มาไง? : "คาซัคสถาน" อยู่ในเอเชียแท้ๆ.. แต่ทำไมฟุตบอลถึงโยกไปเล่นโซนยุโรป?

มาไง? : "คาซัคสถาน" อยู่ในเอเชียแท้ๆ.. แต่ทำไมฟุตบอลถึงโยกไปเล่นโซนยุโรป?

มาไง? : "คาซัคสถาน" อยู่ในเอเชียแท้ๆ.. แต่ทำไมฟุตบอลถึงโยกไปเล่นโซนยุโรป?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คาซัคสถาน คือชาติในทวีปเอเชีย แต่มีความแตกต่างจากชาติอื่นๆในทวีปอย่างชัดเจน และยังคงเป็นประเทศที่หลายคนสงสัยว่าแท้จริงแล้ว "ชาวคาซัค" มีลักษะเฉพาะเป็นแบบไหน?

ไม่ใช่แค่คำถามในเรื่องมนุษยวิทยาเท่านั้น แต่กับเรื่องฟุตบอล คาซัคสถาน ก็ทำให้ชาวเอเชียหลายคนต้องงงไม่แพ้กัน.. ชาติเอเชียอย่างพวกเขาไปร่วมแข่งขันและเป็นสมาชิก ยูฟ่า ได้อย่างไร ?

และนอกจากฟุตบอลแล้ว ทีมฟุตซอลของพวกเขาก็กำลังจะลงแข่งขันกับทีมชาติไทย ในเกมฟุตซอลโลก 2021 อีกด้วย แน่นอนพวกเขาคือตัวแทนของทวีปยุโรปเช่นกัน 

ความจริงมีหลายประการ และพวกเขากำลังเติบโตขึ้นจากการตัดสินใจครั้งนั้น 

เกิดอะไรขึ้นบ้าง ติดตามได้ที่ Main Stand

คาซัคสถานกับประวัติศาสตร์ชาติ 

หากคุณได้ชมเกมการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติคาซัคสถาน คุณจะได้รู้จักอัตลักษณ์ของสมาชิกในทีม ๆ นี้ได้ทันที นั่นคือสมาชิกของทีมคาซัคสถานเป็นกลุ่มนักเตะที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แบบไม่ต้องเช็คชื่อหรือประวัติทะเบียนราษฎร์อะไรเลย เพราะ DNA ได้บ่งบอกออกมาผ่านหน้าตาและรูปร่างของพวกเขาแล้ว

บางคนหน้าเอเชีย, บางคนผมทองตาสีฟ้าเหมือนกับชาวรัสเซีย, บางคนเหมือนกับชาวมองโกเลีย ขณะที่บางคนก็เหมือนชาวยุโรปทั่วไป ... เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?

1แท้ที่จริง ประเทศคาซัคสถาน จัดเป็นประเทศที่อยู่ในเขตเอเชียกลาง ทางตอนกลางของที่ราบยูเรเซีย แน่นอนว่านี่หมายถึงการเป็นประเทศในทวีปเอเชีย แต่หลายสิ่งซับซ้อนยิ่งกว่านั้น เพราะพรมแดนของคาซัคสถานนั้น ติดกับหลายประเทศ มากมายเหลือเกิน จนเกิดความหลากหลายขึ้นในประเทศนี้ และเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนสงสัยว่าพวกเขาเป็นคนเผ่าพันธุ์ไหนกันแน่ ? เอเชีย หรือ ยุโรป ? 

ที่ตั้งของ คาซัคสถาน อยู่ระหว่างรัสเซียและอุซเบกิซสถาน โดยทิศตะวันออกติดจีน ทิศตะวันตกติดทะเลสาบแคสเปียน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดคีร์กีซสถาน ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดเติร์กเมนิสถาน

2เพราะการตั้งอยู่บนเอเชียกลาง ทำให้พวกเขาและประเทศที่ลงท้ายด้วย "สถาน (Stan)" มีชนชาติต่าง ๆ ปะปนกันหลายกลุ่ม ทั้งคอเคซอยด์และมองโกลอยด์ผสมผสานกันไป ต้นเหตุของการผสมผสานมาจากการที่ประเทศเหล่านี้ตั้งอยู่บน "เส้นทางสายไหม" ซึ่งถือเป็นเส้นทางการค้าขายสำคัญของโลกมาตั้งแต่ยุคโบราณ 

แม้จะมีความหลากหลายในแง่ของเชื้อชาติ ทว่าจากประวัติศาสตร์ของประเทศคาซัคสถาน ได้บอกไว้ว่าพวกเขามองตัวเองเป็นคนยุโรปมากกว่าคนเอเชีย เพราะ คาซัคสถาน เป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลและอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียต ในสมัยที่สหภาพโซเวียตยังเรืองอำนาจ โดย คาซัคสถาน เคยเป็น 1 ใน 15 รัฐของสหภาพโซเวียต โดยมีชื่อเดิมว่า โซเวียตคาซัค (KSSR)

จนกระทั่งในปี 1991 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย พวกเขาจึงได้เปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็น คาซัคสถาน นั่นเอง 

3การอยู่และผูกพันกับวัฒนธรรมและประเพณีแบบโซเวียตมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมชาว คาซัคสถาน จึงมีความเชื่อและระลึกอยู่เสมอว่า ต่อให้พวกเขาจะถูกแบ่งให้อยู่ในทวีปเอเชีย พวกเขาก็ยังเชื่อว่าตนเองเป็นชาวยุโรปโดยสายเลือดมากกว่า 

อย่างไรก็ตามเหตุผลข้อนี้ไม่ได้เป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ คาซัคสถาน เลือกที่จะทิ้งสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลหรือกีฬาชนิดอื่น ๆ ในเอเชียเพื่อไปเข้าร่วมกับทางยุโรปเหมือนกับที่หลายคนสงสัย และนี่คือความจริงที่ซ่อนอยู่

กลับสู่สิ่งที่เคยเป็น 

สหพันธ์ฟุตบอลคาซัคสถาน เริ่มก่อตั้งขึ้นทันทีหลังจากที่ประเทศของพวกเขาเป็นอิสระจากโซเวียต และจากที่ตั้งพวกเขาต้องอยู่ในการดูแลของ สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ AFC โดยในช่วงแรก คาซัคสถาน ถือว่าเป็นประเทศที่เล่นฟุตบอลได้เก่งในระดับท็อป 10 ของทวีปเอเชียเลยด้วยซ้ำ เพราะพวกเขามีความได้เปรียบจากสรีระ และความผูกพันกับฟุตบอลมาก่อนชาติในเอเชียอีกหลายชาติ 

คาซัคสถาน ลงแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย 2 สมัย ในปี 1998 และ 2002 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะโควต้าการเข้าร่วมของชาติจากเอเชียในฟุตบอลโลกนั้นมีน้อยมาก เพียง 4 ทีมครึ่งเท่านั้น (ไม่รวมเจ้าภาพ)  

4แม้จะไปไม่ถึงฝัน แต่ คาซัคสถาน ก็อยู่บนเส้นทางแห่งความใกล้เคียง อย่างน้อยพวกเขาก็ทำได้ดีกว่าหลาย ๆ ชาติในตะวันออกกลางและอาเซียน หากได้ลองพยายามต่อยอดและพัฒนาอีกสักนิด ไม่แน่ คาซัคสถาน อาจจะชิงโควต้าในเอเชียได้ ทว่าน่าเสียดายที่พวกเขาไม่คิดแบบนั้น 

หลังจากพลาดตั๋วฟุตบอลโลก 2002 ที่ เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ คาซัคสถาน ก็ส่งสัญญาณไปยังสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า เพื่อขอเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเข้าเป็นสมาชิกทันทีในปี 2002 เนื่องจากก่อนที่ประเทศจะเป็นอิสระ ชาวคาซัคหลายคน ก็อยู่ในทีมชาติโซเวียตและลงแข่งขันในระดับยุโรปหรือระดับโลกมาแล้ว 

"เราถือว่าตัวเองเป็นชาติในยุโรป ในช่วงเวลาที่เป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต เราลงเล่นในการแข่งขันยุโรปมาไม่น้อย ดังนั้นการออกจากการดูแลของ เอเอฟซี และเข้ามาเป็นสมาชิกของ ยูฟ่า จึงไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่ เราแค่กลับมาอยู่จุดที่พวกเราเป็นก็เท่านั้นเอง" อาดิลเบ็ก ซากซีเบคอฟ (Adilbek Zhaksybekov) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลคาซัคสถาน กล่าวไว้ในเว็บไซต์ของ ยูฟ่า 

การย้ายไปยุโรปของทีมฟุตบอล ทำให้ในส่วนของฟุตซอลก็ต้องย้ายตามไปด้วยกัน เนื่องจากอยู่ภายใต้การดูแลของสหพันธ์ฟุตบอลคาซัคสถานด้วย โดยในอดีต ทีมฟุตซอลของคาซัคสถาน ก็เล่นในฐานะตัวแทนทวีปเอเชีย โดยครั้งสุดท้ายที่พวกเขาลงในทวีปเอเชียคือ ฟุตซอล เอเชียนคัพ 2001 

5ขณะผู้รับอนุมัติการย้ายทวีปของ คาซัคสถาน อย่าง ยูฟ่า ก็ยืนยันว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิดหรือเป็นการคิดจะย้ายก็ย้ายกันง่าย ๆ แต่อย่างใด เพราะ 10% ของดินแดนประเทศ คาซัคสถาน ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ของทวีปยุโรป ดังนั้นการขอย้ายทวีปในการแข่งขันฟุตบอลจึงเกิดขึ้นได้จากการผลักดันของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

ย้ายแล้วได้อะไร? 

หาก คาซัคสถาน ลงเล่นในเอเชียต่อไปไม่แน่พวกเขาอาจจะได้ไปเล่นฟุตบอลโลแล้วก็เป็นได้ ... แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบจากสโมสรในลีกคาซัคสถาน อย่าง อัสตาน่า ที่แม้จะก่อตั้งเมื่อปี 2009 แต่ก็เคยลงเล่นในระดับ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มาแล้ว นอกจากนี้ยังแทบจะเป็นขาประจำในรายการรองอย่าง ยูโรปา ลีก อีกด้วย

ทั้ง ๆ ที่หากอยู่ในเอเชียพวกเขาจะเข้าใกล้ตั๋วฟุตบอลโลกได้มากกว่า แต่ทำไมพวกเขาจึงกลับยุโรป เพียงเพราะความเชื่อและค่านิยมเพียงอย่างเดียว ? ... คำตอบคือ มันมีอะไรมากกว่านั้น 

6การย้ายกลับมายังยุโรป แม้จะกลายเป็นหมูให้ทีมยักษ์ใหญ่ในยุโรปเคี้ยวก่อนในช่วงแรกของการเป็นสมาชิก แต่สิ่งที่พวกเขาจะได้จากการฟาดแข้งกับทีมระดับโลกคือ "พัฒนาการ" 

ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ในช่วงแรกของการเป็นสมาชิกยูฟ่าและลงแข่งขันในรายการรอบคัดเลือกต่าง ๆ คาซัคสถาน มักตกอยู่ในสภาพโดนยำเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 20 ปี คาซัคสถาน ทีมนี้กลับกลายเป็นชาติที่เล่นได้สูสีกับทีมอื่น ๆ ในยุโรปมากขึ้น 

ยกตัวอย่าง 2 ปีหลังสุด คาซัคสถาน ยันเสมอ ยูเครน ได้ถึง 2 ครั้ง และมีเพียงหนเดียวที่พวกเขาเสียท่าให้คู่แข่งด้วยช่องว่างห่างเกิน 4 ประตู ... แม้กระทั่งการเจอกับฝรั่งเศส ทีมแชมป์โลก (ปี 2018) ไปแบบสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อกลางปี 2021 ที่ผ่านมา พวกเขาก็ยังแพ้เพียงแค่ 0-2 เท่านั้น ... แม้พวกเขาจะอยู่ในฟีฟ่า แรงกิ้ง อันดับที่ 120 ก็ตาม (ไทย อยู่อันดับที่ 122)  

7"ผมจะไม่พูดหรอกนะว่าคู่แข่งในเอเชียนั้นอ่อนกว่าทีมในระดับยุโรป ที่เอเชียก็มีทีมเก่ง ๆ เยอะ แต่จะดีกว่าถ้าเรามาเล่นในยุโรป เราจะได้อะไรมากกว่าแค่ผลการแข่งขัน" ไกรัต นูร์เดาเลตอฟ อดีตกัปตันทีมชาติคาซัคสถาน กล่าว 

"คุณได้เล่นในเกมเยือนสนามใหญ่ ๆ ได้ไปแข่งที่ เวมบลีย์, ไปเยือนสนามโหด ๆ ที่ตุรกี เกมเหล่านี้จะเป็นการสร้างประสบการณ์ในแบบที่เอเชียให้คุณไม่ได้เลย คุณจะต้องลงเล่นในสนามที่เสียงดังกระหึ่มจนไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณเรียนรู้และมีประสบการณ์ในฐานะนักฟุตบอลอาชีพ" เขาว่าต่อ 

ไม่ใช่แค่ฟุตบอลเท่านั้น พัฒนาการจากการเล่นกับชาติเก่ง ๆ ก็ทำให้ฟุตซอลของ คาซัคสถาน เก่งขึ้นแบบไม่หยุดเช่นกัน ณ ตอนนี้พวกเขาเป็นทีมอันดับ 7 ของโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

8เพราะหลังจากทีมฟุตซอลของ คาซัคสถาน ลงเล่นในการแข่งขันของทวีปยุโรป พวกเขาก็เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ยังมีการผลักดันจนวงการเติบโตอย่างรวดเร็ว เบื้องหลังคือการผลักดันของ ไครัต โอราสเบกอฟ (Kairat Orazbekov) นักธุรกิจเจ้าของสโมสร ไครัต ทีมฟุตซอลอันดับหนึ่งของประเทศ ที่ตอนนี้มีดีกรีเป็นแชมป์สโมสรยุโรป 2 สมัย

ณ ตอนนี้ฟุตบอลของ คาซัคสถาน กำลังเดินไปข้างหน้าแบบไม่หยุด เพราะพวกเขากำลังวางแผนระบบพัฒนาเยาวชนที่ทำให้นักเตะท้องถิ่นแข็งแกร่ง ซึ่งเริ่มงานมาตั้งแต่เมื่อปี 2012 ซึ่งหากนับจากเวลาของโครงงานนี้ จะเห็นว่าเป็นเบื้องหลังที่ทำให้สโมสรในคาซัคสถาน ได้โผล่ไปเล่นในรายการะดับยุโรปมากกว่ายุคก่อน ๆ นอกจาก อัสตาน่า แล้วยังมี ไครัต อัลมาตี้ ที่เริ่มเป็นชื่อที่คุ้นหูของแฟนบอลในเวลานี้ 

9โครงการพัฒนาเยาวชนของ คาซัคสถาน นั้นได้รับความช่วยเหลือจากประเทศเยอรมัน โดยโครงการนี้สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน หรือ เดเอฟเบ จะเข้ามาช่วยดูแลและจัดการเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้วงการฟุตบอลคาซัคสถานก็ยกระดับไปอีกขั้นด้วยการมีลีกฟุตบอลระดับเยาวชนเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย 

นอกเหนือจากประสบการณ์และพัฒนาการคืออะไร ? ... "เงิน" คืออีกหนึ่งคำตอบที่ทำให้ คาซัคสถาน ตัดสินใจไม่ยากในการเข้าเป็นสมาชิกยุโรป การเล่นในระดับทวีปในยุโรปนั้นมีรายได้ที่มั่นคงมากกว่าในเอเชียแน่นอน ชาติจากยุโรปจะได้เงินจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในแต่ละปี ต่อให้ไปไม่ถึงรอบสุดท้าย แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจน แต่เงินที่ได้มาจากการถ่ายทอดสดรอบคัดเลือก ก็สามารถเอามาพัฒนาต่อยอดวงการฟุตบอลได้อีกทาง   

10เรียกได้ว่าการย้ายทวีปตามความต้องการทั้งในแง่ความรู้สึกและผลประโยชน์ ไม่ว่าสิ่งใดก็ทำให้เกิดผลบวกกับวงการฟุตบอลคาซัคสถานทั้งนั้น ตอนนี้ยุทธศาสตร์ 10 ปี กำลังจะผลิดอกออกผล ถึงตอนนั้นไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็น คาซัคสถาน ล้มยักษ์ในยุโรป สักครั้งก็เป็นได้ 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ มาไง? : "คาซัคสถาน" อยู่ในเอเชียแท้ๆ.. แต่ทำไมฟุตบอลถึงโยกไปเล่นโซนยุโรป?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook