อดีต ปัจจุบัน อนาคต ผ่านมุม “พูนเพชร เพชรใหม่” สื่อมวยผู้เห็นการเปลี่ยนแปลงทุกยุคของราชดำเนิน

อดีต ปัจจุบัน อนาคต ผ่านมุม “พูนเพชร เพชรใหม่” สื่อมวยผู้เห็นการเปลี่ยนแปลงทุกยุคของราชดำเนิน

อดีต ปัจจุบัน อนาคต ผ่านมุม “พูนเพชร เพชรใหม่” สื่อมวยผู้เห็นการเปลี่ยนแปลงทุกยุคของราชดำเนิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตลอดระยะเวลา 77 ปี เวทีราชดำเนิน มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายเกิดขึ้น ทั้งยุคบุกเบิก ช่วงเวลารุ่งโรจน์ อันเป็นยุคทองของกีฬามวยเมืองไทย รวมถึงผ่านจุดวิกฤตที่ต้องใช้เวลากอบกู้อยู่หลายปี

ปัจจุบัน “ราชดำเนิน” เปลี่ยนแปลงตัวเองอีกครั้ง ไม่ใ่ช่แค่เพียงการเพิ่มแสง สี เสียง เท่านั้น แต่ยังเซ็ตมาตรฐานการจัดแข่งขันใหม่ เริ่มต้นกันที่ ศึกราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ ที่ต้องการให้ มวยไทยกลับมาเป็นมหรสพที่ดึงดูดผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย และชาวต่างชาติให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ราชดำเนินอีกครั้ง 

พูนเพชร เพชรใหม่ อดีตบรรณาธิการนิตยสารมวยตู้ คือชายคนหนึ่งผู้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคของสนามมวยเวทีราชดำเนิน เขาจะมาถ่ายทอดเรื่องราวทั้ง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเวทีมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย ที่พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ในฐานะ “ศูนย์กลางมวยไทยโลก”

เปลี่ยนแปลงสู่กีฬาสากล 

“มวยไทยสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่ใช่กีฬาเหมือนในปัจจุบัน มวยสมัยนั้นจัดการแข่งขันเป็นมหรสพในโอกาสสำคัญ ๆ หรือเป็นงานประจำปี” 

“นักมวยที่ทำการแข่งขันเป็นผู้ฝึกฝนวิชาการต่อสู้ ขึ้นเวทีชกกันแบบคาดเชือก เพิ่งจะมาสวมนวมชกในช่วงหลัง แต่ละเวทีกำหนดวิธีการชกเอาเอง ยังไม่เป็นระเบียบแบบแผนเหมือนปัจจุบัน” 

“สนามมวยที่จัดประจำในยุคนั้นก็มี เวทีสวนกุหลาบ เวทีหลักเมืองท่าช้าง เวทีสวนสนุก เวทีสวนเจ้าเชตุ และเวทีพัฒนากร แต่ละที่จัดมวยได้ไม่นานก็ทยอยเลิกลาไป ยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกเวทีปิดตัวลงอย่างถาวร” 

“กระทั่งปี พ.ศ. 2484 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิมในตอนนั้น) ต้องการส่งเสริมกีฬามวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ จึงใช้พื้นที่บริเวณริมถนนราชดำเนินนอกเป็นสถานที่ก่อสร้างสนามมวยแห่งชาติ ตามการตั้งชื่อในตอนนั้น แต่มาเกิดสงครามโลกซะก่อน จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2488”

 

“สนามมวยแห่งชาติเปิดการแข่งขันนัดแรก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม แต่คนส่วนใหญ่นิยมเรียก เวทีราชดำเนิน จนติดปาก จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ สนามมวยเวทีราชดำเนิน จนถึงปัจจุบัน” 

“เวทีราชดำเนิน จึงถือเป็นสนามมวยมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย เพราะมีการกำหนดระบบระเบียบและกฎกติกาโดย อาจารย์เจือ จักษุรักษ์ นำเอากติกามวยสากลที่จัดชกในต่างประเทศมาปรับใช้” 

“ทำให้มวยไทยได้ชกภายใต้กติกาเดียวกันเป็นครั้งแรก มีการกำหนดจำนวนยก (5 ยก) เวลาชก และเวลาพักชัดเจน รวมทั้งกำหนดรุ่นตามน้ำหนัก เนื่องจากมวยไทยเป็นกีฬายอดฮิตในสมัยนั้น” 

“การเกิดขึ้นมาของเวทีราชดำเนินยังทำให้ สื่อกีฬา เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วย หนังสือพิมพ์ในยุคนั้นต้องแบ่งเซกชันกีฬาเพื่อนำเสนอข่าวมวยไทยเป็นเรื่องเป็นราว และยังทำให้เกิด หนังสือกีฬา เป็นนิตยสารมวยฉบับแรกของเมืองไทยอีกด้วย”

เปลี่ยนแปลงสู่สนามมวยมาตรฐาน 

“การจัดมวยของเวทีราชดำเนินในยุคนั้นได้รับความนิยมมาก นั่นอาจจะเป็นเพราะเป็นกีฬาที่มีการจัดการแข่งขันเป็นประจำ เวทีราชดำเนินจึงได้ชื่อว่า สร้างซูเปอร์สตาร์มวยไทยขึ้นมาเป็นเวทีแรก ไม่ว่าจะเป็น สุข ปราสาทหินพิมาย, ชูชัย พระขรรค์ชัย, สมพงษ์ เวชสิทธิ์, ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์, สุรชัย ลูกสุรินทร์, สมเดช ยนตรกิจ, ดาวทอง สิงหพัลลภ และ ประยุทธ์ อุดมศักดิ์”

“เวทีราชดำเนินในระยะแรกเป็นเวทีกลางแจ้งไม่มีหลังคา จึงเรียกกันว่า ชามอ่างยักษ์ นอกจากจะร้อนในเวลาแดดส่องแล้ว เวลาฝนตกยังเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ถึงขนาดต้องยกเลิกการแข่งขันกลางคันอยู่บ่อย ๆ” 

“นายเฉลิม เชี่ยวสกุล นายสนามมวยในเวลานั้น จึงขออนุมัติจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สร้างหลังคาและจัดสร้างอัฒจันทร์ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาในปี 2493 แล้วเสร็จปลายปี 2494 เวทีราชดำเนินจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิกคอนกรีต”

 

“แต่การจัดมวยของเวทีราชดำเนินกลับขาดทุนมาโดยตลอด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารงานแทนในปี พ.ศ. 2496 นายเฉลิม เชี่ยวสกุล จึงก่อตั้งบริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด ขึ้นมา แล้วเช่าสถานที่ดำเนินกิจการแทน โดยที่เจ้าตัวยังคงเป็นนายสนามมวยอยู่เหมือนเดิม”

“ปี พ.ศ. 2499 สนามมวยเวทีลุมพินีเกิดขึ้นมา ทำให้เกิดการจัดการแข่งขันแย่งชิงแฟนมวย แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งแย่งกันจัดยิ่งแย่งกันขาดทุน เวทีราชดำเนินจึงเลิกลงทุนจัด ซึ่งในเวลานั้นใช้ระบบจ้าง แมตช์เมกเกอร์ เป็นผู้ประกบคู่มวย พอสนามเลิกลงทุน จึงเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเช่าสถานที่จัดมวย ทำให้มีตำแหน่ง โปรโมเตอร์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวงการมวย”

“โปรโมเตอร์ยุคแรกของเวทีราชดำเนินคือ ยอแสง ภาณุทัต หัวหน้าคณะราชวัฏ, บุญส่ง กิจกล่ำศวร คณะศรีโสธร, บุญยงค์ ไม้อ่อนมือ คณะ อ.ยุทธนากร และ จวน สุริยะกุล คณะ รฟท. จนคนวงการมวยเรียกกันติดปากว่า ยอ-ส่ง-ยงค์-จวน เป็นยุคที่สร้างนักมวยขึ้นมาเป็นขวัญใจแฟนมวยได้หลายคน แต่ก็ยังไม่ได้โดดเด่นกว่าทางฝั่งเวทีลุมพินีมากนัก”

เปลี่ยนแปลงสู่ยุคทอง 

“กระทั่ง เทียมบุญ อินทรบุตร ลาออกจากโปรโมเตอร์ลุมพินีมาเป็นโปรโมเตอร์ราชดำเนิน นี่จึงกลายเป็นยุคทองของเวทีราชดำเนินอีกครั้ง”

 

“ต่อมา เส่ย ลี้ถาวรชัย เข้ามาเป็นผู้ช่วยโปรโมเตอร์ศึกมุมน้ำเงิน ของ พ.อ.(พิเศษ) บรรจุ อ่องแสงคุณ สร้างซูเปอร์สตาร์ประดับวงการมวยอย่างต่อเนื่องในห้วงเวลา 10 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2515 - 2525 ทำให้เวทีราชดำเนินกลายเป็นสนามมวยหมายเลข 1 ที่ครองใจแฟนมวยมาอย่างยาวนาน”

“นักมวยดังที่เป็นขวัญใจแฟนมวยในยุคนั้นมีมากมายจนนับไม่ถ้วน อาทิ ดีเซลน้อย ช.ธนะสุกาญจน์, ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต, วิชาญน้อย พรทวี, ขาวผ่อง สิทธิชูชัย, เผด็จศึก พิษณุราชันย์, ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา และ หนองคาย ส.ประภัสสร” 

“ขณะที่เวทีลุมพินี มี ครูเฒ่า-ชนะ ทรัพย์แก้ว เป็นโปรโมเตอร์เบอร์ 1 เป็นผู้จัด ผุดผาดน้อย วรวุฒิ และ พุฒ ล้อเหล็ก จนกลายเป็นนักมวยแม่เหล็ก รวมทั้งสร้าง เวนิส บ.ข.ส. เป็นแชมป์โลกมวยสากลอาชีพคนที่ 4 ของไทย ช่วงนี้นอกจากจะเป็นยุคทองของเวทีราชดำเนินแล้ว ยังเป็นยุคทองของกีฬามวยไทยอีกด้วย”

“ภายหลังศึกวันทรงชัยที่จัดโดย ทรงชัย รัตนสุบรรณ ก็สร้างมวยแม่เหล็กขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กระแสความนิยมของแฟนมวยก็หลั่งไหลไปดูมวยที่เวทีลุมพินีจนแน่นสนาม เก็บค่าผ่านประตูได้มากกว่าเวทีราชดำเนินแทบทุกนัด”

 

“ผู้บริหารในยุคนั้นซึ่งมี นายเฉลิมพงษ์ เชี่ยวสกุล บุตรชายนายเฉลิมเป็นนายสนาม ต้องหาทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เวทีราชดำเนินกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการติดแอร์เพื่อเอาใจแฟนมวย”

“ทำให้ศึกเพชรทองคำจัดโดย เติมศักดิ์ ปิติธนสารสมบัติ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2530 กลายเป็นรายการมวยนัดประวัติศาสตร์ของเวทีราชดำเนินที่มีการเปิดแอร์ใช้งานเป็นครั้งแรก คนวงการมวยจึงพร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อเรียกเวทีมาตรฐานแห่งแรกของเมืองไทยว่า วิกแอร์ มาจนถึงปัจจุบัน”

“ปี พ.ศ. 2544 เวทีราชดำเนินกลับมาเป็นเวทีที่มีแฟนมวยเข้ามาชมการแข่งขันมากที่สุดอีกครั้ง เมื่อ ทรงชัย รัตนสุบรรณ ลาออกจากเวทีลุมพินีมาเป็นโปรโมเตอร์เวทีราชดำเนิน” 

“จากนั้นในปี 2555 สมหมาย สกุลเมตตา ได้รับการแต่งตั้งเป็นโปรโมเตอร์ โดยมี ทรงชัย รัตนสุบรรณ และโปรโมเตอร์คนอื่น ๆ มอบนักมวยเอกมาให้จัด เพราะเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี ทำให้รายการมวยที่เวทีราชดำเนินมีผู้ชมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ”

“เท่านั้นยังไม่พอ ปี พ.ศ. 2556 ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ ในวัย 25 ปี กลายเป็นโปรโมเตอร์มวยไทยที่มีอายุน้อยที่สุดของเมืองไทย จัดศึกเพชรวิเศษ (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นศึกเพชรยินดีในภายหลัง) ขนนักมวยเอกจากเวทีลุมพินีมาจัดที่ราชดำเนิน ยิ่งทำให้แฟนมวยแห่กันมาดูมวยที่เวทีราชดำเนินมากขึ้นไปอีก” 

“ขณะที่นักท่องเที่ยวก็เข้ามาชมมวยมากขึ้น โดยเฉลี่ยนัดละ 300-400 คน บางนัดทะลุไปถึง 500-600 คน เพราะไกด์เห็นว่าแฟนมวยชาวไทยมาดูเยอะมาก จึงแนะนำนักท่องเที่ยวมาดูมวยที่เวทีราชดำเนิน ยิ่งทำให้บรรยากาศการจัดมวยที่เวทีราชดำเนินคึกคักเพิ่มขึ้นไปอีก”

“ปี พ.ศ. 2561 จิต เชี่ยวสกุล เข้ามาเป็นนายสนามคนที่ 13 แม้จะเป็นการทำธุรกิจแบบครอบครัวจากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อมาต่อที่รุ่นหลาน แต่คนรุ่นใหม่อย่างจิตก็ทำให้เวทีราชดำเนินเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ หัวคิดทันสมัย มีความตั้งใจจะนำพาเวทีราชดำเนินเข้าสู่ยุคใหม่ จึงสามารถพัฒนาเวทีราชดำเนินจนดูดีขึ้นในทุกด้าน”

 

เปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ 

“น่าเสียดายที่ปี พ.ศ. 2563 เกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการมวยและเวทีมวย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจการมวยต้องหยุดชะงักและหยุดนิ่งไปนานนับปี เวทีราชดำเนินที่กำลังกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งก็ได้รับผลกระทบอย่างจังจนต้องหยุดจัดมวยโดยไม่มีกำหนด”

“แม้ว่าในเวลาต่อมามวยจะกลับมาจัดได้จนเกือบเป็นปกติ แต่คราวนี้จุดศูนย์กลางการจัดมวยไม่ใช่ที่เวทีราชดำเนินอีกต่อไป กลายเป็นว่า มวยตู้ หรือ มวยถ่ายทอดสดทางทีวี เป็นรายการหลักที่อยู่ได้และทำกำไรให้ผู้จัด จนทุกเวทีต้องปรับตัวมาจัดมวยถ่ายทอดกันหมด”

“เวทีราชดำเนินอยู่ได้ด้วยค่าผ่านประตู แต่การจัดมวยในยุคโควิดรายได้หลักอยู่ที่เงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ แม้ว่ารายการมวยที่เวทีราชดำเนินจะกลับมาจัดได้แล้ว แต่การจัดมวยจะเป็นระบบปิดแบบ นิว นอร์มอล ที่ไม่อนุญาตให้แฟนมวยเข้ามาชมในสนาม”

“ทำให้เวทีราชดำเนินประสบปัญหาขาดทุนทุกนัด จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยเปลี่ยนมาจัดมวยถ่ายทอดสดทางแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ยังไม่สามารถเรียกคนดูและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนช่วงก่อนโควิด จนต้องเปลี่ยนมาถ่ายทอดสดทางทีวี แต่ก็ยังแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากมวยตู้เจ้าหลักกลับมาได้ไม่มากนัก”

“เมื่อไม่สามารถเจาะตลาดมวยไทย 5 ยกได้ คนรุ่นใหม่อย่าง จิต เชี่ยวสกุล จึงต้องปรับกลยุทธ์อีกครั้ง คราวนี้หันมาเจาะตลาดมวย 3 ยกที่เจาะกลุ่มแฟนมวยสปอร์ต เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เป็นหลัก โดยการร่วมมือกับ บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด หรือ GSV ซึ่งบริหารงานโดยคนรุ่นใหม่เช่นกัน จัดมวยไทยรูปแบบใหม่ นั่นคือ RWS ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์”



“ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ เป็นรายการมวยที่ทำให้เวทีราชดำเนินเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังจากที่มวย 3 ยกรายการนี้ออกอากาศนัดแรกไปเมื่อวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม โดยถ่ายทอดสดทั่วประเทศทางช่องเวิร์คพอยท์ 23 ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับจากแฟนมวยรุ่นใหม่ดีมาก เพราะนักมวยที่ร่วมชกเป็นมวยที่แฟนมวยกลุ่มนี้ติดตามการชกแบบ 3 ยกมาโดยตลอด”

“นักมวยบางคนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทางโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่จะทำคอนเทนต์ทางโซเชียลมีเดีย เวลาขึ้นชกจึงมีลูกเพจติดตามชมมากมาย นอกจากนี้กติกาการแข่งขันยังถูกปรับทำให้มวย 3 ยกของราชดำเนินดูสนุกชวนติดตามยิ่งขึ้น”

“การจัดรายการมวย ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ จึงถือว่าเป็นการปรับแผนที่เดินมาถูกทาง เชื่อว่าเวทีราชดำเนินยุคใหม่โดยการบริหารงานของคนรุ่นใหม่จะทำให้ผู้คนหันกลับเข้ามาดูมวยที่เวทีเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนั้นน่าจะนำพาเวทีราชดำเนินกลับไปเป็นเวทีมวยมาตรฐานอันดับ 1 ของเมืองไทยอย่างเต็มภาคภูมิได้อีกครั้ง”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook