เมื่อนักกีฬาชายปลอมตัวเป็นผู้หญิงแข่งโอลิมปิก แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าตั้งใจโกง ?

เมื่อนักกีฬาชายปลอมตัวเป็นผู้หญิงแข่งโอลิมปิก แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าตั้งใจโกง ?

เมื่อนักกีฬาชายปลอมตัวเป็นผู้หญิงแข่งโอลิมปิก แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าตั้งใจโกง ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพศชายแข็งแรงกว่าเพศหญิงเมื่อต้องแข่งขันในกีฬาที่ใช้พละกำลัง นั่นคือความจริงที่ต้องยอมรับด้วยสรีระและเหตุผลอีกมากมาย

ดังนั้นการส่งผู้ชายไปดวลกับผู้หญิงจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง และทั้งโลกก็เข้าใจกันตามนั้น 

จนกระทั่งเกิดปัญหาโลกแตกขึ้นในโอลิมปิก 1936 ที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพ เมื่อมีการจับได้ว่า "นาซี" ส่งนักกีฬาผู้ชาย เขามาแข่งขันในการกระโดดสูงหญิง เพื่อชิงเหรียญทอง

เขาแพ้ ... และสารภาพว่าเป็นผู้ชายในภายหลัง แต่คำถามที่ว่า "เขาโกงหรือไม่ ?" กลับยังไม่มีคำตอบจนกระทั่งวันนี้

ทำไมเรื่องที่ควรตัดสินง่าย ๆ กลับวุ่นวายได้ขนาดนี้ ... ติดตามได้ที่ Main Stand

แม้ไม่อยากจัด ... แต่ต้องชนะ 

โอลิมปิก 1936 เป็นช่วงเวลาแห่งการ "เสียไม่ได้" ของรัฐบาลเยอรมัน ภายใต้การนำของหัวหอกแห่งพรรคนาซีอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ... เพราะเดิมทีแล้วพวกเขาไม่ได้สนใจการแข่งขันนี้เท่าไรนัก 


Photo : The Times of Israel 

ไฮน์ริช บรูนิ่ง คือผู้นำรัฐบาลที่ผลักดันนโยบายการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ก่อนจะได้รับเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ในปี 1931 กระทั่ง 2 ปีหลังจากนั้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่เอาชนะใจประชาชนด้วยการใช้วาทะศิลป์โฆษณาชวนเชื่อฉบับนาซี โดยเน้นที่การโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย และการเสนออุดมการณ์รวมกลุ่มเยอรมัน และต่อต้านยิว ทำให้เขาได้ครองอำนาจ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม ปี 1933 

เมื่อได้อำนาจสูงสุดของประเทศ ฮิตเลอร์ ประกาศเป้าหมายของพวกเขาอย่างชัดเจนว่า พรรคนาซีจะ "จัดระเบียบโลกใหม่" ด้วยการให้นาซีเยอรมัน ครอบงำยุโรปภาคพื้นทวีปอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นเรื่องความเป็นเลิศทางกีฬา คงไม่ใช่สิ่งแรก ๆ ที่เขาต้องการผลักดันอย่างแน่นอน 

อย่างไรก็ตาม กฎของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลคือ หากชาติใดได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพแต่ไม่สามารถจัดการแข่งขันให้เป็นไปตามปกติได้ ชาตินั้น ๆ จะต้องโดนปรับและลงโทษมากมาย เช่นการตัดสิทธิ์เข้าแข่งขันหลังจากนั้น รวมถึงการปรับเป็นเงินก้อนโตอีกด้วย 

"ภายใต้การนำของฮิตเลอร์อยากเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหรือไม่ เพราะพวกเขาไม่รู้จักความเป็นสากล" ซูซาน บาชรัค ภัณฑารักษ์ ที่เคยจัดนิทรรศการ นาซี โอลิมปิก: เบอร์ลิน 1936 ว่าไว้เช่นนั้น 


Photo : United States Holocaust Memorial Museum 

กฎต้องเป็นกฎ การจะเลิกเป็นเจ้าภาพถือว่ามีแต่เสียกับเสีย ดังนั้น โยเซฟ ก็อบเบลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการของเยอรมัน เล็งเห็นถึงประโยชน์ของมัน เนื่องจากในตอนนั้นจักรวรรดิไรช์ที่ 3 ปกครองด้วยระบอบเผด็จการแบบขวาจัด ซึ่งเชิดชูชาวอารยัน หรือชาวนอร์ดิกที่มีผมสีทองและตาสีฟ้า จึงได้พยายามโน้มน้าวท่านผู้นำว่า นี่คือโอกาสสำคัญ ที่จะประกาศความยิ่งใหญ่ของชาวอารยันให้โลกได้รับรู้  ... และเมื่อเป็นเช่นนั้น ฮิตเลอร์ ที่ต้องการแสดงแสนยานุภาพ จึงเห็นพ้องและให้งบสนับสนุนเป็นเงิน 42 ล้านไรช์มาร์ค (ราว 73,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน)

"ผมขอประกาศว่าเกมการแข่งขันที่เบอร์ลินได้จัดขึ้นเพื่อฉลองโอลิมปิกยุคใหม่ครั้งที่ 11 ขอเปิดการแข่งขัน" ฮิตเลอร์ ประกาศในวันเปิดงาน และจากนั้นการแข่งขันที่บูดเบี้ยวที่สุดก็เริ่มต้น เพราะมีการกีดกันทางเชื้อชาติ นักกีฬาเชื้อสายยิวถูกห้ามเข้าแข่งขันจากความชิงชังของฮิตเลอร์ และพรรคนาซี ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่พวกเขาต้องการโฆษณาให้โลกเห็นว่า โอลิมปิกครั้งนี้ เยอรมันต้อนรับผู้เข้าแข่งขันทุกประเทศ ทุกเชื้อชาติ

ไม่ว่าจะอยากจัดหรือไม่ แต่เมื่อการแข่งขันที่หนีไม่ได้เดินทางมาถึง ฮิตเลอร์ไม่ต้องการสิ่งใดมากไปกว่าชัยชนะ ... พวกเขาต้องการให้นักกีฬาเยอรมัน ที่เป็นชาวอารยันชนะชนชาติอื่น ๆ ให้ราบคาบ โดยเฉพาะนักกีฬาชาวยิว และนักกีฬาผิวดำอย่าง แอฟริกัน-อเมริกัน อีกด้วย 

ดังนั้นงานนี้ไม่มีถอย ด้วยความอยากชนะทำให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ให้พูดถึงมากมาย แต่เรื่องราวของการ "โกงที่สุด" เกิดขึ้นในการแข่งขันกระโดดสูงหญิง ที่กลายเป็นตำนานการโกงกระฉ่อนโลกจนทุกวันนี้

ทำไมต้องชนะในการกระโดดสูง ?

กีฬาชนิดอื่นที่แสดงถึงอำนาจและความเป็นชายชาตรีมีอยู่มากมาย เหตุผลใดกันแน่ที่ทำให้นาซีต้องการโกงในการแข่งขันกระโดดสูงหญิง กีฬาที่ได้รับความสนใจน้อยยิ่งกว่าการวิ่งระยะสั้นหลายเท่า ? 

เหตุผลมีเพียงข้อเดียวไม่สามารถเดาไปได้ในทิศทางอื่น เพราะในตอนนั้นวงการกระโดดสูงมีนักกีฬาหญิงที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง เธอชื่อว่า "เกรเทล เบิร์กมันน์" 


Photo : timenote.info

เกรเทล เบิร์กมันน์ เกิดและโตที่เยอรมัน และเก่งกาจบนเส้นทางสายกีฬา เพียงแต่ว่าการเป็นคนเยอรมันที่มีเชื้อสายยิวนั้นอยู่ยากในยุคที่มีฮิตเลอร์เป็นผู้นำ เธอโดนไล่ออกจากสโมสรกรีฑา เนื่องจากเชื้อสายยิวของเธอ ... เธอหมดทางเลือกจนทำให้พ่อและแม่ต้องส่งเธอไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษ เพื่อฝึกฝนให้เป็นนักกีฬาที่เก่งขึ้นจนไม่มีใครปฎิเสธได้ 

เกรเทลทำสำเร็จ (ภายใต้ชื่อเสียงเรียงนามใหม่ มาร์กาเร็ต แลมเบิร์ต) เธอไปอยู่ที่อังกฤษและคว้าแชมป์กระโดดสูงในรายการ บริติช แชมเปี้ยนชิพ เมื่อปี 1934 ด้วยความสูง 1.55 เมตร ซึ่งความเก่งนี้เองทำให้พรรคนาซีที่ต้องการโฆษณาชวนเชื่อให้โลกเห็นถึงความมีอารยะของพวกเขา ต้องพยายามดึงตัวเกรเทลกลับมาแข่งขันโอลิมปิก 1936 ในนามทีมชาติเยอรมัน 

สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ หากเกลี้ยกล่อมเกรเทลสำเร็จ ภาพลักษณ์ของเยอรมันจะถูกมองว่าเป็นสากลมากขึ้นในการเปิดโอกาสให้นักกีฬาทุกเชื้อชาติ อีกอย่าง เกรเทลก็เป็นคนที่เก่งพอจะคว้าเหรียญทองตามที่รัฐบาลต้องการได้ ดังนั้นการเริ่มตามจีบกลับประเทศเยอรมันจึงเกิดขึ้น 

โชคไม่ดีนักที่ เกรเทล ไม่เล่นด้วย เธอจำความขมขื่นก่อนย้ายมาอยู่อังกฤษได้ดี และเธอไม่ต้องการกลับไปเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อให้กับใครสักคนที่พยายามกีดกันเธอเมื่อครั้งอดีต เกรเทล ปฎิเสธเสียงแข็ง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมกลับมายังเยอรมันอีกครั้ง เพราะครอบครัวของเธอถูกข่มขู่ จนทำให้เธอไร้ทางเลือก 

การยอมศิโรราบโดยไม่เต็มใจ อาจนำพามาซึ่งความกระด้างกระเดื่องของ เกรเทล ที่ทำให้ใครหลายคนในระดับผู้บริหารไม่พอใจ ... เพราะหลังจากที่เธอกลับมาเยอรมันและเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันโอลิมปิก ทุกอย่างก็กลับตาลปัตร เมื่อจดหมายฉบับหนึ่งส่งตรงมาถึงเธอด้วยข้อความว่า "คุณจะไม่ได้รับการต้อนรับจากที่นี่อีกต่อไป เพราะว่าคุณคือยิว ไฮล์ ฮิตเลอร์'"

ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อธิบายว่า การปลดเกรเทลออกจากการแข่งขัน มีเหตุผลมาจากเรื่องของกีฬาเพราะเธอทำผลงานได้แย่ แต่ทุกคนรู้ว่าความจริงคืออะไร เพราะก่อนแข่งโอลิมปิกแค่เดือนเดียว เกรเทล เพิ่งทำสถิติโลกหญิง ด้วยการกระโดดได้ที่ความสูง 1.6 เมตร 


Photo : The New York Times

ความอยากชนะในการแข่งขันกีฬาของฮิตเลอร์ ยังไม่มากเท่ากับความเกลียดชังที่เขามีต่อยิว การที่เขาเห็นคนเชื้อสาวยิวสักคนลอยหน้าลอยตาในฐานะนักกีฬาที่รัฐบาลต้องง้อ คือสิ่งที่เขาขัดใจทนไม่ไหว การไล่ออกจึงเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับการแก้ปัญหาในเวลาที่แสนกระชั้นชิดภายใต้การข้อกำหนดว่า "ต้องหาตัวแทนให้ได้" และตัวแทนคนนั้นจะต้องเก่งยิ่งกว่า เกรเทล เบิร์กมันน์ 

แต่เธอคือเจ้าของสถิติโลกนะ ดังนั้นใครกันล่ะที่จะมาแทนเธอได้ ?

มวยแทนที่ชื่อ โดร่า รัทเยน 

การแข่งขันกระโดดสูงเริ่มขึ้น เยอรมันได้ตัวเข้ามาแข่งขันแทนที่เกรเทลแล้ว ชื่อของเธอคือ โดร่า รัทเยน


Photo : en.wikipedia.org

ทว่าด้วยระยะเวลาการเตรียมตัวอันแสนสั้น โดร่า รัทเยน เข้าแข่งขันกระโดดสูงด้วยผลงานที่ไม่ดีนัก เธอจบเพียงอันดับที่ 4 เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง

เธอแพ้ในโอลิมปิก 1936 แน่นอนว่านี่สร้างความไม่พอใจให้กับใครหลายคนที่อยู่เบื้องหลัง แต่อย่างไรเสีย ณ เวลานี้นักกีฬากระโดดสูงหญิงของเยอรมันมีเพียงตัวเลือกเดียวเท่านั้น ต่อให้แพ้ก็ต้องสนับสนุน และผลักดันให้ชนะได้ในสักวัน 

1 ปีจากนั้น พวกเขาไม่ง้อ เกรเทล เบิร์กมันน์ อีกแล้ว เพราะ โดร่า รัทเยน พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และ 2 ปีหลังจากโอลิมปิก 1936 จบลง โดร่า รัทเยน กลายเป็นนักกระโดดสูงหญิงที่เก่งที่สุดในโลก ด้วยสถิติ 1.67 เมตร ซึ่งการทำลายสถิติครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จสำหรับพรรคนาซีด้วยเช่นกัน 


Photo : thedelite.com

อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่เกิดขึ้นอยู่ได้แค่ไม่นาน ความลับของ รัทเยน ก็ถูกเปิดเผย เพราะมีเพื่อนนักกีฬาหญิง 2 คนได้สังเกตเห็นความผิดปกติทางร่างกาย จนพบว่า แท้ที่จริงแล้วเธอไม่ใช่ผู้หญิง แต่เป็นผู้ชาย และถูกนาซีส่งมาแข่งขันเพื่อเอาชนะโอลิมปิกให้ได้ 

นิตยสารสัญชาติอเมริกันอย่าง TIME ระบุว่า "รัทเยน สารภาพหลังถูกจับได้ทั้งน้ำตาว่า ถูกนาซีบังคับให้สวมบทบาทเป็นผู้หญิง เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของชาวเยอรมัน โดยหลังจากโอลิมปิกครั้งนั้น เธอถูกบังคับให้ใช้ชีวิตในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะทำลายสถิติโลกในปี 1938" 

ดูเหมือนการการตีแผ่นี้จะนำมาซึ่งความชอบใจ หลายคนมองเป็นเรื่องของการขี้โกงที่ รัทเยน อุตส่าห์ข้ามมาแข่งกับผู้หญิงแต่ก็ยังแพ้ แน่นอนรวมถึงการล้อเลียนไปถึงความขี้ขลาดของ นาซี ที่กลัวแพ้จนต้องใช้วิธีที่สิ้นคิดขนาดนี้ 

อย่างไรก็ตามเหรียญนั้นมี 2 ด้านเสมอ โดร่า รัทเยน โดนหยามเหยียดมาเป็นเวลากว่าสิบปีจากสิ่งที่เกิดขึ้น จนกระทั่งความจริงถูกเปิดเผยออกมาด้วยตัวของเธอเอง โดยไม่ได้มีการกล่าวผ่านสื่อเมริกัน แบบที่เกิดขึ้นในอดีตอีกแล้ว ...

ความจริงที่นาซี ... และเธอเองก็ยังไม่รู้ 

เรื่องราวการ "แย้ง" และขอความบริสุทธิ์ให้กับ โดร่า รัทเยน เกิดขึ้นจากการเปิดเผยของสื่อเยอรมันอย่าง Der Spiegel ครั้งนี้พวกเขาเอาเอกสารทางการแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย คีล และ ดร. ฮาร์ทมุต โบซินสกี้ หัวหน้าภาควิชาที่ได้ช่วยค้นคว้าเรื่องนี้อย่าเต็มความสามารถ โดยการหาความจริงเกิดขึ้นในปี 1960 หรือราว ๆ 30 ปี หลังจากเหตุการณ์แข่งขันในโอลิมปิกของ รัทเยน เกิดขึ้น 


Photo : spiegel.de

โดร่า รัทเยน เกิดเมื่อปี 1918 ที่เมือง เบรเมน ในวันที่ลืมตาดูโลก ไฮน์ริช รัทเยน ผู้เป็นพ่อ รออยู่ในห้องครัว ระหว่างที่หมอตำแยทำคลอดภรรยาของเขาอยู่อีกห้อง ... 

"พวกเขาตะโกนมาว่า 'คุณได้ลูกชาย' แต่อีก 5 นาทีหลังจากนั้นพวกเขาก็พูดว่า 'ไม่สิ นี่เป็นเด็กผู้หญิง'" ส่วนหนึ่งที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ของ Der Spiegel ว่าเช่นนั้น 

ในยุคนั้นไม่มีใครแปลกใจกับหรือเอะใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น คำว่า "Transgender" หรือ "บุคคลข้ามเพศ" ไม่ได้เป็นที่รู้จักเหมือนกับในทุกวันนี้ ดังนั้นการรายงานเพศของทารกไปยังสภาตำบลระบุว่าเด็กคนนี้เป็นเพศหญิง และใช้ชื่อว่า โดร่า ตั้งแต่วันนั้น 

พวกเขาเลี้ยงดู โดร่า มาในแบบของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ให้เข้าเรียนในโรงเรียนสตรี ได้รับการยืนยันเพศจากทางศาสนาว่าเป็นเด็กผู้หญิง ดังนั้นมันเป็นข้อมูลที่ค้านกับสิ่งที่ TIME บอกว่า โดร่า เป็นผู้ชายปลอมตัวมา 

"ฉันสวมชุดของผู้หญิงมาโดยตลอด ตั้งแต่อายุ 10 ถึง 11 ขวบแล้ว" โดร่า กล่าวกับเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนและสอบสวนความจริงทีเกิดขึ้นเกี่ยวกับเพศของเธอ 

หลังจาก โดร่า เริ่มโตขึ้น เธอก็เริ่มรู้สึกผิดปกติต่อร่างกายตัวเอง โดยเฉพาะอายุราว ๆ 17 ปี เธอพบว่า เธอไม่มีหน้าอกเหมือนกับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ และยังต้องโกนขนหน้าแข้งแบบวันเว้นวัน ในไม่ช้าเธอก็พบกับการ "หลั่งทางเพศแบบผู้ชาย" ครั้งแรก เธออายเกินกว่าจะพูดเรื่องนี้กับคนอื่น ๆ 

การเปิดเผยในการสอบสวนหาความจริงเพื่อลบล้างคำว่า "โกง" ครั้งนี้ โดร่า ยังได้อธิบายเพิ่มว่า เธอเองรู้สึกว่าตัวเองเป็นคน "ไม่มีเพศ" และต้องอยู่กับชะตากรรมนั้น จนกระทั่งทุกอย่างมากระจ่างเอาเมื่อมีการตรวจเพศของเธออย่างละเอียดและสภาแพทย์ลงมติชัดเจนว่า โดร่า รัทเยน เป็นผู้ชาย 

พ่อ และ แม่ ของโดร่า คือคนที่คัดค้านเรื่องนี้ พวกเขาเลี้ยงลูกมาตั้งแต่จำความได้ และไม่เคยเห็นแง่มุมความเป็นผู้ชายของ โดร่า เลย 

"โดร่า จะมาใส่เสื้อผ้าและมาใช้ชีวิตเยี่ยงผู้ชายได้อย่างไร เพราะเธอไม่สามารถยืนฉี่ได้ด้วยซ้ำ และผมเชื่อว่าคงไม่มีใครจ้างงานให้เธอเข้าไปทำงานในตำแหน่งของผู้ชายอย่างแน่นอน เราจะเปลี่ยนชีวิตของเธอไม่ได้" ไฮน์ริช ผู้เป็นพ่อกล่าวพร้อมกับการคัดค้านให้เปลี่ยนชื่อทางราชการ เพราะหลังจากมีการตรวจเพศโดยละเอียดเล้ว ได้มีการบังคับให้เธอเปลี่ยนชื่อจาก โดร่า ที่เป็นชื่อผู้หญิงกลับมาใช้ชื่อของผู้ชาย ซึ่งเบื้องต้นจะต้องใช้ชื่อ "ไฮน์ริช จูเนียร์" อันมาจากชื่อพ่อของ "เขา" 


Photo : spiegel.de

ชีวิตหลังจากได้เปิดเผยตัวตน โดร่า หรือ ไฮน์ริช จูเนียร์ อธิบายว่า แม้จะเป็นการทำให้เขาโดนดูถูกเหยียดหยาม แต่สุดท้ายเขาก็ดีใจที่ความจริงออกมาชัดเจน เขาบอกว่ารู้สึกเหมือนแมวที่ถูกปล่อยออกจากกรง เพราะได้อิสระกลับคืนมาโดยไม่ต้องปิดบังใครอีกต่อไป จากนี้เขาไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในการใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้หญิง หรือกลัวว่าคนอื่นจะสงสัยในเพศของเขาอีกแล้ว 

ขณะที่เรื่องการ "ตั้งใจโกง" และทฤษฎีที่ว่า โดร่า รวมหัวกับ นาซี เพื่อโกงการแข่งขัน จากการนำเสนอของ TIME ก็ถูก Der Spiegel แย้งว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะ เพราะหลังจาก ไฮน์ริช จูเนียร์ ได้ชีวิตกลับคืนมา เขาก็เข้าบริหารกิจการผับของพ่อ และทำงานเป็นผู้ดูแลผับนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยไม่ยอมปริปากให้สัมภาษณ์กับสื่อใดอีก ... 

"ไม่ชัดเจนว่า TIME ได้คุยกับ รัทเยน จริงหรือไม่ ข้อมูลในบทความของพวกเขาไม่ได้แม่นยำและดูน้อยไม่มีน้ำหนัก น่าเสียดายที่บทความนั้นถูกยกไปนำเสนอในสื่ออื่น ๆ รวมถึงด้านภาพยนตร์ด้วย ดังนั้นการจะบอกว่า ไฮน์ริช รัทเยน จูเนียร์ ใช้ชีวิตปกติเยี่ยงผู้ชายและเพิ่งมา 'ปลอม' เป็นผู้หญิงก่อนโอลิมปิกจะเริ่มขึ้น ไม่น่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง" บทความของ Der Spiegel ว่าเช่นนี้

ขณะที่ โวลเกอร์ คลัฟ นักเขียนด้านกีฬาชาวเยอรมัน ที่ได้ดูภาพยนตร์ที่ยกเรื่องราวของ เกรเทล เบิร์กมันน์ และ โดร่า รัทเยน ภายใต้ชื่อเรื่องว่า Berlin36 แล้วก็มองว่า เรื่องที่กล่าวหากันไม่เป็นความจริง เพราะเอกสารทางการของเยอรมันของ รัทเยน ชัดเจนว่า แม้แต่เขาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นเพศอะไร 

"บนพื้นฐานเอกสารที่มีอยู่ ผมไม่คิดว่า นาซี จะจงใจใช้ โดร่า รัทเยน ในฐานะอาวุธลับเพื่อคว้าแชมป์โอลิมปิก" โวลเกอร์ ตัดสินในมุมของเขา 

ขณะที่ เบร์โน บาห์โร นักประวัติศาสตร์ ชาวเยอรมัน ก็ค้านเรื่องนี้เช่นกัน เขาคิดว่าสื่ออเมริกันพยายามดัดแปลง บิดเบือนความจริงนี้ โดยที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลความเป็นมาให้แน่ชัดจนมีหลักฐานที่ไม่สามารถฟันธงได้ ตามที่ตัวหนังเสนอไป (โดร่า รัทเยน รวมหัวกับนาซี) 

"มีการดัดแปลงเรื่องราวความเป็นจริงเกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรนะ ตราบใดที่ผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่อง Berlin36 ไม่ได้โฆษณาว่าเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริง" เขากล่าวทิ้งท้าย 

ทุกวันนี้สื่อจากฝั่งเยอรมัน และอเมริกัน ก็ยังนำเสนอเรื่องราวของ โดร่า รัทเยน ในรูปแบบแและมุมมองที่ต่างกันอยู่ ต่างฝ่ายต่างก็เชื่อในข้อมูลที่ตัวเองมี และจนวันนี้ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า โดร่า รัทเยน ตั้งใจโกงร่วมกับนาซีหรือไม่ 

สิ่งที่จริงที่สุดสำหรับเรื่องนี้และมีเอกสารทางการแพทย์ยืนยันคือ โดร่า รัทเยน เป็นผู้ชายแน่นอน และคำตอบที่โลกอยากรู้มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะบอกได้ นั่นก็คือ โดร่า หรือ ไฮน์ริช จูเนียร์ ผู้ที่ไม่เคยเปิดปากกับสื่อไหนอีกเลยหลังจากความจริงเกี่ยวกับเรื่องเพศของเขาได้รับการยืนยัน จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตเมื่อปี 2008

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook