กำเนิดวัฒนธรรมแลกเสื้อแข่ง : ธรรมเนียมที่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎฟุตบอล

กำเนิดวัฒนธรรมแลกเสื้อแข่ง : ธรรมเนียมที่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎฟุตบอล

กำเนิดวัฒนธรรมแลกเสื้อแข่ง : ธรรมเนียมที่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎฟุตบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"มันเป็นสัญลักษณ์ของการให้ความเคารพ คุณอาจจะพยายามไล่เตะกันหรือฆ่ากัน แต่เมื่อเกมจบลงเราก็กลับมาเป็นเพื่อนกัน" คลินต์ มาทิส อดีตแข้งทีมชาติสหรัฐอเมริกา กล่าว

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาฟุตบอลมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข และวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นเกมลูกหนังสุดตื่นเต้นอย่างที่เห็นกัน  

ทว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับการแข่งขันมาอย่างยาวนาน มันเป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติตามกันมา นั่นก็คือ "การแลกเสื้อแข่งหลังเกม"

จุดเริ่มต้นของมันคืออะไร ? และมีความสำคัญอย่างไร ? ติดตามเรื่องราวของพิธีกรรมที่เป็นที่ยอมรับในวงการลูกหนังไปพร้อมกับ Main Stand

ธรรมเนียมที่ไม่ได้อยู่ในกฎฟุตบอล 

อันที่จริงธรรมเนียมการแลกเสื้อหลังเกมไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ จากบันทึกระบุว่ามันมีขึ้นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 1931 ในเกมที่ ฝรั่งเศส เปิดบ้านเอาชนะ อังกฤษ ไปได้ 5-2 ที่กรุงปารีส 

เกมดังกล่าวถือเป็นชัยชนะนัดแรกในประวัติศาสตร์ของขุนพล "เลอ เบลอส์" ที่มีต่ออังกฤษหลังเผชิญกับความปราชัยมาตลอด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักเตะฝรั่งเศสไปขอแลกเสื้อกับคู่แข่งมาเก็บไว้เป็นที่ระลึก 

แต่ถ้าหากในฟุตบอลโลก FIFA.com ระบุว่าการแลกเสื้อมีขึ้นครั้งแรกในฟุตบอลโลก 1954 ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่หลังจากนั้นมันจะกลายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย และพบเห็นได้ในเวิลด์คัพทุกครั้ง

 

และหนึ่งในการแลกเสื้อที่น่าจดจำที่สุดคือการแลกเสื้อระหว่าง เปเล่ ดาวยิงทีมชาติบราซิล และ บ็อบบี้ มัวร์ กัปตันทีมชาติอังกฤษ ในรอบแบ่งกลุ่ม ฟุตบอลโลก 1970 ที่เม็กซิโก ที่แสดงให้เห็นถึงความเคารพซึ่งกันและกันของสองแข้งระดับพระกาฬแห่งยุค 

"มันเป็นสัญลักษณ์ของการให้ความเคารพ" คลินต์ มาทิส อดีตแข้งทีมชาติสหรัฐอเมริกา กล่าวกับ New York Times 

"คุณอาจจะพยายามไล่เตะกันหรือฆ่ากัน แต่เมื่อเกมจบลงเราก็กลับมาเป็นเพื่อนกัน" 

อย่างไรก็ดีในช่วงแรกธรรมเนียมดังกล่าวเกิดขึ้นแค่ในเกมระดับทีมชาติเท่านั้น เนื่องจากหลายคนมองว่าชุดแข่งของสโมสรนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ คอยซับหยาดเหงื่อและคราบเลือดของพวกเขา ดังนั้นการเอาสิ่งนี้ไปแลกกับคู่แข่งจึงถือเป็นสิ่งต้องห้าม

 

ในขณะเดียวกันไม่ใช่ผู้จัดการทีมทุกคนที่แฮปปี้กับธรรมเนียมนี้ หนึ่งในนั้นคือ เซอร์ อัลฟ์ แรมซีย์ กุนซือทีมชาติอังกฤษ ที่ครั้งหนึ่งเคยขัดขวางไม่ให้ จอร์จ โคเฮน แลกเสื้อกับ อัลแบร์โต กอนซาเลซ ของอาร์เจนตินา ในฟุตบอลโลก 1966 หลังมองว่าขุนพลฟ้าขาวเล่นสกปรกไล่อัดลูกทีมของเขาตลอดทั้งเกม

"การแทรกแซงของแรมซีย์กลายเป็นสัญลักษณ์ครั้งใหญ่" เอลลิส แคชมอร์ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา สื่อ และกีฬา แห่งมหาวิทยาลัยสแตฟฟอร์เชียร์ ประเทศอังกฤษ กล่าวกับ New York Times 

รวมไปถึง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตกุนซือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่รู้กันดีว่าเขาจะสั่งห้ามลูกทีมของเขาแลกเสื้อในเกมแข่งซ้อม เนื่องจากในสายตาของเขา เสื้อของปีศาจแดง มีความศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะไปแลกกับใคร 

แต่ถึงอย่างนั้นธรรมเนียมเหล่านี้ก็ยังคงถูกส่งต่อมาแบบรุ่นสู่รุ่น

สิ่งที่ทำตามกัน 

ทุกวันนี้การแลกเสื้อหลังเกมกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นกันทั่วไปในวงการฟุตบอล และที่สำคัญมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสนามเท่านั้น เพราะนักเตะบางคนอาจจะบุกไปถึงห้องแต่งตัวของคู่แข่งเพื่อขอแลกเสื้อของผู้เล่นที่หมายปอง

แถมบางครั้งการขอแลกเสื้ออาจจะเกิดขึ้นก่อนเกมด้วยซ้ำ โดยผู้จัดการชุดแข่ง (Kit Manager) จะเป็นผู้ดำเนินการด้วยการติดต่อกับสตาฟของทีมคู่แข่งผ่านกลุ่ม WhatsApp เอาไว้ล่วงหน้า ว่านักเตะคนใดอยากจะแลกเสื้อกับใคร 

สิ่งที่ทำให้การแลกเสื้อเป็นเรื่องง่าย เนื่องจากปกติแล้วในแต่ละเกมสโมสรจะแจกเสื้อให้ผู้เล่นคนละ 2 ตัว เพื่อเอาไว้เปลี่ยนตอนพักครึ่งหากชุดแข่งสกปรกหรือฉีกขาด และหลังเกมก็สามารถเก็บเอาไว้ได้เลย ทำให้พวกเขาเลือกได้ว่าจะเอาไปแลก ส่งต่อให้ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเอาไปประมูลเป็นการกุศล

 

อย่างไรก็ดีไม่ใช่นักเตะทุกคนที่ชอบแลกเสื้อ หนึ่งในนั้นคือ ลิโอเนล เมสซี่ ยอดดาวเตะชาวอาร์เจนตินา ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่เคยไป "ขอแลกเสื้อ" กับใคร ยกเว้นเพียงแค่ ซีเนดีน ซีดาน ตำนานทีมชาติฝรั่งเศสแค่คนเดียว

แต่ เมสซี ก็บอกว่าเขาไม่ได้มีปัญหากับการแลกเสื้อและไม่ค่อยปฏิเสธหากคู่แข่งเอ่ยปาก ไม่ว่าคนที่อยู่ตรงข้ามเขาจะเป็นนักเตะดังระดับโลกหรือแข้งโนเนมก็ตาม  

สิ่งนี้ไม่ต่างจากนักเตะระดับโลกหลายคนที่ยินดีที่จะแลกเสื้อกับนักเตะไม่ดังหรือนักเตะจากลีกรอง เช่นกรณีของ โลร็องต์ บล็องก์ อดีตกัปตันทีมชาติฝรั่งเศส ที่เคยแลกเสื้อกับ จอห์น แอชตัน อดีตดาวรุ่งของเลสเตอร์ ซิตี้ สมัยที่เขาเล่นให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 

"เราเล่นกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตอนที่ มิคกี อดัมส์ เป็นผู้จัดการทีม มันเป็นวันที่เราตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก" พอล แม็คแอนดรูว์ ผู้จัดการชุดแข่งของเลสเตอร์ ย้อนความหลังกับ The Athletic 

 

"โลร็องต์ บลองก์ กัปตันทีมชาติฝรั่งเศส เล่นให้พวกเขา และเราก็มี จอห์น แอชตัน เด็กหนุ่มที่เล่นให้กับเรา"  

"หลังเกมจอห์นขอเสื้อโลร็องต์ บล็องก์ ซึ่งเขาใจดีมาก เขาถอดมันออกมา จอห์นบอกขอบคุณและจะเก็บเสื้อตัวเองไว้ โลร็องต์มองมาที่เขาแล้วพูดว่า 'โอเค ตอนนี้ตาคุณ' จอห์นดูอายมาก ก่อนจะพูดไปว่า 'ว่าไงนะ คุณอยากได้เสื้อผมด้วยเหรอ ?' บล็องก์ตอบกลับมาว่า 'แน่นอน"

แต่สำหรับนักเตะบางคนอาจจะไม่ยอมแลกเสื้อกับใครเลย โดยเฉพาะ ยูริ ติเลอมองส์ กองกลางของเลสเตอร์ ที่เป็นที่รู้กันว่า เขาจะส่งคืนชุดแข่งหลังเกมทุกครั้ง และไม่ค่อยเอาไปแลกกับนักเตะคนไหน 

อย่างไรก็ดีบางครั้งการแลกเสื้อก็อาจนำมาซึ่งหายนะ

ผิดที่ผิดเวลา 

แม้การแลกเสื้อจะเป็นธรรมเนียมที่ทำกันอย่างแพร่หลาย แต่สำหรับผู้เล่นบางคนมันอาจจะแปรเปลี่ยนเป็นบาดแผลในใจ หนึ่งในนั้นคือ โรบิน โกเซนส์ กองหลังทีมชาติเยอรมันของอตาลันตา ที่คำขอของเขาถูกปฏิเสธจาก คริสเตียโน่ โรนัลโด้ สมัยที่ดาวเตะชาวโปรตุกีสเล่นให้ยูเวนตุส 

"หลังจากสิ้นเสียงนักหวีดผมไปหาเขา แต่โรนัลโด้ไม่ตอบรับ" เขาเขียนในหนังสืออัตชีวประวัติส่วนตัวชื่อว่า Dreams Are Worthwhile 

"ผมพูดว่า 'คริสเตียโน่ ขอเสื้อนายได้มั้ย?' เขาไม่แม้แต่มองมาที่ผมด้วยซ้ำ เขาแค่พูดว่า 'ไม่ "

"ผมรู้สึกอายมาก ผมเดินออกไปและรู้สึกตัวเล็กนิดเดียว อย่างที่รู้ เมื่อมีช่วงเวลาน่าอายเกิดขึ้น คุณจะมองไปรอบ ๆ ว่ามีใครสังเกตเห็นมั้ย นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึกและพยายามจะซ่อนมัน" 

แม้ว่าท้ายที่สุดเขาจะได้เสื้อของโรนัลโด้มาครอบครองจากการที่เพื่อนร่วมทีมซื้อให้เขา แต่ความรู้สึกแย่ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในวันนั้นก็ยังไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำ 

แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับเหตุการณ์ของ มาริโอ บาโลเตลลี่ แข้งจอมติสต์สมัยเล่นให้ ลิเวอร์พูล ในเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ที่พบกับ เรอัล มาดริด ในปี 2014 เมื่อกองหน้าชาวอิตาลีเอาเสื้อไปแลกกับ เปเป้ ตอนพักครึ่ง แถมตอนนั้นต้นสังกัดของเขาก็ยังตามคู่แข่งถึง 3-0 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บาโลเตลลี่ถูกเปลี่ยนตัวออกทันที แม้ว่า เบรนแดน ร็อดเจอร์ส กุนซือของลิเวอร์พูลในตอนนั้นจะบอกว่าไม่ได้เกี่ยวกัน แต่หัวหอกชาวอิตาลีก็แทบจะหมดอนาคตกับทีมทันที และถูกปล่อยตัวในอีก 2 ซีซั่นต่อมา 

"นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่องนี้" ร็อดเจอร์ส กล่าวกับ Sky Sports ถึงเหตุการณ์ในวันนั้น

"แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงผมก็ไม่ชอบมัน มันเป็นอะไรที่ผมไม่อยากเห็น ผมเคยเห็นมันเกิดขึ้นในลีกอื่นและประเทศอื่น แน่นอนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นที่นี่ และไม่ควรจะเกิดขึ้น" 

กรณีนี้คล้ายกับเหตุการณ์ของ อันเดร ซานโตส สมัยเล่นให้อาร์เซนอล เมื่อกองหลังชาวบราซิลไปแลกเสื้อระหว่างเกมกับ โรบิน ฟาน เพอร์ซี กองหน้าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เพิ่งย้ายออกจากทีมไป ในเกมที่ทีมพ่าย 2-1 เมื่อปี 2012 และทำให้เขาหมดอนาคตกับทีมตั้งแต่วันนั้น 

นอกจากนี้บางครั้งการแลกเสื้อก็อาจทำให้เกิดความวุ่นวาย โดยเฉพาะเมื่อทีมจากพรีเมียร์ลีกพบกับทีมในลีกล่าง ที่ทำให้เสื้อของนักเตะซูเปอร์สตาร์กลายเป็นที่หมายปอง จนอาจบานปลายกลายเป็นการทะเลาะกันภายในทีม

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สโมสรในลีกล่างบางทีมต้องออกกฎว่านักเตะที่โชว์ฟอร์มได้ดีที่สุดในเกมวันนั้นจะได้สิทธิ์เลือกก่อนว่าจะแลกกับใคร และเรียงลำดับไปตามฟอร์มการเล่น เพื่อป้องกันการไปรุมแย่งเสื้อนักเตะที่ดังที่สุดในทีมคู่แข่ง 

ขณะเดียวกันความต้องการเสื้อของทีมในลีกล่างยังทำให้สโมสรในพรีเมียร์ลีกบางทีมตัดสินใจไม่สกรีนชื่อผู้เล่นลงบนชุดแข่ง ที่ใช้ในการแข่งขันในช่วงพรีซีซั่นอีกด้วย

แต่ถึงอย่างนั้นธรรมเนียมการแลกเสื้อก็ยังพัฒนาจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง

มากกว่าแค่ความเคารพ 

อันที่จริงไม่ใช่แค่เสื้อเท่านั้นที่ได้รับความสนใจ เมื่อครั้งหนึ่ง แซมมี ลี อดีตผู้ช่วยผู้จัดการทีมเวสต์บรอมวิช อัลเบียน ได้เคยขอแลกแจ็คเก็ตกับ มาร์เซโล บิเอลซา ในตอนที่เป็นนายใหญ่ของ ลีดส์ ยูไนเต็ด 

มันเกิดขึ้นในเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาล 2020-2021 หลังจบเกมที่ลีดส์เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 3-1 ลีได้เข้าไปคุยกับกุนซืออาร์เจนไตน์และขอแลกแจ็คเก็ตกัน ตอนแรกบิเอลซางงเล็กน้อย ก่อนจะยิ้มไปพร้อมกับเช็คดูของในกระเป๋าแล้วถอดให้ไป 

เนื่องจากตลอด 30 ปีที่ผ่านมาฟุตบอลได้แปรเปลี่ยนจากกีฬาที่เคร่งครัดมาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ทำให้ผู้เล่นอย่าง เดวิด เบ็คแฮม, โรนัลดินโญ่, เมสซี่ หรือ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ มีสถานะไม่ต่างจากแบรนด์ระดับโลก 

ดังนั้นเสื้อบางตัวจึงเป็นมากกว่าแค่เครื่องหมายของการแสดงความเคารพและอาจมีคุณค่าเมื่อเวลาผ่านไป ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ เสื้อแข่งของ ดิเอโก มาราโดนา ในเกมที่เขาพาอาร์เจนตินาเอาชนะอังกฤษ 2-0 ในฟุตบอลโลก 1986 

ในตอนแรกเพื่อนร่วมทีมของ สตีฟ ฮอดจ์ ไม่พอใจด้วยซ้ำที่เขาไปแลกเสื้อกับ มาราโดนา เนื่องจากยังแค้นกับ "แฮนด์ ออฟ ก็อด" แต่สุดท้ายกลายเป็นฮอดจ์ที่สามารถทำเงินได้สูงถึง 7.1 ล้านปอนด์ (ราว 300 ล้านบาท) หลังนำออกประมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา 

"มันไม่ใช่การแลกเสื้ออย่างไร้เดียงสาอีกต่อไป" ไนเจล สปิลล์ ตัวแทนจำหน่ายของที่ระลึกด้านกีฬา กล่าวกับ New York Times

อย่างไรก็ดีมันไม่ใช่เป็นเรื่องตัวเงินเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งสิ่งนี้อาจจะมีความสำคัญมากสำหรับคนบางกลุ่ม เช่น เสื้อของ เดวิด เว็บบ์ แข้งเชลซีที่ใส่ในเอฟเอคัพ นัดชิงชนะเลิศ 1970 ที่เชลซีต้องไปขอซื้อคืนมาจาก เอ็ดดี้ เกรย์ ของลีดส์ เพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ 

"ผมไม่เคยมีอารมณ์อ่อนไหวกับเสื้อมาก่อน แต่ถ้าเรารู้ว่ามันมีเรื่องราวอย่างไร เราทุกคนคงจะแลกกันทุกครั้ง" เกรย์ กล่าวกับ The Athletic 

"ย้อนกลับไปตอนนั้นคุณไม่ได้คิดว่ามันมีค่าไม่ว่ากับใครก็ตาม แต่เชลซีอยากได้เสื้อของเดวิดสำหรับพิพิธภัณฑ์ของพวกเขา และมันก็โอเค ผมไม่เคยทำอะไรเหมือนกับที่ สตีฟ ฮอดจ์ ทำเลย ผมคงพูดแบบนั้นแต่ผมก็ยินดีกับเขา เขาได้เสื้อมาราโดนา ตัวนั้นมา และเป็นโชคดีสำหรับเขา" 

คล้ายกับกรณีของ ไมเคิล โอเวน ที่เผลอแลกเสื้อทีมชาติอังกฤษที่เขาใส่ทำแฮตทริคในเกมบุกถล่มเยอรมัน 5-1 ในปี 2001 กับ ยอร์ก โบห์เม แต่โชคดีที่เขานึกขึ้นได้ก่อนจะตามไปขอแลกคืนกลับมา โดยให้เสื้อตัวที่เขาไม่ได้ใส่ไปแทน

นอกจากนี้สำหรับนักเตะบางคน เสื้อที่แลกมายังอาจเป็นเหมือนเหมือนเครื่องบันทึกความทรงจำสำหรับเส้นทางอาชีพของพวกเขา และ คริสเตียน ฟุคส์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

อดีตกองหลังเลสเตอร์มีเสื้อมากกว่า 200 ตัวที่แลกมาตั้งแต่สมัยเล่นให้ทีมชาติออสเตรีย, ชาลเก้ และ เลสเตอร์ อยู่ในตู้เสื้อผ้าที่นิวยอร์ก บ้านหลังปัจจุบันของเขา ทั้งของ ราอูล กอนซาเลซ อดีตกัปตันสเปน, เวย์น รูนี่ย์ อดีตแข้งแมนฯ ยูไนเต็ด รวมไปถึงเพื่อนร่วมทีมเลสเตอร์ 

แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นต้องมีเสื้อของเลสเตอร์ที่เขาใส่ช่วยทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร เมื่อฤดูกาล 2015-2016 อยู่ในคอลเล็กชั่นของเขาด้วย 

"มันมีหลายตัวในนั้นที่พิเศษมาก อย่าเข้าใจผิด ผมหมายความว่ามันดีทั้งหมดแหละ สำหรับผมมันเป็นความทรงจำ ผมปล่อยให้ความทรงจำเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ในส่วนลึกของผม" ฟุคส์ บอกกับ The Athletic 

ทั้งหมดนี้ทำให้การแลกเสื้อไม่เคยหายไปจากเกมลูกหนัง แถมยังขยายพรมแดนไปยังกีฬาชนิดอื่นทั้ง อเมริกันฟุตบอล, บาสเกตบอล หรือแม้แต่ เบสบอล

ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฟุตบอล 

ปัจจุบันการแลกเสื้อได้กลายเป็นธรรมเนียมที่ทำกันอย่างกว้างขวาง และทำให้แต่ละสโมสรต้องสำรองเสื้อเอาไว้เป็นจำนวนมากในแต่ละฤดูกาล ยกตัวอย่างเช่น เลสเตอร์ ที่เคยใช้เพียง 100 ตัวต่อฤดูกาลในช่วงทศวรรษที่ 1990s มาเป็น 1,200 ตัวต่อฤดูกาลในทุกวันนี้  

แม้ว่าธรรมเนียมดังกล่าวอาจจะพักเบรกไปชั่วคราวในช่วงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ตอนนี้พวกเขาก็เริ่มกลับมาทำกันเป็นปกติเหมือนที่ผ่านมา 

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แม้ว่ามันจะไม่ได้ถูกเขียนเอาไว้ในกฎของฟุตบอลแต่มันก็กลายเป็นหลักปฏิบัติของเกมลูกหนังในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

และทำให้ฟุตบอลเป็นมากกว่าแค่เกมการแข่งขันนัดหนึ่ง 

"พิธีกรรมการแลกเสื้อเต็มไปด้วยฟังก์ชั่นทางวัฒนธรรม ทั้งการเสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสังคม เป็นเครื่องยืนยันถึงมิตรภาพ และเป็นการสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืน" แคชมอร์ กล่าวกับ New York Times

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook