Sportwashing : เจาะเกมการเมืองที่ล้างภาพลักษณ์อันเลวร้ายของประเทศผ่าน "กีฬา"

Sportwashing : เจาะเกมการเมืองที่ล้างภาพลักษณ์อันเลวร้ายของประเทศผ่าน "กีฬา"

Sportwashing : เจาะเกมการเมืองที่ล้างภาพลักษณ์อันเลวร้ายของประเทศผ่าน "กีฬา"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม" เป็นหนึ่งในบทเพลงยอดฮิตของ อิ้งค์ วรันธร สำหรับคนที่ยังมูฟออนจากเรื่องราวความรักไม่ได้ และเป็นวลีเตือนใจชาติต่าง ๆ ว่า ในเมื่อลบไม่ได้ก็สร้างความทรงจำใหม่ขึ้นมาทับจุดนั้นไปเสียเลย

โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน, ฟุตบอลโลก 2022 ของ กาตาร์ ที่ต้องย้ายมาเตะในฤดูหนาวช่วงปลายปี และการประเดิมสนามครั้งแรกในประเทศ กาตาร์ และ ซาอุดีอาระเบีย ของรถแข่ง ฟอร์มูล่าวัน ฤดูกาล 2021 ต่างเป็นตัวอย่างสำคัญของการทำ Sportwashing ที่อาศัยกีฬามากอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศ จากเรื่องราวแง่ลบที่กำลังดำเนินอยู่หลังสปอตไลท์

จุดกำเนิดของเกมการเมืองหลังม่านกีฬาเหล่านี้มาจากตรงไหน ? แล้วทำไมมันถึงเกิดขึ้นบ่อยขนาดนี้ Main Stand จะพาทุกคนกินยาเม็ดสีแดง แล้วดำดิ่งไปสู่ก้นบึ้งของโพรงกระต่ายแห่งนี้

พลังของเจ้าภาพ

การเป็นเจ้าภาพจัดแข่งมหกรรมกีฬาระดับโลกเริ่มได้รับความนิยมจากชาติมหาอำนาจน้อยลง เนื่องจากงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว และความเสี่ยงไม่คุ้มทุนที่สูงเกินกว่าจะนำเงินภาษีของประชาชนไปผลาญเล่น

สิ่งดังกล่าวทำให้การเสนอตัวจัดแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ฤดูหนาว หรือแม้แต่รายของฟุตบอลโลก เริ่มมีเมืองใหญ่มาแย่งชิงตำแหน่งเจ้าภาพกันน้อยลงจากเดิม และเปิดทางให้มีเมืองหน้าใหม่ขึ้นมาเฉิดฉายกันมากขึ้น

บราซิล, กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, อาเซอร์ไบจาน, บาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, รัสเซีย และ จีน เป็นชื่อประเทศที่เราคุ้นตากับบทบาทเจ้าภาพจัดแข่งกีฬาต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ชาติเหล่านี้เริ่มกลายเป็นเจ้าประจำของรายการกีฬาระดับโลก ทั้ง โอลิมปิก, ฟุตบอล, มอเตอร์สปอร์ต, มวยสากล หรือ จักรยาน เป็นต้น

 

ไม่มีอะไรผิดกับการที่ชาติเหล่านี้จะขึ้นมาเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาระดับโลก แถมส่วนมากยังดำเนินการออกมาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ทว่าสิ่งที่ประเทศเหล่านี้มีคล้ายคลึงกันคือเรื่องราวของการเมืองภายในประเทศ ที่ถูกรายงานถึงการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อกีฬาเป็นภาษาสากล ไม่ว่าผู้คนมุมไหนของโลกต่างก็สามารถเข้าใจได้และยินดีที่จะรับชมการแข่งขันดังกล่าว จึงไม่แปลกที่การลงทุนกับกีฬากลายเป็นสูตรสำเร็จเพื่อชำระล้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของประเทศ และใช้เสียงเชียร์ในสนามมาลบเสียงเรียกร้องของประชาชนในประเทศตนเอง

ครั้งแรก ๆ ของ Sportwashing ต้องย้อนเวลากลับไปในปี 1936 กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ที่แม้การเลือกเจ้าภาพจะมีขึ้นก่อนที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศ แต่ทางพรรคนาซีก็ฉวยใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อลบล้างภาพลักษณ์ไม่ดีของชาติตน และตั้งใจสร้างความชอบธรรมในอำนาจของตนเองผ่านมหกรรมกีฬาครั้งนี้

ป้ายโลโก้พรรคนาซีมีอยู่ทั่วทุกมุมเมือง เช่นกันกับการอนุญาตให้ชาวยิวเข้าร่วมแข่งขันได้ในนาทีสุดท้าย และต้องเก็บป้ายไม่ต้อนรับชาวยิวออกจากกรุงเบอร์ลินแบบเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดสัญญาณผ่านวิทยุไปทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งของสูตรการทำ Sportwashing ยุคแรก ๆ ที่ทรงประสิทธิภาพไม่น้อยเลย

กีฬาสร้างภาพ

"Sportwashing เป็นขั้นตอนที่ชาติที่มีชื่อเสียด้านสิทธิมนุษยชน ใช้กีฬามา PR สร้างพาดหัวข่าวด้านบวกให้กับประเทศตนเอง และเบี่ยงความสนใจไปจากประวัติอันไม่ดีของพวกเขา" คือความเห็นของ เฟลิกซ์ จาเกนส์ จาก Amnesty International แห่งสหราชอาณาจักร

อาเซอร์ไบจาน อาจเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่มีผลงานโดดเด่นด้านกีฬา แต่พวกเขาก็ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ ยูโรเปี้ยน เกมส์ ครั้งแรกในปี 2015 รวมถึงการร่วมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลยูโร 2020 และจัดการแข่งขัน F1 บนถนนของเมืองหลวงอย่าง บากู มาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว

อย่างไรก็ตามพวกเขาได้กวาดล้างและจับกุมนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมถึงนักข่าวผู้พยายามสืบสวนข้อมูลการทุจริตในรัฐบาลของตนอย่าง คาดิยา อิลมายิโลวา (Khadija Ismayilova) ที่ถูกคุมขังอยู่นานกว่า 5 ปี หลังเปิดเผยว่ามีการคอร์รัปชันอยู่ในระดับชนชั้นผู้นำของประเทศ จนเกิดการเรียกร้องจากนานาชาติ ให้ผู้บริหารของการจัดการแข่งขันกีฬาเหล่านี้ร่วมแสดงออกอย่างชัดเจน

 

ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเด็นบนหน้าหนึ่งมาอย่างต่อเนื่อง จากการจัดแข่งขัน WWE, นัดชิงฟุตบอลถ้วยของอิตาลีและสเปน, F1 สนามรองสุดท้ายของปี 2021 ซึ่งยังไม่รวมถึงการมีกลุ่มทุนของตนเข้าเทคโอเวอร์สโมสร นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด อีกด้วย

Grant Liberty หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยตัวเลขค่าใช้จ่ายในการทำ Sportwashing ของ ซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่อย่างน้อย 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์สำหรับจัด F1 อีก 10 ปีต่อจากนี้ที่ 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันถูกใช้เพื่อดีล WWE มาแข่งในประเทศของตนตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเพิ่งอนุญาตให้นักแข่งหญิงเดินทางมาเข้าร่วมได้ในปี 2019 เท่านั้น

มินกี้ วอร์เดน หนึ่งในผู้บริหารของ Human Rights Watch เปิดเผยว่า "องค์การกีฬาอย่าง Formula 1 และ FIA ไม่อาจหลีกเลี่ยงความจริงได้ ว่าพวกเขาและคนดูกำลังถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอน Sportwashing นี่เป็นกลยุทธ์ดึงความสนใจจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของซาอุดีอาระเบีย พวกเขากำลังกักขังและทรมานนักเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้"

"ผู้เกี่ยวข้องของ F1 เคยพูดคุยกับผู้นำในซาอุดีอาระเบีย เพื่อกระตุ้นให้มีการปล่อยตัวนักเรียกร้องสิทธิ์ให้ผู้หญิงขับรถไหม ? เหล่าแฟน ๆ, สื่อ, และทีมผู้ผลิตควรใช้โอกาสนี้เรียกร้องไม่ให้การแข่งขันของตนต้องแปดเปื้อนจากการเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสีย"

 

ด้านประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กาตาร์ ว่าที่เจ้าภาพฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2022 ก็เผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติเช่นกัน อย่างในกรณีของแรงงานก่อสร้างสนามแข่งขันที่มียอดผู้เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงานแล้วมากกว่า 6,000 คน นับตั้งแต่พวกเขาได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ หรือกรณีของสิทธิสตรี บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ที่กรณีหลังเคยมีผู้ถูกตัดสินขังคุกตลอดชีวิตจากการวิจารณ์รัฐบาลมาแล้ว จนมีนักเตะและตัวแทนจากนานาประเทศบางส่วนแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว และพร้อมแสดงออกถึงการประท้วงในช่วงฟุตบอลโลกด้วยเช่นกัน

เช่นกันกับกรณีของโอลิมปิกฤดูหนาวในประเทศจีน ที่ถูกนานาชาติร่วมคว่ำบาตรทางการทูต นำโดย สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย และ แคนาดา ด้วยการไม่ส่งตัวแทนจากรัฐบาลเข้าร่วมตลอดการแข่งขัน จากประวัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่มีต่อชาวมุสลิมในมณฑลซินเจียง การปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และอีกหลายเหตุการณ์อันเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลจีน

หรืออย่างกรณีของ บราซิล ผู้ได้เป็นเจ้าภาพจัดทั้งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2014 และโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2016 ที่ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศด้วยการสร้าง "แผงสะท้อนเสียง" ตามคำอ้างของรัฐบาล มากั้นบริเวณสลัมข้างทาง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างถนนที่เชื่อมต่อสนามบินเข้ากับสนามกีฬา เพื่อบดบังภาพความแออัดของประชาชนตนเองจากสายตาชาวโลก

ในส่วนของบริเวณโอลิมปิกพาร์ก หรือจุดที่มีสนามแข่งขันอยู่เป็นจำนวนมากอย่างเขต บาร์ฮา ทางตะวันตกของนคร ริโอ เดอ จาเนโร เจ้าหน้าที่ได้เวนคืนที่ดินจากผู้อยู่อาศัย ผ่านการใช้กำลังตำรวจเข้ามาขับไล่ และย้ายให้ประชาชนเหล่านี้ย้ายออกไปทางฝั่งตะวันออก ไกลออกไปจากแหล่งท่องเที่ยวของชาติตนเอง ซึ่งมีมากกว่า 77,000 ครัวเรือนที่ต้องหลีกทางมอบพื้นที่ให้กับมหกรรมกีฬาครั้งนี้

 

ทางออกอยู่ตรงไหน ?

ในเมื่อก็เห็นกันอยู่ทนโท่ว่าหลายประเทศกำลังใช้กีฬามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำมาสร้างความชอบธรรม และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตนเอง แล้วบรรดาสหพันธ์กีฬาต่าง ๆ มีมาตรการป้องกันเหตุการณ์แบบนี้กันอย่างไร ?

แม้มีแรงกดดันจากนักกีฬาอยู่บ่อยครั้ง อย่างในกรณีของ เซอร์ ลูอิส แฮมิลตัน ที่กระตุ้นให้ F1 มีส่วนช่วยแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศที่พวกเขาไปแข่งขันอย่าง บาห์เรน, กาตาร์, และ ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

"เราไปมาหลายประเทศเลย แน่นอนว่าการแข่งนั้นดำเนินไปด้วยดี แต่เราไม่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะยาวได้เลย คำถามคือเราทำได้ไหม ? เราสามารถดึงความสนใจมาให้กับสถานที่เหล่านี้ เพื่อกระตุ้นให้มีความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ?" ซึ่งแม้จะมีแคมเปญ "We Race As One" เพื่อสนับสนุนการต่อสู้กับโควิด-19 และความไม่เท่าเทียมทั่วโลกขึ้นมา แต่ก็ยังไม่มีการกระทำใด ๆ มาจัดการกับ Sportwashing โดยตรง

น่าเศร้าที่การทำ Sportwashing จะยังคงอยู่ต่อไป และอาจมีโอกาสเกิดบ่อยขึ้นอีกในอนาคต จากการเข้ามาลงทุนของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน เช่น ร่วมเป็นสปอนเซอร์ของทีมกีฬา เข้าซื้อสโมสรต่าง ๆ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน หรือทำเป็นว่ามียุทธศาสตร์ระยะยาวในการลงทุนเพื่อพัฒนากีฬาในประเทศ เพื่อสร้างกระแสในเชิงบวกขึ้นมากลบเกลื่อนเรื่องราวไม่ดีของประเทศตน

เมื่อมีผู้มีทุนทรัพย์เพียบพร้อม กอปรกับสถานการณ์โลกที่ยังฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาด คงยากที่เราจะได้เห็นมาตรการแบบชัดเจนจากสหพันธ์กีฬาต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศกลุ่มนี้ใช้ประโยชน์จากกีฬาได้

แถมเมื่อการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น เรื่องราวที่ถูกพูดถึงก็คงมีแต่ประเด็นในสนามมากกว่าสิ่งอื่น ๆ ที่มักถูกซุกซ่อนไว้อย่างดี อันเป็นสูตรสำเร็จในการทำ Sportwashing มาตั้งแต่ยุคของ ฮิตเลอร์ แล้ว

ในโลกแห่งอุดมคติ กีฬากับการเมืองอาจอยู่แยกกัน ไม่มีคราบเลือดหรือเสียงกรีดร้องมาปนเปื้อนอยู่ในคราบเหงื่อและเสียงเชียร์ แต่บนดาวเคราะห์สีน้ำเงินกลางฝุ่นผงของจักรวาลแห่งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีบางมุมบนดาวดวงนี้ที่พยายามสร้างความทรงจำใหม่ขึ้นมาลบล้างความผิดหรือสิ่งที่ผิดหลักมนุษยธรรม

ตัวละคร มอร์เฟียส เคยพูดกับ นีโอ ในภาพยนตร์ "The Matrix" ไว้ว่า "ถ้าคุณเลือกยาเม็ดสีน้ำเงิน เรื่องราวจะจบลง คุณจะตื่นขึ้นมาและเชื่อในสิ่งที่คุณเคยเชื่อ แต่ถ้าคุณเลือกยาเม็ดสีแดง คุณจะอยู่ในโลกแห่งวันเดอร์แลนด์ และผมจะแสดงให้คุณเห็นว่าโพรงกระต่ายนั้นลึกลงไปแค่ไหน"

คุณได้เลือกยาสีแดงมาแล้วในข้างต้น มันอาจไม่ใช่เรื่องที่คุณอยากฟังหรือนึกฝันว่าจะเกิดขึ้นมาหรอก แต่นี่คือความเป็นจริงที่กำลังเป็นไปอยู่ในขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้แหละ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook