ที่สุด....ซีเกมส์ครั้งที่ 27

ที่สุด....ซีเกมส์ครั้งที่ 27

ที่สุด....ซีเกมส์ครั้งที่ 27
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากขับเคี่ยวกันมาอย่างยาวนาน ศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ ได้รูดม่านลงอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางมิตรภาพของประเทศในย่านอาเซียน

หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นสร้างความประทับใจที่ยากจะลืม สุขบ้าง เศร้าบ้างปะปนกันได้ 

ขณะที่ทัพนักกีฬาไทยที่โชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยผงาดเจ้าเหรียญทองได้เป็นสมัยที่ 12 โดยคว้ามาได้ถึง 107 เหรียญทอง 94 เหรียญเงิน  81เหรียญทองแดง

วันนี้ทีมข่าวจึงได้รวบรวม "ที่สุด" จากแนวความคิดของทีมงาน ในซีเกมส์หนนี้ มาฝากทุกท่าน 

อารีฟ เอวดูลดิล วาฟี่ อาร์คัมชาห์ นักกีฬาหมากรุกรุ่นจิ๋ว จากประเทศมาเลเซีย

อายุน้อยที่สุด

นักกีฬาที่เข้าร่วม เนปิดอว์เกมส์ ล้วนแล้วแต่ฝึกซ้อมมาอย่างหนัก เพื่อหวังคว้าเหรียญรางวัลให้กับประเทศชาตื เช่นเดียวกับ หนุ่มน้อยคนนี้ "อารีฟ เอวดูลดิล วาฟี่ อาร์คัมชาห์" นักกีฬาหมากรุกรุ่นจิ๋ว จากประเทศมาเลเซีย อายุเพียงแค่ 9 ปี เท่านั้น นับว่าเป็นนักกีฬาที่อายุน้อยที่สุดของซีเกมส์ ครั้งนี้   โดยเจ้าหน้าที่จากมาเลเซียกล่าวว่า กีฬาหมากรุกเป็นกีฬาที่ใช้ความคิดเป็นอย่างมาก ซึ่ง อารีฟ สามารถร่วมแข่งขันและสู้กับนักกีฬาที่อายุมากกว่าได้อย่างไม่น้อยหน้าทีเดียว  นคร ตรีสอาด เจ้าของฉายา

อายุมากที่สุด

เมื่อมีอายุน้อยแล้ว ก็ต้องมีอายุมากที่สุด ซึ่งในสนามเดียวกัน นักกีฬาหมากรุกจากไทย นคร ตรีสอาด เจ้าของฉายา "อินทรีย์คิ้วขาว" ในวัย 71 ปี เข้าร่วมการแข่งขันเพื่อล่าเหรียญรางวัล เจ้าตัวเล่าว่า ก่อนที่จะมาแข่งขันซีเกมส์ เคยเป็นผู้ฝึกสอนให้กับน้องๆ ในทีมชาติไทย เพราะด้วยวัยที่มากขึ้น สายตา ความเร็วต่างๆ ก็ลดลง แต่ซีเกมส์ครั้งนี้อยากลงชิงชัย ในขณะที่สมาคมฯก็เห็นดีด้วย จึงเข้าร่วมทำการแข่งขันอีกครั้ง   จิระพงศ์ มีนาพระ นักกรีฑาหนุ่มสุราษฎ์ธานี วัย 20 ปี

เร็วที่สุด

เจ้าลมกรดอาเซียน "เจ้ามิ้ว" จิระพงศ์ มีนาพระ หนุ่มสุราษฎร์ธานี วัย 20 ปี ถูกยกให้เป็นคนที่วิ่งเร็วที่สุดในซีเกมส์ 27 หลังวิ่งเข้าเส้นชัยระยะ 100 ม.คว้าเหรียญทอง ด้วยสถิติ 10.48 วินาที ถือเป็นเหรียญทองแรกในรอบ 8 ปี และเป็นการทวงคืนตำแหน่งเจ้าลมกรดคืนจากอินโดนีเซียสำเร็จ พร้อมกันนี้ยังซิวอีก 2 เหรียญทองจาก 200 เมตร และ 4X100 เมตร 

โกงที่สุด 

เห็นคาตาจากสังเวียนเทควันโด ในรุ่น 46 กก.หญิง “น้องนิด” พาณิภัค  วงศ์พัฒนกิจ เจ้าของแชมป์เยาวชนเอเชีย 2013 และแชมป์ยูเอสโอเพ่น 2013 วัย 16 ปี ของไทย นัดชิงเจอกับ นุย นุย นักเทควันโด “เจ้าภาพ” ซึ่งขณะที่ พาณิภัค ขึ้นนำไป 5-4 แต่ว่าก่อนหมดเวลาเพียงไม่กี่วินาที นักเทควันโดพม่าหมุนตัวเตะเฉียดหน้าไปแต่กลับได้ 3 แต้ม ทำให้ไทยโดนนำไปอย่างค้านสายตา 5-7 จน “โค้ชเช ต้องประท้วงขอดูภาพช้า ซึ่งกรรมการได้ดูภาพช้าโดยไม่เปิดเผยก่อนสรุปให้ พม่า เอาชนะคว้าเหรียญทองแบบค้านสายตาของทุกคน ซึ่งก็ไม่ต่างจากทุกสนามที่ใช้สายตาตัดสิน หากนัดชิงเจอเจ้าภาพ ต้องมีอันเพลี่ยงพล้ำช้ำใจ 

สะใจที่สุด

คงจะหนีไม่พ้นกีฬา “ฟุตบอล” ที่เรากลับมาผงาดด้วยการคว้าแชมป์ซีเกมส์ได้เป็นสมัยที่ 14 และเป็นการกลับมาคว้าแชมป์ครั้งแรกในรอบ 6 ปี ซึ่งบรรยากาศในสนาม “เซยาร์ สเตเดี้ยม” วันที่เราชิงกับ อินโดฯ ก่อนที่จะเอาชนะมาได้ 1–0 เกมในสนามที่ว่าสนุกและกดดันแล้ว “สื่อมวลชน” ไทยหลายชีวิตที่นั่งเชียร์ข้างบนกดดันยิ่งกว่า เพราะลุ้นเอาใจช่วยทีมชาติไทย และที่มาทำให้เรื่องนี้สมบูรณ์แบบความสะใจก็คือสื่อ  “อิเหนา” บางรายที่ชอบโชว์กร่างและเก๋าออกมาเวลาตัวเองเสียเปรียบ จนเกือบจะทำให้สื่อไทยอย่างพวกเราทนไม่ไหว แต่สุดท้ายได้กรรมการห้ามไว้ทัน ไม่เช่นนั้นมีเรื่องแน่นอน แต่ขอบอกว่าการได้แชมป์ครั้งนี้ “สะใจสุดๆ พ่ะย่ะค่า”

ลุ้นที่สุด

หลังจากสะใจกับ “บอลชาย” ไปแล้วขอมา “ลุ้นที่สุด” กับบอลหญิงไทยบ้าง เมื่อเกมนัดรอบรองฯ กับ “เมียนมาร์” ครบ 90 นาทีเสมอกัน 1-1 ชนิดที่ว่า “สาวเจ้าภาพ” มาตีเสมอในช่วงท้ายเกม ทำให้ต้องเล่นต่อเวลาพิเศษอีกครึ่งละ 15 นาที ซึ่งในช่วงต่อเวลาก็มีดราม่าอีกครั้ง เมื่อไทยขึ้นอีกครั้งในนาทีที่ 103 แต่สาวเมียนมาร์ไม่ยอมง่ายๆ มาตีเสมอในนาที 115 จนสุดท้ายเสมอกัน 2 – 2 ต้องมาตัดสินด้วยการยิงจุดโทษ ปรากฏว่าดวลกันยาว ก่อนไทยเอาชนะไป 9 – 8 รวมสกอร์ในเวลาเป็น 11 – 10 ทำให้ ไทยผ่านเข้ารอบชิงฯ ฟุตบอลหญิงก่อนจะไปล้ม “สาวเวียดนาม” 2 – 1 คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 5

"เซปักตะกร้อ" เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่พี่ไทยแบเบอร์กับคำว่าเหรียญทอง โดยในประเภททีมเดี่ยวชาย  ประกอบด้วย "ซ้ายสั่งตาย" ศิริวัฒน์ สาขา, พรชัย เค้าแก้ว, ภัทรพงศ์ ทัพลูกหวายไทยไล่ถล่มคู่ปรับตลอดกาลบ "มาเลเซีย" ไป 2-0 ในนัดชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์ประเภททีมเดี่ยวสมัยที่ 13 มาครอง นับว่ายาวนานที่สุด 

อึดที่สุด 

เฮือกสุดท้ายก่อนแอ่นอกเข้าเส้นชัย "เจ้าเอ" วาสนา วินาโท นักกรีฑาทีมชาติไทย ที่อาศัยความฮึดลูกสุดท้ายวิ่งแซงคู่แข่งพุ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกในประเภทวิ่งข้ามรั้ว 400 ม.หญิง และหลังจากนั้นทั้งเธอและคู่แข่ง ต่างฟุบหน้าลงตรงเส้นชัย เล่นเอาใจหายใจคว่ำ ก่อนที่แพทย์สนามจะนำวาสนาออกมาปฐมพยาบาล งานนี้ต้องขอยกให้เธอเป็นจอมอึดของซีเกมส์อย่างไม่มีคู่แข่ง 

ยกความ "เจ๋ง" ให้กับทีมลูกยางสาวทีมชาติไทย เจ้าของแชมป์เอเซียสองสมัยและทีมอันดับ 12 โลก ด้วยการคว้าเหรียญทองซีเกมส์มาครองได้สำเร็จ หลังไล่ตบคู่ปรับตลอดกาลอย่างเวียดนาม ทีมอันดับ 44 โลก ลงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก 3-0 เซต 25-16, 25-20 ,25-18 นับเป็นการคว้าแชมป์ซีเกมส์สมัยที่  11 และเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน ที่สำคัญเป็นการชนะแบบไม่เสียเซตอีกด้วย

เนปิดอว์ – ย่างกุ้ง , ย่างกุ้ง – เนปิดอว์ เบ็ดเสร็จใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 12 ชม.ต้องถือว่านี่คือการเดินทางอันยาวนานที่สุดสำหรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2013 แม้ระยะทางจะแค่เกือบ 400 กิโลเมตร ระหว่าง 2 เมืองที่จัดการแข่งขันซีเกมส์ แต่ต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อยครึ่งวันกว่าจะถึงกัน เพราะทั้งถนนหนทางที่ไม่ดีหนัก ประกอบกับรถใช้ความเร็วได้เต็มที่ 100 กิโลเมตร / ชม.ทำให้นี่คือที่สุดของความนานจริงๆ 

ใครจะเชื่อว่า “เนปิดอว์” เมืองหลวงใหม่ของเมียนมาร์จะมีอากาศราวกับอยู่ “ยุโรป” ก็ไม่ปาน เพราะเมื่อเราลองวัดอุณหภมิจากมือถือของแต่ละคน 10 องศาต้นๆ น่าจะได้ แต่ที่นี่ความแปลกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจคือต่อให้ เช้า และกลางคืน จะหนาวแค่ไหน แต่อากาศตอนกลางวันร้อนมาก

เชียร์มันส์ที่สุด 

ไม่ว่าจะสนามไหนสังเวียนใดก็แล้วแต่ ที่เจ้าภาพ "เมียนมาร์" มีคิวลงแข่งขัน โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศ แฟนกีฬาเจ้าภาพจะหลั่งไหลกันเข้าชมกันเต็มความจุ อีกทั้งยังพร้อมใจกันส่งเสียงเชียร์อย่างบ้าคลั่งไม่ฟังเสียงรอบข้าง แม้กีฬาชนิดนั้นๆ นักกีฬาต้องใช้สมาธิอย่างมากก็ตาม หากใครอยู่ในบรรยากาศการเชียร์ ที่ทั้งร้อง ทั้งเต้น ทั้งตีฉาบ ตีกลอง มีอยู่สองอย่างที่รู้สึกได้ คือ สนุกสนานไปกับกองเชียร์ หรือ อาจจะรำคาญเพราะเชียร์แบบไม่ฟังหน้าฟังหลัง แต่นั่นก็คือสีสันและความมันส์ไปอีกแบบ

รวยที่สุด 

กำลังใจคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของทัพนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ซึ่งอยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จของทุกคน โดยกองทุนพัฒนากีฬาชาติ ที่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ เหรียญทอง 200,000 บาท เหรียญเงิน 100,000 บาท และเหรียญทองแดง 50,000 บาทนั้น โดยสมาคมกีฬาได้รับอีก 30 เปอร์เซ็นต์ และผู้ฝึกสอนได้รับ 20 เปอร์เซนต์ (10 เปอร์เซ็นต์ในกีฬาที่มีมากกว่า 7 คน) โดยเฉพาะในส่วนของนักกีฬาเป็นเงินราว 110.7 ล้านบาท บาท เมื่อรวมกับเงินอัดฉีดอีกส่วนของผู้ฝึกสอน และสมาคมกีฬาอีกราว 55.3 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ166 ล้านบาท ซึ่งสมาคมที่ฟันเงินอัดฉีดไปมากที่สุดคือสมาคม เรือพาย เนื่องจากมีการแข่งขันเรือยาวประเพณีแต่ละรายการกว่า 20 คนเป็นเงินทั้งสิ้น 52.5 ล้านบาท

มั่วที่สุด 

"ก่อนการแข่งขัน ระหว่างการแข่งขัน จบการแข่งขัน" เรื่องของการรายงานผล การสรุปผล รวมไปถึงการสรุปเหรียญรางวัล ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของฝ่ายจัดการแข่งขัน ไม่รวดเร็วและแม่นยำอย่างที่มืออาชีพควรจะเป็น บางรายการสรุปผลอีกอย่างแต่ในตารางเหรียญรางวัลแจ้งอีกอย่าง ทำเอาคนที่ติดตามผลการแข่งขันแอบเพลียไปตามๆ กัน เรียกได้ว่ามั่วจนกระทั่งวันสุดท้าย 

เก่งที่สุด 

ขอปิดท้าย "ที่สุด" ด้วยการสดุดีทัพนักกีฬาไทยทุกคน ที่ทั้งได้เหรียญรางวัลและไม่ได้รับเหรียญรางวัล ถือว่าทุกคนทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณืแบบ โดยทัพนักกีฬาไทย ทำผลงานครองเจ้าเหรียญทอง107 เหรียญทอง94 เหรียญเงิน 81 เหรียญทองแดง ครองเจ้าเหรียญทองซีเกมส์เป็นสมัยที่ 12  จากการแข่งขัน 27 ครั้ง และเป็นครั้งที่ 5 ที่คว้าแชมป์นอกประเทศ นอกจากนั้นในกีฬาสากลที่มีแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ (ไม่นับรวมกีฬาพื้นบ้าน)ไทยยังครองความเป็นเจ้าเหรียญทองเช่นกัน โดยทำได้ 72 ทอง 59 เงิน 60 ทองแดง 

ทีมข่าว SMM SPORT เรื่อง 

ขอบคุณภาพจากกองประชาสัมพันธ์ กกท. 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook