เกมแห่งความ “เคารพ” และให้เกียรติ

เกมแห่งความ “เคารพ” และให้เกียรติ

เกมแห่งความ “เคารพ” และให้เกียรติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจบ “แมตช์สนุกๆ” เวลส์ สร้างตำนานเทพนิยายต่อเนื่องเอาชนะเบลเยียมสบายเกือกสุดๆ 3-1 ทั่วโลกก็เฝ้าจับตามองอยู่เหมือนกันว่า เกม “หยุดโลก” เยอรมัน - อิตาลี จะเดินทาง และจบลงในรูปแบบใด

ตอบ: คำที่ไพเราะที่สุดที่ผมสรรหาได้คือ “คลาสสิค” ครับ เพราะแม้จะไม่ได้สนุก หรือเปิดศึกแลกกันแถมพกด้วยความ “ผิดพลาด” โดยเฉพาะเกมรับตลอดเกมแบบ เบลเยียม

ทว่า นี่แหละครับคือการเผชิญหน้ากันของ 2 ทีมที่ “เคารพ” และให้เกียรติในกัน และกัน

ใครจะคิดครับว่า โยอาคิม เลิฟ จะปรับระบบที่ “ชื่นชอบ” 4-2-3-1 และถอดดาวเตะเกมรุกที่ฟอร์มกำลังดีที่สุดในทีมชุดนี้ จูเลียน แดรกซ์เลอร์ ออกไปเพื่อเพิ่มโควต้า และ “วินัย” ในเกมรับให้กับทีม

เบเนดิก โฮเวเดส ถูกเลือกลงมาเป็นแผงหลังท่ามกลางความ “งุนงง” ของสื่อมวลชน และผู้คนที่คาดการณ์กันว่า เยอรมันจะปรับมาใช้ระบบ 4-4-2 โดยใช้ โฮเวเดส ยืนแบ็คขวา

และเขยิบ โจชัว กิมมิช ขึ้นไปเป็นมิดฟิลด์ริมเส้นฝั่งขวา “กราฟฟิค” ก่อนเกมโดย “ยูฟ่า” ก็วางฟอร์เมชั่นไว้แบบนั้นครับ แต่ทันทีที่กล้องจับภาพมุมสูง “Bird’s-eye view” ตอนทัพอินทรีเหล็กกำลังเขี่ยบอลก่อน

ความ “ชัดเจน” ก็เกิดขึ้นทันทีว่า กิมมิช ดันสูงเป็นวิงก์แบ็คฝั่งขวา และโยนาส เฮคตอร์ วิงก์แบ็คฝั่งซ้าย กองหลังตัวกลางมี 3 คนจากซ้ายมาขวา คือ แมตส์ ฮุมเมิ่ลส์, เจอโรม บัวเต็ง และโฮเวเดส

ส่วนแดนกลาง โทนี่ โครส, แซมี เคห์ดิร่า และเมซุส โอซิล โดยมีคู่หน้าเป็น มาริโอ โกเมซ และโธมัส มุลเลอร์ โดยใครจะมองว่าเป็นระบบ 3-4-2-1 ที่โอซิล และมุลเลอร์ คือ “เลข 2” ดังกล่าวก็ได้

แต่ใจความสำคัญ คือ การเล่น “แบ็ค 3” และมี “วิงก์แบ็ค” อันแสดงให้เห็นว่า เยอรมันปรับตัวตามระบบของอิตาลี

เคารพอิตาลี และเห็นว่า “ประสิทธิภาพ” ในการทำลายล้างของระบบนี้เหนือ “แบ็คโฟร์” มีมหาศาลจากเกมที่พวกเค้าสอนเชิงสเปน 2-0 ในรอบที่ผ่านมา

มากกว่านั้น “ประวัติศาสตร์” ในบอลรายการเมเจอร์ทั้งบอลโลก และยูโร ที่เยอรมันไม่เคยชนะอิตาลี ยัง “ค้ำคอ” เลิฟ และเด็กๆ

จนกล่าวกันว่า อิตาลี คือ “bogey team” หรืออารมณ์ประมาณทีมปราบเซียนของเยอรมัน เฉพาะอย่างยิ่งในฟุตบอลรายการใหญ่

ดังนั้นจะให้ “บังเอิญ” หรือไม่ว่า ตอนอุ่นเครื่องเดือน มี.ค.ที่มิวนิคที่ผ่านมา เยอรมัน ก็เล่น “แบ็ค 3” และเอาชนะอิตาลีได้สะดวกโยธิน 4-1

การปรับทัพแบบคาดไม่ถึงจึงเกิดขึ้นในแมตช์ที่ อันโตนิโอ คอนเต้ ปรับทัพเพียงตำแหน่งเดียวโดยใช้ มาร์โก้ ปาโรโร่ มิดฟิลด์ลาซิโอ เล่นตัวต่ำตัดเกมแทน ดานิเอเล่ เดอ รอสซี่ และติอาโก้ มอตต้า ที่เจ็บ และติดแบน

โดย สเตฟาโน่ สตูราโร่ คือ คนที่ลงมาแทนในจุดขีดสุดของทัวร์นาเมนท์ที่คอนเต้ น่าเห็นใจมาก เพราะเข้าสู่ทัวร์นาเมนท์ใหญ่โดยขาดมิดฟิลด์คนสำคัญๆ หากจะรวม เดอ รอสซี่, มอตต้า และอันโตนิโอ คันเดรว่า เข้าไปด้วยมากมาย

เพราะมาร์โก้ แวร์รัตติ, เคลาดิโอ มาร์คิซิโอ ก็บาดเจ็บ หรืออันเดรีย ปิร์โร่ ก็อาจถูกมองว่า ไม่พร้อมจาก เมเจอร์ลีกซอคเกอร์ ในเวลาที่กองหน้าก็ “ขี้เหร่” สุดๆ ในสายตาประชาชี

ทว่า อิตาลี เล่นได้ตาม “สคริปต์” ของตัวเอง และเป็นทีมที่ “วิ่งมาก” กว่าใครในยูโรหนนี้ พวกเค้าทำงานหนัก และมีวินัย โดยเฉพาะเกมรับที่แสดงให้เห็นแล้วว่า หากตั้งใจจะรับจริง ๆ มันยากมากจะเจาะประตูพวกเค้าได้

ครึ่งแรกต้องรอจนใกล้หมดเวลาก่อน มุลเลอร์ จะมีโอกาสยิงเข้ากรอบให้ได้ลุ้น อันเป็นจังหวะเดียวที่เยอรมันได้เสียว

ลูกยิงโดย เมซุส โอซิล นาทีที่ 65 ก็ต้องอาศัยจังหวะเป็นใจอย่างน้อย 2 หนที่บอล “กระดอน” เข้าทางตั้งแต่บอลตั้งต้นจาก โกเมซ ก่อนมาจบที่โอซิล

และเยอรมันยังบุกต่อเนื่องโดยโกเมซมีโอกาสดีดจ่อๆ เป็น 2-0 ทว่า จิอันลุยจิ บุฟฟ่อน เซฟไว้ได้

จังหวะนั้นหากเป็น 2-0 คงจะปิดเกมได้แล้ว และต้อง “ปรับมือ” ให้แชมป์โลก 2014 ที่ยังเดินหน้าบุกเพื่อต่อยอดความได้เปรียบ แต่ก็ยังให้เกียรติทีมมะกะโรนีโดยไม่บุกจนลืมตัว

ส่วนตัวผม “เสียดาย” เล็กน้อยตรงที่ อิตาลี เริ่ม “ปรับโหมด” มาดันเกมรุกหลังนาทีที่ 70 และค่อยๆ ขยับรุกสูงมาอยู่ในแดนเยอรมันบ้างแล้ว

เกมน่าจะสนุก เพราะบอลจะ “เปิดหน้า” มากขึ้นอันหมายถึงโอกาสทั้งเยอรมัน และอิตาลีในการทำประตู

คนทั่วโลกที่นั่ง “ขมวดคิ้ว” มา 70 นาทีก็น่าจะได้สนุก ตื่นเต้นกันบ้าง อย่างไรก็ดี บัวเต็ง ดันมาแฮนด์บอล ฆ่าตัวตายในนาทีที่ 77

หลังจากนั้นจนหมดเวลา และต่อเวลาครบ 120 นาที ทั่วโลกจึงได้เห็น “โหมดเดิม” ของเกมคลาสสิค แต่ไม่เร้าใจเหมือนเมื่อ 70 นาทีแรกอีกครั้ง

“จุดโทษ” ที่ยิง 18 คน และเสมอ 2-2 จาก 10 คนแรกคงไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากกับความ “ไม่แน่นอน” แม้กระทั่งจาก 2 ทีม และผู้เล่นที่ว่ากันว่าน่าจะ “ไว้ใจ” ได้มากที่สุดในโลก

ครับ ยินดีด้วยกับชัยชนะของเยอรมัน พวกเค้า “คู่ควร” ในเกมฟุตบอลที่ยากที่สุดเกมหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติกับ “คู่แข่ง” ที่รู้จักพวกเค้าดีที่สุดเลยก็ว่าได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook