ยามชราไร้เขี้ยวเล็บไอโอซี

ยามชราไร้เขี้ยวเล็บไอโอซี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ห่วงนักกีฬาสั่งทุกชาติคอยดูแล

ไอโอซี เป็นห่วงนักกีฬาทีมชาติที่เลิกเล่นไปแล้วชีวิตบั้นปลายจะกลายเป็น หมาล่าเนื้อ ไร้คนเหลียวแล กำชับ 4 องค์กรกีฬาหลักของทุกชาติ เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด บิ๊กนูญ จัดเสวนาครั้งใหญ่ หวังระดมสมองชาวกีฬาและสื่อมวลชน วางแนวทางช่วยเหลือนักกีฬาอย่างเป็นรูปธรรม 25 พ.ย.นี้ ที่โรงแรมเรดิสัน พร้อมเชิญ รมต.กีฬา-กรรมาธิการกีฬา 2 สภา ร่วมถก

นายธรรมนูญ หวั่งหลี รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการฝ่ายประสานสัมพันธ์สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยและสื่อมวลชน ที่ห้องประชุมบ้านอัมพวัน เมื่อ 13 ต.ค. โดยมีตัวแทนจากสื่อมวลชนจากสำนักต่าง ๆ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง โดย ประธาน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ก็เพื่อสรุปผลการดำเนินงานในรอบ 4 ปี ที่ผ่านมา พร้อมทั้งกำหนดโปรแกรมการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติในรอบ 4 ปี (พ.ศ. 2552-2555) ซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ซึ่งมีหน้าที่เตรียมและส่งนักกีฬา เข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 10 มหกรรม สำหรับ ปฏิทินในปี 2553 จะมีทั้งสิ้น 4 รายการ ได้แก่ โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 11 ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ระหว่าง 12-28 ก.พ., ยูธ โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 1 ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่าง 14-26 ส.ค., เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน ระหว่าง 12-27 พ.ย. และเอเชี่ยน บีชเกมส์ ครั้งที่ 2 ที่กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน ระหว่าง 8-16 ธ.ค.

บิ๊กจา พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะที่ปรึกษาฯ แจ้งว่า จากการที่ได้เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อต้นเดือน ต.ค.นั้น ทาง ไอโอซี ได้เน้นถึงเรื่องการดูแลนักกีฬา ภายหลังจากที่เลิกราจากการเป็นนักกีฬาทีมชาติไปแล้ว ซึ่งหน่วยงานสำคัญที่จะต้องดูแลรับผิดชอบมี 4 องค์กร ได้แก่ สมาคมกีฬา, คณะกรรมการโอลิมปิก, หน่วยงานกีฬาของรัฐบาล (การกีฬาแห่งประเทศไทย) และรัฐบาล โดยในส่วนของประเทศไทย นั้น การดูแลนักกีฬาขณะที่ยังเล่นกีฬาอยู่ถือว่าทำได้ดีพอสมควร แต่การดูแลเรื่องสวัสดิการนักกีฬาภายหลังเลิกไปแล้วนั้น ยังไม่เป็นระบบมากนัก ส่วนตัวเห็นว่าทั้ง 4 หน่วยงาน จะต้องเข้ามาดูแลอดีตนักกีฬาทีมชาติที่ได้ชื่อว่า ฮีโร่ ให้ดีกว่านี้

นายธรรมนูญ กล่าวปิดท้ายว่า คณะกรรมาธิการฯ จะจัดเสวนาระหว่างองค์กรกีฬา, สมาคมกีฬา และสื่อมวลชน โดยจะได้เชิญนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งคณะกรรมาธิการการกีฬาของวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาร่วมการเสวนาด้วยอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี โดยเริ่มครั้งแรกวันที่ 25 พ.ย.นี้ ที่โรงแรม เรดิสัน ส่วนหัวข้อของการเสวนาเบื้องต้นกำหนดชื่อเรื่องคือ ชีวิตภายหลังการเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของวงการกีฬาเข้าร่วมเสวนาแล้วจะสามารถนำข้อคิดที่เป็นประโยชน์มาเป็นเครื่องกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือนักกีฬาทีมชาติไทยได้อย่างแน่นอน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook