ไทยลีกเดินตามปลาดิบ

ไทยลีกเดินตามปลาดิบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ใช้ท้องถิ่นนิยมพัฒนาลูกหนัง

เอกพงศ์ โพธิ์อ่อง รายงานความเคลื่อนไหวของคณะ 14 ผู้บริหารสโมสรฟุตบอลในระดับดิวิชั่น 1 และ 1 สโมสรจากไทยพรีเมียร์ลีก ที่เดินทางมาดูงานของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นและสโมสรฟุตบอลทั้งในระดับ เจ.ลีก และ เจเอฟเอล ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มี.ค. คณะดูงานได้เดินทางไปยังเมืองไซตามะ เพื่อชมสนามของสโมสรอูราวะ เรดไดมอนด์ ทีมชั้นนำ เจลีก ซึ่งเคยใช้เป็นสนามแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2002 และปิดท้ายด้วยชมการแข่งขันฟุตบอล เจลีก ระหว่าง อูราวะ เรดไดมอนด์ เปิดบ้านรับการมาเยือนของ เอฟซี โตเกียว ท่ามกลางแฟนบอลกว่า 6 หมื่นคน

นายเดชา เศวตศิโรรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การมาเยี่ยมชมสโมสรอูราวะ เรดไดมอนด์ ตนประทับใจในความเป็นท้องถิ่นนิยมจนกระทั่งทีมสามารถประสบความสำเร็จเป็นสโมสรชั้นนำของเอเชีย สิ่งที่เห็นก็คือความเป็นท้องถิ่นนิยมที่ทำให้ทีมเขาสามารถประสบความสำเร็จได้ ขณะที่ทีมจากลีกดิวิชั่น 1 และ ลีกภูมิภาคดิวิชั่น 2 ก็กำลังเดินมาถูกทางเหมือนอย่างเขา เหลือเพียงแค่การบริหารจัดการเท่านั้นเองที่ยังเป็นจุดด้อย การมาครั้งนี้นับว่าได้ประโยชน์มากหากนำเอาไปเป็นแนวทางในการบริหารจัดการอย่างจริงจัง สโมสรฟุตบอลบ้านเราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนให้มากกว่านี้ เช่น การเปิดอะคาเดมี่ฟุตบอลสำหรับนักเตะในระดับเยาวชน เป็นแนวทางที่ดึงแฟนบอลได้ดีมาก ๆ ที่เราต้องเร่งทำกัน

ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก กล่าวว่า การดูงานครั้งนี้ได้ประโยชน์มหาศาล เพราะลีกของญี่ปุ่นกับไทยก็ไม่แตกต่างกันมากนักโดยเฉพาะเจเอฟเอล เราสามารถนำเอาไปเป็นแบบอย่าง ขณะเดียวกันสโมสรในระดับ เจลีก ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด ถ้านำเอาแนวคิดไปต่อยอดพัฒนาสโมสรกันอย่างจริงจัง อีกอย่างที่เราควรพัฒนาคือการจัดทำห้องตรวจโด๊ปในแต่ละสโมสร ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่หนักหนาเกินกำลัง จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์กีฬาของญี่ปุ่นไปไกลมาก ถึงขนาดมีที่ตรวจโด๊ปในสนามฟุตบอล บ้านเรายังไม่มี แต่อีก 2-3 ปี เมื่อฟุตบอลเดินหน้าสู่ความเป็นอาชีพทั้ง ไทยพรีเมียร์ลีก, ลีกดิวิชั่น 1 และ ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 ควรจะต้องมี เพราะเป็นอีกหนึ่งนโยบายของเอเอฟซี

บังมาด นายสามารถ มะลูลีม อุปนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกสโมสรได้ความรู้เรื่องของแฟนคลับและความปลอดภัยในสนาม สิ่งแรกที่ตนมั่นใจว่าทุกสโมสรได้แนวทางเลยก็คือเรื่องของการบริหารจัดการแฟนคลับ เพราะญี่ปุ่นฟุตบอลไม่ใช่กีฬายอดฮิตรองจาก ซูโม่ และ เบสบอล ด้วยซ้ำ แต่พวกเขาสามารถเรียกแฟนคลับให้เข้าสนามดูฟุตบอลได้ถึงหลัก 6 หมื่นคนใน เจ.ลีก ถือว่าไม่ธรรมดาที่เราต้องเรียนรู้ให้มาก และมั่นใจว่าบ้านเราทำได้ไม่ยากเพราะคนส่วนใหญ่มีความนิยมกีฬาฟุตบอลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook