ไขรหัสเทพขนไก่ : ทำไมเดนมาร์กจึงเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่มีนักแบดมินตันระดับโลก

ไขรหัสเทพขนไก่ : ทำไมเดนมาร์กจึงเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่มีนักแบดมินตันระดับโลก

ไขรหัสเทพขนไก่ : ทำไมเดนมาร์กจึงเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่มีนักแบดมินตันระดับโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทำไมนักแบดมินตันระดับโลกที่ได้เหรียญทองหรือได้แชมป์จึงมีแค่นักแบดชาวเอเชีย ? ... เชื่อว่าหลายคนสงสัยในเรื่องนี้ เพราะทั้ง ๆ ที่กีฬาแบดมินตันเริ่มต้นอย่างจริงจังจากทวีปยุโรป แต่เผลอแวบเดียว นักแบดจากเอเชียก็ครองยุทธจักรจนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ผู้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม มีเพียงประเทศเดียวในยุโรปที่สามารถผลิตนักแบดมินตันขึ้นมาสู้กับปีศาจจากเอเชียได้ นั่นคือประเทศ เดนมาร์ก 

ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปมองข้ามและไม่จริงจัง ทำไม เดนมาร์ก จึงดุดันจนปั้นนักแบดระดับโลกได้ ติดตามที่นี่

แบดมินตันมาจากไหน ทำไมคนเอเชียเก่งจัง ? 

แบดมินตัน เป็นกีฬาที่มีต้นกำเนิดมายาวนาน หลักฐานการใช้ลูกขนไก่นั้นมีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ที่มีภาพคนใช้เท้าเตะลูกขนไก่ที่ประเทศจีน จากนั้นก็พบหลักฐานปรากฏเรื่อยมาทั้งใน อินเดีย, ญี่ปุ่น จนกระทั่งอีก 1,000 ปี ต่อมาหรือในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงเริ่มเข้ามาในยุโรปในฐานะกิจกรรมสันธนาการในหมู่ราชวงศ์ 

เมื่อเข้ามาในยุโรปมีการเล่นกันอย่างจริงจังมากขึ้น ประเทศอังกฤษ, สก็อตแลนด์, เวลส์, แคนาดา, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, ไอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์ และ นิวซีแลนด์ ได้ร่วมกันก่อตั้งสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติในปี 1934 ปัจจุบันเป็น สหพันธ์แบดมินตันโลก หรือ BWF 
 
ชัดเจนว่าชาวยุโรปเป็นชาติที่เริ่มเล่นจริงจังเป็นที่แรก แต่เมื่อคุณเหลือบตามองในระดับโลก หรือจำนวนเหรียญรางวัลในรายการโอลิมปิกแล้ว จะเห็นได้ว่ามีแต่นักแบดมินตันชาวเอเชียที่เกาะท็อป 10 มาตลอดกว่า 30 ปีหลังสุด อ้างอิงได้จากการแข่งขันแบดมินตันในโอลิมปิกในประเทศชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยวตั้งแต่ปี 1992 มาถึงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2016 มีเพียง 6 จาก 44 เหรียญเท่านั้น ที่ผู้คว้าเหรียญรางวัลมาครองได้ ไม่ได้มาจากทวีปเอเชีย

ยิ่งเมื่อรวมกับความสำเร็จจากรายการต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว ทุกอย่างเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าชาวเอเชียคือผู้เชี่ยวชาญในด้านแบดมินตันโดยแท้จริง ... มันเป็นแบบนั้นได้อย่างไร ในเมื่อการเอาจริงเอาจังของชาวเอเชียนั้นช้ากว่าชาวยุโรปถึง 30-40 ปี ?

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เริ่มเล่นจริงจังที่ยุโรปก็จริง แต่เรื่องของความนิยมในกีฬา แบดมินตัน ถือว่าน้อยกว่ากีฬาอื่น ๆ อย่าง ฟุตบอล, บาสเกตบอล, หรือ เทนนิส เลยทำให้ ชาวยุโรป มีกิจกรรมด้านกีฬาให้ทำมากมาย แบดมินตัน สำหรับชาวยุโรปคืองานอดิเรกที่เหมาะกับชายหาดหรือสวนหลังบ้าน และด้วยจุดกำเนิดที่มาจากในรั้วในวัง ทำให้ยากต่อการเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ เมื่อคนส่วนใหญ่เล่นแบบเป็นงานอดิเรก ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนและวางแผนการพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศ จึงทำให้ศักยภาพของนักแบดมินตันในยุโรปไม่ได้เก่งกาจมากมายนัก หรือว่าง่าย ๆ คือในบรรดาท็อป 20 ของนักแบดมินตันอันดับโลกทั้งชายและหญิงนั้น มีนักแบดที่มาจากยุโรปไม่เกิน 5 คนเท่านั้น หากคิดเป็นเปอร์เซนต์ก็เท่ากับ 10% เท่านั้น ที่เหลือเหล่านักแบดมินตันเอเชียเก็บเรียบไม่ว่าจะประเภทชายและประเภทหญิง 

อย่างไรก็ตามสำหรับเอเชียนั้นแม้จะไม่ได้ก่อตั้งสหพันธ์ แต่กีฬาเช่นนี้ก็ได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นเพียงกีฬาไม่กี่ประเภทที่มีโอกาสชนะชาติในยุโรป ดังนั้นชาติในเอเชียจึงเริ่มลงทุนกับกีฬาประเภทนี้มากขึ้นเพราะเห็นความสำเร็จได้ชัดและง่ายกว่า จากการที่แบดมินตันนั้นเป็นกีฬาที่ฝึกกันเป็นคน ๆ ไป แตกต่างกับกีฬาอื่น ๆ ประเภททีมที่ต้องการองค์ประกอบมากมาย 

เมื่อรัฐวางเป้าไปที่การพัฒนาแบดมินตัน ทำให้เกิดความนิยมขึ้นมา เนื่องจากการมีการแข่งขันระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศที่มีเงินรางวัลสูง เมื่อมีประชากรที่เล่นแบดมินตันมากขึ้น ความนิยมก็มากขึ้น เมื่อความนิยมมากขึ้น เงินรางวัลก็มากขึ้น เมื่อเงินรางวัลมากขึ้น การแข่งขันก็มากขึ้น และเมื่อการแข่งขันที่มากขึ้น ก็จะได้ผู้เล่นที่เก่งขึ้น เมื่อได้ผู้เล่นเก่งขึ้นก็จะสามารถต่อยอดไปยังความสำเร็จที่ใหญ่กว่า อันนำมาซึ่งชื่อเสียงเงินทอง นักแบดเหล่านี้จะกลายเป็นไอดอล และทำให้ต่อยอดเป็นแรงบันดาลใจของใครอีกหลายคนอยากตามรอย 

 

"เราทุกคนล้วนต้องการมีส่วนร่วมกับสิ่งที่เราถนัด แบดมินตันเป็นกีฬาที่ชาวเอเชียทำได้ดีในระดับนานาชาติและระดับโลก นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมกีฬาชนิดนี้จึงได้รับความนิยมสูงมากในทวีปเอเชีย" มิเชล ไช่ อดีตผู้จัดการทั่วไปของสมาคมแบดมินตันมาเลเซียกล่าว 

ขณะที่ ฮาเรช ดีออล ผู้เป็นเจ้าของศูนย์ฝึกแบดมินตันในมาเลเซีย ก็กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า แบดมินตัน คือกีฬาที่เหมาะสำหรับการพัฒนาในเอเชีย ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งในแง่ของการควบคุมการฝึกที่ง่ายกว่าประเภททีม และเรื่องการใช้พื้นที่รวมถึงเศรษฐกิจอีกด้วย 

"แบดมินตัน เป็นกีฬาที่ต้องการพื้นที่แค่เล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นในแง่การผลักดันถือว่าเป็นกีฬาที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในทวีป" ดีออล กล่าว

"สิ่งที่คุณต้องการมีเพียงแค่แร็คเก็ตและลูกขนไก่ ต่อให้ไม่ต้องมีตาข่าย คนเอเชียก็ยังเล่นแบดมินตันได้ ซึ่งคุณจะพบเห็นได้ทั่วไปเลย" 

 

ประเทศในทวีปเอเชียที่เห็นได้ชัดที่สุดว่า แบดมินตัน ได้รับการสนับสนุนแบบเต็มพิกัดจากรัฐบาลคือประเทศ จีน พวกเขาเริ่มพัฒนาในช่วงยุค 70s รัฐบาลจีนเน้นดึงเด็กเข้าไปในระบบฝึกเพื่อความเป็นเลิศ โดยรัฐบาลจ่ายให้หมดทั้งค่าคอร์สฝึก ค่ากินอยู่แบบครบเซ็ต แถมยังมีเบี้ยเลี้ยงให้อีก ทำให้แบดมินตันเป็นความฝันของเด็ก ๆ และผู้ปกครอง เพราะเล่นแล้วสามารถต่อยอดและทำเป็นอาชีพได้ หนึ่งในผลผลิตที่ชัดเจนที่สุดคือ หลิน ตัน ที่ถูกดึงตัวไปเข้าศูนย์ฝึกของรัฐบาลตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ ก่อนที่เขาจะกลายเป็นจักรพรรดิแห่งคอร์ทแบดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 

ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ทั้งเศรษฐกิจ จำนวนประชากร พื้นที่การสร้างและพัฒนา รวมถึงการเข้าถึงความสำเร็จที่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่ากีฬาชนิดอื่น ๆ ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ชาวเอเชียเชี่ยวชาญด้านแบดมินตันมากกว่าทวีปใด ๆ ในโลกใบนี้

เดนมาร์ก ประเทศเดียวที่แตกต่าง

ในขณะที่แบดมินตันอุดมไปด้วยนักกีฬาเอเชียที่เป็นยอดฝีมือ และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปไม่ได้สนใจการสร้างและพัฒนานักแบดมินตันมากนัก กลับมี 1 ประเทศที่เป็นข้อยกเว้น นั่นคือ เดนมาร์ก ชาติจากเขตสแกนดิเนเวีย ที่สามารถผลิตนักแบดมินตันก้าวขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 ของโลก 

 

มอร์เท่น ฟรอสต์ คือตำนานนักแบดมินตันชาวเดนมาร์ก ที่อยู่ในอันดับมือวาง 1-3 ของโลกมายาวนานถึง 12 ปี เขาคว้าแชมป์ในระดับต่าง ๆ มามากมายและได้รับการยกย่องให้เป็น "นักแบดมินตันที่ดีที่สุดของโลก" เลยทีเดียว

เดนมาร์ก หลุดมาได้ยังไง ? ไหนบอกพวกเขาเล่นแบดมินตันแค่เรื่องขำ ๆ ... 

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 1960 อันเป็นช่วงที่ เดนมาร์ก ปฏิรูปการปกครองแบบท้องถิ่น ในช่วงเวลานั้นประเทศเดนมาร์กมีเศรษฐกิจยอดเยี่ยม มีการพัฒนาในแง่การศึกษา มีการสร้างโรงเรียนและบรรจุหลักสูตรกีฬามากมายใส่ลงไป

ด้วยความที่ประเทศเป็นเมืองหนาวจัด พวกเขาจึงสร้างโรงยิมกีฬาในร่มหลายแห่ง เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถออกกำลังกายได้ภายใต้สภาพอากาศที่มีหิมะตกจนไม่สามารถเล่นกลางแจ้ง ทำให้แบดมินตันที่เป็นกีฬาในร่มได้อานิสงส์นั้นไป 

"โครงสร้างแบดมินตันของเดนมาร์กนั้นแตกต่างกับบริบทประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เรามีสโมสรแบดมินตันเกิดขึ้นทั่วประเทศ และนั่นเป็นเรื่องง่ายที่เราจะหาเด็ก ๆ เข้ามาสู่ระบบอาชีพและพัฒนาอย่างจริงจัง" เยนส์ ไมบอม ผู้อำนวยการของ แบดมินตัน เดนมาร์ก กล่าว

 

"เราสร้างสนามในร่มมากมาย รวมถึงการสร้างศูนย์ฝึกแห่งชาติในกรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์ฝึกที่หยิบยอดฝีมือจากทั่วประเทศมารวมตัวกันและเคี่ยวให้พวกเขาเก่งกาจกว่าเดิม"

"ไม่มีกีฬาชนิดใดที่จะสามารถไปถึงระดับแชมป์โลกได้ หากเหล่านักกีฬาไม่ได้ฝึกซ้อมและแข่งขันร่วมกับนักกีฬาระดับที่เก่งกาจเท่า ๆ กันหรือมากกว่า" ไมบอม ว่าต่อ 

รัฐบาลเดนมาร์ก ได้นำผู้เล่นที่ดีที่สุด 30 คน มารวมตัวกันในศูนย์ฝึกแบดมินตันแห่งชาติ ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 80s จึงทำให้พวกเขาสามารถสร้างยอดฝีมือและสร้างไอดอลให้เด็กรุ่นหลังได้ เมื่อเวลาผ่านไป เดนมาร์ก ก็มีผู้เล่นที่เป็นสมาชิกกับ แบดมินตัน เดนมาร์ก ถึง 160,000 คน รวมถึงมีสโมสรในสังกัดมากกว่า 600 สโมสร

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ เดนมาร์ก เป็นประเทศเดียวที่เล่นแบดมินตันและพัฒนาแบบจริงจัง ต่างกับประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียอื่น ๆ อย่าง นอร์เวย์ หรือ สวีเดน ที่เน้นไปที่กีฬาอย่าง เทนนิส เป็นต้น 

ปัจจุบันในประเภทชายระดับท็อป 5 มีนักแบดมินตันจาก เดนมาร์ก ติดอันดับถึง 2 คนได้แก่ อันเดอร์ส แอนทอนเซ่น และ วิกเตอร์ เอ็กเซลเซ่น ขณะที่ประเภทหญิงนั้นมี มีอา บลิชเฟลด์ ที่ติดในท็อป 20 ของโลก 

"พ่อของผมทำงานในชมรมแบดมินตัน เขาอยู่กับมันมานานถึง 25 ปี จนพ่อของผมได้เป็นผู้บริหารของสโมสรแบดมินตันในประเทศเดนมาร์ก และพอจะบอกได้เลยว่าผมเกิดมาโดยมีแบดมินตันอยู่รอบตัวโดยแท้จริง" แอนทอนเซ่น มือวางอันดับ 3 ของโลกชาวเดนส์ ซึ่งสโมสรแบดมินตันในเมืองอาร์ฮุส บ้านเกิดของเขา อยู่ห่างจากบ้านเพียง 200 เมตรเท่านั้น ว่าไว้ 

สิ่งที่เขาบอก สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมด้านแบดมินตันของประเทศเดนมาร์ก พวกเขามีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการพัฒนาท้องถิ่นทางด้านการศึกษา จากนั้นเมื่อพวกเขาเจอกีฬาที่มีความนิยม รัฐบาลก็ต่อยอดจนได้ยอดฝีมือมาประดับวงการมากมาย 

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่เล่นแบดมินตันอย่างจริงจัง แม้จะมาทีหลัง แต่ก็ได้รับการผลักดันเต็มรูปแบบจากรัฐบาล และเมื่อมองดูสรีระที่สูงใหญ่ของพวกเขาแล้ว จึงไม่แปลกใจนักที่ทำไมนักแบดมินตันจากเดนมาร์กจึงก้าวมาอยู่ในระดับหัวแถวของโลกท่ามกลางสุดยอดนักแบดชาวเอเชียมากมาย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook