กระชับมิตรของจริง : "อิหร่าน-สหรัฐฯ 2000" เกมฟุตบอลแห่งสันติภาพที่โลกลืม

กระชับมิตรของจริง : "อิหร่าน-สหรัฐฯ 2000" เกมฟุตบอลแห่งสันติภาพที่โลกลืม

กระชับมิตรของจริง : "อิหร่าน-สหรัฐฯ 2000" เกมฟุตบอลแห่งสันติภาพที่โลกลืม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สหรัฐอเมริกา และอิหร่าน คือสองชาติที่มีปัญหาด้านความความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากที่สุดคู่หนึ่งของโลก ความขัดแย้งของสองประเทศ นำไปสู่เหตุการณ์ทางเมืองมากมาย ทั้งการบุกจับตัวประกัน ไปจนถึงสงครามตัวแทน

จนถึงทุกวันนี้ ทั้งสองชาติยังคงมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด แต่ครั้งหนึ่งทั้งสหรัฐฯ และอิหร่าน เคยหวังจะใช้กีฬาฟุตบอลเป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างทั้งสองประเทศ

ย้อนไปในปี 2000 มีการแข่งขันนัดประวัติศาสตร์ ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ที่แม้จะเป็นเกมอุ่นเครื่องธรรมดา ๆ หากมองในแง่ของฟุตบอล แต่สำหรับเวทีการเมือง เกมการแข่งขันนัดนี้ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นการร่วมมือที่สวยงามระหว่างทั้งสองประเทศ

คู่ปรับไม่เผาผี

ความบาดหมางระหว่างอิหร่าน กับสหรัฐอเมริกา ที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นในปี 1979 เนื่องจากประเทศอิหร่านได้เกิดการปฏิวัติที่เรียกว่า "การปฏิวัติอิหร่าน" นำโดย อยาตอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำทางศาสนาชาวอิหร่าน ที่ไม่พอใจบ้านเกิดของตนซึ่งปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่ความทันสมัย และต้องการรัฐศาสนาแบบอนุรักษ์นิยมกลับมาสู่สังคมอิหร่านอีกครั้ง

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการปะทะกันระหว่างสองขั้วอำนาจ หนึ่งคือการนำรัฐศาสนากลับมาสู่อิหร่าน กับสังคมทุนนิยมที่กำลังสร้างขึ้น ภายใต้การนำของ พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี กษัตริย์ของอิหร่าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากโดยสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการจะเผยแพร่สังคมแบบทุนนิยมเข้าไปมีอำนาจในตะวันออกกลาง

ประชาชนชาวอิหร่าน มีความไม่พอใจสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน เพราะมองว่ามหาอำนาจจากตะวันตกพยายามเข้ามาแทรกแทรงขนบธรรมเนียมชีวิตที่ดีงาม ในความเห็นของชาวอิหร่าน และการรับแนวคิดรัฐศาสนาอีกครั้ง เปิดโอกาสให้อิหร่านสามารถดำเนินความสำคัญทางการฑูต แบบไม่เอาอเมริกาได้อย่างเต็มที่

 

ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติย่ำแย่สุดขีด หลังจากกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงได้ทำการบุกยึดสถานฑูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน พร้อมกับจับชาวอเมริกัน 52 คนไว้เป็นตัวประกัน นานถึง 444 วัน ถึงจะได้รับการช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ

สำหรับการต่อสู้ทางการเมืองในอิหร่าน จบลงด้วยการอ้าแขนต้อนรับรัฐศาสนาของประชาชนชาวอิหร่าน พระเจ้าชาห์ต้องลี้ภัยทางการเมืองออกจากประเทศไปอยู่ที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งอย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศ

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่าน ขณะที่ชาติยักษ์ใหญ่แห่งตะวันออกกลางไม่มีสะทกสะท้าน พร้อมกับประกาศให้สหรัฐฯ เป็นศัตรูทางศาสนาของพวกเขา เป็นชาติที่ถูกปกครองด้วยแนวคิดบูชาซาตาน

ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศ นำไปสู่สงครามอิรัก-อิหร่าน ในช่วงยุค 1980s เนื่องจากทั้งสองชาติมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนมาอย่างยาวนาน ซึ่งเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้าไปสนับสนุนอิรัก เพื่อเปิดสงครามกับอิหร่าน ที่กล้าจะมาท้าทายอำนาจของพวกเขา

 

สงครามอิรัก-อิหร่าน กินเวลายาวนานเกือบ 8 ปี มีผู้เสียชีวิตของทั้งสองชาติรวมกันอย่างน้อย 4 แสนคน สำหรับอิหร่าน พวกเขาสูญเสียประชากรจำนวนมากไปกับสงคราม มีผู้บาดเจ็บ และได้รับผลกระทบจากการต่อสู้มากกว่า 1 ล้านคน บ้านเมืองหลายแห่งมีแต่ซากปรักหักพังอันเป็นผลมาจากสงคราม และเศรษฐกิจบ้านเมืองตกต่ำ เชื่อกันว่าอิหร่านเสียผลประโยชน์จากสงครามครั้งนี้ไป 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 18 ล้านล้านบาทไทย

สงครามครั้งนี้ไม่มีประโยชน์อะไรกับชาวอิหร่าน แต่สำหรับสหรัฐฯ นอกจากจะได้สร้างความยับเยินให้กับอิหร่าน ทั้งทางสังคม และเศรษฐกิจ ยังได้ผลประโยชน์จากการเข้าไปตั้งกองทัพสหรัฐฯ ในพื้นที่ตะวันออกกลางเพื่อรบกับอิหร่าน ที่สหรัฐฯ อ้างว่าเป็นภัยของกลุ่มประเทศเสรีนิยม ในฐานะชาติของพวกผู้ก่อการร้าย

ใช้ลูกหนังสมานฉันท์

จากเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่ปี อิหร่าน กับสหรัฐฯ มีรอยแผลบาดลึกระหว่างกัน ที่ดูไม่มีทางจะกลับมาสมานเป็นเนื้อเดียวกันได้อีก แม้ว่าจะมีความพยายามฟื้นความสัมพันธ์กัน ในสมัยของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช คนพ่อ แต่เมื่อตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปลี่ยนสู่ บิล คลินตัน ในปี 1993 เขาตัดสินใจกลับมาแบนการค้ากับอิหร่านอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ลงตัว ระหว่างอิหร่าน กับกลุ่มประเทศทุนนิยม

 

อย่างไรก็ตาม แม้ บิล คลินตัน จะมีนโยบายทางการค้าที่แข็งกร้าวกับอิหร่าน เขาไม่ได้ต้องการให้ความบาดหมางระหว่างทั้งสองประเทศลุกลามเกินสนามการค้า ไปสู่การใช้ความรุนแรงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และหากมีทางไหนที่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้ดีขึ้น เขาพร้อมที่จะทำ

อย่างไรก็ตาม โลกทั้งใบหันมาจับจ้องการต่อสู้ ระหว่างทั้งสองประเทศที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ไม่ใช่บนสนามรบ เพราะเป็นสนามฟุตบอล เนื่องจากในฟุตบอลโลก 1998 สหรัฐอเมริกา และอิหร่าน ถูกจับมาอยู่กลุ่มเดียวกันในรอบแบ่งกลุ่ม และจะต้องลงสนามพบกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สื่อสหรัฐอเมริกายกให้เกมคู่นี้เป็นเกมที่สำคัญที่สุดในฟุตบอลโลก 1998 ขณะที่สื่อฟุตบอลเรียกแมตช์นี้ว่าเป็น เกมฟุตบอลที่เป็นมีเรื่องของการเมืองมาเกี่ยวข้องมากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก

ความตึงเครียดเริ่มต้นตั้งแต่เกมการแข่งขันยังไม่เริ่ม เนื่องจากรัฐบาลอิหร่านประกาศชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้นักเตะอิหร่านเดินไปจับมือกับนักเตะของสหรัฐฯ ยกเว้นนักเตะสหรัฐฯ จะเดินมาจับมือกับนักเตะอิหร่าน เนื่องจากในเกมวันนั้นอิหร่านมีสถานะเป็นผู้เล่นทีมเยือน ซึ่งตามกฎของฟีฟ่านักเตะทีมเยือนต้องเดินไปจับมือกับผู้เล่นทีมเจ้าบ้าน

 

อย่างไรก็ดี ฟีฟ่าสามารถเกลี่ยกล่อมให้นักเตะสหรัฐฯ เดินไปจับมือกับนักฟุตบอลของอิหร่านแทนได้สำเร็จ ซึ่งนำไปสู่ภาพที่งดงามหลังจากนั้น ด้วยการที่นักเตะอิหร่านมอบดอกกุหลาบให้กับนักเตะของสหรัฐฯ และมีการถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน ซึ่งผลการแข่งขันจบลงด้วยชัยชนะของอิหร่าน ด้วยสกอร์ 2-1 และเป็นชัยชนะนัดแรกของอิหร่าน ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

แม้ในสนามจะดูสวยงาม แต่บนอัฒจันทร์ได้มีการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองมากมาย จากประชาชนของทั้งสองชาติ ว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับอีกฝ่ายเป็นมิตรอย่างแน่นอน

ไม่ใช่แค่แฟนบอล แต่รวมถึงนักฟุตบอลด้วยเช่นกัน แม้ฉากเบื้องหน้าจะงดงาม แต่ผู้เล่น และทีมงานของทั้งสองประเทศมองว่า เกมในวันนั้นคือสงคราม และไม่มีฝ่ายไหนอยากจะเป็นมิตรกับอีกฝ่ายแม้แต่นิดเดียว

 

"การพ่ายแพ้ต่ออิหร่าน คือความพ่ายแพ้ที่แย่ที่สุดในชีวิตการทำงานของผม ผมไม่ได้เจ็บปวดเพราะเราเล่นได้แย่ แต่ผมเจ็บปวดที่เราแพ้ให้กับคนไร้มนุษยธรรมพวกนั้น พวกเขาสั่งสอนเราอย่างน่าอับอาย" แฮงค์ สไตน์เบรเชอร์ ผู้จัดการทีมสหรัฐฯ ในช่วงฟุตบอลโลก 1998 กล่าว

กระนั้นคนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จับตาดูเกมนี้ เห็นว่าฟุตบอลคือโอกาสดีที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับอิหร่าน แม้จะไม่รู้ว่าสุดท้ายผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบไหน

ฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เรียกฝ่ายการฑูตมาร่วมหารืออย่างจริงจัง ถึงความเป็นไปได้ในการจัดเกมกระชับมิตรกับอิหร่าน ซึ่งพวกเขาวางแผนการแข่งขัน ให้เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนปี 1999

ทุกอย่างเหมือนจะดำเนินไปด้วยดี แต่เมื่อข่าวลือเรื่องการจัดเกมนี้แพร่ออกไป ชาวสหรัฐฯ ได้ส่งเสียงต่อต้านเป็นจำนวนมาก มีการแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่ไม่รับประกันถึงความปลอดภัยของชาวอิหร่าน จนทำให้รัฐบาลอิหร่านปฏิเสธที่จะส่งนักฟุตบอล ไปเตะเกมอุ่นเครื่องที่สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจจัดเกมการแข่งขันนี้ขึ้น ในวันที่ 16 มกราคมปี 2000 โดยรับประกันความปลอดภัยของนักฟุตบอล และทีมงานชาวอิหร่านทุกคน ที่จะเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเช่าเหมาลำ รวมถึงเดินทางเข้าประเทศด้วยวิธีเฉพาะ ท่ามกลางคำขู่ของคนสหรัฐฯ ที่ไม่รับประกันความปลอดภัยของชาวอิหร่าน ตลอดหลายเดือนก่อนที่การแข่งขันจะมาถึง

ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นักฟุตบอลชาวอิหร่านเหยียบเท้าลงบนแดนลุงแซมอย่างปลอดภัย และเป็นคนเชื้อสายอิหร่านกลุ่มแรกที่ได้เดินทางมาบนแผ่นดินสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 1979

ผู้ชมมากกว่า 5 หมื่นคน เดินทางสู่สนาม โรส โบวล์ ในเมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อชมเกมนัดประวัติศาสตร์ ซึ่งการแข่งขันจบลงด้วยผลสกอร์แบบมิตรภาพ 1-1 และนักฟุตบอลทั้งสองฝ่ายได้ทำการแลกเสื้อระหว่างกัน เป็นการแสดงออกถึงความเป็นมิตร แบบที่สหรัฐอเมริกา และอิหร่านต้องการให้เป็น

"มันเป็นบรรยากาศที่ดีมากเลย ทุกคนในสนามมีแต่ความสุข สนามแห่งนี้เต็มไปด้วยคนเชื้อสาย อิหร่าน-อเมริกัน ผมเชียร์อิหร่านนะ แต่เวลาสหรัฐฯ เล่นได้ดีผมก็เชียร์สหรัฐฯ เหมือนกัน" 

"ย้อนไปตอนนั้นผมมีแฟนเป็นคนอเมริกันแท้ ๆ เธอเพนท์หน้าเป็นอิหร่านครึ่งหนึ่ง สหรัฐฯ ครึ่งหนึ่ง และเธอยังสวมเสื้ออิหร่าน โบกธงชาติอิหร่านด้วย มันเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมาก ผมไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นอีกแล้ว" ซีอัด มุซาเวียน ชาวอิหร่าน-อเมริกัน เล่าถึงบรรยากาศของเกมวันนั้น

นอกจากนี้ทางสหรัฐฯ ยังได้เปิดโอกาสให้อิหร่านได้เล่นเกมอุ่นเครื่องกับประเทศอื่นบนแผ่นดินสหรัฐฯ นั่นคือเกมกับทีมชาติเม็กซิโก เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2000

ทุกอย่างเป็นไปได้สวย และสหรัฐฯ มีแผนที่จะเชิญอิหร่านกลับมาเตะฟุตบอลที่แผ่นดินของพวกเขาอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การก่อการร้าย 9/11 ในปี 2001 ทำให้ภาพลักษณ์ของชาติตะวันออกกลาง กับชาวอเมริกันกลับไปติดลบสุดขั้วอีกครั้ง บวกกับการเปลี่ยนตำแหน่งประธานาธิบดี จาก บิล คลินตัน สู่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือบุชคนลูก ที่หันกลับมาใช้วิธีการทางทหารในการจัดการกับชาติตะวันออกกลาง ทำให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน กลับมาตรึงเครียดอีกครั้ง และทุกอย่างที่เกมฟุตบอลในวันที่ 16 มกราคม 2000 สร้างขึ้น มีค่าเท่ากับ "0"

กระนั้น เกมการแข่งขันในวันนั้น ยังคงเป็นความทรงจำที่สวยงามของชาวอเมริกัน หรือชาวอิหร่าน รวมถึงคนลูกครึ่งระหว่างทั้งสองประเทศ ที่ต้องการเห็นสันติภาพ ระหว่างทั้งสองประเทศ เพราะภาพที่งดงามแบบนั้น อาจไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ในชีวิตของพวกเขา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook