หยุด Propaganda! : เมื่อนักชกชาวยิวตบหน้าเผด็จการด้วยการชนะนักมวยของ "ฮิตเลอร์"

หยุด Propaganda! : เมื่อนักชกชาวยิวตบหน้าเผด็จการด้วยการชนะนักมวยของ "ฮิตเลอร์"

หยุด Propaganda! : เมื่อนักชกชาวยิวตบหน้าเผด็จการด้วยการชนะนักมวยของ "ฮิตเลอร์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โฆษณาชวนเชื่อ หรือ Propaganda เป็นวิธีการที่รัฐบาลเผด็จการนิยมใช้งาน เพื่อชักจูงประชาชนให้มีทัศนคติเห็นด้วยต่ออุดมการณ์ของรัฐ แม้สิ่งที่กำลังลงมือทำอยู่นั้นจะเป็นเรื่องที่ผิดก็ตาม

หนึ่งในโฆษณาชวนเชื่อแสนร้ายกาจ คือการสร้างความชอบธรรมแก่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซีเยอรมัน โดยอ้างว่า ชาวยิว คือ ศัตรูโดยกำเนิดของชาวอารยัน ชาติพันธุ์ที่เหนือกว่ามนุษย์ทั่วไป ตามแนวคิดของนาซี

แมกซ์ แบร์ นักมวยเชื้อสายยิว จึงเลือกใช้กำปั้น เพื่อตบหน้าโฆษณาชวนเชื่อของนาซีเยอรมัน ต่อสายตาคนทั่วโลก ด้วยการเอาชนะ มักซ์ ชเมลลิง นักมวยคนโปรดของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

กำปั้นขวัญใจฮิตเลอร์

มักซ์ ชเมลลิง และ แมกซ์ แบร์ แลกหมัดกันบนสังเวียนเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ปี 1933 แต่กว่าทั้งคู่จะโคจรมาพบกัน ชีวิตของพวกเขาผ่านเรื่องราวที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

สำหรับ มักซ์ ชเมลลิง เขาคือนักมวยพรสวรรค์สูงชาวเยอรมัน ที่เริ่มต้นสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเองตั้งแต่อายุ 19 ปี ด้วยการกวาดแชมป์ในประเทศเยอรมัน และทวีปยุโรป 

1

กระทั่งปี 1928 เขาเดินทางสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อขึ้นชกในมหานครนิวยอร์ก เมืองหลวงของกีฬามวยสากล ณ ขณะนั้น

ที่นั่น ชเมลลิง ได้พบกับ โจ จาคอบส์ ผู้จัดการเชื้อสายยิว ที่เข้ามารับหน้าที่โปรโมตนักมวยชาวเยอรมันผู้นี้ให้มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา จาคอบส์ ใช้ข้อได้เปรียบของการเป็นชาวยิว แนะนำชเมลลิง ให้โปรโมเตอร์ชาวยิวรู้จัก 

2

ไม่นานนัก ชเมลลิง จึงได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยชาวยิวที่หลงไหลในฝีมือการชกของเขา วันที่ 11 มิถุนายน ปี 1930 ชเมลลิง คว้าแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวตจากการเอาชนะ แจ็ค ชาร์คีย์ นักมวยเชื้อสายลิทัวเนีย-อเมริกัน ที่พลาดต่อยล่างใส่ชเมลลิงในยกที่ 4 จนเสียเข็มขัดด้วยการแพ้ฟาวล์ 

ชเมลลิง จึงกลายเป็นแชมป์โลกชาวเยอรมันคนแรกในประวัติศาสตร์มวยสากล แม้ต้องแลกมาด้วยความรังเกียจของชาวอเมริกัน ที่มองว่า ชเมลลิง คว้าแชมป์แบบไม่ใสสะอาด จนขนานนามเขาว่า The "Low Blow Champion"

3

ชาติพันธุ์เดียวในสหรัฐอเมริกาที่ยกย่อง ชเมลลิง เป็นฮีโร่ คือ ชาวยิว เช่นเดียวกับในประเทศเยอรมัน ที่ขณะนั้นมีชาวยิวอาศัยอยู่จำนวนมาก แถมยังเป็นชนชั้นมีฐานะในสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักมวยชื่อดังอย่างชเมลลิงจะมีเพื่อนเป็นชาวยิว ก่อนเกิดเหตุการณ์สำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตคนทั่วโลก

ปี 1933 พรรคนาซีเข้าปกครองประเทศเยอรมัน ผู้นำของพรรค อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ คลั่งไคล้ในอุดมการณ์คลั่งชาติ และความเป็นยอดของชาวอารยัน เขาใช้วิธีการที่เรียกว่า "โฆษณาชวนเชื่อ" หรือ Propaganda หว่านล้อมให้ชาวเยอรมันเห็นด้วยกับนโยบายของนาซี และเกลียดชังผู้เป็นศัตรูของชาติ นั่นคือ ชาวยิว

โฆษณาชวนเชื่อของนาซีมักมีพื้นฐานจากความสนใจส่วนตัวของฮิตเลอร์ หนึ่งในนั้นคือการชกมวย ฮิตเลอร์บรรยายความชื่นชอบต่อกีฬาชนิดนี้ ในหนังสือการต่อสู้ของข้าพเจ้า (Mein Kampf) โดยมีการกล่าวสรรเสริญ และยกย่องว่า มวย เป็นการต่อสู้ของชายชาตรี

4

มักซ์ ชเมลลิง จึงเป็นภาพแทนที่เหมาะสมในการทำโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซี ในบทบาทของยอดนักสู้ชาวอารยัน ที่มีความสามารถ และพละกำลังเหนือมนุษย์ทั่วไป เพื่อเน้นย้ำแนวคิดของพรรคที่บอกว่าชาวอารยันคือชาติพันธุ์ที่สูงส่งกว่าชาติพันธุ์อื่น

ฮิตเลอร์จึงเรียกชเมลลิงมาเข้าพบในปี 1933 เพื่อมอบหมายหน้าที่การเป็นกระบอกเสียงทำโฆษณาชวนเชื่อ สนับสนุนแนวคิดของพรรคนาซี และความเป็นสุดยอดของชาวอารยัน 

ชเมลลิง ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของฮิตเลอร์ แต่เขาก็ไม่กล้าพอจะโต้เถียง พรรคนาซี จึงนำชื่อเสียง และความสำเร็จของชเมลลิง ไปทำโฆษณาชวนเชื่อตามอำเภอใจ จนผู้คนทั่วโลกรู้จักชเมลลิงในนาม "นักมวยคนโปรดของฮิตเลอร์"

นักมวยอพยพที่คนยิวไม่ยอมรับ 

สวนทางกับ มักซ์ ชเมลลิง ชีวิตของ แมกซ์ แบร์ ดำเนินในรูปแบบที่แตกต่างออกไป นักชกชาวอเมริกันรายนี้เกิดในครอบครัวชาวยิวอพยพที่รัฐเนบราสกา เมื่ออายุ 20 ปี แบร์เริ่มต้นอาชีพของเขาในฐานะนักมวยสากล ด้วยการตระเวนกวาดชัยชนะในการชกบริเวณรัฐแคลิฟอร์เนีย

5

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในเดือนสิงหาคม ปี 1930 เมื่อ แบร์ พลั้งมือต่อยนักมวยคู่แข่ง แฟรงกี แคมพ์เบลล์ จนเสียชีวิต อาชีพนักมวยของเขาร่วงหล่นถึงจุดต่ำสุด เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับคดีความ และถูกแบนห้ามขึ้นชกในรัฐแคลิฟอร์เนีย สภาพจิตใจของแบร์ย่ำแย่หนัก เขารู้สึกผิดต่อการกระทำครั้งนี้ และต้องการหันหลังแก่วงการมวยไปตลอดกาล

แบร์ พยายามรับผิดชอบความผิดพลาด ด้วยการดูแลงานศพ และมอบเงินแก่ภรรยา รวมถึงทุนการศึกษาแก่ลูกของผู้เสียชีวิต ทั้งที่ตัวเองไม่ได้มีเงินมาก 

ผู้ใหญ่ในวงการมวยบางคนเห็นความตั้งใจของเขา จึงชักชวนแบร์ให้ชกมวยต่อ เพียงแค่เปลี่ยนถิ่นฐานจากเดิมคือแคลิฟอร์เนีย สู่สังเวียนฝั่งตะวันออกอย่าง มหานครนิวยอร์ก

ไม่นานนัก ชื่อเสียงของ แมกซ์ แบร์ เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการมวย เขามีภาพลักษณ์ทุกประการที่ชาวอเมริกันชื่นชอบ เขารูปหล่อ, หน้าตาดี และมีเสน่ห์ โดยเฉพาะยามอยู่บนสังเวียน แบร์ไม่ใช่นักมวยหน้าตาขึงขังที่เอาแต่ต่อยคู่ต่อสู้ เขาชื่นชอบการหยอกล้อคู่แข่ง หรือกระทั่งการล้อเล่นกับคนดู แบร์จึงได้รับการขนานนามเป็น "เจ้าชายตัวตลกแห่งวงการมวย"

6

แบร์ เป็นที่รักของแฟนมวยทั่วสหรัฐอเมริกา ยกเว้น ชาวยิว เขาถูกวิจารณ์บ่อยครั้งว่าไม่มีความเป็นชาวยิวในตัว เนื่องจากคุณแม่เป็นคาทอลิก และตัวเขาเติบโตในฝั่งตะวันตกที่ไม่เคร่งศาสนา ทำให้ แบร์ ไม่เคยแสดงออกถึงความภูมิใจของความเป็นชาวยิว แถมยังไม่เรียกตัวเองเป็นชาวยิว แบร์ จึงไม่ได้รับการยอมรับจากชาวยิวในสหรัฐฯ เท่าใดนัก

แต่ความนิยมของ แบร์ ที่มีต่อชาวยิวเกิดพลิกผัน เมื่อขวัญใจอันดับหนึ่งอย่าง มักซ์ ชเมลลิง เปลี่ยนข้างไปอยู่กับนาซี 

ความรักที่เคยมีแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธเกรี้ยว ชาวยิวจากเหนือจรดใต้ในสหรัฐอเมริกา ต้องการเห็นนักมวยสักคนที่มีเชื้อสายยิว เอาชนะ ชเมลลิง ด้วยกำปั้นเปล่า เพื่อประกาศให้คนทั้งโลกเห็นว่า ชาวอารยันไม่ได้เหนือกว่าชาติพันธุ์อื่น ตามโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์

ฮีโร่ที่ชาวยิวตามหาไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก.. แมกซ์ แบร์

ชัยชนะที่มีความหมาย

วันที่ 8 มิถุนายน ปี 1933 ท่ามกลางผู้ชมมากกว่า 60,000 คนใน แยงกี สเตเดียม มักซ์ ชเมลลิง และ แมกซ์ แบร์ เผชิญหน้ากันบนสังเวียน 

ท่ามกลางความร้อนระอุที่เกิดขึ้นตั้งแต่นอกสนาม รัฐบาลนาซีลงข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า มักซ์ ชเมลลิง เดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเอาชนะนักมวยชาวยิว เช่นเดียวกับ ชาวยิวทั่วสหรัฐฯ ที่มั่นใจว่า แมกซ์ แบร์ จะไม่แพ้ให้แก่นักมวยของฮิตเลอร์

7

เสียงระฆังดังขึ้น แบร์ เดินหน้าเปิดหมัดใส่ชเมลลิงไม่ยั้ง ผู้ชมทั่ว แยงกี สเตเดียม เฮกันลั่น เมื่อเห็นนักชกเจ้าถิ่นได้เปรียบ แต่ชเมลลิงที่เป็นมวยสวนกลับไม่รีบร้อนใจ เขาพยายามหาจังหวะโต้ตอบเท่าที่จะทำได้ แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะแบร์ได้เปรียบกว่ามากเรื่องสรีระร่างกาย

เมื่อเวลาผ่านไป แบร์ ได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งยกที่ 10 แบร์ปล่อยหมัดขวาเข้าไปเต็มหน้าของชเมลลิง จนนักชกชาวเยอรมันเซหลังพิงเชือก ชเมลลิงพยายามโต้ตอบแต่สติของเขาเลือนลางเต็มทน จนปล่อยหมัดใส่ท้ายทอยของแบร์ ซึ่งผิดกติกา เมื่อเห็นว่าชเมลลิงควบคุมตัวเองไม่ได้ กรรมการจึงตัดสินให้แบร์เป็นฝ่ายชนะในยกที่ 10 แบบ TKO

8

เสียงเฮดังลั่นทั่ว แยงกี สเตเดียม และสหรัฐอเมริกา เมื่อ แมกซ์ แบร์ ถูกชูมือหลังการแข่งขันสิ้นสุด การต่อสู้ครั้งนี้ได้รับรางวัล Fight of the Year แห่งปี 1933 ไม่ใช่เพราะการต่อสู้ที่เร้าใจบนสังเวียนเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงข้อความที่ส่งต่อถึงคนทั้งโลกว่า โฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีเป็นเรื่องหลอกลวง

แมตช์ระหว่าง แบร์ กับ ชเมลลิง มีความหมายมากกว่า สหรัฐอเมริกา ปะทะ เยอรมัน แต่หมายถึง ยิว ปะทะ นาซี และอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่ยิวได้รับชัยชนะเหนือนาซี นับตั้งแต่มีการกวาดล้างอย่างโหดเหี้ยมของชาวยิวในทวีปยุโรปโดยพรรคนาซี

"ผมไม่เคยสวมใส่กางเกงที่มีสัญลักษณ์ดาว 6 แฉก (Star of David) มาก่อนเลย เพราะถึงพ่อผมจะเป็นยิว แต่แม่ของผมเป็นชาวสก็อต-ไอริช" แบร์ให้สัมภาษณ์กับ New York Times หลังจบแมตช์

"วันนี้ผมสวมใส่กางเกงที่มีดาว 6 แฉก เพราะผมคิดว่าผมควรจะทำสิ่งนี้ และผมตั้งใจว่าผมจะใส่กางเกงตัวนี้ ในทุกไฟต์นับแต่นี้เป็นต้นไป"

9

ชัยชนะของแบร์ จึงเป็นมากกว่าชัยชนะของนักกีฬาคนหนึ่ง แต่เป็นการจุดประกายความหวังแก่ชาวยิวในยุโรป ที่ถูกกดขี่โดยนาซีเยอรมัน 

ด้วยความเชื่อมั่นว่าตัวเองไม่ได้เป็นศัตรูที่ต้องกำจัด หรือชาติพันธุ์ที่ด้อยกว่า ตามที่โฆษณาชวนเชื่อหลอกลวง

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ หยุด Propaganda! : เมื่อนักชกชาวยิวตบหน้าเผด็จการด้วยการชนะนักมวยของ "ฮิตเลอร์"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook