เปิดตำนาน “หมูปิ้งอร่อยจุงเบย” ค่ายมวยไทยที่ชื่อแสนฮาและน่ารักที่สุด

เปิดตำนาน “หมูปิ้งอร่อยจุงเบย” ค่ายมวยไทยที่ชื่อแสนฮาและน่ารักที่สุด

เปิดตำนาน “หมูปิ้งอร่อยจุงเบย” ค่ายมวยไทยที่ชื่อแสนฮาและน่ารักที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ตอนที่ได้ยินคำว่า หมูปิ้งอร่อยจุงเบย ครั้งแรก ผมยังขำเลย จนอยากเห็นหน้าเจ้าของค่ายมวยจริงๆ ทำไมถึงตั้งชื่อน่ารักขนาดนี้ ไม่คิดเหมือนกันว่า สุดท้ายกลับเป็นผมเสียเองที่มาจดทะเบียนค่ายมวยด้วยชื่อนี้”

“จอมโหด หมูปิ้งอร่อยจุงเบย”  คือชื่อของนักมวยไทยที่มีตัวตนจริงๆ  ที่เป็นการผสมผสาน ความดุดัน น่าเกรงขาม ตามแบบฉบับการตั้งชื่อนักมวยไทย เข้ากับนามสกุลต่อท้ายของธุรกิจผู้สนับสนุน ที่มีความน่ารัก ทะเล้น ขี้เล้น และใช้ศัพท์แสลงแบบวัยรุ่น

พอเอาสองอย่างมารวมกัน มันจึงกลายเป็น ความย้อนแย้งที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับกีฬาต่อสู้ที่ต้องปะทะกันอย่างดุเดือด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Main Stand ตัดสินใจเดินทางมายัง  ค่ายมวย ก.แสงจันทร์ (หมูปิ้งอร่อยจุงเบย) ที่ตั้งอยู่ภายในวัดวิมุตยาราม ย่านพระราม 7 เพื่อทำความรู้จักกับค่ายมวยไทยแห่งนี้ให้มากขึ้น

บรรยากาศภายนอกของค่าย ก็ดูเหมือนค่ายมวยไทยทั่วไป ที่บรรดานักมวยบางส่วน จะมานั่งเล่นและเตรียมตัวเปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนการฝึกซ้อมช่วงเย็นประจำวัน แต่สิ่งที่ดูแปลกตาไปนิด ก็อาจจะอยู่ตรงที่ ค่ายมวยแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่ของวัด และติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เงียบสงบ

 

ไม่นานนัก “เก่ง พลังวิมุต” หรือ วรรณรัตน์ ศิริรัตน์ หัวหน้าคณะ ออกมาต้อนรับทีมงาน Main Stand ด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม พร้อมกับสีแสดที่สกรีนคำว่า หมูปิ้งอร่อยจุงเบย ไว้กลางอก

อันเป็นชื่อที่ทำให้ ค่ายมวยในวัดแห่งนี้ โด่งดัง จนเป็นที่กล่าวถึงในวงการมวยไทยระดับประเทศ ทั้งในแง่ของการผลิตนักมวยฝีมือดี ออกไปชกในรายการต่างๆ รวมถึงนามสกุลต่อท้ายที่จำง่าย และเรียกรอยยิ้มไม่ได้ทุกที

“...สัมภาษณ์ตอนนี้เลยก็ได้นะ เพราะผมไม่ต้องไปคุมตอนวิ่งหรอก ถึงเวลาเด็กๆเขาจะรู้หน้าที่ตัวเองโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่รีบกลับ เย็นๆ หลังซ้อมเสร็จ เด็กๆพวกนี้ เขาก็จะพากันกระโดดน้ำคลอง ไม่เชื่อรอดูได้เลย”

หัวหน้าคณะหมูปิ้งอร่อยจุงเบย ชวนผู้เขียนพูดคุยอย่างเป็นกันเอง คล้อยหลังจากประโยคนั้น บทสนทนาที่เกี่ยวกับค่ายมวยสุดฮาแห่งนี้ ก็เริ่มต้นขึ้น

ก่อนจะเป็นหมูปิ้ง

“ผมอยู่ในวงการมวยมาตั้งแต่เด็กๆ เลยก็ว่าได้ เพราะว่าที่บ้านทำค่ายมวยมาเป็น 30-40 ปีแล้ว คุณพ่อเคยเป็นอดีตนักมวยเก่า คุณแม่ก็เป็นเซียนมวย ผมเติบโตคลุกคลีกับวงการมวยมาโดยตลอด น้อยคนนะที่จะมีชีวิตแบบผม พูดง่ายๆ สนามเด็กเล่นของผมก็คือสนามมวย” เก่ง พลังวิมุต ย้อนถึงจุดเริ่มต้นแรกในเส้นทางการทำค่ายของมวยตัวเอง

เขากลายเป็น ทายาทที่สืบทอดการทำค่ายมวยต่อจากคุณพ่อ ก่อนจะมีโอกาสได้มาเปิดค่ายมวยของตัวเองเป็นครั้งแรก เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ภายในวัดวิมุตาราม ซึ่งเดิมทีพื้นที่ตรงนี้ ทางวัดฯ ได้เปิดโรงเรียนสอนมวยไทยอยู่แล้ว

โดยที่คุณแม่ของ เก่ง วรรณรัตน์ ได้เชิญ ครูเฒ่า - ชนะ ทรัพย์แก้ว ปรมาจารย์มวยไทยที่เคยปลุกปั้น เขาทราย กาแลกซี่ ที่อยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิตและไม่มีญาติดูแล มาทำการฝึกสอนมวยให้กับเด็กๆ ภายในวัด

ต่อมาครูเฒ่าเสียชีวิตลง และทาง เก่ง พลังวิมุต ก็ได้เข้ามาสานต่อในฐานะหัวหน้าคณะ “พลังวิมุต” และย้ายสถานที่จากบริเวณด้านหน้าของวัด ขยับเข้ามาอยู่ในด้านใน ที่มีพื้นที่มากกว่าเดิม รวมถึงสร้างรูปปั้นครูเฒ่าไว้ เพื่อระลึกถึงบรมครูมวยไทยคนนี้

ww

จากนั้น เก่ง พลังวิมุต ก็เริ่มลงมือพัฒนาค่ายมวยโนเนมขึ้นมา จนทำให้ค่ายเริ่มมีชื่อเสียง สามารถส่งนักชกไปต่อยในรายการใหญ่ๆ และเวทีที่มีการถ่ายทอดสดได้อยู่บ้าง

“ตอนที่ตัดสินใจทำค่ายมวย พลังวิมุตขึ้นมา ก็ได้พรรคพวกที่รู้จักกันในวงการ ส่งนักมวยมาให้ดูแลต่อ เพราะว่าเราเน้นทำมวยพื้นฐาน ทำเอง ปั้นเอง ไม่ได้ซื้อมวยดังแบบค่ายอื่น ส่วนใหญ่จะไปหยิบมวยไม่ค่อยดัง หรือพวกเด็กดาวรุ่งมาปั้น เพื่อพัฒนาเด็กๆพวกนี้ ไปสู่การชกมวยไทยอาชีพ”

“ที่เราใช้ชื่อค่ายว่า พลังวิมุต เพราะต้องการให้เกียรติวัด แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนมาใช้สีเสื้อ หมูปิ้งอร่อยจุงเบยแล้ว แต่มวยสร้างหลายๆคนของเรา ก็ยังมีคำว่า วิมุต ต่อท้าย เพื่อให้วัดมีชื่อเสียงด้วย เราก็พัฒนาค่ายมาเรื่อยๆ จนได้ชกถ่ายทอดสด มาถึงจุดที่ถือว่าค่ายมีชื่อเสียงประมาณหนึ่ง แต่ยังไม่มีมวยดังแค่นั้นเอง”

หลังจากทำค่ายมวยพลังวิมุตมา 9 ปี จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นในปีที่ 10 เนื่องจาก เก่ง วรรณรัตน์ ต้องการหาสีเสื้อใหม่ (ผู้สนับสนุน) ให้กับลูกชายของตัวเอง ที่จัดว่าเป็นนักชกรุ่นจิ๋วที่มีฝีมือไม่ธรรมดาในรุ่นอายุเดียวกัน

“ตอนนั้นก็กำลังหาให้กับ สีเสื้อใหม่ลูกชาย เพราะเขาเริ่มมีชื่อเสียงในระดับประเทศแล้ว ก็หาไปเรื่อยๆ จนได้มารู้จักกับ เสี่ยเปีย สาริต แสงจันทร์ ซึ่งเป็นจังหวะที่แกกำลังจะเข้ามาอยู่ในวงการมวยพอดี ก็เลยตัดสินใจให้ลูกชาย (แสนแสบ หมูปิ้งอร่อยจุงเบย) เปลี่ยนมาใส่สีเสื้อนี้ พอคุยไปคุยมาก็เกิดถูกคอ เลยมีไอเดียมาเปิดค่ายมวยร่วมกัน”

ฟังครั้งแรกยังขำ

“เรื่องตลกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนหน้านั้นผมเคยได้ยิน ชื่อนักมวยคนหนึ่ง บางพลีน้อย หมูปิ้งอร่อยจุงเบย เชื่อไหมว่าผมได้ยินครั้งแรก ผมยังกลั้นขำไม่อยู่ เออ ค่ายนี้ชื่อน่ารักดีนะ จนอยากเห็นหน้าเจ้าของค่ายเลย ไม่คิดว่าวันหนึ่งกลับเป็นผมที่ต้องมาจดทะเบียนค่าย หมูปิ้งอร่อยจุงเบย ด้วยตัวเอง”

เก่ง พลังวิมุต ย้อนความหลังเมื่อครั้นที่ยังไม่ได้มาร่วมงานกับ เสี่ยเปีย-สาริต แสงจันทร์ นักธุรกิจรุ่นใหญ่ เจ้าของแบรนด์หมูปิ้งนมสด “หมูปิ้งอร่อยจุงเบย” ที่เริ่มเข้ามาสู่วงการมวย ด้วยการหนุนหลัง บางพลีน้อย (ปัจจุบันไม่ได้อยู่ค่ายนี้แล้ว)

ก่อนมาร่วมหัวจมท้ายกันในที่สุด และจดทะเบียนกับ คณะกรรมการกีฬามวย เมื่อปีที่ผ่านมา ในชื่อ “ค่ายมวยหมูปิ้งอร่อยจุงเบย” เวลาต่อมาไม่นานนัก ค่ายมวยแห่งนี้ ก็กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วจากคอหมัดมวยไทย

“ตั้งแต่มาใช้ชื่อ หมูปิ้งอร่อยจุงเบย ก็ทำให้ค่ายมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะตลอด 9 ปีก่อนหน้านี้ ผมเน้นทำมวยที่มีคุณภาพอยู่แล้ว ชกให้คนดูสนุก และน่าเชื่อถือ ซึ่งเสี่ยเปีย เองก็คงมองเห็นความตั้งใจในการทำมวยของผม บวกกับความที่แกเป็นคนที่รักกีฬามวยไทย เลยจูนกันได้ง่าย”

“ค่ายมวยหมูปิ้งอร่อยจุงเบย มีการแบ่งหน้าที่กันเป็นระบบ ผมมีหน้าที่ดูแลทุกอย่างในค่ายมวย เสี่ยเปียก็จะดูแลอยู่ห่างๆ คอยสนับสนุนอย่างเดียว ไม่ได้มาก้าวก่ายเรื่องมวย ส่วนเทรนเนอร์ ครูฝึก ก็มีหน้าที่ซ้อมและสอนนักมวยเรา รวมถึงยังมีพ่อบ้าน ทำความสะอาด ทำอาหาร และคนขับรถของค่ายที่พานักมวยไปชกตามที่ต่างๆ ”

“นักมวยมีหน้าที่แค่ซ้อมและชกเท่านั้น เราขออย่างเดียว ขอแค่ให้รู้หน้าที่ตัวเองก็พอ” เก่ง พลังวิมุต หรือ เก่ง หมูปิ้งอร่อยจุงเบย กล่าว

นอกเหนือจากชื่อค่ายมวยที่น่ารักและติดหูแล้ว ฝีไม้ลายมือของนักมวยในค่ายหมูปิ้งอร่อยจุงเบย แต่ละคนนั้น ก็ต้องบอกเลยว่าไม่ธรรมดา ส่วนหนึ่งมาจากการที่ค่ายให้ความใส่ใจในเรื่องของการเลือกรับนักมวยจากที่อื่นเข้ามา เพื่อต้องการคัดนักมวยที่มีคุณภาพ และสามารถต่อยอดได้

ไม่ว่าจะเป็น จอมโหด หมูปิ้งอร่อยจุงเบย, เดอะไกด์ หมูปิ้งอร่อยจุงเบย, สะท้านฟ้า หมูปิ้งอร่อยจุงเบย, เพชรวิมุต หมูปิ้งอร่อยจุงเบย ฯ รวมถึงบรรดานักมวยไทยดาวรุ่งอีกหลายราย ที่กำลังไต่เต้าและพัฒนาฝีมือขึ้นมาสู่การเป็นนักชกอาชีพแถวหน้าของเมืองไทยในเร็ววันนี้

“วิธีรับนักมวยเข้าค่ายของผม ขั้นแรกความน่าเชื่อถือก่อน ถ้านักมวยไม่มีความน่าเชื่อถือ ไปอยู่ที่ไหนก็คงลำบาก นักมวยค่ายผมทุกคนไม่เคยมีประวัติเสีย รวมถึงหัวหน้าคณะที่ส่งมวยมาให้เรา ต้องเป็นคนดี ไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสีย ถ้าได้คนน่าเชื่อถือเข้ามาก็ทำงานได้ง่าย”

“แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประสบการณ์ผมด้วย ที่โตมากับมวยและอยู่วงการนี้มานาน จนเราสามารถมองออกว่า นักมวยคนไหนมีแวว คนไหนไม่มีแวว คนไหนมีจุดแข็ง จุดอ่อน ตรงไหน ต้องเสริมอะไรบ้าง โชคดีด้วยที่ส่วนใหญ่ ผมได้มวยคุณภาพมาหลายคน เพราะกว่าจะเข้ามาค่ายเราได้ ผมก็คัดแล้วคัดอีก ไม่ใช่ว่ารับง่ายๆ”

“ฝีมือเราไม่เน้นมาก เราเน้นเรื่องของใจรัก ใจสู้มากกว่า ถ้าฝีมือดี แต่ใจไม่สู้ ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนเรื่องสไตล์แล้วแต่ตัวบุคคล คนไหนถนัดแบบไหนก็ให้เป็นแบบนั้น เราจะไม่ไปปรับเปลี่ยน คนไหนมวยหมัด มวยฝีมือ ก็พัฒนา ส่งเสริมเขา ทั้งเรื่องกำลัง การบำรุงร่างกาย เรื่องสภาพจิตใจ ถ้าเขาพร้อมที่จะสู้ ผลงานมันจะออกมาดีเอง”

“นักมวยของเรา เฉพาะในค่ายที่เก็บตัว มีอยู่ 20 คน ถ้ารวมที่อยู่ตามต่างจังหวัด ยังไม่ได้เข้ามา ก็รวมๆแล้วมีประมาณ 45 คน มีครูฝึกประมาณ 10 คน มีตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบขึ้นไป บางคนไม่มีพ่อแม่ เราก็รับเลี้ยงไว้ ช่วยเหลือเขาไว้ ดีกว่าปล่อยให้เขาไปเถลไถล ไปติดยา ไปเป็นนักเลง”

“แต่ทำมวยดาวรุ่ง ทำมวยจากพื้นฐานมันไม่ง่ายนะ ต้องอาศัยความอดทนสูง เพราะเราไม่มีนโยบายซื้อมวยเก่งมาก่อน บางคนเป็นนักมวยมาจากค่ายต่างจังหวัด เขาไม่เคยเจอการฝึกซ้อมที่หนัก และเป็นแบบระบบเหมือนกับเรา ก็อยู่ไม่ได้ โอ้ย มีเป็น 10 คนที่เราส่งคืนกลับไป สมมุติรับเข้ามา 10 คน จะมีคนอยู่กับระบบได้แค่ 2 คน เท่านั้น ซึ่งของแบบนี้ต้องอดทน และใช้เวลา ไม่เหมือนมวยที่ซื้อมา”

สูตรเด็ด ไม่เหมือนใคร

ถ้านมสดคือส่วนผสมที่ทำให้ หมูปิ้งอร่อยจุงเบย รสชาติเด็ดดวงไม่เหมือนใครแล้ว การสร้างค่ายมวยให้ประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงของ ค่ายมวยหมูปิ้งอร่อยจุงเบย ภายในระยะเวลาอันสั้น ย่อมต้องมีสูตรเด็ดไม่ต่างกับสูตรของหมูปิ้งฯ

“เราบอกนักมวยทุกคนเสมอว่า อย่าคิดว่าที่นี่เป็นแค่ค่ายมวย แต่ให้คิดว่าที่นี่คือบ้าน คือครอบครัวที่ทุกคนจะต้องมาฝึกหลายๆอย่าง ทั้ง การใช้ชีวิตร่วมกัน, การไม่เห็นแก่ตัว, การช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน”

“รวมถึงเรื่องการศึกษา ถ้านักมวยคนไหนอยากเรียน เราจะส่งเสียให้เรียนอย่างเต็มที่ นักมวยบางคนที่อยู่กับเรา อย่าง เมสซี่ แป๋งกองปราบ ก็ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี บางคนเรียนมัธยมฯ บางคนเลือกเรียน กศน. เพราะเรามองว่านักมวยคนหนึ่ง เราไม่ได้มองแค่ในสนามมวยเท่านั้น”

“จากประสบการณ์ที่อยู่วงการนี้มานาน ได้เห็นอะไรหลายๆอย่าง สิ่งสำคัญคือ นักมวยต้องมีวิชาความรู้ติดตัวไว้ด้วย ชีวิตเขาต้องเติบโตขึ้นไปด้วยในทุกๆด้าน ไม่ใช่แค่ต่อยมวยอย่างเดียว”

“บางค่ายอาจคิดแค่เรื่องแพ้ ชนะ ของนักมวย จนลืมนึกถึงการศึกษา แต่เราต้องมองว่า นักมวยคนหนึ่ง ต้องมีชีวิตในวันข้างหน้าด้วย ไม่ใช่แค่การชกมวยอย่างเดียว ซึ่งเราไม่บังคับว่าใครจะเรียนหรือไม่เรียน ถ้าใครจะเรียน เราจะมีเบี้ยเลี้ยงให้ไปโรงเรียน เหมือนเราเป็นพ่อที่ต้องดูแลลูก”

แม้ทางค่ายมวย จะมีรายได้หลักมาจากสังเวียนผ้าใบ แต่การเล็งเห็นความสำคัญในมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากแค่เรื่องผลแพ้-ชนะ นั้น ก็ย่อมทำให้ นักชกทุกคนในสีเสื้อ “หมูปิ้งอร่อยจุงเบย” รู้สึกสบายใจ และให้ใจกับค่ายนี้อย่างเต็มที่ จนปัญหาภายในค่ายเกิดขึ้นน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย

“ผมว่าทุกค่ายมีปัญหาเหมือนกันหมด ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการ อย่างสมัยนี้ก็เป็นเรื่อง โชเซียลมันเยอะ ถ้าวันหยุด ช่วงพัก เขาอยากจะเล่นมือถือเราไม่ว่า แต่ถ้าช่วงไหนมีรายการแข่ง เขาต้องรู้หน้าที่ว่าควรทำอะไร เราก็มีกฏว่า 4 ทุ่ม ทุกคนต้องเก็บโทรศัพท์ มาวางไว้ตามป้ายชื่อ ทีนี้ก็จะเห็นเลยว่า ใครทำตาม ไม่ทำตาม”

“ค่ายเรามีปัญหาน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเงิน เพราะก่อนจะรับใครสักคนเข้ามา เราจะให้อ่านกระดานที่ขึ้นไว้เลยว่า คุณต้องรับเงื่อนไขของค่ายให้ได้ เช่นเดียวกับ ผู้ปกครองหรือคนที่ส่งเข้ามา ต้องให้สิทธิ์เราดูแลนักมวยเต็มที่”

“บางค่าย หัวหน้าฯ กับผู้ปกครอง จะมีปัญหากันภายหลัง เพราะไม่คุยเรื่องเงื่อนไขข้อตกลงให้ชัดเจนตั้งแต่แรก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่ายต้องไม่เอาเปรียบนักมวย พวกเขาจะต้องได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าที่อื่น ภายใต้การปฏิบัติตัวตาม กฏ กติกา ที่ค่ายตั้งไว้”

“เราเรียกเด็กมาคุยตลอด และวิเคราะห์การชก ไม่ว่าจะมวยแพ้ หรือมวยชนะ เพื่อมาดูว่า เขาชกดี ไม่ดีอย่างไร ถ้าแพ้ แพ้เพราะอะไร ต้องหาสาเหตุให้ได้ บางค่ายเวลามวยแพ้ อาจจะไปกดดัน ด่า และไล่ แต่เราจะใช้จิตวิทยาและเหตุผลคุยกัน ไม่ได้กดดันว่าต้องชนะทุกไฟต์ ขอแค่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทุกอย่างมันเห็นเองบนเวที ต่อให้แพ้ แต่ชกสนุก ก็ได้ใจคนดู”

aa

อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่เหมือนใครของ ค่ายหมูปิ้งอร่อยจุงเบย คือการมีเบี้ยเลี้ยงซ้อมให้กับ นักชกทุกคน ที่มีป้ายเขียนไว้ชัดเจนข้างเวทีว่า “เบี้ยเลี้ยงให้ตามความขยัน” โดย เก่ง พลังวิมุต ได้อธิบายว่า

“เราเป็นค่ายเดียวที่มี ค่าซ้อมให้กับนักมวย แต่จะให้ไม่เท่ากันในแต่ละวัน เพื่อให้นักมวยได้รู้ว่าที่เขาได้เงินค่าซ้อมมากหรือน้อยนั้น มันเกิดจากอะไร เพราะคุณซ้อมไม่ได้เต็มที่หรือเปล่า ไม่ให้ใจเราหรือเปล่า เวลาจ่ายเงิน เราแทบไม่ต้องพูดอะไรเลย เขาจะรู้ตัวเองโดยอัตโนมัติ เราเขียนป้ายไว้เพื่อเตือนให้เขารู้ว่า มีคนมองดูอยู่นะ เขาขยันไหม แผ่วลงไปหรือเปล่า”

“ที่นี่ไม่ได้เน้นว่า เวลาขึ้นชกต้องชนะอย่างเดียว เราขอแค่ให้เขาทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เราช่วยเหลือเขาได้แค่ตอนฝึกซ้อม กับเรื่องการแก้เกม ที่เหลือขึ้นอยู่กับวินัยของนักมวยแต่ละคน พอเขาขึ้นไปชกบนเวที เราก็ช่วยอะไรเขาไม่ไแล้วด้ ทุกอย่างอยู่ที่จิตใจ ความฟิต และความพร้อมของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักมวยต้องไปหาเอง เราหาไม่ได้”

“ดังนั้นค่ายเรา ถ้านักมวยคนไหนสภาพร่างกาย จิตใจไม่พร้อม เราก็ไม่ส่งชก เราไม่ได้ทำค่ายมวยมาเพื่อหวังแต่เงินค่าตัว แต่ต้องการส่งนักมวยในค่ายออกไปชก ทำให้เกมนั้นเป็นเกมคุณภาพ”

แต่ถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็น ค่ายที่นักมวยได้เงินเยอะ เพราะมีเงินค่าซ้อม และเงินรางวัลอัดฉีด จนทำให้มีนักชกหลายคน สนใจอยากย้ายสวมสีเสื้อหรือมาอยู่ค่ายนี้ แต่ในมุมมองของหัวหน้าค่ายหมูปิ้งอร่อยจุงเบย เขากลับมองว่า “เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด ในการสร้างนักมวยที่ดีเสมอไป”

“ผมเน้นย้ำกับเด็กเสมอว่า อย่ามองเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ แม้หลายๆคนที่เข้ามาค่ายเรา จะมาด้วยเหตุผลที่เราให้ เงินเยอะกว่าที่อื่นก็จริง แต่พออยู่ด้วยกัน ได้ใกล้ชิดกัน ทุกคนจะเปลี่ยนมุมมองไปโดยสิ้นเชิง จนลืมเรื่องเงิน เราพยายามทำให้เขาเกิดความรู้สึกรักค่ายจริงๆ หัวหน้าคณะบางคนถือตัว แต่ผมจะลงไปพูดคุย หยอกล้อกับนักมวย ถ้าเขาไม่เจ็บป่วย สบายก็พาไปหาหมอ มีปัญหาอะไรก็มาปรึกษาได้”

“เพราะผมเชื่อว่าเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด สิ่งสำคัญคือ ทำให้อย่างไรให้นักมวยให้ใจคุณ บางค่ายไม่เคยหักเงินเด็กแม้แต่บาทเดียว แต่เด็กยังไม่อยากอยู่ นั่นแสดงว่าเงินมันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด ใช่ไหม? ถ้าค่ายไม่หักเงินเด็ก แต่เด็กยังไม่รักเรา แสดงว่าตัวเรานั่นแหละที่บกพร่อง ไม่ใช่เด็ก ถ้าเราให้ใจเด็กเต็มที่ ดูแลเอาใจใส่เขาดี สักวันหนึ่ง ยังไงเขาก็ต้องให้ใจเรากลับคืนมา”

อร่อยจุงเบย อร่อยจุงเบย

“ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อมาใช้ หมูปิ้งอร่อยจุงเบย ผมก็รู้สึกดีนะ เพราะมันเป็นชื่อที่ฟังแล้วไม่เครียด จำง่าย แค่ไปชกคู่เอก มวยช่อง 7 สัก 1-2 ครั้ง คนก็จำได้แล้ว”

“เวลาไปสนามไหน บรรดาเซียนมวย เขาก็จะยิ้มให้ และตะโกนให้เราว่า “อร่อยจุงเบย อร่อยจุงเบย” ก็ดีครับ ทำให้วงการมวยไทยที่ห่ำหันกั่นเหลือเกิน ดูซอฟท์ลงไปบ้าง ด้วยมุมน่ารักที่แทรกไปผ่านชื่อค่าย ที่ฟังแล้วก็อดอมยิ้มไม่ได้” 

เก่ง พลังวิมุต แห่ง ค่ายมวยหมูปิ้งอร่อยจุงเบย อธิบายให้เราฟังถึงบรรยากาศทุกคนยามพานักชกในสังกัด ไปประลองหมัดมวย ยิ่งไฟต์ไหนที่ชนะ คำว่า อร่อยจุงเบย อร่อยจุงเบย จะดังกึกก้องสนามเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ชื่อเสียงของค่ายมวยฯ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยส่งเสริมให้ ธุรกิจหมูปิ้งอร่อยจุงเบย ที่แต่เดิมก็ขายดีอยู่แล้ว ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะวงการมวยไทย ที่บรรดาเซียนมวย แฟนมวย ทั้งหลายต่างจดจำแบรนด์นี้ได้เป็นอย่างดี

จนทำให้ทางค่ายมีคิวส่งนักชกไปแข่งรายการต่างๆ ไม่ขาดสาย อย่างต่ำสัปดาห์ละ 2 หน รวมถึงกำลังจะขยับไปเป็นโปรโมเตอร์เวทีมวยลุมพินีอีกด้วยในเร็วๆนี้  “ผมว่าก็น่ารักดีนะครับ” นักมวยวัยรุ่นคนหนึ่งเปิดเผยกับเราถึงความรู้สึกที่ได้มีคำว่า หมูปิ้งอร่อยจุงเบย ต่อท้ายชื่อตัวเอง

แต่ในอีกด้านที่ตรงข้ามกับความน่ารัก ก็ต้องยอมรับความจริงว่า วงการมวยไทยบ้านเรา ยังมีเรื่องการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จนทำให้มีบางคนพูดถึง สังเวียนกำปั้นบ้านเราว่า ดูไม่สนุก เพราะเรื่องพวกนี้

“มวยสมัยนี้ที่ดูไม่สนุก ส่วนหนึ่งมาจาการที่มีรายการแข่งขันเยอะ แล้วหามวยไม่ทัน ก็เลยได้มวยคุณภาพไม่ดีมาชกแทน อีกส่วนก็มาจากการหวังผลทางการพนันมากเกินไป ผมก็ยอมรับว่าค่ายเรามีส่วนนี้บ้างเหมือนกัน ในการวางเดิมพัน”

“แต่ผมก็ยังยืนยันว่า มวยไทยยังไงก็คือมวยไทย ตราบใดที่ยังทำหน้าที่ตรงนี้อยู่ ผมจะพยายามทำให้ มวยไทย มาก่อนคำว่า การพนัน ให้ได้ เพราะเราทุกคนมีหน้าที่ในการรักษา มวยไทย ไว้ ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าทำด้วยใจรักมากกว่าการพนัน”

“เราพยายามสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ  ตั้งแต่ เบี้ยเลี้ยงซ้อม, เงินอัดฉีด ที่ต้องให้เด็กเกิดความมั่นใจในการชก รวมถึง เงินพิเศษ ที่จะมอบให้กับเด็กที่ทำคู่ต่อสู้แตก เด็กที่ต่อยชนะน็อก เพื่อให้พวกเขากล้าออกอาวุธมวยไทยมากขึ้น”

“ค่ายอื่นอาจจะไม่ได้คิดแบบเรา แต่ถ้าเราคิดตรงนี้ได้ก่อน ก็น่าจะทำให้ค่ายเราพัฒนาไปได้ ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่า ค่ายเราดี ค่ายอื่นไม่ดีนะ ค่ายอื่นก็ดี เพียงแต่เราพยายามหยิบข้อดีของค่ายอื่นๆ มาผสมผสาน รวมถึงหาไอเดียใหม่ๆ จากประสบการณ์ที่เราสั่งสมมา จนเป็นแนวทางของค่ายเรา ที่แตกต่างออกไป”

ถึงบรรทัดนี้ น่าจะทำให้คนที่อาจจะไม่ได้ติดตาม มวยไทย ได้รู้จักกับค่ายมวยแห่งนี้ ที่ไม่ได้มีแค่ชื่อที่ฮาและน่ารัก เท่านั้นเป็นจุดขาย

แต่ยังเต็มไปด้วยไอเดียอื่นๆ มากๆ ที่ประกอบร่างจนทำให้พวกเขามีชื่อเสียงขึ้นมาได้ ซึ่งทาง เก่ง พลังวิมุต ในฐานะหัวหน้าค่าย ได้เผยถึงก้าวต่อไปของค่ายมวย หมูปิ้งอร่อยจุงเบย ว่า

“ผมอยากจะทำให้ค่ายมวยของเรา เป็นที่รักของแฟนๆ และเอ็นเตอร์เทนผู้ชม เหมือนกับ มวยปล้ำ WWE เช่น เราจะนำเสื้อของค่ายไปแจกแฟนมวย, มอบให้คู่ชก เพื่อให้คนจดจำได้ ถือเป็นหนึ่งในแผนการโปรโมตที่เราคิดๆไว้ พูดตรงๆว่าตอนนี้ ค่ายมวยหมูปิ้งอร่อยจุงเบย น่าจะเป็น 1 ใน 10 ค่ายมวยไทยที่คนทั่วไปจำได้แล้ว”

“สเต็ปต่อไปของค่ายมวยหมูปิ้งฯ ก็คือ การรักษามาตรฐานไว้ให้นานที่สุด ผมอยู่ในวงการนี้มาทั้งชีวิต เห็นบางค่ายขึ้นมาไว มีชื่อเสียงเร็ว แล้วก็ดับไป เราไม่ต้องการเป็นแบบนั้น ก็พยายามจะรักษาตรงนี้ไว้ให้ได้นานที่สุด และยืนระยะอยู่ในวงการต่อไปให้ได้”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook