ไม่แชมป์ก็เหมือนแชมป์ : ทำไม Cloud9 ถึงได้เป็นทีมยอดเยี่ยม The Game Awards 2018?

ไม่แชมป์ก็เหมือนแชมป์ : ทำไม Cloud9 ถึงได้เป็นทีมยอดเยี่ยม The Game Awards 2018?

ไม่แชมป์ก็เหมือนแชมป์ : ทำไม Cloud9 ถึงได้เป็นทีมยอดเยี่ยม The Game Awards 2018?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงวงการอีสปอร์ตส์ เกมอย่าง League of Legends หรือ LoL ถือเป็นอีกหนึ่งเกมที่ได้รับการจับตามองอยู่เสมอ เพราะนี่คือหนึ่่งในเกมที่มีรางวัลสูง และมีการแข่งขันที่สุดเข้มข้นทั้งในแง่เนื้อหาและคุณภาพของแต่ละทีมที่ลงแข่ง

อย่างไรก็ตาม วงการต่างรู้กันว่า LoL เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของทีมจากประเทศเกาหลีใต้ และ จีน เมื่อผู้เล่นจากแดนโสมขาว และแดนมังกรผูกพันกับเกมนี้มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะฝั่งเกาหลีใต้ ที่พวกเขาให้กำเนิด "พระเจ้า" แห่ง LoL อย่าง Lee "Faker" Sang-hyeok สุดยอดมิดเลนในวัย 21 ปีที่เก่งที่สุดในโลกมาแล้ว

 

ความยอดเยี่ยมของเกาหลีใต้ทำให้ทีมตัวแทนจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ต้องเงียบเหงาเสมอมา จนกระทั่งทีม Cloud9 ลงทุนและเปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง และคว้ารางวัล “ทีมยอดเยี่ยม” ในรายการ The Game Awards ซึ่งหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือรายการที่เป็นเหมือนรางวัล “ออสการ์” ของโลกแห่งเกมนั่นเอง     

การคว้ารางวัลครั้งนี้เป็นเรื่องที่แปลกออกไป บ่อยครั้งรางวัลใหญ่อย่าง "ทีมยอดเยี่ยม" มักจะถูกยกให้กับทีมแชมป์เสมอ อย่างไรก็ตามกลายเป็นว่า Invictus Gaming เจ้าของแชมป์โลกปี 2018 จาก จีน หรือแม้แต่ทีมดังจากเกมอื่นๆ อย่าง London Spitfire แชมป์ Overwatch League Season 1 และ OG ทีมเทพ Dota 2 ที่ฝ่าฟันดราม่าภายในทีมจนสามารถคว้าแชมป์ The International ทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ตส์ที่ชิงเงินรางวัลสูงสุดในโลก กลับกลายเป็นทีมที่ต้องดูการเฉลิมฉลองส่งท้ายของทีมที่ตกรอบรองชนะเลิศอย่าง Cloud9 ... เหตุใดจึงมีเซอร์ไพรส์ ทำไมทีมแชมป์จึงไม่ได้รางวัลทีมยอดเยี่ยม?

อันเดอร์ด็อก

เอาล่ะ อย่างแรกเลย Cloud9 (ต่อจากนี้จะขอเรียกว่า C9 เพื่อความกระชับ) คือทีมอีสปอร์ตส์อาชีพ ทีมที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 ทีมนี้ส่งทีมลงแข่งขันชิงแชมป์โลก ไม่ใช่แค่ LoL เท่านั้น เกมอื่นๆ อย่าง Rocket League, Counter-Strike: Global Offensive, Hearthstone, Super Smash Bros., Melee, Fortnite, Overwatch, H1Z1, Clash Royale, Rainbow Six: Siege, Rules of Survival ต่างก็เป็นเกมที่พวกเขาประสบความสำเร็จมาแล้วทั้งสิ้น

 1

แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น สำหรีบ LoL ทีมจาก เอเชีย คือสุดยอดของสุดยอด ดังนั้นการที่ C9 เลือกที่จะส่งทีมลงแข่ง LoL ก็เหมือนกับการเอาไม้ซีกมางัดไม้ซุง ว่าง่ายๆ พวกเขาคือทีมระดับที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า "อันเดอร์ด็อก" นั่นคือสถานะที่แทบไม่มีโอกาสเป็นแชมป์เลยแม้แต่เปอร์เซ็นเดียว

ทว่าที่สุดแล้ว โลกนั้นชื่นชอบพวกสุนัขจนตรอกที่สู้อย่างถูกวิธี และรีดศักยภาพของทีมออกมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย การเห็นทีมรองบ่อนแบบนี้ไล่ซัดจนทีมเต็งลิ้นห้อยคือสเน่ห์ของกีฬาทุกชนะ และ อีสปอร์ตส์ ก็เช่นกัน

อันที่จริงเส้นทางของ C9 ในศึก LoL ชิงแชมป์โลกปีนี้ถือว่าเหนื่อยไม่น้อย เมื่อพวกเขาต้องไปเริ่มต้นที่รอบ Play-in หรือพูดง่ายๆ ก็คือ รอบคัดเลือก แต่ก็ซัดคู่แข่งแหลกไม่เป็นท่า รอบแรกเอาชนะ DetonatioN FocusMe และ KaBuM! e-Sports ด้วยการไม่เสียเกมเลยแม้แต่เกมเดียว (2-0 ทั้ง 2 เกม) ก่อนสู้กับ Gambit Esports ในรอบสองแบบสุดดุเดือดชนิดผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ C9 ก็ชนะไป 3-2 เกม เข้ารอบแบ่งกลุ่มได้สำเร็จ

ทว่าไฮไลต์ของจริงเริ่มต้นตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม เพราะแม้ C9 จะถูกจับไปอยู่กลุ่มเดียวกับทีมสุดหินอย่าง Team Vitality และ Gen.G eSports แต่ก็ตบคว่ำทั้งสองทีม เข้ารอบสองไปแบบสบายๆ แม้แอบน่าเสียดายตรงการเข้าป้ายเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม กับการแพ้ Royal Never Give Up อันดับ 3 ร่วมของปีก่อนในเกมไทเบรก หลังจบรอบด้วยสถิติ ชนะ 4 แพ้ 2 กันทั้งคู่

เข้าสู่รอบน็อกเอาต์ C9 ยังแรงไม่เลิก สอย Afreeca Freecs ที่มจากเกาหลีใต้ด้วยสกอร์ 3-0 ตอกย้ำคำยืนยันว่า รอบก่อนๆที่ผ่านมาสำหรับพวกเขาไม่ใช่เรื่องบังเอิญ จนกระทั่งมาถึงรอบรองชนะเลิศที่เป็นไฮไลตฺ์ของงาน เพราะพวกเขาต้องเข้าไปเจอกับ Fnatic ยอดทีมของยุโรปที่คว้าแชมป์รายการต่างๆ ของ LoL มากมายจนนับนิ้วแทบไม่หวาดไม่ไหว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แชมป์โลก LoL ครั้งแรกในปี 2011 และยังสามารถรักษาฟอร์มเก่งได้อย่างสม่ำเสมอ

การเจอกันของทั้ง 2 ทีม คือสิ่งที่ใครก็อยากดู จากมุมมองของคนที่เป็นกลางไม่ได้เชียร์ฝ่ายในฝ่ายหนึ่งมาก่อนแน่นอนว่าการได้เห็นม้ามืดอย่าง C9 เจอกับหนึ่งในจุตรเทพอย่าง Fnatic พวกเขาย่อมเผลอใจเชียร์มวยรองอยู่แล้ว

แม้ที่สุดแล้ว C9 จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่การที่ทีมรองบ่อนเดินทางมาไกลขนาดนี้คงต้องยอมรับว่าการ "ได้ใจ" กองเชียร์ คือสิ่งที่ยืนยันว่าพวกเขาคือทีมขวัญใจมหาชนโดยแท้จริง แต่เหนือสิ่งอื่นเรื่องของการทำงานหนักจนเกิดพัฒนาการที่พุ่งขึ้นสูงภายในเวลาอันสั้นคืออีกหนึ่งสิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย

การทดลองของกุนซือ

อีสปอร์ตส์ ไม่ต่างจากกีฬาชนิดอื่น ทีมจะประสบความสำเร็จได้ย่อมต้องการกุนซือผู้วางแท็คติกให้ได้อย่างแยบคายที่สุด และนี่คือสิ่งที่ C9 มี

 2

พวกเขาเปลี่ยนโค้ชมาใช้ Bok "Reapered" Han-gyu อดีตผู้เล่นชาวเกาหลีใต้ ที่เข้ามาวางระบบของทีมใหม่ ก่อนที่ "Reapered" จะจัดการทำในสิ่งที่ชวนแปลกใจจนเหล่านายทุนต้องกุมขมับ

"Reapered" ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการด้วยเปลี่ยนผู้เล่นตัวหลักของทีมออกรวดเดียวถึง 5 คน ก่อนจะเลือกส่งผู้เล่นจากทีม อคาเดมี่ ลงแข่งขันใน LCS สเตจ ทั้งหมด ประกอบด้วย

Eric “Licorice” Ritchie ในตำแหน่ง Top lane

Robert “Blaber” Huang ในตำแหน่ง Jungle

Nicolaj “Jensen” Jensen ในตำแหน่ง Midlane

Zachary “Sneaky” Scuderi ในตำแหน่ง  AD Carry

Tristan “Zeyzal” Stidam ในตำแหน่ง  Support

ช่วงแรกๆ คือช่วงเวลาที่สุดโกลาหล การเปลี่ยนทีมยกชุด ถอดสตาร์ออกทำให้ C9 แพ้เป็นว่าเล่น พวกเขาตกไปอยู่อันดับสุดท้าย นักข่าวพยายามถาม "Reapered" ว่าเหตุผลที่เขาทำแบบนี้เพราะอะไรกันแน่? แต่เขาก็ไม่ตอบอะไร การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแบบหักดิบครั้งนี้เหมือนกับว่าเขากำลังเป็นนักวิทยาศาสตร์บ้าๆ คนหนึ่งที่กำลังทำการทดลองเพื่อหาผลลัพธ์ที่ไม่มีใครคาดถึง

การปรับจูนเริ่มขยับขยาย ตบซ้าย-ตีขวา จนเริ่มเข้าที่ แรกๆ ผู้เล่นในทีมต่างงงกับแผนของ "Reapered" ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทีม แต่หลังจากผ่านไปหลายเดือน "Reapered" ได้ทีมที่ใช่สำหรับเขาและตัววางในตำแหน่งต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ 2 ผู้เล่นอย่าง Eric “Licorice” Ritchie ในตำแหน่งท็อปเลนเนอร์ และ Tristan “Zeyzal” Stidham ในตำแหน่งซัพพอร์ท คือกุญแจสำคัญที่ทำให้แผนของ "Reapered" แสดงผลออกมา

“Licorice” ไม่ใช่ผู้เล่นระดับสตาร์ในตำแหน่งของเขา แต่ก็เป็นผู้เล่นที่มีความสม่ำเสมอ เขารับมือกับคู่แข่งเก่งๆ ได้อย่างเหนียวแน่น และเล่นเกมสวนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ “Zeyzal” เองเมื่อถูกจับมาเล่นตัวซัพพอร์ทก็ทำหน้าที่ได้อย่างขันแข็ง อีกทั้งยังสามารถชี้ขาดเกมด้วยการ Kill คู่แข่งได้อีกด้วย ผลงานโดดเด่นของเขาที่สร้างชื่อคือการเปิด First Blood ใส่ผู้เล่นทีม Royal Never Give Up ในศึกชิงแชมป์โลก จนทีมสามารถคว้าชัยได้ในรอบแบ่งกลุ่ม (แม้ทีสุดแล้วจะไปแพ้ในเกมไทเบรกก็ตาม)

การรีดศักยภาพออกจากผู้เล่นที่โนเนม แผนลับที่โลกไม่เข้าใจ และการอ่านเกมที่ขาดวิ่นของกุนซือ คือหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไม C9 จึงกลายเป็นทีมที่เปลี่ยนโฉมด้วยชื่อเสียงที่ดร็อปลง แต่ผลงานกลับดีขึ้นอย่างน่าชื่นชม  

 3

"ผมรู้ว่าลูกทีมของผมมีศักยภาพที่จะทำผลงานได้ดียิ่งกว่านี้ ผมพยายามจะนำหลากหลายสิ่งมาเพิ่มเติมให้พวกเขาแกร่งขึ้น เช่นการเปลี่ยนรายชื่อผู้เล่นที่จะลงแข่ง ซึ่งผมคิดว่านี่คือเรื่องที่เยี่ยมเลย" "Reapered" ว่าถึงการเปลี่ยนแท็คติกของเขาในภายหลัง

"ผมเองเดาว่าในช่วงแรกของการพยายามมันอาจจะไม่ค่อยดีนัก ผมต้องจับผู้เล่นนั่งเป็นตัวสำรอง ผมมักจะมองกลับไปในสิ่งที่ผมทำเสมอ"

และเหนือสิ่งอื่นใด Bok "Reapered" Han-gyu คือผู้คว้ารางวัลโค้ชยอดเยี่ยมแห่งปี 2018 ของ The Game Awards อีกด้วย 

คนเก๋าก็เข้าท่า

การดันดาวรุ่งขึ้นแบบยกชุดโดยไม่มีตัวเก๋าคอยประคองคือสิ่งที่ไม่ค่อยฉลาดหนักไม่ว่ากีฬาชนิดใดๆ อีสปอร์ตส์ ก็เช่นกัน ผู้เล่นหน้าใหม่ที่กำลังสร้างชื่ออาจจะมีสไตล์การเล่นที่ดุดันเฉียบขาด แต่เรื่องของประสบการณ์มันคือสิ่งที่สอนกันไม่ได้ บางครั้งการไร้คนเป็นเสาหลักก็อาจจะทำให้เหล่าผู้เล่นพรสวรรค์แบ่งหน้าที่กันไม่ถูก ตัดสินใจกันผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันระดับโลก พริบตาเดียวเปลี่ยนเกมได้ง่ายๆดังนั้น "Reapered" ผู้เป็นโค้ชจึงต้องเตรียมการณ์เอาไว้สำหรับเรื่องนี้

 4

อย่างไรก็ตามปัญหาของกลุ่มตัวเก๋าคือ พวกเขาไม่ค่อยเปิดรับอะไรใหม่ๆ อารมณ์ประมาณว่าไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก และนี่คือคุณสมบัติที่โค้ช "Reapered" จำเป็นจะต้องเปลี่ยน Nicolaj “Jensen” Jensen และ Zachary “Sneaky" Scuderi 2 ผู้เล่นซีเนียร์จากชุดเก่าให้เข้ากับระบบทีมที่เขาวางไว้ให้กับทีมชุดปัจจุบันได้

ในรายของ “Sneaky" นั้นอาจจะถูกพูดถึงช่วงเวลาดีๆ อยู่ แต่ว่าในระยะหลังเขาฟอร์มหลุดไปเยอะ นับตั้งแต่การเดบิวต์ครั้งแรกของเขาในปี 2013 “Sneaky" เสียเลนที่ตัวเองรับผิดชอบเป็นประจำ

 5

ขณะที่ “Jensen” นั้นมีชื่อเสียงจากการเล่น Zilean แต่สิ่งที่ถูกจดจำในอาชีพเกมเมอร์ของเขาคือการแข่งขันกับทีม TSM ใน Spring Final 2017 ที่เขาไม่สามารถตอบโต้คู่แข่งได้เลยแม้แต่น้อยจนทำให้ C9 ที่นำอยู่เกือบตลอดต้องกลับมาเป็นฝ่ายแพ้

อย่างไรก็ตามในปีนี้ "Reapered" ปรับให้ทั้งคู่ทิ้งตัวตนและชื่อเสียงเก่าๆ ไว้เบื้องหลัง “Jensen” สามารถเล่นในรูปแบบต่างๆได้มากขึ้น ซึ่งจุดนี้เองทำให้ Cloud 9 เป็นทีมที่มีความยืดหยุ่น แข็งแกร่งทั้งในรูปแบบการเล่นรุกและรับ นี่คืออีกหนึ่งเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้พวกเขาไปถึงรอบรองชนะเลิศแบบหักปากกาเซียน

“"Reapered" สมควรได้รับเครดิตมากๆ กับสิ่งทีเกิดขึ้น ทีมของเรามีการเปลี่ยนรายชื่อที่ดูแปลกมาก แต่ผมรู้ว่าเขาทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของทีม และทำให้เราเป็นทีมที่แกร่งขึ้นมากหลังจากที่เล่นได้ไม่ดีเลยในช่วงเพลย์ออฟ ตอนนี้เราก้าวไปข้างหน้าแล้ว และเป็นการพัฒนาในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย เป็นอะไรที่สุดยอด ตอนนี้ทุกคนในทีมมีแรงจูงใจถึงขีดสุดแล้วล่ะครับ” Jensen ว่าถึงโค้ชผู้เปลี่ยยแนวทางของเขาและทีม

รวมพลไม่สนโลก

ปกติแล้วทีมจากทวีปอเมริกาเหนือจะไม่มาถึงรอบลึกๆ ในการแข่งขัน เพราะจากประวัติศาสตร์รายการนี้ มีเพียง Team SoloMid หรือ TSM ที่เคยมาถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายในซีซั่น 1 เมื่อปี 2011 ทีมเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตามหนึ่งสิ่งที่ทำให้ TSM ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก สาเหตุใหญ่ๆ คือพวกเขาใจไม่นิ่งพอ หลายครั้งพวกเขาเอาเรื่องของคู่แข่ง การสัมภาษณ์ก่อน-หลังเกมมาอยู่ในหัวมากเกินไปจนกลายเป็นความกดดันและทำให้เล่นผิดพลาด

 6

ขณะที่ในปีนี้ Team Liquid ที่คว้าแชมป์โซนอเมริกาเหนือมาถึงสองสมัยติดต่อกัน ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ ต่างจาก C9 ที่โยนความกดดันเหล่านี้ทั้งไปทั้งหมด พวกเขาเคยแพ้ให้กับหลายทีมที่เข้ามาแข่งในศึกชิงแชมป์โลก แต่ "Reapered" ผู้เป็นโค้ชก็สร้างแรงจูงใจง่ายๆ ด้วยการเอาความพ่ายแพ้เหล่านั้นเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันสู่ชัยชนะ นอกจากนี้เขายังกำชับให้ลูกทีมลืมเรื่องชื่อเสียงของคู่ต่อสู้ และสกอร์บอร์ดระหว่างแข่งไปหมด และโฟกัสกับสิ่งที่เขาสั่งเท่านั้น นี่คือเหตุผลที่ C9 มักจะคัมแบ็คกลับมาชนะได้อยู่บ่อยครั้ง แม้จะเป็นแพ้ไปในเกมแรกก็ตาม

 7

ไม่เพียงเท่านั้น C9 มักจะมีคาแร็คเตอร์กวนๆ ในการสัมภาษณ์ ดูเหมือนกับว่าการมาแข่งในเวทีชิงแชมป์โลกคือเรื่องสนุกของพวกเขา อย่างในเกมที่เอาชนะ Afreeca Freecs ทีมดังจากเกาหลีใต้ 3-0 เกม สิ่งที่พวกเขาตอบกับสื่อคือ

"เราชนะ 3-0 เกมวันนี้ง่ายกว่าที่คิดเยอะเลย ผมนึกว่ามันจะยากกว่านี้" กุนซือหนุ่มกล่าว

ยังมีการสัมภาษณ์ทั้งก่อนและหลังเกมอีกหลายครั้งที่ผู้แล่นและโค้ชของ C9 ทำให้มันเป็นเรื่องที่ "อีพิค"  ผลงานที่ยอดเยี่ยมบวกกับลูกล่อลูกชนในวาทะศิลป์ยังมีออกมาต่อเนื่อง อย่างในหนล่าสุดที่สื่อถามทีม C9 ว่ามีอะไรจะฝากบอกถึง แจ็ค เอเตียง ผู้เป็นเจ้าของทีมหรือเปล่า? พวกเขาตอบว่า...

"ถึง แจ็ค เราเป็นทีมจากอเมริกาเหนือทีมแรกที่ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศนะ (ไม่รวม ซีซั่น 1) เด็กๆ ทุกคนทำผลงานได้ดีมากเลยแจ็ค เอาล่ะ นับเงินไว้ให้ดีแล้วกัน ได้เวลาที่คุณต้องจ่ายให้พวกเรามากขึ้นแล้ว "

 8

สีสันเหล่านี้คือสิ่งทีทุกการแข่งขันบนโลกต้องการ หากใส่กันตามเกมอย่างเดียวคงมีแต่ความจีดชืด และนี่คือเหตุผลที่คอเกมและกรรมการของ The Game Awards เทใจยกให้ Cloud9 คือทีมที่ครบเครื่องเรื่องต้มยำมากที่สุด และหากพวกเขายังรักษามาตรฐานและแก้ไขจุดอ่อนเล็กๆน้อยๆ ของปี 2018 นี้ได้ ไม่แน่ในปี 2019 พวกเขาอาจจะเป็นทีมจากอเมริกาเหนือที่หักปากกาเซียนคว้าแชมป์โลก LoL เป็นครั้งแรกก็ได้

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ไม่แชมป์ก็เหมือนแชมป์ : ทำไม Cloud9 ถึงได้เป็นทีมยอดเยี่ยม The Game Awards 2018?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook