ส.บอลไทย เดินหน้าสร้างสนามฟุตบอลแห่งชาติ หวังยึดต้นแบบจากสนาม กัมบะโอซาก้า

ส.บอลไทย เดินหน้าสร้างสนามฟุตบอลแห่งชาติ หวังยึดต้นแบบจากสนาม กัมบะโอซาก้า

ส.บอลไทย เดินหน้าสร้างสนามฟุตบอลแห่งชาติ หวังยึดต้นแบบจากสนาม กัมบะโอซาก้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมาคมฯ เดินหน้าศึกษาโครงการสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ โดยใช้สนามกัมบะ โอซาก้า เป็นต้นแบบการลงทุน

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมประชุมหารือและศึกษารูปแบบโครงการลงทุนของสนามซุยตะ สเตเดี้ยม (Suita Stadium) สนามเหย้าของสโมสรกัมบะ โอซาก้า ในเจลีกวันของญี่ปุ่น เพื่อผลักดันให้เกิดสังเวียนลูกหนังที่สามารถรองรับการแข่งขันระดับนานาชาติในอนาคต

ในวันที่ 30 ตุลาคม 2560 เวลา 09.30 น. พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ พร้อมด้วย นายพาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศสมาคมฯ และนายเอกพล พลนาวี ผู้จัดการฝ่ายจัดการแข่งขัน และกิจกรรมของสมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุมหารือเรื่องรูปแบบการระดมทุนในการสร้างสนามสำหรับแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่มีมาตรฐานระดับสากล

โดยในปี 2019 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯมีโครงการที่จะระดมทุนจากภาคเอกชนและประชาชนในการสร้างสนามฟุตบอลแห่งชาติ ที่ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งทางสมาคมฯได้ศึกษารูปแบบการระดมทุนของสนามซุยตะ สเตเดี้ยม อันเป็นสนามแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นที่เปิดรับเงินบริจาค โดยได้รับเงินลงทุนจากภาคเอกชน 60% รวมถึงประชาชนทั่วไป

ซึ่งสนามดังกล่าวถูกยกให้เป็นของเมืองซุยตะ แต่มีการบริหารงานโดยบริษัทเอกชน โดยในปัจจุบัน บริษัท กัมบะ โอซาก้า จำกัด เซ็นสัญญาเข้ามาบริหารจนถึงเดือนมีนาคม ปี 2063

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กล่าวว่า “วันนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่ได้มาเรียนรู้รูปแบบโครงสร้างการระดมทุนสนามฟุตบอลซุยตะ สเตเดี้ยม อันมีเอกลักษณ์เฉพาะ ถึงที่มาของงบประมาณในการก่อสร้าง โดยสนามแข่งขันดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่งบประมาณก่อสร้างมาจากภาคเอกชน และการบริจาคของประชาชน ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้”

“โดยสนามฟุตบอลซุยตะ สเตเดี้ยม เริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปี 2015 มีความจุ 40,000 ที่นั่ง ซึ่งเป็นจำนวนขั้นต่ำในการจัดการแข่งขันระดับฟุตบอลโลก มีระบบเทคโนโลยีของสนามในระดับสูง มีสิ่งอำนวยความสะดวก ร้านค้า สนามฝึกซ้อมครบวงจร อย่างไรก็ตามรูปแบบการก่อสร้างเน้นรูปแบบความเรียบง่าย ใช้งานได้จริง และงบประมาณไม่สูงเกินไป ซึ่งค่าก่อสร้างถูกกว่าสนามอื่นๆ ในขนาดใกล้เคียงกัน”

“แม้สนามดังกล่าวจะใช้การระดมทุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนกว่า 3 ปี จึงแล้วเสร็จ แต่มีการวางแผนล่วงหน้ามากกว่า 5 ปี และนี่คือเหตุผลที่สมาคมฯ รีบดำเนินการเดินหน้าศึกษารูปแบบการระดมทุน และโครงสร้างงบประมาณจากต้นแบบของสนามฟุตบอลแห่งนี้ เนื่องจากสมาคมฯ มีแนวคิดที่จะเริ่มนำเสนอรูปแบบของสนามฟุตบอลแห่งใหม่ในช่วงปี 2019 นี่จึงถือเป็นการเตรียมพร้อมก่อน 2 ปี เพื่อที่จะทำให้สมาคมฯ มีบทสรุปที่ชัดเจน และรอบคอบที่สุด”

“หลังจากนี้ เราจะต้องกลับไปเตรียมข้อมูล เพื่อให้ได้มาซึ่งรูปแบบโครงการที่ทำให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชนเชื่อว่าโครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ หากได้รับความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกภาคส่วน”

“ซึ่งการมาประชุมในครั้งนี้ เป็นการเดินหน้าแผนงานของสมาคมฯ ในแนวคิด และรูปแบบสนามแข่งขันฟุตบอลแห่งใหม่ อันเป็นพันธกิจที่สมาคมฯ ได้แจ้งต่อฟีฟ่า ถึงแผนงานในแต่ละช่วงเวลา โดยฟีฟ่าจะคอยติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบการใช้งานงบประมาณสนับสนุนโครงการของสมาคมฯ ในปี 2019 ต่อไป” พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook