช้าที่จะเดินต่อในแนวทางอย่างแน่วแน่ โดยหลังจากนั้นในปี 1970 ณ รายการ Pacific Southwest Tennis ซึ่งมีนโยบายในการมอบเงินรางวัลให้กับผู้หญิงเพียงแค่ 15% ของผู้ชาย ทั้ง ๆ ที่ยอดจำหน่ายตั๋วในการแข่งขันของทั้งสองประเภทนั้นมีจำนวนเท่า ๆ กัน

เมื่อ คิง เห็น ถึงความไม่ยุติธรรมดังกล่าว เธอ ก็บุกเข้าไปถึงห้องทำงานส่วนตัวของ แจ็ค เครเมอร์ ผู้จัดการแข่งขันเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มเงินรางวัลให้กับผู้หญิง และเมื่อได้รับคำตอบเป็นการปฏิเสธ เธอ ก็ตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันเพื่อประท้วงในเชิงสัญลักษณ์ทันที

"บิลลี่ จีน คิง เป็นคนมองการณ์ไกลและเห็นถึงภาพรวม เธอรู้ว่าสิ่งที่เธอกำลังทำจะมีความหมายอย่างมากต่อนักกีฬาหญิงในอนาคต"

"เธอได้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาค และเพื่อการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมเทนนิสที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน" เอริค เจนท์ ผู้บรรยายกีฬาชื่อดังในยุค 60-70s แสดงความคิดเห็น

จากปลายยุค 60s สู่ยุค 70s เสียงของ คิง ที่ส่งออกไปเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าต้องมีคนบางส่วนในสังคม โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่รู้สึกไม่พอใจกับการกระทำของเธอ และมองเธอว่าเป็น "พวกหัวรุนแรง" อย่างไรก็ตามในฐานะผู้หญิงแกร่งแห่งยุค มีหรือที่ คิง จะหวั่นไหวไปตามกระแสโจมตี ตรงกันข้ามเธอยังคงเดินหน้าต่ออย่างมั่นคง

5

ในปี 1970 คิง ได้รวบรวมเพื่อนนักเทนนิสหญิงชื่อดังแห่งยุคอีก 8 คนเพื่อมาลงนามกันในชื่อกลุ่ม "Original Nine" พร้อมด้วยเงินจำนวนคนละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่กลุ่มนี้จะติดต่อไปยังแบรนด์บุหรี่ชื่อ Virginia Slims ซึ่งเป็นแบรนด์บุหรี่ที่ได้รับความนิยมในหมู่สุภาพสตรีในยุคดังกล่าว ภายใต้การดูแลของ Phillip Morris เพื่อขอให้ Virginia Slims เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักในทัวร์นาเมนต์เทนนิสสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะที่พวกเธอมีแผนจะก่อตั้งขึ้น

สุดท้าย Virginia Slims Circuit ก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปีเดียวกัน นี่คือทัวร์นาเมนต์แข่งขันเทนนิสแรกในประวัติศาสตร์ที่ก่อตั้งโดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง โดยมาพร้อมกับสโลแกนฮิตติดหูว่า "You've Come a Long Way, Baby." หรือ "คุณมาได้ไกลแล้วที่รัก"

คิง เองก็เช่นกัน เธอมาได้ไกลมากแล้วสำหรับเส้นทางการเรียกร้องเพื่อสิทธิความเท่าเทียมท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึก ดังนั้นเมื่อเค้กแห่งผลประโยชน์ชิ้นโตที่เหล่าบุรุษเคยแบ่งกันกินอย่างอิ่มหมีพีมัน วันหนึ่งค่อย ๆ ถูกสุภาพสตรีที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียง "ประชากรชั้นสอง" มาโดยตลอดแบ่งไปกินด้วยบ้าง ความไม่พอใจก็เริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ 

โดยหนึ่งในคนที่รู้สึกไม่พอใจในตัว คิง มากที่สุดมีชื่อว่า บ็อบบี้ ริคส์ (Bobby Riggs) ซึ่งท้ายที่สุดความบาดหมาง​นี้ก็ได้นำไปสู่การแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ท่ามกลางสายตาชาวโลกกว่า 90 ล้านคน..

Battle of the Sexes

บ็อบบี้ ริคส์ คืออดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของโลก และเคยคว้าแชมป์การแข่งขันระดับแกรนด์สแลมมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นเมื่อกาลเวลาล่วงเข้าสู่ยุค 70s ริคส์ ก็อายุขึ้นเลข 5 แล้ว เรียกได้ว่าเป็นวัยกลางคนตอนปลายที่กำลังกลายเป็นวัยชรา 

ริคส์ มาพร้อมกับความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่ค่อนข้างสุดโต่ง เขาเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าผู้ชายคือเพศที่แข็งแกร่งกว่า และควรจะเป็นผู้นำในสังคม ดังนั้นสิ่งที่ คิง ทำ จึงค่อนข้างขัดหูขัดตาเขาอย่างมาก 

6

ริคส์ พยายามหลายครั้งในการเชิญให้ คิง มาแข่งกับเขาตัวต่อตัวบนคอร์ทเทนนิส เพื่อแสดงให้เห็นว่าต่อให้เขาจะอายุเยอะขนาดนี้ เขาก็ยังสามารถเอาชนะผู้หญิงอันดับหนึ่งของโลกได้อย่างสบาย ๆ แต่ คิง ก็ไม่เคยตอบรับคำท้าดังกล่าว

เมื่อ คิง ไม่สนใจ ริคส์ ก็เปลี่ยนเป้าหมายไปท้า มาร์กาเร็ต คอร์ท (Margaret Court) อดีตนักเทนนิสหญิงมือวางอันดับ 1 ของโลก ที่ในตอนนั้นเธออยู่ในวัย 30 ปีแล้ว ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ช่วงที่ดีที่สุดในอาชีพ แต่ต้องไม่ลืมว่า คอร์ท คือนักเทนนิสผู้สร้างตำนาน คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรวมกันทุกประเภทได้มากถึง 64 ครั้ง มากกว่าทุกคนในประวัติศาสตร์

คอร์ท ตอบรับคำท้าของ ริคส์ โดยการแข่งขันจะมีขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 1973 ทุกฝ่ายต่างจับตามองว่าการแข่งขันจะออกมาเป็นเช่นไร ระหว่างผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เทนนิส กับอดีตแชมป์แกรนด์สแลมชายในวัย 55 ปี 

แต่ปรากฏว่าการแข่งขันครั้งนี้กลับช็อคคนทั่วโลก เพราะมันห่างไกลกับคำว่าสูสีอย่างสิ้นเชิง เมื่อ ริคส์ เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้อย่างท่วมท้น 2 เซตรวด (6-1, 6-2) โดยผู้คนต่างเรียกขานการแข่งขันครั้งนี้ว่า "Mother's Day Massacre" หรือ "การสังหารโหดวันแม่" (เนื่องจากวันแข่งขันตรงกับวันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม วันแม่ของประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเอง)

เมื่อผลการแข่งขันออกมาเป็นอย่างนี้ ริคส์ ก็ยิ่งได้ใจเข้าไปใหญ่ เขามั่นใจว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้องแล้ว.. ผู้หญิงจะมาเท่าเทียมกับผู้ชายได้อย่างไร

7

"ผมจะบอกให้ว่าทำไมผมถึงชนะ ผมชนะเพราะอีกฝ่ายเป็นผู้หญิง ผู้หญิงคือเพศที่ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ นั่นแหละเหตุผล" 

"ตอนนี้ผมต้องการเจอกับ คิง ที่สุด ผมจะแข่งกับเธอบนคอร์ทไหนก็ได้ที่เธอถนัด จะคอร์ทหญ้า คอร์ทดิน คอร์ทปูน ก็ว่ามาเลย ผมจะแสดงให้เห็นว่าทำไมความต่างระหว่างเพศถึงต้องดำรงอยู่ต่อไป" ริคส์ ให้สัมภาษณ์สื่อหลังการสังหารหมู่วันแม่

ไม่ต้องสงสัยว่า คิง จะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ฟังบทสัมภาษณ์ดังกล่าว คำพูดของ ริคส์ ไม่ต่างอะไรจากการราดน้ำมันลงบนกองไฟ ทำให้ท้ายที่สุด คิง ก็ตัดสินใจตอบรับคำท้าทายของ ริคส์ โดยมีข้อแม้ว่าการแข่งขันครั้งนี้ผู้ชนะจะต้องได้เงินรางวัล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และต้องมีการถ่ายทอดสดให้ผู้ชมทั่วโลกได้ดู

เมื่อข้อตกลงลงตัว ศึกการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ที่ผู้คนต่างเรียกขานมันว่า "Battle of the Sexes" ก็ได้เกิดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน ปี 1973 ณ Houston Astrodome ท่ามกลางสักขีพยานในสนามกว่า 30,000 คน และผู้ชมหน้าโทรทัศน์ทั่วโลกกว่าอีก 90 ล้านคน

นอกจากจะเป็นการแข่งขันเทนนิสแล้ว Battle of the Sexes ครั้งนี้ยังดูเหมือนงานเทศกาลเฟสติวัลอีกด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างก็นำไอเดียแนวคิดของตัวเองมาออกแบบเป็นพร็อพต่าง ๆ โดย บิลลี่ จีน คิง เข้าสู่สนามในชุดคล้ายคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ เธอนั่งอย่างสง่างามบนแคร่ โดยมีผู้ชาย 4 ร่างกำยำสี่คนเป็นคนแบก ในขณะที่ ริคส์ นั่งบนรถลากท่ามกลางนางแบบสุดเซ็กซี่ รวมถึงเหล่าเพื่อนฝูงของเขา

เมื่อมาประชันหน้ากันบริเวณตาข่าย สงครามประสาทยิ่งปะทุเดือดขึ้นไปอีกขั้น เนื่องจากทั้งคู่ได้ทำการแลกเปลี่ยนของขวัญซึ่งกันและกัน ... ริคส์ ได้มอบอมยิ้มยักษ์ยี่ห้อ Sugar Daddy โดยมีความหมายแฝงถึงการเป็นผู้นำของเพศชาย และมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ที่มักจะใช้คำว่า Daddy หรือ ป๊ะป๋า เมื่อพูดคุยกับผู้หญิง​เหล่านั้น ให้ ส่วน คิง ก็แสบไม่แพ้กันกับของขวัญที่เป็นตุ๊กตาลูกหมู สื่อความหมายถึงเหล่าผู้ชายที่รับประทานทุกสิ่งทุกอย่าง​ด้วยความตะกละตะกลาม​ เรียกได้ว่า ต่างฝ่ายต่างปั่นกันสุดฤทธิ์

8

ในที่สุดการแข่งขันที่ทุกคนเฝ้ารอคอยก็เริ่มต้นขึ้น..

คิง เตรียมตัวสำหรับการแข่งขันครั้งนี้มาเป็นอย่างดี โดยเธอใช้กลยุทธ์ตีโยกไปมาจากตำแหน่งเบสไลน์ เพื่อทำให้ ริคส์ ในวัย 55 ที่พละกำลังคือจุดอ่อนเคลื่อนที่ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจากผลลัพธ์ที่ออกมาก็ถือว่าได้ผล เพราะยิ่งเล่นไป ริคส์ ก็ยิ่งดูอ่อนแรง ความเร็วตกลงอย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่สุดท้ายคิง ก็เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 3 เซตรวด ด้วยสกอร์ 6-4, 6-3, 6-3 

"ใจฉันเต้นแรง ตาของฉันชื้น หูของฉันรู้สึกเหมือนกำลังกระดิก แต่มันคือความรู้สึกที่ก็สงบดีเหมือนกัน รวมกับฉันกำลังสำเร็จความใคร่เลยล่ะ" คิง กล่าวถึงความรู้สึกในตอนแข่งขัน

ถึงแม้สกอร์จะไม่ท่วมท้นเท่าการสังหารโหดวันแม่ แต่ คิง ก็พิสูจน์ให้โลกได้เห็นแล้วว่า ผู้หญิงก็เป็นเพศที่แข็งแกร่งเช่นกัน

"ผมประเมินคุณต่ำไปจริง ๆ" ประโยคแรกที่ ริคส์ พูด กับ คิง หลังการแข่งขันสิ้นสุดลง

หลังจากนั้น ริคส์ ก็มีความพยายามอีกหลายครั้งในการขอรีแมตช์กับ คิง แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย นี่คือ Battle of the Sexes ครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์

"คิง มองเกมขาดอย่างมาก สิ่งที่เธอต้องการคือให้การแข่งขันนี้ถ่ายทอดแก่ผู้ชมทั่วโลก และเมื่อเธอชนะ ข้อความเชิงสัญลักษณ์เพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่เธอต้องการจะสื่อมันก็สำเร็จแล้ว"

"เธอแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเองก็ควบคุมตัวเองภายใต้สถานการณ์กดดันได้ไม่แพ้ผู้ชาย" นีล อัมดูร์ นักหนังสือพิมพ์แสดงความคิดเห็นใน The New York Times

หลังจากวันนั้น

ถ้าถามว่าชัยชนะใน Battle of the Sexes ของ คิง ทำให้ความเท่าเทียมในวงการเทนนิสเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดหรือไม่ ? คำตอบคือไม่ใช่ แต่มันเป็นตะกอนเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง

ในปี 1973 ยูเอส โอเพ่น คือรายการแกรนด์สแลมแรกที่มอบเงินรางวัลผู้ชายกับผู้หญิงในจำนวนเท่ากัน ก่อนที่หลังจากนั้นแกรนด์สแลมอื่น ๆ จะค่อย ๆ เดินรอยตาม และในปีเดียวกันนี้ คิง ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยการก่อตั้ง Women's Tennis Association หรือ WTA สมาคมเทนนิสสำหรับผู้หญิง

ปีถัดมา คิง ได้ก่อตั้งนิตยสาร WomenSports รวมถึงก่อตั้งมูลนิธิ Women's Sports Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่อุทิศตนเพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสทางการกีฬาสำหรับผู้หญิง 

10

ในปี 1975 คิง ได้รับรางวัลเป็นผู้หญิงที่มีคนรักมากที่สุดในโลกของนิตยสาร Seventeen จากการสำรวจความเห็นของผู้อ่าน ก่อนที่ในปี 1981 มรสุมชีวิตครั้งใหญ่จะถาโถมเข้ามา เมื่อ มารีลีน เบนเน็ตต์ อดีตผู้ช่วยและช่างแต่งหน้าส่วนตัวได้ออกมาเปิดเผยว่า เธอกับ คิง เคยมีความสัมพันธ์ฉันท์คนรักกันยาวนานร่วม 7 ปีในช่วงยุค 70s-80s ทั้ง ๆ ที่ คิง เองก็มีสามีชื่อ แลร์รี่ คิง อยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น มารีลีน ยังได้อ้างว่า คิง ได้มอบบ้านพักในย่านมาลิบูแก่เธออีกด้วย

มารีลีน ถึงขั้นยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอค่าเลี้ยงดู เรื่องนี้กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในเวลาไม่นาน จนสุดท้าย คิง ก็ต้องออกมาแถลงข่าว

"ฉันจะบอกความจริงกับทุกคน เพราะนั่นคือสิ่งที่แม่ฉันบอกกับฉันมาตลอดว่าจงเป็นตัวเอง"

"สิ่งที่ฉันจะพูดกลั่นออกมาจากใจฉัน ฉันกับมารีลีนมีความสัมพันธ์กันจริง แต่มันผ่านมานานแล้ว ฉันตกใจที่ มารีลีน ออกมาพูดในครั้งนี้"

ตลอดเวลา 20 นาทีของการแถลงข่าว ใจความสำคัญที่ คิง จะสื่อคือเธอยินดีที่จะรับผิดชอบทุกอย่างตามสมควร และก็ไม่ปฏิเสธว่าตัวเองเป็นคนรักร่วมเพศ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ มารีลีน ยังไงมันก็จบลงไปแล้ว

"สุดท้ายฉันหวังว่าทุกคนจะมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกัน"

11

การแถลงข่าวครั้งนี้ถือว่าสั่นสะเทือนโลกอย่างมาก เพราะ คิง ถือเป็นนักกีฬาชื่อดังคนแรกที่ออกมายอมรับว่าเป็นคนรักร่วมเพศ ในยุคสมัยที่การรักร่วมเพศยังเป็นสิ่งที่สังคมยังไม่ยอมรับ 

กระแสตอบรับในช่วงเวลาดังกล่าวแบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ในขณะที่สปอนเซอร์ต่างพากันถอนตัวจาก คิง จนหมดเกลี้ยง กลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนก็พากันยกย่องการกระทำของ คิง เป็นอย่างมาก โดยในปี 1990 เธอได้รับเกียรติให้เป็น 1 ใน 100 ชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 โดยนิตยสาร Life

"การกระทำของเธอส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อแนวคิดผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะในวงการกีฬา เธอคือผู้นำในสงครามครูเสดระหว่างเพศ" คำยกย่องของนิตยสาร Life

"การเป็นรักร่วมเพศไม่ได้ทำให้พวกเราสูญเสียศรัทธาในตัว บิลลี่ จีน คิง สิ่งที่เธอทำเพื่อพวกเรามาตลอด 15 ปียิ่งใหญ่กว่านั้นมาก" คำแถลงการณ์ของ Women's Tennis Association หลังจากที่สังคมกดดันให้ปลดเธออกจากตำแหน่งประธาน

คิง เกษียณตัวเองออกจากคอร์ทเทนนิสในปี 1990 ในวัย 40 ปี หลังจากนั้นเธอก็ใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ควบคู่ไปกับการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศเท่าที่เธอจะทำได้ โดย คิง ยอมรับว่าถึงแม้ว่าเธอจะเป็นผู้หญิงแกร่ง แต่สิ่งที่เธอต้องเผชิญจากการยอมรับว่าเป็นรักร่วมเพศก็กัดกินชีวิตเธอไปไม่ใช่น้อย

ถึงกระนั้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คิง มีความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนที่ดีกับ บ็อบบี้ ริคส์ คู่แข่งของเธอใน Battle of the Sexes ทั้งคู่เป็นกัลยาณมิตรต่อกันจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของ ริคส์ ในปี 1995 

"ผมรักคุณนะ" คำพูดสุดท้ายของ ริคส์ ถึง คิง

ซึ่งก่อนหน้านั้น ริคส์ ก็เคยออกมายอมรับว่าสิ่งที่เขาเคยทำลงไปมันงี่เง่าสิ้นดี

"มันเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในโลกที่ผมเคยทำ"

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าความเท่าเทียมในโลกกีฬากำลังเดินหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าอาจจะยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าทุกคนเท่าเทียมกันแล้วจริงๆ ก็ตาม โดยในงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Battle of the Sexes ในปี 2017 ที่เป็นการนำเรื่องราวการแข่งขันระหว่าง คิง กับ ริคส์ มาสร้างสรรค์ลงบนแผ่นฟิล์ม นำแสดงโดย เอ็มม่า สโตน และ สตีฟ คาเรล กำกับโดย วาเลรี ฟาริส และ โจนาธาน เดย์ตัน 

คิงได้ให้สัมภาษณ์ว่า

12

"ฉันคิดว่าตลอดว่าถ้าย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ถ้าวันนั้นฉันแพ้ มันจะเกิดอะไรขึ้น ความเท่าเทียมในวงการกีฬาตอนนี้จะเป็นอย่างไร"

"ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะก้าวขึ้นมาเพื่อสิทธิของตัวเอง การต่อสู้ยังไม่จบลง เรายังคงต้องต่อสู้กันต่อไป" คิง กล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "บิลลี่ จีน คิง" : นักเทนนิสผู้เปลี่ยนโลกกีฬาหญิงแต่ถูกเพลง "ไมเคิล แจ็คสัน" บดบัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook