วิเคราะห์พลังขับจากแรงกดดันในสังคมญี่ปุ่นผ่านการ์ตูน “กัปตันสึบาสะ”

วิเคราะห์พลังขับจากแรงกดดันในสังคมญี่ปุ่นผ่านการ์ตูน “กัปตันสึบาสะ”

วิเคราะห์พลังขับจากแรงกดดันในสังคมญี่ปุ่นผ่านการ์ตูน “กัปตันสึบาสะ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กัปตันสึบาสะ คือการ์ตูนฟุตบอลที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยยอดขายที่ถล่มทลาย แค่ในญี่ปุ่นก็เกิน 70 ล้านฉบับ รวมถึงติดอันดับ 41 ใน 100 อนิเมะตลอดกาลของญี่ปุ่น จากการสำรวจของ ทีวี อาซาฮี เมื่อปี 2005 และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆทั่วโลก   

ยิ่งไปกว่านั้นการ์ตูนเรื่องนี้ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเตะชื่อดังหลายราย ไม่ว่าจะเป็น ฮิเดโตชิ นาคาตะ, เฟร์นันโด ตอร์เรส, อันเดรส อิเนียสตา หรือแม้กระทั่งเลโอเนล เมสซี

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความสำเร็จของสึบาสะและพวกพ้องที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ และหยดน้ำตา ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แฝงเอาไว้ในการ์ตูนเรื่องนี้


เจ้าตัวร้ายวากาบายาชิ และ RJ7
หลังจบศึกฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมต้นด้วยการคว้าแชมป์สมัยที่ 3 ของนันคัตสึ ผลงานอันสุดยอดของสึบาสะ และผองเพื่อนได้จุดประกายความหวังให้แก่วงการฟุตบอลญี่ปุ่น และได้มีการฟอร์มทีมขึ้นมาเพื่อลงแข่งในศึกเยาวชนนานาชาติที่ฝรั่งเศส

ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้น ทีมชาติญี่ปุ่นได้ออกทัวร์ยุโรปเพื่อลองทีม และที่เยอรมัน พวกเขาได้เจอเพื่อนเก่าที่ชื่อว่า เกนโซ วากาบายาชิ ผู้รักษาประตูจอมหนึบที่มาฝึกฝีไม้ลายมือที่นี่ตั้งแต่จบชั้นประถม

ทว่า เพื่อนเก่าในวันนี้กลับไม่เหมือนเดิม เขาทีท่าทีที่เย่อหยิ่ง ดูถูก และเหยียดหยาม ทีมชาติญี่ปุ่น ต่างจากวากาบายาชิ สมัยที่เคยร่วมต่อสู้กันในสมัยประถม  

waka2
วากาบายาชิ ดูถูกทีมชาติญี่ปุ่นที่ไร้สึบาสะ (จากอาการบาดเจ็บ) ตั้งแต่ก่อนเกมกระชับมิตรกับ ฮัมบูร์ก ต้นสังกัดของเขา ตลอดจนในเกมและหลังเกม จนเกิดการชกต่อยกับ เฮียวงะ โคจิโร กัปตันทีมชุดนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เขายังทวงถามตำแหน่งผู้รักษาประตูจาก เคน วาคาชิมัตสึ ที่ได้รับบาดเจ็บ

และยังเหยียดหยามความสามารถของเพื่อนร่วมทีมต่อไป หลังได้ร่วมอยู่ในชุดลุยฝรั่งเศส

“ทีมออลนิปปอนที่ไม่มีสึบาสะ ไม่มีทางชนะฉันโดยเด็ดขาด” คำพูดที่วากาบายาชิพูดกับเพื่อนร่วมชาติ

“สองปีที่ไม่มีฉัน ทีมชาติญี่ปุ่นกลายเป็นเด็กอมมือแล้วหรือไง”

“ฟอร์มทีมชาติทั้งที กลับให้คนไม่กล้าสู้เป็นกัปตันทีม(เฮียวงะ) แบบนี้ก็เลิกพูดถึงชัยชนะทันที เล่นฟุตบอลอย่างพวกนาย เอามาใช้ที่นี่ไม่ได้หรอก”    

คำดูถูกของวากาบายาชิ ไม่ใช่การสร้างความกดดันเพียงครั้งเดียวในการ์ตูนเรื่องนี้เพราะในศึกฟุตบอลเยาวชนโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียทีมชาติญี่ปุ่น ต้องมาปวดหัวอีกครั้งกับเหล่า RJ7

waka3
ก่อนลงเตะรอบคัดเลือกรอบที่สอง โค้ชมินาโตะ กาโมะ หั่นชื่อ เฮียวงะ โคจิโร, ทาโร มิซากิ, สองพี่น้องทาจิบานะ (มาซาโอะ และคาซุโอะ) , ฮิโรชิ จิโต และ มาโคโตะ โซดะ ออกจากแคมป์ทีมชาติชั่วคราว โดยใส่ชื่อ Real Japan 7  (RJ7) เหล่านักเตะฝีเท้าพระกาฬที่จะมาแย่งตำแหน่งจาก 7 คนที่ถูกบังคับให้ออกจากค่ายเก็บตัวไป

โค้ชกาโมะ วางเงื่อนไขว่า นักเตะทั้ง 7 คนที่ถูกปลดออกจากค่าย ต้องไปฝึกปรือฝีมือให้เก่งขึ้น และกลับมาเอาชนะ  RJ7 ให้ได้ ถึงจะได้กลับเข้ามาอยู่ในทีมชาติ

สองเหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากสร้างความขุ่นเคืองใจให้เพื่อนในทีมแล้ว ยังทำให้ ทีมชาติเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความตึงเครียด

waka4
สังคมแห่งความกดดัน
หลังบรรยากาศอันมาคุ วากาบายาชิ ก็เผยความจริงกับสึบาสะว่า สิ่งที่เขาทำไปมันคือการเล่นละคร สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อกดดันและกระตุ้นให้เพื่อนร่วมทีมชาติมีแรงฮึดสู้กับกำแพงที่สูงใหญ่ในเวทีระดับโลก เช่นเดียวกับ RJ7 ที่โค้ชคาโมะบอกว่ามันเป็นทีมที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ ไม่ได้จะมาร่วมแย่งตำแหน่งในทีมชาติ แต่เพื่อผลักดันให้เหล่านักเตะโชว์ศักยภาพออกมา   

สองฉากที่กล่าวไว้ข้างต้นทำให้เห็นว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง มักจะมีเหตุการณ์กดดันที่อาจจะเรียกได้ว่า “การรับน้อง” เกิดขึ้นเสมอ

“ระบบญี่ปุ่น มันมีระบบรับน้องของแต่ละองค์กรอยู่ รับน้องในที่นี้คือปกติแล้วไม่ได้ทำกัน แต่ถ้าเป็นคนใหม่ คุณต้องทำ”  กฤตพล วิภาวีกุล นักศึกษาปริญญาเอกด้าน International study มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่นกล่าวกับ Main Stand

“การรับน้องจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการเปลี่ยนสถานะอะไรบางอย่าง อย่างเช่นตอนวากาบายาชิ เขากำลังจะบอกว่ายุโรปมันคืออีกมาตรฐานหนึ่ง”

waka5
สังคมญี่ปุ่น เป็นสังคมที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด และมุ่งหวังความสำเร็จ พวกเขาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอความกดดัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน หรือระดับประเทศ

เราจึงมักได้ยินเรื่องของพ่อที่ห้ามลูกที่ออกไปทำงานในเมืองใหญ่กลับมาบ้านหากไม่ประสบความสำเร็จ หรือการที่นักบินคามิคาเซ ถูกกดดันจากการเป็นตัวแทนของประเทศ จนต้องพลีชีพในสงครามโลกครั้งที่ 2

“มันเป็นวัฒนธรรมประเภทหนึ่ง ที่ญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมเขา เพราะว่าเขาคาดหวังกับการมีสถานะในสังคม” กฤติพลเสริม

“ทุกคนต้องมีที่ยืนของตัวเองในสังคม หมายความว่าทุกคนต้องมีเองนะ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีให้”

“รับน้องมันก็เลยมีอะไรแบบนี้ เพราะว่าเวลาจะไปเปลี่ยนสถานะอะไรบางอย่าง มันก็เลยต้องไปปรับตัวเข้ากับสังคมเค้า เพื่อให้ได้รับการยอมรับ”

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นมีความกดดันสูง นั่นก็คือการปลูกฝังความคิดในหัวแก่ทุกคนให้เป็นที่ 1 ในโลก(Be no.1) ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม

จุดเริ่มต้นสำคัญในเรื่องนี้อาจจะต้องย้อนกลับไปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1904 เมื่อญี่ปุ่น ต้องทำสงครามกับรัสเซีย ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจในตอนนั้น

ซึ่งญี่ปุ่นในตอนนั้น กลับเป็นฝ่ายเอาชนะกองทัพรัสเซียได้อย่างเหนือความคาดหมาย พร้อมเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่มหาอำนาจของพวกเขา

จากวันนั้นเป็นต้นมา ญี่ปุ่นก็ไม่เกรงกลัวผู้ใดอีกต่อไป เมื่อสามารถต่อกรกับชาติใหญ่อย่างรัสเซียได้ การก้าวขึ้นไปเป็นเจ้าโลกก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ ความคิดที่จะเป็นที่ 1 ของพวกเขาจึงฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน   

waka6
สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นความกดดันของคนญี่ปุ่น และอยู่กับมันตั้งแต่เด็กจนโต หลายคนไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา กลับกันมันยังสร้างประโยชน์ในการนำพวกเขาไปสู่ความสำเร็จ   

สู่ความสำเร็จ
แม้จะฟังดูไม่น่าคบหา แต่ความเป็นจริงความเครียด ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพเราไม่น้อย เพราะมันเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ผ่านการวิวัฒนาการมากว่า 300 ล้านปี

ความเครียดทำให้เราตอบสนองกับวิกฤติที่ยังไม่เกิดขึ้น มีการสร้างแบบจำลองต่างๆที่ทำให้รู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในอันตรายโดยกลไกของฮอร์โมนคอติซอล (Cortisol) อีกทั้งยังสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการกระตุ้นให้สร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว รวมถึงกระตู้นให้หัวใจสูบฉีดที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยให้สมองและต่อมหมวกไตทำงานได้เป็นปกติ และช่วยในการตัดสินใจ

สิ่งเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนขึ้นในการ์ตูนเรื่องสึบาสะ เมื่อการยั่วยุของวากาบายาชิ ทำให้ญี่ปุ่นที่พ่ายยับในเกมสองนัดแรกบนเวทียุโรป กลับมาฮึดสู้กับคู่แข่งที่โหดหิน จนก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์จูเนียร์ยูธ หรือการมาถึงของ RJ7 ทำให้ผู้เล่นที่ถูกตัดชื่อออกจากค่ายเก็บตัวชั่วคราวเกิดความคับแค้น จนก่อให้เกิดความฮึกเหิม มุ่งมั่นฝึกปรือฝีเท้าอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ จนพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น และสามารถต่อกรกับคู่ต่อสู้ในเวทีระดับโลก  

“ทุกคนก็ดูดีขึ้นนะ พอถูกกระตุ้นในฮึดเข้าหน่อย ทุกคนก็มีแรงฮึดขึ้นมา” วากาบายาชิกล่าวกับสึบาสะ

“เพื่อความแข็งแกร่งของออลนิปปอน ฉันยินดีรับบทผู้ร้าย ฉันกับเฮียวงะถึงกับต่อยปากกันมาแล้ว แต่หลังจากวันนั้นเฮียวงะ ก็คร่ำเคร่งพัฒนาลูกยิงใหม่ ส่วนคนอื่นก็ซุ่มฝึกเทคนิคพิเศษกัน”  

ในโลกความจริงก็มีเหตุการณ์ที่ความกดดันส่งผลดีต่อนักกีฬา ยกตัวอย่างในการแข่งขันโคชิเอ็ง มักจะมีเรื่องราวของ “สัตว์ประหลาด” หรือ Monster เกิดขึ้น นั่นคือการที่นักกีฬาที่ฝีมือดี เมื่อเจอความกดดดันก็ยิ่งทำผลงานได้ดี จนสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง เช่น ปกติอาจจะขว้างลูกด้วยความเร็ว 149 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่พอถึงอินนิ่งตัดสิน ก็สามารถข้างบอลทะลุ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ   

waka7
ด้วยสภาพที่กดดันเช่นนี้ ทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติที่เล่นกีฬาด้วยความจริงจัง พวกเขามีการวางเป้าหมายเพื่อท้าทายตัวเองให้ไปถึงจุดนั้น ทำให้หลายกีฬาประสบความสำเร็จก้าวขึ้นไปอันดับ 1 ของโลก หรือหลายกีฬาที่ดูห่างไกลความเป็นที่ 1 ในตอนแรกก็สามารถขยับช่องว่างเข้ามาได้จนไม่ได้รู้สึกไกลเกินเอื้อม  

ทว่ามันก็มีผลในอีกแง่หนึ่งที่ไม่สวยงามเช่นกัน

การกระตุ้นหรือทำลาย
แม้ความกดดัน จะช่วยผลักดันให้ญี่ปุ่น ขึ้นไปเทียบเคียงระดับโลก หรือบางครั้งแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลกในเกือบทุกวงการ แต่มันก็ส่งผลกระทบในอีกด้านไม่น้อยต่อคนที่ประสบพบเจอ

คนที่ได้รับความกดดันมากๆในสังคมญี่ปุ่น หลายครั้งต้องจบลงด้วยการทำร้ายตัวเอง เป็นโรคซึมเศร้า หรือหนักสุดคือจบชีวิตตัวเอง โดยสถิติการฆ่าตัวตายทั่วโลกประจำปี 2018 ระบุว่า ญี่ปุ่นมีการฆ่าตัวตายสูงถึง 19.7 คนต่อประชากร 100,000 คน มากที่สุดเป็นอันดับ 18 ของโลก

ในส่วนของกีฬาก็มีเหตุการณ์ที่นักกีฬา ต้องเจอกับความกดดันทั้งจากตัวเองและสื่อจนต้องเลิกเล่นตั้งแต่อายุยังน้อย หรือน่าเศร้ากว่านั้นคือลงเอยด้วยโศกนาฎกรรม

ปี 1992 มิโดริ อิโต นักกีฬาฟิกเกอร์ สเก็ตชาวญี่ปุ่น คว้าเหรียญเงินในกีฬาโอลิมปิก ที่ฝรั่งเศส หลังทัวร์นาเมนต์นั้น ทีวีในบ้านเกิด นำภาพรีเพลย์ตอนเธอหมุนตัว ก่อนจะล้มลงบนน้ำแข็งมาฉายซ้ำๆให้คนทั่วประเทศได้ดู เธอต้องออกมาขอโทษต่อสาธารณะที่ไม่สามารถคว้าเหรียญทองได้ และตัดสินใจเลิกเล่นด้วยวัยเพียง 22 ปี  

หรือในปี 1968  โคคิจิ สึบุรายา นักวิ่งระยะไกล ดีกรีเหรีญทองแดงมาราธอน โอลิมปิก 1964 ได้รับบาดเจ็บจนพลาดการแข่งขันในโอลิมปิกครั้งถัดมา ด้วยความกดดันทำให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายในวัยเพียง 27 ปี

waka8
ความกดดันของสังคมญี่ปุ่นต่อนักกีฬา ถึงขั้นทำให้นิตยสาร Flash ของฝรั่งเศสสนใจและสำรวจว่า นักกีฬาญี่ปุ่นที่ได้เหรียญในโอลิมปิกปี 1968-1972 ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง, เส้นเลือดในสมองแตก และหัวใจวายก่อนอายุ 40 มีกี่คนเลยทีเดียว

“การเป็นตัวแทนทีมชาติญี่ปุ่น เป็นอะไรที่ต้องระวัง เนื่องจากความกดดันอย่างมากของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนักกีฬาทีมชาติ” Debito Arudou คอลัมนิสต์จาก Japan Times ระบุในคอลัมน์ Warning to Naomi Osaka: Playing for Japan can seriously shorten your career

“ด้วยความภาคภูมิใจในระดับชาติจากการแข่งขันที่สูงมาก และประเด็นเรื่องการเหนือกว่าด้อยกว่า สังคมญี่ปุ่นจึงมีความคาดหวังในชัยชนะโดยไม่มีเหตุผล”

ความกดดันเหล่านี้แม้ในแง่หนึ่งมันคือแรงผลักดันไปที่จะพาพวกเขาไปสู่ชัยชนะ หรือแรงขับในการสร้างอะไรบางอย่าง แต่ในอีกด้านหนึ่งมันคือดาบทิ่มแทงจิตใจของพวกเขาหากไม่ประสบความสำเร็จ

waka9
ทุกอย่างล้วนมีสองด้านเสมอ เช่นเดียวกับความกดดันมันมีประโยชน์ก็จริงอยู่ แต่ในอีกด้านหนึ่งโทษของมันที่ได้มาก็ไม่น้อย

ดั่งคำกล่าวที่ว่า “ตึงไปก็ไม่ดี หย่อนไปก็ไม่ดี หาจุดที่เป็นความพอดีให้ได้” เพราะฉะนั้น การพยายามให้มันอยู่ตรงกลางอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะไม่ให้นักกีฬาต้องต้องบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจไปมากกว่านี้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook