น่าเบื่อหรือตื่นเต้น ? : เหรียญสองด้านของ "ซูเปอร์ทีม" ครองอำนาจใน NBA

น่าเบื่อหรือตื่นเต้น ? : เหรียญสองด้านของ "ซูเปอร์ทีม" ครองอำนาจใน NBA

น่าเบื่อหรือตื่นเต้น ? : เหรียญสองด้านของ "ซูเปอร์ทีม" ครองอำนาจใน NBA
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกสิ่งล้วนมีสองด้าน ไม่มีสิ่งใดจะดีไปหมด หรือไปทุกอย่าง แม้กระทั่ง "ซูเปอร์ทีม" หรือการรวมกำลังของซูเปอร์สตาร์บาสเกตบอลในลีก NBA ที่ครองความเป็นเต้ยตามยุคสมัย

ตั้งแต่ ไมอามี ฮีต ของ เลบรอน เจมส์, ดเวย์น เหวด, คริส บอช มาจนถึง บรูคลิน เน็ตส์ ของ เควิน ดูแรนท์, ไครี เออร์วิง และ เจมส์ ฮาร์เดน ล้วนเป็นสุดยอดทีมที่ยากจะหาใครต่อกร ไล่อัดทีมคู่แข่งเป็นว่าเล่น

ในทางหนึ่ง การเห็นได้ซูเปอร์สตาร์บาสมารวมตัวในทีมเดียวกัน คือความน่าตื่นตาใจอย่างถึงที่สุด แต่อีกทางก็ก่อให้เกิดการผูกขาดความสำเร็จ จนกลายเป็นเสียงต่อต้านขึ้นมา กลายเป็นเป็นคำถามที่ตามมาว่า ซูเปอร์ทีมทำให้ NBA กลายเป็นลีกกีฬาที่น่าเบื่อ หรือตื่นเต้นมากกว่าเดิมกันแน่ ?

ซูเปอร์ทีมแห่ง NBA 

"ซูเปอร์ทีม" คือศัพท์ที่ถูกใช้เรียกทีมบาสเกตบอล ในลีก NBA ที่เก่งกาจไร้ผู้ต้านทาน เต็มไปด้วยผู้เล่นคุณภาพระดับซูเปอร์สตาร์ ประสบความสำเร็จมีแชมป์ติดมือ


Photo : www.bostonglobe.com

ซูเปอร์ทีมคือสิ่งที่อยู่คู่กับ NBA มายาวนาน ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของลีก ทีมแรกที่ได้รับการเรียกว่าเป็นยอดทีม คือ บอสตัน เซลติกส์ ในช่วงปี 1957 ถึง 1969 

ระยะเวลาดังกล่าว ทีมดังจากรัฐแมสซาซูเซตส์ คว้าแชมป์ 11 สมัย ภายในเวลา 13 ปี ไร้เทียมทานขนาดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เซลติกส์ตอนนั้น ถูกเรียกว่าเป็น ซูเปอร์ทีมแห่ง NBA

หลังจากนั้น เราจึงได้เห็นซูเปอร์ทีมของเกมยัดห่วงปรากฎตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น บอสตัน เซลติกส์ และ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส ยุค 80s, ชิคาโก บูลส์ ยุค 90s ซึ่งเป็นทีมของผู้เล่นชั้นยอด คว้าแชมป์มากมาย ส่งอิทธิพลสู่คนรุ่นหลังมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำว่า "ซูเปอร์ทีม" ในอดีตคือการเรียกทีมบาสเกตบอลที่ไร้เทียมทาน ยากหาใครมาต่อกร แต่ปัจจุบัน "ซูเปอร์ทีม" คือคำที่ใช้เรียกทีมใดก็ตาม ที่ดึงตัวผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ มาสร้างทีมเฉพาะกิจ เพื่อล่าความสำเร็จในระยะเวลาสั้น ๆ 

ทีมแรกที่ถูกสื่อยกให้เป็นซูเปอร์ทีมของยุคใหม่ คือ บอสตัน เซลติกส์ ปี 2007 เพื่อทวงความยิ่งใหญ่คืนมา หลังไม่ได้แชมป์ตั้งปี 1986 หรือยุคที่พวกเขายังคงเป็นซูเปอร์ทีม ภายใต้การนำของ แลร์รี เบิร์ด, เควิน แมคเฮล, เดนนิส จอห์นสัน

เพื่อยุติความอดอยากปากแห้งด้านความสำเร็จ เซลติกส์จึงทำการดึงตัว เควิน การ์เน็ตต์ ผู้เล่นระดับ MVP ของ มินนิโซตา ทิมเบอร์วูลฟส์ และ เรย์ อัลเลน ชูตติงการ์ด ระดับ All-Star มาร่วมทีม เพื่อมาผนึกกำลังกับ พอล เพียซ ฟอร์เวิร์ดตัวเก่งของทีม

ซูเปอร์ทีมของเซลติกส์ ทำได้ตามเป้าหมาย ด้วยการดลบันดาลแชมป์ NBA 2008 ให้กับแฟรนไชส์ ยุติช่วงเวลาไร้ความสำเร็จ 22 ปีลงได้


Photo : boston.com

สิ่งที่เซลติกส์ทำ จุดประกายให้กับทีมอื่นได้เห็นว่า ทำไมต้องรอสร้างทีมจากการดราฟต์ เสียเวลาหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จ สู้ยอมจ่ายเงินค่าเหนื่อยราคาแพงล่อตาล่อใจ ผู้เล่นฝีมือดี สร้างทีมแบบดอกไม้ไฟ ถึงจะไม่ยืนยาว แต่ก็ได้ประสบความสำเร็จ อย่างงดงาม แบบนี้ดีกว่าหรือไม่ ?

บางทีมอาจจะไม่เชื่อในวิธีแบบนี้ แต่ทีมหนึ่งที่ทำตามนั่นคือ ไมอามี ฮีต ในปี 2010 พวกเขาดึง เลบรอน เจมส์ MVP ของลีกประจำฤดูกาล 2009 จาก คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส และ คริส บอช ตัวดังระดับออลสตาร์ของ โตรอนโต แรปเตอร์ มาผนึกกำลังกับ ดเวย์น เหวด การ์ดตัวเก่งที่ทีมดราฟต์มาเองกับมือ ที่น่าสนใจคือ ทั้ง 3 คน เข้าดราฟต์รุ่นเดียวกัน เมื่อปี 2003

นี่ถือเป็นการกำเนิดของซูเปอร์ทีมอย่างแท้จริง ซึ่ง ไมอามี ฮีต ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง จากระยะเวลาทั้ง 4 ฤดูกาลที่นักบาสระดับซุป'ตาร์ทั้ง 3 คนอยู่ด้วยกัน ฮีตเข้าชิงชนะเลิศ NBA 4 ปีติดต่อกัน นั่นหมายถึงพวกเขาคว้าแชมป์โซนตะวันออกทุกปี และคว้าแชมป์ NBA ได้ 2 สมัย

ความสำเร็จของฮีต แสดงให้เห็นว่า ถ้าแฟรนไชส์ใดก็ตามสามารถรวมผู้เล่นระดับโลกสัก 3 คนเป็นอย่างน้อยมาอยู่ในทีมได้ การกระชากแชมป์มานอนกอด ก็ไม่ใช่เรื่องเกินฝัน


Photo : sportige.com

แม้แต่ทีมที่สร้างจากการดราฟต์ อย่าง โกลเดนสเตท วอร์ริเออร์ส ที่เก็บสะสมทั้ง สเตฟเฟน เคอร์รี, เคล์ย ธอมป์สัน และ เดรย์มอนด์ กรีน สุดท้ายยังต้องพึ่งพาการดูดสตาร์ดังระดับ MVP อย่าง เควิน ดูแรนท์ เข้ามาสร้างซูเปอร์ทีมเพื่อให้ทัพสะพานทองครองความยิ่งใหญ่ ด้วยการเข้าชิงชนะเลิศ NBA 5 ปีติดต่อกัน ในช่วงปี 2015-2019 ซึ่งเป็นแฟรนไชส์แรกที่ทำแบบนี้ได้ นับตั้งแต่ปี 1966 และยังคว้าแชมป์ได้ถึง 3 ครั้งอีกด้วย

รวมถึงเคสล่าสุด บรูคลิน เน็ตส์ ที่กลายเป็นซูเปอร์ทีมใหม่แกะกล่อง หลังจากฤดูกาล 2019 เน็ตส์ดึงตัว ไครี เออร์วิง และ เควิน ดูแรนท์ สองผู้เล่นดีกรีแชมป์ NBA เข้าสู่ทีม ก่อนที่ปีถัดมาจะคว้าตัว เจมส์ ฮาร์เดน ผู้เล่นระดับ MVP เข้ามาสู่ทีมอีกคน กลายเป็นแฟรนไชส์บาสเกตบอลเต็ง 1 ที่จะคว้าแชมป์ในฤดูกาลนี้ 

การสร้างซูเปอร์ทีมเพื่อล่าแชมป์ NBA จึงกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่หลายแฟรนไชส์เลือกนำมาใช้ หากสามารถทำได้ เพราะการันตีความสำเร็จได้อย่างแน่นอน แถมช่วยสร้างความนิยมให้กับทีม สินค้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สื่อจับจ้องคอยทำข่าว เรียกว่ามีแต่ได้กับได้ ในมุมของคนทำทีมบาสเกตบอล

ความน่าเบื่อเข้ามาเยือน 

ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ รวมถึงการสร้างซูเปอร์ทีมใน NBA ก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าในมุมของคนทำทีม การสร้างทีมรวมดาราจะตอบโจทย์ทุกอย่าง แต่ในมุมสื่อ และแฟนบาส ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบการทำทีมรูปแบบนี้

ประเด็นดราม่าของซูเปอร์ทีม มาเริ่มต้นจริงจัง จากการที่ เควิน ดูแรนท์ ตัดสินใจย้ายไปอยู่กับ โกลเดนสเตท วอร์ริเออร์ส เมื่อปี 2016 แทนที่จะต่อสัญญากับ โอคลาโฮมาซิตี้ ธันเดอร์ ซึ่งถือเป็นทีมที่มีอนาคตไกล เพราะมีผู้เล่นฝีมือดีหลายคนอยู่กับทีมเช่นกัน อย่าง รัสเซล เวสต์บรูค


Photo : www.pressdemocrat.com

สาเหตุที่คนจำนวนมากในวงการบาส รุมสวดการย้ายทีมครั้งนี้ ก็เพราะว่า ทัพสะพานทองเป็นทีมที่แกร่งมากอยู่แล้ว ทำไมดูแรนท์ถึงต้องย้ายไปอยู่กับทีมระดับแชมป์ NBA แทนที่จะสร้างทีมเพื่อมาโค่นวอร์ริเออร์สลง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลาย 80s และต้น 90s กับการขึ้นมาของ ดีทรอยต์ พิสตันส์ และ ชิคาโก บูลส์ ที่ทั้งสองแฟรนไชส์อดทน จนล้มทีมยักษ์ดั้งเดิม ก้าวขึ้นมาคว้าความสำเร็จด้วยตนเอง

ต้องอย่าลืมว่าเสน่ห์ของ อเมริกันเกมส์คือการแข่งขันที่ทุกทีมสามารถเป็นแชมป์ได้ กฎต่าง ๆ ทั้งการดราฟต์, เพดานค่าเหนื่อย, การเล่นเพลย์ออฟ, การเทรด ล้วนออกแบบมาเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกแฟรนไชส์ มีโอกาสที่จะสัมผัสถ้วยรางวัลในบั้นปลาย

 

แต่การสร้างซูเปอร์ทีม คือการรับประกันความสำเร็จว่าทีมนั้น จะพุ่งทะยานไปหาแชมป์อย่างแน่นอน ซึ่งก็ไม่มีการพลิกโผ หลังจากได้ เควิน ดูแรนท์ เข้ามา วอร์ริเออร์สคว้าแชมป์ถึง 2 ครั้ง จากระยะเวลา 3 ปีที่เขาอยู่กับทีม

หรือ บรูคลิน เน็ตส์ ในฤดูกาลล่าสุด ที่พอรวม 3 ประสาน ดูแรนท์-เออร์วิง-ฮาร์เดน เป็นที่เรียบร้อย ทุกคนรู้ทันทีว่าพวกเขาจองแชมป์แบบนอนมาแน่นอน และตอนนี้ทีมจากนิวยอร์กก็ใกล้เหลือเกินที่จะคว้าแชมป์ตามเป้าหมาย กับฟอร์มการเล่นที่ร้อนแรงที่สุดใน NBA


Photo : cgtn.com

หากย้อนมองดูตั้งแต่ซูเปอร์ทีม ยุค เซลติกส์ 2007 จนถึง เน็ตส์ 2021 จะเห็นได้ว่าเหล่าซูเปอร์ทีมการันตีความสำเร็จอย่างชัดเจน อย่างน้อยต้องเข้าชิงชนะเลิศ ทั้งที่ในความจริงแล้ว มีหลายทีมที่มีผู้เล่นเก่งกาจ และมีศักยภาพที่จะเป็นแชมป์ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่สามารถเอาชนะความแกร่งของซูเปอร์ทีมได้ กลายเป็นเพียงหมุนเวียน มาแพ้เสริมบารมีให้เหล่าซุเปอร์ทีม

เกมเพลย์ออฟของ NBA จึงเริ่มมีแต่ความน่าเบื่อ เพราะต้องเห็นซูเปอร์ทีมตบเพื่อนร่วมโซนตกรอบครั้งแล้วครั้งเล่า แตกต่างจากลีกกีฬาอื่นในอเมริกา ทั้ง NFL, MLB, NHL และ MLS ที่การพลิกล็อกเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

"NBA กำลังจะกลายเป็นลีกฟุตบอลในยุโรป" นี่คือพาดหัวข่าวที่สื่อกีฬาสหรัฐฯ โจมตีการทำทีมบาสแบบรวมซูเปอร์สตาร์ เพื่อสื่อว่ามีเพียงไม่เกิน 4 ทีมในแต่ละฤดูกาลที่มีโอกาสลุ้นแชมป์ในแต่ละปี แทนที่จะเป็นปีละ 10 ทีมขึ้นไป ตามที่อเมริกันเกมส์ควรจะเป็น

สุดท้ายเมื่อผลการแข่งขันในแต่ละฤดูกาล สามารถคาดเดาได้ไม่ยาก ชนิดที่ไม่ต้องดูก็รู้ว่าใครเป็นแชมป์ จึงเริ่มเกิดคำถามมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่แฟนที่อเมริกา ว่าจะดู NBA ต่อไปทำไม ถ้าหากตำแหน่งแชมป์ขึ้นอยู่กับว่าทีมไหนสามารถรวมผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ได้ดีกว่ากัน

ผูกขาดที่ไม่ผูกขาด

ถ้าถามว่าการทำทีมแบบรวมดารา ดังเช่นนิยมกันอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผูกขาดความสำเร็จจริงไหม คำตอบเดียวที่ได้คือ "จริง" อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเห็นมีหลักฐานกันอย่างชัดเจน

แต่ถ้าการสร้างซูเปอร์ทีม ก่อให้เกิดการผูกขาดจริง NBA คงเปลี่ยนกฎไปแล้ว แต่ลีกยังคงนิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะสุดท้าย การผูกขาดของแต่ละแฟรนไชส์เป็นแค่ดอกไม้ไฟในระยะสั้น


Photo : twitter.com/Ballislife

ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การสร้างซูเปอร์ทีมตอบโจทย์ความสำเร็จในระยะสั้นอย่างมาก แต่สุดท้ายเหล่าซูเปอร์ทีมไม่สามารถยืนระยะได้ยาวนานเกิน 3-5 ปี เพราะเพดานค่าเหนื่อยที่จำกัด จะบีบให้ทีมไม่สามารถเก็บผู้เล่นที่แข็งแกร่งทุกคนของทีมเอาไว้ได้ มีคนต้องย้ายออกไปในที่สุด

อีกทั้งในความเป็นจริง ผู้เล่นใน NBA ก็ไม่ได้เอ็นจอยกับการเป็นซูเปอร์ทีมไปตลอด หลังจากได้แชมป์พวกเขาก็เบื่อ ต้องการจะหาความท้าทายใหม่ ตัวอย่างชัดเจนคือ เลบรอน เจมส์ หลังจากได้แชมป์กับทีมรวมดาราที่ ไมอามี ฮีต เขาเลือกทำสิ่งที่ตรงกันข้าม คือย้ายกลับสู่ทีมเก่า คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส กลายเป็นเดอะแบกพาทีมคว้าแชมป์ NBA ปี 2016 ซึ่งกลายเป็นความสำเร็จถูกจดจำมากที่สุดของคิงเจมส์ 


Photo : pittnews.com

นอกจากนี้ ซูเปอร์ทีมยังสร้างผลเสียให้กับหลายแฟรนไชส์ในระยะยาว เพราะการพึ่งความเก่งของซูเปอร์สตาร์ในการไล่ล่าแชมป์มากเกินไป เท่ากับว่าหากดาวดังสักคนออกจากทีม ความแข็งแกร่งที่เคยมีจะหายไปมาก และจะสร้างผู้เล่นใหม่ขึ้นมาทดแทน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย 

ไม่ว่าจะเป็น ไมอามี ฮีต ที่หลังจากหมดยุคซูเปอร์ทีม พกเขาชวดไปเพลย์ออฟ 3 ถึง 5 ปีหลังจากนั้น ขณะที่ โกลเดนสเตท วอร์ริเออร์ส ก็ไม่สามารถผ่านเข้ารอบเพลย์ออฟ มา 2 ปีติดต่อกัน

ดังนั้นแล้ว ซูเปอร์ทีมจึงเป็นเหมือนวัฏจักรที่หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ จากทีมหนึ่งสู่ทีมหนึ่ง ไม่มีแฟรนไชส์ใหนผูกขาดความสำเร็จไว้ตลอดกาล หรือเป็นระดับสิบปี ทุกทีมล้วนมีขึ้นมีลง

น่าเบื่อจริงเหรอ ?

ทุกวันนี้ การออกมาโจมตีแนวคิดสร้างทีมรูปแบบนี้ พบเจอได้ปกติตามน่าสื่อที่อเมริกา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการกว้านดึงสตาร์ชื่อดังมาอยู่ในทีมเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งที่ชาวมะกันคุ้นชินนัก

ถึงจะไม่ถูกใจคนรุ่นเก่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ซูเปอร์ทีมเหล่านี้คือสิ่งที่ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ หันมาเป็นแฟนบาสเกตบอล สร้างความนิยมให้กีฬานี้ จนมีบทบาทเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักในปัจจุบัน


Photo : www.poundingtherock.com

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในเกมนัดชิงปี 2007 ระหว่าง ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส กับ คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส มีเรตติ้งเฉลี่ยของ NBA อยู่ที่ 9.29 ล้านคน น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของ NBA ขณะที่ปีถัดมา ซูเปอร์ทีมของบอสตัน เซลติกส์ เข้าชิงชนะเลิศ กลับดูดคนดูเฉลี่ยพุ่งสูงขึ้นถึง 14.94 ล้านคน เพิ่มมามากกว่า 5 ล้านคนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ในช่วงที่ ไมอามี ฮีต เข้าชิง 4 ฤดูกาลติดต่อกัน และ โกลเดนสเตท วอร์ริเออร์ส เข้าชิง 5 ฤดูกาลติดต่อกัน ทั้งสองทีมไม่เคยสร้างเรตติ้งเฉลี่ยในรอบชิงต่ำกว่า 15 ล้านคน 

นอกจากนี้ในเกมนัดชิงปี 2017 หรือปีแรกกับซูเปอร์ทีมสมบูรณ์แบบของวอร์ริเออร์ส กับ คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส สามารถสร้างผู้ชมเฉลี่ยได้สูงถึง 20.38 ล้านคน มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 หรือเกมนัดชิงครั้งสุดท้ายของ ไมเคิล จอร์แดน เลยทีเดียว 


Photo : www.nytimes.com

หากไม่นับยุค ชิคาโก บูลส์ ของไมเคิล จอร์แดน ที่สร้างความนิยมให้กับเกมบาส จนเรตติ้งเวอร์วังอลังการชนิดที่เรียกว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีกเป็นครั้งที่สอง ยุคของซูเปอร์ทีมที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่ช่วงปี 2007 คือยุคที่ NBA ได้รับความนิยมมากที่สุดแล้ว 

สุดท้ายแล้ว แนวคิดแบบซูเปอร์ทีม อาจไม่ถูกใจคนรุ่นเก่า หรือแฟนบาสอนุรักษ์นิยม แต่การทำทีมแบบรวมซูเปอร์สตาร์ ช่วยมีส่วนช่วยดึงดูดแฟนหน้าใหม่ และสร้างความตื่นเต้นที่จะเห็นทีมที่เกรียงไกรเป็นแชมป์ พา NBA กลับมาสู่ยุคทองอีกครั้ง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook