ทำไมเจ้าของทีม NFL จึงอนุมัติผ่านกฎ "ห้ามผู้เล่นดีใจ"..???

ทำไมเจ้าของทีม NFL จึงอนุมัติผ่านกฎ "ห้ามผู้เล่นดีใจ"..???

ทำไมเจ้าของทีม NFL จึงอนุมัติผ่านกฎ "ห้ามผู้เล่นดีใจ"..???
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"การเฉลิมฉลอง" ถือเป็นส่วนหนึ่งของเกมกีฬาทั่วโลก ความดีใจที่ไหลผ่านทั่วร่างกายของนักกีฬา เชื่อมโยงผู้เล่นที่อยู่ในสนามแข่งขันกับผู้ชมทางบ้านเข้าด้วยกัน

แต่สำหรับ NFL พวกเขากลับสร้างกฎออกมากำหนดการดีใจของผู้เล่นหลังทำทัชดาวน์ ทำให้ท่าดีใจหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การรวมกลุ่มเต้น, การนอนราบลงกับพื้น, การหยิบอุปกรณ์ข้างสนาม หรือ การดังก์แบบบาสเกตบอล ถูกแบนจากลีกกีฬาหมายเลขหนึ่งของประเทศ

กฎ "ห้ามผู้เล่นดีใจ" ไม่ได้สุ่มสี่สุ่มห้าเกิดขึ้นมา แต่ผ่านการประชุมจากคณะกรรมาธิการและเจ้าของทีมผู้ทรงอำนาจใน NFL เหตุผลของพวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มข้นของการแข่งขัน และภาพลักษณ์ของลีกที่เชื่อมโยงกับเรื่องของสีผิว

กำเนิดกฎประหลาด

กฎที่เกี่ยวข้องกับการดีใจของผู้เล่นใน NFL เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1984 หลังผู้เล่นของทีมวอชิงตัน เรดสกินส์ (วอชิงตัน ฟุตบอล ทีม ในปัจจุบัน) มักรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองหลังทำทัชดาวน์ จนแฟนอเมริกันฟุตบอลขนานามพวกเขาว่า "The Fun Bunch" หรือ "ก๊วนรักสนุก"

หากเราย้อนกลับไปดูการดีใจของพวกเขาในขณะนั้น จะพบว่าชื่อ The Fun Bunch ไม่ได้เกินความจริงแม้แต่น้อย เพราะผู้เล่นตำแหน่งปีกนอกและปีกในของทีมเรดสกินส์ สนุกสนานไปกับการเฉลิมฉลองทัชดาวน์ของพวกเขา โดยท่าประจำของกลุ่มคือการรวมตัวกันเต้นตามสไตล์คนผิวดำ ก่อนกระโดดไฮไฟว์ในพื้นที่เอนด์โซนของฝ่ายตรงข้าม

1

ชื่อเสียงของกลุ่ม The Fun Bunch พุ่งสูงถึงขีดสุด เมื่อ วอชิงตัน เรดสกินส์ เข้าสู่การแข่งขันซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 17 ในฐานะแชมป์สาย NFC ผลการแข่งขันปรากฎว่า เรดสกินส์เป็นฝ่ายชนะ ไมอามี ดอลฟินส์ ด้วยสกอร์ 27-17 โดยหนึ่งในไฮไลต์ของการแข่งขัน คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการทำทัชดาวน์จาก อัลวิน การ์เรตต์ ในช่วงเตือนสองนาทีของครึ่งแรก

ทันทีที่กรรมการชูสองมือขึ้นฟ้า สมาชิก The Fun Bunch รวมตัวกันในพื้นที่เอนด์โซน ก่อนกระโดดไฮไฟว์ท่ามกลางแสงอาทิตย์ยามเย็นในสนามโรสโบวล์ ภาพนี้ถูกจารึกเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในรอบชิงชนะเลิศของฤดูกาล 1982 

ซึ่งในเวลาต่อมา ท่ากระโดดไฮไฟว์ กลายเป็นท่าดีใจประจำตัวของกลุ่ม The Fun Bunch ที่ต้องทำทุกครั้ง หากมีสมาชิกในกลุ่มทำทัชดาวน์ได้ ซึ่งหมายถึงทุกครั้งที่ทีมบุกของเรดสกินส์ทำแต้มได้ เพราะสมาชิกทีมบุกเกือบทุกคนของเรดสกินส์ คือสมาชิกของ The Fun Bunch

ท่าดีใจของการกระโดดแปะมือของผู้เล่นดูเป็นเรื่องปกติมาก และแฟนบางคนก็ชอบมากๆอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ในประวัติศาสตร์ NFL ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีผู้เล่นกลุ่มไหนฉลองการทำคะแนนด้วยการดีใจเป็นทีมมาก่อน อย่างมากก็เป็นการเต้นคนเดียวหรือสองคนเท่านั้น

พอเป็นการฉลองแบบยกก๊วน ทำให้แฟนกีฬาหรือผู้เล่นบางทีมที่โดนเหล่า The Fun Bunch มากระโดดไฮไฟว์ฉลองชัยในเอนด์โซน เกิดรู้สึกว่าถูกหยามเกียรติขึ้นมา แรงกดดันจึงย้อนไปสู่ตัวลีก 

The Fun Bunch ยังคงเฉลิมฉลองแบบเดิมต่อไปในฤดูกาล 1983 โดยไม่รู้เลยว่า นี่คือซีซั่นสุดท้ายที่พวกเขาจะได้สนุกสนานแบบนี้ เพราะก่อนการแข่งขันฤดูกาล 1984 จะเริ่มต้นขึ้น NFL ประกาศแบนท่าดีใจของผู้เล่นหลังทำทัชดาวน์ในรูปแบบที่เรียกว่า "Excessive celebration" หรือ "การเฉลิมฉลองที่มากเกินไป" 

2

โดยลีกอธิบายการดีใจในลักษณะนี้ว่า "ท่าดีใจจากบุคคลเดียวหรือกลุ่ม ที่มีลักษณะยืดเยื้อ, มากเกินจำเป็น หรือมีการตรึกตรองไว้ก่อน" โดยผู้เล่นที่ฝ่าฝืนจะทำให้ทีมโดนโทษ 15 หลาในเพลย์ถัดไป ส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามเริ่มบุกในระยะที่ได้เปรียบมากขึ้น

แน่นอนว่า หลังจากถูกแบน สื่อจำนวนไม่น้อยก็โจมตี NFL กันยกใหญ่ ถึงความ "ประสาทแดก" ของ NFL ที่บ้าจี้มีการลงโทษกับการดีใจที่เป็นท่าแค่การกระโดดไฮไฟว์ที่ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น

จากปากของ เวอร์จิล เซย์ หนึ่งในสมาชิกของ The Fun Bunch เผยว่า พวกเขาไม่ได้มีเจตนาจะเยาะเย้ยใคร ที่ทำก็เพราะอยากทำ และมันก็เป็นเอกลักษณ์ของทีม ยกเว้นทีมเดียวที่พวกเขาตั้งใจจะเยาะเย้ยทุกครั้ง นั่นคือคู่ปรับร่วมดิวิชั่น NFC ตะวันออก อย่าง ดัลลัส คาวบอยส์

3

 

"พวกผู้เล่นของคาวบอยส์พยายามจะมาขัดขวางการดีใจของเรา เราก็เลยกระโดดไฮไฟว์เหนือหัวพวกมันซะเลย" เวอร์จิล เซย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎ Excessive celebration เกิดขึ้น กฎดังกล่าวทำลายท่าดีใจแบบกลุ่มของผู้เล่นใน NFL จนสิ้นซาก แต่ถึงอย่างนั้น ท่าดีใจแบบแปลกประหลาดมากมายก็ยังคงอยู่ในลีกต่อไป กฎหลวมๆจึงยังคงอยู่กับลีกต่อไปจนถึงปี 2006 จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงกฎครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้การเฉลิมฉลองหลังทำแต้มในกีฬาอเมริกันฟุตบอลไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

สีสันที่หายไป

การเฉลิมฉลองที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนกฎดีใจของผู้เล่นในปี 2006 คือเหตุการณ์ "Cell phone celebration" (การเฉลิมฉลองด้วยโทรศัพท์มือถือ) ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2003 ในเกมซันเดย์ไนต์คู่ระหว่าง นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส และ นิวยอร์ก ไจแอนท์ส

โจ ฮอร์น ผู้เล่นตำแหน่งปีกนอกของ นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส คือผู้สร้างชื่อจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะหลังจากที่เขาทำทัชดาวน์ที่สองของตัวเองในเกม แทนที่เจ้าตัวจะเฉลิมฉลองแบบคนทั่วไป เขากลับวิ่งไปที่เสาของประตูฟิลด์โกล เพื่อขุดหาอะไรบางอย่าง ก่อนพบว่าเจ้าสิ่งนั้นคือ โทรศัพท์มือถือที่ฮอร์นแอบซ่อนไว้ เพื่อโทรหาลูกชายที่ไม่ได้เดินทางมาชมการแข่งขันวันนี้ด้วย



แฟนอเมริกันฟุตบอลชื่นชอบการเฉลิมฉลองนี้มากเท่ากับที่บรรดาผู้มีอำนาจใน NFL เกลียดมัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะรวมหัวกันปรับเปลี่ยนกฎการดีใจของผู้เล่นก่อนเริ่มฤดูกาล 2006

กฎใหม่ที่ออกมาไม่เพียงสั่งห้ามไม่ให้ผู้เล่นรวมกลุ่มดีใจเท่านั้น แต่ยังห้ามผู้เล่นใช้อุปกรณ์ต่างๆเพื่อการเฉลิมฉลองหลังทำทัชดาวน์ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์แปลกประหลาด เช่น โทรศัพท์ หรือสิ่งของที่หาได้ข้างสนามอย่าง ผ้าเช็ดหน้า การเฉลิมฉลองด้วยอุปกรณ์ทุกอย่างต่างถูกแบนทั้งหมด

นับจากวันนั้น NFL ยังคงเพิ่มเติมกฎการดีใจของผู้เล่นอย่างเมามัน เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเห็นท่าดีใจที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2013 หลัง จิมมี่ แกรห์ม ผู้เล่นตำแหน่งปีกในของทีม นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส (อีกแล้ว) เลือกทำท่า "ดังก์" คล้ายกับการดังก์ของนักกีฬาบาสเกตบอล

โชคร้ายที่การดังก์ของแกรห์มทำให้เสาฟิลด์โกลเบี้ยวลงมาอย่างเห็นได้ชัด เกมดังกล่าวกับทีม แอตแลนตา ฟอลคอนส์ จึงล่าช้าไป 30 นาทีเพื่อทำการซ่อม นับแต่นั้น ท่าดีใจอะไรก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับเสาประตูฟิลด์โกล จึงถูกแบนจาก NFL ทั้งหมด



การเปลี่ยนกฎแบบจู้จี้จุกจิกของลีกจนทำให้ผู้เล่นแทบฉลองอะไรไม่ได้นอกจากชูมือขึ้นฟ้า ส่งผลให้แฟนอเมริกันฟุตบอลล้อเลียน NFL โดยบอกว่าชื่อของพวกเขาย่อมาจากคำว่า "No Fun League" แสดงให้เห็นความสนุกในเกมกีฬาหายไปมากแค่ไหนจากการจำกัดท่าดีใจหลังทำทัชดาวน์

นั่นจึงทำให้ NFL เปลี่ยนแปลงกฎตรงนี้อีกครั้งในฤดูกาล 2017 โดยกลับมาอนุญาตให้ผู้เล่นรวมตัวกันเฉลิมฉลองเป็นกลุ่มหลังทำทัชดาวน์ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้เล่นยังสามารถลงไปนอนกับพื้นและใช้ลูกบอลเป็นส่วนหนึ่งของท่าดีใจ

ทำไมถึงห้ามดีใจ?

มีหลายสาเหตุที่ทำให้บรรดาเจ้าของทีมและผู้มีอำนาจใน NFL ตัดสินใจสร้างกฎควบคุมท่าดีใจของผู้เล่นแม้จะทำให้ลีกสนุกน้อยลง โดยแบ่งเป็นสาเหตุหลักทั้งหมด 2 สาเหตุ คือ เรื่องของการแข่งขัน และ เรื่องภาพลักษณ์

6

สำหรับเหตุผลเรื่องการแข่งขัน เราต้องไม่ลืมว่า กว่าท่าดีใจจะเกิดขึ้นแต่ละครั้งจะต้องมีการทำทัชดาวน์เกิดขึ้นก่อนเสมอ ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากทีมที่ถูกทำคะแนนใส่จะหาทางออกหรือช่องว่างเล็กน้อยที่จะช่วยให้พวกเขาได้เปรียบมากขึ้นในการเล่นเกมบุกครั้งถัดไป

ระยะการบุกที่เพิ่มขึ้น 15 หลาจากท่าดีใจที่ผิดกติกาของผู้เล่นถือเป็นระยะทางมหาศาลที่สามารถพลิกสถานการณ์ของทีมที่กำลังเสียเปรียบได้ในได้ในพริบตา การเพิ่มโทษตรงนี้อาจทำให้เจ้าของทีม NFL มองว่าโอกาสที่จะทำให้การแข่งขันสูสีหรือใกล้เคียงมีมากขึ้น

แต่สำหรับนักกีฬาที่ผ่านประสบการณ์ในสนามกลับมองว่า การดีใจในลักษณะนี้ถูกปรับให้ผิดกติกาเพียงเพราะความไม่พอใจของใครบางคน

ชาร์ลี บราวน์ ผู้เล่นตำแหน่งปีกนอก หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม The Fun Bunch กล่าวว่า กฎห้ามการเฉลิมฉลองที่มากเกินไป เริ่มต้นขึ้นเพียงเพราะพวกเขาเอาชนะ ไมอามี ดอลฟินส์ ในศึกซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 17 เท่านั้น

7

"ผู้คนจำนวนมากคิดว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะพวกเราชนะ ดอน ชูลา ในซูเปอร์โบวล์ และชนะ ทอม แลนดรี (เฮดโค้ชของทีม ดัลลัส คาวบอยส์) ในเกมชิงแชมป์สาย NFC ทั้งสองคนอยู่ในคณะกรรมาธิการของการแข่งขัน และใครสักคนหรือพวกเขาทั้งคู่คือคนที่เริ่มต้นเรื่องทั้งหมดนี้"

คำกล่าวของบราวน์มีมูลไม่น้อย เพราะสองผู้มีอำนาจในคณะกรรมาธิการ NFL ขณะนั้น คือ ดอน ชูลา เฮดโค้ชของไมอามี ดอลฟินส์ และ เทกซ์ แชรมม์ ผู้จัดการทั่วไปของดัลลัส คาวบอยส์ ซึ่งทั้งสองทีมต่างตกเป็นเหยื่อของ The Fun Bunch ในการแข่งขันฤดูกาล 1982

การเฉลิมฉลองหลังทำทัชดาวน์แบบสนุกสนานของผู้เล่นคือความน่าตื่นเต้นของแฟนกีฬา แต่สำหรับคนในวงการอเมริกันฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็น ผู้เล่น, ทีมโค้ช หรือ เจ้าของทีม ต่างมองว่าท่าดีใจแบบเกินจริง คือ "การล้อเลียน" ทีมคู่แข่งหลังเสียแต้ม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนที่มีความแค้นกับกลุ่ม The Fun Bunch จะรวมหัวกันร่างกฎในปี 1984 ขึ้นมา

ท่าดีใจที่มีเจตนาล้อเลียนคู่ต่อสู้ ยังคงสร้างปัญหาให้แก่ NFL ในอีกหลายปีหลังจากนั้น เหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2000 เมื่อ เทอร์เรลล์ โอเวนส์ ปีกนอกของทีมซานฟรานซิสโก โฟร์ตีไนเนอร์ส วิ่งเป็นระยะทาง 50 หลาหลังจากทำทัชดาวน์ เพื่อเขวี้ยงบอลใส่สัญลักษณ์ดาวที่อยู่กลางสนามของ ดัลลัส คาวบอยส์



NFL เกิดความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับท่าดีใจในลักษณะนี้ เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่ปราศจากน้ำใจนักกีฬาซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของลีก นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญว่าทำไม NFL จึงเข้มงวดกับท่าดีใจของผู้เล่นมากกว่าลีกกีฬาอื่นทั่วโลก 

ไม่ได้มีแค่เรื่องท่าดีใจเท่านั้นที่ NFL เข้มงวดจนเกินงาม แต่รวมถึงการลงโทษในเหตุการณ์อื่น ซึ่งจะถูกเหมารวมในชื่อโทษ "Unsportsmanlike conduct" หรือพฤติกรรมที่แสดงความไม่มีน้ำใจนักกีฬา ซึ่งสามารถลงโทษได้ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ไม่ว่าจะเป็นตะโกนด่าคู่ต่อสู้, โยนบอลใส่คู่แข่ง, ตีลังกาเข้าเอนโซนด์, ทำมือเยาะเย้ยคู่ต่อสู้ และอีกมากมาย 

ซึ่งหากพลาดไปโดนโทษ Unsportmanlike conduct ก็จะถูกสนองเป็นโทษ 15 หลา ปรับระยะเท่ากับโทษ Excessive celebration แบบเป๊ะๆ ซึ่งส่งผลเสียหายอย่างมากจากทีมที่โดนโทษ

ที่น่าเหลือเชื่อที่สุด คงจะเป็นทั้งโทษ Excessive celebration และ Unsportmanlike conduct มีการลงโทษปรับระยะร้ายแรงเท่ากับ Helmet to Helmet หรือการตั้งใจเอาหัวไปกระแทกใส่หัวฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นการเข้าปะทะที่รุนแรงมาก และคู่ควรต่อการถูกลงโทษ 15 หลา

หากแต่การแสดงท่าดีใจที่แปลกประหลาดหรือการแสดงอารมณ์ผ่านการเล่นด้วยการตะโกนด่าหรืออะไรก็ตาม คือเรื่องปกติในกีฬาอเมริกันฟุตบอล เป็นสีสันของเกม หากแต่ NFL ได้สร้างโทษที่เข้มงวดขึ้นมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของลีกให้ดูดี แต่กลับเสียความสนุกของเกมไปไม่น้อย

สิ่งหนึ่งที่แฟนอเมริกันฟุตบอลควรรู้คือ NFL ถือเป็นลีกกีฬาที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง เห็นได้ชัดจากกรณีของ โคลิน แคเปอร์นิก อดีตควอเตอร์แบ็กของซานฟรานซิสโก โฟร์ตีไนเนอร์ส ที่คุกเข่าระหว่างเคารพเพลงชาติสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านการเหยียดสีผิวในประเทศ

NFL ไม่เคยปกป้องแคเปอร์นิกจากความไม่พอใจที่ถาโถมเข้ามา ไม่เพียงเท่านั้น เหล่าผู้บริหารของ NFL ยังรวมหัวกันขับไล่เขาออกจากลีก จนทำให้แคเปอร์นิกไม่สามารถกลับสู่ลีกจนถึงทุกวันนี้

เมื่อมองกลับมาที่การดีใจของผู้เล่นหลังทำทัชดาวน์ สังเกตได้ว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่ที่สร้างเหตุการณ์อื้อฉาวจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกฎมักเป็นนักกีฬาผิวดำ 

9

มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะมองว่าพวกเขาเหล่านี้คือตัวปัญหาและทำให้ลีกกีฬาอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเสื่อมเสียงชื่อเสียงและรายได้จากพฤติกรรมหรือท่าทางที่แปลกประหลาด

การห้ามผู้เล่นดีใจใน NFL จึงเป็นเรื่องของการป้องกันไม่ให้ภาพลักษณ์ลีกเกิดความเสียหายในสายตาของบรรดาเจ้าของทีม ซึ่งสวนทางกับมุมมองของแฟนกีฬา แต่ไม่ว่าจะเป็นวงการไหน คนมีเงิน มีอำนาจมากกว่าเสมอ

แฟนอเมริกันฟุตบอลจึงต้องทนกับการกำหนดท่าดีใจของลีกต่อไป จนกว่าบรรดาผู้มีอำนาจใน NFL จะเปลี่ยนมุมมองและยอมเปิดใจว่าท่าทางเหล่านี้ไม่ใช่อะไรที่เกินกว่าสีสันของเกมกีฬา

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ทำไมเจ้าของทีม NFL จึงอนุมัติผ่านกฎ "ห้ามผู้เล่นดีใจ"..???

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook