คาร์ลอส ไกเซอร์ : นักฟุตบอลจอมลวงโลกที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์

คาร์ลอส ไกเซอร์ : นักฟุตบอลจอมลวงโลกที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์

คาร์ลอส ไกเซอร์ : นักฟุตบอลจอมลวงโลกที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"พิน็อคคิโอก็เทียบเขาไม่ได้" ริคาโด โรชา นักเตะชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1994 กล่าวถึงชายที่ชื่อ คาร์ลอส ไกเซอร์

เขาคือนักเตะโปรไฟล์ดี ที่ผ่านการค้าแข้งกับยักษ์ใหญ่ในลีกบราซิลอย่าง โบตาโฟโก, ฟลาเมงโก, ฟลูมิเนนเซ และ วาสโก ดา กามา แถมยังมีเพื่อนสนิทเป็นนักเตะดีกรีทีมชาติบราซิล 

อย่างไรก็ดี ไกเซอร์กลับไม่เคยลงสนามแม้แต่เกมเดียว ไม่ใช่เพราะโค้ชไม่ส่งลง แต่เจ้าตัวไม่ยอมเล่นเอง แถมสามารถอยู่ในวงการลูกหนังได้เกือบ 3 ทศวรรษ 

เขาทำได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่

นักเตะ 0 นัด 

ริโอ เดอ จาเนโร คือหนึ่งในรัฐที่เต็มไปด้วยสีสันของบราซิล มันเต็มไปด้วยบรรยากาศที่อิสระ และผ่อนคลาย ที่รายล้อมไปด้วยหาดทราย และไนท์คลับ แถมยังเป็นที่จัดงานเทศกาลคาร์นิวัล หนึ่งในเทศกาลชื่อก้องโลก 


Photo : vintagenewsdaily.com

เช่นกันกับเส้นทางลูกหนังของ คาร์ลอส เอนริโก ราโปโซ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "คาร์ลอส ไกเซอร์" ก็เริ่มต้นที่เมืองนี้ แม้แรกเริ่มเดิมทีเขาจะเกิดที่เมืองปอร์โต อัลเลเกร รัฐริโอ กรันเด โดซุล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล แต่ในปี 1970 เขาก็ถูกลักพาตัวและพามาอยู่ที่ริโอ เดอ จาเนโร ตอนอายุ 7 ขวบ  

การย้ายมาอยู่ที่เมืองแห่งนี้ ทำให้เขาได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในทีมเยาวชนของ โบตาโฟโก หนึ่งในทีมดังของรัฐ หลังแมวมองถูกใจฝีเท้าของเขา ตอนเห็นเขาเตะฟุตบอลอยู่ข้างถนน 

"ผมเล่นฟุตบอลอยู่ข้างถนนตอนที่แมวมองจากโบตาโฟโกมา และถามพ่อของผมเกี่ยวกับเด็กผมยาว ๆ" ไกเซอร์ย้อนความหลัง 

"เขาบอก 'นั่นลูกชายของผมเอง' พวกเขาจึงบอกว่าให้พามาโบตาโฟโกตอน 7 โมงเพื่อมาคัดตัว ตอนนั้นเป็นวันอาทิตย์ และอีกวันก็เป็นจันทร์เช้า ผมไม่มีแม้แต่รองเท้า พวกเขาให้รองเท้ามา แต่มันก็ใหญ่ไป" 

แต่ ไกเซอร์ ก็อยู่กับทีมได้ไม่นาน เมื่อเขาทำผลงานได้ไม่ดีนักในสีเสื้อทีมเยาวชนโบตาโฟโก ทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่กับทีมเยาวชนของ ฟลาเมงโก สโมสรคู่แข่งในรัฐเดียวกัน

อย่างไรก็ดี สัญญาอาชีพฉบับแรกของเขากลับไม่ได้มาจากทีมในรัฐนี้ หรือแม้แต่บราซิล แต่กลับเป็น ปูเอบลา สโมสรในลีกเม็กซิโก ที่คว้าตัวไกเซอร์ ไปร่วมทีมตอนเขาอายุ 16 ปี แต่น่าเสียดายที่เขาไม่ได้ลงเล่น จึงกลับมาเซ็นสัญญากับ โบตาโฟโก สโมสรเดิมในระดับเยาวชน 


Photo : blog.playo.co

หลังจากนั้น ไกเซอร์ ก็ตระเวนค้าแข้งให้กับทีมดังในลีกบราซิล ไม่ว่าจะเป็น ฟลาเมงโก, ฟลูมิเนนเซ หรือ วาสโก ดา กามา แถมยังได้ไปค้าแข้งในต่างประเทศกับ กาเซเลค อฌักซิโอ ของฝรั่งเศส รวมถึงเอล พาโซ ซิกซ์ชูตเตอร์ส ของอเมริกา

แต่ตลอด 26 ปีในเส้นทางลูกหนัง เขากลับไม่เคยลงเล่นแม้แต่นัดเดียว (เท่าที่มีสถิติ) เพราะที่จริงเขาเป็นนักต้มตุ๋นที่หลอกคนไปทั่ว จนได้สัญญาอาชีพและสถานะ "นักฟุตบอล" ติดตัว 

"ผมอยากอยู่ท่ามกลางผู้เล่นคนอื่น ผมแค่ไม่อยากเล่น มันเป็นปัญหาของทุกคนถ้าพวกเขาอยากให้ผมเป็นนักฟุตบอล แม้กระทั่งเยซู ก็ไม่ได้เป็นที่พอใจทุกคน แล้วทำไมผมจึงจะเป็นแบบนั้นไม่ได้" ไกเซอร์ กล่าวกับ The Guardian 

เขาทำได้อย่างไร ? เพราะแต่ละทีมที่ค้าแข้งล้วนไม่ธรรมดา 

สาลิกาลิ้นทอง  

มองอย่างผิวเผิน ไกเซอร์ ก็ดูเหมือนกับวัยรุ่นหน้าตาดีทั่วไปในยุคนั้น เขามีโครงหน้าที่ค่อนข้างหล่อเหลา ที่เข้ากันดีกับผมที่ยาวสลวย และแว่นตาดำ ซึ่งเป็นเหมือนกับไอเท็มประจำตัว


Photo : www.irishmirror.ie

แต่ทักษะที่ทำให้เขาโดดเด่นกว่าคนอื่น คือการเป็นคนที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศ ไกเซอร์ เป็นคนที่พูดเก่งและน่าฟัง เขาใช้ความสามารถนี้ตีสนิทกับผู้มีอำนาจในสโมสร บอกประวัติตัวเองที่โกหกขึ้นมา จนหลายทีมตกหลุมพรางและเซ็นสัญญากับเขา

"การพูดคุยกับเขามันดีมาก ถ้าคุณปล่อยให้เขาเปิดปาก มันจะเป็นไปแบบนั้น เขาจะร่ายเวทมนตร์ใส่คุณ คุณเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่เป็น" เบโบโต อดีตกองหน้าทีมชาติบราซิลกล่าวกับ The Guardian

มันเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ทำให้การตรวจสอบข้อมูลเป็นไปได้ยาก ไกเซอร์ จึงใช้ช่องว่างนี้ เข้าหาคนที่เกี่ยวข้องกับสโมสร ทั้งนักข่าว ผู้เล่น หรือประธานสโมสร เพื่อสร้างเครือข่ายที่ดูซับซ้อน และทำให้จำไม่ได้ว่าใครเป็นคนรับรองเขาในตอนแรก  

ในขณะเดียวกัน เขายังเป็นคนที่มีกลเม็ดเด็ดพรายในการสร้างมูลค่าให้ตัวเอง เช่น ตีสนิทกับนักข่าว แล้วจ้างนักข่าวเหล่านั้นให้เขียนข่าวปลอม ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยกลายเป็นยอดดาวยิงในลีกบราซิล จนได้ย้ายไปค้าแข้งในต่างแดน

"ตอนที่มาสนามซ้อม ผมจะทักทายกับนักข่าวทุกคนและเอาเสื้อให้เขา" ไกเซอร์อธิบาย 


Photo : www.thesun.co.uk

หรือครั้งหนึ่ง เขาเคยใช้วิธีแสร้งคุยมือถือกับเอเยนต์เรื่องการย้ายทีมเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีทีมจากต่างประเทศกำลังสนใจเขา แต่เขาเลือกที่จะอยู่กับทีมต่อไป แต่ความเป็นจริงไม่เคยมีทีมไหนติดต่อมา แถมโทรศัพท์มือถือที่ใช้ยังเป็นของเล่นด้วยซ้ำ

"เขาแกล้งพูดภาษาอังกฤษ ทั้งที่จริงมันผิดหมดเลย วันหนึ่งผมได้ไปอยู่ใกล้ ๆ เขาจากข้างหลังและเห็นว่าที่จริงเขาไม่ได้คุยกับใคร" โรนัลโด ตอร์เรส อดีตเพื่อนร่วมทีมของเขากล่าว

นอกจากนี้ เมื่อต้องใช้ชีวิตนอกสนาม เขายังมักจะเลียนแบบการแต่งตัวของ เรนาโต เกาโช ยอดแข้งบราซิลในยุค 80 และอ้างว่าเป็นนักเตะคนนี้อยู่เสมอ ซึ่งทำให้เขาได้รับการต้อนรับเยี่ยงราชาตอนออกไปเที่ยวกลางคืน

แม้ว่าในที่สุดเขาจะโดนจับได้ เมื่อวันหนึ่ง เรนาโต ดันไปเที่ยวไนท์คลับเดียวกันกับเขาพอดี แต่สุดท้ายแทนที่จะทะเลาะกัน ไกเซอร์ ก็สามารถใช้วาทศิลป์หว่านล้อม จนทำให้ เรนาโต กลายมาเป็นเพื่อนคนหนึ่งของเขา


Photo : www.thesun.co.uk

"เรนาโตไปหาคนเฝ้าประตูและบอกว่า 'ผมเรนาโต ผมอยู่ในลิสต์'" ไกเซอร์ ย้อนความหลัง

"คนเฝ้าประตูบอกว่า 'เรนาโต อยู่ข้างในแล้ว' ดังนั้นเรนาโต จึงขอดูเรนาโตคนนั้น และเขาก็เห็นผม"

นี่คือสิ่งที่ทำให้ไกเซอร์ เป็นคนที่มีคอนเน็คชั่นที่กว้างขวาง และยิ่งรู้จักกับคนดังมากเท่าไร ยิ่งทำให้เขามีโอกาสถูกแนะนำให้กับทีมอื่นอยู่เสมอ เขามีเพื่อนสนิทเป็นแข้งทีมชาติบราซิลหลายราย ไม่ว่าจะเป็น โรมาริโอ, เอ็ดมุนโด หรือ คาร์ลอส อัลแบร์โต  

ทว่า เขาทำอย่างไรไม่ให้ความแตกในสนาม ?

เจ็บตั้งแต่ยังไม่ซ้อม 

ไกเซอร์ เป็นผู้เล่น (หรือนักต้มตุ๋น ?) ที่มีความฉลาดพอตัว เขารู้จักทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี ทำให้เขาแทบไม่มีปัญหาในการแข่งขัน เพราะใช้วิธีชิงเจ็บตั้งแต่วันแรกที่ลงซ้อมกับสโมสร 

ในการซ้อมครั้งแรก หลังอบอุ่นร่างกายเสร็จสิ้น ไกเซอร์ จะอ้างว่าตัวเองได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการเจ็บกล้ามเนื้อ หรือบางครั้งก็จ้างรุ่นน้องหรือเพื่อนร่วมทีมให้หวดใส่เขาอย่างเต็มแรงเพื่อความสมจริง


Photo : www.financialexpress.com

"เขาจะตกลงกับเพื่อนร่วมทีม บอลแรกให้เข้ามาเตะผมให้แรง เพราะว่าผมอยากไปห้องพยาบาล'" เรนาโต อธิบายกับ The Sportman 

เนื่องจากสมัยนั้น เทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ยังไม่ได้แพร่หลาย ทำให้มันยิ่งตรวจสอบได้ยาก แพทย์สโมสรจึงทำได้เพียงแค่เชื่อคำพูดของผู้เล่น และทำให้สโมสรติดกับดักของเขามาตลอด 

"ผมจะบาดเจ็บ 3 เดือนตั้งแต่ต้น ผมเจ็บหลอกเพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีเทคโนโลยี MRI เพื่อตรวจสอบ" ไกเซอร์กล่าว

นอกจากนี้ ด้วยความที่ส่วนใหญ่ ไกเซอร์ มักจะได้รับสัญญาระยะสั้นจากสโมสรในระยะ 3-6 เดือน ทำให้กว่าที่เขาจะหาย (แบบหลอก ๆ) เขาก็มีหน้าที่แค่เพียงดูเพื่อนเล่นจากข้างสนาม พร้อมกับรับทรัพย์ไปแบบไม่เปลืองแรงไปหมดสัญญา

"ผมมักได้เซ็นสัญญาระยะสั้น ปกติราว 3 เดือน ผมจะได้ค่าเซ็นสัญญา และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น"  ไกเซอร์กล่าวกับ Globo

อย่างไรก็ดี บางสโมสรก็มองไปถึงความลี้ลับอาถรรพ์ เพราะนักเตะอะไรจะเจ็บได้ตลอด แถมยังเจ็บตั้งแต่วันแรกที่ลงซ้อม ทำให้มีสโมสรหนึ่งถึงกับจ้างหมอผีมาปัดเป่าความชั่วร้ายไปจากไกเซอร์ ทั้งที่จริง มันไม่ได้มีอะไรแบบนั้นตั้งแต่แรก 


Photo : www.irishmirror.ie

"มีสโมสรหนึ่งที่ผมเล่น พวกเขาพาหมอผีมนต์ดำมาเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของผม" ไกเซอร์กล่าวกับ The Sun 

"พวกเขาจ่ายเงินให้หมอผีมากพอสมควร แต่ผมไปหาเขาแล้วบอกว่า 'เอาเงินนายไปเพื่อน มันไม่มีอะไรผิดปกติกับผมหรอก'" 

"เอาเงินไป แต่อย่ากังวลกับสิ่งที่คุณทำ เพราะว่าผมตั้งใจจะบาดเจ็บไปตลอดชีวิต" 

ไกเซอร์ ใช้เทคนิคนี้เกือบทุกครั้งกับเกือบทุกสโมสร ที่ทำให้เขาอยู่รอดปลอดภัย ได้ทั้งเงินเดือน และยังไม่ต้องลงเล่น แถมนอกสนามยังกินเที่ยวได้อย่างสบายใจ เพราะไม่ต้องรักษาความฟิตเพื่อลงสนาม เรียกว่าเป็น "งานสบายรายได้ดี" ที่แท้จริง 
 
"พินอคคิโอก็เทียบเขาไม่ได้" ริคาโด โรชา นักเตะชุดแชมป์บอลโลก 1994 กล่าว 

"เขาเลวร้ายยิ่งกว่าเกมไพ่โกหก ชายคนนี้คือ 18 มงกุฎแห่งวงการฟุตบอลบราซิล" 

อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่งมันก็เกือบทำให้เขาเอาชีวิตไม่รอด 

เล่นกับมาเฟีย 

หลังจากประสบความสำเร็จในการหลอกเอาสัญญามาจากหลายสโมสร ในปี 1988 เขาก็มีโอกาสย้ายไปอยู่กับ บังกู แอตเลติโก คลับ สโมสรเล็ก ๆ แต่มีความเก่าแก่ ที่อยู่ทางตะวันตกของรัฐริโอ เดอ จาเนโร 


Photo : www.financialexpress.com

แม้มันจะไม่ได้เป็นสโมสรที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่พวกเขามี คาสตอร์ เด อันดราเด ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความโหดเป็นประธานสโมสร เขาเป็นหนึ่งในอาชญากรอันตรายของบราซิล และเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายหลายอย่าง และเคยพกปืนลงไปขู่กรรมการถึงในสนามมาแล้ว 

แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ ไกเซอร์ เกรงกลัว เขาใช้มุกเดิมที่เคยทำ นั่นคือตีสนิทกับ คาสตอร์ ด้วยการจ้างโสเภณีถึง 2 คนมานอนกับท่านประธาน และแกล้งเจ็บในการซ้อมครั้งแรกที่ทำให้เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่นั่งดูเพื่อนจากบนอัฒจันทร์ 

แต่คราวซวยก็มาถึง เมื่อวันหนึ่งขณะที่เขากำลังเที่ยวไนท์คลับอย่างสบายใจ ก็มีโทรศัพท์โทรมาที่ไนท์คลับและขอสายเขา ปลายสายคือโค้ชมอยเซส กุนซือของทีมในตอนนั้น ที่โทรมาบอกว่าเขาจะได้ออกสตาร์ทในตำแหน่งม้านั่งสำรองในวันพรุ่งนี้ 

ตอนแรกเขากังวลมาก เพราะตอนนั้นตี 4 แล้ว นักเตะทั่วไปยังลำบาก นี่นักเตะลวงโลกแทบไม่ต้องพูดถึง โชคยังดีที่โค้ชบอกว่า เขาแค่นั่งสนามอย่างเดียว เพราะไม่คิดจะใช้งานเขาแน่นอน 


Photo : www.thesun.ie

"วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังปาร์ตี้อยู่ในไนท์คลับที่ชื่อ Caligula ที่ริโอ ตอนนั้นมันยังไม่มีมือถือ แต่ช่วงดึก โค้ชมอยเซ ผู้ล่วงลับที่เคยเล่นให้กับ วาสโก โทรหาผม (ที่ไนท์คลับ) และบอกว่า 'บอสอยากให้แกนั่งสำรองวันนี้'" ไกเซอร์ย้อนความหลัง 

"ผมได้แต่คิดว่า 'นี่มันตี 4 เนี่ยนะ แล้วผมจะเล่นยังไง ?' มอยเซตอบมาว่า 'ไม่ ๆ แค่นั่งอยู่บนม้านั่งสำรอง นายจะไม่ได้เล่น'" 

อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อทีมถูกขึ้นนำไปอย่างรวดเร็ว และถูกบวกลูกที่สองภายในเวลาไม่กี่นาที ทำให้ คาสตอร์ วิทยุลงมาจากอัฒจันทร์ เพื่อส่งนักเตะที่เขาคาดหวังมากที่สุดลงสนาม นั่นก็คือไกเซอร์ 

"ผ่านไป 5 นาที คูริติบา ออกนำ 1-0 และหลังจากนั้น 2-0 นาทีที่ 8 คาสตอร์วิทยุมาหาโค้ชมอยเซส บอกให้เขาเอาผมลงสนาม" ไกเซอร์กล่าว 

ทันทีที่โค้ชส่งสัญญาณให้อบอุ่นร่างกาย ไกเซอร์ ก็รู้ว่าหายนะกำลังจะมาถึง เขามีสองตัวเลือกคือลงเล่นแล้วความแตกถึงตาย หรือปฏิเสธที่จะลงเล่น ซึ่งแน่นอน การขัดใจบอสก็มีโทษถึงตายเช่นกัน

ในขณะที่เขากำลังคิดหัวแตกว่าจะทำอย่างไรดี ตอนที่ออกไปวิ่งอบอุ่นร่างกาย เขาดันถูกแฟนบอลคู่แข่งล้อเลียน ทำให้เขาคิดทางเลือกที่ 3 ออกทันที นั่นคือปรี่ไปต่อยกับแฟนบอล และถูกไล่ออกจากสนามตั้งแต่ยังไม่ได้ลงเล่น  


Photo : www.dn.pt

"ผมกำลังจะตาย แต่ตอนที่ไปอบอุ่นร่างกายที่ริมรั้ว แฟนบอลเรียกผมว่าไอ้เกย์ผมยาว ผมจึงกระโดดข้ามรั้วไป และต่อยตีกับแฟนบอล จนถูกไล่ออกก่อนถูกส่งสนาม" ไกเซอร์กล่าวต่อ  

นอกจากนี้เขายังได้เตรียมคำแก้ตัวกับคาสตอร์ไว้ว่า เขาจำเป็นต้องขึ้นไปต่อยกับแฟนบอลคู่แข่ง เพราะทนไม่ได้ที่โดนพวกนั้นลบหลู่ประธานสโมสร ที่เขานับถือเหมือนพ่อคนที่ 2 ซึ่งนอกจากเขาจะไม่ถูกฆ่าแล้ว มันยังทำให้ ไกเซอร์ ได้รับการต่อสัญญาที่กำลังจะหมดลงออกไป แถมยังได้รับค่าเหนื่อยที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า 


Photo : www.sportbible.com

"คาสตอร์ เด อันดราเด มาที่ห้องแต่งตัว ตอนที่เขาลงมาผมพูดว่า 'พระเจ้าพรากพ่อกับแม่ผมไป แต่ส่งพ่ออีกคน ที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็นโจร ดังนั้นผมจึงเสียสติและไปต่อยกับพวกเขา'" นักเตะจอมลวงโลกอธิบาย 

"ผมบอกไปว่า ผมไม่อยากให้คุณกังวล เพราะว่าสัญญาของผมเหลือแค่ไม่กี่สัปดาห์ และเดี๋ยวผมจะจากไปเอง จากนั้นเขาโทรหาผู้บริหารและบอกว่า 'เพิ่มค่าเหนื่อยให้ไกเซอร์ 2 เท่าและต่อสัญญาไปอีก 6 เดือน'" 

ด้วยไหวพริบและวาทศิลป์เช่นนี้ ทำให้ ไกเซอร์ ยังมีลมหายใจ และอยู่ค้าแข้งต่อกับอีกหลายสโมสรในลีกบราซิลอยู่นานหลายปี 

แต่ถึงอย่างนั้น ไม่มีใครรู้เรื่องของเขาเลยจริงหรือ หรือทำไมถึงไม่มีใครจับได้ 

 18 มงกุฎที่นิสัยดี 

"เขาไม่ใช่ 171 แต่เป็น 342 เลยด้วยซ้ำ" โรนัลโด ตอร์เรส พูดถึงไกเซอร์กับ The Sportman 

สำหรับบราซิล 171 คือมาตราที่ใช้ลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการฉ้อโกงหรือหลอกลวง และมันก็ทำให้ผู้คนมักจะเรียกคนประเภทนี้ว่าพวก 171 คล้ายกับที่คนไทยเรียกพวกต้มตุ๋นว่า 18 มงกุฎ ซึ่งสำหรับไกเซอร์ ต้องคูณ 2 เลยทีเดียวถึงจะสาสมกับพฤติกรรม

อย่างไรก็ดี แม้ว่า ไกเซอร์ จะเป็นนักต้มตุ๋น แต่เกือบทุกคนที่รู้จักเขากลับพูดตรงกันว่า เขาเป็นนักต้มตุ๋นที่นิสัยดี เพราะเขาจะหลอกคนในระดับที่ไม่ร้ายแรง หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่นกระเป๋าเงินหาย หรือเครื่องกลืนบัตร ATM ตอนจ่ายค่าอาหาร 

"ผมไม่เคยเจอใครที่มีเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่าไกเซอร์ เป็นคนไม่น่าไว้วางใจ" คาร์ลอส อัลแบร์โต กัปตันชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1970 กล่าวกับ The Guardian 


Photo : www.thesun.co.uk

นอกจากนี้ เขามักจะให้ความช่วยเหลือคนอื่นอยู่เสมอ โดยใช้คอนเน็คชั่นที่ตัวเองสร้างขึ้น ครั้งหนึ่งเขาเคยพา คาร์ลอส อัลแบร์โต ไปพักที่รีสอร์ทหรู ที่บูซิออซ ในช่วงปีใหม่ ที่แม้แต่อดีตกัปตันทีมชาติบราซิล ยังจองไม่ได้ ในช่วงไฮซีซั่น 

ในขณะเดียวกัน ถึงฝีเท้าของเขาจะเป็นเครื่องหมายคำถามว่าเขาเล่นฟุตบอลได้ไหม แต่ไกเซอร์ ก็เป็นนักเตะที่จำเป็นสำหรับเพื่อนร่วมทีม ความเป็นคนพูดเก่งของเขา ทำให้ทุกคนอยากอยู่ใกล้ และรู้สึกดีที่มีเขาอยู่ในทีม 

"เขาสร้างความสนุก ทำให้มีความสุข และอารมณ์ดี" อเล็กซานเดร ตอร์เรส ลูกชายของ คาร์ลอส อัลแบร์โต กล่าวกับ The Guardian 

"เขาจะเล่าเรื่อง และทำให้ผู้เล่นฝัน ผมคิดว่านั่นคือเหตุผลว่าทำไมทุกคนถึงชอบเขามาก" 

ทำให้แม้ว่าเหล่านักเตะจะรู้ความจริงว่า ไกเซอร์ เป็นพวกต้มตุ๋น หรือนักฟุตบอลปลอม ซึ่งหลายคนก็รู้มาตั้งแต่แรก แต่พวกเขาก็ไม่เคยถือโทษโกรธแข้งรายนี้ และที่สำคัญพวกเขายังไม่เคยเอาตัวตนที่แท้จริงของไกเซอร์มาแฉ แถมยังปกป้องเขาด้วยซ้ำ


Photo : www.thesun.co.uk

"ผู้เล่นต่างรู้ แต่พวกเขาทุกคนเป็นเพื่อนของผม นักข่าวก็ไม่มีใครที่มาแฉผม" ไกเซอร์อธิบาย

"เมื่อใดก็ตามที่ประธานสโมสรต้องการกำจัดผม ผู้เล่นก็จะรวมตัวและขอร้องว่าอย่าทำอย่างนั้น เพราะว่าผมเอาอะไรมากมายมาให้สโมสร ผมเชื่อมพวกเขาให้เป็นกลุ่มก้อนกัน" 

มันจึงทำให้ถึง ไกเซอร์ จะเป็นมิจฉาชีพ แต่ก็สามารถอยู่รอดปลอดภัย ในวงการฟุตบอล และมีชีวิตการค้าแข้งที่ยาวนานถึง 26 ปี เพราะพวกเขาเหล่านั้น ไม่ได้มอง ไกเซอร์ ในฐานะศัตรู แต่เป็นเพื่อนที่พวกเขารัก 


Photo : www.sportbible.com

เขาเป็นทั้งเป็นเพื่อนร่วมสโมสร เพื่อนร่วมวงสังสรรค์ หรือแม้กระทั่งเป็นเพื่อนที่มีน้ำใจ คอยให้ความช่วยเหลือ ที่แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีเงินมากมาย แต่ก็เป็นคนที่น่าคบหา และรักษาเอาไว้ 

เพราะแม้ว่าอาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าเขาเป็น "เพื่อนตาย" แต่เขาไม่ใช่แค่ "เพื่อนกิน" อย่างแน่นอน และปากคำของอดีตนักเตะทีมชาติบราซิล ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี    

"เขาเป็นเพื่อน เป็นที่รักของเรา ไกเซอร์ ไม่เคยสร้างความรุนแรงให้ใคร เขาแค่อยากจะมีความสุขก็แค่นั้นเอง" เมาริซิโอ อดีตเพื่อนร่วมทีม ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook