มองภาพสะท้อนความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ผ่านกีฬาคริกเกต

มองภาพสะท้อนความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ผ่านกีฬาคริกเกต

มองภาพสะท้อนความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ผ่านกีฬาคริกเกต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อินเดีย และ ปากีสถาน ถือเป็นสองชาติที่มีอิทธิพลมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ ถึงแม้จะมีพรมแดนติดกัน แต่ทั้งสองประเทศกลับมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นและมีความขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน

Main Stand จะพาคุณไปมองภาพสะท้อนความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ผ่านกระจกบานใหญ่ที่เรียกว่า "คริกเกต" กีฬาอันดับหนึ่งของทั้งสองชาติ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เคียงคู่กับความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ

คริกเกตในฐานะเครื่องมือสานสัมพันธ์

เนื่องจากทั้งสองชาติต่างเคยเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิบริติช ภายใต้ดินแดนที่เรียกว่า บริติชราช ด้วยเหตุนี้ ชาวอินเดียและชาวปากีสถานจึงมีกีฬายอดนิยมเดียวกันนั่นคือ คริกเกต ซึ่งการแข่งขันบนเวทีกีฬาชนิดนี้ได้กลายเป็นกระจกบานสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ อันมีลักษณะที่เป็นคู่แข่งขันกันมาตั้งแต่ต้น

ย้อนกลับไปในปี 1947 รัฐสภาอังกฤษตัดสินใจแบ่งบริติชราชออกเป็นสองรัฐเอกราช คือ ประเทศอินเดีย และ ประเทศปากีสถาน โดยประกาศว่า อินเดียจะเป็นดินแดนของผู้นับถือศาสนาฮินดู ส่วนปากีสถานจะเป็นดินแดนของผู้นับถือศาสนาอิสลาม

การประกาศแบ่งบริติชราชออกเป็นสองประเทศ นำมาสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างชาวอินเดียและชาวปากีสถาน มีผู้พลัดถิ่นฐานหลังการประกาศแยกประเทศราว 12.5 ล้านคน รวมถึงมีการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางศาสนา และการก่อจราจลเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกเขตแดนเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งแสนถึงหนึ่งล้านคน

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นมาโดยตลอด หนทางหนึ่งที่จะช่วยเป็นกาวใจประสานความรู้สึกอันร้าวรานของอินเดียและปากีสถานเข้าไว้ด้วยกันได้จึงหนีไม่พ้นเกมคริกเกต โดยในปี 1952 คริกเกตทีมชาติปากีสถานได้เดินทางสู่อินเดีย เพื่อตระเวนเดินทางแข่งขันกับคริกเกตทีมชาติอินเดียตามเมืองต่าง ๆ

 

ความต้องการจะเล่นคริกเกตเพื่อสานสัมพันธ์สองประเทศ เลือนหายไปในอากาศตั้งแต่เกมที่ 2 ที่พวกเขาทั้งคู่เจอกัน เมื่อปากีสถานพลิกล็อกเอาชนะอินเดีย ในการแข่งขันที่เมืองลัคเนา แฟนคริกเกตเจ้าถิ่นไม่พอใจผลลัพธ์ที่ออกมา และประกาศชัดต่อผู้เล่นทุกคนว่า "อินเดียจะแพ้ไม่ได้เด็ดขาด" เช่นเดียวกับปากีสถานที่มองเห็นความไม่พอใจของคนในชาติ หากพ่ายแพ้แก่เพื่อนบ้านที่ไม่ชอบขี้หน้า

การแข่งขันคริกเกตเกมที่ 3 ในซีรีส์กระชับมิตรเมื่อปี 1952 จึงเต็มไปด้วยแทคติกเกมรับ โดยทั้งสองชาติพร้อมจะจับมือกันคว้าผลเสมอ มากกว่าจะยอมเสี่ยงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และต้องกลายเป็นสนามอารมณ์รองรับความโกรธแค้นของแฟนคริกเกตสำหรับความพ่ายแพ้ในเกมแห่งศักดิ์ศรี (ท้ายที่สุดแล้ว อินเดียเป็นฝ่ายชนะซีรีส์นี้ไป)

 

ทั้งสองประเทศจัดทัวร์เกมคริกเกตกันอีกหลายครั้ง โดยในปี 1955 อินเดียเป็นฝ่ายยกทีมนักคริกเกตมาทัวร์ปากีสถานบ้าง ก่อนที่คริกเกตทีมชาติปากีสถานจะกลับไปเยือนเพื่อนบ้านอีกครั้งในปี 1961 ก่อนที่ความสัมพันธ์อันดีบนเวทีกีฬาของทั้งสองชาติจะยุติลง เนื่องจาก อินเดีย และ ปากีสถาน เปิดฉากสงครามใส่กันในปี 1965 และอีกครั้งในปี 1971 ซึ่งระหว่างช่วงเวลานั้น ทั้งสองประเทศไม่เคยจัดเกมคริกเกตระหว่างกันอีกเลย

หลังจากสงครามอินเดีย-ปากีสถาน 1971 จบลง เกมการเมืองได้เข้ามามีอิทธิพลกับวงการกีฬาคริกเกตของทั้งสองประเทศอย่างเต็มตัว โดยอินเดียสั่งห้ามการแข่งขันคริกเกตกับปากีสถานหลายต่อครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำสั่งที่ออกมาหลังเกิดเหตุปะทะทางการทหารหรือเหตุก่อการร้ายภายในประเทศ

 

เมื่อความสัมพันธ์ของอินเดียกับปากีสถานเริ่มดีขึ้นในปี 1978 คริกเกตทีมชาติอินเดียจึงเดินทางไปเยือนปากีสถานในปีเดียวกัน ก่อนที่ปากีสถานจะเป็นฝ่ายกลับมาเยือนอินเดียบ้างในปี 1984 ซึ่งก็ไม่วายเกิดเหตุวุ่นวายจนการเดินทางต้องยกเลิกกลางคัน เนื่องจาก อินทิรา คานธี (Indira Gandhi) นายกรัฐมนตรีอินเดียถูกลอบสังหาร (สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและชาวซิกข์)

 

ก่อนที่กีฬาคริกเกตจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างเต็มตัว เมื่อ โมฮัมหมัด เซีย อุล ฮัก (Muhammad Zia-ul-Haq) ประธานาธิบดีแห่งปากีสถาน ถูกเชิญไปชมการแข่งขันคริกเกตระหว่างสองชาติที่เมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย 

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ การทูตคริกเกต หรือ Cricket Diplomacy ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอินเดียและปากีสถาน โดยเกมคริกเกตในลักษณะนี้ ถือเป็นการเปิดประตูให้แฟนกีฬาทีมเยือนเดินทางสู่ประเทศเพื่อนบ้านในฐานะกองเชียร์อีกด้วย

เกมอำนาจผ่านกีฬาคริกเกต

ช่วงปลายยุค 80s จนถึงช่วงทศวรรษ 90s เกมคริกเกตระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ถูกพัฒนาจนกลายเป็นเกมที่แข่งขันในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ แคนาดา ต่างก็เคยเป็นเจ้าภาพจัดคริกเกตเฟรนด์ลี่ คัพ ระหว่างสองชาตินี้มาแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อตัดปัญหาว่าผ่ายใดผ่ายหนึ่งจะได้เปรียบจากการเป็นเจ้าภาพ

 

แม้จะพยายามลดปัญหา แต่เนื่องจากการแข่งขันของคริกเกตอินเดีย-ปากีสถาน ก้าวสู่สมรภูมิที่ใหญ่ขึ้นอย่าง การแข่งขันคริกเกตชิงแชมป์โลก, คริกเกตชิงแชมป์โลก T20, คริกเกต ICC แชมเปี้ยนชิพ และคริกเกตชิงแชมป์เอเชีย เกมคริกเกตระหว่างทั้งสองชาติจึงมีบรรยากาศที่ค่อนข้างโหด ดิบ เถื่อน ไม่ต่างจากการเชียร์บอลอังกฤษที่เต็มไปด้วยฮูลิแกน

คนดูล้นสนาม กองเชียร์ที่ปะปนจนแยกไม่ออก และการรักษาความปลอดภัยที่มากจนน่าตกใจ ที่คือบรรยากาศของเกมคริกเกตระหว่างอินเดียและปากีสถานที่จัดขึ้นในเมืองชาร์จาห์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลอดช่วงยุค 90s โดยในช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีรายงานการปะทะกันของแฟนกีฬาทั้งสองฝ่ายอีกด้วย

ไล่ตั้งแต่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสนามแข่งขัน หลังแฟนทั้งสองฝ่ายลงจากอัฒจันทร์มาวางมวยกัน เนื่องจากความพ่ายแพ้ของอินเดียต่อปากีสถานในคริกเกตชิงแชมป์โลก U-15 เมื่อปี 1996 ไปจนถึงเหตุการณ์ในปีต่อมา ที่ทีมคริกเกตทั้งสองชาติแข่งขันกันที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ที่แฟนคริกเกตจากเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ตีกันวุ่นวาย เดือดร้อนจนต้องเรียกตำรวจเข้ามาสงบศึกที่เกิดขึ้น

 

แฟนคริกเกตในเมืองเลสเตอร์ยังก่อเหตุวุ่นวายอีกรอบในปี 1999 เมื่อการแข่งขันระหว่างทีมมุสลิมกับทีมฮินดูต้องยุติลงกะทันหัน หลังผู้เล่นฝ่ายหนึ่งใช้ไม้คริกเกตฟาดใส่คู่แข่ง ซึ่งเหตุการณ์นี้นำมาสู่การวางกำลังตำรวจเต็มกำลัง เพราะอินเดียกับปากีสถานจะต้องมาเจอกันในคริกเกตชิงแชมป์โลก ที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ (ไม่ใช่สนามเหย้าของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่อย่างใด เพราะมีสนามคริกเกตตั้งในย่าน โอลด์ แทรฟฟอร์ด เช่นกัน)

 

การปะทะกันด้วยความเดือดไม่แพ้ฮูลิแกนอังกฤษของแฟนคริกเกตสองชาติ ดำเนินไปพร้อมกับความสัมพันธ์ของอินเดียและปากีสถานที่กำลังย่ำแย่ เนื่องจาก สงครามคาร์กิล (Kargil War) ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1999 ซึ่งความสัมพันธ์ของสองประเทศที่ไม่สู้ดีเริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงบทบาทของกีฬาคริกเกตให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

กีฬาคริกเกตในช่วง 20 ปีหลัง จึงถูกลดบทบาทในการเป็นเครื่องมือกระชับสัมพันธ์ แต่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการโจมตีเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย โดยผู้ก่อการร้ายชาวปากีสถาน เมื่อปี 2008 ส่งผลให้ทีมคริกเกตทีมชาติอินเดียประกาศว่า พวกเขาจะไม่เข้าร่วมแข่งขันทุกรายการที่ทีมคริกเกตปากีสถานลงแข่งขัน

 

ตามมาด้วยการโจมตีนักกีฬาคริกเกตทีมชาติศรีลังกา ในเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน โดยฝีมือผู้ก่อการร้ายจากอัฟกานิสถานที่เข้ามาปฏิบัติการในปากีสถาน ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ปากีสถานถูกปลดจากการเป็นเจ้าภาพคริกเกตชิงแชมป์โลก 2011 และกลายเป็นอินเดียที่เข้ามารับหน้าที่เจ้าภาพรายใหม่ไปแทน (ร่วมกับ บังกลาเทศ และ ศรีลังกา)

เห็นได้ชัดว่า กีฬาคริกเกต ระหว่างอินเดียกับปากีสถานไม่ได้วัดกันแค่ผลแพ้-ชนะอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงการแสดงอำนาจทางการเมืองผ่านกีฬาชนิดนี้ ทั้งการบอยคอตเมื่อปี 2008 และการเสียบตำแหน่งเจ้าภาพคริกเกตชิงแชมป์โลกในปี 2011 คือวิธีการที่แสดงให้เห็นว่า อินเดีย มีแต้มต่อเหนือ ปากีสถาน ในวงการคริกเกตและเวทีการเมืองโลก แบบไม่ต้องลงสนามแข่งขันให้เสียเวลา

 

นับตั้งแต่การแข่งขันคริกเกตชิงแชมป์โลก ปี 2015 เป็นต้นมา คริกเกตทีมชาติอินเดีย พบกับ คริกเกตทีมชาติปากีสถาน เพียง 6 ครั้งเท่านั้น เนื่องจาก อินเดีย ประกาศแน่วแน่ว่าจะไม่เปิดการแข่งขันกีฬาคริกเกตกับปากีสถานโดยไม่จำเป็น โดยเกมกระชับมิตร หรือ Test Game ครั้งสุดท้ายของพวกเขา เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2007 หรือ 14 ปีที่แล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะก่อนที่ทั้งสองชาติจะเจอกันในคริกเกตชิงแชมป์โลกปี 2019 ทหารชาวอินเดีย 42 ราย เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายพลีชีพของกลุ่มก่อความไม่สงบชาวปากีสถาน

การแข่งขันคริกเกตระหว่างอินเดียและปากีสถาน จึงปรากฏขึ้นในการแข่งขันอย่างเป็นทางการเท่านั้น ซึ่งแม้จำนวนจะน้อยลง แต่คุณค่าของชัยชนะแต่ละครั้งยังคงมีความหมายเท่าเดิม เหมือนชัยชนะครั้งล่าสุดของคริกเกตทีมชาติปากีสถาน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเอาชนะอินเดียบนเวที T20 โดยปากีสถานต้องรอคอยมานานถึง 14 ปีกว่าจะคว้าความสำเร็จนี้มาได้ และต้องแพ้อินเดียอยู่ฝ่ายเดียวถึง 6 ครั้ง

อีกซีกโลกที่ปราศจากความขัดแย้ง

แม้เกมคริกเกตระหว่างอินเดียกับปากีสถานจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของสองประเทศ แต่ในดินแดนที่หลุดพ้นอิทธิพลของเกมการเมืองระหว่างประเทศ เกมคริกเกตก็ได้กลับมาเป็นกีฬาที่ทำให้แฟนทั้งสองฝ่ายสามารถมีความสุขกับมันได้เต็มที่อีกครั้ง

ดินแดนที่ว่า คือ ประเทศอังกฤษ ที่นอกจากจะเป็นต้นกำเนิดของกีฬาคริกเกตแล้ว ยังมีชาวอินเดียและปากีสถานจำนวนมาก เดินทางอพยพไปใช้ชีวิตที่นั่นจนเกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นมา โดยในเมืองเบอร์มิงแฮม มีคนเชื้อสายอินเดีย-ปากีสถาน อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนการแข่งขันคริกเกตระหว่างสองชาติ ถูกเรียกแบบขำ ๆ ว่า "คู่ปรับเบอร์มิงแฮม"

เกมคริกเกตของชาวอินเดียและปากีสถานในอังกฤษ เริ่มต้นขึ้นในสวนสาธารณะ มันยังคงเป็นการแข่งขันที่เข้มข้นที่ไม่มีใครยอมใครเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ มันเป็นความจริงจังในแง่ของเกมกีฬา เหมือน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เจอกับ ลิเวอร์พูล โดยไม่มีความขัดแย้งเรื่องการเมืองเข้ามาเจือปน

 

ภาพของแฟนคริกเกตทั้งสองชาติที่บุกลงไปในสนามคริกเกต โอลด์ แทรฟฟอร์ด หลังจบเกมระหว่างอินเดียกับปากีสถานในคริกเกตชิงแชมป์โลก 1999 ยังคงเป็นภาพอันน่าอับอายที่ชาวเอเชียใต้ในอังกฤษต้องอยู่กับมันไปอีกนาน วิธีแก้ปัญหาจึงเป็นการเพิ่มความเป็นกีฬาลงไปในการแข่งขันคริกเกตของทั้งสองชาติ เพื่อเปลี่ยนภาพจำจากที่หลายคนมองว่าเกมคริกเกตเป็นภาพสงครามจำลองให้กลับมาเป็นแค่เกมกีฬาหนึ่งนัดที่มีค่าแค่ผลแพ้-ชนะ

การแข่งขันคริกเกตระหว่างอินเดียและปากีสถานที่จัดขึ้นในอังกฤษ จึงมีบรรยากาศที่แตกต่างออกไปจากที่เคยเกิดขึ้นในอินเดีย มีการนำวัฒนธรรมการร้องเพลงเชียร์จากกีฬาฟุตบอลมาใช้ และยังเริ่มมีการเข้าไปดูแลช่องทางจัดจำหน่ายตั๋วโดยกลุ่มแฟนคลับ เพื่อรับประกันว่าแฟนคริกเกตจะได้โอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศการแข่งขันรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

ราเคช ปาเทล (Rakesh Patel) ผู้ก่อตั้งกลุ่ม บารัต อาร์มี่ (Bharat Army) หรือกลุ่มกองเชียร์คริกเกตทีมชาติอินเดีย เปิดเผยว่า การนำวัฒนธรรมเชียร์กีฬาแบบชาวยุโรปเข้ามาใส่ในเกมคริกเกต ทำให้ความดุเดือดระหว่างแฟนคริกเกตทั้งสองชาติแปรเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์อันดี

โดยแฟนคริกเกตกลุ่มบารัต อาร์มี่ จะเลือกแสดงความภูมิใจในทีมคริกเกตของตน ด้วยการขับรถตามหลังรถบัสนักคริกเกตอินเดีย เมื่อทีมเดินทางไปยังสนามแข่งขัน แทนที่จะเป็นหาเรื่องชกต่อยกับแฟนปากีสถานเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งราเคชก็ย้ำอีกว่า ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นของทั้งสองชาติเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวปากีสถานไม่ใช่ศัตรูของพวกเขาอีกต่อไป

 

"เมื่อเวลาค่อย ๆ ผ่านไป มันไม่ใช่คู่ปรับที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอีกแล้ว เพราะอังกฤษเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางวัฒนธรรม และเมื่อคุณไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือมองไปยังข้างบ้าน คุณจะพบเจอคนที่แตกต่าง แฟนคริกเกตส่วนใหญ่ก็เป็นคนรุ่นสองหรือสาม ความเกลียดชังเหล่านั้นมันหายไปหมดแล้ว" ราเคช กล่าว

ท้ายที่สุดแล้วการแข่งขันในเกมคริกเกตระหว่างอินเดียกับปากีสถานก็ยังคงเป็นเกมกีฬา และเกมกีฬาในความหมายของโลกปัจจุบัน ย่อมเป็นการสานสัมพันธ์ไม่ใช่การสร้างสงคราม แฟนคริกเกตของทั้งสองชาติในอังกฤษ แสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อกีฬาไม่ถูกครอบงำโดยความขัดแย้งทางการเมือง เนื้อแท้และความสุขของกีฬาก็ได้กลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้นการแย่งชิงความสำเร็จบนเวทีคริกเกตของอินเดียกับปากีสถาน ยังคงดำเนินต่อไปตราบนานเท่านาน เช่นเดียวกับ ความขัดแย้งของทั้งสองชาติที่กินเวลามานาน 74 ปีแล้ว หากเทียบการเดินทางของการต่อสู้ทางการเมืองของทั้งสองชาติกับการต่อสู้ทางกีฬาในสนามคริกเกตจะพบว่า ทั้งสองด้านมีความสัมพันธ์กันตลอดมา

นี่จึงเป็นอิทธิพลที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองของอินเดียและปากีสถาน ส่งผลถึงเกมกีฬาหมายเลขหนึ่งของพวกเขาอย่าง คริกเกต (รวมถึงมุมที่ปราศจากอิทธิพลจากความขัดแย้ง) ซึ่งเราคงได้แต่จับตาดูหลังจากนี้ว่า ความสัมพันธ์ของแฟนทั้งสองชาติที่เกิดขึ้นในอังกฤษ จะกระจายตัวสู่ดินแดนเอเชียใต้ และลดความบาดหมางของทั้งสองชาติบนเวทีคริกเกตลงได้หรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook