ไขรหัสเลือดนักรบ : ทำไมนักกีฬาต่อสู้ชาวยูเครนจึงหาญกล้าสมัครเข้าร่วมสงครามมากมาย?

ไขรหัสเลือดนักรบ : ทำไมนักกีฬาต่อสู้ชาวยูเครนจึงหาญกล้าสมัครเข้าร่วมสงครามมากมาย?

ไขรหัสเลือดนักรบ : ทำไมนักกีฬาต่อสู้ชาวยูเครนจึงหาญกล้าสมัครเข้าร่วมสงครามมากมาย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"มวยก็เป็นแค่กีฬา แต่นี่คือการต่อสู้ของจริง และมีผู้คนตายจริงๆ มีคนบอกผมว่านี่คือการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของผม ผมเองก็คิดแบบนั้น"

กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกจากช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากนักกีฬาต่อสู้มากฝีมือหลายคนชาวยูเครนเลือกทิ้งชีวิตที่ร่ำรวยและสุขสบาย เพื่อไปจับปืนร่วมเป็นทหารสู้รบกับรัสเซียที่บุกรุกรานประเทศของพวกเขา 

ท่ามกลางความประหลาดใจของคนทั่วโลก แต่ชาวยูเครนกลับมองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ในฐานะชาติที่โดดเด่นเรื่องการปั้นนักสู้บนสังเวียนกีฬา ทว่าพวกเขาแสดงให้เห็นว่า สามารถเป็นได้มากกว่านั้น เพราะพวกเขาไม่ใช่แค่นักสู้ในเกมกีฬา แต่เป็นนักรบที่พร้อมจะปกป้องประเทศ

Main Stand จะพาผู้อ่านไปเข้าใจความจริงของประเทศยูเครน ผ่านการก่อร่างสร้างตัวของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จนสามารถสร้างทั้งนักสู้ที่ยอดเยี่ยมบนสังเวียนและนักรบที่กล้าหาญในสงคราม

ย้อนดูประวัติศาสตร์ยูเครน 

หากจะเข้าใจธรรมชาติของคนยูเครน วิธีที่ง่ายที่สุดคือการย้อนมองไปที่ประวัติศาสตร์ของชนชาตินี้ เพราะประวัติศาสตร์ คือเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบันถึงรากฐานทางวัฒนธรรมที่ฝังลึกจนกลายเป็นค่านิยม

1สำหรับชาวยูเครนก็เช่นกัน เลือดนักสู้ที่ไหลเวียนอยู่ในตัวพวกเขาและความไม่เกรงกลัวต่อสงครามไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ หากเราย้อนมองถึงประวัติศาสตร์จะพบว่า สงครามคือสิ่งที่อยู่คู่กับชาวยูเครนมาตลอด

ประวัติศาสตร์สงครามของยูเครนเริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ 14 หลังจากถูกยึดครองโดยชาวมองโกลในรัชสมัยของเจงกีสข่านที่บุกเข้ามายึดแผ่นดินยูเครน (กรุงเคียฟ) เป็นเมืองขึ้น ทำให้กองทัพชาวลิทิวเนียจากตอนเหนือแถบคาบสมุทรบอลข่านต้องยกทัพมายึดดินแดนคืนจากชาวมองโกล และเริ่มสร้างดินแดนขึ้นมาใหม่นับแต่นั้น

แต่ชาวลิทิวเนียไม่ใช่ผู้มีอำนาจจริงบนแผ่นดินยูเครน เพราะเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 15 คนที่มีอำนาจจริงในดินแดนนี้คือกลุ่มคนที่เรียกว่า "คอสแซคส์"

ชาวคอสแซคส์ คือคำเรียกของกลุ่มคนชาวสลาฟตะวันออก ที่เป็นทหารเร่ร่อนไม่มีหลักแหล่งที่มีอาชีพรับจ้างปกครองดินแดนต่างๆที่อยู่ในสภาวะไม่มีความมั่นคงจากภัยต่างๆ ชาวคอสแซคส์จะยึดแผ่นดินเหล่านี้และปกครองให้อยู่ในความสงบโดยไม่ให้ต้องเจอปัญหาการรุกรานจากต่างแดน 

กล่าวง่ายๆคือ ตั้งแต่แรกเริ่ม ยูเครนถูกปกครองด้วยทหาร ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่แตกต่างมากในยุคสมัยนั้นที่แทบทุกดินแดนถูกปกครองโดยพระมหากษัตริย์ ผ่านระบอบแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

เหตุผลที่ยูเครนต้องถูกปกครองด้วยทหารเป็นเพราะแผ่นดินของพวกเขากลายเป็นรัฐกันชนระหว่างความแตกต่างของยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก

ย้อนไปในศตวรรษที่ 14 การบุกยึดแผ่นดินยูเครนของชาวลิทิวเนียคือเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ยุโรป เพราะชาวลิทิวเนียนำอารยธรรมจากยุโรปตะวันตกมาปลูกฝังในแผ่นดินยูเครนที่อยู่ฝั่งตะวันออก รวมถึงประกาศเป็นพันธมิตรกับชาติฝั่งตะวันตก

ในช่วงเวลาเดียวกัน ชาวรัสเซียที่ประกาศตั้งตนเป็นใหญ่ในกรุงมอสโกไม่ได้เลือกผูกมิตรกับโลกตะวันตกแบบยูเครน แต่หันไปจับมือกับแผ่นดินจีนมองโกลที่เรืองอำนาจอย่างสุดขีดทางตะวันออกในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ อิทธิพลของทั้งสองดินแดนยังต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยูเครนนำหลักปรัชญากรีกโบราณมาผสมกับหลักศาสนาคริสต์เพื่อใช้ในการปกครองดินแดนตามอิทธิพลของยุโรปตะวันตก ขณะที่รัสเซียได้รับอิทธิพลการปกครองแบบเผด็จการที่เข้มงวดมาจากชาวมองโกล

ด้วยการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมที่แตกต่างอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในเขตแดนยุโรปตะวันออกระหว่างฝั่งของยูเครนและรัสเซีย ทำให้นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา รัสเซียจึงอยากจะยึดแผ่นดินยูเครนมาเป็นของตัวเองให้ได้ เพราะต้องการให้ยุโรปตะวันออกกลับมาเป็นปึกแผ่นและมีวัฒนธรรมเดียวกันอีกครั้งเหมือนเช่นในอดีต

2ขณะที่ชาติยุโรปตะวันตกก็ต้องการใช้ยูเครนเป็นรัฐกันชนป้องกันรัสเซียที่เรืองอำนาจขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แผ่นดินยูเครนถูกกดดันจากทั้งสองฝั่งจนอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีชาวเติร์กจากดินแดนตุรกีในปัจจุบันที่ต้องการจะยกทัพบุกขึ้นเหนือมายึดแผ่นดินยูเครนด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ดินแดนยูเครนจึงจำเป็นต้องแข็งแกร่ง หากไม่ต้องการอยู่ภายใต้การรุกรานจากดินแดนอื่นอย่างไม่มีวันจบสิ้น ชาวคอสแซคส์จึงเข้ามาเป็นผู้ดูแลแผ่นดินแห่งนี้ และเป็นคนกลุ่มนี้ที่กำหนดวัฒนธรรม, จารีต ไปจนถึงจิตวิญญาณที่ฝังลึกอยู่ในตัวของชาวยูเครนในปัจจุบัน

อิทธิพลจากทหารเร่ร่อน 

ในยุคที่สังคมยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจย่อมกุมสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางความเป็นไปของสังคม เช่นเดียวกับยูเครนในยุคศตวรรษที่ 15 ซึ่งชาวคอสแซคส์ที่เป็นทหารรับจ้างก็ปลูกฝังความเป็นนักรบที่กล้าหาญที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดตลอดเวลาให้กับคนท้องถิ่น

3มีการศึกษาว่าในช่วงศตวรรษที่ 11 ถึง 14 ก่อนที่แผ่นดินยูเครนจะเริ่มเกิดปัญหาภัยสงคราม คนท้องถิ่นที่นี่เป็นคนเงียบๆ ไม่ชอบมีปัญหากับใคร และมีนิสัยนอบน้อม, อารี และมีน้ำใจ อันเป็นผลมาจากยุคทองทางการค้าในช่วงเวลานั้นที่ทำให้กรุงเคียฟมีความมั่งคั่ง เพราะสามารถทำการค้าไปได้ในหลายดินแดนสุดแดนเหนือจนถึงสวีเดนและไปสุดแดนใต้ที่ตุรกี 

แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป จากยุคแห่งการค้าเข้าสู่ยุคแห่งสงคราม ผู้คนจึงไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เหมือนในอดีต จากบุคลิกที่เรียบง่ายโอบอ้อมอารี ชาวยูเครนที่ถูกปกครองโดยกลุ่มทหารจึงถูกสร้างบุคลิกใหม่ให้กลายเป็นคนกล้าหาญ เป็นนักล่าที่พร้อมต่อสู้แบบไม่หวั่นเกรงอันตราย และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการเกิดของจิตวิญญาณการสำนึกรักบ้านเกิด 

ยิ่งเวลาผ่านไป ยูเครนยิ่งเจอแต่ปัญหาภัยสงคราม เพราะเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 16 ยูเครนก็แตกหักกับพันธมิตรจากตะวันตกอย่างโปแลนด์ จึงกลายเป็นว่าแผ่นดินนี้ต้องรับศึกจากทุกด้าน และหากพวกเขาไม่มีนักรบที่แข็งแกร่งจริง ยูเครนคงไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางชาติมหาอำนาจทั้ง โปแลนด์, รัสเซีย, สวีเดน และ จักรวรรดิออตโตมัน หรือ ตุรกี

"จิตวิญญาณของการเป็นชาวคอสแซคส์คือ การเป็นนักรบ เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น พวกเขาพร้อมที่จะต่อสู้ตลอดเวลาเพื่อปกป้องดินแดนของตัวเอง" BBC สื่อชื่อดังให้คำนิยามเกี่ยวกับชาวคอสแซคส์แบบง่ายที่สุด

แม้ชาวคอสแซคส์จะเป็นสายเลือดนักรบ แต่พวกเขาไม่ใช่คนป่าเถื่อน ในทางตรงกันข้าม ชาวคอสแซคส์ขึ้นชื่อเรื่องการไม่กดขี่ผู้อยู่ใต้การปกครอง รวมถึงการรับฟังเสียงของประชาชน จนเรียกได้ว่า แผ่นดินยูเครนมีรากฐานของสังคมแบบประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ ชาวคอสแซคส์ยังรักในอิสระและไม่ชอบอยู่ใต้อำนาจของใคร ดังนั้น ตลอดร่วม 3 ศตวรรษที่ชาวคอสแซคส์มีอิทธิพลเหนือแผ่นดินยูเครน พวกเขาจึงไม่ได้ปลูกฝังแค่จิตวิญญาณของการเป็นนักรบให้กับคนท้องถิ่น แต่รวมไปถึงจิตวิญญาณเสรีที่รักในอิสรภาพ และการมีอำนาจสูงสุดด้วยตัวของตัวเอง โดยไม่ยอมให้ใครหน้าไหนมาบงการชีวิต

ซึ่งเราคงไม่ได้เห็นจิตวิญญาณความเป็นนักสู้ของชาวยูเครนมากแบบในปัจจุบันหากว่าสุดท้ายชาวคอสแซคส์ไม่แพ้สงครามให้กับรัสเซียในศตวรรษที่ 18 และถูกยึดครองดินแดนจนหมดสิ้น จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามช่วงชิงแผ่นดินแห่งนี้ระหว่างชาวรัสเซียกับชาวยูเครนมาจนถึงปัจจุบัน

4"ชาวยูเครนต้องการปกครองตัวเองเสมอ และพวกเขาจงรักภักดีต่อ 'ยูเครน' ในฐานะชาติมาตุภูมิเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นไม่ใช่รัสเซีย" แฟรงค์ ซีซิน นักประวัติศาสตร์ด้านประเทศยูเครนกล่าว 

"จิตวิญญาณของชาวคอสแซคส์ยังคงอยู่ในฐานะแก่นของการเมืองและสังคมของยูเครน ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเป็นรัฐชาติของยูเครนยุคใหม่ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต"

นักสู้ในเกมกีฬา 

สายเลือดของความเป็นนักสู้ของชาวยูเครนไม่เคยหายไปไหน มันอยู่ในตัวพวกเขามาตลอด แม้แต่ในสังคมยุคใหม่ก็มีพื้นที่ของเกมกีฬาซึ่งเป็นสถานที่ให้คนยูเครนได้นำความเก่งกาจของการเป็นนักรบมาประยุกต์ใช้ และกลายเป็นนักสู้ผู้ทรงอิทธิพลไปทั่วโลก

ยูเครนมีนักมวยสากลที่โด่งดังมากมายในยุคใหม่ของการสร้างชาติ ทั้ง โอเล็กซานเดอร์ อูซิค (Olexander Usyk), วาซิลลี โลมาเชนโก (Vasiliy Lomachenko) รวมถึงสองพี่น้องตระกูลคลิทช์โก อย่าง วิตาลี และ วลาดิเมียร์ (Vitaliy and Vladimir Klitschko)

5ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ชาวยูเครนเก่งกาจด้านการต่อสู้ แต่ปัจจัยหลายอย่างได้ส่งเสริมให้พวกเขากลายเป็นยอดนักรบในเกมกีฬา ซึ่งไม่ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา การเมืองมีบทบาทสำคัญกับการผลักดันให้ชาวยูเครนเป็นยอดนักสู้บนสังเวียน

"หลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กีฬามวยสากลได้รับการผลักดันอย่างมากในยูเครน มวยกลายเป็นกีฬาที่ทำให้ชาวยูเครนสามารถหนีออกจากสภาวะสงคราม ความยากลำบากต่างๆ ทำให้มวยได้รับความนิยมมากในยูเครน" ดิมา โวโรเบียฟ อดีตผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายสร้างโฆษณาชวนเชื่อในยุคของสหภาพโซเวียตเปิดเผยข้อมูล

"กีฬามวยถูกใช้ในการแสดงอำนาจโดยสหภาพโซเวียต ขณะที่ชาวยูเครนก็มีชีวิตที่ดีขึ้นจากกีฬานี้เช่นกัน มีโรงยิมมวยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมันมอบอนาคตใหม่ให้กับคนนับล้าน พวกอันธพาล คนยากจน หรือแม้แต่คนติดเหล้า ต่างพบชีวิตใหม่จากการเป็นนักมวย มันคือการสร้างสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ที่ยูเครน นักมวยไม่ได้เป็นแค่เพื่อนร่วมอาชีพ แต่ทุกคนคือพี่น้องที่แน่นแฟ้นเหมือนสายเลือดเดียวกัน"

เรียกได้ว่า ที่ยูเครน มวยไม่ได้เป็นแค่กีฬา แต่เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึก เหมือนกับมวยไทยในกรณีของประเทศไทยที่อยู่ในสายเลือดของพวกเขาโดยไม่รู้ตัวและไม่มีทางที่จะตัดขาดจากกันได้ ยิ่งบวกกับยุคของสหภาพโซเวียตที่ผลักดันการพัฒนาด้านกีฬาอย่างเต็มที่ ทำให้นักมวยชาวยูเครนมีต้นทุนที่ดีพร้อม ทั้งจากตัวพวกเขาเองและองค์ประกอบรอบข้าง

ปรากฏการณ์ของยูเครนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นภาพเดิมที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ของสหรัฐอเมริกา กับสภาวะจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำคนหนุ่มจำนวนมากตกงานและพบความยากลำบากในชีวิต และมวยสากลก็กลายเป็นโอกาสในการสร้างชีวิตของตัวเองขึ้นมาใหม่ 

6สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้งที่ยูเครน ผู้คนมากมายที่ไม่ได้มีอนาคตที่ดีนักในประเทศที่ก่อร่างสร้างตัวใหม่ แต่ด้วยหัวใจที่รักในกีฬามวย วัฒนธรรมของสังคมกีฬาที่แข็งแกร่งและแน่นแฟ้นจึงดึงดูดคนจำนวนมากให้ผันตัวเองไปเป็นนักมวยอาชีพ

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่เป็นนักมวยชาวยูเครนจะเก่งระดับโลก เป็นเรื่องปกติของโลกกีฬาที่หากมีนักกีฬาจำนวนมากอยู่ในระบบ โอกาสจะพบเพชรเม็ดงามยอดฝีมือก็จะง่ายขึ้นเช่นกัน 

ในความเป็นจริงแล้ว ชาวยูเครนมีทางเลือกที่จะไปเล่นกีฬาอื่นได้ด้วยเช่นกัน เพราะทั้งองค์ความรู้และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาที่มีความพร้อมอยู่แล้วในประเทศอันเป็นมรดกมาจากยุคโซเวียต แต่สุดท้าย ชาวยูเครนจำนวนมากก็เลือกกีฬามวย เพราะการต่อสู้คือส่วนหนึ่งทางวัฒนธรรมที่ยาวนานของสังคมยูเครน และพวกเขาไม่เคยกลัวที่จะขึ้นสังเวียนไปล้มเหลว เพราะจิตวิญญาณของนักสู้ที่แค่ได้สู้ก็เพียงพอแล้ว

ซึ่งเมื่อถึงวันที่การต่อสู้นอกเกมกีฬามาถึง ชาวยูเครนก็แสดงให้เห็นว่าเลือดนักสู้ของจริงเป็นเช่นไร

ความสำคัญของการต่อสู้นอกสังเวียน 

ท่ามกลางการถูกรุกรานแผ่นดินของชาวยูเครน เราได้เห็นนักกีฬาสายต่อสู้จำนวนมากอาสาเปลี่ยนจากนักต่อสู้ในเกมกีฬาไปเป็นทหารในชีวิตจริงที่จับปืนออกรบเพื่อปกป้องประเทศ 

สองพี่น้องตระกูลคลิทช์โก, โลมาเชนโก รวมถึง อูซิค ที่ขอมาร่วมสู้รบเพื่อปกป้องประเทศเป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้สนใจชีวิตที่ยากลำบากหรือฐานะของตัวเอง แค่ขอยืนสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนร่วมชาติ ปกป้องประเทศจากผู้รุกรานก็พอ

7"มวยก็เป็นแค่กีฬา แต่นี่คือการต่อสู้ของจริง และมีผู้คนตายจริงๆ มีคนบอกผมว่า นี่คือการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของผม ผมเองก็คิดแบบนั้น และมันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ผมได้รับรู้ความน่ากล้วที่แท้จริงของการทำสงครามแล้ว" วลาดิเมียร์ คลิทช์โก กล่าวหลังได้มีโอกาสไปเป็นทหารปกป้องประเทศ

"พวกเราพร้อมที่จะตายเพื่อบ้านของเรา เพื่อประเทศของเรา เพื่อครอบครัวของเรา เพราะมีคนต้องการจะมาบุกยึดบ้านของเรา แต่ที่นี่คืออนาคตของพวกเราและมีคนกำลังจะพรากอนาคตของเราไป การต่อสู้นี้มีเป้าหมายหลักเพื่อการรักษาอิสรภาพของเราไว้" วิตาลี คลิทช์โก กล่าวเสริม

หากมองจากคำพูดของสองนักมวยระดับตำนาน เห็นได้ชัดว่า สำหรับคนยูเครน การเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามคือเรื่องปกติ และพวกเขาพร้อมที่จะสู้แบบไม่กลัวตาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับใครหลายคนในหลายพื้นที่

สิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านสองนักมวยชาวยูเครนคือ ความรัก ความภูมิใจ ที่มีต่อประเทศชาติ ผ่านแนวคิดแบบนักรบกู้ชาติ หรือ Patriotism ที่มองการได้ต่อสู้เพื่อประเทศชาติเป็นเกียรติยศสูงสุดในชีวิต พวกเขายอมเสียสละทุกอย่างเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดต่อไป

แน่นอนว่าหลายคนไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวยูเครน จน โอเล็กซานเดอร์ อูซิค นักมวยชื่อดังที่ยอมเลื่อนไฟต์ชกกับ แอนโทนี โจชัว เพื่อมาเป็นทหารในยูเครนต้องกล่าวประโยคว่า "พวกคุณจะสงสัยอะไรกันนักหนา? มันคือหน้าที่ของผมที่จะต้องสู้เพื่อปกป้องบ้านของผม ครอบครัวของผม" 

8เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แนวคิดของการต่อสู้และเสียสละเพื่อชาติฝังรากลึกอยู่ในตัวชาวยูเครนโดยที่พวกเขาไม่ได้สนใจว่าคนนอกจะมองเช่นไร แต่พวกเขาเชื่อมาตลอดว่า ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร จะรวยหรือจน แต่ถ้าประเทศมีภัย พวกเขาพร้อมที่จะจับปืนออกรบในฐานะเกียรติอันสูงสุดของชาวยูเครน

ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับชาวยูเครน การสมัครเป็นทหารของนักมวยชื่อดังไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะชาวยูเครนอีกหลายหมื่นก็สมัครมาเป็นทหารปกป้องประเทศ แต่ที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เพราะคนนอกพื้นที่อื่นๆมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ จนมองว่าชาวยูเครนมีความกล้าและบ้ามากกว่าคนทั่วไปในการเดินหน้าเข้าสู่สงครามแบบไม่กลัวตาย

"พอเป็นคนดังเข้าสู่สงคราม ทุกคนก็จะให้ความสนใจมากกว่าอยู่แล้ว นักมวยเหล่านี้ต่อให้เป็นทหาร พวกเขาก็มีภาพลักษณ์ไม่เหมือนทหารทั่วไป ในความเป็นจริงแล้ว คนสนใจข่าวนี้มากกว่าจะฟังเรื่องการต่อสู้กันของนักการเมืองด้วยซ้ำ" ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าว 

สุดท้ายแล้วที่คนทั้งโลกกับชาวยูเครนมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกันก็เพราะว่า คนทั่วโลกไม่ได้เติบโตมาจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ สภาพสังคม และวัฒนธรรมแบบเดียวกับชาวยูเครน 

สำหรับชาวยูเครน การต่อสู้เป็นส่วนหนึ่งของพวกเขามาโดยตลอด สายเลือดความเป็นนักสู้ของชาวยูเครนถูกปลูกฝังและหยั่งรากลึกมาหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งรวมไปถึงความรักที่จะมีอิสระ ต้องการจะปกครองตนเอง และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อรักษาอิสรภาพที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 จนถึงปัจจุบัน

9ไม่ว่าคุณจะมองปรากฏการณ์นี้ในรูปแบบใด ความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้คือ ชาวยูเครนเป็นนักสู้ผู้รักชาติ ไม่ว่าพวกเขาจะประกอบอาชีพอะไรหรือร่ำรวยแค่ไหน ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าความจริงข้อนี้

เพราะตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา ยูเครนต้องเผชิญหน้ากับสงครามอยู่ตลอดเวลา และพวกเขาจะต้องพึ่งพาตัวเองต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยของตัวเองเอาไว้ ซึ่งหลายครั้งก็พ่ายแพ้ และต้องเป็นแค่ส่วนหนึ่งของดินแดนอื่น 

ไม่สู้ก็ไม่รอด ไม่ว่าจะเป็นบนสังเวียนกีฬาหรือสนามรบ นี่คือสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณของชาวยูเครน และจะยังเป็นเช่นนี้ตลอดไป 

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ไขรหัสเลือดนักรบ : ทำไมนักกีฬาต่อสู้ชาวยูเครนจึงหาญกล้าสมัครเข้าร่วมสงครามมากมาย?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook