เปิดตำนานราชดำเนิน : มากกว่าเวทีมวยแต่เชื่อมโยงผู้คนและสังคมไทยนานเกือบ 8 ทศวรรษ

เปิดตำนานราชดำเนิน : มากกว่าเวทีมวยแต่เชื่อมโยงผู้คนและสังคมไทยนานเกือบ 8 ทศวรรษ

เปิดตำนานราชดำเนิน : มากกว่าเวทีมวยแต่เชื่อมโยงผู้คนและสังคมไทยนานเกือบ 8 ทศวรรษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ราชดำเนิน (Rajadamnern Stadium) เป็น เวทีมวยมาตรฐานแห่งแรกในไทย ที่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างล้ำสมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488

เพราะในบ้านเรายุคนั้น “มวย” ยังไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกีฬาสากลด้วยซ้ำ เป็นเพียงแค่ศิลปะการต่อสู้ที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ แต่เมื่อมีเวทีราชดำเนินเกิดขึ้น สถานที่แห่งนี้ ก็ได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนามวยไทย และมวยสากล ไปสู่ความเป็นเลิศในระดับโลก 

สนามมวยราชดำเนิน จึงไม่ใช่แค่ เมกกะของวงการกำปั้นเมืองไทยที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่ทศวรรษที่ 8  แต่อัครสถานแห่งนี้ ยังมีความเชื่อมโยงผูกพันกับ วัฒนธรรม และผู้คนในสังคมไทยมายาวนานร่วม 76 ปี

 

Main Stand จะพาผู้อ่านทุกท่าน ไปร่วมกันเปิดตำนานสนามมวยราชดำเนิน กับความคลาสสิคอันทรงคุณค่าเพียงไม่กี่อย่างที่ยังหลงเหลืออยู่จากยุคสงครามโลก

กำเนิดราชดำเนิน 

เม็ดฝนที่ปอยลงมาจากท้องฟ้า กระทบลงอัฒจันทร์เก้าอี้ไม้ มิอาจทำให้ฝูงชนหลายพันชีวิตในสังเวียนลักษณะคล้ายชามอ่างยักษ์ ครั่นคร้ามอยากลุกเดินหนี 

สายตาทุกคู่ยังคงจับจ้องไปยังเวทีผืนผ้าใบ 4 เหลี่ยม เพื่อดูการต่อสู้ของ 2 ยอดนักสู้ที่ถูกเลือกให้ขึ้นมาประชันชั้นเชิงมวย แม้กายของผู้ชมจะเปียกปอนด้วยหยาดฝน 

 

นั่นคือบรรยากาศของ เวทีราชดำเนินในอดีตที่ใคร ๆ ก็ต่างอยากเข้ามาสัมผัสกับมหรสพความบันเทิงแห่งยุคสมัย ที่เป็นความแปลกใหม่ และสร้างความตื่นเต้นแก่ผู้คนในสังคมวงกว้าง 

เวทีมวยราชดำเนิน เป็นหนึ่งในผลผลิตจากแนวคิดทางการเมืองของ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีความต้องการเปลี่ยนแปลงให้ สยามประเทศ มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ อารยะประเทศ ในหลายด้าน 

มวย ก็เป็นกีฬาหนึ่งที่ จอมพล ป. ต้องการปรับให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ไม่ใช่แค่การละเล่นพื้นบ้านอีกต่อไป นั่นจึงเป็นที่มาของคำสั่งให้สร้าง สนามมวยบนถนนราชดำเนิน ในปี พ.ศ. 2484 

แต่การสร้างสนามมวย ต้องล่าช้าออกไปถึง 3 ปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง และต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว 

ต่อมาเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 รัฐบาลไทย ได้ปัดฝุ่นเดินหน้าโครงการก่อสร้างจนเสร็จลุล่วง พร้อมเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2488 อันเป็นวันสถาปนาสนามมวยเวทีราชดำเนิน

 

เวทีมวยราชดำเนิน สร้างความตื่นตัวแก่ผู้คนในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ในอดีตจะเคยมีสังเวียนการต่อสู้หลายแห่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาก่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่เวทีชั่วคราว 

อาทิ สนามมวยสวนกุหลาบ ที่ดัดแปลงพื้นที่สนามฟุตบอลของโรงเรียนมาทำเป็นเวที, สนามมวยสวนเจ้าเชต (กรมรักษาดินแดนในปัจจุบัน), สนามมวยสวนสนุก ตั้งอยู่ในสวนลุมพินี, สนามมวยหลักเมืองท่าช้าง ตรงบริเวณโรงละครแห่งชาติปัจจุบัน 

จึงไม่มีที่ไหนเลยที่จะเป็นเวทีมาตรฐาน มีรูปแบบกฎ กติกา ระเบียบข้อปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นสากล เหมือนอย่างราชดำเนิน และการถือกำเนิดของสนามมวยบนถนนเส้นหลักของกรุงเทพฯ  ในปี พ.ศ. 2488 ก็ได้เป็นเวทีต้นแบบของ สนามมวยในยุคต่อมา 

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการซื้อบัตรเข้าชมกีฬาของคนไทยทุกระดับ ทุกชนชั้น สามารถเข้าถึงได้ ไม่ได้ถูกจำกัดแค่เฉพาะชนชั้นสูงอย่างเดียว

 

ความนิยมของวิกชามอ่างยักษ์แห่งนี้ จึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนทั่วสารทิศต่างเฝ้ารอให้ถึงทุกวันอาทิตย์ ที่จะได้มาจับจองพื้นที่ด้านในสนาม ดูคนชกกันในเวทีมวยราชดำเนิน

มหรสพแห่งยุคสมัย 

การถือกำเนิดของวิกราชดำเนิน มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ มวยไทยอาชีพ บูมขึ้นมา เหมือนปีระมิดด้านบนสุดได้ถูกประกอบเป็นรูปร่าง 

ค่ายมวยทั้งบ้านนอกเมืองกรุง บ้านทุ่งแดนไกล แต่ก่อนพวกเขาทำมวยเพื่อนำไปต่อยตามเวทีภูธร และเวทีชั่วคราวขนาดเล็ก เพื่อแลกเงินเพียงน้อยนิด ก็เริ่มมีจุดหมายใหม่ที่อยากผลักดันให้ นักมวยในคาถาตัวเองได้มีโอกาสมาชกมวยราชดำเนิน ซึ่งให้ค่าตอบแทนสูงกว่า และมีโอกาสมากมายให้ต่อยอด

 

ไม่เพียงเท่านั้น กระแสความตื่นตัวที่คลื่นมหาชนมีต่อเวทีมวยราชดำเนิน ยังทำให้เกิดการสร้างเวทีมาตรฐานรอบนอก ในพื้นที่กรุงเทพ ฯ และปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่ทั่วไทย 

ซึ่งสังเวียนเหล่านี้ก็เป็นเหมือนปีระมิดชั้นรองลงมา ที่จะคัดกรองเอานักมวยระดับหัวกะทิจากทั่วไทย มาเจอกันในราชดำเนิน

สถานะของ เวทีมวยราชดำเนิน ในอดีตจึงไม่ต่างอะไรกับ ศาลาเฉลิมกรุง เพราะเป็นสถานที่ที่ผู้คน อยากเข้ามาตักตวงความสำราญเริงใจกลับไป

เนื่องจากที่ตั้งของเวทีแห่งนี้ อยู่บนถนนราชดำเนิน ตัดกับถนนพะเนียง ตรงข้ามกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เดินทางไม่ยากนัก

 

บ้างก็หอบหิ้วครอบครัว บางคนก็มากันเป็นกลุ่มเพื่อน เพื่อมาดูสุดยอดมวยไทย และมวยสากล ชกกันที่นี่ 

สนามมวยราชดำเนิน จึงเป็นความใ่ฝ่ฝันของนักมวยไทยทุกคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่อยากจะเข้ามาต่อยในเวทีชามอ่างยักษ์ เพื่อสร้างชื่อเสียง และเปลี่ยนแปลงชีวิตสู่ความเป็น ซูเปอร์สตาร์ในวัฒนธรรมกระแสหลัก

ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อหลายทศวรรษก่อน นักมวยที่เก่งกาจ ทำผลงานดีในเวทีราชดำเนิน ก็จะกลายเป็นคนดัง มีสถานะไม่ต่างกับดาราภาพยนตร์ ที่มีผลงานบนแผ่นฟิล์มเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นมหรสพความบันเทิงที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจใคร่ติดตาม และจะถูกนำเสนอเรื่องราวข่าวสารบนหน้าสื่อมวลชน

ที่สำคัญ นักชกทุกคนต่างรู้ดีว่า หากโชว์ผลงานได้ดียามขึ้นสังเวียนเวทีราชดำเนิน พวกเขาก็จะมีโอกาสได้ไปต่อยอดสู่การเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย ล่าความสำเร็จในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ รวมถึงไต่เต้าสู่บัลลังก์แชมป์โลกมวยสากลอาชีพ 

โผน กิ่งเพชร , ชาติชาย เชี่ยวน้อย, เวนิส บ.ข.ส. , พเยาว์ พูนธรัตน์, เขาทราย แกแล็คซี่, รัตนพล ส.วรพิน, ชนะ ป.เปาอินทร์ คือรายชื่อส่วนหนึ่งเหล่าฮีโร่มวยสากลไทย ที่ล้วนมีจุดกำเนิดและเริ่มต้นสร้างชื่อเสียงจากการต่อสู้บนผืนผ้าใบเวทีมวยราชดำเนิน

ตำนานบทใหม่ 

แม้ยุคสมัยต่อมา วงการกีฬาอาชีพบ้านเรา จะมีหลายชนิด ที่เข้ามาช่วงชิงพื้นที่ความสนใจจากผู้คน อาทิ ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, แบดมินตัน, เซปัคตะกร้อ 

แต่การแข่งขันมวยในเวทีมวยราชดำเนิน ก็ยังคงมีความคลาสสิค มีมนต์ขลัง และเป็นเสน่ห์ที่หาจากกีฬาอื่นไม่ได้ 

เทวีมวยราชดำเนิน เป็นสถานที่ที่เชิญเชื้อให้คนจากทั่วโลก ยอมบินข้ามฟ้า มาตีตั๋วริงไซด์ เพื่อเข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศของสังเวียนแห่งตำนานที่ยืนหยัดอยู่คู่กับประเทศไทยมานานมากกว่า 7 ทศวรรษ 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ราชดำเนิน ไม่เคยตกยุค คือ แนวคิดที่พร้อมปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ตลอดเวลา 

อย่างในอดีต ราชดำเนิน เป็นสนามมวยที่ไม่มีแม้กระทั่งหลังคาป้องกันแดด ลม ฝน แต่ต่อมาไม่นานก็ได้มีการปรับปรุงต่อเติมที่นั่งและหลังคา 

รวมถึงที่นี่ยังเป็นเวทีมาตรฐานแห่งแรกของไทย ที่ติดเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ จนถูกสื่อมวลชนเรียกว่า “วิกแอร์”  และสนามมวยราชดำเนิน ยังได้มีการส่งบุคลากรมวยไทยไปเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติเรา ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

แม้ปัจจุบัน สนามมวยราชดำเนิน จะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ไม่สามารถเปิดสังเวียนให้คนเข้ามาชมได้ 

แต่เวทีระดับตำนานของไทย ก็ไม่หยุดนิ่งที่จะเดินไปข้างหน้า เพื่อขีดเขียนตำนานบทใหม่ ด้วยรูปแบบการแข่งขันที่พลิกโฉมมวยไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน… ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น  มิถุนายนนี้ รู้กัน ? 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook