ย้อนรอยฮีโร่

ย้อนรอยฮีโร่

ย้อนรอยฮีโร่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กีฬา เป็นสิ่งที่ทำให้คนทั้งประเทศมีความสุข แม้เป็นแค่ชั่วครู่ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้ลืม ปัญหาต่างๆ ได้บ้าง

เรื่องเหตุบ้านการเมือง, ภาระหนี้สิน หรืออะไรต่างๆ โอลิมปิก เกมส์ ก็เช่นกัน มหกรรมกีฬาครั้งใหญ่เช่นนี้ ไทย ก็มีความหวังในการลุ้นเหรียญรางวัล

แม้อาจไม่ถึงขั้นโกยเหรียญทองเหมือนพวกมหาอำนาจ......

แต่หากเราได้เหรียญทองมาคล้องสัก 1 เหรียญ พวกเราก็ดีใจกันสุดเหวี่ยงแล้ว ดุจน้ำทิพย์ชโลมจิต นับตั้งแต่ปี 1952 เรามีส่วนร่วมกับกีฬา 5 ห่วงมาโดยตลอด ยกเว้นเพียงแค่ปี 1980 ที่กรุงมอสโก
 
เราใช้เวลากว่า 16 ปี จับตั้งชนปลาย ฝึกฝนนักกีฬาจนกระทั่งได้เหรียญทอง วันนี้ผมจะพาทุกท่านกลับไปสัมผัสบรรยากาศแห่งความสุขครั้งเก่าๆ ว่ามันหอมหวานขนาดไหน

โอลิมปิก 1996 : แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา

(เรือเอก) สมรักษ์ คำสิงห์ คือนักกีฬาทีมชาติไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น รุ่นเฟเธอร์เวท (57 กก.) แน่นอนเขาคือนักกีฬาประวัติศาสตร์ ฮีโร่ของคนทั้งชาติ
 
"เจ้าบาส" ชกมวยครั้งแรกขณะอายุได้ 7 ปี และได้ตระเวนชกตามเวทีงานวัด ในเส้นทางมวยไทย สมรักษ์ตระเวนชกตามเวทีต่างทั้ง ชลบุรี สำโรง อ้อมน้อย จนกระดูกแข็ง เจนสังเวียนมากขึ้นจึงขึ้นชกมวยที่เวทีมาตรฐานทั้งเวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินี ค่าตัวสูงสุดที่ได้รับจากการชกมวยไทยอยู่ที่ราว 180,000 บาท
 
ส่วนเส้นทางมวยสากลสมัครเล่นนั้น เขาคว้าเหรียญทองกีฬาซีเกมส์ที่เชียงใหม่ และผ่านการคัดเลือกไปแข่งกีฬาโอลิมปิกรอบสุดท้ายได้สมรักษ์โด่งดังถึงที่สุดในปี พ.ศ. 2539 เมื่อสมรักษ์สามารถคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกมาได้ โดยชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรีย ด้วยคะแนน 8-5
 
ภายหลังจากได้เหรียญทองแล้ว สมรักษ์กลายเป็นบุคคลชื่อดังไปในทันที กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในเวลาไม่นาน ด้วยความเป็นคนมีบุคคลิกเฮฮา มีสีสัน น่าสนใจ ภายหลังจากกลับมาจากโอลิมปิกที่แอตแลนต้าแล้ว สมรักษ์ก็มีงานในวงการบันเทิงเข้ามา เริ่มจาก ละครเรื่อง "นายขนมต้ม" ทางช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ รับบทเป็นนายขนมต้มพระเอกของเรื่อง ประกบคู่กับ "น้ำฝน" กุลณัฐ ปรียะวัฒน์ นางเอก และเพื่อนๆ นักมวยรุ่นพี่อีกหลายคน
 
นอกจากนี้ สมรักษ์ยังเคยร่วมแสดงภาพยนตร์ระดับโลกเรื่อง Fearless ในปี 2006 โดยบทบาทในเรื่องต้องปะทะกับ หลี่เหลียนเจี๋ย (เจ็ท ลี) พระเอกของเรื่องด้วย
 
สมรักษ์ เป็นนักมวยที่มั่นใจในฝีมือตัวเอง จนได้รับฉายา "โม้อมตะ" แต่น่าเสียดายที่หลังจากคว้าเหรียญทองอลป. เขากลับหย่อนยานเรื่องวินัย ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จอีกเลย

โอลิมปิก 2000 : ซิดนีย์ ออสเตรเลีย

(พ.ต.ท.) วิจารณ์ พลฤทธิ์ หรือ ศรีสัชนาลัย แท็กซี่มิเตอร์ (มวยไทย) นักมวยเหรียญทองโอลิมปิกชาวไทยคนที่ 2 ต่อจาก สมรักษ์ คำสิงห์ โดยชนะการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น รุ่นฟลายเวท (50 กก.)
 
วิจารณ์ เริ่มชกมวยตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จนกระทั่งปี พ.ศ.1992 จึงขึ้นชกที่เวทีราชดำเนินครั้งแรกได้ค่าตัว 2,000 บาท หลังจากนั้น พ.ต.อ.เสวก ปิ่นสินชัย โปรโมเตอร์ของเวทีราชดำเนินใช้ชื่อ "ศึกอัศวินดำ" สนับสนุนให้ ศรีสัชนาลัย รับราชการตำรวจ จนปัจจุบันได้รับยศเป็น สิบตำรวจตรี (ส.ต.ต.) ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง พ.ต.อ. เสวก ได้นำศรีสัชนาลัยมาชกมวยสากลสมัครเล่นให้กับทีมสโมสรตำรวจโดยสลับกับการชกมวยไทย
 
วิจารณ์ ติดทีมชาติ หลังจาก ประมวนศักดิ์ โพธิ์สุวรรณ นักชกทีมชาติคนก่อนประกาศแขวนนวม ซึ่ง วิจารณ์ ถือเป็นมวยนอกสายตา หรือมวยในระดับเกรดบีเท่านั้น เพราะเพิ่งชกมวยสากลได้ราว 2 ปี เท่านั้น คือ ครั้งแรกชิงแชมป์ประเทศไทยปี พ.ศ. 2542 ตกรอบแรก ก่อนที่จะได้แชมป์กีฬากองทัพไทย และเป็นแชมป์ซีเกมส์ปีเดียวกัน
 
ในศึกโอลิมปิก 2000 วิจารณ์ มิได้ถูกยกเป็นนักมวยตัวเก็งเหรียญทองหรือเหรียญรางวัลใดเลย เหตุเพราะมีประสบการณ์ในการชกมวยสากลสมัครเล่นน้อยมาก แต่หลังจากนักมวยเพื่อนร่วมชาติไทยทยอยกันตกรอบ

ทว่าการชกของวิจารณ์กลับทำได้ดีและดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทะลุขึ้นชิงรอบชิงชนะเลิศและสามารถคว้าเหรียญทองมาได้ในที่สุด โดยรอบชิงชนะเลิศ ชนะคะแนน บูรัต ยูมาดิลอฟ (คาซัคสถาน) 19/12 เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก 1996
 
หลังจากคว้าเหรียญทองแล้ว เขาตัดสินใจแขวนนวมทันที และนำเงินรางวัลที่ได้เปิดร้านขายผ้าไหมร่วมกับภรรยาคือ จุฬาพร พลฤทธิ์ (เก๋)

 

โอลิมปิก 2004 : เอเธนส์ กรีซ

"เจ้าเติ้ล" สุดยอดนักมวยอัจฉริยะ แชมป์โอลิมปิก รุ่นซูเปอร์ไลท์เวท (63 กก.) มนัสได้เหรียญทองจากกีฬาโอลิมปิก 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน เอเชี่ยนเกมส์ 1 เหรียญทอง และซีเกมส์ 2 เหรียญทอง และหนึ่งเหรียญทองแดงจากการแข่งขัน มวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลกที่จัดขึ้นที่กรุงเทพในปี 2546
 
มนัส จัดเป็นนักมวยที่เปี่ยมสีสัน ทั้งในและนอกสังเวียนคนหนึ่ง จึงทำให้สื่อมวลชนให้ฉายามนัสว่า "เพลย์บอยกลับใจ" เขาเริ่มชกมวยตั้งแต่เด็กๆ ร่วมกันพี่น้องท้องเดียวกัน
 
ในโอลิมปิก 2004 มนัส เจอกับคู่แข่งหินๆ ตลอดเส้นทาง แต่ก็สามารถผ่านไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็น ชนะ โรมิโอ บริน ( ฟิลิปปินส์) 29-15 หมัด รอบ 8 คนสุดท้าย ชนะ วิลลี เบรน ( ฝรั่งเศส) 20-8 หมัด รอบรองชนะเลิศ ชนะ ไอโอนัท จอร์จี ( โรมาเนีย) และรอบชิงชนะเลิศ ชนะยูได เซเดอโน่ จอห์นสัน ( คิวบา) 17-11 
 
มนัสเป็นนักกีฬาไทยคนแรก ที่สามารถคว้าเหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิกสองสมัยติดต่อกัน โดยในปี 2008 เขาผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่น่าเสียดายที่พลาดท่าพ่ายคู่ชกจาก โดมินิกัน แบบขาดลอย

อุดมพร พลศักดิ์

นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย เป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก โดยได้จากการแข่งขันโอลิมปิก ปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ รุ่นไม่เกิน 53 กก.
 
"น้องอร" ยกในท่าสแนชได้ 97.5 กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ 125 กก. รวม 222.5 กก. โดยเป็นการทำลายสถิติโอลิมปิก ในท่าคลีนแอนด์เจิร์กของประเภทนี้ด้วย
 
ด้านชีวิตส่วนตัว อุดมพร รับราชการทหาร ยศร้อยโท และเพิ่งจัดฉลองสมรสพระราชทานชื่นมื่น ที่โรงแรมสีมาธานี กับแฟนหนุ่มนักยกน้ำหนัก นายชัยรัตน์ ล้อประกานต์สิทธิ์
 
ก่อนขึ้นยกน้ำหนักและคว้าเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิก เธอจะตะโกนคำว่า "สู้โว้ย" ออกมาดังๆ เพื่อปลุกขวัญกำลังใจ เป็นที่ถูกอกถูกใจแฟนกีฬาชาวไทย คำว่าสู้โว้ยจึงเป็นวลีฮิตติดปากของคนไทยในขณะนั้น

ปวีณา ทองสุก

ปวีณา หรือ "น้องไก่" ได้รับการชักชวนให้มาเล่นกีฬายกน้ำหนัก ขณะยังเรียนอยู่ชั้น ม.2 โรงเรียนวัดเทพลีลา โดยมี อาจารย์วินัย คำจีนศรี เป็นผู้ฝึกสอน เข้าแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรก ในเอเชียนเกมส์ 1998 ที่กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับเหรียญรางวัล
 
6 ปี ต่อมา ในโอลิมปิก 2004 ปวีณา ลงแข่งขันในรุ่นน้ำหนัก 75 กิโลกรัม ท่าแรก คือท่าสแนทช์ ยกได้ 122.5 ก.ก. เป็นอันดับสองรองจาก วาเลติน่า เลโปว่า จากประเทศรัสเซีย ซึ่งยกได้ 125 ก.ก. ท่าที่สอง คือคลีนแอนด์เจิร์ก ปวีณายกได้ 150 ก.ก. ซึ่งเป็นสถิติโอลิมปิก ในขณะที่วาเลติน่ายกได้เพียง 147.5 ก.ก. จึงมีน้ำหนักรวมเท่ากัน แต่นางสาวปวีณา มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า จึงได้เหรียญทองไปครอง
 
นอกจากนี้ เธอยังได้รับเลือกจากสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติให้เป็นนักกีฬายกน้ำหนักหญิงยอดเยี่ยม ของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งดังกล่าวอีกด้วย
 
ปัจจุบัน ปวีณา รับราชการทหารยศร้อยโท และได้เข้าพิธีมงคลสมรสกับ สาเรศ ลิ่มกังวานมงคล อดีตนักกีฬาฟันดาบทีมชาติไทย และผู้ประกาศข่าวกีฬาโมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ

โอลิมปิก 2008 : ปักกิ่ง จีน

ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล

ประภาวดี หรือที่รู้จักและนิยมเรียกกันในชื่อ "น้องเก๋" เป็นชาวจังหวัดนครสวรรค์ เป็นลูกคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน ครอบครัวมีฐานะยากจน บิดาประกอบอาชีพกรรมกรก่อสร้าง
 
ประภาวดี เริ่มเข้าสู่การแข่งขันยกน้ำหนักตั้งแต่อายุ 11 ปี ติดทีมชาติครั้งแรกเมื่อปี 2001 ในการแข่งขันโอลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง เธอเข้าแข่งขันใน รุ่น 53 กิโลกรัม เมื่อทำสถิติท่าสแนตช์ 95 กิโลกรัม ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 126 กิโลกรัม รวมน้ำหนักทำได้ 221 กิโลกรัม ทำลายสถิติโอลิมปิกสำหรับท่าคลีนแอนด์เจิร์ก
 
"น้องเก๋" คือตัวเต็งลำดับที่ 1 ในรุ่น 53 กก. ขนาดที่คู่แข่งจากจีน ซึ่งเป็มหาอำนาจในกีฬายกน้ำหนักไม่ขอส่งในรุ่นนี้
 
นอกจากนี้ ประภาวดี ยังได้รับพระราชธานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)

สมจิตร จงจอหอ

ร้อยเอก ดร.สมจิตร จงจอหอ เคยได้รับเกียรติสูงสุดให้เป็นผู้เชิญธงชาติไทย นำคณะนักกีฬาทีมชาติไทย ในพิธีปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ซึ่งภายหลังเขาคว้าเหรียญทองมาครองได้
 
สมจิตร ได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันมวยรายการต่างๆ มากมาย อาทิ เวิลด์แชมเปี้ยนชิพ, มวยทหารโลก, เอเชียนเกมส์ โดยก่อนชกมวยสากลสมัครเล่น สมจิตรเคยเป็นนักมวยไทยมาก่อน ใช้ชื่อว่า "ศิลาชัย ว.ปรีชา"
 
ทว่า สมจิตร ไม่เคยประสบความสำเร็จในเส้นทางโอลิมปิกเลย แม้ได้รับการคาดหมายให้เป็นตัวเต็งในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 และเอเชี่ยนเกมส์ 2006 แต่ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ตามคาด
 
สมจิตร เคยให้สัมภาษณ์ว่ารู้ท้อแท้ใจมากกับความล้มเหลวจนเกิดความคิดจะแขวนนวมถึง 2 ครั้ง แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาตั้งต้นพยายามใหม่ และคว้าเหรียญทองมาฝากแฟนๆชาวไทยได้เสำเร็จ โดยชนะอันดริส ลาฟฟิตา นักมวยชาวคิวบา ที่สมจิตรเคยแพ้ เมื่อครั้งแข่งขันเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ 2005
 
ด้านชีวิตหลังแขวนนวมนั้น เขาร่วมแสดงงานบันเทิงมากมาย โดยเฉพาะละครฟอร์มยักษ์เรื่อง นักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว และตะวันเดือด
 
ส่วนปี 2012 จะไปใครนั้น เราจะร่วมลุ้นร่วมเชียร์ไปพร้อมกันทั้งประเทศครับ!!!!!!

เรื่องโดย "บุญเติม"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook