ลงมือเริ่มต้นจากศูนย์ : การปั้นนักฟุตซอลทีมชาติเมียนมาจากมุมมอง "อ.บุญเลิศ เจริญวงศ์"

ลงมือเริ่มต้นจากศูนย์ : การปั้นนักฟุตซอลทีมชาติเมียนมาจากมุมมอง "อ.บุญเลิศ เจริญวงศ์"

ลงมือเริ่มต้นจากศูนย์ : การปั้นนักฟุตซอลทีมชาติเมียนมาจากมุมมอง "อ.บุญเลิศ เจริญวงศ์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2022 สิ้นสุดลงไปด้วยผลลัพธ์อันน่าพอใจของหลายชาติ โดยทีมหนึ่งที่ทำผลงานได้อย่างน่าพอใจคือ ทีมชาติเมียนมา ที่ก้าวมาคว้าอันดับ 4 ของการแข่งขันได้สำเร็จ

หากมองผ่านๆ ผลงานในครั้งนี้อาจไม่สร้างความแปลกใจให้ใครเท่าไหร่ เพราะการแข่งขันครั้งที่แล้วทีมชาติเมียนมาก็สามารถจบอันดับ 4 ของการแข่งขันได้เช่นกัน 

แต่เมื่อมองไปยังความจริงที่ว่า วงการฟุตซอลเมียนมานิ่งเงียบมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีแม้แต่การแข่งขันลีกอาชีพเนื่องจากพิษโควิด การก้าวมาจบตรงนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ไกลเกินคาด

Main Stand จะพาไปพูดคุยกับ อ.บุญเลิศ เจริญวงศ์ อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตซอลหญิงทีมชาติไทยที่ก้าวไปจับงานคุมทีมชาติเมียนมา ถึงแนวทางการปลุกปั้นทีมที่เริ่มต้นจากศูนย์ จนสามารถพานักเตะชุดนี้ก้าวสู่อันดับ 4 ของภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด

1อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเข้ามารับงานเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตซอลทีมชาติเมียนมา?

ผมได้รับโอกาสจากเพื่อนที่ทำงานเป็นวิทยากรใน AFC ด้วยกัน เขาแนะนำผมให้กับสมาคมฟุตบอลเมียนมา เพราะตอนนั้นมีการเปลี่ยนตำแหน่งประธานพัฒนากีฬาฟุตซอลเมียนมาคนใหม่ ซึ่งตอนแรกเขาติดต่อมาว่าจะให้ผมไปคุมทีมฟุตซอลหญิง ส่วนฟุตซอลชายทางสมาคมก็ประกาศหาโค้ชไปสักระยะ แต่ไม่มีใครสมัครเข้ามา อาจจะเป็นเพราะปัญหาเรื่องโควิด

ประธานสมาคมฟุตบอลเมียนมาเลยเข้ามาคุยกับผมว่า ผมสามารถจะเปลี่ยนไปคุมทีมฟุตซอลชายแทนได้ไหม? ส่วนทีมหญิงเปลี่ยนไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาแทน ซึ่งมันสลับกับที่เราคุยไว้เบื้องต้นในสัญญาที่ผมต้องเป็นเฮดโค้ชทีมหญิงแล้วเป็นที่ปรึกษาให้ทีมชาย พร้อมกับเป็นวิทยากรอบรมโค้ชฟุตซอลในเมียนมา

ผมก็เปิดใจกับทางสมาคมว่า ในเรื่องการทำงานในภาพรวมจะเป็นอย่างไร? ตัวนักเตะจะให้ผมคัดเลือกเองไหม? เพราะถ้าผมเข้าไปคุมทีมแล้วบังคับให้ใช้นักเตะที่มีอยู่แต่เดิมผมคงไม่เข้าไป ซึ่งทางสมาคมก็บอกว่าการตัดสินใจทุกอย่างแล้วแต่ตัวผมเลย ก็ต้องขอบคุณผู้จัดการทีมที่เขาให้เกียรติเรา เพราะการเลือกตัวหรือการตัดสินใจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับทีมฟุตซอลชายเมียนมาอำนาจมาอยู่ที่ผมทั้งหมด

 

ก่อนจะเข้ามาทำงานตรงนี้คุณรู้จักฟุตซอลทีมชาติเมียนมามากน้อยแค่ไหน?

ช่วงก่อนที่จะมีโควิด วงการฟุตซอลเมียนมาก็เริ่มจะมีความแข็งแกร่งขึ้นมา มีการแข่งขันในระบบลีกสำหรับสโมสรในประเทศ ส่วนระดับทีมชาติก็สามารถผ่านเข้าสู่การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียได้แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2018 ผมก็มองเห็นว่าฟุตซอลเมียนมาเริ่มที่จะมีการพัฒนาอย่างจริงจัง

แต่หลังจากเกิดโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมานี้ วงการฟุตซอลเมียนมาไม่มีความเคลื่อนไหว ถึงจะมีก็เป็นความเคลื่อนไหวที่เล็กน้อยมาก เช่น ทัวร์นาเมนต์เล็กๆ ส่วนการแข่งขันลีกฟุตซอลเหมือนอย่างประเทศไทยคือหายไปเลย พูดง่ายๆคือ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เมียนมาไม่มีฟุตซอลลีก

2เมื่อไม่มีฟุตซอลลีก ผมก็ไม่สามารถดูฟอร์มนักเตะได้ มีแค่ข้อมูลเดิมที่ทางสมาคมรวบรวมไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเตะที่เคยติดทีมชาติประมาณ 30 กว่าคน แต่ผมต้องการเห็นนักกีฬาแบบตัวเป็นๆ ผมก็เลยบอกกับทางสมาคมไปว่าช่วยจัดการแข่งขันพิเศษให้หน่อยได้ไหม? จึงมีการเชิญ 6 สโมสรฟุตซอลมาแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ เพื่อที่จะให้ผมสามารถคัดเลือกนักกีฬาผ่านการดูพวกเขาแข่งขันบวกกับข้อมูลเดิมที่ผมมีอยู่ในมือ

ปัจจุบันนี้ เมียนมาก็ยังคงไม่มีฟุตซอลลีก ผมจึงต้องมาเริ่มต้นทำงานใหม่ทั้งหมด จะพูดว่าเริ่มต้นจากศูนย์เลยก็ได้

 

การขาดหายไปของฟุตซอลลีกในเมียนมาส่งผลให้มาตรฐานของพวกเขาแตกต่างจากชาติอื่นในอาเซียนมากน้อยแค่ไหน?

ก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงานตรงนี้ ผลงานต่างๆหรืออันดับโลกของฟุตซอลเมียนมามีความแตกต่างกับทีมชาติไทยมากอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยเรามีลีกฟุตซอลตลอด นักเตะมีรายการให้เล่นเยอะ แถมลีกก็เป็นระบบอาชีพจริงๆ

แต่สำหรับเมียนมา เมื่อบ้านเขาไม่มีลีกฟุตซอล ส่วนมากนักกีฬาก็จะเล่นแต่ฟุตบอล 7 คน ซึ่งพอพวกเขาไม่มีลีกอาชีพมันก็นำมาสู่มาตรฐานที่ห่างกันมาก นักกีฬาไทยมีการแข่งขันตลอด เพราะคำว่า มืออาชีพ กับ มือสมัครเล่น มันต่างกันมาก

3ยกตัวอย่าง ทีมชาติไทยได้ไปแข่งขันฟุตซอลโลก กลับมาก็มีความมั่นใจในการแข่งขัน หรือแม้กระทั่งเวียดนามที่มีประสบการณ์ทั้งฟุตซอลลีกและการแข่งขันระดับโลก มันก็ทำให้ชาติเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่ฟุตซอลเมียนมามีความเคลื่อนไหวน้อยมาก

ดังนั้น มาตรฐานของผู้เล่นทั้งในเรื่องของประสบการณ์หรือแมตช์ฟิตเนส เมียนมาต่างจากชาติอื่นอยู่แล้ว แตกต่างมากเลย

 

คุณต้องเริ่มสร้างฟุตซอลทีมชาติเมียนมาใหม่ตั้งแต่ต้น เล่าให้เราฟังหน่อยว่าคุณลงมือพัฒนาสิ่งใดบ้าง?

อันดับแรกเลยคือ เรื่องของสมรรถภาพ ก่อนหน้านี้ที่เมียนมาแพ้ไทย 0-9 แพ้เวียดนาม 1-7 หรือแพ้อิหร่าน 0-14 เพราะว่าครึ่งแรกหรือช่วงสิบนาทีแรกเล่นดีมาก ทำได้ดีมาก แต่พอแรงหมดในช่วงครึ่งหลัง ทุกอย่างมันหายหมดเลย ผมจึงต้องการพัฒนาสมรรถภาพก่อน

อันดับสองคือ เรื่องของเทคนิคหรือทักษะเฉพาะตัว เรื่องนี้สำคัญมากในฟุตซอล เพราะการจะเล่นฟุตซอลให้ดีต้องให้ความสำคัญเรื่องเทคนิค เพราะเราต้องใช้เทคนิคเหล่านี้มาช่วยเหลือการเล่นเกมรุกและเกมรับ ทักษะตรงนี้มันต้องมีในตัว

แต่ที่ผมไปเห็นในตอนแรก นักเตะเมียนมาจะเน้นเฉพาะเรื่องของเกมรุกอย่างเดียว โดยที่หลายคนยังบกพร่องเกมรับ คือเขาอาจจะมีทักษะอยู่ในตัวนะ แต่ยังไม่รู้วิธีการนำออกมาใช้ เพราะว่าผมสามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนพวกเขาได้เร็วมาก หลายคนก็เข้าใจในสิ่งที่ผมสอน

4เพราะฉะนั้น จะบอกว่านักเตะเมียนมาขาดทักษะขาดเทคนิคมันก็ไม่ใช่ เพียงแต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะนำมันออกมาอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่ผมเห็นอย่างชัดเจน

อีกอย่างคือ เรื่องทัศนคติในการเล่นฟุตซอล เพราะความเป็นมืออาชีพในตัวนักเตะฟุตซอลเมียนมามันไม่มีเลย (เน้นเสียง) ความมืออาชีพที่ผมหมายถึงคือ ความมุ่งมั่นที่จะเล่น ความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะ เรื่องเหล่านี้พวกเขาแทบจะไม่มี

เมื่อลงสนาม นักเตะเมียนมาจะเล่นแบบเรื่อยไป เล่นเหมือนกำลังเตะบอลเดินสาย มีเล่นเหยาะแหยะมั่ง มีเล่นไม่เต็มที่บ้าง เพราะเขาไม่รู้เลยว่า ฟุตซอลในระดับอาเซียน ฟุตซอลในระดับเอเชีย คุณต้องซ้อมหนักขนาดไหน คุณต้องทุ่มเทในการเล่นขนาดไหนคุณถึงจะยืนหยัดอยู่บนระดับนี้ได้

ผมก็ต้องไปปรับทัศนคติเขาว่าถ้าคุณอยากชนะทีมชาติไทยคุณก็ต้องเล่นให้เหมือนไทย ถ้าคุณอยากชนะเวียดนามคุณก็ต้องเล่นให้เหมือนเวียดนาม ตอนนี้เขาคะแนนเต็มสิบคุณก็ต้องซ้อมให้หนักกว่าเขา เอาให้มันถึงสิบเอ็ดหรือสิบสอง ถ้าเขาทุ่มเทเต็มร้อย คุณก็ต้องใส่ให้มันเกินร้อย ผมต้องพูดให้ลูกทีมฟังแบบนี้

 

การทำงานตรงนี้มีความยากง่ายมากน้อยแค่ไหน? เพราะดูเหมือนว่ามีอะไรหลายอย่างที่คุณต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยน

ผมมองว่าหน้าที่ของผมคือเข้าไปดึงความสามารถในตัวนักเตะเมียนมาออกมา เอาสิ่งที่เขามีอยู่แล้วในตัวให้นำออกมาใช้แบบมืออาชีพ ผมมองว่าแบบนี้ เพราะสุดท้ายคือ พวกเขาปรับตัวได้เป็นอย่างดีและปรับตัวได้เร็วด้วยกับคอนเซ็ปต์ฟุตซอลที่ผมวางลงไป หรือการฝึกสอนเรื่องทัศนคติต่างๆ

5ผมอาจจะโชคดีหน่อยในเรื่องนี้เพราะว่าประสบการณ์ของนักเตะเมียนมายังไม่สูง การเรียนรู้อะไรใหม่ๆจึงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งผู้ช่วยผู้ฝึกสอนหรือทีมโค้ชต่างๆ เขาก็ไม่ได้มีความรู้หรือประสบการณ์ขนาดนั้น พูดง่ายๆคือ ไม่ได้มีความรู้เหนือกว่าผม

เพราะฉะนั้น เมื่อผมนำเสนอความรู้ใหม่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในหลักสูตรของ AFC หรือเนื้อหาใหม่นอกจากนั้น เมื่อเขาได้เห็นได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ พวกเขาก็ยอมรับผมทุกอย่างและให้เกียรติผมมาก เขาบอกกับผมเลยนะว่า ไม่ว่าคุณจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้ ผมจะเชื่อคุณหมดเลย

 

เล่าประสบการณ์ทำงานร่วมกับนักเตะชาวเมียนมาให้ฟังหน่อยว่าคาแร็กเตอร์หรือนิสัยใจคอของพวกเขาเป็นอย่างไร?

นักเตะเมียนมาตอนนี้เปรียบเหมือนกับเป็นผ้าขาว เอาอะไรใส่ลงไปเขาก็รับหมดเลย คือเมื่อเขายอมรับตัวเราแล้วผมบอกให้เขาทำอะไร พวกเขาทำได้ทั้งหมด แต่ก็มีนักเตะบางคนที่มีอีโก้อยู่บ้าง 

ผมเจอนักกีฬาบางคนที่เขายังไม่ยอมรับตัวเรา บางคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแนวทางการเล่นตามที่ผมบอก ยังยึดติดกับรูปแบบเดิมที่เคยเล่นมา สอนอะไรไปก็จะมีคำถามขึ้นมาตลอดว่าทำไมต้องทำอย่างนู้น ทำไมต้องทำอย่างนี้

เมื่อผมพาทีมไปแข่งขันเกมอุ่นเครื่อง แน่นอนว่าความผิดพลาดมันย่อมเกิดขึ้น ผมก็คอมเมนต์กับเขาไปตรงๆเลยว่า มันเกิดขึ้นเพราะคุณไม่ทำตามผม หรือตำหนิเขาไปตรงๆเลยว่า ถ้าคุณยังไม่เล่นตามแทคติก ผมก็คงจะไม่ส่งคุณลงสนามอีก ซึ่งท้ายที่สุด ผมก็สามารถปรับเปลี่ยนเขาได้ เพราะผมยืนยันได้ว่า สิ่งที่เขาเล่นไปมันสร้างความผิดพลาดให้กับทีมจริง

6คือทุกครั้งที่มีการลงทีมหรือเตะอุ่นเครื่อง ผมจะถ่ายวิดีโอไว้ หลังจากนั้นผมจะเปิดให้เขาเห็นหมดเลยว่า ความผิดพลาดของคุณคืออะไร? เมื่อเขาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามก็จะเข้าใจแล้วว่ามันพลาดเพราะตัวเขาคนเดียว เพราะคนอื่นไม่ได้พลาดเนื่องจากเล่นตามที่ผมบอกและนำมาสู่ผลงานที่ดี ส่วนคนที่ไม่ทำตาม สุดท้ายคุณก็สร้างความผิดพลาดจนเสียประตูขึ้นมา

นักเตะหลายคนจึงเริ่มเชื่อว่าทุกอย่างที่ผมพร่ำบอกเขาคือหลักการเล่นฟุตซอลจริงๆ หลังจากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนแล้วผลงานมันก็ดีขึ้น ทุกคนในทีมจึงยอมรับการทำงานของผม ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทีมหรือนักกีฬา ทุกฝ่ายแฮปปี้กับตัวผมหมด

 

อะไรคือจุดเด่นของฟุตซอลทีมชาติเมียนมาที่คุณมองเห็นก่อนเดินทางมาแข่งขันชิงแชมป์ฟุตซอลอาเซียน?

เหมือนที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ว่า เมื่อนักเตะเห็นความผิดพลาดตามที่เราบอก พวกเขาก็จะเล่นตามแทคติกของผมทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องเกมรับ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของเรา เพราะนักเตะทำตรงนี้ได้ดีและสม่ำเสมอ แต่แทคติกเกมรุกซึ่งต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวของนักกีฬาและประสบการณ์เป็นส่วนสำคัญ เราต้องใช้เวลาพัฒนาต่อไป เพราะมีระยะเวลาการเตรียมทีมสั้นแค่สองเดือน การจะทำให้ทักษะตรงนี้แสดงออกมาโดยอัตโนมัติมันก็ยังลำบาก แต่ถ้าเรามีเวลาเตรียมทีมนานหรือนักเตะมีประสบการณ์มาก การพัฒนาตรงส่วนนี้ก็ไม่อยากเลย เพราะพวกเขาจะมีพร้อมทั้งเรื่องของสมรรถภาพที่ดีและเทคนิคพื้นฐานที่ดี ก็จะมาแก้ไขเรื่องแทคติคเพียงนิดเดียว 

7แต่ตอนนี้ผมต้องไล่ไปจากสมรรถภาพร่างกายแล้วแก้ไขเรื่องเทคนิคก่อน ถึงจะมาเป็นเรื่องของแทคติก ซึ่งเวลาการเตรียมทีมเพียงแค่ 2 เดือน มันแทบจะไม่พอ แต่นักกีฬาของเราตั้งใจและสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

ทุกวันนี้การใช้เทคนิคใหม่ๆของนักเตะเมียนมาก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่สิ่งสำคัญที่ผมมองเห็นว่าเป็นจุดเด่นมากที่สุดคือ หัวใจของพวกเขา จิตใจของนักเตะเมียนมามีความมุ่งมั่นมาก ทุกคนมีจิตใจที่แข็งแกร่ง ถึงเทคนิคอาจจะไม่ดีเท่าไหร่ ประสบการณ์อาจจะยังไม่มาก แต่ด้วยความใจสู้ของพวกเขา นี่คือเหตุผลที่ทีมของเราทำผลงานออกมาได้ดี

 

คุณพาทีมชาติเมียนมาคว้าอันดับ 4 ของการแข่งขันชิงแชมป์ฟุตซอลอาเซียน รู้สึกพอใจมากน้อยแค่ไหนกับผลงานตรงนี้?

8การคว้าอันดับ 4 ทำให้ผมพอใจได้ระดับหนึ่ง ถือว่าตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เพราะผมมองทีมชาติไทยไว้เป็นระดับโลก เวียดนามก็ถือเป็นทีมระดับโลกเหมือนกัน ส่วนอินโดนีเซียที่จบอันดับสามเขาก็มีแรงกิ้งที่สูงกว่าเราเยอะเลย การก้าวมาจบตรงนี้โดยสามารถเบียดออสเตรเลีย เบียดติมอร์-เลสเต จนคว้าอันดับ 4 ของอาเซียนได้ก็ถือว่าน่าพอใจ เพราะเมียนมาห่างหายจากกีฬาฟุตซอลมานานถึงสองปี

แต่สิ่งที่ทำให้ผมพอใจได้มากกว่าคือ การที่นักกีฬาสามารถเล่นได้ตามแทคติกและพัฒนาการเล่นอย่างก้าวกระโดด เพราะในทัวร์นาเมนต์นี้เราสามารถเสมอกับเวียดนามได้ทั้ง 2 แมตช์ แถมเรายังยิงประตูเขาได้ด้วย หลังจากนั้นเราก็มาชนะออสเตรเลีย ส่วนการอุ่นเครื่องกับไทยเราก็แพ้เพียงแค่ 2 ประตู จากเมื่อก่อนที่เราเคยแพ้ 9 ลูก มันแสดงให้เห็นว่าทีมของเราพัฒนาขึ้น

 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดคุณคิดว่าวงการฟุตซอลเมียนมาสามารถพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหนนับจากนี้?

การพัฒนาตรงนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่ตัวนักเตะเพียงอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับการบริหารของผู้ใหญ่ในประเทศเขาด้วย ทุกอย่างต้องเดินไปพร้อมกันทั้งหมด 

ยกตัวอย่าง ฟุตซอลในประเทศไทย เรามีลีกระดับอาชีพ มีการพัฒนาเยาวชนตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย เรื่องพวกนี้ต้องเป็นระบบก่อน ทั้งการจัดการแข่งขันแบบลีกอาชีพ การอบรมโค้ช การแข่งขันระดับเยาวชน มันต้องเป็นลำดับไป

9ถ้านักฟุตซอลเมียนมามีเวทีให้ลงเล่นอย่างต่อเนื่อง ผมจึงจะสามารถนำต้นทุนตรงนั้นมาต่อยอดในทีมชาติได้ แต่ถ้าเขายังไม่มีพื้นฐานที่ผมบอกมันก็ยากที่จะพัฒนา เพราะจะให้โค้ชทีมชาติมาคัดเลือกนักเตะแล้วเริ่มสร้างกันจากตรงนั้น ผมว่ามันไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง การพัฒนาก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

แต่ถ้าผู้ใหญ่ในเมียนมาเลือกเดินตามแนวทางที่ผมวางไว้ในเบื้องต้นแล้ว ผมมองว่าฟุตซอลเมียนมาสามารถพัฒนาเหมือนกับประเทศไทย เหมือนกับเวียดนามได้ ผมคิดแบบนั้น

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ลงมือเริ่มต้นจากศูนย์ : การปั้นนักฟุตซอลทีมชาติเมียนมาจากมุมมอง "อ.บุญเลิศ เจริญวงศ์"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook