"อันชี่ มาคัชคาล่า" : เมื่อทีมจากแดนสงครามหวังสร้าง "กาลาคติกอส"

"อันชี่ มาคัชคาล่า" : เมื่อทีมจากแดนสงครามหวังสร้าง "กาลาคติกอส"

"อันชี่ มาคัชคาล่า" : เมื่อทีมจากแดนสงครามหวังสร้าง "กาลาคติกอส"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คงไม่มีแฟนฟุตบอลคนไหนจำไม่ได้ว่า ครั้งหนึ่งสโมสร อันชี่ มาคัชคาล่า ทีมเล็ก ๆ ในลีกรัสเซีย ทุ่มเงินซื้อนักเตะระดับท็อป พร้อมประเคนค่าเหนื่อยในแบบที่บิ๊กทีมยังไม่กล้าสู้

เรื่องนั้นเป็นข่าวได้ทุกวัน และทำให้หลายคนจำสโมสรนี้ได้ในแง่ดังกล่าวเท่านั้น ทว่าเมื่อรู้อีกที สโมสรนี้ก็พังไม่เป็นท่า เพียงแต่ว่าตอนพังนั่นแหละที่หลายคนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมโปรเจ็กต์สร้างทีมให้ยิ่งใหญ่ระดับ บาร์เซโลน่า จึงจบลงเร็วเพียงนี้ 

และนี่คือเหตุผลของเรื่องทั้งหมด ติดตามได้ที่ Main Stand

เศรษฐีรัสเซีย.. ต้องทำบอลรัสเซีย 

โรมัน อบราโมวิช เศรษฐีชาวรัสเซีย เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร เชลซี ในปี 2004 และสร้างยุคสมัยของตัวเองได้อย่างยิ่งใหญ่ นอกจากถ้วยแชมป์แล้ว เขาทำให้รู้ว่าเศรษฐีจากประเทศนี้มีเงินมากขนาดไหน และมีแพชชั่นที่ทุ่มไม่อั้นเพื่อฟุตบอลในแบบที่เจ้าของสโมสรทีมอื่น ๆ ได้แต่นั่งมองตาปริบ ๆ 

อย่างไรก็ตามนั่นก็เป็นแค่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษสำหรับชาวรัสเซีย นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตแตกสลาย วงการฟุตบอลของพวกเขาก็ไม่เคยทำได้ดีในการแข่งขันระดับเมเจอร์อีกเลย ... อะไรทำให้เป็นแบบนั้น ?

1ง่ายที่สุดเท่าที่จะหาคำตอบได้คือ หากลีกในประเทศไม่แข็งแกร่งก็ยากที่ทีมชาติจะลืมตาอ้าปากได้ ดังนั้นต้องมีใครสักคนเริ่มเรื่องนี้ คนที่พยายามผลักดันฟุตบอลในประเทศรัสเซียให้น่าติดตามและน่าสนใจมากขึ้น 

เนื่องจากเดิมทีในลีกรัสเซีย มีเพียง เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ที่พยายามลงทุนด้วยเงินจำนวนมากในการดึงนักเตะที่ดีที่สุดในประเทศมารวมตัวกัน รวมถึงการพยายามเอาสตาร์ต่างชาติมาเสริมทัพเท่าที่พอจะดึงตัวมาได้ และนั่นทำให้ เซนิต กลายเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดใน 2 ทศวรรษหลัง กับการคว้าแชมป์ลีกถึง 7 สมัย ต้นเหตุก็เพราะการลงทุนจากบริษัท Gazprom บริษัทพลังงานอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลรัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

แต่การที่ทั้งลีกเก่งและทุ่มอยู่ไม่กี่ทีมมันเป็นอะไรที่ไม่ดีต่อภาพรวมนัก ซ้ำจะชวนให้น่าเบื่อเพราะเกิดการผูกขาดขึ้น ดังนั้นเศรษฐีชาวรัสเซียอีกคนที่รวยเป็นอันดับที่ 146 ของโลกอย่าง ซูเลย์มาน เคริมอฟ จึงต้องการสร้างสโมสรขึ้นมาสักสโมสร เพื่อขึ้นมาคานอำนาจของ เซนิต และส่วนหนึ่งก็เป็นนิสัยของเขาด้วย ที่เป็นคนชอบอยู่ท่ามกลางแสงไฟและมีคนสนใจเยอะ ๆ 

ตัวของ เคริมอฟ นั้นเป็นนักธุรกิจสายหุ้น ประวัติคร่าว ๆ คือมีทรัพย์สินมากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาขึ้นชื่อเรี่องความสุรุ่ยสุร่ายอยู่พอสมควร ครั้งหนึ่ง เคริมอฟ เคยจัดงานสังสรรค์ในกรุงมอสโก เชิญคนดังทั่วประเทศรัสเซียมาแทบทุกวงการ และใช้เงินไปกับปาร์ตี้นั้นคืนเดียวหมดไป 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นชื่อของเขาก็ปรากฏบนหน้าสื่อในประเทศในฐานะเศรษฐีระดับเซเลบริตี้เรื่อยมา

2ย้อนกลับมาที่เรื่องการซื้อสโมสรกันสักนิด อันชี่ มาคัชคาล่า ไม่ใช่สโมสรที่โลกฟุตบอลคุ้นหูนัก สโมสรนี้ย่ำแย่ในทุกด้าน แต่เหตุผลที่ เคริมอฟ ซื้อทีมนี้เป็นเพราะมันคือสโมสรที่อยู่ในบ้านเกิดของเขา ... ดาเกสถาน ดินแดนที่ตั้งอยู่ใกล้กับพรมแดนรัสเซีย ติดจอร์เจียและอาเซอร์ไบจาน 

เขาใช้เงินก้อนแรกในการซื้อสโมสรต่อจากเจ้าของเดิมอย่าง มาโกเมดสลาม มาโกเมดอฟ นักการเมืองท้องถิ่นด้วยราคาแค่ 2.7 ล้านปอนด์เท่านั้น เพราะอย่างที่ได้กล่าวไป ทีมนี้ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีนักเตะชื่อคุ้นหู และสนามเหย้าของทีมก็เก่า สร้างมาตั้งแต่ปี 1960 ... และเขาเข้ามาเพื่อเปลี่ยนมัน 

ในปี 2011 เมื่อการเทคโอเวอร์เสร็จเรียบร้อย เคริมอฟ ประกาศว่า 2.7 ล้านที่จ่ายไปอย่าได้นับ เพราะหลังจากนี้ต่างหากคือการลงทุนที่แท้จริง ที่จะทำให้วงการฟุตบอลรัสเซียต้องอ้าปากค้าง และโลกฟุตบอลจะต้องหันกลับมามองสโมสรในดินแดนที่ห่างไกลทีมนี้เป็นครั้งแรก ... และเขาทำได้จริง ๆ เสียด้วย

พิสูจน์สิว่าเงินคือพระเจ้า 

สิ่งที่จะทำให้ทีมเล็ก ๆ อย่าง อันชี่ มีพื้นที่บนหน้าสื่อต้องไม่ใช่แค่ข่าวเทคโอเวอร์ ซ่อมแซมสนาม หรือเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ ... เรื่องแบบนี้ใครจะสน ? ซึ่ง เคริมอฟ ก็รู้ดี เขาทำตามหลักสูตรที่ง่ายที่สุด คือจ้างนักเตะดัง ๆ ทุ่มเงินไม่อั้นเพื่อดึงตัวพวกเขามา นั่นแหละคือความปังที่น้อยขั้นตอนที่สุดเท่าที่จะทำได้  

3เมื่อคิดได้ก็ไม่รอช้า เขาอนุมัติงบประมาณราว 200 ล้านยูโร สำหรับการเปลี่ยนแปลงทีมในปี 2011 นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเรื่องค่าตัวหรือค่าเหนื่อย อันชี่ จะประเคนไม่อั้น ... พวกเขาจะจ่ายค่าเหนื่อยเท่ากับนักเตะแถวหน้าของโลกในยุคนั้น เหมือนกับที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ รับกับ เรอัล มาดริด เหมือนกับที่ ลิโอเนล เมสซี่ รับกับ บาร์เซโลน่า 

รายแรกที่ อันชี่ ซื้อตัวคือ โรแบร์โต้ คาร์ลอส แบ็กซ้ายตำนานทีมชาติบราซิลวัย 37 ปี ที่กำลังเตรียมจะทิ้งทวนอาชีพค้าแข้งในบ้านเกิดกับ โครินเธียนส์ ... หากอันชี่ไม่ยื่นข้อเสนอมา คาร์ลอส คงแขวนสตั๊ดไปแล้ว 

แต่ในวัยขนาดนี้ คาร์ลอส คงไม่สามารถเก่งระดับเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันได้แล้ว แต่สิ่งที่ เคริมอฟ และ อันชี่ อยากได้จาก คาร์ลอส คือการเป็นตัวแทนว่า อันชี่ เอาจริงกับโปรเจ็กต์สร้างบิ๊กทีมของยุโรปขนาดไหน

4คาร์ลอส ได้รับเงินค่าจ้างราว 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และหากอยู่ครบสัญญา 2 ปี จะได้เงินทั้งหมด 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้นยังไม่พอ เคริมอฟ ยังจูงใจสุดขีดด้วยการซื้อรถสปอร์ต บูกัตติ เวย์รอน ราคาเกือบ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นของขวัญวันเกิดให้ คาร์ลอส อีก 1 คัน ... นี่มันสวรรค์ในบั้นปลายอาชีพค้าแข้งชัด ๆ 

การย้ายทีมของ คาร์ลอส ยังเป็นเหมือนการส่งสัญญาณถึงกลุ่มนักเตะทั่วโลกว่า หากได้ข้อเสนอจาก อันชี่ ก็อย่าปฏิเสธ พวกเขาจะได้ทุกสิ่งในแบบที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้ และสำหรับนักเตะสตาร์ที่กำลังขาลง นี่เป็นเหมือนการลงมาชุบตัวในบ่อทองสักสองสามปี จากนั้นก็เลิกเล่นด้วยเงินในกระเป๋าที่มากกว่าที่พวกเขาควรจะได้อีก 2-3 เท่า

หลังจากได้ตัว คาร์ลอส มหกรรมช็อปแหลกก็เริ่มขึ้น การซื้อตัวของ อันชี่ ง่ายขึ้นเยอะเมื่อมีกรณี คาร์ลอส เป็นตัวอย่าง นักเตะอย่าง จูซิเล ตัวท็อปจากลีกบราซิล ย้ายมาด้วยค่าตัว 11 ล้านเหรียญ, ดิโอก้า ทาร์เดลลี่ กองหน้าตัวทีมชาติบราซิลจาก แอตเลติโก มิไนโร อีก 5.8 ล้านเหรียญ นี่เป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น เพราะของจริงคือหลังจากนี้ต่างหาก 

ซูเปอร์สตาร์เบอร์ใหญ่ลงจอดแล้ว ... ซามูเอล เอโต้ ที่เพิ่งพา อินเตอร์ มิลาน คว้า 3 แชมป์มาเมื่อปี 2010 ตัดสินใจย้ายมาที่นี่เมื่อปี 2011 ด้วยการยินยอมพร้อมกันทุกฝ่าย อินเตอร์ ได้ค่าตัว 30 ล้านเหรียญ ขณะที่ เอโต้ ได้ค่าเหนื่อยมากที่สุดในโลก ณ เวลานั้น โรนัลโด้, กาก้า, เมสซี่ หรือ คนอื่น ๆ หลบไปได้เลย เพราะในขณะที่เพดานค่าเหนื่อยนักเตะเมื่อปี 2011 ไม่มีใครเกิน 350,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ แต่ที่ เอโต้ ในวัย 33 ปี ได้รับคือ 555,000 เหรียญต่อสัปดาห์ 

5"ทีม ๆ นี้กำลังมุ่งมั่นเหมือนกับที่บาร์เซโลน่าเป็น เราดำเนินการโปรเจ็กต์เพื่อตามรอยนั้น ไม่ใช่ตามรอย แมนเชสเตอร์ ซิตี้ อย่างที่ใครเข้าใจ ... หลายคนบอกว่าการทุ่มเงินของ อันชี่ ก็เหมือนกับที่ ซิตี้ ทำ แต่เชื่อเถอะว่าเราต่างกัน เราจะทำทีมด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ บรรลุความท้าทายที่ไม่เคยมีเคยคาดฝัน เล่นฟุตบอลด้วยปรัชญาที่เร้าใจ และไปถึงจุดที่เป็นสโมสรระดับโลกให้ได้" นี่คือสิ่งที่ เอโต้ บอกหลังจากเขาย้ายทีม เขาได้รับคำสัญญาว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น 

เอโต้ ไม่ใช่ตัวจบ มีนักเตะและสิ่งใหม่ ๆ ตามมาอีกมากมาย ยูริ ชีร์คอฟ ตัวเก่งทีมชาติ รัสเซีย, ลาสซาน่า ดิยาร์ร่า, วิลเลี่ยน, คริสโตเฟอร์ แซมบ้า ... และอีกเยอะที่ดังบ้างไม่ดังบ้าง นี่ยังไม่รวมโค้ชอย่าง กุส ฮิดดิ้งก์ อีก องค์ประกอบทั้งหมดถ้าเป็นเกม Football Manager ก็คงจะไม่ยากนักที่จะทำตามสิ่งที่พวกเขาตั้งเป้าหมายไว้

6"เงินของเราสะอาดเอี่ยมอ่อง มันทำให้ผู้คนเห็นว่าโลกฟุตบอลเปลี่ยนไปแล้ว ใครบอกว่านักเตะสตาร์ไม่สามารถเล่นให้กับทุกทีมได้ คุณดูตอนนี้ก็แล้วกัน พวกเขาอยู่ที่มาคัชคาล่า พวกเขากำลังมีแรงจูงใจในการทำงาน ใครจะบอกว่าใช้เงินซื้อความสำเร็จก็ช่าง เราใช้เงินจริง แต่ใช้มันเป็นแค่แรงจูงใจ ส่วนเป้าหมายความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงนั้น เดี๋ยวเราจะทำให้เห็นเอง" เคริมอฟ ว่าถึงทีมของเขาที่ลงทุนไป 260 ล้านเหรียญ และกำลังจะอนุมัติงบก้อนที่ 2 อีก 130 ล้านเหรียญ 

เคริมอฟ ต้องการจะพิสูจน์ให้ดูว่าเงินคือพระเจ้า ที่จะบันดาลสิ่งต่าง ๆ ได้แม้กระทั่งฟุตบอลระดับคุณภาพที่โลกต้องขนลุกซู่ ... แต่น่าเสียดายที่นี่ไม่ใช่วิดีโอเกม โลกแห่งความจริงมันยากกว่านั้นเยอะ การจับสตาร์ยัดใส่ทีมไม่เหมือนกับ FM ที่ประมวลค่าพลังของนักเตะด้วย AI และแปลงออกมาเป็นผลการแข่งขัน ที่นักเตะเก่งกว่าก็ชนะไป 

ในโลกแห่งความจริงคือ อันชี่ มาคัชคาล่า ไม่ได้มีแค่เงินอย่างเดียว พวกเขามีปัญหาบางประการที่ทำให้ใครก็ตามที่ได้เข้ามาสัมผัส ต้องทบทวนดูว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มันคุ้มหรือไม่ แม้จะได้เงินมหาศาลก็ตาม

ก็เพราะสายตา มันหลอกกันไม่ได้ 

ทุกอย่างมันควรจะเป็นไปด้วยดี พวกเขาออกสตาร์ตได้สวย มีคนรู้จักทีมเยอะขึ้น ทีมทำผลงานได้ไปเล่นฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบคัดเลือก และมีพัฒนาการเป็นไปในทางที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามนักเตะที่ย้ายมาด้วยเหตุผลเรื่องค่าจ้าง ได้พบสิ่งที่ทำให้พวกเขายิ่งอยู่นาน ก็ยิ่งต้องทบทวนเกี่ยวกับอาชีพของตัวเอง 

ย้อนกลับมายังที่ตั้งของสโมสร อันชี่ แห่งนี้ ... "ดาเกสถาน" แม้จะอยู่ในรัสเซีย แต่ปัญหาคือมันตั้งอยู่บนพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างศาสนา มีเหตุการณ์ไม่ค่อยดีค่อนไปทางก่อการร้ายเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัน The New York Times ถึงกับรรยายว่าในช่วงปี 2010 ดาเกสถาน กลายเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดในภูมิภาคแซงหน้าดินแดนอย่าง เชชเนีย ไปเรียบร้อยแล้ว 

7"ความรุนแรงนี้เกี่ยวข้องกับความไม่สงบระหว่างกลุ่มอิสลามิสต์ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับแก๊งอาชญากร สงครามเชื้อชาติ สิ่งเหล่านี้ก่อกวน ดาเกสถาน ตลอดเวลา พวกเขามีประชากร 2.5 ล้านคน และยากที่จะบอกว่าใครปลอดภัยจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบ้าง"

"รัฐบนภูเขาที่มีความยากจน มีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 30 กลุ่ม ที่สู้กันด้วยความรุนแรง และทางรัฐบาลก็ต้องรับมือด้วยความช่วยเหลือจากมอสโก ทั้งกำลังพล อาวุธ และงบประมาณ เพราะสำหรับที่นี่ ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ทุกวัน"

ต่อให้รวยแค่ไหน เมื่อถึงจุดที่รอบตัวพร้อมเกิดสิ่งไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา ใครกันจะมีความสุขได้ ? ... นักเตะของ อันชี่ มีความหวั่นไหวจากเรื่องที่เกิดขึ้นรอบ ๆ รัฐที่อันตรายแห่งนี้ สายตาของพวกเขาบอกได้อย่างชัดเจนว่า ต่อให้ได้เงินเยอะแค่ไหนก็ไม่สามารถเอ็นจอยกับชีวิตได้เต็มที่นักหรอก จะตายวันตายพรุ่งใครจะรู้ ? พวกเขาอาจจะเป็นอีลิทชน แต่อะไรก็ไม่แน่นอน สิ่งไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้เสมอ และความรู้สึกนี้ก็กัดกร่อนสภาพจิตใจของพวกเขา ผลงานทีม อันชี่ ดีอยู่แค่ 2 ปีแรกหลังเทคโอเวอร์ กับการจบที่อันดับ 5 และ 3 ของ รัสเซียพรีเมียร์ลีก กลายเป็นบทพิสูจน์ว่า แม้สตาร์จะเต็มทีม แต่ก็ไม่อาจเสกแชมป์ขึ้นมาได้

ตัวของท่านประธาน เคริมอฟ ก็พยายามจะใช้เงินแก้ปัญหา ด้วยการให้นักเตะไปอยู่ กิน และซ้อมกันที่เมืองหลวงอย่างกรุงมอสโก และจะมาที่ดาเกสถาน ก็เมื่อถึงวันแข่งจริงที่ต้องเล่นเกมเหย้าเท่านั้น แม้จะเป็นการแก้ปัญหาแบบคนรวย ๆ ทำกัน และนักเตะก็ปลอดภัยเพิ่มขึ้น แต่ความจริงมันไม่ได้ช่วยอะไรมาก สนามซ้อมที่มอสโก ห่างจากสนามเหย้าของพวกเขาถึง 1,600 ไมล์ ... แม้จะใช้เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินไม่ถึง 3 ชั่วโมง แต่การต้องเดินทางบ่อยเข้า ความล้าก็มาเยือน และเมื่อมาถึงวันแข่งจริง คนท้องถิ่นที่ยากจน คุณภาพชีวิตไม่ดี ก็ยากที่จะเอาเวลามาสนใจฟุตบอลได้

นั่นทำให้สนามของ อันชี่ ที่จุคนได้ราว 20,000 คน มีแฟนบอลมาดูเกมเหย้าแค่ 4 พันคนเท่านั้น เกมไหนที่ไม่น่าสนใจคนก็จะลดน้อยลงไปอีก บางเกมสนามโล่งจนมีเก้าอี้ว่างเต็มไปหมด ... มันคือบรรยากาศที่นักฟุตบอลอาชีพรู้ได้ทันทีว่าไม่ได้ช่วยกระตุ้นความอยากหรือแพชชั่นของพวกเขาเลย 

8ยิ่งทำยิ่งแย่ จะพูดแบบนั้นก็ได้ ความน่าสนใจค่อย ๆ ลดน้อยไปทุกวัน อันชี่ ขาดทุนยับแค่ไหนไม่ต้องสืบ แม้ตัวของ เคริมอฟ จะรวยพอที่จะมองข้ามการขาดทุนไปได้บ้าง แต่เขาพบว่า ไม่มีอะไรที่เขาได้มาเลยจากการทำทีมฟุตบอลของตัวเอง ไอ้ที่เป็นข่าวดังของโลกก็แค่ชั่วข้ามคืน นักเตะที่คิดว่าจะเก่งก็กลับเล่นกันเหยาะแหยะหมดสภาพ ผ่านไป 3 ปี ทุกอย่างก็กระจ่างชัด ต่อให้รวยล้นฟ้าก็ไม่โง่พอที่จะเอาเงินมาโยนทิ้งเล่น ๆ เคริมอฟ จึงประกาศในปี 2013 ว่า พร้อมขายนักเตะดังทั้งหมดที่มีในทีมเพื่อเปลี่ยนแนวทางการทำทีมใหม่  

ลืม บาร์เซโลน่า ไปได้เลย แมนฯ ซิตี้ ที่พวกเขาบอกว่าใช้เงินซื้อความสำเร็จก็ด้วยเช่นกัน หากจะถามว่าโมเดลใหม่ของ อันชี่ หลังปี 2013 คืออะไร คำตอบคือเหมือนกับทีมเล็ก ๆ ทั่วโลกที่พยายามสร้างทีมโดยนักเตะดาวรุ่งในท้องถิ่น ... ผลการแข่งขันกลายเป็นเรื่องช่างมันไปเสียแล้ว พวกเขาบอกว่าจะเน้นที่การพัฒนาเยาวชนมากกว่า

เรื่องนี้มันแปลกจนเกินไป การบิดแนวทางแบบม้วนตัวกลับ 360 องศา มองจากดาวอังคารยังรู้เลยว่าพวกเขาไม่ได้อยากจะพัฒนาเยาวชนจริงจังอย่างที่ปากบอกหรอก สิ่งที่คิดได้ง่ายที่สุดก็คือ พวกเขาขาดทุนยับ พบว่าแนวคิดที่วางไว้ไม่ถูกต้อง และไม่สร้างผลดีอะไรเลยสักด้าน 

พวกเขาเหมือนพลุราคา 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จุดขึ้นฟ้าไปแล้ว ตู้ม! สวยงามแค่ไม่กี่วินาที จากนั้นก็ไม่มีความหมายกลายเป็นอากาศธาตุ อันชี่ มาคัชคาล่า ไม่ได้รับความสนใจอีกแล้ว แบบนี้ก็ต้องถอนหุ้น มันคือคำตอบที่ง่ายที่สุดแล้วสำหรับการเปลี่ยนแนวทางครั้งนี้ 

นอกจากเรื่องการถอนทุนเพราะไม่ประสบความสำเร็จแล้วยังมีเหตุผลอื่นอีก สื่ออย่าง BBC บอกว่า เคริมอฟ กำลังมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ก็เป็นข่าวลือที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน 

9ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน มันมีเหตุผลที่เมคเซนส์ยิ่งกว่าเรื่องอาการป่วย เพราะมีการรายงานว่าบริษัทของ เคริมอฟ กำลังขาดทุนครั้งใหญ่จากการยกเลิกข้อตกลงทางการค้าด้านปุ๋ยโปแตชกับกลุ่มธุรกิจในประเทศเบลารุส ทำให้มูลค่าของบริษัทหายในทันทีถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับตัวของ เคริมอฟ ที่เข้าเนื้อเต็ม ๆ จากเรื่องนี้ เพราะเงินของเขาหายไปเพียว ๆ 325 ล้านปอนด์ 

ทีนี้ก็น่าจะพอเห็นใจบ้างแล้วว่าทำไม อันชี่ ถูกตัดงบประมาณภายในระยะเวลาแค่ 3 ปี หลังจากประกาศไว้ใหญ่โต ... ฤดูกาล 2013-14 อันชี่ ชุดปล่อยสตาร์หมดทีมตกชั้นไปด้วยการเป็นบ๊วยของลีก และนี่เป็นความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เงินเป็นตัวช่วยที่ดี แต่ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ทุกปัญหา หรือเป็นพรวิเศษที่เสกทุกอย่างได้ตามที่ใจปรารถนา 

แม้ฤดูกาล 2014-15 อันชี่ จะสามารถเลื่อนชั้นจากลีกรองสู่ลีกสูงสุดได้อีกครั้ง แต่สุดท้ายในปี 2016 เคริมอฟ ก็ประกาศขายสโมสรให้กับ อุสมาน คาดิเลฟ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าของทีมท้องถิ่นใน มาคัชคาล่า ที่โดนยึดใบอนุญาตเข้าแข่งขันเป็นเจ้าของมารับไม้ต่อสร้างทีมใหม่ต่อจาก เคริมอฟ

เรื่องราวหลังจากนั้นเป็นอย่างไรน่ะหรือ ? ไม่มีอีกแล้วช่วงเวลาที่สวยงาม อันชี่ กลายเป็นทีมท้ายตาราง กระทั่งตกชั้นอีกครั้งในฤดูกาล 2018-19 ทว่าคราวเคราะห์ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะจากหนี้สินที่ล้นทีม ทำให้พวกเขาถูกถอนใบอนุญาตการลงเล่นลีกรอง ต้องเริ่มต้นฤดูกาล 2019-20 ในลีกระดับ 3 ของประเทศ และพวกเขายังอยู่ตรงนั้นถึงทุกวันนี้

10ถึงตอนนี้ถามว่ามีใครสนใจเรื่องราวของสโมสร อันชี่ มาคัชคาล่า บ้าง? ถ้าจะมีก็คงน้อยมาก เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าสิ่งเดียวที่ทำให้เรานึกถึงสโมสร อันชี่ ได้ ก็คือยุคของ เอโต้, คาร์ลอส, วิลเลี่ยน และเจ้าของทีมจอมทุ่มอย่าง เคริมอฟ เท่านั้น 

อย่างน้อย ๆ เงินของเขาก็ทำให้เกิดเรื่องเล่าในตำนานได้ว่า ครั้งหนึ่งสโมสรในประเทศรัสเซีย เคยสร้างตำนานทีมรวมสตาร์ที่พังทลายภายใน 3 ปี ได้ในแบบที่โลกฟุตบอลต้องจดจำ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "อันชี่ มาคัชคาล่า" : เมื่อทีมจากแดนสงครามหวังสร้าง "กาลาคติกอส"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook