จอง เตเซ : ภาพสะท้อนของ "ไซนิจิ" (คนเกาหลีในญี่ปุ่น) ที่เติบโตท่ามกลางความเป็นอื่น

จอง เตเซ : ภาพสะท้อนของ "ไซนิจิ" (คนเกาหลีในญี่ปุ่น) ที่เติบโตท่ามกลางความเป็นอื่น

จอง เตเซ : ภาพสะท้อนของ "ไซนิจิ" (คนเกาหลีในญี่ปุ่น) ที่เติบโตท่ามกลางความเป็นอื่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เขามีความเป็นญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น เขาเป็นคนเกาหลี แต่เล่นให้เกาหลีเหนือ เขาเป็นนักเตะทีมชาติเกาหลีเหนือ แต่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเรื่องยากมากสำหรับคนทั้งโลกที่จะเข้าใจ" ชิน มูคอง นักเขียนชาวเกาหลีและเพื่อนของ จอง เตเซ กล่าว 

หยดน้ำตาที่ไหลรินเป็นสาย ในขณะที่เพลงชาติเกาหลีเหนือกำลังบรรเลง ในฟุตบอลโลก 2010 น่าจะเป็นหนึ่งในภาพจำที่ทำให้ จอง เตเซ กลายเป็นที่รู้จัก 

ในตอนนั้นดาวเตะเจ้าของฉายา "รูนีย์เกาหลีเหนือ" คือหนึ่งในยอดดาวยิงของเอเชีย และเป็นตัวความหวังทัพโสมแดง ในการลงเล่นเวิลด์คัพเป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปี 

ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง น้ำตาหยดนั้น มันก็ทำให้โลกได้รู้จักกับเขาในฐานะ "ไซนิจิ" หรือคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น รวมไปถึงความเจ็บปวดที่พวกเขาต้องเผชิญ จากความเป็นอื่นในสังคมแดนอาทิตย์อุทัย 

ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่ 

รูนีย์เกาหลีเหนือ 

หากเอ่ยถึงเกาหลีเหนือ มันเป็นเหมือนดินแดนลับแลในสายตาชาวโลก เมื่อมีเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศนี้ปรากฏออกมาน้อยมาก ถึงแม้ว่าช่วงหลังจะมีสื่อตะวันตก หรือแม้แต่สื่อไทย พยายามเข้าไปทำสกู๊ป แต่ยังมีปริศนาที่ยังไม่กระจ่างอีกมากมาย 

ไม่ต่างจากวงการฟุตบอลของพวกเขา ที่ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของลีกอาชีพหาดูได้ยากมาก หรือแม้กระทั่งเกมทีมชาติ ที่หากไปเตะในเกาหลีเหนือแล้ว กว่าจะรู้ผลอาจต้องรอหลังเกมไปอีกหลายนาที หรือบางครั้งอาจจะเป็นชั่วโมง   


Photo : ABC 

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ชื่อของทีมชาติเกาหลีเหนือ กลายเป็นที่พูดถึงในสื่ออยู่หลายครั้ง หลังการมาถึงของ "จอง เตเซ" กองหน้าร่างบึก ที่ทำให้วงการฟุตบอลเอเชียต้องสั่นสะเทือน 

เขาเริ่มสร้างชื่อครั้งแรกในฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันออก 2008 รอบคัดเลือก ด้วยการยิงไปถึง 8 ประตูจาก 2 นัด ช่วยให้ เกาหลีเหนือถล่ม มองโกเลีย 7-0 และ มาเก๊า 7-1 ผ่านเข้ารอบสุดท้ายไปอย่างไม่ยากเย็น 

และแม้ว่ารอบสุดท้ายที่จีน ทัพโสมแดงจะจบในอันดับสุดท้าย แต่เตเซ ก็ยังโชว์ฟอร์มเด่น หลังยิงอีก 2 ประตูช่วยให้ เกาหลีเหนือ เสมอกับญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ด้วยสกอร์ 1-1 ทั้งสองเกม 

จุดเด่นของ เตเซ คือการมีคุณสมบัติของยอดดาวยิงครบเครื่อง ทั้งความแข็งแกร่ง และความเร็ว รวมไปถึงความกระหายในการยิงประตู จนทำให้เขาถูกตั้งฉายาว่า "รูนีย์เกาหลีเหนือ" จากรูปร่างและสไตล์การเล่นที่คล้ายกับดาวยิงทีมชาติอังกฤษ

"เขาเก่งเรื่องการเล่นบอลน้อยจังหวะ เร็ว และแข็งแกร่ง" จอห์น เดอร์เดน ผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลเอเชียกล่าวกับ New York Times

"เขาแตกต่างจากกองหน้าเอเชียตะวันออกคนอื่น เขาค่อนข้างเห็นแก่ตัว และเมื่อเขาได้บอล ความคิดเดียวในหัวคือแค่อยากยิงประตู" 


Photo : WoldFootball.com 

เตเซ ใช้เวลาไม่นานก็สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นนักเตะที่ขาดไม่ได้ของทัพโสมแดง และกลายเป็นกำลังสำคัญของเกาหลีเหนือ ช่วยให้ทีมผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่แอฟริกาใต้ในปี 2010 ได้สำเร็จ 

และการไปเล่นฟุตบอลโลกครั้งนั้น ยังทำให้เขาได้รับการจับตามองมากขึ้น ก่อนที่เขาจะกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังหลั่งน้ำตาระหว่างเพลงชาติเกาหลีเหนือบรรเลงในเกมนัดเปิดสนามกับบราซิล 

ซึ่งน้ำตาหยดนั้น ก็ทำให้โลกได้รู้จักตัวตนอีกด้านหนึ่งของเขาในฐานะ "ไซนิจิ" 

แข้งไซนิจิ 

"ไซนิจิ" คือชื่อเรียกคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น โดยมีจำนวนอยู่ราว 590,000 คนทั่วประเทศ ถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองมากจากคนจีน ซึ่ง จอง เตเซ ก็คือหนึ่งในนั้น เพราะแม้ว่าเขาจะเลือกรับใช้ทีมชาติเกาหลีเหนือ แต่ความเป็นจริง ดาวยิงร่างบึกมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ นาโงยา จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น 

ความเป็นมาของคนกลุ่มนี้ อาจต้องย้อนกลับไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อการล่มสลายของราชวงค์โชซอน ได้เปิดโอกาสให้จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามายึดครองดินแดนในคาบสมุทรเกาหลีอย่างสมบูรณ์ 


Photo : History.com 

ซึ่งการยึดครองครั้งนั้นได้บีบให้คนเกาหลีจำนวนหนึ่งต้องอพยพมาที่ญี่ปุ่นในฐานะแรงงาน และมีสถานะเป็นพลเมืองญี่ปุ่นคนหนึ่ง เช่นกันสำหรับยายของ เตเซ ที่ต้องย้ายมาอยู่จังหวัดไอจิเมื่อปี 1932 เพื่อทำงานในโรงงานทอผ้า

อย่างไรก็ดี หลังจากญี่ปุ่นกลายเป็นผู้แพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 คนเกาหลีก็ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ทำให้บางคนเลือกที่จะย้ายกลับไปที่เกาหลี แต่ก็มีบางคนที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานที่ญี่ปุ่นต่อ และยายของ เตเซ ก็เป็นอย่างหลัง 

แต่นั่นก็ทำให้ชีวิตของเธอลำบากไม่น้อย เพราะหลังจากนั้น ญี่ปุ่นก็ประกาศเพิกถอนสิทธิการเป็นพลเมืองญี่ปุ่น สำหรับคนเกาหลีที่เข้ามาอยู่ในญี่ปุ่น หลังปี 1910 ที่มีการเซ็นสนธิสัญญาญี่ปุ่น-เกาหลี และทำให้เธอมีสถานะเป็นคนต่างชาติทันที 

แต่ยายของ เตเซ ก็ไม่ยอมแพ้ เมื่อเธอและคนเกาหลีคนอื่นที่อยู่ในญี่ปุ่น ได้รวมตัวกันตั้งโรงเรียนเพื่อคนเกาหลีขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กมีที่เรียนภาษาเกาหลี แต่ด้วยการยึดครองของอเมริกา ก็ทำให้โรงเรียนต้องปิดตัวลงหลังจากนั้นไม่นาน 

อย่างไรก็ดี ยายของ เตเซ ก็ยังสู้ต่อ ก่อนที่เธอจะสามารถตั้งโรงเรียนเกาหลี ขึ้นมาได้อีกครั้ง และได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเกาหลีเหนือ ที่เข้ามาวางโครงสร้างและหลักสูตร ก่อนที่เธอจะส่งลูกของเธอทั้ง 5 คน เข้าไปเรียนที่นี่ รวมไปถึงแม่ของ เตเซ ที่ต่อมากลายเป็นครูในโรงเรียนแห่งนี้ และแต่งงานกับคนสัญชาติเกาหลีใต้ 


Photo : Koream Litarature 

โรงเรียนแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า "โรงเรียนเกาหลี" (Chosen Gakkou) โดยได้รับการอุปถัมภ์จากองค์กรที่ชื่อว่า ชองเรียน (Chongryon) หรือสมาคมคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ที่มีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลเกาหลีเหนือ และเป็นเหมือนสถานทูตเกาหลีเหนือประจำญี่ปุ่นโดยพฤตินัย และแน่นอนว่า เตเซ ก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนี้ 

"หัวใจของเขามีรากเหง้ามาจากเกาหลีเหนือ" ยายของเตเซบอกกับนิตยสาร Aera ของญี่ปุ่น   

ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจกับการเป็นคนเกาหลีเหนือมาก และแม้ว่าเขาจะไม่เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่เขาก็รักและเชิดชูท่านผู้นำ ทั้ง คิม อิลซุง และ คิม จองอิล อย่างเปิดเผย 

"ผมเกิดมาในฐานะคนเกาหลีเหนือ และไปเรียนในโรงเรียนเกาหลีเหนือเหมือนกับที่หลายคนในญี่ปุ่นทำ รวมไปถึงเพื่อนของผม" เตเซ บอกกับ The Guardian  


Photo : VOX 

"แม่ของผมมาจากเกาหลีเหนือ ส่วนพ่อของผมเป็นเด็กกำพร้า และไปโรงเรียนญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็คิดว่าเขาเป็นคนเกาหลีเหนือ และผมก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน" 

ทว่า การเลือกที่จะรักษาตัวตนของตัวเองเอาไว้ ก็ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความลำบากไม่น้อยในสังคมญี่ปุ่น

ความเจ็บปวดจาก "ความเป็นอื่น" 

"เขามีความเป็นญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น เขาเป็นคนเกาหลี แต่เล่นให้เกาหลีเหนือ เขาเป็นนักเตะทีมชาติเกาหลีเหนือ แต่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเรื่องยากมากสำหรับคนทั้งโลกที่จะเข้าใจ" ชิน มูคอง นักเขียนชาวเกาหลีและเพื่อนของเตเซกล่าวกับ Japan Times   

เขาคือคนที่ภาคภูมิใจในตัวตนของเขามาโดยตลอด และประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเขาคือคนเกาหลีเหนือ และมองว่าประเทศแห่งนี้เป็นเหมือนบรรพบุรุษ แม้ว่าจะไม่เคยไปอาศัยอยู่ที่นั่นก็ตาม 

"สิ่งที่ผมคิดเกี่ยวกับตัวผม คือผมเป็นชาวเกาหลีเหนือ" เตเซกล่าวกับ abc 


Photo : ABC 

อย่างไรก็ดี การเลือกที่จะรักษาตัวตนความเป็นเกาหลี ก็สร้างความลำบากให้กับชาวไซนิจิไม่น้อย เพราะแม้ว่าหลายคนจะเกิดในญี่ปุ่น แต่ตามสัญชาติ พวกเขาคือคนต่างชาติ ทำให้พวกเขาเหล่านี้ ไม่มีโอกาสได้รับสิทธิ หรือสวัสดิการเหมือนกับที่คนญี่ปุ่นได้รับ 

นอกจากนี้ การเป็นคนต่างชาติ ก็ทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตยากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของ เตเซ แม้ว่าบ้านของเขาจะอยู่ญี่ปุ่นมาตั้งแต่เกิด แต่การถือพาสปอร์ตเกาหลีเหนือ ทำให้เขาต้องขอวีซ่าแบบ Re-entry ตอนที่ย้ายไปค้าแข้งในยุโรป 

แต่นั่นยังไม่โหดร้ายกับการถูกเลือกปฏิบัติ เมื่อมีไซนิจิจำนวนไม่น้อยถูกเหยียดอันเนื่องมาจากเชื้อชาติของพวกเขา หลายคนถูกดูถูกว่าร้าย ในขณะที่หลายคนตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้ง 

มันเป็นผลมาจากการเป็นสังคมแบบกลุ่มของญี่ปุ่น ที่ต้องทำอะไรเหมือนกัน ซึ่งทำให้คนที่ผิดแปลกไปจากกลุ่มจะถูกมองว่าไม่ได้เป็น "พวกเดียวกับเรา" และถูกทำให้กลาย "เป็นอื่น" หรือถูกตัดออกจากกลุ่ม  ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนต่างชาติ ลูกครึ่ง และแน่นอนกับชาวไซนิจิ  


Photo : The Express 

จากการสำรวจของ Korean Scholarship Foundation องค์กรที่ช่วยเหลือนักเรียนเกาหลีใต้และคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ที่สอบถามคนเกาหลีที่เรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย หรือเพิ่งเรียนจบกับประสบการณ์ 3 ปีหลังสุด พบว่า มีมากถึง 30.9% เคยถูกคุกคามด้วยคำพูดในหลาย ๆ เหตุผล รวมไปถึงการเป็นไซนิจิ 

โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่ 80% เป็นไซนิจิ ระบุว่าส่วนใหญ่เป็นการคุกคามจากเพื่อนร่วมชั้น ที่มากถึง 48.1% ในขณะที่ 16.4% มาจากลูกค้า ตอนที่ไปทำงานพาร์ทไทม์ แต่ที่ไม่น่าเชื่อคืออีก 10.1% กลับมาจากครูชาวญี่ปุ่นในโรงเรียน 

ส่วนคำพูดที่ชาวไซนิจิ ต้องพบเจอมีทั้ง "กลับเกาหลีใต้ไปซะ" "ออกจากญี่ปุ่นไปซะ" หรือ Chon ซึ่งเป็นคำเรียกคนเกาหลีแบบเหยียด หรือพูดในเชิงล้อเลียนสนุกสนาน เช่น "ครูสอนภาษาญี่ปุ่นบอกกับฉันว่า 'เธอเป็นสายลับเกาหลีเหนือใช่มั้ย ?'" "พ่อแฟนของผมบอกว่าคนเกาหลีที่เรียนในโรงเรียนชาติพันธุ์นั้นเป็นคนอันตราย" หรือ "ที่ที่ทำงานพิเศษ ลูกค้ามองมาที่ป้ายพนักงานผมแล้วพูดว่า 'คุณพูดภาษาญี่ปุ่นได้ไหม ?'" เป็นต้น 

"การเหยียดสร้างผลกระทบทางอารมณ์อย่างมหาศาลต่อนักเรียนที่ได้รับ บางเคสสามารถทำให้พวกเขาตัดสินใจฆ่าตัวตายได้เลย" โช คยองโฮ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโฮเซอิ อธิบายกับ Mainichi 


Photo : NK News 

นอกจากนี้หลังปี 2002 กระแสความเกลียดชังคนเกาหลีในหมู่คนญี่ปุ่น ยังได้ทวีความรุนแรงขึ้น หลังเกาหลีเหนือยอมรับว่าได้ลักพาตัวคนญี่ปุ่นกลับไปประเทศของพวกเขาในช่วงทศวรรษที่ 1970s ถึง 1980s และทำให้ชาวไซนิจิ ที่ต้องดำรงชีวิตด้วยความยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งใช้ชีวิตยากขึ้น

ทำให้หลายคนต้องแก้ปัญหาด้วยการโอนสัญชาติมาเป็นญี่ปุ่น ที่จากรายงานของกระทรวงยุติธรรมระบุว่ามีคนมาขอคำร้องสูงถึง 8,000 คนต่อปี รวมไปถึงการเปลี่ยนชื่อมาเป็นญี่ปุ่น เพื่อปกปิดชาติกำเนิด 

"พ่อของผมบอกว่า 'อย่าใช้ภาษาเกาหลี ถ้าแกพูด ทุกคนจะรู้ว่าแกคือคนเกาหลี ถ้าเป็นไปได้พูดภาษาญี่ปุ่นและซ่อนความเป็นคนเกาหลีไว้'" พัค รยอง ซอง นักมวยรุ่นเยาว์ที่เป็นไซนิจิบอกกับ Al Jazeera

“ผมไม่ชอบอะไรแบบนี้เพราะในใจของผม ผมอยากจะเป็นคนเกาหลีเสมอ” 

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่ทำแบบนั้น เพราะยังมีอีกหลายคนที่เลือกจะสู้ต่อ และรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ ผ่านวิธีการต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นก็คือกีฬา

United Korea in Japan 

กีฬาเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ เพราะไม่ว่าบทบาททางสังคมจะแตกต่างกันแค่ไหน แต่หากอยู่ในสนามทุกคนล้วนเป็น "คนเท่ากัน" และต้องเล่นภายใต้กติกาเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ 


Photo : NK News 

แน่นอนว่าชาวไซนิจิ ก็รู้ดีในเรื่องนี้ ทำให้พวกเขาได้ก่อตั้งสโมสรฟุตบอลที่ชื่อว่า เอฟซี โคเรีย ขึ้นมา ในปี 1961 สโมสรดังกล่าวเป็นเหมือนตัวแทนของพวกเขา และมีสมาชิกในทีมเป็นชาวไซนิจิทั้งหมด 

ปัจจุบันพวกเขาเล่นอยู่ในคันโต ซ็อคเกอร์ลีก ดิวิชั่น 1 หรือลีกระดับ 5-6 ของญี่ปุ่น ทว่าก่อนหน้านี้พวกเขาเคยเกือบได้ขึ้นไปเล่นในเจลีก แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็นไปไม่ได้ เกิดจากตัวตนของพวกเขา 

เนื่องจากตามกฎของลีก นักเตะหลักในทีมต้องเป็นผู้เล่นที่มีสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมันเป็นหลักปฏิบัติโดยสากลของทุกลีก แต่สำหรับ เอฟซี โคเรีย พวกเขามีสถานะเป็นนักเตะต่างชาติ ที่ขัดขวางไม่ให้พวกเขาได้เลื่อนชั้น 

อย่างไรก็ดี มันก็ไม่ได้ทำให้ความทะเยอทะยานของพวกเขาลดลง เพราะเป้าหมายของพวกเขาก็ยังคงเดิม นั่นคือทำผลงานให้ดีที่สุด เพื่อให้ชาว "ไซนิจิ" กลายเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ 

"เราอยากจะมีส่วนร่วม ทำอะไรที่ดีกว่าเดิม และใช้ประโยชน์จาก เอฟซี โคเรีย ให้มากขึ้น เราจึงพยายามปฏิสัมพันธ์กับคนญี่ปุ่นให้มากขึ้นเวลาเราชนะ" ยอง คี ชิน กองหลังกัปตันทีม เอฟซี โคเรีย อธิบาย 


Photo : NK News 

ในขณะเดียวกันการพัฒนาฝีเท้าและยกระดับขึ้นไปติดทีมชาติ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักกับชาวไซนิจิ มากขึ้น ทำให้นอกจาก เตเซ แล้วมีไซนิจิหลายคน ที่เป็นเหมือนเขา ไม่ว่าจะเป็น อัน ยอง ฮัค อดีตแข้ง อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ ที่เคยผ่านฟุตบอลโลก 2010 กับทัพโสมแดง หรือ อัน บยองจุน, คิม ซอคกี หรือ รี ยองจิค นักเตะทีมชาติเกาหลีเหนือในปัจจุบัน  

“ฟุตบอลคือทุกอย่างที่ผมคิดตอนเป็นเด็ก และมันคือความฝันที่จะเล่นให้เกาหลีเหนือ เป้าหมายสูงสุดของผมคือไปเล่นฟุตบอลโลก” คิม ซอคกี กล่าวกับ Arabnews

แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการได้ลงเล่นในฐานะทีมชาติไซนิจิ ในเวทีระดับนานาชาติ และพวกเขาก็ทำมันสำเร็จในปี 2016 หลังได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกของ CONIFA หรือสหพันธ์แห่งสมาคมฟุตบอลอิสระ ที่สนับสนุนกลุ่มคนที่มาจากรัฐไร้เอกราช หรือชนกลุ่มน้อย 

พวกเขามีชื่อทีมในระดับนานาชาติว่า United Korea in Japan หรือ UKJ และได้ประเดิมสนามในฟุตบอลโลกคนไร้รัฐไปเมื่อปี 2016 ที่ อับคาเซีย ซึ่งมันไม่ได้เป็นแค่การได้เล่นในเกมระดับสูงเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการแสดงให้โลกได้เห็นกับวัฒนธรรมและการเติบโตของพวกเขาอย่างภาคภูมิใจ 


Photo : Goal Click 

"ฟุตบอลเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับสังคมของชาวไซนิจิ ที่จะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง" โมโคโตะ จิตสึซาวะ นักเขียนที่คลุกคลีอยู่กับ UKJ อธิบาย 

"การเลือกปฏิบัติและคำพูดสร้างความเกลียดชังเคยเกิดขึ้นในปี 2016 แต่นับตั้งแต่ตอนนั้น หลายสิ่งก็เปลี่ยนไป" 

แม้ว่ามันจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่สภาไดเอท ผ่านกฎหมาย Hate Speech Law ที่ทำให้การใช้คำพูดสร้างความเกลียดขังกลายเป็นความผิดทางอาญา แต่การปรากฎตัวของพวกเขาในฟุตบอลโลกคนไร้รัฐ ก็ทำให้หลายคนมีมุมมองต่อพวกเขาเปลี่ยนไป 

UKJ ยังคงสานต่อปณิธานของพวกเขาในฟุตบอลโลกคนไร้รัฐ 2018 ด้วยการดึงตัว อัน ยอง ฮัค อดีตเพื่อนร่วมทีม เต เซ ในเวิลด์คัพที่แอฟริกาใต้ มาช่วยวางรากฐาน และมันก็ได้ผล เมื่อทำให้ชื่อของ ไซนิจิ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง  

"หลังอันมาอยู่ในทีมเรา เราได้รับการติดต่อจากสื่อมากมาย พวกเขาอยากเล่าเรื่องของพวกเรา ถ่ายทอดให้ชาวไซนิจิและสังคมญี่ปุ่นได้รับรู้" ชาน โฮ ซอง รองประธานของ UKJ อธิบาย 

"ด้วยสิ่งนี้ทำให้สังคมญี่ปุ่นยอมรับชาวไซนิจิมากขึ้น และยิ่งมากขึ้นไปอีกจากการมี CONIFA" 

อันที่จริงล่าสุด UKJ เพิ่งจะได้สิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกคนไร้รัฐ 2020 ที่มาซิโดเนียเหนือ จะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันของพวกเขา แต่น่าเสียดายที่ต้องยกเลิกไป อันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัส COVID-19 

แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็มุ่งมั่นที่จะใช้กีฬาเป็นเครื่องมือสร้างความรับรู้ถึงการมีอยู่ของชาวไซนิจิในสังคม เพื่อหวังว่าวันหนึ่งพวกเขาจะถูกยอมรับในฐานะมนุษย์ เหมือนกับคนญี่ปุ่นทั่วไป โดยที่ไม่มีอคติทางเชื้อชาติเหมือนที่เป็นมา 

เพราะบ้านเกิดของพวกเขาคือที่นี่ ที่ไม่ใช่ทั้งเกาหลี และไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่เป็นดินแดนทางความคิดที่ชื่อว่า "ไซนิจิ" ที่พวกเขาภาคภูมิใจ 

"มาตุภูมิของผมไม่ใช่ญี่ปุ่น มันยังมีอีกประเทศในญี่ปุ่นที่เรียกว่า ไซนิจิ" เตเซกล่าวกับ 
AP

"เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ไม่สามารถเป็นประเทศบ้านเกิดของผมได้ เพราะว่าผมคือไซนิจิ และเพราะแบบนั้น ไซนิจิ จึงเป็นดินแดนดั้งเดิมของผม" 

"ดังนั้นเป้าหมายในชีวิตของผม คือการทำให้โลกรับรู้ถึงการมีอยู่ของไซนิจิ"  

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook