ถึงตายถ้าไม่แจ๋วจริง : 7 มาราธอน สุดหฤโหดในโลกใบนี้

ถึงตายถ้าไม่แจ๋วจริง : 7 มาราธอน สุดหฤโหดในโลกใบนี้

ถึงตายถ้าไม่แจ๋วจริง : 7 มาราธอน สุดหฤโหดในโลกใบนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลำพังแค่วิ่งมาราธอนด้วยระยะทางถึง 42.195 กิโลเมตร ก็หฤโหดบั่นทอนแรงใจแรงกายมากพออยู่แล้ว แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์คำว่าสุดนั้นไม่มีจริง ... ของเดิมที่ว่าลำบากแล้วก็ต้องตามหาความลำบากขั้นกว่าเพื่อพิสูจน์ความสุดยอดของตัวเอง

และนี่คือ 7 งานวิ่งมาราธอนที่ขึ้นชื่อเรื่องความทรหด ไกล โหด เถื่อน รวมถึงอุปสรรคมากมาย มีมาราธอนงานไหนบ้างที่โหดเร้าใจท้าทายความเป็นมนุษย์ที่สุด 

ติดตามได้ที่ Main Stand

1. Siberia Marathon : หนาววว ... จับขั้วหัวใจ 

เปิดลิสต์นี้ด้วยการเอาน้ำเย็นลูบ และไม่ใช่น้ำเย็นธรรมดาแต่เป็นน้ำเย็นระดับอุณหภูมิติดลบจนกลายเป็นน้ำแข็ง บนดินแดนที่เหน็บหนาวที่สุดในโลก ณ ไซบีเรีย และงานนี้เพิ่งมีการสร้างสถิติโลกใหม่เมื่อปี 2022 นี้เอง

Siberia Marathon นั้นมีการแข่งขันในหลายพื้นที่ แต่ที่เป็นสถิติโลกใหม่เกิดขึ้นที่เขตปกครองตัวเองยากูเตีย (Yakutia) ของประเทศรัสเซีย ซึ่งในครั้งล่าสุดที่จัดแข่งขันไปเมื่อเดือนมกราคม 2022 มีนักวิ่งลงแข่งขันทุกระยะรวมทั้งหมด 65 คน เรียกได้ว่าชาวเมืองที่เป็นกองเชียร์ในการแข่งขันครั้งนี้ยังมีมากกว่านักวิ่งด้วยซ้ำ 

การแข่งขันดำเนินเกิดขึ้นด้วยอุณภูมิติดลบถึง 53 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเป็นงานวิ่งมาราธอนที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นที่สุดในโลก โดยผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนล้วนอยู่ในสภาพเดียวกันเมื่อเข้าเส้นชัย นั่นคือโดนน้ำแข็งเกาะเต็มหน้า จนแทบกะพริบตาไม่ได้

 

นอกจากความหนาวเย็นจากผิวกายแล้ว การวิ่งในสภาพอากาศสุดหฤโหดระดับติดลบ 50-60 องศาแบบนี้ สิ่งที่อันตรายกว่าคือภาวะปอดเย็น โดยภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นในสภาพอากาศที่เย็นจัด เพราะอากาศจะแห้งมาก หากหายใจเข้าไปมาก ๆ อาจจะมีการปวดแสบทรวงอก 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิ่งที่ลงแข่งขันรายการนี้ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศหรือเมืองที่หนาวเย็น ทั้ง รัสเซีย, เบลารุส, นักวิ่งจากแถบสแกนดิเนเวีย และรัฐทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากร่างกายของนักวิ่งเหล่านี้มีความคุ้นเคยกับสภาพอากาศระดับลบ 30-40 องศาเซลเซียสเป็นอย่างดีอยู่แล้วนั่นเอง 

สำหรับท่านใดที่อยากทดสอบสมรรถภาพของร่างกายในรายการนี้สามารถลงสมัครได้ด้วยเพียงการจ่ายเงินค่าสมัครที่ตีเป็นเงินไทยอยู่ที่ราว ๆ 660 บาทเท่านั้น ส่วนรางวัลสำหรับผู้ชนะจะอยู่ที่ 100,000 รูเบิล ซึ่ง ณ เวลานี้ตีเป็นเงินไทยจะอยู่ที่ 42,000 บาทโดยประมาณ  

https://runningmagazine.ca/sections/runs-races/siberia-marathon-reaches-record-low-temperature-of-53-c/

http://www.marathonrunnersdiary.com/races/europe-marathons/siberian-international-marathon.php

2. Barkley Marathons : การวิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย 

Barkley Marathons คือการแข่งขันเทรลอัลตร้ามาราธอน ที่รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องเสียเงินสมัครแต่กลับไม่มีเงินรางวัลให้แม้แต่ผู้ที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ... แค่นี้ก็สัมผัสได้ถึงความอินดี้แล้ว แต่เดี๋ยวก่อน กิมมิคของการแข่งขันรายการนี้ยังไม่จบแค่นี้ 

แม้จะใช้ชื่อรายการว่า "มาราธอน" แต่ความจริงแล้วระยะทางของการแข่งขันนี้มี 2 แบบได้แก่ แบบฟันรัน ที่มีระยะทางทั้งหมดกว่า 97 กิโลเมตร และแบบฟูลมาราธอน ที่มีระยะทางทั้งหมด 160 กิโลเมตร โดยมีการจำกัดระยะเวลาการแข่งขันทั้งหมดอยู่ที่ไม่เกิน 60 ชั่วโมง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถลงแข่งขันรายการนี้ต่อให้คุณฟิตแค่ไหนก็ตาม เพราะแต่ละปีจะมีการคัดเลือกนักวิ่งที่สมัครเข้ามาโดยฝ่ายจัด ไม่ว่าจะสมัครเข้ามากี่คนพวกเขาจะเลือกคนที่คิดว่าพร้อมที่สุด 40 คนเท่านั้น (รวมทั้งชายและหญิง) 

เพราะสิ่งที่รออยู่คือเส้นทางที่ฝ่ายจัดจะไม่เปิดเผยให้นักแข่งรู้ แต่จะอยู่ในพื้นที่กว่า 24,000 เอเคอร์ของอุทยานเฮดสเตทพาร์ค โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งการขึ้นเขาสูงชัน สภาพอากาศที่ผันเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ว่ากันว่าในบางปีมีเส้นทางวิ่งขึ้นเขาถึง 5 ลูก รวมความสูงเทียบเท่ากับการขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์เลยทีเดียว

 

ความยากยังไม่จบง่าย ๆ เพราะนักวิ่งที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าแข่งขันจะถูกเชิญมาให้อยู่ในจุดปล่อยตัวตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันถึงเที่ยงคืนของวันแข่งขัน แต่จะไม่มีการบอกนักแข่งว่าการแข่งขันจะเริ่มตอนไหน โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องจับตาดูคนปล่อยตัวนักวิ่งให้ดี ถ้าคนปล่อยตัวเป่าแตรหอยสังข์ หรือแม้กระทั่งส่งสัญญาณอื่น ๆ เช่น "การจุดบุหรี่สูบ" นั่นหมายถึงว่าการแข่งขันได้เริ่มขึ้นแล้ว 

ยัง ... ยังไม่พอ นักวิ่งแต่ละคนจะต้องทำแผนที่เส้นทางการแข่งด้วยตัวเอง โดยแผนที่ของพวกเขาจะต้องถูกคัดลอกด้วยการ "เขียนมือ" เท่านั้น และจะไม่มีจุดช่วยเหลือนักวิ่งตลอดเส้นทาง จะมีเพียงแค่จุดบริการน้ำดื่มเพียง 2 จุดเท่านั้น   

สำหรับใครที่อยากลองลงแข่งขันวิ่งในรายการสุดอินดี้ที่ไม่มีรางวัลสำหรับผู้ชนะรายการนี้ คุณสามารถส่งจดหมายสมัครโดยจะต้องแนบเงินเป็นจำนวน 1.6 เหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 55 บาท เงินจำนวนนี้สำหรับการสมัครเท่านั้น จะได้แข่งหรือไม่แล้วแต่ว่าฝ่ายจัดจะตัดสินใจ และต่อให้คุณเป็นผู้ถูกเลือกคุณก็จะต้องเสียเงินสำหรับเข้าแข่งขันเพิ่มอีก และในกรณีที่คุณชำระทุกอย่างพร้อมสรรพคุณจะถูกเรียกว่า "สาวพรหมจารีแห่ง บาร์คลีย์ มาราธอน" จากนั้นการวิ่งสุดหฤโหดที่คาดเดาไม่ได้ก็จะเริ่มต้นขึ้น ... เมื่อไหร่ไม่รู้ 

https://www.runnersworld.com/races-places/a26750827/barkley-marathons-faq/

3. Marathon des Sables : ประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน

การแข่งขัน Marathon des Sables จัดขึ้นที่กลางทะเลทรายซาฮารา ณ ตอนใต้ของประเทศโมร็อกโก ด้วยสภาพอากาศ 39 องศาเซลเซียสเป็นอย่างต่ำ บนเส้นทางที่ต้องผ่านทรายร้อน ๆ ยวบ ๆ ดูดพลังสุด ๆ และยังต้องวิ่งด้วยระยะทางไกลถึง 251 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น 6 สเตจที่จะใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์ รวมวันพัก

ฝ่ายจัดการแข่งขันจะมีเต็นท์คอยบริการให้กับเหล่านักวิ่งที่ลงแข่งขัน ส่วนน้ำดื่มนั้นจะมีรถขนน้ำสำหรับดื่มละใช้วันละ 1 รอบ (ฝ่ายจัดย้ำว่ามีอย่างพอเพียงสำหรับทุกคน) และมีแพทย์เข้ามาช่วยดูแลเรื่องสุขภาพ 3 วันต่อ 1 ครั้ง แต่ในส่วนของอาหารนั้นผู้เข้าแข่งขันจะต้องแบกขึ้นไปเองทั้งหมด ซึ่งความยากในส่วนนี้คือการต้องคำนวณอาหารแต่ละมื้อ และต้องแบกเป้หนักราว 7-15 กิโลกรัมติดตัวไปด้วย

"ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 50 องศาเซลเซียส เหล่าผู้กล้าหาญ (หรืออาจเรียกได้ว่าโง่เขลา) จะต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้ ทั้งการสะดุด ไหม้ เหม็น พอง หลอน ร้องไห้ และมีเลือดออกตลอดทาง ขณะที่พวกเขาถืออุปกรณ์และอาหารที่จำเป็นสำหรับการแข่งขัน ไม่มีสถานีเจลหรือกองเชียร์ ไม่มีเด็กน้อยคอยแตะมือให้กำลังใจคุณ" เว็บไซต์ Runners' World บรรยายความโหดไว้เช่นนี้ 

อย่างไรก็ตามนี่คือรายการที่เก่าแก่ที่จัดมาตั้งแต่ปี 1986 และได้รับความนิยมสูงกว่าที่หลายคนคิด เพราะมีผู้สมัครเข้าร่วมมากกว่าปีละ 1,000 คนเลยทีเดียว ถือเป็นอีกสุดยอดรายการวิ่งอึดที่ใครรักการท้าทายตัวเองแบบสุดขั้วต้องผ่านไปให้ได้สักครั้งในชีวิต

 

https://en.wikipedia.org/wiki/Marathon_des_Sables

4. Antarctica Marathon : ค่าสมัคร 5 แสน และไม่รับประกันชีวิต 

แม้จะหนาวไม่เท่ากับการแข่งขัน Siberia Marathon เพราะที่ Antarctica Marathon นั้นมีอุณภูมิอยู่ที่ติดลบ 30 องศาเซลเซียส แต่ความโหดของที่นี่ไม่ได้อยู่ที่ความหนาวเย็นอย่างเดียวเท่านั้น 

Antarctica Marathon มีกระแสลมที่ชื่อว่าคาตาบาติก (Katabatic Winds) ที่มีความรุนแรงกว่า 10-25 น็อต (ความแรงที่ทำให้กิ่งไม้สั่นไหวได้สบาย ๆ) เป็นการวิ่งบนน้ำแข็งที่มีทั้งความลื่นและความหนืดในบางระยะ ที่สำคัญคือสนามแข่งขันจะมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 3,000 ฟุต เรียกได้ว่าทุกอย่างเป็นอุปสรรคที่พร้อมรอการพิสูจน์จากเหล่านักวิ่งที่นอกจากจะใช้คำว่า "เชี่ยวชาญ" แล้วยังเข้าใกล้คำว่า "บ้า" อย่างแท้จริง  

การแข่งขันรายการนี้จะรับนักแข่งเพียง 50 คน และค่าสมัครต้องบอกว่าแพงระยับ ตีเป็นเงินไทยอยู่ที่ราว 500,000 บาท ผู้ที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้เล่าว่ามันคือศูนย์รวมอุปสรรคสำหรับนักวิ่งอย่างแท้จริง ทั้งเสื้อผ้าที่หนาจนอาจจะก่อให้เกิดการเสียดสีและผิวหนังพองได้ นอกจากนี้หากไม่สามารถจัดระเบียบเรื่องเครื่องแต่งกายได้ ร่างกายของคุณก็จะไม่สามารถระบายความร้อนได้อีกต่างหาก ดังนั้นทุกอย่างต้องเป็นไปตามแผน และสังเวียนแห่งนี้ก็ไม่ใช่ที่ที่ใครก็จะมาแข่งขันได้

"มันเหมือนกับการเดินบนดวงจันทร์เลยล่ะ มีหิมะปกคลุมเต็มไปหมด มันโคตรหนาว ส่วนเรื่องลมก็แรงชนิดที่ว่าหากคุณกระโดดขึ้นมันอาจจะส่งคุณปลิวออกนอกเส้นทางได้เลย" ริชาร์ด โดโนแวน อดีตผู้เข้าแข่งขันในรายการนี้กล่าวให้เห็นภาพ 

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่นี่

เสียเงิน 500,000 และเสี่ยงตาย : แอนตาร์กติก ไอซ์ มาราธอน รายการวิ่งท่ามกลางอุณหภูมิ -30 องศา

5. Badwater Ultramarathon : สุดยอดแห่งการทรมานตัวเอง 

เว็บไซต์ Badwater Ultramarathon เขียนอธิบายการแข่งขันของพวกเขาว่า "The World's Toughest Foot Race" หรือการแข่งขันเดินเท้าที่ยากลำบากที่สุดในโลก และนี่คือความโหดอย่างที่พวกเขาพยายามเคลม 

เริ่มด้วยระยะทางที่ไกลถึง 217 กิโลเมตร ความสูงระดับต่ำกว่าน้ำทะเล 85 เมตร ไต่ไปเรื่อย ๆ จนถึงที่ความสูงระดับ 8,360 ฟุต หรือ 2,548 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ขณะที่สภาพอากาศก็ต้องผ่านทั้งความร้อนที่อาจสูงสุดได้ถึง 54 องศาเซลเซียส ตลอดทางวิ่งจะมีป้ายเตือนว่า "Caution! Extreme Heat Danger" (ระวังอากาศร้อนแบบสุดขีด)

โดยเรื่องนี้ ฌอน เบียร์ดเดน (Shawn Bearden) ศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาจาก Idaho State University พูดถึงการแข่งขันนี้ว่า "ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพนั้นมีสูงมาก คุณมีโอกาสที่จะตายจากภาวะที่เรียกว่า Hyponatremia (เป็นภาวะที่มีปริมาณโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ) จากการเสี่ยเหงื่อ เพราะพื้นที่ Badwater ตั้งอยู่บนความสูงที่ทำให้หายใจยาก ยิ่งเมื่อการแข่งขันต้องวิ่งไปในระยะทางที่ไม่ใช่แค่ 50 ไมล์หรือ 100 ไมล์ แต่มากถึง 135 ไมล์ มันจึงเสี่ยงและทรมานร่างกายแบบสุด ๆ" 

ขณะที่ แมตต์ คอลลินส์ ผู้เข้าที่เคยแข่งขันในรายการนี้กล่าวกับสื่ออย่าง The Guardian ว่า "ในแต่ละก้าวนั้นสุดจะทรมานมาก เท้าของผมเต็มไปด้วยพลาสเตอร์แปะแผลจากอาการพุพอง รองเท้าชุ่มไปด้วยเหงื่อ เอ็นร้อยหวายและกล้ามเนื้อที่ขาแทบกรีดร้อง และต้องเป็นตะคริวพร้อม ๆ กับวิ่งไปเป็นไมล์ ๆ" 

https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2019/jul/12/badwater-ultramarathon

https://en.wikipedia.org/wiki/Badwater_Ultramarathon

6. Great Wall Marathon : บันไดกี่ขั้นก็ยันไม่อยู่ 

ลำพังคนธรรมดาแค่เดินขึ้นบันได 4-5 ชั้นก็เล่นเอาหอบกินแล้ว แต่เราจะพาคุณไปเจอมาราธอนขั้นกว่าในประเทศจีนที่มีชื่อว่า Great Wall Marathon หรือ "การวิ่งมาราธอนบนกำแพงเมืองจีน" แค่ไกลยังไม่พอ แต่ได้ยินจำนวนขั้นบันไดก็ครั้นทำให้เจ็บข้อเข่าจี๊ดขึ้นมาแบบไม่มีสาเหตุแล้ว 

การแข่งขันรายการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1999 และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนนี้ในแต่ละปีจะมีผู้สมัครเข้าแข่งขันหลายพันคนจากการแข่งขัน 2 ประเภท ทั้ง ฟูลมาราธอน และ ฮาล์ฟมาราธอน นอกจากนี้ยังมีการวิ่งสำหรับคนที่ร่างกายฟิตไม่พอรองรับนั่นคือ การวิ่งฟันรัน 5 และ 10 กิโลเมตร ... แต่ในทีนี้เราจะพูดถึงของยากไว้ก่อนเพื่อให้เข้ากับหัวเรื่องของเรา 

ความโหดของรายการนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการวิ่งขึ้นขั้นบันไดแต่ละขั้นที่มีความสูงราว 40 เซนติเมตร และผู้เข้าแข่งขันที่ลงในระดับมาราธอนจะต้องวิ่งขึ้นบันไดหินทั้งหมดมากกว่า 20,000 ขั้น โดยบันไดจะมีทั้งขึ้นและลง นักวิ่งจะต้องรู้จักพละกำลังกล้ามเนื้อของตัวเองเป็นอย่างดีว่าจะใช้แรงวิ่งในช่วงที่บันไดชันขนาดไหน และจะวิ่งผ่อนแรงในช่วงบันไดทางลาดเท่าใด 

การแข่งขันมีจำกัดเวลาที่ 10 ชั่วโมง โดยเริ่มออกวิ่งประมาณ 6:00 น และตัดจบที่ 16:00 น แม้จะมีการเปิดลงทะเบียนสมัครเข้าแข่งขันบนหน้าเว็บไซต์หลัก ทว่า ณ ตอนนี้ Great Wall Marathon หยุดการแข่งขันมาแล้วถึง 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ถ้าหากใครอยากศึกษารายละเอียดสามารถเข้าไปชมได้ที่เว็บไซต์ great-wall-marathon.com ที่ทางฝ่ายจัดจะอัปเดตรายละเอียดการแข่งขันอยู่เรื่อย ๆ  

https://great-wall-marathon.com/

7. Kaihōgyō : มาราธอนสุดโหดที่ต้องใช้เวลาถึง 7 ปีเพื่อเข้าเส้นชัย 

หลังจากผ่านมา 6 รายการ เชื่อว่าอาจจะมีผู้อ่านหลายคนที่อยากลิ้มลองความโหดและอาจจะลองสมัครเข้าแข่งขันดูสักครั้ง ทว่ารายการที่ 7 ของเรากับการแข่งขันที่ชื่อว่า "ไคโฮเงียว" (Kaihōgyō) นั้นถือเป็นกรณีพิเศษที่ต่อให้มีเงินก็ไม่อาจลงแข่งขันได้ 

เพราะผู้ที่จะเข้าแข่งขันในรายการนี้ได้จะต้องบวชเป็นพระเท่านั้น มันคือการวิ่ง (หรือเดิน) ระยะไกลของพระในศาสนาพุทธ นิกายเทนได (นิกายหนึ่งของญี่ปุ่น) ที่มีเส้นทางอันคดเคี้ยวบนภูเขาฮิเอ ในเมืองเกียวโต โดยมีศาลเจ้าทั้ง 260 แห่งบนภูเขาเป็นจุดหมายปลายทาง ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงเรียกว่า "มาราธอนพระแห่งภูเขาฮิเอ"

ฟังดูเหมือนแค่การเดินธุดงค์แบบพระสงฆ์บ้านเรา แต่เส้นทางของเทือกเขาฮิเอเต็มไปด้วยเส้นทางลาดชัน ขณะที่ผู้ร่วมจะต้องสวมเพียงชุดนักบวชขาวและรองเท้าแตะฟางและเดินเป็นจำนวนทั้งหมด 1,000 ครั้งภายในระยะเวลา 1,000 วัน แต่ละวันจะต้องเดินหรือวิ่งเป็นระยะทางทั้งหมด 30 กิโลเมตร เท่านั้นยังไม่พอพระที่เข้าร่วมจะต้องวิ่งหรือเดินไปพร้อม ๆ กับสวดมนต์ไปด้วย ซึ่งพวกเขาให้เหตุผลว่าการสวดมนต์จะช่วยให้มีสมาธิและสามารถกำหนดลมหายใจได้ดี ทำให้เหนื่อยได้ยากขึ้น 

เมื่อเดินได้ครบระยะทางที่กำหนดในแต่ละวันแล้ว พวกเขาก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในวัดตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการทำวัตรหรือทำงานบ้านทั่วไป ทำให้พระแต่ละรูปจะมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก พวกเขายังมีสิ่งที่อนุญาตให้พกติดตัวไปด้วยเพียงไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือพัดและสายประคำ ซึ่งถูกใช้เป็นตัวแทนของดาบและเชือกของเทพฟุโดเมียว เมื่อพระสงฆ์รูปใดเลือกเข้าร่วมในกิจกรรมนี้แล้วจะต้องทำกิจกรรมไคโฮเงียวไปอย่างน้อย 100 วันจึงจะถอนตัวได้ 

"ถ้าเราวิ่งมาราธอน บางครั้งเราสามารถหยุดพักได้ แต่มาราธอนของเราโดยเนื้อแท้มันไม่ใช่การเดิน แต่มันคือการไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเท้า หลังจากนั้นเราก็ไปสักการะอีกที่หนึ่ง มันเลยดูเหมือนกับการจาริกแสวงบุญ" เกนชิน ฟูจินามิ พระที่เคยเข้าร่วมไคโฮเงียวกล่าวกับ ABC เมื่อปี 2004 

เหนือยิ่งไปกว่าการเดินหรือการวิ่งระยะไกลยังมีพิธีที่ชื่อว่า โดอิริ (Doiri) ซึ่งถูกมองว่าเป็นขั้นตอนที่โหดร้ายที่สุดของไคโฮเงียว พวกเขาต้องเข้าไปอยู่ในห้องมืดในวัดบนภูเขาฮิเอเป็นเวลาถึง 9 วัน โดยห้ามกินน้ำและอาหาร รวมไปถึงนอนหลับ โดยจะมีพระสองรูปคอยเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือสวดมนต์ไปเรื่อย ๆ เท่านั้น ... ช่วงเวลาทั้งหมดของพิธีดังกล่าวตั้งแต่ต้นจนจบจะใช้เวลาถึง 7 ปีเลยทีเดียว

ด้วยความทรมานครบสูตรจึงทำให้พิธีนี้มีพระสงฆ์ที่ล้มเหลวและขอถอนตัวยอมแพ้เป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี กลับกันคนที่ผ่านการทดสอบก็มีเพียงแค่หยิบมือเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook