สงสัยกันไหม ? : ทำไมฟุตบอลชายในโอลิมปิกถึงต้องกำหนดอายุไม่เกิน 23 ปี

สงสัยกันไหม ? : ทำไมฟุตบอลชายในโอลิมปิกถึงต้องกำหนดอายุไม่เกิน 23 ปี

สงสัยกันไหม ? : ทำไมฟุตบอลชายในโอลิมปิกถึงต้องกำหนดอายุไม่เกิน 23 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีคำกล่าวที่ว่า "พิชิตโอลิมปิก = พิชิตโลก" ... โอลิมปิก คือกีฬาของมนุษยชาติและเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจสูงสุดของนักกีฬาทุกคน

ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ทำไมการแข่งขันฟุตบอลในโอลิมปิกฤดูร้อนจึงไม่ยอมให้แต่ละชาติส่งนักเตะที่ดีที่สุดของตัวเองมาแข่ง ? และทำไมต้องจำกัดสิทธิ์ให้ใช้นักฟุตบอลที่อายุต่ำกว่า 23 ปี เท่านั้น 

เรารู้ว่าคุณเองก็สงสัย ร่วมหาคำตอบพร้อมกับ Main Stand ได้ที่นี่

ย้อนความให้กระจ่าง

ก่อนจะหาคำตอบก็ต้องเริ่มไปที่ต้นตอ ... โอลิมปิก (สมัยใหม่) ถูกจัดแข่งขันขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในปี 1986 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ต้นตำรับแห่งกีฬาโอลิมปิก (ยุคโบราณ) เป็นเจ้าภาพ ซึ่งผู้ให้กำเนิดโอลิมปิกสมัยใหม่ บารอน ปิแอร์ เดอ กูเบอร์แต็ง ได้ให้คำนิยามถึงการแข่งขันโอลิมปิกว่า "กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ" 

ไม่ใช่แค่นั้น เขายังกำหนดจุดมุ่งหมายของการแข่งขันโอลิมปิกไว้อย่างชัดเจนว่า คือการช่วยพัฒนาโลกโดยการให้ความรู้แก่เยาวชนด้วยกีฬา ไม่ได้แข่งเพื่อชิงความเป็นเลิศที่ให้ทุกคนมาทุ่มเทและยอมแลกทุกอย่างเพื่อชัยชนะ เพราะพวกเขามองว่าอุดมการณ์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตั้งแต่ยุคโบราณจะถูกทำลาย ดังนั้น โอลิมปิกในช่วงแรก ๆ จึงห้ามส่งนักกีฬาระดับอาชีพมาแข่งขัน 

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของมนุษย์เรานั้นเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ชุดความคิดของคนรุ่นเก่าก็จะถูกชะล้างโดยคนรุ่นใหม่ หลายประเภทกีฬามีทีมบริหารคอยดูแลแบบแยกกันเป็นสัดส่วน จึงไม่มีการเหมารวมว่า "ห้ามใช้นักนักกีฬาอาชีพมาแข่งขัน" โดยอิงจากกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป ได้แก่การให้ความสำคัญในแง่ของความเอ็นเตอร์เทนและเพิ่มความน่าสนใจให้มากขึ้น การต้องการให้การแข่งขันมีคุณภาพมากขึ้น เป็นเพราะสิ่งที่ตามมาล้วนมีมูลค่าทางรายรับทั้งสิ้น 

แต่ถ้าเป็นแบบนั้น ทำไมฟุตบอลจึงยังมีข้อห้ามด้านอายุอีกล่ะ ? เพราะทั้ง ๆ ที่เห็นได้ชัดว่าการขนเอาสตาร์และนักเตะที่เก่งที่สุด ดีที่สุดของแต่ละประเทศมารวมตัวแข่งขันกันในฟุตบอลโอลิมปิก จะทำให้การแข่งขันน่าสนใจ เข้มข้น และสนุกขึ้น

ตัวอย่างที่ชัด ๆ เลย คือการแข่งขันบาสเกตบอลในโอลิมปิก เพราะเมื่อปี 1989 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC และสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ หรือ FIBA อนุญาตให้นักบาสเกตบอลอาชีพจาก NBA เข้าร่วมการแข่งขันได้ หลังจากในอดีตได้ออกกฎอนุญาตให้นักกีฬาอาชีพจากประเทศอื่นลงแข่งขันได้ยกเว้นนักกีฬาจากสหรัฐอเมริกา จนลุงแซมที่พลาดเหรียญทองในการแข่งขันเมื่อปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ประท้วงกันยกใหญ่

สหรัฐอเมริกาจึงจัดเต็มในศึก บาร์เซโลน่า 1992 ที่ประเทศสเปน ด้วยการขนดาวดังจากลีกบาสเกตบอลที่ดีที่สุดในโลกมารวมกันอย่างครบครัน นำโดย ไมเคิล จอร์แดน, แลร์รี่ เบิร์ด, สก็อตตี้ พิพเพ่น และ แมจิค จอห์นสัน จนกลายเป็นตำนาน "ดรีมทีม" จนถึงทุกวันนี้ ทำให้บาสเกตบอลในโอลิมปิกเป็นหนึ่งในกีฬาที่คนดูไม่อยากพลาด เพราะจะได้เห็นผู้เล่นระดับคุณภาพมาลงแข่งให้เห็นในนามทีมชาติ

ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าด้วยผู้เล่นระดับนี้ อเมริกาชนะแน่ แต่ก็ไม่มีใครอยากจะพลาดเกมที่เหมือนเป็นการแข่งขันระดับรวมดารา ไม่ใช่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบในแง่บวกกับวงการบาสเกตบอลทั่วโลก ที่ผู้เล่นจากประเทศต่าง ๆ ได้เห็นระดับของเหล่าปีศาจจาก NBA และมันทำให้พวกเขารู้ว่าต้องพัฒนาตัวเองอีกมากแค่ไหนเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น 

ทีมบาสเกตบอลดรีมทีมสร้างวัฒนธรรมบาสเกตบอลในชาติต่าง ๆ ให้ตื่นตัว โดยบทความของ ESPN อธิบายว่า หลังจาก ดรีมทีม มาแข่งขันใน โอลิมปิก ชาติอย่าง สเปน, อาร์เจนตินา และ ออสเตรเลีย ต่างก็ได้เริ่มยุคทองของพวกเขา และผู้เล่นหลาย ๆ คนได้พัฒนาตัวเองจนถึงระดับได้ไปเล่นในลีกอย่าง NBA มาแล้ว ทั้ง มานู จิโนบิลี่ จาก อาร์เจนตินา, เพา และ มาร์ค กาซอล สองพี่น้องแห่งสเปน

นอกจากนี้ในยุคปัจจุบัน เรายังได้เห็นผู้เล่นต่างชาติอีกหลายคนที่เป็นสตาร์ในระดับ NBA ทั้ง รุย ฮาจิมุระ นักบาสความหวังใหม่ของญี่ปุ่นจาก วอชิงตัน วิซาร์ดส์, ลูกา ดอนชิช ดาวดังแห่งสโลวีเนียจาก ดัลลัส แมฟเวอริกส์ และ นิโกล่า โยคิช เจ้าของรางวัล MVP ปี 2021 ชาวเซอร์เบียจาก เดนเวอร์ นักเก็ตส์

"ใครกันจะไม่อยากดูทีมที่มีนักกีฬาพวกนี้ลงแข่งขัน ผมจะเปรียบว่ามันเหมือนกับการที่คุณเอา เอลวิส เพลสลี่ย์, เดอะ บีทเทิลส์ และร็อคสตาร์อีกจำนวนมากมาขึ้นเวทีเดียวกัน อารมณ์มันเป็นแบบนั้นเลย" ชัค เดลี่ โค้ชของดรีมทีมชุด 1992 กล่าว 

ถูกของชัค บาสเกตบอลในโอลิมปิกสนุกขึ้นเยอะ เมื่อมีการอนุญาตให้นักกีฬาจาก NBA ลงแข่งขันได้ และถ้าหากเราเทียบกับฟุตบอลแล้ว มันก็คงไม่ต่างกันนักหากมีการอนุญาตให้เอานักกีฬาที่ดีที่สุดมาแข่งขัน แต่ทำไมพวกเขาจึงยึดมั่นในกฎห้ามผู้เล่นอายุเกิน 23 ปี ลงแข่งขันอยู่อีก ?

ฟุตบอลคือข้อยกเว้น 

ฟุตบอลไม่ใช่กีฬาที่ถูกบรรจุลงในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรก มันเริ่มขึ้นเมื่อปี 1900 เพราะฝ่ายจัดอยากให้มีกีฬาที่เป็นที่นิยมของคนทั่วโลก และสร้างความเอ็นเตอร์เทนให้คนดูได้ เพียงแต่ว่าแนวคิดของกลุ่มผู้จัดยังคงยึดมั่นกับเรื่องของการสันทนาการมากกว่าการชิงความเป็นเลิศ พวกเขาจึงไม่อนุญาตให้นักกีฬาอาชีพ (เล่นกีฬาและได้เงินค่าจ้างแบบมีสัญญา) ลงแข่งขันในรายการนี้ 

มันเป็นเช่นนั้นมายาวนานมาถึง 84 ปี กระทั่งในโอลิมปิกที่ ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1984 ฝ่ายจัดมีความเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้เอานักกีฬาอาชีพมาแข่งได้แล้ว เพราะจะทำให้การแข่งขันมีมูลค่ามากกว่าที่เป็นอยู่ ... ทุกฝ่ายเห็นด้วย มติของคณะกรรมการยกมือให้นโยบายนี้ผ่านฉลุย ทว่ามีบางคนไม่ยอม นั่นคือ FIFA หรือ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ 

คำถามคือทำไม FIFA จึงไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น ? 

อย่าลืมว่าหลังจากตั้งไข่และพ้นยุคสงครามโลก ฟุตบอลอาชีพกลายเป็นกีฬาอันดับ 1 ของโลก มีแฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลกติดตามกันอย่างมหาศาล แม้ว่าในช่วงยุคนั้น (1980s) การถ่ายทอดสด หรือการรายงานข่าวต่าง ๆ จะยังไม่สะดวกเหมือนยุคนี้ แต่ฟุตบอลก็กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ และหลายชาติก็มีกีฬาชนิดนี้เป็นกีฬาประจำชาติอีกด้วย 

ยิ่งหาดูยาก ก็ยิ่งมีความหมาย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคอฟุตบอลทุกคนจึงเฝ้ารอการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างใจจดใจจ่อ การแข่งขันฟุตบอลโลกที่ 4 ปีมีครั้ง และได้เห็นนักฟุตบอลเกรด A จากทุกทวีปมาแข่งขันกัน จึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นเหมือนอีเวนต์สำคัญที่แม้แต่คนที่ไม่ใช่แฟนฟุตบอลก็ยังรับรู้ได้ถึงกระแสฟีเวอร์ 

ดังนั้นหาก FIFA ปล่อยฟรีให้ทุกชาติสามารถส่งนักเตะที่ดีที่สุดมาแข่งขันในโอลิมปิกได้ นั่นเท่ากับว่ามันจะกลายเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกในขนาดย่อม ๆ และมันจะส่งผลกระทบต่อกระแสของฟุตบอลโลกอย่างแน่นอน เพราะการเฝ้ารอคอยนั้นหอมหวาน หาก โอลิมปิก แข่งก่อน และฟุตบอลโลกแข่งตามมา ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฟุตบอลโลกจะต้องจืดลงไม่มากก็น้อย 

ดังนั้น FIFA และ IOC จึงหาทางเจรจากันเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างยังได้ผลประโยชน์ทั้งคู่ และผลจากการประชุมคือการได้กฎใหม่ที่จะใช้ในการแข่งขันโอลิมปิก 1984 นั่นคือ "ให้ใช้นักกีฬาอาชีพได้ แต่ชาติในทวีปยุโรปและอเมริกาใต้ที่ถือว่าเป็นเบอร์ 1 ของโลกฟุตบอล ห้ามดึงตัวนักฟุตบอลที่เคยติดทีมชาติไปแข่งขันในฟุตบอลโลกมาแล้วมาลงแข่งขันในโอลิมปิกซ้ำอีกเป็นอันขาด" 

กฎนี้ถูกใช้ไปในโอลิมปิก 2 ครั้ง คือในปี 1984 และ 1988 จึงมีการเคาะกฎครั้งใหม่อีกครั้งให้เข้ารูปเข้ารอย ในการแข่งขันปี 1992 ที่เมืองบาร์เซโลน่าเป็นเจ้าภาพ จากที่ห้ามใช้นักเตะซึ่งมีประสบการณ์ในฟุตบอลโลก ปรับใหม่ให้สากลและเท่าเทียมกับทุกชาติมากขึ้น นั่นคือการบังคับเรื่องอายุ ซึ่งช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกคือ "ไม่เกิน 23 ปี"

ไม่มีการระบุชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าทำไมต้อง 23 ปี ทว่าหากเราลองพิจารณาดู จะเห็นว่าช่วงอายุนี้จะสัมพันธ์กับช่วงอาชีพของนักฟุตบอล ที่ส่วนใหญ่จะมาเก่งกันสุด ๆ ก็ในช่วงอายุมากกว่า 25 ปี เป็นต้นไป หากเราเทียบกับนักเตะระดับโลก มันคือตัวเลขที่สมเหตุสมผล เพราะมีนักเตะน้อยมาก ๆ ที่ไปถึงระดับโลกหรือระดับคว้ารางวัลบัลลงดอร์ได้ โดยที่ยังอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 23 ปี (มี 2 รายที่ได้บัลลงดอร์ตอนอายุ 22 ปี คือ ไมเคิล โอเว่น ในปี 2001 และ ลิโอเนล เมสซี่ ในปี 2009)  

ตัวเลขต่ำกว่า 23 ปีนี้ จึงเป็นการคัดกรองได้ในระดับหนึ่งว่า นักเตะที่มาแข่งขันในโอลิมปิก จะไม่ใช่นักเตะระดับเกรด A แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าโอลิมปิกจะไม่น่าดูและจืดชืดจนไม่น่าสนใจ เพราะยังมีสิ่งที่น่าติดตามจากกลุ่มนักเตะช่วงอายุดังกล่าว นั่นคือผู้ชมจะได้เห็นนักกีฬาวัยรุ่นที่มีแวว นักเตะดาวรุ่งที่มีโอกาสจะก้าวไปเป็นระดับโลกลงแข่งขันในรายการนี้ ซึ่งจากอดีตก็ชัดเจนว่า โอลิมปิก เป็นรายการที่ทำให้ ลิโอเนล เมสซี่ ได้รางวัลระดับทีมชาติเป็นครั้งแรก (เมสซี่ เคยได้เหรียญทองโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน) 

การได้เห็นนักเตะดาวรุ่งที่มีแววเติบโต และการได้เห็นนักเตะเกรดบี ที่ไม่คุ้นชื่อคุ้นหน้าแบบชัด ๆ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ฟุตบอลชายในโอลิมปิก ได้รับความสนใจมากขึ้นในระยะหลัง ซึ่งจากที่เราเห็นคือกลุ่มนักเตะอายุต่ำกว่า 23 ปีจากชาติมหาอำนาจด้านฟุตบอล ก็มักจะถูกส่งมาแข่งแบบจัดเต็มในโอลิมปิกแบบไม่มีกั๊ก เพราะอย่างน้อย ๆ นี่ก็เป็นเกียรติประวัติ และเป็นการแสดงศักยภาพด้านฟุตบอลของพวกเขาให้โลกเห็นว่า "แกร่งทั่วแผ่น และ แกร่งทุกรุ่น" นั่นเอง 

สิ่งที่เติมความสนุกและน่าสนใจได้อีกนิดคือ นับตั้งแต่การแข่งขันที่เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1996 เป็นต้นมา มีการปรับกติกาให้แต่ละชาติสามารถใส่ชื่อนักเตะอายุเกิน 23 ปี มาได้ 3 คน ซึ่งในกรณีนี้สามารถเลือกได้อย่างอิสระ จะเอาใครมาก็ได้ทั้งนั้น 

โควต้านักเตะอายุเกินนี้ ทำให้การแข่งขันน่าดูขึ้นระดับหนึ่ง เพราะทำให้มีนักเตะระดับสตาร์ที่ต้องการคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเพื่อเป็นเกียรติประวัติมาร่วมแข่งขันด้วย อาทิ ทีมชาติบราซิล เรียกตัว เนย์มาร์ เข้ามาในโควต้านักเตะอายุเกินในโอลิมปิก 2016 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ 

ซึ่งสุดท้าย เนย์มาร์ ก็ไม่มาแบบเสียของ เขาพาทีมแซมบ้าคว้าเหรียญทองกีฬาฟุตบอลครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติ ในโอลิมปิกครั้งนั้นได้สำเร็จ โดยในเกมนัดชิงชนะเลิศที่พบกับ เยอรมัน แฟนบอลเจ้าภาพเข้ามาชมเกมจนเต็มสนามมาราคาน่าเลยทีเดียว เพราะพวกเขาอยากเห็นทีมแซมบ้าล้างแค้นทีมอินทรีเหล็ก ที่เคยถล่มทีมของพวกเขา 7-1 คาบ้านในฟุตบอลโลก 2014 รอบรองชนะเลิศ

โอลิมปิกสนุกขึ้น ฟุตบอลโลกก็ความนิยมไม่ตกลงไปและไม่ได้รับผลกระทบ ดูแล้วเป็นการ วิน-วิน อย่างแท้จริง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าตัวเลข 23 เป็นการคำนวณในระดับที่พอดิบพอดี ไม่ตึงไม่เกินจนถึงขนาดบี้แชมป์กันเอาเป็นเอาตายเหมือนฟุตบอลโลก และไม่หย่อนเกินไปถึงขนาดที่เอานักเตะสมัครเล่นมาแข่งขันเหมือนในอดีต

อีกเรื่องที่ลืมไม่ได้ 

เหตุผลจากทาง FIFA ก็ได้คำตอบกันไปแล้ว คราวนี้เราจะมาลองดูกันในแง่ทฤษฎีสมคบคิดกันบ้างว่า มันมีเหตุผลอะไรอีกไหมสำหรับการบังคับไม่ให้ใช้นักเตะอายุเกิน 23 ปี ในการแข่งขันฟุตบอลชายในโอลิมปิก ... มาเริ่มกันเลย

ข้อแรก ฟุตบอลคือกีฬาอันดับ 1 ของโลก ถ้าปล่อยให้นักเตะที่ดีที่สุดของโลกมารวมตัวกันในรายการนี้ นอกจากจะทำให้ฟุตบอลโลกจืดชืดลงแล้ว ยังถือเป็นการบดบังความสำคัญของกีฬาชนิดอื่น ๆ ไปโดยปริยาย ไม่ต้องสงสัยเลยหากมีการแข่งขันกรีฑานัดชิงเหรียญทอง ที่มีกำหนดแข่งตรงกับการแข่งขันฟุตบอลชายนัดรองชนะเลิศระหว่าง บราซิล กับ เยอรมัน (สมมติ) กีฬาชนิดไหนจะมีคนดูมากกว่ากัน ? 

และข้อนี้ไม่สามารถเอาไปเทียบกับบาสเกตบอลในโอลิมปิกแบบตรงเป๊ะ ๆ ได้ เพราะในวงการบาสนั้น ทีมที่เก่งจริง ๆ ยิ่งกว่าใครจะมีแค่ทีมเดียวนั่นคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้าส่งชุดใหญ่จัดเต็มมา ไม่แคล้วพวกเขาก็คว้าเหรียญทองไปแบบสบาย ๆ (แม้ความจริงจะไม่ถึงกับเป็นเช่นนั้น ซึ่งเราจะกล่าวถึงต่อไป)

แต่ฟุตบอลนั้นแต่ละชาติล้วนมีดี มีทีเด็ด และมีแรงดึงดูดคนดูได้มากมาย และย้ำอีกครั้งว่ามันเป็นกีฬาอันดับ 1 ของโลก ดังนั้นต่อให้แฟนบอลที่อยู่ทางบ้าน ไม่ได้มีเชื้อชาติตรงกับทีมที่ลงแข่งขัน ใครล่ะจะปฏิเสธการดวลกันของ ลิโอเนล เมสซี่ กับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ได้ ? ... นี่คือเรื่องสมมุติที่หลายคนน่าจะพอนึกภาพออก 

นอกจากเรื่องของการแย่งความสำคัญในพื้นที่สื่อแล้ว การแข่งขันโอลิมปิกนั้นมักจะแข่งขันในช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับที่นักฟุตบอลอาชีพในลีกยุโรปจะได้พักร้อนก่อนออกสตาร์ตฤดูกาลใหม่ 

ซึ่งจุดนี้เองสำหรับนักกีฬาระดับท็อปที่คว้าความสำเร็จมามากมาย ก็ "น่าจะ" ต้องคิดหนัก หากพวกเขายังต้องมาเข้าแคมป์เก็บตัวเพื่อแข่งขันโอลิมปิกต่อ เพราะนั่นหมายความว่าตลอด 1 รอบปฏิทิน พวกเขาจะไม่ได้พักหายใจหายคอเลย แถมสโมสรเองก็ยังเขม่นใส่แน่ ๆ เมื่อจะต้องเสียตัวหลักไปร่วมทีมชาติ เพราะรายการนี้ FIFA ไม่ได้บังคับให้สโมสรต้องปล่อยตัวนักเตะไปรับใช้ชาติเสียด้วย

ดังนั้นการเอานักเตะรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ส่วนใหญ่ยังไม่ใช่นักเตะดัง และยังเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับ ทะเยอทะยานอยากคว้าแชมป์ ก็น่าจะเป็นอะไรที่สมเหตุสมผลกว่าในการเลือกคนที่อยากจะลงเล่นจริง ๆ มาติดทีม

ไม่ใช่แค่กีฬาฟุตบอลเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ เพราะบาสเกตบอลชายในระยะหลัง ผู้เล่นจาก NBA ชาวสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มจะให้ความสำคัญกับบาสโอลิมปิกน้อยลง หลายคนมาแข่งแค่สมัยเดียวเพื่อเก็บเกียรติยศ หลังจากนั้นก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรุ่นหลังมาแข่งแทน ส่วนหนึ่งก็เพราะ พวกเขาเพิ่งจะผ่านพ้นฤดูกาลอันแสนสาหัส รวมถึงรอบชิงชนะเลิศที่เพิ่งปิดฉากเมื่อเดือนมิถุนายน การพักจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

เรื่องนี้ทำให้บาสเกตบอลโอลิมปิกในระยะหลังสนุกยิ่งขึ้น เพราะหลายชาติมองเห็นตรงกันว่า เมื่อลุงแซมไม่ส่งชุดใหญ่มา ก็มีโอกาสพลิกล็อกสร้างความสำเร็จ ชาติอื่น ๆ จึงมักจัดเต็ม ดึงผู้เล่นตัวเทพที่เล่นใน NBA มาลงสนาม จนเกิดเหตุพลิกล็อกถล่มเข้าจริงมาแล้วเมื่อปี 2004 เมื่อ อาร์เจนตินา คว้าเหรียญทองไปได้แบบช็อกโลก

นอกจากนี้ ช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ยังถือเป็นช่วงไพรม์ไทม์ของกีฬาฟุตบอล เพราะถือเป็นเดือนที่ทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปอย่าง ยูโร (ชิงแชมป์ยุโรป) หรือ โคปา อเมริกา (ชิงแชมป์อเมริกาใต้) ลงแข่งขันกันพอดี เช่นเดียวกันกับฟุตบอลโลก ที่ก็มักจะแข่งขันในช่วงนี้ด้วย (แต่จัดไม่ตรงปีกัน) รายการเหล่านี้เข้มข้นกว่า สร้างชื่อเสียงและเกียรติประวัติได้มากกว่า ดังนั้นหากการที่นักเตะดังต้องเลือกระหว่าง ยูโร กับ โอลิมปิก เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนก็คงจะเลือกรายการแรกไว้ก่อน 

และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดที่น่าจะทำให้หลายคนคลายสงสัย ว่าทำไมฟุตบอลชายในโอลิมปิกต้องกำหนดอายุให้ไม่เกิน 23 ปี ... การตลาด ความเข้มข้น และผลประโยชน์ที่ทับซ้อน คือสิ่งประกอบกันที่ทำให้การใช้ผู้เล่นระดับยู 23 ในการแข่งขันโอลิมปิกนั้นสมเหตุสมผลอย่างที่สุดแล้ว 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook