สกู๊ป : ตีความภาษา "เลิฟ"

สกู๊ป : ตีความภาษา "เลิฟ"

สกู๊ป : ตีความภาษา "เลิฟ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผมมีข้อเขียนที่ “หลบมุม” อยู่ในซอกหลืบ ในวันต้องปิดฉบับก่อนทราบผล “ยูโร 2016” นัดไฟนอลมาฝาก อันเป็นประเด็นสืบเนื่องจากบทสัมภาษณ์ โยอาคิม เลิฟ หลังทีมชาติเยอรมันตกรอบตัดเชือกนะครับ

แต่ก่อนจะถึง “ตรงนั้น” ประเด็นที่ทำให้ผมต้อง “งัด” เรื่องทีมชาติอินทรีเหล็กแพ้มาเขียนอีกครั้งก็เพราะ “ส่วนตัว” ชื่นชอบ และเชื่อมั่นในสไตล์การเล่น “ครองบอล” และคอนโทรลสถานการณ์ของเกมแบบเยอรมันในทัวร์นาเมนท์นี้

หรือสเปนจาก “ยูโร 2008, 2012” และบอลโลก 2010

หรือบาร์เซโลน่า และบาเยิร์น มิวนิค ในระดับสโมสรยุคปัจจุบัน

(ถ้าเลือกได้นะครับ!)

ไม่ใช่แนว เลสเตอร์ ซิตี้, แอตเลติโก้ มาดริด หรือแม้กระทั่ง “ฝรั่งเศส” ที่ดิดิเยร์ เดอชองป์ส ใช้แท็คติกเน้นรับไว้ก่อน และเป็นรองเรื่องครองบอลถึง 68 : 32% ในรอบรองชนะเลิศที่ผ่านมา

ถึงขั้น มานูเอล นอยเออร์ เปรยว่า เยอรมัน คงเล่นแบบนั้น “ในบ้าน” ไม่ได้กับคู่แข่ง เพราะแฟนบอลจะโห่เอา!

ทั้งนี้ หากติดตามข้อมูลการ “เตรียมทัพ” ยูโรครั้งนี้ของเยอรมันมาตลอดจะพบว่า พวกเค้ามีการเตรียมการเป็นอย่างดี

เรียกได้ว่า “ศึกษา” และวิเคราะห์มาล่วงหน้าหมดแล้วว่า “คู่แข่ง” โดยเฉพาะชาติเป็นรองจะมาเล่นแบบไหน?

แน่นอนว่า “สูตรสำเร็จ” ย่อมหนีไม่พ้นความพึงพอใจกับแผน “ดื่มด่ำ” กับการตั้งรับ ไล่ล่าบอล และคอยสกัดกั้นโอกาสของเยอรมั

โดยไม่ได้ใส่ใจกับเปอร์เซนต์การครองบอล พร้อมรอจังหวะโต้กลับของตัวเอง

การเรียก มาริโอ โกเมซ กลับมาติดทีมชาติอีกครั้งในรอบ 2 ปี หลังเจ้าตัวประสบความสำเร็จกับ เบซิกตัส ในลีกตุรกี คือ “ออปชั่น” การใช้หัวหอก No.9 ขนาดแท้

แทนการใช้ False No.9 ไม่ว่าจะโธมัส มุลเลอร์ หรือมาริโอ เกิตเซ่ แบบที่เยอรมันชอบในยุคหลัง

รวมถึงเกมอุ่นเครื่องเดือนมี.ค.ที่ใช้ “แบ็ค 3” เป็นเซนเตอร์ฮาล์ฟ 3 คนปราบอิตาลี 4-1 หรือทดสอบผู้เล่นมากมายก่อนแพ้สโลวาเกีย 3-1 ในการอุ่นเครื่องก่อนเดินทางมาแข่งรอบสุดท้าย

เรียกได้ว่า “ทุกอย่าง” ถูก “ทดสอบ” และวิเคราะห์ทุกแง่มุมอย่างละเอียด และก็เหมือนเป็น “ตามแผน” ทุกประการ จนกระทั่งเกมตัดเชือกที่ผมเขียนในคอลัมน์ส่วนตัวไปว่า “เยอรมัน แพ้แต่ดูดี"

ความหมายของผมสามารถอ่านย้อนได้ในเว็ปไซต์ของเรา www.hotscorethailand.com นะครับ แต่รวมๆแล้วคือ เยอรมันเล่นดีพอจะชนะมากกว่าแพ้ หากไม่ใช่เพราะ “แพ้ตัวเอง” ใน 2 ประตูที่เสีย

นั่นคือ มุมมองหลักของผมที่อาจจะเสริมได้ด้วยอีก “ปัจจัย” ที่จั่วหัวไว้พารากราฟแรกข้างต้น ถอดมาจากบทสัมภาษณ์ของ เลิฟ หลังเกมว่า :

“การมี 24 ทีมนั้นมากเกินไป จนบางครั้งคุณอาจคิดเลยว่า มันไม่ได้ทำให้คุณภาพเกมฟุตบอลนั้นดีขึ้น”

ตีความนะครับว่า ผมไม่ได้คิดว่า เลิฟ “แอนตี้” การมี 24 ทีม หรือเพิ่มจาก 32 ทีมในบอลโลกเป็น 40 ทีมในแง่การเพิ่มโอกาสของทีมรอง หรือยกระดับเกมฟุตบอลให้โตขึ้นมาทัดเทียมกัน

แต่กุนซือเยอรมัน หมายถึง “ความยาก” ในการเตรียมทีมเพื่อจะเล่นฟุตบอลแบบ “คุณภาพ” ในทุกนัด (ที่มากขึ้น) ตลอดเส้นทางทัวร์นาเมนท์

บทพิสูจน์นี้ไม่ได้มีตัวอย่างผ่านเยอรมันเท่านั้น แต่หลายทีมเจอหมด มากน้อยต่างกัน และขึ้นกับการวาง “ยุทธศาสตร์” ของเหล่ากุนซือ

สเปน และไอซ์แลนด์ ที่ใช้ 11 คนแรกเหมือนเดิมทุกนัดต้อง “จบเห่” หลังผ่าน 4 และ 5 นัดตามลำดับ เพราะทีมไม่สามารถรักษาระดับมาตรฐานเหมือนเกมแรกๆไว้ได้

ครับ ฟุตบอลเตะแทบจะทุก 3 วัน จะเตรียมอะไรไม่ได้มากหรอกครับ เช่น ระหว่างรอบรองฯถึงนัดชิงฯของทั้งฝรั่งเศส และโปรตุเกส เมื่อคืนที่ผ่านมา

การเตรียมทีมจริงๆต้องเริ่มมาก่อนทัวร์นาเมนท์แล้ว ที่เหลือก็เป็นเพียงการให้นักเตะได้ผ่อนคลาย และใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วยรวมๆกับ “บรีฟ” แท็คติกส์ง่ายๆว่า จะเล่นอย่างไรให้ชนะ? หรือมีประสิทธิภาพมากที่สุดเหนือคู่แข่งในแต่ละเกม

อย่างไรก็ดี พอถึงเวลาจริง และเมื่อมีเกมเยอะมันก็เป็นไปได้ว่า ความเครียด, วิตกกังวล, กดดัน, ความคาดหวัง, สภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย และจิตใจ ฯลฯ ของผู้เล่นจะอยู่ในระดับ “แย่ลง"

หลากหลายสิ่งไม่คาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นการแฮนด์บอลของทั้ง เจอโรม บัวเต็ง (ซึ่งเจ็บต้นครึ่งหลังกับฝรั่งเศส ก็อาจมีผลจากเกมเตะที่มากขึ้น – เจ้าตัวเป็นคนเปิดบอลทะแยงมุม Diagonal Cross ตลอดเวลาเสียด้วย!) หรือบาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ทำเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดไม่น่าจะเกิดในแมตช์แรกๆของทัวร์นาเมนท์ แต่มาเกิดตอนภาวะจิตใจผู้เล่นไม่สมบูรณ์เต็ม 100% นะครับ

ปิดท้ายวันนี้ด้วย “ทัศนคติ” แบบเยอรมันซึ่งเป็นทีมใหญ่แบบที่ นอยเออร์ ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า พวกเค้าคงเล่นรับไม่ได้

ขณะที่ แมตส์ ฮุมเมิ่ลส์ ก็บ่นว่า หลายทีมในทัวร์นาเมนท์นี้มาแบบไม่ทำอะไรนอกจากแพ็คกำลังพลตั้งรับไว้หลังลูกบอล

ประเด็นของผม คือ หากเยอรมันมี “ปรัชญาฟุตบอล” และ “ทัศนคติ” ในการเล่น possession play และคอนโทรลเกมแบบนี้

ทีมอินทรีเหล็กต้องเลิกบ่น แต่ต้องหันมา “ทำใจ” และ “รับมือ” ให้ได้แบบไม่กดดันตัวเองว่า “จะชนะ”, จะเล่นให้ดี, เซ็งเป็ดกับคู่แข่งมาตั้งรับ ฯลฯ และ ฯลฯ

เพื่อจะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ใน “บอลโลก 2018” หรือยูโรสมัยหน้าครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook