รอน โจนส์: ผู้รักษาประตูแห่งค่ายนรกนาซี “เอาช์วิทซ์” ที่รอดชีวิตมาได้เพราะฟุตบอล

รอน โจนส์: ผู้รักษาประตูแห่งค่ายนรกนาซี “เอาช์วิทซ์” ที่รอดชีวิตมาได้เพราะฟุตบอล

รอน โจนส์: ผู้รักษาประตูแห่งค่ายนรกนาซี “เอาช์วิทซ์” ที่รอดชีวิตมาได้เพราะฟุตบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เอาช์วิทซ์” คือหนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญที่สุดที่คอยย้ำเตือนว่าโลกใบนี้โหดร้ายแค่ไหน เพราะในอดีตอันไม่ไกลเกินกว่าจะพิสูจน์ ณ ค่ายกักกันแห่งนี้ เคยมีผู้คนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคนถูกสังหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยิว

ผู้รอดชีวิตจากเอาช์วิทซ์ บางคนก็อยากลืมสถานที่แห่งนี้ออกไปจากใจ ลืมให้สนิทว่าครั้งหนึ่งชีวิตตัวเองเคยเจอกับเรื่องราวเลวร้ายเพียงใด ทว่าบางคนกลับพยายามย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลา ให้โลกไม่ลืมเลือนว่าเคยมีเรื่องราวแบบไหนเกิดขึ้น เพื่อเป็นอุทาหรณ์ไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก... รอน โจนส์ ก็เช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปีก่อน โจนส์ เป็นเพียงทหารหนุ่มธรรมดาที่ถูกทหารนาซีจับตัวไปยังค่ายเอาช์วิทซ์ ก่อนในภายหลังจะกลายเป็นผู้รักษาประตูทีมฟุตบอลภายในนั้น และสุดท้ายเขาก็รอดชีวิตออกมาได้อย่างปาฏิหาริย์ 

สำหรับ โจนส์ เอาช์วิทช์ คือสถานที่ที่เขาไม่อยากลืม แต่ในขณะเดียวกันมันก็เจ็บปวดเหลือเกินที่ต้องพยายามจดจำมันให้ขึ้นใจ...เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand

เหยื่อสงคราม

เนื่องจาก รอน โจนส์ ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพหรือบุคคลมีชื่อเสียง เขาเป็นเพียงผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่ชอบเตะฟุตบอล จึงทำให้เรื่องราวของเขา ก่อนจะถูกจับส่งค่ายเอาช์วิทซ์นั้นมีปรากฏอยู่ตามสื่อน้อยมาก 

รอน โจนส์ เกิดในปี 1919 ในเมืองนิวพอร์ท ประเทศเวลส์ ก่อนจะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เป็นพนักงานประจำท่าเรือในเมืองแห่งนี้มาโดยตลอด และจากคำยืนยันของ รอน โจนส์ จูเนียร์ ผู้เป็นลูกชาย ทำให้เราได้รู้ว่าผู้ชายธรรมดาคนนี้มีความหลงใหลในกีฬาฟุตบอลไม่ใช่น้อย

“พ่อของผมคลั่งไคล้ฟุตบอลมากๆ เขาแฟนบอลพันธุ์แท้ของทีม นิวพอร์ต เคาน์ตี้ มาตลอดชีวิต อีกทั้งเขายังเล่นให้กับสโมสรท้องถิ่นอยู่บ้าง ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปยังเอาช์วิทซ์”


Photo : www.walesonline.co.uk

ในปี 1940 ช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังร้อนระอุ รอน โจนส์ ชายฉกรรจ์วัย 23 ปี ถูกเกณฑ์ให้ไปร่วมรบในประเทศแถบแอฟริกาตอนเหนือ ในฐานะนายทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร กองพล Battalion Welch 

ช่วงเวลาดังกล่าวในแอฟริกาเหนือคือช่วงที่ฝ่ายอักษะกำลังเปิดศึกอย่างดุเดือดกับฝ่ายสัมพันธมิตร และหลังจากที่รอดจากห่ากระสุนมาได้เกือบ 2 ปี วันหนึ่งในปี 1942 ขณะที่ โจนส์ กับเพื่อนทหารอีกจำนวนหนึ่งกำลังลาดตระเวนอยู่บริเวณชายแดนประเทศลิเบีย เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

“ในขณะที่ผมกำลังลาดตระเวนอยู่ จู่ๆ รถถัง Tiger ของฝ่ายอักษะก็โผล่ขึ้นมาตรงหน้าท่ามกลางฝุ่นทรายที่บดบังราวกับภาพลวงตา ก่อนที่จะมีเสียงทหารของฝั่งนั้นตะโกนออกมาว่า ‘วางปืนลงเถอะเด็กๆ สงครามของคุณจบแล้ว’” โจนส์ เล่าย้อนความหลัง


Photo : www.walesonline.co.uk

กองกำลังที่อยู่ตรงหน้า โจนส์ คือฟาสซิสต์อิตาลี ในตอนนั้นชายหนุ่มคิดว่าชีวิตของตัวเองคงจบสิ้นแล้ว เขาถูกจับตัวไปขังไว้ยังเมืองเบงกาซีอยู่หลายเดือน ก่อนที่จะถูกส่งตัวข้ามทวีปไปยังค่าย E715 ซึ่งเป็นค่ายกักกันย่อย มีรั้วติดกับค่ายหลักอย่างเอาช์วิทซ์

“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนั้นกำลังถูกส่งตัวไปที่ไหน” 

เมื่อถอดผ้าปิดตาออก โจนส์ ก็เห็นว่าเขาอยู่ในสถานที่คับแคบคล้ายกับรางที่เอาไว้เลี้ยงวัว....

 

ผู้รักษาประตูแห่งค่ายนรก

ผ่านไปหลายสัปดาห์กว่าที่ โจนส์ จะรู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนของแผนที่โลก เนื่องจากไม่มีผู้คุมคนไหนยอมบอก และเมื่อความจริงปรากฏ ชายหนุ่มก็รู้สึกสั่นกลัว เพราะเอาช์วิทซ์ ค่ายนรกที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยมอยู่ห่างจากเขาไปไม่กี่ร้อยเมตรนี่เอง ทุกการกระทำที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ด้วยกันกระทำต่อกันล้วนผ่านสายตาของ โจนส์ ทั้งสิ้น


Photo : www.shropshirestar.com

“ครั้งหนึ่งที่ผมกวาดพื้นอยู่บริเวณติดกับรั้วเอาช์วิทซ์ ผมเห็นผู้คุมยิงคนตาย 2 คนไปต่อหน้า ผมตะโกนถามว่ายิงพวกเขาทำไม คำตอบที่ได้กลับมาคือ ‘ก็พวกเขาเป็นคนยิว’”

“และทุกครั้งที่มีการจับคนเข้าห้องรมแก๊ส กลิ่นมันจะลอยตามลมมาถึงที่พวกเราอยู่ มันทำให้เรากลัวเสมอ กลัวว่าตัวเองจะเป็นรายต่อไป” โจนส์ เล่าเรื่องราวกับ Daily Mail

โจนส์ ยังเล่าต่อว่าเขารู้ดีถึงความหิวโหยจากการที่อาหารไม่เพียงพอของชาวยิวอีกฟากกำแพง ทำให้มีหลายครั้งที่เขาแอบเอาไส้กรอกมาแบ่งให้กับพวกเขา หนึ่งในนั้นคือชาวยิวที่ชื่อว่า โจเซฟ 

“เขารู้สึกขอบคุณผมมาก แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไง เขาเลยมอบแหวนที่เขาอยู่ให้กับผม ทุกวันนี้ผมก็ยังสวมมันอยู่ เพื่อย้ำเตือนว่าสิ่งที่นาซีกระทำกับชาวยิวนั้นโหดร้ายเพียงใด”


Photo : www.dw.com

ถึงแม้จะไม่ใช่แดนสวรรค์ แต่ถ้าเทียบกับเอาช์วิทซ์ค่ายหลักแล้ว ต้องบอกว่าสภาพความเป็นอยู่ภายใน E715 นั้นดีกว่าหลายเท่าตัว เนื่องจากนักโทษส่วนใหญ่ที่อยู่ที่นี่คือทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร นักโทษการเมืองโปแลนด์ และคนที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ 

“วันหนึ่งผู้คุมถามว่าในนี้มีใครเป็นวิศวกรบ้างหรือเปล่า ผมรีบยกมือทันที เพราะก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานโรงงานเหล็กและท่าเรือจึงมีความรู้อยู่บ้าง แน่นอนว่าผมอาสา เพื่อหวังถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” โจนส์ กล่าว

หลังจากนั้น โจนส์ ก็กลายเป็นแรงงานประจำของค่าย E715 ไปโดยปริยาย โดยเขาจะต้องทำงาน 6 วันสัปดาห์ วันละ 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น และสามารถพักผ่อนได้ตามอัธยาศัยในวันอาทิตย์ 

ในวันพักผ่อน เนื่องจากนักโทษแต่ละคนต่างก็มีความสนใจในกีฬาฟุตบอลอยู่แล้ว พวกเขาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเตะฟุตบอล 

“เราทำลูกบอลขึ้นมาจากเศษผ้าขี้ริ้ว และมีคนติดสินบนทหารยามเพื่อให้เราสามารถใช้สนามที่ตั้งอยู่ระหว่างค่ายของเรากับเอาช์วิทช์ได้ พวกนั้น (ผู้คุม) ยืนมองเราเล่นด้วยสีหน้ามีความสุข พวกเขาคงรู้สึกได้พักผ่อนเหมือนกัน พวกเขาไม่ได้เลวจากจิตใจ เนื้อแท้เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนพวกเรา”

“เมื่ออยู่ใต้ความกดดันเหล่านั้น การได้เล่นฟุตบอลมันคือความสุขอย่างแท้จริง ผมคิดว่าที่ทหารเยอรมันยอมให้เราเล่นก็เพราะว่าเมื่อเราผ่อนคลาย เขาจะควบคุมเราได้ง่ายขึ้น ในขณะที่พวกเรารู้สึกต่อต้านน้อยลง” โจนส์ กล่าว

การแข่งขันฟุตบอลทุกวันอาทิตย์ของนักโทษในค่ายกักกัน นานวันเข้าก็เริ่มจริงจังขึ้น จนกลายเป็นประเพณี โดยมีการแบ่งทีมออกเป็น 4 ทีม ได้แก่ อังกฤษ, สก็อตแลนด์, ไอร์แลนด์, และเวลส์  ตามสัญชาติของเหล่านักโทษ เมื่อสภากาชาดทราบถึงเรื่องนี้ก็ได้ทำการสนับสนุนด้วยการส่งชุดยูนิฟอร์มสำหรับแต่ละทีมมาให้ถึงที่ค่าย ด้วยเหตุนี้ Auschwitz Football League จึงได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ


Photo : www.warhistoryonline.com

“ผมเป็นผู้รักษาประตูให้กับทีมเวลส์ มันคือช่วงเวลาดีๆ อันน้อยนิดของผมกับสถานที่แห่งนั้น” โจนส์ กล่าว

เรียกได้ว่าการได้เตะฟุตบอลคือสิ่งที่ช่วยเยียวยาให้ โจนส์ สามารถผ่านพ้นความเลวร้ายทั้งปวงมาได้ ก่อนที่ 2 ปีหลังจากนั้นชีวิตของเขาก็ถึงคราวเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อฝ่ายนาซีกำลังจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม พวกเขาจึงจำเป็นต้องอพยพเชลยศึกทั้งหมดในประเทศโปแลนด์ไปยังประเทศออสเตรีย 

การอพยพครั้งดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “การเดินเท้าแห่งความตาย” (March of Death) 

“เมื่อนาซีเริ่มเพลี่ยงพล้ำ พวกเขาก็ให้ผมกับเพื่อนนักโทษอีก 230 คนเดินขบวนทางไกล โดยมีพวกเขาคุมอยู่ด้วย”

“พวกเราอยู่บนถนนนานกว่า 17 สัปดาห์ กับระยะทางกว่า 900 ไมล์ พวกเราแต่ละคนมีสภาพแย่มากๆ พวกเขาไม่มีอาหารให้กิน ต้องหาสิ่งของข้างทางกินกันเพื่อประทังชีวิต ใครเดินไม่ไหวก็จะถูกยิงทิ้ง ผมต้องเห็นเพื่อนล้มตายไปทีละคน” 

“ผมสามารถพูดได้เลยว่าฟุตบอลช่วยชีวิตพวกเรา เพราะคนที่เหลือรอดส่วนใหญ่เป็นนักฟุตบอลที่เล่น Auschwitz Football League แทบทั้งสิ้น เนื่องจากพวกเราได้ออกกำลังกาย จึงมีร่างกายแข็งแรงกว่านักโทษกลุ่มอื่นๆ”


Photo : wikipedia.org

หลังจากถึงประเทศออสเตรีย ขบวนการเดินเท้าแห่งความตายก็ปะทะเข้ากับกลุ่มทหารสัมพันธมิตร มีการยิงต่อสู้กัน เหล่าเชลยต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอดไปหลบในโรงนาบริเวณใกล้เคียง

“ไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไร แต่เมื่อเสียงปืนเงียบลงและประตูโรงนาเปิดออก สิ่งที่ผมเห็น คือ ทหารอเมริกัน”


 

สิ่งเดียวที่ทำได้

โจนส์ และเพื่อนได้รับการช่วยเหลือจากทหารอเมริกันโดยเร่งด่วน เนื่องจากในตอนนั้นเขามีสภาพแย่มาก ร่างกายผอมจนมีแต่เนื้อติดกระดูก เต็มไปด้วยบาดแผลพุพองทั่วทั้งตัว หลังจากที่พักรักษาตัวจนอาการดีขึ้น ในที่สุด โจนส์ ก็ได้เดินทางกลับสู่เมืองนิวพอร์ต ประเทศเวลส์ บ้านเกิดที่เขาคิดถึงสุดขั้วหัวใจ 


Photo : www.pennlive.com

อย่างไรก็ตาม โจนส์ ก็ไม่แตกต่างจากผู้รอดชีวิตจากสงครามคนอื่นๆ หลังจากนั้นเขายังต้องทนทุกข์อยู่กับอาการหวาดระแวง และฝันร้ายนานหลายปี ซึ่งนี่คืออาการของโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) สภาวะป่วยทางจิตใจ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง

“ตอนที่ผมกลับมาถึงบ้านและได้เจอภรรยา เขาพาผมไปอาบน้ำ เราต่างมองหน้ากันและกัน น้ำตาไหลอาบแก้มทั้งคู่ ก่อนที่ผมจะบอกเธอว่า ‘ไม่ต้องห่วงที่รัก ผมกลับบ้านแล้ว ผมได้ทิ้งความเลวร้ายทุกอย่างไว้ที่นั่น’”

“ผมฝันร้ายทุกคืน แต่นั่นก็เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ชาวยิวต้องเจอ”

“ผมขอขอบคุณภรรยาของผมที่ยืนเคียงข้างมาโดยตลอด ทำให้ในที่สุดผมก็ผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนั้นมาได้” โจนส์ กล่าว

หลังจากที่กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง รอน โจนส์ ก็ตั้งปณิธานกับตัวเองว่าเขาจะทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อย้ำเตือนถึงความโหดร้ายที่เขาเผชิญ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์กับโลกใบนี้ ไม่ให้ใครต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเขาอีก

โจนส์ เริ่มจากการตระเวนไปบรรยายตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในหัวข้อ “ความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ก่อนที่หลังจากนั้นเขาจะเริ่มขายดอกป๊อปปี้ เพื่อหาเงินสมทบทุนช่วยเหลือทหารผ่านศึก

“ดอกป๊อปปี้มีความหมายสำหรับผมมาก ทุกวันนี้ทหารผ่านศึก ไม่ว่าจะจากอิรัก หรืออัฟกานิสถาน ล้วนแล้วแต่ต้องการความช่วยเหลือ และในอีกแง่หนึ่งมันก็เป็นสิ่งระลึกถึงความโหดร้ายของสงคราม”

“ผมอยากให้ผู้คนจดจำสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพราะผมไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีกแล้ว” โจนส์ ในวัยชรากล่าว


Photo : www.walesonline.co.uk

โจนส์ เริ่มขายดอกป๊อปปี้ในปี 1987 ก่อนที่เขาจะทำมันอย่างต่อเนื่องทุกปี ติดต่อกันยาวนานกว่า 30 ปี ส่งผลให้ โจนส์ กลายเป็นคนขายดอกป๊อปปี้ที่มีอายุมากที่สุดในโลกด้วยวัย 101 ปี ก่อนจะหยุดลงด้วยปัญหาด้านสุขภาพ

ในปี 2019 รอน โจนส์ อดีตผู้รักษาประตูแห่งทีมฟุตบอลค่ายเอาช์วิทช์ก็ได้เสียชีวิตลงในวัย 102 ปี อย่างไรก็ตามเรื่องราวและสิ่งที่เขาได้อุทิศให้กับลงใบนี้จะยังถูกเล่าขานไปอีกนานแสนนาน

“เราทุกคนเสียใจกับการจากไปของ โจนส์ เขาเป็นเพื่อนรักของทุกคน เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจดีงาม และเขาได้อุทิศเวลากว่า 30 ปี เพื่อช่วยเหลือเหล่าทหารผ่านศึก เขาเข้าใจทุกคนเป็นอย่างดี” 

“เราทุกคนจะไม่มีวันลืมเขา” ลินน์ วู้ดยาร์ด ตัวแทนของกองทุน Royal British Legion เพื่อทหารผ่านศึกกล่าว

นอกจากนั้นสโมสรเชลซีแห่งศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ยังได้ว่าจ้างศิลปินชื่อดัง โซโลมอน ซูซ่า วาดภาพเหมือนของ โจนส์ กับเพื่อนทหารอีก 2 คน และนำมาประดับติดไว้ในโถงทางเดินภายในสนามสแตมฟอร์ดบริดจ์อีกด้วย 


Photo : www.chelseafc.com

“เราหวังว่าภาพนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังในการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการเหยียดผิว”

“รอน คือคนที่พยายามต่อต้านเรื่องนี้มาโดยตลอด และเขาสมควรแล้วที่จะได้รับการยกย่องจากสูง” บรูซ บัคประธานสโมสรฟุตบอลเชลซีกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook