ณัฐฐาชล กมลวัฒนาวิทย์ : สาวไทยหนึ่งเดียวในเรียลลิตี้ดังระดับโลกภาคโหดที่สุด

ณัฐฐาชล กมลวัฒนาวิทย์ : สาวไทยหนึ่งเดียวในเรียลลิตี้ดังระดับโลกภาคโหดที่สุด

ณัฐฐาชล กมลวัฒนาวิทย์ : สาวไทยหนึ่งเดียวในเรียลลิตี้ดังระดับโลกภาคโหดที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

The Apprentice คือ รายการเรียลลิตี้สัญชาติอเมริกันที่ได้รับความนิยมอย่างสูง สามารถขายแฟรนไชส์ไปได้มากกว่า 30 Edition ทั่วโลก

ในปี 2021 The Apprentice ภาคที่ถูกขนานนามว่า "โหดสุดในประวัติศาสตร์" กำลังจะเกิดขึ้น โดยเมนเทอร์ของ Edition นี้คือ ชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้บริหารแห่ง ONE Championship องค์กรการต่อสู้ระดับโลก ที่เตรียมบททดสอบสุดหินทั้งด้าน ธุรกิจ, ร่างกาย และจิตใจ ใช้ทดสอบ 16 ผู้เข้ารายการ 

ผู้ชนะจะได้รับข้อเสนอเข้าทำงา มูลค่า 7.5 ล้านบาท ภายใต้สัญญา 1 ปี ... และที่น่าสนใจคือ มีผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งเป็นสาวไทย 

ก่อนรายการจริงจะออนแอร์ในเดือนมีนาคมนี้ Main Stand ขอเปิดใจ แยม - ณัฐฐาชล กมลวัฒนาวิทย์ หรือชื่อในวงการ "เทียร่า" นักข่าวสาวแกร่งวัย 26 ปี ผู้ผ่านบททดสอบสุดโหดหิน ถึงเรื่องราวปูมหลังชีวิตที่ไม่ธรรมดา รวมถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งในเรียลลิตี้ชื่อดังของโลก

ออกจากกรอบสู่โรงละคร 

"15 ปี" เป็นช่วงอายุที่เด็กไทยส่วนมาก มักต้องเลือกว่าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในสายวิชาไหน ? 

ไม่ต่างกับหญิงสาวรุ่นทั่วไปในวัยเดียวกัน "เทียร่า" ณัฐฐาชล กมลวัฒนวิทย์ กำลังครุ่นคิดถึงอนาคตด้านการเรียนของตัวเอง สิ่งแตกต่างออกไปอาจอยู่ตรงที่ เธอไม่ได้มองหาโรงเรียนในเมืองไทยเหมือนเด็กคนอื่น เพราะต้องการย้ายออกจากที่นี่ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา 

Photo : The Apprentice

"เราโตมาในครอบครัวหัวโบราณ ถูกบังคับให้อยู่ในกรอบของความเป็นผู้หญิงไทย ห้ามทำโน่นนี่ ไม่สามารถออกความเห็นได้ ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่เคยมีใครฟังเราเลย" 

"มันขัดกับตัวตนเรามากที่เป็นคนคิดนอกกรอบมาตั้งแต่เด็ก เราต้องการเปลี่ยนแปลงความคิดผู้คน อยากเล่าเรื่องของคนตัวเล็ก ๆ ท้าทายความเชื่อสังคม นำเสนอมุมมองอื่น ๆ" 

"ตอนอายุ 15 ปี เราจึงสมัครเรียนต่อและสอบที่ติดอเมริกา เราก็เลยได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถึง 9 ปี"

Photo : Instagram @teirrabyte

แทนที่เธอจะได้อยู่ชีวิตช่วง ม.ปลาย อยู่กับครอบครัวเหมือนเพื่อนคนอื่น "เทียร่า" มองว่าการยอมไปเผชิญความลำบากในต่างแดนตัวคนเดียวเพียงลำพัง เป็นหนทางที่ดีกว่าต้องยอมโดนบังคับให้เดินตามกรอบที่ครอบครัววางไว้ โดยที่ไม่สามารถเห็นต่างได้

เทียร่า สนใจด้านศิลปะการแสดง เพราะเป็นศาสตร์ที่สื่อสารกับผู้คนได้ เธอจึงเลือกเรียนต่อไฮสคูลที่โรงเรียนด้านศิลปะ Idyllwild Arts Academy จากนั้นศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ Pace University สาขา Musical Theatre and Psychology ควบคู่กับทำงานเสริมเป็น นักแสดงละครเวที 

"เราอยากเป็นนักแสดง เพราะเราชอบในศาสตร์แขนงนี้ อีกอย่างตอนเด็กไม่เคยมีใครฟังที่เราพูดเลย มันตรงข้ามกับทุกครั้งที่ขึ้นเวที เราได้พูดและมีคนจำนวนมากรับฟัง เราจึงตัดสินใจเรียนต่อสายนี้ ควบคู่กับการทำงานเป็นนักแสดงละครเวทีในอเมริกา"

"แต่พอเข้ามาอยู่ในวงการละครเวทีจริง ๆ มันไม่ได้เป็นแบบที่คิดไว้เลย" เทียร่า เล่าถึงจุดพลิกผันที่เปลี่ยนเส้นทางอาชีพเธอไปตลอดกาล

Photo : Instagram @teirrabyte

"ละครเวทีที่นี่มีความ Conservative สูง ทุกอย่างถูกตีกรอบไว้หมดแล้ว นักแสดงต้องเล่นไปตามบทเท่านั้น ห้ามเถียงผู้กำกับ อย่างคนเอเชีย บทที่ได้รับก็เป็น Sterotype ที่คนอเมริกันมองคนเอเชีย เช่นเล่นเป็นโสเภณี, เป็นคนไม่ดี ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง บางครั้งเขาก็บอกให้เราทำตาเล็ก ๆ เพราะดวงตาเราโตไม่เหมือนคนเอเชีย"

"ถึงแม้ว่าเราเรียนด้านนี้มา แต่เราไม่ได้อยากเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอความเชื่อของใครก็ไม่รู้ ช่วง 3 ปีสุดท้ายที่อยู่อเมริกา เราจึงทดลองหางานอย่างอื่นทำไปด้วย เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เช่น เซลส์, นักการตลาด, นักเขียน, บล็อกเกอร์"

 

"จนเรามาเจองานที่ชอบ คือตอนไปทำโปรดักชั่นสารคดี เราชอบงานลักษณะนี้ เพราะได้เล่าความจริง ถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองต้องการจะพูด ไม่ใช่การทำตามสคริปท์และความเชื่อคนอื่นที่เราไม่เห็นด้วย" 

"อาชีพนักสื่อสารมวลชน ทำให้เราสามารถเขียนเรื่องราวที่มีอิมแพกต์ต่อสังคม และช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้ จึงอยากทำงานด้านนี้"

ความรุนแรง / มวยไทย

เทียร่า กลับแผ่นดินเกิด หลังจากย้ายไปอยู่ที่อเมริกานานถึง 9 ปี จนสำเร็จการศึกษา เธอตั้งใจจะมองหาทำงานต่อด้านสื่อมวลชนในเมืองไทย แต่ขณะเดียวกันความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวไม่ดีขึ้นเลย ... ถึงขั้นที่เธอถูกลงไม้ลงมือ

Photo : Instagram @teirrabyte

"เรามีปัญหาครอบครัว และรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลย เราไม่อยากอยู่ในสภาพนั้น จึงเลือกเรียนมวยไทย ตอนแรกเราคาดหวังไว้ว่า มวยไทย คงช่วยให้เราแข็งแรงขึ้น ปกป้องตัวเองได้ แต่สิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่แค่ด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจิตใจ และ ทัศนคติ"

"มวยไทยสอนให้เรารู้ว่า เราแข็งแกร่งได้มากกว่าที่ตัวเองคิด และเมื่อเกิดปัญหา อย่าถอยหนี ต่อให้เราร่วงหล่นมา Low point แค่ไหน มันก็ยังไม่ใช่จุดจบของชีวิต คุณต้องลุกขึ้นสู้ แม้ว่าคุณเจ็บ คุณบอบช้ำแค่ไหน แต่คุณก็ต้องฝึกซ้ำ ๆ มีวินัยกับมัน เพื่อผ่านมันไปให้ได้"

Photo : Instagram @teirrabyte

"มวยไทย" ในสายตาของ เทียร่า กมลวัฒนาวิทย์ จึงไม่ใช่กีฬาที่เกี่ยวข้องกับการพนัน หรือถูกมองว่าเป็นการต่อสู้ที่รุนแรง ตรงกันข้ามเธอกลับรู้สึกว่า ศิลปะการต่อสู้แขนงนี้ สอนให้มนุษย์มีความเข้มแข็งทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ผ่านการฝึกฝนที่หนักหน่วงและยากลำบาก 

ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของ เทียร่า กมลวัฒนาวิทย์ และมันมีส่วนไม่น้อยที่เสริมสร้างให้เธอกลายเป็น สื่อมวลชนรุ่นใหม่ ผู้มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และเชื่อมั่นในพลังของตนเองว่า "ผู้หญิงก็ทำได้" ต่อให้เรื่องนั้นจะใหญ่เกินตัวก็ตาม 

หญิงเหล็กกับอาชีพกระบอกเสียง

แค่ปีแรกในอาชีพนักสื่อสารมวลชน "เทียร่า กมลวัฒนาวิทย์" นักข่าวหญิงดาวรุ่งแห่ง Coconuts Media สามารถก้าวไปคว้ารางวัลใหญ่ จากเวทีประกาศรางวัล Asian Academy Creative Awards ในสาขา "Best Single News Story / Report from Thailand" ที่มอบให้กับรายงานข่าวยอดเยี่ยมแห่งปี 

Photo : Instagram @teirrabyte

"เราอยากทำอาชีพนี้ เพราะเราสามารถเป็นปากเสียงให้คนตัวเล็กและคนที่ถูกมองข้าม รวมถึงเปิดประเด็นเพื่อทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง รับรู้ถึงปัญหา อย่างตอนที่ชนะ Asian Academy Creative Awards เราทำรายงานข่าวเกี่ยวกับ บ่อขยะเกาะล้าน"

"เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดว่า ขยะทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน มัน End up ที่ไหน แล้วประเทศไทยเป็นชาติที่มีขยะทางทะเลมากอันดับต้น ๆ ของโลก แต่วิธีการกำจัดยังไม่ดี เราเลือกที่เปิดประเด็นนี้ เพื่อให้การพูดคุย ถกเถียง และสุดท้ายนำไปสู่การแก้ไขในที่สุด"

รายงานข่าวของ เทียร่า มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ กล้าตีแผ่ความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นเรื่องที่ผู้คนอาจเคยรับรู้ว่ามีอยู่ แต่กลับไม่ค่อยมีสื่อนำเสนอสักเท่าไหร่ ? เพราะอาจเกรงกลัวจะได้รับผลกระทบ และบางเรื่องก็ค่อนข้างเป็นประเด็นที่เปราะบาง 

Photo : Instagram @teirrabyte

เทียร่า ยกตัวอย่างรายงานข่าวหนึ่งเธอเปิดโปง โรงเรียนสอนโยคะ ที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาวนับ 20 ราย มานานหลายสิบปี 

เธอยอมรับว่า ตนเองมีความกลัวเหมือนคนทั่วไป แม้เคยถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ รวมถึงโดนตำหนิจากคนที่เชื่อในลัทธินี้ แต่สาเหตุที่เธอเดินหน้าทำต่อ เพราะเธอต้องการส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหยื่อที่ถูกกระทำ

ผลที่ตามมา คือ รายงานข่าวชิ้นนี้ถูกสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง CNN, The Guardian นำไปขยายต่อเป็นประเด็นสู่สายตาทั่วโลก

Photo : Instagram @teirrabyte

"เราถูกสอนมาว่า 'ถ้ายูมีเหตุผล หลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง ยูไม่ต้องกลัวอะไรเลย'" เทียร่า เผยถึงรายงานข่าวชิ้นใหญ่ที่สร้างอิมแพกต์ 

"ตอนที่เราทำเรื่องนี้ เราใช้เวลาศึกษาและสืบสวนนานมาก มันน่าแปลกไหมว่า ทำไมแหล่งข่าวผู้เสียหายนับ 10 คน รวมถึงคนที่ทำงานที่นั่น เล่าเหมือนกันหมดเลย ? เราปล่อยให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมานาน 20 กว่าปีได้อย่างไร โดยไม่มีใครทำอะไรเขาได้เลย"

"แม้ว่าเราจะเคยโดนข่มขู่ มีเจ้าหน้าที่โทรมาบอกให้เราอยู่เฉย ๆ  แต่เราเป็นคนที่เรียกร้องสิทธิสตรีอยู่แล้ว เราไม่อยากปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป จึงนำเสนอรายงานชิ้นนั้น ซึ่งสุดท้ายสื่อต่างประเทศหลายเจ้าก็เอาไปตีแผ่" 

"ถามว่าเรากลัวไหม เรามีความกลัวอยู่แล้ว แต่เป้าหมายมันสำคัญกว่าความกลัว เราจึงเลือกทำต่อจนสุดทาง เพราะเราต้องการเผยแพร่เรื่องนี้ให้สังคมรับรู้ จะได้ไม่ต้องมีคนตกเป็นเหยื่ออีก"

คนไทยหนึ่งเดียวในเรียลลิตี้ระดับโลก

ประสบการณ์ 3-4 ปีในการทำงานสื่อที่ Coconuts Media และ Thisrupt ของ เทียร่า กมลวัฒนาวิทย์ ทำให้เธอเริ่มมองไปถึงก้าวต่อไปที่ท้าท้าย นั่นคือ การเปิดกิจการของตัวเอง

หนึ่งในบุคคลที่เธอชื่นชมในความเป็นนักสู้ และยึดถือเป็นต้นแบบด้านการทำงาน คือ "ชาตรี ศิษย์ยอดธง" ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง ONE Championship ผู้เริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ แต่สามารถผลักดันตัวเอง จนกลายเป็น เจ้าของอาณาจักรองค์กรการต่อสู้รายใหญ่ของโลก 

Photo : ONE Championship

เมื่อรายการเรียลลิตี้ชื่อดังอย่าง "The Apprentice" ทำการเปิดรับสมัครผู้ร่วมแข่งขันภาคใหม่ "ONE Championship Edition" 

เทียร่า ไม่ลังเลที่ยื่นใบสมัครแข่งขันกับผู้สมัครทั่วโลกหลายพันชีวิต เพื่อชิงโอกาส ข้อเสนอการทำงานที่ ONE Championship ร่วมกับ ชาตรี ศิษย์ยอดธง เป็นระยะเวลา 1 ปีที่ประเทศสิงคโปร์ มูลค่าถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7.5 ล้านบาท)

"เรามีความฝันอยากเป็นเจ้าของบริษัทของตัวเอง เรารู้สึก touch กับเรื่องราวของคุณชาตรี ตรงที่มีเขาปูมหลังชีวิตวัยเด็กไม่ได้สวยงาม เคยมีชีวิตที่ยากลำบาก ต้องดิ้นรน แต่เขาก็สามารถประสบความสำเร็จได้ อีกอย่างคือองค์กร ONE ไม่ได้มุ่งเน้นธุรกิจจ๋า ที่นี่ให้คุณค่า และความสำคัญกับการสร้างคนธรรมดาตัวเล็ก ๆ ให้เป็นฮีโร่" 

"เราประทับใจจรรยาบรรณของ ONE Championship คือ ซื่อสัตย์, อ่อนน้อมถ่อมตน, ให้เกียรติ, เคารพ, กล้าหาญ, ระเบียบวินัย และมีเมตตา ซึ่งมันแตกต่างกับองค์กรการต่อสู้ที่อื่นมาก ๆ นั่นทำให้เราอยากมีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้จาก ONE Championship"

Photo : The Apprentice

โอกาสที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น เทียร่า กมลวัฒนาวิทย์ เป็นคนไทยเพียงหนึ่งเดียวจากผู้เข้าแข่งขัน 16 คนที่ผ่านการคัดเลือก ให้เข้าไปสู่เรียลลิตี้ The Apprentice เวอร์ชั่นที่ได้รับการขนานนามว่า "หฤโหดมากสุด"

เพราะไม่ใช่แค่ 16 ผู้เข้าแข่งขันต้องฝ่าฟันโจทย์ด้านธุรกิจแล้ว แต่ทุกคนยังถูกทดสอบด้านร่างกาย และจิตใต ในภารกิจสุดหินโหด ที่บางครั้งแม้แต่นักกีฬาระดับโลกก็เอาตัวแทบไม่รอด

นั่นคือประสบการณ์ที่ เทียร่า ได้พบเจอมา และทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรมากมาย จากประสบการณ์และโอกาสล้ำค่าในชีวิตที่ไม่ได้สามารถซื้อได้ด้วยเงิน 

Photo : Instagram @teirrabyte

"เราไม่เคยดู The Apprentice ของฝั่งอเมริกา แต่เราดูเวอร์ชั่นอังกฤษทุกซีซั่น ตอนเป็นผู้ชมว่าก็คิดว่าภารกิจยากแล้ว แต่พอไปแข่งจริงเหมือนเขาพลิกโจทย์ให้มันยากขึ้นไปอีกขั้น ตามที่เขาต้องการทำให้ ONE Championship เป็นภาคที่ยากสุดในประวัติศาสตร์"

"ทุกคนที่เข้าแข่งขันล้วนน่าทึ่งมาก มีทั้งความเก่ง ขยัน และหน้าตาดี การได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศนั้น มันทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปไม่มีสิ้นสุด บางครั้งเจอโจทย์ที่ยาก ท้าทายด้านร่างกาย อารมณ์ ชนิดที่นักกีฬาทำแทบไม่ได้ จนตัวเองรู้สึกแทบไม่ไหวเหมือนกัน" 

"แต่รายการนี้เหมือนต้องการผลักดันให้ทุกคนก้าวข้ามขีดจำกัด เราได้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น ในบางแง่มุมที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่สำคัญคือได้ทำสิ่งที่ตัวเองคิดว่าไม่ได้ ให้เป็นเป็นไปได้"

สำหรับรายการ The Apprentice: ONE Championship Edition จะออกอากาศให้คนไทยได้ร่วมลุ้นและเชียร์ "เทียร่า กมลวัฒนาวิทย์" คนไทยหนึ่งเดียว ฝ่าฟันเรียลลิตี้ที่ยากลำบากนี้ ในเดือนมีนาคม ทางช่อง อมรินทร์ ทีวี ช่อง 34 และ LINE TV

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook