เป็นยังไงมายังไง? เหตุใดฟีฟ่าจึงเปลี่ยนกฎลูกหนัง?

เป็นยังไงมายังไง? เหตุใดฟีฟ่าจึงเปลี่ยนกฎลูกหนัง?

เป็นยังไงมายังไง? เหตุใดฟีฟ่าจึงเปลี่ยนกฎลูกหนัง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

House of Thai Football ขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับกฎใหม่ที่เริ่มต้นใช้ในปีนี้

ประเด็นสำคัญ

ในการออกกฏ กติกา เกมลูกหนัง จะมีคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (International Football Association Board หรือ IFAB) ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับฟีฟ่า โดยจะมีการทดลองใช้นำร่องกันในบางรายการแข่งขันก่อนจะบังคับใช้ทุกระดับ

โดยในปีนี้มีการเริ่มต้นแผนยุทธศาสตร์ "Play Fair!" เพื่อหวังให้เกมฟุตบอลดูสนุก มีจริยธรรม และเท่าเทียมกันมากขึ้น และหนึ่งในกฎใหม่ที่นำมาทดลองใช้กันก็คือการยิงจุดโทษแบบ "ABBA" นั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การทดเวลา เพื่อลดการเล่นแบบถ่วงเวลาลง รวมถึงการเพิ่มอำนาจให้ผู้ตัดสินและกัปตันทีม โดยหวังจะลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันลง

แฟนบอลหลายคนคงจะเห็นการดวลจุดโทษรูปแบบใหม่ ที่มีบางรายการแข่งขันได้ริเริ่มใช้กันแล้วในฤดูกาลนี้ อย่าง ABBA ซึ่งเปลี่ยนจากของเดิมที่ผลัดกันยิงสลับฟันปลา

แน่นอนว่า มันดูแปลกตาจากที่เราเคยเจอ จนหลายคนสงสัยว่า “ทำไมถึงคิดแบบนี้?”

ซึ่ง House of Thai Football ก็มีคำตอบมาฝากกัน รวมถึงกฏใหม่ข้ออื่นๆ ที่หลายคนคงยังไม่รู้ด้วย

 2768710_full-lnd

ผู้คุ้มกฎ

เชื่อว่าแฟนบอลทุกคนคงคิดว่า กฏใหม่ทั้งหลายต่างผ่านการกลั่นกรองไอเดียออกมาจากฟีฟ่า แต่จริงๆแล้วองค์กรลูกหนังโลกมีคู่หูคู่คิดอยู่ นั่นก็คือคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (International Football Association Board หรือ IFAB) ที่ก่อตั้งโดยสมาคมฟุตบอลในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, สก็อตแลนด์, เวลส์ และ ไอร์แลนด์เหนือ) ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดฟุตบอลสมัยใหม่นั่นเอง

ซึ่งก่อนที่ฟีฟ่าจะถือกำเนิดนั้น ก็เป็น IFAB นี่เองที่ทำหน้าที่ออกกฎ กติกา มารยาทต่างๆ จนกระทั่งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติเข้ามาร่วมด้วยทีหลังในปี 1913

โดย Video Assistant Referee หรือ VAR ที่ใช้กันในศึกฟีฟ่า คอนเฟเดเรชั่นส์ คัพ 2017 ก็เกิดขึ้นมาจากไอเดียของ IFAB ที่พยายามผลักดันให้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเกมลูกหนังมากขึ้น

หลายคนอาจจะคิดว่า VAR นั้นยึดคอนเซ็ปต์เดียวกับการขอชาลเล้นจ์ในกีฬาหลายประเภทอย่าง วอลเล่ย์บอล, อเมริกันฟุตบอล, แบดมินตัน, เทนนิส แต่สำหรับเกมฟุตบอลนั้นคือการ “ช่วย” จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะจังหวะที่ผู้เล่นหรือโค้ชมองว่ามันเป็นปัญหาเท่านั้น ยังรวมถึงทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนาม ไม่ว่าจะเป็นการล้ำหน้าหรือไม่ล้ำยันการเล่นนอกเกม

สำหรับในปี 2017-2022 ทาง IFAB ได้วางแนวคิด “Play Fair!” ด้วยความคาดหวังว่าจะทำให้เกมฟุตบอลมีความเท่าเทียม มีจริยธรรม และดูสนุกยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงกฎให้เอื้อต่อคอนเซ็ปต์ดังกล่าว

 33103322606_2364fc6f03_z

ออกกฎให้ผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ทีมมีความเคารพกฏ กติกามากขึ้น

สิ่งที่ IFAB ต้องการปรับอย่างแรกคือ พฤติกรรมของนักเตะและเจ้าหน้าที่ทีม (โดยเฉพาะโค้ช) ที่ควรจะแสดงออกถึงสปิริตและทำตามกฏ รวมถึงเคารพผู้ตัดสินให้มากกว่าเดิม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งตรงนี้ IFAB มองว่ามีหลายแนวทางที่พฤติกรรมสามารถและเพิ่มความเคารพได้ อย่างการเพิ่มความรับผิดชอบให้กัปตันทีมมากขึ้นโดยวางบทบาทให้ 3 อย่างด้วยกันคือ

- สื่อสารกับผู้ตัดสินเป็นหลัก
- เป็นนักเตะคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าหาผู้ตัดสินยามเกิดสถานการณ์ขัดแย้ง
- ช่วยผู้ตัดสินในการระงับเหตุการณ์หรือนักเตะ

ขณะเดียวกัน IFAB ก็เน้นย้ำให้ผู้ตัดสิน “เฮี้ยบ” มากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ใบเหลือง-ใบแดง กับนักเตะ, โค้ช หรือเจ้าหน้าที่ทีมที่ก่อหวอดเข้าไปล้อมหรือประท้วงผู้ตัดสินและผู้ช่วยผู้ตัดสิน อีกทั้งยังสามารถปรับหรือตัดแต้มทีมที่ปลุกระดมได้ด้วย ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทำได้แค่เตือน

 36910998952_5bf0849d00_z

ปรับกฎการทดเวลาเพื่อเพิ่มความสนุกยิ่งขึ้น

หลายคนอาจรู้สึกเซ็งที่คาดหวังว่าจะชมเกมอย่างเต็มอิ่ม 90 นาที แต่เอาเข้าจริงกลับมีเนื้อมีหนังแค่ชั่วโมงเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ฟีฟ่าจึงต้องการให้ลดส่วนที่เป็น ‘น้ำ’ ลง แล้วเพิ่มในส่วนที่เป็น ‘เนื้อ’ เยอะขึ้น

โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะเป็นกรรมการชูป้ายทดเวลา 1 นาทีสำหรับครึ่งแรก และ 3 นาทีครึ่งหลัง จนยึดเป็นแบบอย่างตายตัวไปแล้ว ทั้งที่เวลาที่เสียไปจริงๆ มีเยอะกว่านี้มาก ดังนั้น ฟีฟ่าจึงอยากให้บรรดาผู้ตัดสินเคร่งครัดกับการคิดจำนวนเวลาที่เสียไป ‘จริงๆ’ โดยให้หยุดเวลาตามกรณีต่างๆ ดังนี้

ลูกจุดโทษ - เริ่มหยุดตั้งแต่ตอนให้จุดโทษจนถึงตอนเตะจุดโทษ

ประตู - เริ่มหยุดตั้งแต่ตอนยิงเข้าจนถึงตอนเขี่ยบอล

อาการบาดเจ็บ - เริ่มหยุดตั้งแต่ตอนกรรมการถามนักเตะว่าต้องการรักษาหรือไม่จนถึงตอนกลับมาเล่นใหม่

ใบเหลืองใบแดง - เริ่มหยุดตั้งแต่ตอนแจกใบเหลืองใบแดง จนถึงตอนกลับมาเล่นใหม่อีกครั้ง

เปลี่ยนตัว - เริ่มหยุดตั้งแต่ผู้ตัดสินให้สัญญาณเปลี่ยนตัว จนถึงตอนกลับมาเริ่มเล่นใหม่อีกครั้ง

ฟรีคิก - เริ่มหยุดตั้งแต่ตอนที่ผู้ตัดสินวัดระยะ 9.15 เมตร (หรือตอนที่ใช้สเปรย์ฉีดตำแหน่งวางลูกบอล) จนกระทั่งให้สัญญาณเตะฟรีคิก

ผู้รักษาประตูถือลูกบอล - ให้ยึดไว้ที่กฎ 6 วินาทีเช่นเดิม

ส่วนการเปลี่ยนตัวนั้น ทาง IFAB เตรียมพร้อมที่จะทดสอบวิธีการเปลี่ยนตัวแบบใหม่ จากของเดิมที่ผู้เล่นที่โดนเปลี่ยนตัวออกจะต้องเดินมาเปลี่ยนตัวตรงเส้นกลางสนาม ทำให้นักเตะที่เป็นฝ่ายนำมักจะเดินช้าเพื่อถ่วงเวลา ซึ่งตรงนี้เองจะมีการปรับให้ผู้เล่นสามารถเดินออกทางเส้นข้างที่ใกล้ที่สุดได้ เหมือนกับกรณีที่เปลี่ยนตัวนักเตะเจ็บ

 35575683630_765555004e_z

เพิ่มความเท่าเทียมและเร้าใจให้กับเกม

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า IFAB ต้องการให้เกมลูกหนังมีความเท่าเทียมและเร้าใจมากขึ้น จึงได้ทำการปรับกฎในส่วนที่มองว่ายังไม่ค่อยแฟร์เท่าไรนัก นั่นก็คือการดวลจุดโทษแบบเดิมที่มีการสลับกันยิงระหว่างทีม A กับทีม B

ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ทีมที่ได้ยิงก่อนในการดวลจุดโทษแบบเดิมมักจะเป็นฝ่ายชนะถึง 60% เนื่องจากทีมที่ยิงทีหลังมักเจอกับความกดดันตลอดเวลา ทำให้ระบบ “ไท-เบรค แบบเทนนิส” น่าจะเกิดความยุติธรรมมากกว่า จึงได้มีการริเริ่ม “ทดลอง” ใช้ในปีนี้ แต่ยังไม่ได้ออกเป็นกฎบังคับใช้ในทุกระดับ

โดยกำหนดให้ทีม A ได้ยิงก่อน แล้วจากนั้นทีม B จะได้ยิงติดกัน 2 ครั้ง เช่นเดียวกับทีม A ที่จะได้ยิง 2 ครั้งรวดในตาถัดไป โดยผลัดกันทีมละ 2 ครั้งต่อไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้อีกกฎที่ทดลองใช้ได้เลยก็คือการให้ผู้เล่นในแนวรับ (รวมถึงผู้รักษาประตู) สามารถเล่นบอลในกรอบเขตโทษฝั่งตัวเองได้เวลามีลูกตั้งเตะจากประตู (Goal Kick) จากเดิมที่ต้องรอให้บอลออกจากกรอบเขตโทษก่อน ซึ่งกฎนี้ IFAB มองว่าจะสามารถช่วยให้เกมเร็วขึ้นและฝ่ายที่มีบอลสามารถครองเกมได้ แทนที่จะต้องเปิดยาวแบบเดิมๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นฝั่งตรงข้ามจะต้องอยู่นอกเขตโทษจนกว่าจะมีการเตะ Goal Kick

ซึ่ง IFAB และฟีฟ่าเองเชื่อว่า กลยุทธ์ “Play Fair!” จะช่วยให้เกมลูกหนังมีความเท่าเทียมและดูสนุกมากขึ้น แม้จะต้องยอมเปลี่ยนขนบดั้งเดิมไปบ้างก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook