วิเคราะห์แมตช์เตะลีกท็อป 10 เอเชีย : "ไทยลีกอยู่ตรงไหน?"

วิเคราะห์แมตช์เตะลีกท็อป 10 เอเชีย : "ไทยลีกอยู่ตรงไหน?"

วิเคราะห์แมตช์เตะลีกท็อป 10 เอเชีย : "ไทยลีกอยู่ตรงไหน?"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเทียบกับยุโรป ไทยลีกถือว่ามีจำนวนทีมเท่ากับบุนเดสลีกา อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกับเอเชียด้วยกัน เราอยู่ตรงจุดใด?

หากเทียบกับลีกใหญ่ของยุโรป โตโยต้า ไทยลีก ถือว่ามีจำนวนทีมเท่ากับบุนเดสลีกา ของเยอรมนี ที่มี 18 ทีม และน้อยกว่าพรีเมียร์ลีก, ลา ลีกา รวมถึง กัลโช่ เซเรีย อา อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับชาติในเอเชียด้วยกัน เราอยู่ตรงจุดใด?

ประเด็นสำคัญ

จากการจัดลำดับ AFC Club Competitions Ranking ที่นำมาใช้จัดทีมวางในฟุตบอลสโมสรเอเชีย ไทยอยู่อันดับ 9 ขณะที่จำนวนทีมในโตโยต้า ไทยลีก มีมากเป็นอันดับ 2 ร่วมของทวีป เท่ากับญี่ปุ่น ส่วนอันดับ 1 ได้แก่ลีกอิรักที่ 20 ทีม

ขณะเดียวกันจำนวนนัดในการลงเล่นฟุตบอลลีกของแต่ละทีมต่อ 1 ฤดูกาล โตโยต้า ไทยลีก จะอยู่ที่ 34 นัด ซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของทวีปเช่นกัน

โดย AFC Club Competitions Ranking นั้น นอกจากจะนำผลงานของสโมสรตัวแทนแต่ละประเทศมาคิดแล้ว ยังนำอันดับโลกบนฟีฟ่าของทีมชาติมาคิดรวมด้วย

เงื่อนไขเวลาลีกเอเชีย

สิ่งที่เห็นจนชินตาสำหรับฟุตบอลยุโรป โดยเฉพาะลีกท็อป 5 อย่าง พรีเมียร์ลีก, ลา ลีกา, บุนเดสลีกา, กัลโช่ เซเรีย อา และ ลีก เอิง คือการจัดสรรโปรแกรมการแข่งขันที่ค่อนข้างลงตัวในระดับสโมสรและทีมชาติ ที่มีการแบ่งแยกกันชัดเจนระหว่างฟีฟ่าเดย์กับฟุตบอลลีก เช่นเดียวกันกับทัวร์นาเม้นต์รอบสุดท้ายของทุกช่วงอายุก็จะมีช่วงเวลาเตะที่ชัดเจนว่าเป็นฤดูร้อนที่ฟุตบอลลีกหยุดพัก

ทว่า เมื่อหันกลับมายังเอเชีย จะพบว่าทัวร์นาเม้นต์ระดับนานาชาติมีการกระจายอยู่ในช่วงต่างๆของแต่ละปี เพราะนอกจากเอเชียน คัพ ที่เปรียบเสมือนเป็นฟุตบอลยูโรเวอร์ชั่นเอเชียแล้ว ก็ยังมีรายการแข่งขันระดับภูมิภาคของแต่ละทวีปแยกย่อยลงไป อาทิเช่น เอเอฟเอฟ คัพ ของอาเซียน, อีเอเอฟเอฟ ของเอเชียตะวันออก,  ดับเบิ้ลยูเอเอฟเอฟ ของตะวันออกกลาง ที่ยังมี อราเบียน กัล์ฟ คัพ ที่จัดแข่งเฉพาะชาติในอ่าวเปอร์เซียแยกออกไปอีก เช่นเดียวกับ เอสเอเอฟเอฟ คัพ ที่เป็นของชาติในเอเชียใต้ ยังไม่นับรวมมหกรรมกีฬาอย่าง ซีเกมส์, อีสต์ เอเชียน เกมส์, เซ็นทรัล เอเชียน เกมส์ และเอเชียนเกมส์ เข้าไปอีก ขณะเดียวกันทัวร์นาเม้นต์ระดับโลกอย่างคอนเฟเดเรชั่นส์ คัพ, ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นชุดใหญ่, U-20 หรือ U-17 ก็มาจัดในช่วงกลางปี

นอกจากนี้ด้วยสภาพอากาศที่รุนแรง ซึ่งมีทั้งร้อนจัด ฝนตกหนัก จนถึงหนาวจัด ทำให้จำนวนทีมในลีกเอเชียจึงมีไม่มาก และจำนวนเกมส่วนใหญ่จะไม่เกิน 30 นัดต่อฤดูกาล

จะเห็นว่าในบรรดา 10 อันดับแรก มีเพียง เกาหลีใต้ และ อิรัก ที่มีจำนวนนัดมากกว่า และส่วนใหญ่จะมีจำนวนทีมรวมถึงจำนวนนัดที่น้อยกว่าไทยทั้งสิ้น

matches-per-club

เกมน้อยลง ≠ คนดูน้อยลง

ใน เอ ลีก ของออสเตรเลีย เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา มีคนดูเฉลี่ย 12,294 คนต่อนัด จาก 135 เกมที่ลงเตะ ทั้งที่ไม่ใช่กีฬายอดฮิตอันดับ 1 ของประเทศ ขณะที่ ไทยลีก อยู่ที่ 4,574 คนต่อนัด โดยปีที่ผ่านมาเตะไปทั้งสิ้น 306 นัด ซึ่งนี่คือตัวชี้วัดว่าการที่มีเกมมากขึ้น ผู้ชมไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเสมอไป

นัยหนึ่งสามารถอนุมานได้ว่า เมื่อแมตช์การแข่งขันมีจำนวนที่พอเหมาะ มีการทิ้งช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ก็ทำให้แฟนบอลกระหายที่จะตามไปเชียร์ทีมรักมากขึ้น เพราะเกมส่วนใหญ่จะลงล็อคที่ช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้กองเชียร์ทีมเยือนสามารถใช้วันหยุดเดินทางไปพักผ่อนได้อีกด้วย ซึ่งการเตะกลางสัปดาห์ชนสุดสัปดาห์ทำให้ช่องว่างของระยะเวลาที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวทำได้น้อยลง

นอกจากนี้ เมื่อถึงฤดูมรสุมก็ยังสามารถเบรคลีกหนีฝนเหมือนกับลีกส่วนใหญ่ของยุโรปที่พักเบรคหนีหนาวได้อีกด้วย ทำให้โปรแกรมเตะนิ่งขึ้น ไม่ต้องยกเลิกกลางครันจนแฟนบอลต้องไปเก้อเหมือนที่ผ่านมา

ปัจจุบันการมีทีมในลีกสูงสุด 18 ทีม ทำให้เกมต้องอัดแน่นตลอดทั้งสัปดาห์ ด้วยเงื่อนไขเวลาที่ปฏิทินการแข่งขันต้องทำตามที่เอเอฟซีกำหนด จะคร่อมปีแบบยุโรปที่ตามยูฟ่าไม่ได้ เนื่องจากต้องตัดสินทีมที่จะร่วมเล่นรายการของทวีปก่อนเดือนธันวาคม

ขณะเดียวกัน แมตช์ที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมหมายความถึงค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของสโมสร อาทิเช่น ค่าไฟ, ค่าน้ำ, ค่าพนักงานรักษาความปลอดภัย, ค่าเดินทาง ของแต่ละสโมสร ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่นเดียวกับนักเตะที่มีอาการเหนื่อยล้าสะสม จนส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บและฟอร์มตกตามมา

นักเตะกรอบส่งผลถึงค่าสัมประสิทธิ์ในเอเอฟซี

แน่นอนว่าเมื่อผู้เล่นเกิดฟอร์มตกหรือบาดเจ็บ ก็จะทำให้ผลงานของทีมสะดุด และหากเป็นทีมที่ได้ไป เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็จะส่งผลถึงค่าสัมประสิทธิ์ในเอเอฟซี โดยจะมีการคิดคะแนนจากผลงานของสโมสรตัวแทนแต่ละประเทศ 90 เปอร์เซ็นต์ และจากฟีฟ่าแรงกิ้งอีก 10 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น ถ้าหากอาการบาดเจ็บหรือฟอร์มตกเกิดขึ้นกับนักเตะที่เป็นกำลังสำคัญทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ ก็จะเกิดผลกระทบหลายอย่างที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นผลงานของต้นสังกัดในลีก เช่นเดียวกับ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ในกรณีที่ต้นสังกัดได้เข้าร่วมเล่น รวมถึงทีมชาติ จนลุกลามไปถึงสัมประสิทธิ์ที่ได้รับจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย

สำหรับในตอนนี้ ไทยอยู่ในอันดับ 5 ของโซนตะวันออกตามการแบ่งโซนของฟุตบอลสโมสรเอเชีย โดยมีคะแนนรวมที่ 45.532 ซึ่งมีแต้มมากกว่า มาเลเซีย ที่มีอยู่ 35.664 ไม่ถึง 10 คะแนน เพราะฉะนั้นหากมีผลงานที่ไม่ดีทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ ก็จะส่งผลถึงโควต้า เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ในอนาคต

เห็นได้ว่าประเทศที่มีนักเตะทีมชาติค้าแข้งในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จะมีจำนวนทีมและแมตช์การแข่งขันในลีกที่สมดุลกันระหว่างสโมสรกับทีมชาติ มีเพียง 3 ประเทศ นั่นก็คือ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และอิรัก อันเป็นประเทศที่ส่งออกนักเตะไปค้าแข้งยังต่างแดน ที่มีจำนวนเกมมากกว่าลีกประเทศอื่นๆ

เขียน/เรียบเรียง : ศุภโชค อ่วมกลัด
ที่ปรึกษา : พาทิศ ศุภะพงษ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook