LEAP : หนังวอลเลย์บอลที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของจิตวิญญาณประเทศจีน

LEAP : หนังวอลเลย์บอลที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของจิตวิญญาณประเทศจีน

LEAP : หนังวอลเลย์บอลที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของจิตวิญญาณประเทศจีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค.ศ. 1978 ประเทศจีนเกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ เปลี่ยนดินแดนหลังม่านไม้ไผ่ สู่มหาอำนาจแห่งโลกตะวันออก โดยมีรากฐานจากอุดมการณ์ชาตินิยม ตามทฤษฎีทางการเมืองแบบลัทธิเหมา

ความเป็นคติรวมหมู่ฝังรากลึกในชาวจีน ผู้คนที่เติบโตหลังการปฏิรูปพร้อมสละความสุขส่วนตัวเพื่อเป้าหมายของชาติ แต่แนวคิดดังกล่าวกลับไม่ถูกตอบรับโดยชาวจีนยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกบุคคล 

เมื่อวิถีทางที่เคยพัฒนาประเทศจีนให้รุ่งเรืองเมื่อ 40 ปีก่อน กลายเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางชาติ การปฏิรูปจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อประเทศจะสามารถก้าวเดินต่อไปได้

LEAP คือ ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีน ที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตวิญญาณภายในทีมวอลเลย์บอลหญิง ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพของประเทศจีนที่ยอมปฏิรูปความเชื่อดั้งเดิม และเปิดรับแนวคิดใหม่ เพื่อนำนักตบสาวแดนมังกรกลับสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง

หนังกีฬารายได้ 3 พันล้านบาท 

Leap (2020) ภาพยนตร์กีฬาสัญชาติจีน กำกับโดย ปีเตอร์ ชาน ผู้กำกับลูกครึ่งฮ่องกง-ไทย ที่เคยฝากผลงานอันเป็นที่จดจำอย่าง Comrades: Almost a Love Story (1996) หรือ เถียน มี มี่ 3,650 วันรักเธอคนเดียว

1

เนื้อหาของ Leap เล่าถึงการต่อสู้ของนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีน ตั้งแต่วันแรกที่พวกเธอเดินเข้าสู่แคมป์เก็บตัว กระทั่งประสบความสำเร็จจากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก โดยโฟกัสไปที่ตัวละครหลัก 2 คน คือ หลางผิง โค้ชและอดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติจีน กับ เฉินจงเหอ อดีตคู่ซ้อมของนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิง ที่ผันตัวเป็นเฮดโค้ชของทีมในเวลาต่อมา

หนังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เนื้อเรื่องในช่วงปี 1979-1981 ถือเป็นช่วงที่วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนเพิ่งก่อตั้งภายหลังการเปิดประเทศ เนื้อเรื่องส่วนนี้จะเล่าถึงการฝ่าฝันของ หลางผิง จากนักกีฬาหน้าใหม่สู่ตัวความหวังของทีม ก่อนจบลงด้วยชัยชนะของทีมชาติจีน ในรายการวอลเลย์บอลหญิงเวิลด์คัพ 1981 ถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของทีมนักตบสาวจีน 

ขณะที่เนื้อเรื่องส่วนหลัง หรือ เหตุการณ์ในช่วงปี 2008-2016 เมื่อวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนไม่แข็งแกร่งเหมือนดั่งยุค 80’s แถมยังถูกคู่ปรับอย่างสหรัฐอเมริกาเขี่ยตกรอบในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่จัดขึ้นบนแผ่นดินตัวเอง ณ กรุงปักกิ่ง โดยเฮดโค้ชของทีมชาติสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น คือ หลางผิง

วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีน จึงดึงตัว หลางผิง เข้ามารับตำแหน่งเฮดโค้ช เพื่อหวังกู้หน้าจากความล้มเหลวในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล

ในช่วงท้ายของหนังเรื่อง Leap จะโฟกัสไปที่การคุมทีมของ หลางผิง ที่นำแนวคิดจากโลกตะวันตกมาใช้ กับนักกีฬาชุดใหม่ซึ่งมีบุคลิกแตกต่างออกไปจากทีมวอลเลย์บอลยุค 80s ที่ผู้ชมเห็นในช่วงต้นเรื่อง 

2

ก่อนที่ทีมชาติจีนจะพลิกล็อกชนะทีมชาติบราซิล เจ้าภาพและเต็งหนึ่งของการแข่งขัน ก้าวไปคว้าเหรียญทองในท้ายที่สุด

ภาพยนตร์เรื่อง Leap ถือเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีน ผ่านการร่วมทุนจากหลายสตูดิโอ พร้อมทั้งดึงตัว กงลี่ นักแสดงหญิงชาวจีนที่โด่งดังระดับอินเตอร์ มารับบทบาท หลางผิง รวมถึงนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีน ที่มารับบทเป็นตัวเองในภาพยนตร์เรื่องนี้

3

Leap ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศจีน กวาดรายได้ 700 ล้านหยวน หรือมากกว่า 3 พันล้านบาท และยังครองอันดับหนึ่ง Box Office ในฮ่องกงด้วยเช่นกัน 

โดยชาวจีนส่วนมากแสดงความเห็นต่อหนังเรื่องนี้ในเชิงบวก ทั้งในส่วนจังหวะของหนังที่ดำเนินอย่างลื่นไหล และความเต็มเปี่ยมอารมณ์ทางอารมณ์ หลังเห็นวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง ในฉากสุดท้ายของหนัง

ความสำเร็จจากอุดมการณ์ชาตินิยม 

เหตุผลที่ภาพยนตร์เรื่อง Leap ประสบความสำเร็จในประเทศจีน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะหนังดัดแปลงเนื้อหาจากเหตุการณ์จริง หรือใช้นักแสดงที่เป็นนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีน 

แต่รวมถึงเนื้อหาของภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของ "จิตวิญญาณวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีน" ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เห็นได้จากการฝึกซ้อมของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนที่แตกต่างในแต่ละยุคสมัย 

4

เริ่มต้นจากการฝึกซ้อมของทีมในช่วงปี 1979-1981 ภายใต้การดูแลของ หยวนเว่ยมิน อดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติจีนที่เข้ามารับหน้าที่เฮดโค้ชในช่วงเริ่มแรก

หยวนเว่ยมิน ถือเป็นตัวละครที่สำคัญในภาพยนตร์ เขาคือผู้ฝึกสอนที่เข้มงวดตามแนวทางโบราณที่เชื่อมั่นว่า "การทำงานหนักจะนำมาสู่ความสำเร็จ" หนังแสดงให้เห็นถึงการฝึกซ้อมอันโหดร้ายที่นักวอลเลย์บอลหญิงต้องเผชิญในแคมป์เก็บตัว 

นักกีฬาส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากชีวิตที่เหมือนอยู่ในค่ายทหาร และอาจกล่าวได้ว่า นักวอลเลย์บอลหญิงเหล่านี้ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าโค้ชหยวนเว่ยมิน หรือคู่ซ้อมอย่าง เฉินจงเหอ

การปฏิบัติต่อนักกีฬาอย่างโหดร้ายของ หยวนเว่ยมิน ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเมื่อพิจารณาจากความจริงที่ว่า หยวนเว่ยมิน คือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ถูกโอบอุ้มด้วยอุดมคติทางการเมืองแบบลัทธิเหมา (Maoism) หยวนเว่ยมิน เชื่อมั่นว่า จีนสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยแนวทางของประเทศ ที่ก่อร่างสร้างตัวจากหยาดเหงื่อของชนชั้นกรรมาชีพ ผ่านการทำงานหนักแบบหามรุ่งหามค่ำ

5

หยวนเว่ยมิน จึงไม่ลังเลที่จะฝึกซ้อมนักวอลเลย์บอลหญิงราวกับพวกเธอเป็นชาวนา เพราะมองว่านักกีฬาเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ที่พร้อมแลกทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมาย

เมื่อบวกกับความต้องการของรัฐบาลจีนหลังเปิดประเทศในปี 1978 ที่อยากพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา การทำทุกอย่างเพื่อให้วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนคว้าแชมป์โลก ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในมุมมองของหยวนเว่ยมิน

อุดมการณ์ชาตินิยม จึงถูกนำมาใช้ในแคมป์เก็บตัวของ หยวนเว่ยมิน เธอมักพร่ำบอกนักกีฬาวอลเลย์บอลทุกเช้าค่ำว่า "คุณต้องซ้อมให้หนัก เพื่อที่ชาติของเราจะชนะ"

6

อีกทั้งยังกล่าวอย่างชัดเจนว่า คนรุ่นใหม่คิดถึงแต่เรื่องปัจเจก โดยไม่รู้ว่ามีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น.. "บางสิ่ง" ในมุมมองของหยวนเว่ยมิน คือ ประเทศจีน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดคอมมิวนิสต์แบบลัทธิเหมา ที่ไม่มีปัจเจกผู้ใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าชาติ (ยกเว้น เหมาจ๋อตง)

ทัพนักตบสาวลูกยางสาวจีนจึงไม่ใช่แค่ทีมวอลเลย์บอล แต่หมายถึง ประเทศจีน, หยวนเว่ยมิน ไม่ใช่เฮดโค้ช แต่คือรัฐบาล และ นักวอลเลย์บอลในทีม คือ ประชาชนที่เติบโตภายใต้แนวคิดชาตินิยมหลังเปิดประเทศ 

หนังเรื่อง Leap แสดงการเปรียบเทียบนี้ออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านการกระทำของตัวละคร หรือ ภาษาภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในหนัง

7

ความสำเร็จของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนในยุค 80s จึงสะท้อนภาพการพัฒนาของประเทศจีนหลังเปิดประเทศ ซึ่งมาจากความมุ่งมั่นจะทัดเทียมประเทศตะวันตกของรัฐบาล ผ่านการปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมลงไปในตัวประชาชน 

ชาวจีนรุ่นนั้นจึงมีความภูมิใจกับชาติของตัวเองเป็นอย่างมาก ก่อนที่แนวคิดนี้จะแปรเปลี่ยน และสูญสลายไปในช่วงครึ่งหลังของหนัง

จิตวิญญาณที่เปลี่ยนไป

ครึ่งหลังของภาพยนตร์เรื่อง Leap จะเริ่มต้นด้วยความพ่ายแพ้ของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ตัวละครที่มีบทบาทในเนื้อเรื่องส่วนนี้คือ หลางผิง และ เฉินจงเหอ โดยทั้งสองบอกเล่ามุมมองที่แตกต่างของประเทศจีนที่เปลี่ยนไป

เฉินจงเหอ คือ ตัวแทนของวัยรุ่นจีนในยุค 80s ที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในสังคมปัจจุบัน ชาวจีนแบบเฉินจงเหอ ยังมีความภูมิใจในชาติและเชื่อมั่นในแนวทางของประเทศจีนที่เคยเป็นมา 

8

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้มองทุกอย่างภายใต้อุดมคติชาตินิยมอีกต่อไป ทีมวอลเลย์บอลหญิงของ เฉินจงเหอ จึงเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสนุกสนาน เธอมองกีฬาเป็นเพียงแค่การแข่งขัน สะท้อนถึงภาพของชาวจีนที่มองการทำงานเป็นการประกอบอาชีพ ภายใต้แนวคิดทุนนิยมที่เข้ามีบทบาทในประเทศจีน แทนที่ลัทธิคอมมิวนิสต์

ส่วน หลางผิง สะท้อนภาพของชาวจีนที่อพยพจากประเทศในยุค 80s เธอคือนักกีฬาที่มีความสามารถ แต่กลับไม่ได้การยอมรับมากกว่า "นักกีฬาผู้เป็นฮีโร่ของชาติ" ความรู้เรื่องภาษาอังกฤษของ หลางผิง ไม่มีคุณค่าต่อประเทศจีนในเวลานั้น เธอจึงย้ายไปใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เปิดโอกาสและมองเห็นคุณค่าในตัวเธอมากกว่า

เห็นได้ชัดว่า หลางผิง มองจีนเป็นประเทศที่ล้าหลัง กระทั่งกลับมาเยือนกรุงปักกิ่งในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เธอจึงยอมรับว่าประเทศจีนเปลี่ยนไปมาก จนแทบไม่ต่างจากโลกตะวันตก 

อุดมการณ์ชาตินิยมที่ถูกปลูกฝังในตัวเธอจึงกลับมาลุกโชนอีกครั้ง หลังวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนพ่ายแพ้แก่สหรัฐอเมริกาในโอลิมปิก 2008

9

หลางผิง คือ ตัวละครที่น่าสนใจ และสะท้อนภาพของชาวจีนที่เติบโตขึ้นมาในยุค 80s อย่างยอดเยี่ยม ร่างกายของเธอพังพินาศจากการเล่นบอลเลย์บอล สื่อถึงความบอบช้ำและความเสียสละของชาวจีนที่ทุ่มเทในการพัฒนาประเทศ 

แต่ถึงกระนั้น เธอยังคงภูมิใจในบ้านเกิด และไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นชาวอเมริกัน แม้จะมีครอบครัวปักหลักอยู่ที่นั่น

หลางผิงจึงเข้ารับตำแหน่งเฮดโค้ชวอลเลย์บอลหญิง และปฏิรูปทีม ผ่านการเปลี่ยนระบบคัดเลือกนักกีฬา และนำโค้ชจากต่างประเทศเข้ามาสู่ทีม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ หลางผิง ใช้วิธีทางจิตวิทยาเข้ามาสื่อสาร และฝึกซ้อมนักวอลเลย์บอลในทีมรุ่นปัจจุบัน นับเป็นแนวคิดแตกต่างที่ออกไปจากคนรุ่นก่อน

หนังเรื่องนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า นักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนยุค 2000s ไม่ตอบรับลัทธิชาตินิยมอีกต่อไป พวกเธอจะไม่ซ้อมหามรุ่งหามค่ำเพื่อชัยชนะของประเทศชาติ เพราะพวกเธอต่างมีเป้าหมายและความฝันเป็นของตัวเอง หากต้องการให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนชุดนี้ประสบความสำเร็จ จึงต้องใช้แนวคิดที่แตกต่างออกไป

หลางผิง ให้ความสำคัญกับนักกีฬาแบบรายบุคคล (Individualism) และปฏิเสธคติรวมหมู่ (Collectivism) ที่เคยใช้โดย หยวนเว่ยมิน ซึ่งเป็นเหล่าซือของเธอเอง 

หลางผิง ไม่เคยบอกให้นักกีฬาสู้เพื่อชาติ แต่เธอกระตุ้นนักกีฬาแต่ละคนตามจุดเด่นและความต้องการที่แต่ละคนมี หน้าที่ของเธอมีเพียงแค่จัดวางผู้เล่นให้เหมาะสมตามแต่ละสถานการณ์เท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงของ "จิตวิญญาณวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีน" ที่เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงหมายถึงความเปลี่ยนแปลงของ "จิตวิญญาณประเทศจีน" 

10

หนังเรื่อง Leap ชี้ชัดให้เห็นถึงแนวคิดที่แตกต่างของคน 3 เจเนอเรชั่นที่แตกต่างกัน และดูเหมือนว่าหนังจะสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน คือ คนรุ่นเก่าไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่

ความสำเร็จของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติจีนในโอลิมปิก 2016 แสดงให้เห็นถึงแมสเซจของหนังที่บอกว่า กลุ่มวัยรุ่นที่เติบโตขึ้นในศตวรรษที่ 21 คือ อนาคตของประเทศ แทนที่จะวิจารณ์คนรุ่นใหม่ว่า คิดถึงแต่ตัวเอง คนรุ่นหลังควรทำความเข้าใจความต้องการ และยอมรับแนวคิดที่แตกต่างของเด็กรุ่นหลัง 

Leap จึงเป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูความสำเร็จของประเทศจีน ผ่านความทุ่มเทของประชาชนในแต่ละยุคสมัย ที่แม้จะมีแนวคิดและความต้องการแตกต่างกัน 

แต่สุดท้าย ความสำเร็จของชาวจีน คือ ความสำเร็จของประเทศชาติ ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยวิธีการใด ความสำเร็จเหล่านั้นจะสะท้อนกลับมาเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นในหัวใจชาวจีนทุกคน

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ LEAP : หนังวอลเลย์บอลที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของจิตวิญญาณประเทศจีน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook