ถอดรหัสความขัดแย้งของโลกลูกหนังผ่าน "โบคา-ริเวอร์เพลท"

ถอดรหัสความขัดแย้งของโลกลูกหนังผ่าน "โบคา-ริเวอร์เพลท"

ถอดรหัสความขัดแย้งของโลกลูกหนังผ่าน "โบคา-ริเวอร์เพลท"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อัฒจันทร์ที่ไร้แฟนบอลทีมเยือนในสนาม “ลา บอมโบเนรา” สังเวียนนัดชิงชนะเลิศ โคปา ลิเบอร์ตาดอเรส คัพ 2018 นัดแรก ระหว่างโบคา จูเนียร์ส และ ริเวอร์เพลท อาจจะดูแปลกตาสำหรับคนภายนอก แต่สำหรับแฟนบอลชาวอาร์เจนตินา สิ่งนี้คือเรื่องปกติสำหรับพวกเขา

การพบกันระหว่างสองทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ จำเป็นต้องห้ามแฟนบอลทีมเยือนมาชมเกม และเช่นเดียวกัน นัดชิงชนะเลิศนัดที่ 2 ที่สนาม เอล โมนูเมนทัล สเตเดียม รังเหย้าของริเวอร์เพลท ก็จะไม่มีแฟนบอลของโบคา ในสนาม

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกมฟุตบอลต้องไร้แฟนบอลของทีมเยือนในลีกแดนฟ้าขาวเมื่อสมาคมฟุตบอลอาร์เจนตินา เคยประกาศห้ามแฟนบอลทีมเยือนเข้าสนามมาตั้งแต่ปี 2013 หลังต้องมีผู้สังเวยชีวิตในเกมระหว่าง ลานุส และ เอสตูดิอันเตส

แม้ทางสมาคมฯจะเพิ่งประกาศยกเลิกโทษแบนในฤดูกาลนี้ แต่ประธานสโมสรโบคาและริเวอร์เพลท กลับตกลงกันว่า จะนำการห้ามแฟนบอลทีมเยือนเดินทางมาชมเกม มาใช้อีกครั้ง ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

อะไรทำให้เกมนัดชิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ปีนี้ ไม่มีแฟนบอลทีมเยือน? Main Stand ขอพาไปค้นหาคำตอบตั้งแต่รากเหง้าของเรื่องนี้ 

สองทีมจากอู่ต่อเรือ

โบคา และ ริเวอร์เพลท เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของฟุตบอลอาร์เจนตินา เพราะการต่อสู้ของพวกเขาดำเนินมายาวนานกว่า100 ปี ดาร์บีแมตช์นัดแรกต้องย้อนกลับไปในปี 1913 ที่ริเวอร์เพลทเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 2-1 จากนั้นทั้งสองทีมก็ขับเคี่ยวแย่งชิงความสำเร็จมาโดยตลอด และเป็นริเวอร์เพลทที่ทำได้ดีกว่า จากตำแหน่งแชมป์ลีก 36 สมัย มากกว่าโบคาอยู่ 3 สมัย

 1

อันที่จริงพวกเขามีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกันคืออู่ต่อเรือในเมือง ลา โบคา ย่านชนชั้นแรงงานในกรุง บัวโนสไอเรส โดย ริเวอร์เพลท ก่อตั้งขึ้นก่อนในปี 1901 ก่อนที่ 4 ปีต่อมา โบคา จูเนียร์ส จะถือกำเนิดขึ้นโดยผู้อพยพชาวอิตาลี

แม้จะก่อตั้งในย่านชนชั้นผู้ใช้แรงงานเหมือนกัน แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ริเวอร์เพลท ได้ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่เมืองนูเยซ ทางตอนเหนือของกรุงบัวโนสไอเรส ซึ่งเป็นย่านของคนมีอันจะกิน

“แรกเริ่มเดิมที เราเป็นทีมเพื่อนบ้านกัน แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็แยกตัวออกไป” เฟร์นันโด ซินญอรินี นักกายภาพทีมชาติอาร์เจนตินาชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1986 กล่าวกับ Bleacher Report

“มันเหมือนกับ คาอิน และอาเบล (คาอินฆ่าอาเบลเพราะโกรธที่พระ​ยะโฮวา​ไม่ชอบของถวายของคาอินแต่ชอบของอาเบล) มันไม่มีอะไรที่เลวร้ายไปกว่าการที่พี่น้องเกลียดกัน หรือทั้งคู่เกิดมาจากท้องเดียวกัน”

ความแตกต่างของชนชั้นระหว่างสองทีมเริ่มห่างมากขึ้น เมื่อในปี 1930 ริเวอร์เพลท เริ่มต้นนโยบายทุ่มเงินซื้อนักเตะมาร่วมทีม 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯหมดไปกับค่าตัวของ การ์ลอส ปัวเซเญ และอีก 35,000 ดอลลาร์ เป็นค่าเสียหายในการดึงตัว เบอร์นาบี้ เฟร์เรย์รา มาร่วมทีม

การใช้เงินจำนวนมหาศาล (ในสมัยนั้น) ดึงตัวนักเตะมาร่วมทีม ทำให้ ริเวอร์เพลทได้รับฉายาว่า  Los Millonarios หรือทีมเศรษฐี ในขณะที่ โบคา คู่แข่งของพวกเขายังเป็นทีมของชนชั้นแรงงานเช่นเดิม แต่อะไรทำให้ความเกลียดชังของพวกเขาลุกลามขนาดนี้

ปลูกฝังความขัดแย้ง

ความต่างเรื่องชนชั้น ทำให้ทั้งสองทีมมีความแตกต่างกันมากขึ้น ในขณะเดียวกันแฟนบอลของทั้งคู่ก็เริ่มปลูกเมล็ดพันธ์แห่งความขัดแย้ง โดยใช้ เฮทสปีช (Hate Speech) เป็นเครื่องมือในการถากถางและเหยียดหยามคู่แข่ง

 2

แฟนของริเวอร์เพลท เรียกแฟนของโบคาว่า “ชานชิโตส” (หมูน้อย) และ “โบสเตโรส” (พวกชอบกินปุ๋ย) จากการมองว่าคู่แข่งเป็นทีมของคนจน ในขณะที่แฟนโบคา ก็ตอบโต้แฟนริเวอร์เพลทด้วยการเรียกว่า  กาบินาส (ไก่อ่อน) เนื่องจาก ริเวอร์เพลท พ่ายเปเนารอลยับ 4-2 ทั้งที่ออกนำไปก่อน 2-0 ในศึกโคปา ลิเบอร์ตาดอเรสคัพเมื่อปี 1966 เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใครเลยทีเดียว

“ในอาร์เจนตินา ถ้าเรารักอะไร เราจะรักมันมาก ทั้งการเมือง, เศรษฐกิจ, การลงคะแนน หรือฟุตบอล” มาธิอัส บุสตอส มิลลา นักข่าวจากหนังสือพิมพ์อาร์เจนตินา Clarin กล่าวกับ Bleacher Report

“ประเทศปกครองด้วยสองสโมสรใหญ่คือ โบคา ทีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศ และมีแฟนบอลมากที่สุด และริเวอร์เพลท เหมือนกับคุณมีสองทางเลือกในการดำรงชีวิต”

“ในอาร์เจนตินา เวลาเราอยากรู้จักคนอื่น เราจะถามว่า ‘สวัสดี คุณชื่ออะไร’ และคำถามต่อมาคือ ‘คุณเชียร์ทีมอะไร’ เราไม่สนใจอายุ หรือว่าคุณจะมาจากไหน”

“การเป็นคู่แข่งได้ทำเครื่องหมายลงไปในชีวิตของคนอาร์เจนตินา แฟนโบคาอยู่ฝั่งหนึ่ง และแฟนริเวอร์เพลทอยู่อีกฝั่งหนึ่ง แฟนโบคาใส่เสื้อขาวแดงที่เป็นสีของริเวอร์เพลทไม่ได้ และในทางกลับกัน แฟนริเวอร์เพลทก็ใส่เสื้อน้ำเงินเหลืองที่เป็นสีของโบคาไม่ได้เช่นกัน”

ความเกลียดชังไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะในหมู่แฟนบอลเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงนักเตะในสนาม ปี 2004 คาร์ลอส เตเบซ กองหน้าตัวเก่งของ โบคา ต้องมาถูกใบแดงไล่ออกจากสนาม หลังแสดงความดีใจด้วยการเต้นท่าไก่ ล้อเลียนแฟนบอลริเวอร์เพลทในศึกซูเปอร์คลาซิโก

ในขณะที่ ฮวน โรมัน ริเกลเม อดีตเพลย์เมกเกอร์ ของโบคา ยอมรับว่า “เมื่อผมตื่นขึ้นมาตอนเช้า ผมไม่สามารถใส่อะไรที่เป็นสีขาวแดงได้เลย”

 3

ความไม่ถูกกันของทั้งสองทีม ทวีความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีเหตุการณ์ไหนจะแย่ไปกว่า Entrada Puepta 12 (ประตูหมายเลข 12) เมื่อปี 1968 ที่กลายเป็นหนึ่งในโศกนาฎกรรมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสต์ฟุตบอลอาร์เจนตินา

ในวันนั้น ริเวอร์เพลท เป็นฝ่ายเปิดบ้านรับการมาเยือน โบคา และเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อแฟนบอลของโบคา เผาธงแล้วโยนไปที่ฝั่งแฟนบอลริเวอร์เพลท ทำให้ผู้คนต่างหนีตายกันจ้าละหวั่น และทางออกที่ใกล้ที่สุดคือประตูหมายเลข 12 แต่โชคร้ายเมื่อมีคนจำนวนมากเกินไป ทำให้บางส่วนถูกอัดกับประตู บางส่วนกลายเป็นฐานเหยียบ ทำให้มีผู้สังเวยชีวิตจากเหตุการณ์นี้ไปถึง 71 ราย บาดเจ็บอีก 150 ราย

อย่างไรก็ดี แม้จะเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายขนาดนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การปะทะกันของทั้งสองทีมก็ยังกลับมาฉายซ้ำอยู่เป็นระยะ ราวกับว่าในอดีตไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น และบางทีสโมสรก็อาจมีส่วนสำหรับความเกลียดชังเหล่านี้

สโมสรช่วยเพาะบ่ม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงของความเกลียดชังของทั้งสองทีม นอกจากแฟนบอลแล้ว สโมสรเองก็มีส่วนไม่น้อย สโมสรถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจะมีส่วนในการ “หลับตาข้างเดียว” เพื่อให้เกิดการยั่วยุในสนาม

 4

“ในซูเปอร์คลาซิโก (ปี 2012) ริเวอร์เพลท เอาบอลลูนหมูยักษ์ ที่เหมือนกับโรเจอร์ วอเตอร์ของพิงค์ฟลอยด์ ใช้บนหน้าปกอัลบั้มของเขา เข้ามาในสนาม และปล่อยให้มันลอยเหนืออัฒจันทร์ของโบคาตอนพักครึ่ง สิ่งที่ที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นได้คือความบ้าล้วนๆ” โจเอล ริชาร์ด ผู้เขียนหนังสือ Superclasico: Inside the Ultimate Derby

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่มีเพียงแค่ฝั่งริเวอร์เพลทเท่านั้น ในปี 2015 พวกเขาโคจรมาพบกันในศึก โคปา ลิเบอร์ตาดอเรส แฟนบอลของโบคา ใช้โดรนพาตุ๊กตาผีที่มีตัวอักษร B อยู่บนหน้าอก ซึ่งหมายถึงดิวิชั่น 2 เพื่อล้อเลียนริเวอร์เพลท ที่ต้องร่วงตกชั้นอย่างสุดช็อคในปี 2011 โดยเอาโดรนไปบินอยู่เหนือนักเตะริเวอร์เพลท  

“มันอธิบายให้เห็นระดับของการเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดของสโมสรที่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น พวกเขาไม่ได้เอามีดผ่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พวกเขาไม่ได้เอาบอลลูนขนาดเล็กฝ่าด่านตำรวจ อย่างกรณีของแฟนริเวอร์เพลท พวกเขาเอาสิ่งใหญ่ขนาดนี้มาทำให้พองลมและลอยอยู่เหนือหัวได้ มันบ้ามากๆ” ริชาร์ดกล่าวเสริม

 5

การดูแลได้ไม่ทั่วถึงของสโมสร ยังมีส่วนให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น ปี 2015 ในเกม ลิเบอร์ตาดอเรส คัพ รอบ 16 ทีม นัดที่ 2 ที่สนาม รังเหย้าของ โบคา แฟนโบคา ได้แอบเจาะรูในอุโมงค์ยางที่ใช้นำนักเตะลงสู่สนาม และในช่วงครึ่งหลังตอนที่นักเตะของทีมเยือนเดินลงสนาม แฟนโบคา ได้ขว้างปาแก๊สน้ำตาทำเองลงในช่องที่เจาะรูไว้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกมนี้ถูกยกเลิก นักเตะสี่คนของริเวอร์เพลทได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึง เลโอนาโด ปอนซิโอ  ที่ต้องถูกหามส่งโรงพยาบาล เนื่องจากได้รับบาดเจ็บ และถูกลวกที่ผิวหนังและดวงตา ก่อนที่ โบคา จะถูกปรับให้ตกรอบในรายการนี้

ทฤษฏีความขัดแย้ง

สิ่งสำคัญที่ทำให้ริเวอร์เพลท และโบคา รู้สึกเกลียดชังจนทำให้เกิดความขัดแย้งต่อกันคือ ความรู้สึกแตกต่างด้านชนชั้น และการเหยียดหยามซึ่งกันและกัน  

สิ่งเหล่านี้ตรงตามทฤษฎีความขัดแย้งของนักวิชาการด้านมานุษวิทยาที่มองว่า ความขัดแย้งว่าเป็นผลมาจากความปรารถนา หรือเป้าหมายที่ไปด้วยกันไม่ได้ อาจมาจากการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรม และเป็นแบบฉบับของพฤติกรรมในการปรับตัวของมนุษย์

 6

“ทั้งประเทศอาร์เจนตินา แม้กระทั่งในเมืองเล็กๆ เมืองจะแบ่งออกเป็นแฟนทั้งสองทีมอยู่เสมอ ทุกครั้งที่พวกเขาเจอกัน มันจึงมีปัญหา เพราะว่าความรู้สึกมันชวนทำให้โมโห” ซินญอรินีกล่าวกับ Bleacher Report

“(นักเขียนชาวเปรู) มาริโอ วาร์กัส ยอซา อธิบายในหนังสือเขาว่า ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก  พวกเขาจะมองหาพวกดั้งเดิมของพวกเขา พวกเขาปรารถนาที่จะอยู่ในเผ่าที่เป็นส่วนหนึ่งของมัน โบคา และ ริเวอร์ต่างก็เป็นเผ่า ดังนั้นทุกคนในเผ่าจึงพยายามที่จะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนของพวกเขา และพวกเขาก็เกลียดเผ่าอื่นด้วย”

“ปัญหาคือ ในสนามความโกรธเกลียดมันล้นทะลักมากเกินไป ทุกๆหลังเกม คุณมักจะได้ยินการตีกันที่บ้าคลั่งระหว่างพวก 'barra bravas' (แฟนบอลหัวรุนแรง) มันจึงเป็นเรื่องที่ดีที่ทั้งสองเกมในนัดชิงชนะเลิศโคปา ลิเบอร์ตาดอเรส จะเล่นโดยไม่มีแฟนบอลทีมเยือน เพราะว่ามันน่าจะมีความรุนแรงมากๆแน่ๆ”

ฟิซเซอร์ ยูรี และ แพตตัน นักวิชาการผู้ศึกษาด้านความขัดแย้งมองว่า เมื่อเกิดความแตกต่างอย่างชัดเจนขึ้นระหว่างคนสองคนกลุ่มหรือสองประเทศ นิสัยภายในตัวของมนุษย์ ก็จะเกิดความรู้สึกอยากทำลายล้าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การปะทะกันระหว่างแฟนบอลโบคา และ ริเวอร์เพลท จึงดำเนินเรื่อยมาเป็นหลายสิบปี

ไม่ต่างอะไรกับความขัดแย้งของสโมสรร่วมเมืองทั่วโลก ที่มักจะเกิดขึ้นจากความแตกต่างในด้านในด้านหนึ่งของทั้งสองทีม ไม่ว่าจะเป็น ชนชั้นทางสังคม เชื้อชาติ ศาสนา หรือประวัติศาสตร์

 7

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ “เอล กลาซิโก” ระหว่าง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลนา ที่เป็นความขัดแย้งทั้งด้านอุดมการณ์ทางการเมือง และประวัติศาสตร์ ราชันชุดขาวถูกมองว่าเป็นตัวแทนของส่วนกลางหรือรัฐบาล ส่วน บาร์เซโลนา คือตัวแทนของแคว้นคาตาลัน ที่ไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน  

หรือสองทีมในลีกอินเดียอย่างโมฮัน บากัน และ อีสต์ เบงกอล ที่มีที่ตั้งของสโมสรห่างกันไม่ถึง 10 กิโลเมตร แต่กลับมีความแตกต่างอย่างสุดขั้วจากเชื้อชาติ และศาสนา โดย โมฮัน คือเป็นตัวแทนของชาวอินเดียดั้งเดิม และผู้นับถือศาสนาฮินดู ส่วน อีสต์ เบงกอล ถูกมองว่า เป็นทีมของผู้อพยพชาวบังคลาเทศ และผู้นับถือศาสนาอิสลาม

“ภาษาของเราเหมือนกัน แต่ภาษาถิ่นต่างกัน การกินอาหารก็ต่างกัน ไลฟ์สไตล์ก็ต่างกัน ทุกสิ่งต่างกันหมดเลย” แฟนบอลอีสต์ เบงกอลให้สัมภาษณ์กับ Exhale Sports

ความขัดแย้งในดาร์บี = สนุก?

ความแตกต่างในด้านต่างๆกลายเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้สองทีมคู่อริห้ำหั่นกันอย่างถึงพริกถึงขิง อย่างไรก็ดี มันถูกแล้วหรือที่จะให้สิ่งเหล่านี้ดำเนินต่อไป ทั้งที่บางทีอาจจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ดูมากเกินไปจากสื่อ

 8

“ริเวอร์เพลทเป็นที่รู้จักในฐานะ Los Millonarios ส่วน โบคา เป็นตัวแทนของฝั่งคนจน ริเวอร์ ก็เป็นพวกคนร่ำรวยในสังคม แต่สิ่งที่เสนอออกไปทางสื่อมันเกินจริงไปหน่อย (ในเรื่องชนชั้นที่ต่างกัน) เพื่อที่กระตุ้นสเน่ห์ของความเกลียดชังระหว่างสองทีม และทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับบางสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริง จริงๆ มันเป็นแค่ฟุตบอลเกมหนึ่ง” ซินญอรินี กล่าว

นับตั้งแต่ปี 1922 มีคนที่ต้องสังเวยชีวิตไปกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลในอาร์เจนตินาถึง 322 ราย และจากรายงานของ  Salvemos al Futbol องค์กรอิสระที่มีเป้าหมายขจัดความรุนแรงในโลกลูกหนัง ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2000-2009 มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 5 ราย และเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหลังจากนั้น

แม้ว่าตั้งแต่ปี 2013 สมาคมฟุตบอลอาร์เจนตินา จะออกกฎห้ามแฟนบอลทีมเยือนเดินทางเข้าชมเกมในสนาม หลังเหตุการณ์แฟนบอล ลานุส เสียชีวิตในการปะทะกับตำรวจ แต่หลังจากนั้นก็ยังมีผู้คนต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นประจำทุกปี โดยศพล่าสุดเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มาร์ธิอัส ดิอาร์เตวัย 28 ปี ต้องเสียชีวิตหลังการผ่าตัดหลายครั้ง จากการปะทะกับแฟนบอลหัวรุนแรงของโบคา

แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคือเหตุการณ์เมื่อปี 2017 ในเกมระหว่าง เบลกราโน และ เทลเลอเรส ที่ขนาดเปิดให้เฉพาะแฟนบอลของ เบลกราโน เข้าชมเกม แต่ เอมมานูเอล บัลบัว หนึ่งในแฟนของเบลกราโน ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นแฟนบอลของ ทอลเลอเรส ปลอมตัวมา ก่อนที่เขาจะถูกโยนลงมาจากอัฒจันทร์ที่สูงถึง 5 เมตร เขาอยู่ในอาการโคม่าตอนถูกหามส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

“ผมอยากจะพูดให้ชัดเจนว่าลูกชายของผมไม่ใช่แฟนทอลเลอร์เรส เขาไม่มีลายสักของสโมสรใดเลย เขาไม่ได้แย่งที่นั่งบนอัฒจันทร์” ราอูล บัลบัว พ่อของเอมมานูเอลให้สัมภาษณ์กับ TV channel Cadena 3

 9

ความขัดแย้งที่ผ่านมาทั้งหมด ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากความไม่เข้าใจกัน และมองว่าอีกฝ่าย “ต่าง” จากตัวเองไม่ว่าจะแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง มูลเหตุทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นมาจากการแข่งขันและชิงดีชิงเด่น รวมไปถึงความรู้สึกที่ต้องการจะ “เหนือ” กว่า

สิ่งเหล่านี้เป็นผลให้เกิดการปลูกฝังในเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามแบบรุ่นต่อรุ่น ผ่านวาทกรรมเรื่องเล่า และ เฮทสปีช (hate speech) ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานเป็นสิบๆปี และเมื่อเวลาผ่านไป ความเกลียดชังก็ลุกลามมากขึ้น ก่อให้เกิดความรุนแรงจนถึงขั้นมีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย

การยอมรับในความต่างของแต่ละฝ่ายอาจจะเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะแรกเริ่มเดิมทีสโมสรฟุตบอล ถูกสร้างขึ้นมาเป็นสถานที่แข่งขันกีฬา ไม่ได้เพื่อรบราฆ่าฟัน และเกมฟุตบอลก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีแฟนเจ้าบ้านในสนามเท่านั้น

ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับและเข้าใจในความต่างกันได้ เหตุการณ์ก็คงไม่บานปลายอย่างที่แล้วมา และอัฒจันทร์ที่ไร้แฟนบอลทีมเยือน คงจะเป็นสิ่งท้ายๆที่เราอยากเห็น

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ ถอดรหัสความขัดแย้งของโลกลูกหนังผ่าน "โบคา-ริเวอร์เพลท"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook