ซลาตัน vs เลบรอน : ภาพสะท้อนกับมุมมองที่ต่างยุคสมัยถึงสิทธิการพูดเรื่องการเมือง

ซลาตัน vs เลบรอน : ภาพสะท้อนกับมุมมองที่ต่างยุคสมัยถึงสิทธิการพูดเรื่องการเมือง

ซลาตัน vs เลบรอน : ภาพสะท้อนกับมุมมองที่ต่างยุคสมัยถึงสิทธิการพูดเรื่องการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซลาตัน อิบราฮิโมวิช และ เลบรอน เจมส์ กลายเป็นสองชื่อนักกีฬาที่อยู่บนหน้าสื่อทั่วโลก หลังจากทั้งสองคน สร้างสงครามวิวาทะ แสดงความเห็นที่อยู่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง

อิบราฮิโมวิช แสดงจุดยืนชัดเจนว่า นักกีฬาควรมีหน้าที่เล่นกีฬาเพียงอย่างเดียวไม่ควรพูดเรื่องการเมือง ขณะที่ เลบรอน เจมส์ ยืนยันชัดว่าเขาจะไม่มีทางหยุดแสดงความเห็นทางการเมือง และนักกีฬาควรใช้เสียงที่มีอยู่ในมือ เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

การออกมาปะทะกันของสองยอดนักกีฬา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการสะท้อนถึงมุมมองที่แตกต่าง จากคนที่ได้รับแนวคิดมาจากต่างยุคสมัย จนนำมาสู่คำถามสำคัญว่า นักกีฬาอาชีพยุคใหม่ มีสิทธิ์ที่จะพูดเรื่องทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน ?

นักกีฬา หน้าที่คือเล่นกีฬา

สำหรับนักกีฬารุ่นเก่า อย่าง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช เขามีความคิดที่ชัดเจนว่า นักกีฬามีหน้าที่เล่นกีฬา ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่านั้น หากคุณเล่นกีฬา คุณต้องทำผลงานให้ดี คว้าแชมป์ เก็บชัยชนะมาให้ได้ นี่คือหน้าที่สูงสุดที่ต้องทำ หากทำได้แค่นั้น ถือว่าเพียงพอแล้วในฐานะนักกีฬาอาชีพ  


Photo : www.dailysabah.com

"ผมเป็นนักฟุตบอล เพราะผมเล่นฟุตบอลเก่ง ผมไม่ยุ่งเรื่องการเมือง เพราะผมไม่ใช่นักการเมือง ถ้าผมเป็นนักการเมือง ผมถึงจะพูดเรื่องการเมือง" 

"นักกีฬาต้องเป็นนักกีฬา นักการเมืองต้องเป็นนักการเมือง" ยอดนักฟุตบอลชาวสวีเดนกล่าว

สำหรับ อิบราฮิโมวิช เขาเชื่อว่า นักกีฬาไม่ได้เข้าใจเรื่องราวการเมืองอย่างถ่องแท้ นักกีฬาไม่ได้ศึกษาความรู้ทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ปรัชญาการเมือง มากพอ ที่จะไปพูดเรื่องการเมืองได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นเขาจึงขอไม่พูดเรื่องการเมืองดีกว่า เพราะไม่รู้ว่าการแสดงความเห็นที่ออกไป ถูกต้องจริงหรือไม่

นักกีฬาส่วนใหญ่ในอดีต มักจะไม่แสดงความเห็น หรือออกมาพูดเรื่องราวทางการเมืองเท่าไหร่นัก ด้วยชุดความคิดสำคัญคือพวกเขามองว่า การเมืองกับกีฬาเป็นเรื่องที่ไกลตัวกัน 

แม้ว่าในความเป็นจริง การเมืองกับกีฬาจะไม่ใช่เรื่องที่แยกขาดกัน แต่สำหรับมุมของนักกีฬาสมัยก่อน พวกเขาแค่ต้องโฟกัสกับการเล่นกีฬา ถือเป็นหน้าที่ซึ่งมากเพียงพออยู่แล้ว 

บวกกับค่านิยมของแฟนกีฬาในอดีต ก็มองนักกีฬาว่ามีหน้าที่เป็นเพียงแค่นักกีฬาเช่นกัน ขอแค่เล่นให้ดี ต่อให้ไม่ออกมาพูดเรื่องการเมือง พวกเขายังคงเป็นขวัญใจของแฟน ๆ ไม่มีเปลี่ยนแปลง 

นักกีฬามากมายยังคงได้รับการยอมรับ เป็นขวัญใจของคนทั่วโลก ต่อให้เขาไม่เคยออกมาแสดงความเห็นด้านการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น เดวิด เบ็คแฮม, ทอม เบรดี, เพย์ตัน แมนนิง, โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ พวกเขายังคงได้รับความรักจากแฟนกีฬาทั่วโลก

เปเล่ ตำนานนักฟุตบอล คืออีกหนึ่งคนที่เรียกได้ว่าเป็นบุคคลระดับชาติ มีอิทธิพลมหาศาลในการชักนำผู้คน แต่เขาก็เคยนิ่งเงียบทางการเมือง ทั้งที่เจ้าตัวตกเป็นเหยื่อของเกมการเมืองอยู่หลายครั้ง


Photo : Squawka Football @Squawka

ไม่ว่าจะเป็นการถูกเปลี่ยนให้เป็น "สมบัติของชาติ" จนไม่สามารถออกไปค้าแข้งนอกประเทศได้ในยุคที่เขากำลังรุ่งเรือง ตกเป็นโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ทั้งในยุคประชาธิปไตย และเผด็จการ แต่ เปเล่ ไม่เคยออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง หรือระบายความไม่พอใจที่กลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในประเทศ จนเขาสูญเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต 

หลังจากเวลาผ่านมาเนิ่นนานหลายสิบปี เปเล่ ได้เปิดเผยมุมมองในเรื่องนี้ว่า เขาเชื่อว่าพระเจ้ามอบความสามารถให้เขา มาใช้ในฐานะนักฟุตบอล เขาเชื่อว่าการเป็นนักฟุตบอลของเขา สามารถสร้างประโยชน์มากมายให้กับประเทศบราซิล และทำได้ดีกว่านักการเมือง เขาจึงไม่จำเป็นต้องออกมาพูดเรื่องการเมือง เพราะเขาใช้ความสามารถในฐานะนักฟุตบอล พัฒนาชาติได้ในแบบที่ต้องการ

ไมเคิล จอร์แดน คือนักกีฬาระดับโลกอีกคน ที่เคยออกมาปฏิเสธการพูดเรื่องการเมือง โดยย้อนไปในปี 1990 ยอดนักบาสรายนี้ปฏิเสธที่จะออกมาให้การสนับสนุน ฮาร์วีย์ แกนท์ นักการเมืองผิวดำที่ลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ในรัฐนอร์ธ แคโรไลนา เนื่องจากเขาไม่ต้องการยุ่งกับเรื่องทางการเมือง และเขาไม่รู้จักกับ ฮาร์วีย์ แกนท์ เป็นการส่วนตัว


Photo : gemofamara.substack.com

แนวคิดของ MJ ไม่ต่างอะไรจาก อิบราฮิโมวิช ในปัจจุบัน ในเมื่อนักกีฬาไม่ได้รู้เรื่องที่แท้จริงทางการเมือง ไม่ได้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปแสดงความคิดเห็น หรือพูดอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ได้รู้จริง ตามความคิดแบบฉบับนักกีฬาในอดีต

จอร์แดน ถูกโจมตีอย่างมากในช่วงเวลานั้น กับการไม่แสดงความเห็นทางการเมือง แต่สุดท้ายคนทั่วโลกยังคงจดจำเขาในฐานะนักบาสที่เก่งที่สุดในโลกไม่มีเปลี่ยนแปลง แม้ว่าการไม่สนับสนุนแกนท์ จะทำให้นักการเมืองผิวสีรายนี้พ่ายแพ้ และส่งผลให้ เจสซี เฮล์มส์ นักการเมืองจอมเหยียดผิวชนะการเลือกตั้ง 2 สมัยซ้อน ทั้งในปี 1990 และ 1996 ก็ตาม

ทั้งที่ผลการเลือกตั้งวุฒิสภา ประจำรัฐนอร์ธ แคโรไลนา จะส่งผลเสียต่อจอร์แดนมากกว่าผลดี ตัวเขาก็รู้ดีเช่นกัน แต่เขายังคงเลือกที่จะทำแบบนั้น และแม้เข็มนาฬิกาหมุนเวียนมาจนถึงปัจจุบัน MJ ยังคงยืนว่าเขาคงจะทำแบบเดิม เพราะเขาจะไม่พูดในสิ่งที่เขาไม่รู้ 


Photo : sports.yahoo.com

นอกจากนี้ นักกีฬารุ่นก่อนส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในยุคเจเนอเรชั่น "เบบี้ บูมเมอร์" และ "เจเนอเรชั่น X" ซึ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องการทำงานหนักเป็นหลัก สนใจแค่การเลี้ยงดูตัวเองมากกว่าสังคมโดยรวม ซึ่งเรื่องนี้ถูกปลูกฝังเข้าไปอยู่ในวงการกีฬาในอดีตด้วยเช่นกัน

สำหรับนักกีฬา การทำงานหนักขยันฝึกซ้อม ทำผลงานให้ดี มีรายได้ที่สูงนำเงินมาเลี้ยงครอบครัวให้สุขสบาย ถือว่าเพียงพอแล้ว ส่วนการเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นหน้าที่ของนักการเมือง ไม่จำเป็นต้องไปยุ่ง

แม้ว่าในความเป็นจริง ซลาตัน อิบราฮโมวิช จะเกิดในยุคของ "เจเนอเรชั่น Y" (เจ้าตัวเกิดปี 1981) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความคิดที่อยู่ในตัวเขาได้อิทธิพลมาจากคนรุ่นก่อนอย่างมาก แทนที่จะเป็นอิทธิพลของคนรุ่นใหม่

การเมืองเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน และนักกีฬาคือมนุษย์

ในความเป็นจริงแล้ว กีฬาไม่เคยแยกออกจากการเมือง และไม่มีชีวิตมนุษย์คนไหนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หากใครได้มีโอกาสศึกษาวิชาความรู้ทางการเมือง คำว่า "การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน" คือคำที่ต้องได้ยิน และภาพทุกอย่างเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในศตวรรษที่ 21 

กระแสโลกาภิวัฒน์ ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทหลายอย่างบนโลก หนึ่งในนั้นคือเสียงของนักกีฬา พวกเขารู้ว่าตัวเองไม่ได้มีหน้าที่แค่ทำการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นคนดังที่มีอิทธิพลจำนวนมากต่อคนในสังคม ที่สามารถชักนำความคิดของผู้คนให้คล้อยตามได้

ขณะเดียวกัน นักกีฬารุ่นใหม่ พวกเขาไม่ได้มองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวแบบคนสมัยก่อน แต่กลับเห็นว่าการเมืองมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเขา ไม่ว่าจะในฐานะนักกีฬา หรือชีวิตก่อนหน้านั้น 

เลบรอน เจมส์ คือ หนึ่งในนักกีฬาที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่มองเห็นว่าปัญหาต่าง ๆ ในสังคม ส่งผลที่เลวร้ายต่อชีวิตของเขาในช่วงวัยเด็ก และเขาต้องการที่จะเปลี่ยนมัน ไม่ได้เพื่อให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น แต่เพื่อให้ชีวิตของลูกหลาน คนในสังคม ไม่ต้องเจอความยากลำบากแบบเดียวกับเขา 

Photo : www.theguardian.com

"ผมจะไม่มีทางหุบปากในเรื่องที่มันผิด ผมส่งเสียงเพื่อคนของผม ผมส่งเสียงเพื่อความเท่าเทียม, ความยุติธรรมในสังคม, การเหยียดผิว, การสนับสนุนให้คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะนี่คือสิ่งที่จะผลักดันสังคมของเรา" 

"ผมคือส่วนหนึ่งของสังคมนี้ ผมเห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มีคนจำนวนมากที่ต้องเจอกับความยากลำบาก และพวกเขาต้องการเสียงที่จะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ออกไป"

"ผมคือเสียงของพวกเขา ผมจะใช้ทุกช่องทางของผม ในการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ เพราะมันเกิดขึ้นทุกที่ในโลก ไม่ใช่แค่สังคมรอบตัวผม" เลบรอน เจมส์ กล่าวถึงจุดยืนที่ชัดเจนว่า นักกีฬาอย่างเขาต้องออกมาพูดเรื่องการเมืองเพื่อให้สังคมดีขึ้น

มาร์คัส แรชฟอร์ด คืออีกหนึ่งนักกีฬาที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง กับการเรียกให้รัฐบาลอังกฤษ ล้มเลิกความคิดที่จะยกเลิกโครงการอาหารกลางวันฟรีของเด็กกว่า 10 ล้านชีวิต ซึ่งตลอดช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา นักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้โจมตีรัฐบาลอังกฤษอย่างต่อเนื่อง กับแนวความคิดที่จะยกเลิกรัฐสวัสดิการ ที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนไปยังคนทั่วประเทศ


Photo : www.thirdsector.co.uk

เลบรอน เจมส์ และ มาร์คัส แรชฟอร์ด คือภาพแทนที่ดีของคนรุ่นใหม่ ที่จะไม่ยอมจำนนให้กับสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่พอใจ และต้องออกมาส่งเสียง แสดงออกถึงจุดยืนที่ต้องการ ไม่ว่าใครจะถูกใจหรือไม่ก็ตาม

บวกกับค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ยกย่องนักกีฬาเฉพาะแค่ผลงานในสนาม แต่รวมถึงการกระทำนอกสนามในฐานะมนุษย์ด้วยเช่นกัน ทั้ง เลบรอน เจมส์ และ มาร์คัส แรชฟอร์ด ต่างได้รับคำสรรเสริญจากสื่อทั่วโลก จากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่แพ้เรื่องผลงานในสนาม รวมถึงนักกีฬาคนอื่น เช่น แพทริค มาโฮมส์, นาโอมิ โอซากา, ลูอิส แฮมิลตัน เป็นต้น

ดังนั้น ในปี 2021 ไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราได้เห็นนักกีฬาออกมาพูดจุดยืนทางการเมืองของตนเอง เพราะพวกเขามองเห็นว่าตัวเองเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิ์มีเสียง แสดงความเห็นในการเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่อยากให้เป็น

 

นักกีฬามีสิทธิ์พูดเรื่องการเมืองหรือไม่ ?

แน่นอนว่า นักกีฬาทุกคนมีสิทธิ์ที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น ทางการเมือง หรือสังคมของตนเอง การจะพูดหรือไม่พูด เป็นสิทธิ์ของนักกีฬาแต่ละคน จะไม่พูดแบบ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ก็ไม่ผิด หรือพูดแบบ เลบรอน เจมส์ ก็ไม่ผิดเช่นกัน 


Photo : www.wnycstudios.org

หากแต่การบอกให้คนอื่นไม่พูด แบบที่ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช บอกกับ เลบรอน เจมส์ ว่าเขาควรสงบปากสงบคำ ไม่ควรพูดเรื่องการเมือง เพราะเป็นนักกีฬา ต้องมีหน้าที่แค่เล่นกีฬา อย่ายุ่งเรื่องการเมือง เป็นเรื่องที่ผิดอย่างมากในยุคปัจจุบัน อีกทั้งเป็นแนวคิดที่ล้าหลังอีกด้วย

แนวคิดที่บอกว่า "นักกีฬาต้องเป็นนักกีฬา นักการเมืองต้องเป็นนักการเมือง" ของ อิบราฮิโมวิช คือแนวคิดที่ต้องย้อนไปถึงยุคกรีกโบราณ โดย เพลโต นักปรัชญาชื่อดังแห่งยุค ซึ่งต้องย้อนไปถึงยุค 400 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว กับการมองว่ามุนษย์เกิดมามีหน้าที่อย่างไร ก็ต้องทำหน้าที่นั้น ห้ามไปทำอย่างอื่นเกินหน้าที่ของตนเอง


Photo : sempremilan.com

ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคของประชาธิปไตย ทุกคนควรจะมีสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความเห็นของตัวเอง ไม่ว่าจะในเรื่องใดก็ตาม 

เพราะแม้แต่ในสังคมเผด็จการ ยกตัวอย่าง เมียนมา ในปัจจุบัน นักกีฬาของประเทศยังออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง ต่อต้านการรัฐประหารโดยกลุ่มทหาร แม้สังคมจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะให้ทุกคนพูดก็ตาม

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราได้เห็นนักกีฬาออกมาเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ทางการเมือง เพราะพวกเขาแสดงให้เห็นมานักต่อนักแล้วว่า เสียงของพวกเขามีความหมาย

ไม่ว่าจะเป็นกรณีต่อต้านการเหยียดผิว ที่นักบาสเกตบอลผิวดำทั่วโลกออกมาแสดงจุดยืน เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม, มาร์คัส แรชฟอร์ด กับการต่อต้านการเลิกนโยบายสวัสดิการแก่เยาวชน จนรัฐบาลอังกฤษยังต้องรับฟัง 


Photo : www.rollingstone.com

นักกีฬาบางคนต้องยอมสูญเสียอนาคตของตัวเอง เพื่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น โคลิน แคเปอร์นิค หรือ เมซุต โอซิล แต่พวกเขาก็ยอมแลก เพราะทุกคนคือมนุษย์ และชีวิตมีอะไรมากกว่าการเล่นกีฬา สำหรับบางคนการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นตามความคิดของพวกเขา คือสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น

แท้จริงแล้ว คนทั้งโลกควรจะตระหนักว่า นักกีฬาคือมนุษย์ไม่ต่างจากทุกคน พวกเขามีสิทธิ์แสดงความเห็นทางการเมือง และไม่ควรมีใครไม่มีสิทธิ์พูด เพียงเพราะพวกเขาเป็นแค่นักกีฬา หรือพูดไม่ได้เพราะกลัวจะต้องเสียการเสียงาน เสียรายได้ ทั้งที่เขาทำในสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนทำได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook