ดิวเนิร์ส คอลลิน : เด็กผู้ก้าวข้ามการเป็นมีม สู่แชมป์อเมริกันฟุตบอลไฮสคูลระดับรัฐ

ดิวเนิร์ส คอลลิน : เด็กผู้ก้าวข้ามการเป็นมีม สู่แชมป์อเมริกันฟุตบอลไฮสคูลระดับรัฐ

ดิวเนิร์ส คอลลิน : เด็กผู้ก้าวข้ามการเป็นมีม สู่แชมป์อเมริกันฟุตบอลไฮสคูลระดับรัฐ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใคร ๆ ก็ชอบเรื่องตลกกันทั้งนั้น แต่ถ้าให้ตัวเองกลายเป็นตัวตลกเสียเอง ใครล่ะจะยินดีเป็นคน ๆ นั้น คนที่สร้างเสียงหัวเราะให้คนอื่นแลกกับความรู้สึกแย่กับตัวเอง

นี่คือเรื่องราวของเด็กน้อยที่เคยเป็นตัวตลกของคนในโลกอินเทอร์เน็ต ในเวลาที่คนอื่น ๆ ขำเมื่อเห็นหน้าเขา เขาก็จะเก็บเอามาคิด เอามาเศร้า และกลับมานอนร้องไห้เป็นเวลาหลายเดือน 

อย่างไรก็ตามตอนนี้เขากลายเป็นคนใหม่แล้ว จากตัวตลก เขากลายเป็น วาฬเพชฌฆาต แห่งโรงเรียนมัธยม East Orange High School ผู้เล่นตำแหน่งไลน์แบ็คเกอร์ที่แข็งแกร่งที่สุด และสร้างตำนานไร้พ่ายให้กับทีม ๆ นี้

ติดตามการพลิกชะตาชีวิต จากดาวน์สุดขีดสู่ดาราทีมอเมริกันฟุตบอลของ ดิวเนิร์ส คอลลิน ได้ที่ Main Stand

ตลก ... ไม่รู้ตัว

ในช่วงหลังปี 2010 เป็นต้นมา โซเชียลมีเดีย กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทั่วทั้งโลกเชื่อมโยงและสามารถแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้แบบไร้พรมแดน จากนั้นก็มีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาในแบบที่ทุกคนเห็นแล้วก็ต้องร้องอ๋อกันทั้งโลก 

หนึ่งในนั้นคือ "มีม" (Meme) สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาหรือตัวหนังสือเพื่อสื่อความ แค่เพียงเห็นภาพก็จะสามารถเก็ตได้ทันทีว่าคนโพสต์ต้องการจะสื่อความอย่างไร 

คำว่า มีม นั้นเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปลายยุค 70s โดยถูกบัญญัติขึ้นโดยนักเขียนชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า ริชาร์ด ดอว์กิ้นส์ ในหนังสือของเขาชื่อว่า "The Selfish Gene" โดยตัวของ ดอว์กิ้นส์ ให้ความหมายของ มีม ไว้ว่า "การแพร่กระจายของไอเดียหรือข้อมูลทางวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อกันเป็นทอด ๆ"

เพียงแต่ว่าเมื่อมีโซเชียลมีเดีย ความหมายของ มีม ก็เปลี่ยนไป มันกลายเป็นการส่งต่อความตลกที่ทุกคนสามารถเข้าใจตรงกันได้โดยไม่มีกำแพงภาษามาขวางกั้น 

โดยสูตรสำเร็จของการเป็นยอดมีม คือการที่ผู้ที่อยู่ในภาพหรือในวิดีโอนั้นมักจะไม่รู้ตัว และการโดนถ่ายแบบทีเผลอนั้นเองที่ทำให้คนธรรมดาบางคนกลายเป็น "ดารามีม" ไปโดยไม่รู้ตัว หนึ่งในนั้นคือ ดิวเนิร์ส คอลลิน ดารามีมที่ไม่เคยประทับใจในความดังของตัวเองเลยแม้แต่น้อย

ดิวเนิร์ส คอลลิน ดังขึ้นจนเป็นดารามีมจากการที่มีชายคนหนึ่งถ่ายวิดีโอเขาโดยที่ไม่ได้ขออนุญาต เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ร้านไก่ทอดแฟรนไชส์ที่มีชื่อว่า Popeye ในขณะที่ตัว คอลลิน กำลังต่อแถวซื้อไก่ทอด ชายคนนั้นก็หันหน้ากล้องมาที่เขาแล้วพูดว่า "วันนี้ผมเจอ ลิล เทร์ริโอ ที่ร้านป๊อปอาย ... ไหนลองร้องว่า อู้วววว! ซิ" 

ความหมายของชายคนนั้นคือ คอลลิน ที่ ณ เวลานั้นมีอายุแค่ 9 ขวบ มีรูปร่างหน้าตาคล้าย ๆ กับ Lil TerRio (ชื่อจริง เทร์ริโอ ฮาร์ชอว์) เด็กอีกคนซึ่งมีน้ำหนักตัวเยอะไม่ต่างจากคอลลิน ผู้ที่มีคลิปเต้นซึ่งถูกโพสต์ลงบนแอปพลิเคชัน Vine แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ฮอตมาก ๆ ในอเมริกาช่วงต้นยุค 2010s ทำให้ชีวิตพลิกผันกลายเป็นคนดัง และก้าวสู่การเป็นแรปเปอร์ไปแล้วในปัจจุบัน

นึกภาพผู้ใหญ่คนหนึ่งถือกล้องถ่ายตัวเองอยู่ แต่อยู่ดี ๆ ก็พลิกหน้ากล้องมาทางเด็ก 9 ขวบ แล้วบอกว่า "เห้ย เทร์ริโอ ไหนพูดว่า อู้วววว! ซิ" เด็กคนนั้นจะเหวอขนาดไหนที่จู่ ๆ โดนใครก็ไม่รู้มาบอกแบบนั้น ?

 

คอลลิน จึงออกอาการหน้าเหวอและตกใจ สายตาของเขาไม่อยู่นิ่ง และในความลนลานนั้นเองที่ชายคนที่ถ่ายวิดีโอดังกล่าวคิดว่ามันตลกคูณสอง เขาจึงอัปโหลดคลิปลงใน Vine แอปพลิเคชันเดียวกับที่ทำให้ ลิล เทร์ริโอ ดังระเบิด

ความตลกของเด็กอ้วนที่โดนแกล้ง สายตาที่สับสน และการวางมือวางไม้ไม่ถูก ทำให้คนดูรู้สึกตลกขึ้นมาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย จากคลิปสั้น ๆ ไม่กี่วินาทีที่ถ่ายในร้านไก่ทอด เผลอแวบเดียว ดิวเนิร์ส คอลลิน กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลไปเรียบร้อยแล้ว เพราะยอดวิวคลิปดังกล่าวนั้นมากถึง 19 ล้านวิว 


Photo : nj.com

สำหรับบางคนการกลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืนอาจจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่สำหรับ คอลลิน นั้นแตกต่าง ตั้งแต่คลิปนั้นเป็นไวรัลและกลายเป็นมีมที่คนเอาไปใช้มาก ๆ เข้า เขากลับรู้สึกว่าตัวเองยิ่งหมดความมั่นใจลงไปเรื่อย ๆ เหมือนกับโดนแกล้งทุกวัน วันละหลาย ๆ รอบ โดยที่เขาไม่มีสิทธิ์ห้ามหรือตอบโต้ได้เลย 

สำหรับ คอลลิน ชีวิตของเขายากขึ้นเยอะหลังจากคลิปนั้นเผยแพร่ออกไป และถ้าเลือกได้เขาอยากให้มันหายไปจากโลกนี้เลยด้วยซ้ำ

ผมไม่ตลกด้วย 

"ผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้าถ่ายวิดีโอผมแบบมั่ว ๆ แล้วมันก็กลายเป็นไวรัล ผมคิดว่ามันคือการบูลลี่กันชัด ๆ ผมคิดแบบนั้นมาเสมอ ผมหลอนกับคำว่า "โอ้ เทร์ริโอ เทร์ริโอ" เพราะนั่นไม่ใช่ชื่อของผมสักหน่อย" คอลลิน เปิดใจกับ Sports Illustrated

เขากำลังบอกว่าเขารู้สึกว่าการถูกถ่ายวิดีโอในวันนั้นคือการคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันดังและเขากลายเป็นที่รู้จัก เขายิ่งหลอนเวลาที่มีคนเรียกเขาเหมือนกับที่ชายคนนั้นเรียก "โอ้ เทร์ริโอ เทร์ริโอ" 


Photo : instagram.com/dieunerst

เขาหมายความอย่างนั้นจริง ๆ ในขณะที่คลิปมีคนดูเยอะขึ้น มีคนใช้มีมที่เป็นหน้าของเขาบ่อยขึ้น คอลลิน ก็โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น และสำหรับเด็กวัยรุ่นจะมีอะไรมากไปกว่าการได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน การดูดีในสายตาของเพศตรงข้าม มันคือธรรมชาติที่เด็กวัยรุ่นทุกคนเป็น

 

แต่สำหรับ คอลลิน เขาทำแบบนั้นไม่ได้เลย เพราะภาพจำ ลิล เทร์ริโอ หรือ เด็กป๊อปอาย (Popeye Kid) ของเขา ทำให้เด็ก ๆ ทั้งโรงเรียนพร้อมใจเรียกเขาว่า ลิล เทร์ริโอ ไม่ก็ เด็กป๊อปอาย ไม่มีใครสนว่าชื่อจริงของเขาคืออะไร ทุกคนมองเขาเป็นตัวตลก และนี่คือสถานะที่วัยรุ่นอยากจะหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพราะมันแทบไม่มีทางลบล้างได้เลยเมื่อทุกคนจำเขาในแบบนั้นไปแล้ว

"ผมค่อนข้างอ่อนไหวและรู้สึกกับคำพูดเหล่านั้น และผมยอมรับเลยว่ามีการร้องไห้ออกมาบ้าง" คอลลิน ว่าต่อ 

เขาโดนเด็กรุ่นพี่แกล้งและล้อเลียนทุกวันจากมีมนั้น ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะหาวิธีแก้ไขมันอย่างไร ว่ากันตามตรงแล้วคือมันไม่มีทางแก้ไขได้เลย เพราะอะไรก็ตามที่หลุดไปบนโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว มันจะลุกลามและกระจายไปอย่างรวดเร็ว 


Photo : celebsground

เราทำได้แค่สองทาง อย่างแรกคือหาผลประโยชน์จากมัน เช่น โซอี้ รอธ เจ้าของมีม "เด็กเผาบ้าน" (Disaster Girl) ขณะที่เธอกำลังยืนดูการดับไฟที่กำลังเผาผลาญบ้านที่อยู่ใกล้กับบ้านของเธอโดยนักดับเพลิง ด้วยแววตาและรอยยิ้มที่เย็นยะเยือก จนกลายเป็นมีมดัง จนเธอโตขึ้นเธอและครอบครัวจึงนำภาพนี้มาขายเป็น NFT (สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก แม้จะมีการทำภาพซ้ำแต่ภาพต้นฉบับจะมีการเข้ารหัสที่ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นของดั้งเดิม) รับทรัพย์ไปเกือบ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 16.7 ล้านบาทจากการขายครั้งแรก และจะได้ส่วนแบ่ง 10% หากมีการขายต่อไปเรื่อย ๆ

 

และทางเลือกที่ 2 คือการยอมรับความจริงและอยู่กับมันให้ได้ ใช้ช่วงเวลาหลังจากนี้พิสูจน์ว่าเรามีดีมากกว่าการเป็นแค่ตัวตลกจากมีมดัง ซึ่ง คอลลิน เลือกทางเลือกนี้ 

เมื่อเขาโดนล้อเลียนทุกวัน ความชาชินก็บังเกิด แม้จะไม่ชอบใจแต่ก็ทำอะไรมากไม่ได้ เขาเริ่มยิ้มรับกับการล้อเลียน และเริ่มหันมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง เลิกหลบซ่อน และหนีผู้คนเยอะ ๆ เพราะกลัวโดนล้อ เพื่อบอกให้โลกรู้ว่าเขาชื่อ ดิวเนิร์ส คอลลิน ไม่ใช่ ลิล เทร์ริโอ ที่ทุกคนเรียกกันมาตลอด

เพราะชีวิตมีหลายรสชาติ 

"ตอนเรียน ม.ต้น มีหลายคนมาทักผมว่า 'เฮ้ยไอ้น้อง แกมาจากมีม ลิล เทร์ริโอ นี่นา' ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ม.ปลาย ที่ทำแบบนั้น เมื่อผมเข้าไปในห้องเรียนเพื่อนผมก็ทักแบบนั้นอีก ซึ่งผมก็ยอมรับว่าที่สุดแล้วเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ผมก็แค่ต้องเป็นตัวของตัวเองต่อไป ผมไม่หลีกหนีอีกแล้ว ใครที่ทักผมว่า ลิล เทร์ริโอ ผมก็จะพูดคุยกับพวกเขา บอกว่าจริง ๆ แล้วผมชื่ออะไร และตัวตนของผมเป็นยังไงบ้าง ซึ่งเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งผมก็คิดว่าผมผ่านมันมาได้นะ" 

เมื่อขึ้น ม.ปลาย ที่โรงเรียนมัธยม East Orange High School คอลลิน ก็เริ่มหากิจกรรมต่าง ๆ ทำมากขึ้น และเขาก็พบกับอเมริกันฟุตบอล กีฬาที่ทำให้เด็กป๊อปอายอย่างเขาได้ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ที่สุด


Photo : instagram.com/dieunerst

คอลลิน สมัครเข้าทีมโรงเรียน และลงเล่นในตำแหน่ง ไลน์แบ็คเกอร์ (ตัวหยุดเกมรุกของคู่แข่งที่ต้องอาศัยความแข็งแรงเป็นหลัก) เขาสูงราว ๆ 184 เซนติเมตร หนักกว่า 142 กิโลกรัม สำหรับเด็กอายุ 16 ปี ที่เล่นอเมริกันฟุตบอลในตำแหน่งไลน์แบ็คเกอร์ คอลลิน จึงกลายเป็นผู้เล่นตัวหลักของทีมได้ไม่ยาก 

เพื่อน ๆ ในทีมไม่ได้เรียกชื่อเขาว่า ลิล เทร์ริโอ อีกแล้ว แต่เรียกเขาว่า "ออร์ก้า" หรือ วาฬเพชฌฆาต ไปเรียบร้อย ในที่สุด คอลลิน ก็มีคนเรียกเขาในแบบที่เขาอยากให้เรียกแล้ว เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งของทีมโรงเรียน East Orange High School ไม่ว่าจะด้านร่างกายหรือด้านจิตใจก็ตาม

สิ่งที่ตามมาจากความแข็งแกร่ง คือความสำเร็จและการได้รับการยอมรับในแบบที่ตัวเองเป็น คอลลิน พาทีม East Orange High School คว้าแชมป์อเมริกันฟุตบอลระดับไฮสคูล ในการแข่งขันระดับรัฐของรัฐนิวเจอร์ซีย์ ด้วยสถิติชนะทุกเกมที่ลงสนาม และเตรียมตัวไปแข่งขันในระดับชิงแชมป์ประเทศหลังจากนี้ 


Photo : instagram.com/dieunerst

อีกไม่กี่ก้าวก็จะถึงก้าวสำคัญของ คอลลิน แล้ว หากเขาสามารถใช้อเมริกันฟุตบอลต่อยอดจนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ เขาจะมีโอกาสกลายเป็นมืออาชีพในระดับ NFL เพราะที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นให้ความสำคัญกับกีฬามหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก มีคนเข้าชมเกมใหญ่ ๆ มากถึงระดับ 1 แสนคนให้เห็นเป็นประจำ 

เหตุผลก็เพราะว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่วางให้กีฬาระดับมหาวิทยาลัยเป็นเวทีคัดกรองนักกีฬาที่จะพัฒนาสู่ระดับอาชีพ แตกต่างจากยุโรปที่เน้นระบบอคาเดมี เนื่องจากสหรัฐฯ เชื่อว่า ระบบการศึกษาที่ควบคู่ไปกับกีฬาจะพัฒนาคนได้ดีกว่าการมุ่งหน้าเล่นกีฬาเพียงอย่างเดียว นักกีฬาจึงมีเวทีพัฒนาตัวเองตั้งแต่ระดับมัธยมสู่ระดับมหาวิทยาลัยต่อไปจนถึงระดับอาชีพ

เด็กเก่ง ๆ ตั้งแต่ระดับมัธยมจะถูกกลั่นกรองจากแมวมองในมหาวิทยาลัยก่อนทีมอาชีพ จากนั้นทีมอาชีพก็จะมาดูพวกเขาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นเส้นทางที่ดีมาก ๆ สำหรับ คอลลิน ที่เคยนอนร้องไห้ทุกวันเพราะคิดว่าตัวเองเป็นตัวตลกในสายตาคนอื่น 

การศึกษาให้อะไรมากกว่าความรู้ กีฬาให้อะไรมากกว่าสุขภาพที่แข็งแรง เพราะทั้งสองสิ่งนี้ได้แฝงเอาไว้ด้วยการปลูกฝังทัศนคติที่ดี เป็นการเอาชนะความยากลำบากทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งที่สุดแล้วหากก้าวผ่านเรื่องที่ติดค้างในใจไปได้ เมื่อมองย้อนกลับไปปัญหาที่ผ่านมาก็เป็นแค่เรื่องขี้ผงเท่านั้น ซึ่ง คอลลิน ก็ได้เข้าใจความจริงข้อนี้ด้วยตัวเองแล้ว


Photo : instagram.com/dieunerst

"ผมแค่อยากจะบอกว่า อย่าเก็บเอามันมาคิดคนเดียวจนเป็นเรื่องใหญ่โตอะไรมากมาย เพราะผมเคยทำมาก่อนแล้ว ตอนนี้ผมผ่านมาได้ ผมไปในที่ที่ผมได้เป็นตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าผมจะเก็บตัวไม่ออกไปไหนอีกแล้ว"

"ในเวลาร้าย ๆ เจอเรื่องแย่ ๆ คุณต้องอยู่ใกล้กับเพื่อนที่ดีและครอบครัวของคุณเอาไว้ เมื่อสภาพจิตใจและทัศนคติคุณดี คุณจะก้าวออกมาเพื่อพบว่า คุณจะได้พบเจอกับคนใหม่ ๆ และประสบการณ์ใหม่ ๆ มากมาย ... จำเอาไว้ อย่ามัวแต่จับเจ่าอีกเลย" คอลลิน กล่าวทิ้งท้าย 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook