ปราการ เนเวอร์ดาย : จิตวิญญาณที่ไม่มีวันตายของกองเชียร์ไร้สโมสร

ปราการ เนเวอร์ดาย : จิตวิญญาณที่ไม่มีวันตายของกองเชียร์ไร้สโมสร

ปราการ เนเวอร์ดาย : จิตวิญญาณที่ไม่มีวันตายของกองเชียร์ไร้สโมสร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นี่คือกลุ่มแฟนบอล ที่ผ่านการสูญเสียทีมเชียร์ถึง 2 ครั้ง และเคยได้ชื่อว่าเป็น “กองเชียร์ของสโมสรที่แพ้มากสุดเป็นสถิติโลก” ไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้ ก้อนกลุ่มกองเชียร์ของพวกเขายังคงอยู่ แม้ไม่มีสโมสรให้ส่งเสียงเชียร์แล้วก็ตาม

ในระบบนิเวศของฟุตบอล มีความสัมพันธ์หนึ่งน่าที่สนใจ นั่นคือ กองเชียร์ กับสโมสร ที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

หลักฐานชิ้นสำคัญ ดูได้จาก สิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่า “สนามฟุตบอล” ไม่ว่าที่ไหนในโลก ล้วนแล้วแต่จะต้องมีมุมหนึ่งที่เป็น อัฒจันทร์, ที่นั่ง ไว้ให้แก่ กองเชียร์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง หาได้มีแต่เพียงพื้นสนาม รอบรั้วขอบชิดเท่านั้น

 

Supporters คำนี้ในทางฟุตบอลแปลว่า กองเชียร์ อันเป็น ผู้สนับสนุนของสโมสรอย่างแท้จริง  สโมสรคงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีแฟนบอล และแฟนบอลก็คงสลายไป หากวันหนึ่งสโมสรที่พวกเขาเชียร์ล้มหายตายจากไปจากแผนที่โลก

“ยืนหยัด พัฒนา ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี” สโลแกนของกลุ่ม “ปราการ เนเวอร์ดาย” แฟนคลับลูกหนังจากจังหวัดสมุทรปราการ  

หากมองผิวเผิน พวกเขาแทบไม่ได้แตกต่างกับกลุ่มกองเชียร์สโมสรอื่นๆ ที่รวมคนมีอุดมการณ์ ความชื่นชอบ ในสโมสรเดียวกัน มาทำกิจกรรม และร่วมร้องเพลงเชียร์ด้วยกันภายในสนามฟุตบอล

แต่ในความเป็นจริง ปราการ เนเวอร์ดาย แตกต่างจากกองเชียร์ทั่วไปของสโมสรฟุตบอลโดยสิ้นเชิง ตรงที่พวกเขาไม่ได้อยู่เพื่อเป็นแฟนคลับของสโมสรใด สโมสรหนึ่ง นับตั้งแต่ทีม สมุทรปราการ ยูไนเต็ด และ ซุปเปอร์พาวเวอร์ สมุทรปราการ สองสโมสรที่พวกเขาเคยเชียร์ ไม่ได้ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน

เหตุใดกลุ่ม ปราการ เนเวอร์ดาย ที่ไม่มีแม้แต่สโมสรให้เชียร์ ถึงยังคงอยู่ได้...ในวันเดียวกันกับที่ หลายๆคน โบกมือลา หันหลังให้กับ สนามฟุตบอล ที่ถูกฟ้องผ่านจำนวนยอดผู้ชมของแต่ละสโมสร ที่ลดน้อยลงไป

จากสมุทรปราการ ถึง ราชมังฯ

“กลุ่มของเราเกิดขึ้นเมื่อราวๆ ปี 2011 เดิมทีเราเป็นกองเชียร์ของสมุทรปราการ ยูไนเต็ด มาก่อน เรามีคอนเซปท์ในการเชียร์ตั้งแต่แรกว่า เราจะทำทีมเชียร์ภายใต้เงื่อนไข ที่ไม่มียินยอมให้ องค์กร หรือสโมสรมาครอบงำ”

 1

“เรามีการวางโครงสร้างองค์กรการเชียร์ใหม่ ให้มีประธาน เลขานุการ และรองประธาน เพื่อขยายหน้าที่การปฏิบัติงานไปยังกลุ่มต่างๆ ผ่า นรองประธาน ว่าใครมีหน้าที่ในการดำเนินการส่วนไหน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเชียร์ สถานที่ การบริหารจัดการเรื่องการเดินทางฯ”

“พอเราไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไข หรือถูกครอบงำจากองค์กรใด ก็จะเริ่มเกิดตัวตน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ กองเชียร์สมุทรปราการ ยูไนเต็ด ทุกคนได้มีส่วนร่วมกับการเชียร์ ซึ่งทำให้กลุ่มของเราเติบโต แข็งแรงขึ้น และทำให้แนวคิดอุดมการณ์นี้ถูกขยายออกไป” อ๊อด - ปฐมชัย บุปผาโรจน์ แกนนำกลุ่มปราการ เนเวอร์ดาย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการมารวมตัวกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว สมุทรปราการ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรน้องใหม่ที่ได้สิทธิ์จาก ไทยซัมมิท ฯ ลงแข่งขันในศึกฟุตบอล ดิวิชั่น 2 (เดิม) ในตอนนั้น เจ้าของฉายา “ปีศาจปู” ได้ชื่อว่าเป็นเพียงไม่กี่ทีมที่มีสนามเหย้าเป็นของตัวเอง และมีวัฒนธรรมเฉพาะตัวในการเชียร์ที่ถือว่าแปลกใหม่สำหรับฟุตบอลลีกรากหญ้า

ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงเชียร์ไม่มีหยุด ป้ายผ้าที่ประดับอยู่ขอบสนาม, การโบกธงที่สวยงามทั้งเกม รวมถึงการสร้างวัฒนธรรม ในทุกๆเกมเหย้า ผู้มาเยือนจะพบเห็นก่อนเกมก็คือ กองเชียร์ของสมุทรปราการ ยูไนเต็ด กลุ่มนี้จะมายืนรอต้อนรับ และส่งผู้มาเยือน เดินทางออกจากสนามกลับบ้านอย่างปลอดภัยทุกครั้ง

ทั้งอย่างคือความงดงามเกิดขึ้นจากตัวตนของแฟนคลับที่สะท้อนออกมาผ่านการเชียร์ แม้ว่าสโมสรที่พวกเขารัก แทบไม่เคยประสบความสำเร็จในแง่ของถ้วยรางวัลความสำเร็จใดๆ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านการเงิน แต่กองเชียร์กลุ่มนี้ ก็ไม่เคยทอดทิ้งทีม อยู่เคียงข้างกันจนถึงวาระสุดท้ายที่สโมสรยื่นเรื่องขอพักทีมไปในปี 2015 และหลังจบฤดูกาล 2017

“มาวันหนึ่งสมุทรปราการ ยูไนเต็ด ก็อ่อนล้าไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมในเวลานั้น ด้วยความที่กองเชียร์เราอยู่ด้วยการมานานพอสมควร ก็เกิดความผูกพัน จากการได้ทำงานร่วมกัน ความสัมพันธ์จึงเป็นเหมือนพี่น้อง ที่เห็นอกเห็นใจกันว่าเรากำลังทำอะไร” อ๊อด - ปฐมชัย แกนนำปราการ เนเวอร์ดาย กล่าวเริ่ม

“หลังจาก สมุทรปราการ ยูไนเต็ด อ่อนล้าไป กองเชียร์ของเราก็เริ่มคิดหาวิธีการขยับขยายแนวความคิดนี้จาก กองเชียร์สโมสรเล็กๆ ในจังหวัด เราจะทำอย่างไรให้คนทั่วไปได้เห็นรูปแบบของพวกเรา ที่สามารถทำให้กลุ่มกองเชียร์เติบโตขึ้นได้ด้วยตัวเอง”

“จึงเกิดความคิดที่ว่า ที่ไหนบ้างที่เราสามารถมีพื้นที่ในการแสดงออกการเชียร์ ไม่ใช่แค่สโมสร โปรเจกต์แรกที่ เราทำคือการเดินทางไปที่มาเลเซีย วันนั้นพี่เดินทางไปกับ กอล์ฟ (ภัทรวุฒิ ศรีสวัสดิ์) ลีดเดอร์อีกคนของกลุ่ม โดยใส่เสื้อสโมสรสมุทรปราการ ยูไนเต็ด ไปเชียร์ทีมชาติไทย เราต้องการแสดงให้เห็นว่า แม้สโมสรจะอ่อนแรงลงไป แต่พวกเรายังอยู่ และยังมีพื้นที่อีกมากมาย ที่เราสามารถไปทำกิจกรรมได้”

“เราแบกกลอง 1 ใบ สแนร์ 1 อัน และธงชาติไทย 1 ผืน เข้าไปร่วมเชียร์กับกลุ่ม เชียร์ไทย พาวเวอร์ องค์กรเดิมที่มีอยู่แล้ว โชคดีที่คนเห็นดีเห็นงามกับเราด้วย และเห็นความสำคัญในการทำทีมเชียร์ ฐานของกลุ่มเดิมที่เรามีจากแค่ในสโมสร จึงถูกขยายออกไปให้กว้างขึ้น พวกเราไม่ได้เชียร์แค่ฟุตบอล แต่ยังรวม ฟุตซอล วอลเลย์บอล เราไปหมด เราไปเพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่า การเชียร์นั้น แท้จริงมีความหลากหลาย และสามารถทำได้มากมายหลายอย่าง”

 2

จากแฟนคลับของสโมสรฟุตบอลลีกล่าง พวกเขาเปลี่ยนผ่านมาสู่กลุ่มที่มีชื่อว่า “ปราการ เนเวอร์ดาย” อันสื่อถึงกลุ่มกองเชียร์ที่ไม่มีวันตาย แม้ในช่วงที่สโมสรต้องพักการแข่งขันไป แต่กลุ่มของพวกเขาก็ยังคงเคลื่อนไหว และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่ขึ้น

“ถึงตอนนั้น กลุ่มปราการ เนเวอร์ ดาย ไม่ได้เป็นกองเชียร์ของสโมสรหนึ่งแล้ว เรามีหน้าที่ หว่านเมล็ดพันธุ์ เราอยู่ตรงไหนของสนามก็ได้”

“เป้าหมายของปราการ เนเวอร์ดาย คือการสร้างทีมเชียร์จากระดับสโมสร เพื่อไปสู่ขอบสนามทีมชาติไทย การเชียร์ของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าจะต้องมีสโมสรให้เราเชียร์หรือไม่” ปฐมชัย แกนนำปราการ เนเวอร์ ดายกล่าว

กองเชียร์ที่แพ้มากสุดในโลก

ช่วงกลางปี 2016 โอสสถภาฯ มีแผนที่ย้ายจากสนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่กำลังหมดสัญญา มาปักหลักและสร้างถิ่นฐานใหม่ที่ จ.สมุทรปราการ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “โอสถสภา M-150 สมุทรปราการ”

 3

กลุ่มกองเชียร์ดั้งเดิมของพลังเอ็ม รวมถึงผู้บริหารได้นัดกลุ่ม ปราการ เนเวอร์ ดาย เข้าไปพูดคุย เพื่อเชิญชวนให้พวกเขา มาช่วยเชียร์ทีมโอสถสภาฯ ที่เตรียมย้ายไปเตะที่ สนามการกีฬาแห่งประเทศไทย บางพลี

พวกเขาตอบตกลง หากสโมสรปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กลุ่มปราการ เนเวอร์ ดาย 2 ข้อ ดังนี้

“เราบอกกับเขาว่า เรายินดีถ้าสโมสรต้องการเข้ามาในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เพราะเราต้องการสร้างกลุ่มกองเชียร์ต่อยอดไปสู่ทีมชาติอยู่แล้ว แต่เรามีเงื่อนไข 2 ข้อหลักๆ ถ้าต้องการให้เราไปร่วมเชียร์ ข้อที่ 1 เราต้องการอิสระเชิงความคิดที่จะแสดงออก ข้อที่ 2 เราต้องตกไม่อยู่ภายใต้โครงสร้างธุรกิจขององค์กร ถ้าเขาตกลง เรายินดีไปช่วยเชียร์อย่างเต็มที่”

“โอสถสภาฯ ตอบตกลง เราดำเนินการเชียร์ทุกอย่างเป็นไปในแบบที่เราเคยทำกับ สมุทรปราการ ยูไนเต็ด ต้องยอมรับว่าช่วงเปลี่ยนถ่ายจาก โอสถสภาฯ เดิม มาเป็น ซุปเปอร์พาวเวอร์ กองเชียร์ดั้งเดิมที่ยังตามเชียร์ถึงที่นี่ มีน้อยมาก”

“พอสโมสรย้ายมาที่นี่ ก็มีคนกลุ่มใหม่ที่เป็น คนทำงานแถวนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาดูในสนาม เป็น 100 คน ทำให้เราต้องสร้างกิมมิคของตัวเองว่า เรามีรูปแบบการเชียร์เป็นอย่างไร เขาชอบไหม ถ้าชอบมาจอยกัน ทำให้เขาเห็น พอเขาเห็นว่ามันสวยงาม มันสนุก เขาก็จะมาร่วมจอยกับเราเอง”

สีเหลือง-ดำ การโบกธงแบบเต็มพื้นที่ ป้ายผ้า และการเชียร์ไม่มีหยุดตลอด 90 นาที ไม่ว่าสกอร์โดนนำห่างแค่ไหน การเป็นสิ่งที่ ปราการ เนเวอร์ดาย นำเสนอออกมาจากข้างสนาม

ในฤดูกาล 2017 โอสถสภาฯ เปลี่ยนมาใช้ชื่อ ซุปเปอร์ พาวเวอร์ สมุทรปราการ และอย่างที่ทุกคนทราบดี พวกเขาแพ้ติดต่อกันจนเป็นสถิติโลก ถึง 27 นัด

การไม่สามารถเอาชนะคู่แข่ง ได้นานถึง 386 วัน ไม่ได้บั่นทอน และทำให้เสียงเชียร์จากกลุ่ม “ปราการ เนเวอร์ ดาย” เบาลงไป กำลังใจจากแฟนบอลข้างสนามของพวกเขา ยังคงถูกส่งไปให้กับนักฟุตบอลเสมอ

พวกเขาไม่เคยตำหนินักเตะ แม้จะพ่ายแพ้ย่อยยับแค่ไหน เสียงปรบมือ การโบกธง อย่างขยันขันแข็ง กลายเป็นภาพที่สวยงามของวงการฟุตบอลไทย และทำให้ผู้คน เริ่มมองเห็นในอุดมการณ์ของปราการ เนเวอร์ดาย ในฐานะกองเชียร์ที่ก้าวข้ามเรื่องของผลการแข่งขันไปไกลมากพอสมควร

“ซุปเปอร์พาวเวอร์ ถึงจุดหนึ่งก็ดร็อปและดาวน์ลงไป แต่พวกเราบอกน้องๆว่า เราไม่ได้อยู่เพื่อทีม เราอยู่เพื่อการพัฒนากองเชียร์ไปสู่ทีมชาติ” อ๊อด ปฐมชัย กล่าวเริ่ม

 4

“ที่นี่เป็นพื้นที่หนึ่งให้เราได้แสดงออก อย่าลืมว่า กองเชียร์ทุกคนที่มา มีจิตสาธารณะ เสียเงินซื้อบัตรทุกคน คนพวกนี้มีความเสียสละอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงความสามารถ ตัวตน ออกมา ก็เหมือนคนเก่ง แต่ไม่ได้ใช้วิชาความรู้ วันหนึ่งความกระตือรือร้น มันก็หายไป”

“โชคดีที่น้องๆทุกคนเข้าใจ ไม่ทิ้งทีม เพราะเรามองไปที่เป้าหมายเดียวกัน คือ ทีมชาติไทย ช่วงที่เราแพ้ติดๆกัน เป็นช่วงเวลาที่เรามีพื้นที่มากในหน้าสื่อ จากโมเดลการสร้างทีมเชียร์ที่มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีองค์กร หรือสโมสรมาครอบงำเรา”

“แมตช์ที่เราเห็นใจกันเป็นเรื่องเป็นราวเลย คือเกมนัดรองสุดท้ายที่ต้องไปเยือน อุบล ยูเอ็มที ฯ ตอนนั้นเรารู้แล้วว่า ทีมกำลังจะแตกแล้ว เหลือนักเตะเดินทางไปเตะแค่ 15 คน พูดตรงๆก็คือ เตะไปให้จบโปรแกรมเพราะตกชั้นไปนานแล้ว ถ้าเดินทางด้วยรถบัสจากที่นี่ไปอุบล ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงกว่าจะถึง”

“คนอื่นอาจคิดว่าเกมนั้น คงไม่มีใครตามไปเชียร์ แต่พวกเราไป เรานั่งรถบัสไป-กลับ รวมแล้ว 24 ชั่วโมง เราไปเพื่อแสดงให้เห็นว่า แฟนบอลไม่เคยทอดทิ้งทีม ไปด้วยความรู้สึกล้วนๆ”

“เราซื้อตั๋วเข้าชมเกมทุกนัด ไม่เคยมีการขอบัตรฟรีจากสโมสร เราปลูกฝังและสอนกันแบบนี้ ส่วนรายได้ใช้จ่ายในกลุ่ม ส่วนหนึ่งมาจาการขายผ้าพันคอของกองเชียร์เราเอง เพื่อแสดงจุดยืนว่า เราอยู่เพื่อพวกเรา กำไรที่ได้ ถูกหักเข้า กองกลาง เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์เชียร์ หรือทำกิจกรรมอะไรก็ตาม เชื่อไหมว่า ทุกวันนี้เงินกองกลางยังเหลืออยู่ 10,000 เลย”

ไม่มีสโมสรเชียร์

หลังสิ้นสุดฤดูกาล 2017 “ปราการ เนเวอร์ ดาย” กลายเป็นกลุ่มกองเชียร์ที่ไม่มีสโมสรอย่างสมบูรณ์ เนื่องจาก ซุปเปอร์ พาวเวอร์ สมุทปราการ ตัดสินใจขายสิทธิ์ให้กับกลุ่มจัมปาศรีฯ ส่วน สมุทรปราการยูไนเต็ด ที่กลับมาลงแข่งในปีดังกล่าว ก็ไม่ได้ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันในปีต่อมา

 5

ผ่านมาหนึ่งปี กลุ่มปราการ เนเวอร์ ดาย ยังคงทำกิจกรรมต่อเนื่อง และไม่ได้ล่มสลายไปตามสโมสร พวกเขายังคงวนเวียนเข้าสนามไปเชียร์ฟุตบอลตามปกติ ทั้งในเกมลีกและทีมชาติไทย

“เราสร้างนิยามหนึ่งที่เรียกว่า ปราการตะลอนเชียร์ ภายใต้คอนเซปท์ ในหนึ่งเดือนเราจะเดินทางไปเชียร์ฟุตบอลในสนามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลีกใดก็ตาม ด้วยวัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อ อย่างแรก เราต้องการสร้างเวทีให้น้องๆ รุ่นใหม่ หรือทุกคนที่มีจิตสาธารณะได้มีพื้นที่แสดงออก อย่างที่สอง เราต้องการนำเสนอ การเชียร์ในรูปแบบของเรา ให้คนอื่นๆได้เห็น เพื่อทำให้เขาอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการเชียร์ทีมชาติไทย”

“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กองเชียร์ทีมในระดับ T3, T4 ส่วนใหญ่ยังไม่หลุดจากกรอบความคิดหนึ่ง ที่พี่เคยบอกว่า กองเชียร์ไม่ควรอยู่ภายใต้องค์กร หรือสโมสร เพราะจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ พวกเขาไม่สามารถแสดงตัวตนออกมาได้อย่างเต็มที่ เราจึงต้องการเดินทางไปเพื่อทำให้เขาเห็นว่า ดูสิ ขนาดพวกเราไม่มีทีมเชียร์ ไม่ได้อยู่ภายใต้ใคร เรายังสามารถอยู่ได้เลย และสิ่งที่พวกเราทำ เป็นสิ่งที่พวกเขา มีความสามารถพอทำได้” ปฐมชัย กล่าว

“ปราการตะลอนเชียร์” จึงเป็นแนวคิดต่อยอดการเชียร์ฟุตบอลของกลุ่ม ในวันที่ไม่มีสโมสรใดให้เชียร์เป็นหลักเป็นแหล่ง โดยทุกครั้งที่ไป ปราการ เนเวอร์ ดาย จะขนกองเชียร์ราว 50-100 คน เดินทางไปเชียร์แบบฟูล ทีม เพื่อนำเสนอไอเดีย แนวคิด และสื่อสารให้เห็นถึงจุดยืนของพวกเขา

การเลือกสนามที่จะไปนั้น มีตั้งแต่ การไปช่วยแฟนบอลพลัดถิ่นของสโมสรไกลๆ ที่มาเยือนในพื้นที กรุงเทพ ปริมณฑล หรือจังหวัดใกล้เคียง ในการทำทีมเชียร์, การนัดหมายออกไปเชียร์นอกสถานที่ ใน่ต่างจังหวัด อาทิ น่าน, กำแพงเพชร, แพร่ ฯ

สิ่งสำคัญที่พวกเขายึดถือเสมอในโปรเจกต์ “ปราการ ตะลอน ทัวร์” คือการเคารพและให้เกียรติแฟนบอลฝ่ายตรงข้าม

 6

“เราไปเชียร์ที่ไหน ต้องแน่ใจว่าจะไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง หรือเกิดอคติจากกลุ่มกองเชียร์อื่นๆ รวมถึงทุกที่ที่เราไป ต้องไม่มีใครมาครอบงำแนวคิดของพวกเรา พวกเราต้องมีอิสระในการแสดงออก ถ้าเราไปที่ไหน แล้วสามารถทำสองอย่างนี้ได้ เราไปได้ทุกที่”

“ก่อนไปทุกครั้งเราจะมีการติดต่อประสานงาน คุยกับกองเชียร์เจ้าบ้าน เพื่อแจ้งว่าวัตถุประสงค์ของเราคืออะไร หรือบางจังหวัดมาไกลๆ อย่าง สตูล ปัตตานี เขาต้องการให้เราไปช่วยทำทีมเชียร์ ถ้าเขาโอเคกับเงื่อนไขเรา เราก็ยินดีไปช่วย พอปราการ ตะลอน ทัวร์ เกิดขึ้น ก็ทำให้เราได้รู้จักกับแฟนบอลมากขึ้น โดยเฉพาะพวกพลัดถิ่น ที่บางส่วนก็นำเอาแนวคิดของเราไปปรับแต่ง เพื่อให้พวกเขาอยู่ได้”

“เราไม่ได้บอกว่า โครงสร้างองค์กรของปราการฯ ดีที่สุด แต่เราเป็นเพียงแค่ เบสิคหนึ่ง ที่สามารถอยู่ได้ เราไม่ได้ดีเด่นไปกว่ากองเชียร์ดั้งเดิมของกลุ่มพลัดถิ่น เราไม่ได้ไปจับมือเขาทำ พวกเขาเก่งอยู่แล้ว มีพลัง มีความสามารถ มีความแข็งแกร่ง เราแค่เชื่อว่า ถ้าวันหนึ่งเราขยายคนที่มีแนวคิดคล้ายๆกันออกไป ผลจะกลับมาสู่ทีมชาติไทย ที่เราจะได้กลุ่มกองเชียร์ที่มีศักยภาพ มาเพิ่มขึ้นอีก”

“เราจึงต้องทำให้เห็นตลอด ถึงแม้จะไม่มีสโมสรเชียร์ เพื่อให้เขาเชื่อในสิ่งที่เราทำ ถ้ามันไม่เกิดความต่อเนื่อง ความน่าเชื่อถือก็ไม่เกิดขึ้น” ปฐมชัย บุปผาโรจน์ แกนนำเชียร์ปราการ เนเวอร์ดาย เผย

ความศิวิไลซ์ของกองเชียร์

นอกจากความต่อเนื่องในการเชียร์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ยังคงทำให้ กลุ่มปราการ เนเวอร์ ดาย ไม่ได้แยกย้ายกันไปไหน อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่เราสัมผัสได้ คือ รูปแบบโครงสร้างองค์กร ที่ถูกออกแบบมาให้พวกเขายืนอยู่ได้ตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

นี่คือสิ่งที่น่าสนใจว่า พวกเขาสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ในยุคที่แฟนคลับหลายทีมที่ล้มหายตายจาก ต่างแยกย้ายกันไป เมื่อวาระนั้นมาถึง

 7

“พี่มองอย่างนี้ พี่ยืนอยู่ในสองหน้าที่ หน้าที่แรกคือ วิศวกรฯ เวลามองภาพๆหนึ่ง จะเห็นแค่ถูกกับผิด เท่านั้น แต่อีกหน้าที่หนึ่งที่พี่จัดการด้วยคือ มาร์เก็ตติ้ง เวลามองภาพๆหนึ่ง จะเห็น กำไร, ขาดทุน และโอกาสในการทำธุรกิจ ถ้าเราเอาเงื่อนไขของธุรกิจไปมอง กองเชียร์ สิ่งที่สโมสรสนใจก็คือ กำไร, ขาดทุน และการสร้างภาพให้ดูสวยงาม” อ๊อด ปฐมชัย แกนนำปราการ เนเวอร์ ดาย กล่าวเริ่ม

“แต่กลับกันถ้าเราไม่เอา มาร์กตติ้ง ไปวาง เปลี่ยนเป็นการสร้างความศิวิไลซ์ในความเป็นคนของกองเชียร์ เรามองเห็นความสวยงาม เห็นคนกล้าแสดงออกในการเชียร์มากขึ้น เราจะเห็นคนที่กล้าบอกว่า อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรที่ต้องพัฒนา”

“เพราะเป้าหมายสูงสุดของการทำทีมเชียร์ คือ การพัฒนา ถ้าตราบใดที่มีเงื่อนไขของผลกำไรเข้ามาครอบงำ การพัฒนากองเชียร์ก็จะไม่เกิดขึ้น สุดท้ายมันจะวนกลับเข้าไปสู่แพทเทิร์นเดิม ในวันที่ทีมผลงานดีเลิศ คนจะซื้อตั๋วเข้ามาดู แต่วันไหนที่ผลงานทีมไม่ดี คนจะไม่เข้ามาดู ไม่เข้ามาเชียร์”

“ Curve ของกองเชียร์ในสโมสรฟุตบอล จึงเป็นเหมือนภูเขา ที่ขึ้น-ลงอยู่ตลอด ไม่เสถียร ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำอย่างไรให้เกิดความศิวิไลซ์ และการพัฒนากองเชียร์ เพื่อให้ Curve นั้นตกลงไปมาก ถ้า Curveมันเสถียรเพราะมีมวลชนตรงนี้อยู่ เวลามีคลื่นลูกใหม่เข้ามา มันก็พร้อมจะดีดตัวขึ้น แต่ถ้ามันร่วงตกไปเยอะ มันเหนื่อยและต้องใช้เวลามาก กว่าจะกลับไปบนยอดที่สูงได้”

แกนนำกลุ่มปราการ เนเวอร์ ดาย อธิบายตัวอย่างของ เอส-ลีก สิงคโปร์ ที่ช่วงหนึ่งเคยมี เคิร์ฟสูงมากในอาเซียน แต่ในช่วงเวลานั้น พวกเขากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเชียร์มากนัก ไปให้น้ำหนักกับการดึงผู้เล่นไทยเข้ามาดึงดูดคนดู สุดท้ายเอส-ลีก ก็ดาวน์ลงไปในที่สุด

ในมุมมองของ ปฐมชัย บุปผาโรจน์ เขามองว่า การที่สโมสรมุ่งหวังผลกำไรนั่นเป็นเรื่องสามารถทำได้ เพราะนี่คือธุรกิจกีฬา แต่การจะทำให้มีแฟนคลับติดตามทีมได้นั้น ต้องเริ่มจากการบริหารจัดการที่ดี โดยแยกองค์กรของกองเชียร์ กับองค์กรของสโมสรที่หวังผลกำไร โดยใช้วิธีการ Matching เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ทั้งสโมสรและกองเชียร์ เติบโตไปพร้อมๆกัน ภายใต้กรอบที่ว่า ต่างฝ่ายต่างไม่ครอบงำซึ่งและกัน

“กองเชียร์สามารถแสดงออกทางความคิดได้อย่างเต็มที่ โครงสร้างของธุรกิจก็ทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่เป็นแบบนั้น พี่มองไม่เห็นการเติบโต และมันจะวนเวียนกลับไปที่วัฎจักรการล้มหายตายจากของสโมสรและกองเชียร์”

“ดังนั้นเราต้องสร้างให้กองเชียร์เกิดความรู้สึกว่า นี่คือจิตสาธารณะ และถูกพัฒนาด้วยตัวของพวกเขาเอง ย่อมดีกว่าการทำทีมเชียร์เพื่อนาย A เพราะนาย A หนุนหลัง สุดท้ายมันก็จบแค่ นาย A”  

“เช่นกันกับทีมชาติไทย ถ้ากรอบความคิดมันเป็นกรอบที่กว้าง ก็มีพื้นที่ให้คนได้แสดงออก แต่ถ้ามันถูกครอบด้วยกรอบของธุรกิจ การแสดงออกจะไม่เกิดขึ้น พี่เชื่อว่าคนที่เข้ามาเชียร์ทีมชาติไทย เขาไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่า ความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำเพื่อชาติ มากกว่าจะทำสิ่งนี้ไปเพื่อ นาย A B C”

 8

ปราการ เนเวอร์ ดาย อาจมีรูปแบบโครงสร้างองค์กร เหมือนกับบริษัท ที่มีประธาน และฝ่ายต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติ พวกเขาให้น้ำหนักกับเรื่องความเท่าเทียมกันของทุกคนในกลุ่ม ที่มีสิทธิในการแสดงออก และไม่ได้ตายตัวว่า หัวหน้าโปรเจกต์ ต้องเป็นคนกลุ่มเดียวเสมอไป

“ต้องยอมรับก่อนว่า ในทุกๆองค์กร จำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างรูปแบบคล้ายกับบริษัท ที่มีประธาน รองประธาน และที่บริหารจัดการในฝ่ายต่างๆ แต่วันหนึ่งโครงสร้างนั้นเกิดขึ้น เราต้องพักไว้ก่อน แล้วใช้มันเป็นแค่กรอบแนวความคิด”

“เราสร้างนิยามขึ้นมาที่ว่า อยู่ที่นี่ไหล่ทุกคนต้องเท่ากัน ไม่ว่าคุณเป็นใคร ทำอาชีพอะไร อายุเท่าไหร่ อยู่ตรงนี้มีแค่พี่กับน้องเท่านั้น ทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น แต่ความเห็นนั้นต้องมีเหตุและผลรองรับ เพื่อตอบให้ได้เป้าหมายนั้นคืออะไร เมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าเอากรอบไปครอบเขา 100 เปอร์เซนต์ ให้เขาทำงาน โดยไม่ได้มีความรู้สึกส่วนร่วม การพัฒนากองเชียร์ ก็จะไม่เกิดขึ้น”

“ดังนั้นที่นี่ ในแต่ละโปรเจกต์ จะมีการหมุนเวียนไปตามความถนัด ตามความสามารถของแต่ละคน นิยามอีกข้อหนึ่งขององค์กรเรา คือ คนแถวหน้าต้องให้เกียรติคนแถวหลังสูงสุด เพราะถ้าไม่มีคนแถวหลังคอยสนับสนุน ก็ไม่มีคุณ... คนที่อยู่แถวหน้า แน่นอนว่า เขามีโอกาสได้ถือโทรโข่งนำเชียร์ ได้ออกสื่อ ได้สัมภาษณ์ มีรูปภาพสวยงาม”

“เมื่อไหร่ก็ตาม ที่คุณอยู่ในจุดที่สูง แต่กลับไม่แคร์คนข้างหลัง คุณจะถูกคุณลดค่าลงมาเรื่อยๆ ตามเงื่อนไขขององค์กร ที่นี่เด็กใหม่อายุ 20 ปี เข้ามาแค่ 1-2 ปี กับคนอายุ 40 ปี ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ยุคแรก ถ้าเด็กอายุ 20 ปี มีศัยภาพมากกว่า เขาสามารถเป็นแกนนำได้ แต่ไมได้หมายความว่า พอคุณเป็นลีดเดอร์ จะไปชี้หน้าสั่งๆอย่างเดียว คุณต้องมีบารมี และอธิบายให้คนข้างหลังฟังให้ได้ว่า ทำไมถึงควรทำแบบนั้น แบบนี้ ขอร้องเขา ให้เกียรติเขา”

“พี่เชื่อว่า ถ้านาย A ให้เกียรตินาย B นาย B ก็จะไม่ข่มเหง นาย A แล้วก็ไม่มี Negative Feedback กลับไป ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า คนที่เข้ามาเชียร์ฟุตบอล ทุกคนเสียเงินซื้อบัตร มาด้วยจิตสาธารณะ องค์กรนี้ไม่มีเงินเดือนให้ ฉะนั้นพวกเขาต้องได้รับความภาคภูมิใจสูงสุดกลับไป”

กอดคอ ร้องเพลงเดียวกัน

ช่วงสายของวันเสาร์ ภายในโรงเรียนวัดมงคลโคธาวาส จ.สมุทรปราการ “กลุ่มกองเชียร์ ปราการ เนเวอร์ดาย” ที่มีทั้งผู้ใหญ่ เด็ก วัยรุ่น หญิง-ชาย ราว 30-40 คน เดินทางมาที่นี่ เพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง ไว้สำหรับการเชียร์ทีมชาติไทย ในรายการเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018

 9

ผ้าขาวจำนวนมาก ถูกวางปูที่พื้นที่ ก่อนที่มันจะค่อยๆถูกแต่งแต้มด้วยสีจากปลายพู่กันของ Supporters กลุ่มนี้ บริเวณใกล้เคียงเราเหลือบไปเห็น คนอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คน ที่ไม่ได้มาวาดเขียนภาพ ก็ง้วนอยู่กับการจัดเตรียมอาหาร น้ำดื่มไว้รอให้กับเพื่อนร่วมกลุ่มที่กำลังลงแรงวาดภาพเหล่านั้นอยู่

บัง - อานนท์ สุขดี หนึ่งในแกนนำของ ปราการ เนเวอร์ ดาย ที่ดูแลโปรเจกต์นี้ เผยถึงที่มาของการนัดหมายครั้งนี้ว่า “ทุกครั้งก่อนจะมีทัวร์นาเมนต์อะไรแข่งขัน เราจะมีการประชุมเตรียมงาน ประมาณ 2 เดือนก่อนการแข่งขัน  ซึ่งในเอเอฟ ซูซูกิ คัพ ครั้งนี้ เราจะมีประมาณ 2-3 แผนงานต่อเนื่องตั้งแต่นัดแรก ไปจนถึงนัดชิง ที่เราจะทำ”

“หลังจากได้ข้อสรุป เราก็นัดหมายทุกคน ดูว่า ใครมีความสามารถด้านใดบ้าง ที่พอจะช่วยเหลือกันได้ คนไหนถนัดวาดภาพ ทาสี ใครจะประสานงาน จัดหาอุปกรณ์ รวมถึงเตรียมอาหาร อย่างงานชิ้นนี้ เป็นชิ้นเล็ก เราตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้เวลาทำ ประมาณ 2 วัน วันเสาร์-อาทิตย์ เช้าถึงเย็นเต็มวัน”

“ทุกคนที่เห็น เป็นจิตอาสาหมด ไม่มีใครได้เงิน แต่ทุกคนก็เสียสละมา เพราะเราอยากให้ข้างสนามทีมชาติไทย มันมีมิติอื่นๆ มากกว่าแค่เสียงเชียร์ ผ่านภาพที่ทุกคนมีส่วนร่วม และหวังว่ามันจะดึงดูดให้คนที่เห็น อยากเข้ามาในสนาม มาช่วยกันเชียร์ทีมชาติไทย”

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ กองเชียร์กลุ่มหนึ่ง จะมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน และเดินต่อไปได้ ท่ามกลางโลกฟุตบอลที่กระแสมักพัดพา คนดู ให้เข้ามาและจากไปอย่างรวดเร็ว หากมองผ่านมุมธุรกิจในแบบที่ แกนนำกลุ่มปราการ เนเวอร์ ดาย บอกกับเรา

แม้พวกเขาเป็นเพียงแค่กลุ่มคนจำนวนไม่มาก ในสนามราชมังคลากีฬาสถานฯ แต่นั่นไม่อาจเทียบได้เลยกับความตั้งใจ และเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของ ปราการ เนเวอร์ ดาย ที่ต้องการเห็นทุกคนในสนามกีฬาแห่งนี้ กอดคอร้องเพลงเชียร์เพลงเดียวกัน เพื่อส่งพลังไปยังผู้เล่นทีมชาติไทยทั้ง 11 คนในสนาม

 10

“ถ้าทุกคนในราชมังคลาฯ มีแนวคิดเดียวกัน ในการเสียสละ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือทีมชาติไทย พี่เชื่อว่าวันนั้นความเป็นของปัจเจก แต่ละกลุ่มจะลดลง และหันมาร้องเพลงเชียร์เดียวกัน พร้อมกันทั้งสนาม เหมือนกับ Ultras Malaya (กองเชียร์ทีมชาติมาเลเซีย)”

“พี่ไม่ได้บอกว่า Ultras Malaya ดีที่สุด แต่เวลาที่คนหลายหมื่นชีวิตในบูกิต จาลิล ร้องเพลงเดียวกัน พร้อมๆกัน โดยมีแกนนำเพียงไม่กี่คน มันเป็นบรรยากาศที่น่าขนลุก และเป็นฝันที่พวกเราทุกคนในกลุ่ม ปราการ เนเวอร์ ดาย พยายามมาตลอด ให้เกิดภาพนี้ในไทย”

“มันเหมือนตอนเล่นเวฟ ถ้าทำแล้วสนุก คนรอบข้างเขาจะร่วมมือกับเรา แต่ก่อนที่เกลียวคลื่นนั้นจะไปถึง เราต้องไปลดความเป็นปัจเจก เกาะ แก่ง หินก้อน เสียก่อน วิธีการที่ดีสุด คือการให้เกียรติกัน เราให้เกียรติ Ultras Thailand, Hardcore Thailand, South Curve”

“ไม่รู้สิ ธรรมชาติของ ปราการ เนเวอร์ ดาย เราชอบทำกิจกรรมร่วมกัน ชอบกอดคอร้องเพลงไปพร้อมๆกัน ถ้าวันหนึ่งที่เราได้กอดคอร้องเพลงร่วมกับทุกคนในสนามราชมังฯ มันคงเป็นภาพที่สวยงามที่สุดในการเชียร์ฟุตบอลของทุกคน เราเชื่ออย่างนั้นนะ”

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ปราการ เนเวอร์ดาย : จิตวิญญาณที่ไม่มีวันตายของกองเชียร์ไร้สโมสร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook