"ธวัชชัย เซี่ยงอึ่ง" : เด็กจบ ม.3 ที่เล่นสเก็ตบอร์ดเป็นอาชีพและก้าวไปติดทีมชาติไทย

"ธวัชชัย เซี่ยงอึ่ง" : เด็กจบ ม.3 ที่เล่นสเก็ตบอร์ดเป็นอาชีพและก้าวไปติดทีมชาติไทย

"ธวัชชัย เซี่ยงอึ่ง" : เด็กจบ ม.3 ที่เล่นสเก็ตบอร์ดเป็นอาชีพและก้าวไปติดทีมชาติไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณคิดว่าเด็กที่ออกจากโรงเรียนหลังจบ ม.3 เพื่อมาเล่นสเก็ตบอร์ด จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ไหม?

นี่คือเรื่องราวของ "ชัย - ธวัชชัย เซี่ยงอึ่ง" เด็กหนุ่มวัย 21 ปี จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่หันหลังให้การศึกษาในโรงเรียน เพื่อมาเรียนรู้ชีวิตในห้องเรียนใหม่ ที่ไม่มีคุณครู ไม่มีเพื่อนร่วมห้อง มีเพียงแค่ตัวเขาบนลานสเก็ตบอร์ด 

ธวัชชัย ต้องล้มลุกคลุกคลานได้รับบาดเจ็บ และเอาชีวิตไปแขวนบนเส้นด้าย หลังต้นสังกัดยุบทีม แต่ด้วยความมุ่งมั่นต่อสิ่งที่รัก เขาเปลี่ยนตัวเองจากคนที่ไม่มีอะไร จนมีเงินเดือนพอเพียงสำหรับเลี้ยงดูตัวเอง และก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทยได้สำเร็จ

1

เพราะรักจึงลาออก

เสียงสเก็ตบอร์ดกระทบพื้นอาจสร้างความรำคาญใจให้ใครหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลในสวนสาธารณะใจกลางตัวเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดเงียบสงบทางภาคใต้ที่ยังมองการเล่นกีฬาชนิดนี้เป็นเรื่องประหลาด หากย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีก่อน

ท่ามกลางผู้คนมากมาย มีสายตาคู่หนึ่งของ ธวัชชัย เซี่ยงอึ่ง จับจ้องไปยังวัยรุ่นกลุ่มนั้นเล่นสเก็ตบอร์ดที่อยู่ไม่ห่าง และโมเมนต์นั้นได้เปลี่ยนชีวิตเด็กชายคนนี้ไปตลอดกาล

"ผมเล่นสเก็ตบอร์ดตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ครอบครัวผมเปิดร้านอาหารตามสั่งอยู่ในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี แล้วฝั่งตรงข้ามมันจะเป็นท่าเรือเกาะ และพื้นที่สวนสาธารณะ ผมเห็นกลุ่มรุ่นพี่เขาเล่นสเก็ตบอร์ดกันเป็นก๊วนใหญ่ๆ" ธวัชชัย ย้อนเล่าวันแรกที่เขาได้รู้จักกับสเก็ตบอร์ด

"ด้วยความเป็นเด็ก ผมอยากรู้มันคืออะไร ผมตัดสินใจเดินเข้าไปขอลองเล่น ทั้งที่ผมไม่รู้จักพวกเขาเลย"

2

ความสนุก ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ธวัชชัยได้รับ หลังปลายเท้าของเขาสัมผัสแผ่นสเก็ตบอร์ด มิตรภาพ คือของขวัญสำคัญที่ธวัชชัยได้รับจากกลุ่มรุ่นพี่ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาหลงรักเจ้าแผ่นไม้สี่ล้อจนถอนตัวไม่ขึ้น

ธวัชชัย เริ่มต้นเล่นสเก็ตบอร์ดอย่างจริงจังนับแต่นั้น แม้เขาจะไม่มีแผ่นกระดานของตัวเอง ต้องหายืมบอร์ดมือสองจากคนอื่นที่ไม่ได้ใช้แล้ว 

ต้นทุนที่น้อยนิด ทำให้ ธวัชชัย น้อยอกน้อยใจ เขาสนุกกับการเล่นสเก็ตบอร์ดจนลืมวันเวลา กว่าจะรู้ตัวว่าต้องกลับบ้าน เข็มนาฬิกาก็บอกเวลาราวตีสอง

เมื่ออายุได้ 12 ปี ธวัชชัยก้าวสู่เวทีแข่งขันสเก็ตบอร์ดเป็นครั้งแรกที่จังหวัดชุมพร เขาหอบแผ่นกระดานมือสองนั่งรถเป็นระยะทางกว่า 180 กิโลเมตร ตลอดการเดินทาง ธวัชชัยไม่เคยคิดถึงเรื่องของชัยชนะ เขาแค่บอกตัวเองว่า ลงไปเล่นให้สนุกและทำให้ดีที่สุด

3

ภายในระยะเวลาไม่กี่นาทีที่อยู่ในสนามแข่งขัน ธวัชชัยวาดลวดลายบนแผ่นสเก็ตบอร์ดคู่ใจแบบที่ทำมาตลอดทั้งชีวิต เขาไม่รู้ว่าตัวเองทำท่าได้ถูกต้องหรือผิดพลาดมากแค่ไหน จนกระทั่งวินาทีประกาศผู้ชนะ เมื่อชื่อ "ธวัชชัย เซี่ยงอึ่ง" ถูกขานขึ้นในฐานะอันดับหนึ่งของการแข่งขัน

"ตกใจมากครับ เพราะผมไม่รู้ว่าตัวเองชนะเพราะอะไร ชนะได้อย่างไร คือตอนนั้นผมรู้แค่ว่าต้องเล่นให้ไม่พลาด ผมก็ลงไปเล่นในแบบที่เราอยากเล่น ไม่มีความรู้เลยว่า ท่านี้มันยากหรือง่าย" ธวัชชัย เล่าความรู้สึกหลังสัมผัสตำแหน่งแชมป์

"สเก็ตบอร์ดมือหนึ่ง" คือของรางวัลที่เขาได้รับจากการแข่งขันในวันนั้น ความตื่นเต้นหลังได้สัมผัสและลองเล่นแผ่นกระดานใหม่แกะกล่อง เปลี่ยนธวัชชัยจากเด็กที่เคยเล่นพื่อความสนุก สู่นักล่าเงินรางวัลที่เดินทางตามแต่ละจังหวัด เพื่อลงแข่งขันสเก็ตบอร์ดรายการต่างๆที่จัดขึ้นทั่วประเทศไทย

"เมื่อผมได้ลองเล่นกระดานแผ่นนั้น ผมรู้สึกแฮปปี้มาก มันคือการได้สเก็ตบอร์ดมือหนึ่งตัวแรกโดยไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ซื้อ ผมสามารถลงแข่งขันเพื่อเอาของรางวัลมาเล่นเอง ไม่ต้องรอของเก่าจากรุ่นพี่เหมือนเดิมแล้ว"

4

"ตอนนั้นถ้ามีงานแข่งแล้วรุ่นพี่เขามีคอนแทคต์ ผมก็ตามไปแข่งกับพวกเขาตลอด ช่วงอายุ 13-14 ปี ผมเดินทางไปแข่งทั้งในกรุงเทพฯ และขอนแก่น ผมจำไม่ได้ว่าตอนนั้นผมอายุเท่าไหร่ น่าจะประมาณ ม.3 ผมไปแข่งรายการหนึ่งแล้วชนะได้เงินรางวัลเกือบหนึ่งแสนบาท ผมเลยรู้สึกว่า เล่นสเก็ตบอร์ดมันได้เงินเยอะขนาดนี้เลยเหรอ"

"เมื่อผมแข่งไปเรื่อยๆแล้ววันหนึ่งผมรู้สึกว่า ผมติดอันดับหนึ่งหรืออยู่ในสามอันดับแรกตลอด มันก็ทำให้ผมมีความคิดว่า อยากลองเล่นสเก็ตบอร์ดเป็นอาชีพ คือผมก็ไม่รู้หรอกนะว่า การเล่นสเก็ตบอร์ดมันจะเป็นอาชีพได้จริงไหม ผมเลยเรียนหนังสือไปด้วย เล่นสเก็ตบอร์ดไปด้วย ทำสองอย่างควบคู่กันมาตลอด จนกระทั่งผมเรียนจบ ม.3 ผมจึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ"

ธวัชชัย ใช้เวลาไม่นานที่จะรวบรวมความกล้าเพื่อเดินไปบอกพ่อแม่ว่า "จะไม่เรียนต่อ" ในการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลาย เพื่อออกไปใช้ชีวิตเพียงลำพัง ในฐานะนักสเก็ตบอร์ดอาชีพแบบที่เขาฝันไว้

ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากเห็นลูกมีชีวิตที่ยากลำบาก เมื่อบวกกับอนาคตที่ไม่แน่นอนเพราะจบการศึกษาต่ำ ยิ่งทำให้พ่อแม่ของธวัชชัยคัดค้านการตัดสินใจของลูกชายแบบหัวชนฝา 

แต่ด้วยความตั้งใจบวกกับความสำเร็จจากการเล่นสเก็ตบอร์ดที่ผ่านมา เขาจึงได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ และเดินทางสู่ภาคตะวันออกของประเทศไทย เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะนักสเก็ตบอร์ดอาชีพ

ไม่เคยเดินกลับหลัง

"ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจผิดที่ไม่เรียนหนังสือต่อ เพราะการเล่นสเก็ตบอร์ดคือความสุขที่สุดในชีวิต ไม่ว่าผมจะได้เงินจากอาชีพตรงนี้มากหรือน้อย แต่ผมมีมิตรภาพจากคนรอบข้างที่คอยสนับสนุนผมตลอด"

ธวัชชัยกล่าวประโยคสำคัญที่สรุปชีวิตช่วงที่เขาออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ในฐานะนักสเก็ตบอร์ดประจำทีม "KANONG" (คะนอง) ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เขายอมรับว่า ตนเองก้าวผ่านชีวิตสองปีแรกที่จากบ้านมาได้ ด้วยความรักในกีฬาสเก็ตบอร์ด ไม่ใช่เงินรางวัลหรือความสำเร็จจากการแข่งขันแบบที่เคยฝันเอาไว้

5

มองจากเบื้องหน้า ชีวิตของธวัชชัยในฐานะนักสเก็ตบอร์ดอาจดูเท่ไม่เบา ในฐานะเด็กชายที่กล้าเดินออกจากบ้านเพื่อตามความฝัน แต่โลกแห่งความจริงไม่ง่ายเหมือนในจินตนาการ ธวัชชัยไม่อาจใช้ชีวิตเพื่อรอแข่งขันไปวันๆ เขาต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองไม่ต่างจากคนทั่วไป

5,000 บาท คือเงินเดือนที่ธวัชชัยได้รับจากการทำงานเป็นพนักงานในร้านสเก็ตบอร์ดของทีม ซึ่งถือเป็นค่าตอบแทนที่น้อยมาก แม้ลูกจ้างเป็นเด็กวัย 15 ปี 

ซ้ำร้ายกว่านั้น เส้นทางในฐานะนักสเก็ตบอร์ดอาชีพของเขายังต้องหยุดชะงัก หลังได้รับอาการบาดเจ็บหนัก แถมทีมต้นสังกัดยังปิดตัวลงไปอีก

"หลังจากขาหัก ฝีมือของผมก็ตกลง ก่อนหน้านั้นเคยติดหนึ่งในสาม อันดับของผมก็หล่นลงมาเหลือหนึ่งในสิบ ผลงานของผมตอนนั้นคือเงียบไปเลย"

"มันกระทบกับสภาพจิตใจของผมนะ เพราะว่าผมเจ็บหนักครั้งแรกในชีวิต คิดในหัวตลอดว่า ผมจะกลับไปเล่นสเก็ตบอร์ดอีกครั้งได้หรือเปล่า? ช่วงนั้นคือวิตกกังวลจิตตกไปพักใหญ่ แล้วพอหายเจ็บกลับมาเล่นได้ กลายเป็นว่าความกังวลมันไม่หาย คิดไปอีกว่า ผมคงทำแบบเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว"

"ผมอยู่แบบนั้นประมาณสองปี ทีม KANONG ก็ยุบลง พูดตามตรง ตอนนั้นผมเสียหลักเลยนะ บอกกับตัวเองว่า เราคงต้องกลับบ้านแล้วละ ทั้งที่ไม่รู้เลยว่ากลับไปจะทำงานอะไร เพราะว่าผมทำอย่างอื่นไม่เป็นเลย หนังสือก็ไม่ได้เรียน"

6

ธวัชชัย ดิ้นรนเฮือกสุดท้ายด้วยการติดต่อไปยังรุ่นพี่ในวงการที่รู้จัก เพื่อหาใครสักคนที่ยังสนใจและเชื่อมั่นในฝีมือการเล่นสเก็ตบอร์ดของเขา

ก่อนจะได้รับการตอบรับจาก ณัฐภัทร ปัญญารัตนา เจ้าของกิจการ DREG Skateboards ร้านสเก็ตบอร์ดชื่อดังในจังหวัดนนทบุรี ที่มองเห็นศักยภาพในตัวธวัชชัย และให้โอกาสที่สองแก่เขา

"ผมรอลุ้นอยู่ว่าชีวิตผมมันจะจบตรงไหน เพราะถ้าเขา (ณัฐภัทร) ไม่ตอบรับคำขอ ผมก็คงต้องกลับบ้าน แต่โชคดีที่ทีม DREG ตอบรับคำขอของผม มันคือกำลังใจสำคัญที่ทำให้ผมไปต่อ สู้ต่อไปบนเส้นทางนี้"

เรื่องราวบทแรกในหนังสือได้จบลง ธวัชชัยก้าวสู่การเดินทางบทที่สอง ด้วยการย้ายสู่จังหวัดนนทบุรี ในฐานะนักสเก็ตบอร์ดประจำทีม DREG Skateboards แม้ในใจหวาดหวั่นเพราะกลัวว่าเส้นทางความฝันของเขาจะจบลงแบบเดิมอีกหรือไม่

แรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมวงการสเก็ตบอร์ด คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เรื่องราวในชีวิตของธวัชชัยดำเนินไปในเส้นทางที่ดีขึ้น เขาเรียกความมั่นใจกลับมาคืนมา และเริ่มค้นหาฟอร์มอันยอดเยี่ยมของตัวเองเจออีกครั้ง

7

"ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปเยอะมาก (หลังย้ายมาอยู่กับ DREG) ผมเล่นสเก็ตบอร์ดได้เต็มที่มากขึ้น มีรุ่นพี่ที่อยู่กันแบบครอบครัวจริงๆ มีที่อยู่ให้ มีอาหารการกินให้ และพออยู่ไปสักพัก สนาม Dreg Skate Park ก็เกิดขึ้น ผมจึงพัฒนาฝีมือตัวเองได้มากขึ้น"

"มันสนุกและตื่นเต้นมากเลยนะ เพราะผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน โคตรเจ๋งเลยครับ เพราะสนามดีๆแบบนี้ มันช่วยให้ผมมีพื้นฐานแน่นขึ้น เวลาไปแข่งมันก็ช่วยให้ผมมีโอกาสชนะมากขึ้น" ธวัชชัย บอกเล่าจุดพลิกผันที่จะเปลี่ยนเด็กเรียนไม่จบ สู่บทบาทนักกีฬาทีมชาติไทย

Skate for Life 

สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น บวกกับปัญหาอาการบาดเจ็บที่รบกวนมาตลอดหายไป ธวัชชัย กลับมาเป็นนักสเก็ตบอร์ดที่มีฝีมือยอดเยี่ยมอีกครั้ง เขาออกล่าเงินรางวัลจากการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ และกวาดความสำเร็จกลับมามากมาย

ธวัชชัยในวัย 21 ปี ที่มีวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 และจนถึงตอนนี้เขาสามารถพูดได้เต็มปากว่า ตัวเองสามารถเล่นสเก็ตบอร์ดเป็นอาชีพได้จริงๆ 

"ถ้ารายได้ทั่วไปในฐานะพนักงานร้านค้า เงินจะอยู่ที่ 15,000 บาท ถ้ามีงานแข่ง ผมอาจจะหาเงินตกเดือนละ 30,000 บาท ตรงนี้มันขึ้นอยู่กับโบนัสอัดฉีดที่สปอนเซอร์จะจ่ายให้ สมมติไปแข่งงานใหญ่แล้วได้รางวัลมา เขาอาจจะแบ่งโบนัสให้ เพราะผมสร้างชื่อเสียงให้ทีมของเขา"

8

"เงินก้อนใหญ่สุดที่เคยได้จากการแข่งขัน คือประมาณ 100,000 บาท รอบนั้นเป็นการแข่งขันที่ประเทศจีน ปี 2018 ผมจำได้เลยว่า ตัวเองหอบเงินจีนกลับมาเมืองไทยแล้วเอาไปแลก หลังจากนั้น ผมกล้าพูดเลยว่า มือสั่นครับ (หัวเราะ)"

"พี่ลองคิดดูสิครับว่า ความรู้สึกของคนถือเงินแสนในมือ มันรู้สึกอย่างไร? แล้วตอนนั้นผมอายุเท่าไหร่เอง มันเป็นความรู้สึกที่เจ๋งมาก สุดยอดมาก เพราะผมเล่นสเก็ตบอร์ดมาตั้งแต่เด็ก ผมไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะทำได้ขนาดนี้"

ธวัชชัยเดินทางไปกวาดเงินที่ประเทศจีนอีกหลายครั้ง แต่ความภูมิใจสูงสุดในฐานะนักสเก็ตบอร์ดกลับไม่ได้อยู่ในจุดนั้น

เพราะในปี 2019 ธวัชชัยกลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาตัวแทนทีมชาติไทย ที่เดินทางไปแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2019 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ หลังคว้าแชมป์ในรายการสิงห์ ไทยแลนด์ เอ็กซ์ตรีม เซอร์กิต 2019 ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งการแข่งขันสนามนี้คือเวทีคัดเลือกตัวนักกีฬาพอดิบพอดี

"ผมไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมากมายตอนติดทีมชาติ เพราะผมตั้งใจจะก้าวเข้าไปสู่จุดนั้นอยู่แล้ว" ชัย - ธวัชชัย กล่าวเริ่ม 

9

"แต่พอก่อนเดินทางไปแข่งจริงที่ฟิลิปปินส์ ผมตื่นเต้นมาก กดดันมาก จนต้องไปหาจิตแพทย์ เพราะเวลาเล่นในไทย ปกติผมคุ้นหน้าคู่แข่งอยู่แล้ว ผมรู้ว่าเขามีฝีมือแค่ไหน แต่พอไปแข่งต่างประเทศ ผมไม่รู้ว่าเขาเล่นท่าอะไรได้บ้าง"

"โชคดีที่ผมไปคุยกลับหมอแล้วเขาถามผมกลับมาว่า 'คุณไปเล่นกับเขาหรือคุณเล่นกับตัวเอง?' ผมถึงมองยอนกลับไปว่า เวลาแข่งจริงผมก็ไม่ได้เล่นกับใครนอกจากตัวเอง สเก็ตบอร์ดมันคือกีฬาที่ต้องเล่นกับตัวเอง ถ้าผมเล่นไปตามจังหวะ ไม่คิดว่าต้องเอาชนะ ความกดดันมันก็จะหายไปเลย"

ธวัชชัยเดินทางสู่ประเทศฟิลิปปินส์ด้วยสภาพร่างกายและจิตใจที่เต็มร้อย เพื่อลงแข่งขันในฐานะนักกีฬาสเก็ตบอร์ดประเภทเกม ออฟ สเก็ต หรือ การแข่งขันสเก็ตบอร์ดเล่นท่า 

โดยมีกติกาให้แต่ละฝ่ายสลับกันเล่นท่าสเก็ตบอร์ด และดูว่าฝ่ายไหนผิดพลาดน้อยกว่า และสามารถทำคะแนนได้มากที่สุด

10

แม้ธวัชชัยจะพลาดท่าให้แก่นักกีฬาเจ้าถิ่น จนตกรอบรองชนะเลิศ แต่เจ้าตัวก็ปาดน้ำตาลบความผิดหวัง กลับมาแข่งขันในรอบชิงที่สาม จนคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันซีเกมส์ 2019 กลับมาครองได้สำเร็จ ซึ่งเจ้าตัวยกให้ประสบการณ์ครั้งนี้สำคัญที่สุดในชีวิต ที่ทำให้ธวัชชัยในฐานะนักสเก็ตบอร์ดอาชีพเติบโตไปอีกขั้น

หากมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น จนถึงวันที่ลงแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย ธวัชชัยคลุกคลีอยู่กับสเก็ตบอร์ดมายาวนานกว่า 12 ปี หรือเกินครึ่งชีวิตของเขา ผ่านทั้งช่วงเวลาทั้งดีและร้าย และการตัดสินใจที่เอาอนาคตของตัวเองเป็นเดิมพัน

ความสำเร็จของเด็กชายคนหนึ่งที่เลือกเดินเส้นทางอันแตกต่าง ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นเพราะความรักที่ธวัชชัยมีต่อสิ่งที่เรียกว่า "สเก็ตบอร์ด" ทำให้เขาอดทนเรียนรู้บทเรียนนอกตำราที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และยืนหยัดในฐานะนักสเก็ตบอร์ดอาชีพบนเส้นทางที่เขาเลือกเอง

"ผมคิดว่าตัวเองเจ๋งนะ รู้สึกว่า ผมเองก็ทำได้ ถ้าพูดภาษาบ้านๆคือ แม่งเฟี้ยว (หัวเราะ) เพราะว่าเรื่องราวแบบนี้มันคงไม่เกิดขึ้นกับทุกคนหรอก ต้องเป็นคนรักจริงๆ ต้องเป็นคนที่ยอมกับมันทุกอย่าง โดยไม่คิดว่าจะไปได้เสียอะไรกับมัน"

11

"ถ้ามันเป็นสิ่งที่เรารักจริงๆ เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ผมเองก็อดทนมาตลอด จากเด็กตัวเล็กๆที่เดินไปขอเขาเล่นสเก็ตบอร์ด จนก้าวมาสู่ระดับนี้ในระยะเวลา 12 ปี มันนานนะ แต่มันก็เป็นอะไรที่คุ้มค่ากับชีวิตของผมมากเลย"

ติดตาม ชัย - ธวัชชัย ได้ทาง : www.instagram.com/chai_dreg

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "ธวัชชัย เซี่ยงอึ่ง" : เด็กจบ ม.3 ที่เล่นสเก็ตบอร์ดเป็นอาชีพและก้าวไปติดทีมชาติไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook