เหตุผลที่แท้จริง : ทำไม มาร์คัส แรชฟอร์ด ถึงได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ?

เหตุผลที่แท้จริง : ทำไม มาร์คัส แรชฟอร์ด ถึงได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ?

เหตุผลที่แท้จริง : ทำไม มาร์คัส แรชฟอร์ด ถึงได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

TIME คือชื่อของนิตยสารสัญชาติอเมริกัน ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ พวกเขาจะนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่สร้างอิทธิพลส่งผลต่อโลกใบนี้ และหนึ่งไฮไลต์ที่สำคัญของ TIME คือการเลือกใครสักคนมาขึ้นบนหน้าปกนิตยสารของพวกเขา

ใครสักคนที่จะมาอยู่ตรงนั้นได้จะต้องเป็นคนที่ทำอะไรบางอย่างให้สังคม ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือระดับโลกเกิด "อิมแพกต์" ซึ่งนักกีฬาคนล่าสุดที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME คือ มาร์คัส แรชฟอร์ด กองหน้าวัย 22 ปี ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 

หลายคนอาจจะรู้ว่า เขาได้รับการพูดถึงอย่างมากจากการช่วยเยาวชนในอังกฤษ กับการผลักดันโครงการอาหารสำหรับเด็กยากไร้ ... แต่อะไรคือเหตุผลจริง ๆ ที่ทำให้ ดร.แรช ได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME กันแน่ ?

 

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

ทำไมต้อง TIME 

ทุกครั้งที่ TIME เลือกใครสักคนขึ้นบนหน้าปกนิตยสารของพวกเขา หรือแม้กระทั่งการประกาศรางวัลบุคคลประจำปี สำนักข่าวอื่น ๆ มักจะไม่รอช้า นำข่าวของ TIME มานำเสนอตลอด พวกเขามองข้ามการเป็นคู่แข่งในวงการสื่อ และนั่นแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือ และความ "แมส" ของนิตยสาร TIME เป็นอย่างดี ... ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? 


Photo : time.com

ต้องเริ่มกันที่การกำเนิดของนิตยสารฉบับนี้กันก่อนเลย TIME นั้นถือเป็นนิตยสารเชิงข่าวรายสัปดาห์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ฉบับแรกในปี 1923 เนื้อหาใจความในแต่ละเล่มจะเกี่ยวกับเรื่องข่าวคราวรอบโลกที่น่าสนใจตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีคอลัมนิสต์คอยเขียนวิเคราะห์ วิจารณ์ ข่าว ๆ นั้นอีกด้วย

 

ส่วนสิ่งที่ทำให้เนื้อหาของ TIME มีผู้ติดตามและน่าเชื่อถือคือ พวกเขาใช้คณะบรรณาธิการที่เป็นอดีตนักเรียนระดับหัวกะทิ โดยจุดเริ่มต้นนั้นคือศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย เยล ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยแถวหน้าของประเทศ ก่อนจะขยายวงกว้างขึ้น ๆ จาก เยล ก็มีสมาชิกที่มาจากทั่วประเทศ และทั่วโลกในปัจจุบัน

กว่าจะมาถึงตรงนี้ TIME ต้องพิสูจน์และหาลายเซ็นของตัวเองให้เจอพอสมควร ในยุคแรก ๆ พวกเขาถูกวิจารณ์เรื่องการนำเสนอข่าวการเมืองและข่าวที่มีความจริงจังว่าทำได้ไม่เข้มข้นมากพอ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเดิมทีนั้น ทีมงานบรรณาธิการเพียงแค่เคยทำวารสารภายในมหาวิทยาลัยมาก่อน อาจจะทำให้ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาขึ้นในแต่ละขวบปี 

ทว่าสุดท้ายก็อย่างที่ทุกคนรู้กัน TIME ผ่านช่วงเวลาที่ถูกวิจารณ์ และทะลุขึ้นมาเป็นนิตยสารทรงอิทธิพลได้จนกระทั่งทุกวันนี้ แม้ว่าในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์แทบจะตายไปแล้ว แต่พวกเขาก็สามารถยืนหยัดเป็นเบอร์ 1 ได้อย่างสมราคา 


Photo : www.historyofbranding.com

และเมื่อ TIME คือเบอร์ 1 การเลือกใครสักคนมาขึ้นปก หรือเข้าชิงรางวัลบุคคลแห่งปีที่พวกเขาเป็นคนจัดงานนี้ขึ้นมาเอง จึงกลายเป็นคอนเทนท์หลัก ๆ ที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะใครก็ตามที่เคยขึ้นปกของ TIME ต้องเป็นคนที่โลกต้องรู้จักว่าเขาคนนั้นทำอะไร ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือแง่ลบ TIME ยืนยันว่าพวกเขานำเสนออย่างเป็นกลางเสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในคอนเทนท์หลักของพวกเขา 

 

และกว่าที่พวกเขาจะเลือกใครสักคนมาขึ้นปก และเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล พวกเขาดูคุณสมบัติของผู้คนเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ?

คนบนหน้าปก และ บุคคลแห่งปี 

Person of the Year คือชื่อรางวัลที่ TIME เป็นคนจัดและแจกด้วยตัวเอง โดยปกติแล้วใครที่ได้รางวัลนี้ก็ล้วนแต่เคยถูก TIME เอาขึ้นหน้าปกมาแล้วทั้งนั้น 

ดังนั้นจึงพอจะบอกได้ว่า สารตั้งต้นของการแจกรางวัลเริ่มจากคนที่ได้ขึ้นปก TIME ก่อน เพราะเขาคนนั้นได้ถูกคัดกรองมาแล้ว 1 ชั้น พวกเขาคือคนเด่นของโลกประจำสัปดาห์ และพวกเขาเหล่านั้นจะต้องมาวัดกันอีกครั้งในช่วงสิ้นปีว่าใครกันแน่คือคนที่ทรงอิทธิพลที่สุด 


Photo : www.chicagotribune.com

 

"ใครที่ได้ขึ้นปกนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่สร้างอิมแพกต์ในแง่ของข่าวสาร และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชากรโลกมากที่สุด ไม่ว่าจะดีหรือร้าย สร้างผลกระทบในแง่บวกหรือลบก็ตาม" วอลเตอร์ ไอแซคสัน อดีตบรรณาธิการของ TIME (ที่ต่อมาเป็นผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของ สตีฟ จ็อบส์ ศาสดาแห่ง Apple ผู้ล่วงลับนั่นเอง) เคยระบุคุณสมบัติคนบนปกไว้ในปี 1998 ดังนั้นใบหน้าของ โดนัลด์ ทรัมป์, อังเกลา แมร์เคิล, บารัค โอบามา, วลาดิเมียร์ ปูติน, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และ โจเซฟ สตาลิน ต่างก็เคยขึ้นหน้าปก และได้รางวัลบุคคลแห่งปีของ TIME มาแล้วทั้งนั้น 

ส่วนเกณฑ์การเลือกนั้น TIME มีทั้งแบบสำรวจออนไลน์ และคะแนนเสียงจากผู้อ่านที่เป็นสมาชิกด้วย แต่พวกเขาไม่ได้เอาคะแนนโหวตนั้นมานับโดยตรง โดยคณะกรรมการจะเอามาวิเคราะห์หาเหตุผล เพื่อพยายามมองคนที่จะขึ้นปกหรือรับรางวัลให้กว้างที่สุด โดยไม่กลัวกระแสสังคมจะว่าเช่นไร หลายครั้งที่มีคนไม่เห็นด้วยกับบางคนที่ได้ขึ้นปก เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ ศิลปินสาวชาวอเมริกัน ก็เคยได้รับกระแสต่อต้านหลังมีชื่อเข้าชิงรางวัลดังกล่าว หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ TIME ถูกถามมาตลอดว่า "ทำไม สตีฟ จ็อบส์ จึงไม่เคยได้รางวัลนี้ ?" 


Photo : www.worthpoint.com

"เราครอบคลุมข่าวทุกวงการ และพยายามมองในแง่ที่กว้างที่สุดเสมอ การจะเลือกใครสักคนขึ้นปก หรือรับรางวัลบุคคลแห่งปี เราใช้เวลาในการพิจารณานานมาก บางครั้งมันอาจะไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น สตีฟ จ็อบส์ ไม่เคยได้รางวัลบุคคลแห่งปีของ TIME เลย แต่นั่นก็มีเหตุผล เพราะเราเชื่อว่าสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดของเขาคือการผลิต Mac เครื่องแรกออกมาในปี 1984 ซึ่งในปีนั้นคนที่ได้รับรางวัลคือ ปีเตอร์ เออร์เบอร์รอธ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่ ลอส แอนเจลิส ซึ่งเมื่อมองไปที่ตอนนั้นและตัดสินอีกครั้ง ผมเชื่อว่ามันง่ายที่จะเลือก (จากความสำเร็จอย่างงดงามของโอลิมปิกครั้งนั้น แม้หลายชาติที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์บอยคอต) แต่แน่นอน ปี 1984 ก็เป็นปีที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ สตีฟ จ็อบส์ ด้วย" เคลลี่ คอนนิฟฟ์ นักเขียนของ TIME ขยายความเรื่องของการขึ้นหน้าปกและรางวัล 

แล้วนักฟุตบอลอย่าง แรชฟอร์ด มาขึ้นปก TIME ได้อย่างไร ? ...

ทำไม แรชฟอร์ด จึงได้ขึ้นปก ? 

นอกจากรางวัล Person of the Year แล้ว ทุก ๆ ปี นิตยสาร TIME จะมีการคัดเลือก 100 ผู้ทรงอิทธิพลของโลก ในชื่อ TIME100 ซึ่งหลักเกณฑ์นั้นไม่ต่างกัน คือพวกเขาจะเลือกคนที่ทุกย่างก้าว ทุกการกระทำของเขา ส่งอิทธิพลต่อโลกในด้านต่าง ๆ


Photo : progressvideo.tv

ทว่าด้วยพลวัตรของโลก ที่เรื่องใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศหรือต่อโลก สามารถเกิดขึ้นได้จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จึงนำมาซึ่งการคัดเลือก 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่คาดว่าจะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงอนาคต ในชื่อ TIME100 Next 

และ แรชฟอร์ด เข้ามาติดทำเนียบนี้ ในหมวด Advocate หรือผู้ที่ช่วยเหลือ ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและยุติธรรมในสังคม เช่นเดียวกับการเป็น 1 ในคนที่ได้ขึ้นหน้าปกอีกด้วย

 

หลายคนอาจจะรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องจากวีรกรรมนอกสนามระดับฮีโร่ของประเทศของเขา นั่นคือในช่วงที่ อังกฤษ เจอผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างหนักหน่วงตลอดปี 2020 จนทำให้นโยบายของรัฐเปลี่ยนไปเนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจดิ่งลงเหว 

รัฐบาลอังกฤษ เลือกจะตัดงบประมาณที่ แรชฟอร์ด คิดว่า "ไม่สามารถยอมรับได้" นั่นคือการตัดงบประมาณอาหารกลางวันของเด็กอังกฤษ ซึ่งมีเด็กที่ขาดแคลน ต้องขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐถึง 1.3 ล้านคนต่อปี และเขาทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักฟุตบอลอาชีพชื่อดังที่เหลือกินเหลือใช้ ไม่มีปัญหาเรื่องเงินอย่างเขา ด้วยการออกมาคัดค้านรัฐบาลเพื่อนำนโยบายอาหารกลางวันกลับมาให้เด็ก ๆ อีกครั้ง 


Photo : www.manchester.ac.uk

"สิ่งที่หลายครอบครัวกำลังเผชิญ คือสิ่งที่ผมเคยเจอมาก่อน มันยากลำบากในการหาทางออก ... ผมรู้ว่าความหิวโหยเป็นอย่างไร" แรชฟอร์ด กล่าวกับ บีบีซี  

เขาเขียนจดหมายถึงรัฐบาลอังกฤษเพื่อทบทวนเรื่องดังกล่าว และสุดท้ายรัฐบาลอังกฤษก็ยอมเห็นด้วยกับกระแสดังกล่าวที่ แรชฟอร์ด เป็นคนเริ่ม เขาทำให้เด็ก ๆ ท้องอิ่ม และครอบครัวของพวกเขายิ้มได้ ซึ่งหลังจากที่ทุกอย่างเป็นไปตามที่ร้องขอ แรชฟอร์ด ก็ส่งจดหมายแสดงความขอบคุณถึง บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี โดยเนื้อความในจดหมายนั้น เขาได้พยายามชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของโครงการคูปองอาหารกลางวัน ที่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำต่อไป คือการหาทางออกระยะยาวร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้ปัญหาปากท้องของเยาวชนหมดไป

นั่นคือสิ่งที่ แรชฟอร์ด ทำตามที่ปรากฏออกมาบนหน้าสื่อ ทุกคนรู้ดีว่าการกระทำของเขายิ่งใหญ่ แต่นั่นอาจจะไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ TIME เลือกเขาขึ้นหน้าปกฉบับล่าสุด เพราะตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น "เราจะพิจารณาในทุกแง่ข่าว ไม่ว่าบวกหรือลบ และมองให้กว้างที่สุด" เราจะพบได้ว่ายังมีเหตุผลอื่นอีกที่ แรชฟอร์ด ได้ขึ้นปกนี้ 

แรชฟอร์ด สร้างผลกระทบในแง่ของวงการกีฬาด้วย สิ่งที่ยืนยันได้ว่าเรื่องของกีฬามีส่วน นั่นคือเมื่อปี 2019 โมฮาเหม็ด ซาลาห์ นักเตะของ ลิเวอร์พูล ก็เคยมีชื่อใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลประจำปีของ TIME ด้วยฟอร์มการเล่นที่สุดร้อนแรง ยิงประตูเป็นว่าเล่น และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ ลิเวอร์พูล กลับมาเป็นทีมที่เล่นได้สมฉายา "เครื่องจักรสีแดง" อีกครั้ง 


Photo : www.abouther.com

เมื่อครั้งที่ ซาลาห์ ติดทำเนียบในปี 2019 เขาก็ทำเรื่องต่าง ๆ ให้กับสังคมมากมาย ทั้งการบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียนในอียิปต์ เขากลายเป็นแรงบันดาลใจของคนทั้งประเทศ จนเกิด "ซาลาห์ เอฟเฟกต์" ไม่ใช่แค่ในอียิปต์บ้านเกิดเท่านั้น แต่ยังส่งถึงผู้คนอีกมากมายทั่วโลก 

เรื่องราวของ แรชฟอร์ด ก็ไม่ต่างกันนัก ฟอร์มการเล่นในสนามของเขาก็ถือว่าไม่ได้แย่อะไร ค่อนไปทางดูดีเลยด้วยซ้ำ เขาเป็นความหวังของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคที่กำลังตามทวงความยิ่งใหญ่คืนมาอีกด้วย

กระนั้น อิทธิพลของ แรชฟอร์ด ในด้านกีฬายังไม่หมดแค่นั้น สิ่งที่เขาทำนอกสนาม นำมาสู่การยอมรับของแฟนบอลและนักเตะทีมคู่แข่งในแบบที่ไม่เคยมี 

ในแต่ละเกมที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปเยือนสนามของทีมคู่แข่งจะเห็นภาพชัดมาก โดยเฉพาะช่วงที่เขามีโปรแกรมไปแข่งขันในเมือง ลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นเมืองที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ ลิเวอร์พูล ยังเป็นคู่ปรับตลอดกาลอีกด้วย ทว่าเขากลายเป็นนักเตะของทีมปีศาจแดง ที่แฟนบอล และนักเตะของ ลิเวอร์พูล กล่าวชื่นชมและยอมรับในสิ่งที่เขาทำผ่านสื่อ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน  


Photo : onefootball.com

"คำ 2 คำที่ทุกคนพูดถึงในช่วงที่เกิดภาวะโรคระบาดคือ มาร์คัส และ แรชฟอร์ด สิ่งที่เขาทำนั้นยอดเยี่ยมและยิ่งใหญ่ เขาทำให้นักการเมืองเปลี่ยนการตัดสินใจ เพราะเขาต้องการให้เด็กทุกคนได้กินอาหารให้อิ่มท้อง"

"เมื่อแฟน ๆ สามารถกลับมาเข้าสนามได้ แรชฟอร์ด จะเป็นนักเตะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คนแรกที่ได้รับการปรบมือแบบสแตนดิ้งโอเวชั่นจากแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล เพราะเขาสมควรจะได้รับมันอย่างไร้ข้อโต้แย้ง เพราะเมืองนี้มีหลายพันครอบครัวที่ต้องการอาหาร" แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน แบ็กซ้ายของ ลิเวอร์พูล กล่าว

นอกจาก ลิเวอร์พูล แล้ว เมื่อ แมนฯ ยูไนเต็ด ไปเล่นเกมเยือนที่สนามของทีมอื่น ๆ พวกเขาก็มักจะทำป้ายบิลบอร์ดต้อนรับเป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่สนาม แต่ยังรวมถึงตามตึกรามบ้านช่องต่าง ๆ ในหลาย ๆ หัวเมือง ชื่อของ แรชฟอร์ด จะปรากฏบนบิลบอร์ด พร้อมกับคำขอบคุณของผู้คนชาวอังกฤษทั้งสิ้น 


Photo : www.saudi24news.com

"ขอบคุณความเป็นผู้นำของคุณ เด็ก ๆ ของเราจะไม่ต้องทนหิวในซัมเมอร์นี้อีกแล้ว", "ขอบคุณสำหรับการยืนหยัดเพื่อเด็กที่ต้องการเสียงของผู้นำทาง ในฐานะแฟนบอลของ เอฟเวอร์ตัน เราขอขอบคุณแทนชาวเมอร์ซี่ย์ไซด์ทั้งเมือง" นี่คือตัวอย่างที่ แรชฟอร์ด ทำลายกรอบของการเป็นคู่แข่งในด้านการแข่งขัน ไม่ว่าจะไปที่ไหน เขาจะได้รับการต้อนรับในฐานะศัตรูที่รัก ... ที่ทุกคนพร้อมจะสรรเสริญ

"อิมแพกต์" คือสิ่งที่ TIME ใช้ในการคัดผู้คนขึ้นปกนิตยสารของพวกเขา ดังนั้นมันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม แรชฟอร์ด คือผู้ถูกเลือก ... เขากล้าคัดค้านรัฐบาลเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง, เขาต่อสู้เพื่อเด็ก ๆ ที่เป็นพลเมืองและอนาคตของชาติ และที่สำคัญ สิ่งที่เขาทำยังสร้างอิมแพกต์มากจนถึงขนาดที่ว่า ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ รวมถึงการปูนยศจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วยการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิบริติชชั้น MBE ... รัฐ, หลวง และ ประชาชน ทุกคนเห็นพ้องเป็นสิ่งเดียวกันถึงสิ่งที่ แรชฟอร์ด ทำ ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือ "อิมแพกต์" ที่คนวงการกีฬาน้อยคนนักจะทำได้ 


Photo : time.com

อิมแพกต์เหล่านี้ ทำให้หลายคนได้ตระหนักคิดถึงการทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าตนเองจะไม่เดือดร้อน แต่ก็เป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ การต่อสู้เพื่อมวลชน ล้วนเป็นสิ่งที่ควรสรรเสริญทั้งสิ้น

ในยุคที่โลกปั่นป่วนด้วย COVID-19 โดยที่ไม่รู้ว่ามันจะหมดและหายไปจากโลกนี้เมื่อไหร่ หรือที่สุดแล้ว มันจะคงอยู่ไปตลอดกาล จนโลกต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่กับมันได้กันแน่ ทำให้เรารู้ว่า ทุก ๆ ประเทศบนโลกนี้ต้องการคนอย่าง แรชฟอร์ด มากขึ้น

คนที่ริเริ่มในสิ่งที่มีแต่คนคิด แต่กลับไม่กล้าลงมือทำเพราะกลัวผลกระทบที่ตามมา คนที่เห็นแก่ส่วนรวม และเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้องแทนคนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง ถ้าทุกประเทศมีคนลุกขึ้นสู้ และหาทางแก้กับสถานการณ์นี้เหมือนกับที่ แรชฟอร์ด ทำ โควิดหรืออุปสรรคใด ๆ ก็จะไม่ทำร้ายเรามากจนทุกข์ใจเกินไปนัก ... เรียกได้ว่าในวิกฤติ เรายังมีแสงแห่งความหวังเสมอ

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่า เหตุใด มาร์คัส แรชฟอร์ด จึงเป็นผู้ถูกเลือกขึ้นปกในครั้งนี้นั่นเอง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook