แนน - ชิดชนก ชิดชอบ : ลูกสาวเนวินสุดติสท์ผู้แต่งแต้มสีสันให้เมืองบุรีรัมย์

แนน - ชิดชนก ชิดชอบ : ลูกสาวเนวินสุดติสท์ผู้แต่งแต้มสีสันให้เมืองบุรีรัมย์

แนน - ชิดชนก ชิดชอบ : ลูกสาวเนวินสุดติสท์ผู้แต่งแต้มสีสันให้เมืองบุรีรัมย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เราไม่ได้เรียนศิลปะ เพื่อวันหนึ่งต้องมาช่วยงานที่บ้าน ก็เคยทะเลาะกับพ่อแม่อยู่นานเหมือนกัน จนเขาพูดมาคำหนึ่งที่แรงๆว่า เรียนศิลปะจบไปจะวาดภาพข้างถนนเหรอ?”

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กำลังเข้าสู่ปีที่ 10 ในการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลที่เป็น “ลมหายใจ” ของผู้คนภายในจังหวัดตามสโลแกนที่เขียนไว้ในสนามเหย้าของพวกเขาว่าที่นี่คือ “Breath of Buriram”

จากทีมกีฬาที่เริ่มต้นจาก 0 ไม่มีแฟนบอล ไม่มีถ้วยแชมป์ประดับสโมสร ไม่มียอดจำหน่ายสินค้าที่ระลึก มาถึงปัจจุบันพวกเขามีทุกอย่างครบทุกด้านอย่างสมบูรณ์แบบ

 

จนสามารถขยายฐานแฟนคลับไปได้ไกลกว่าแค่ในจังหวัดตัวเอง ไปถึงผู้คนในจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่มากก็น้อย ต่างปันใจและสนับสนุนสินค้าของสโมสรแห่งนี้

ถ้าเปรียบทีมฟุตบอลเป็นดั่งลมหายใจของที่นี่ “แนน-ชิดชนก ชิดชอบ” ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าที่ระลึกสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็คงเหมือนกับ ศิลปินผู้แต่งแต้มสีสันให้ “ลมหายใจแห่งเมืองบุรีรัมย์” มีชีวิตชีวา และอยู่ได้อย่างมั่นคง

ตัวเลขรายรับของสโมสร หลายร้อยล้านบาทต่อปี เกิดขึ้นมาจาก แผนกสินค้าที่ระลึก ที่มีลูกสาวคนเดียวของ เนวิน ชิดชอบ นั่งแท่นเป็น ผู้บริหาร ที่ดูแลสินค้า การออกแบบ ตลอดจนการจัดจำหน่าย จนทำให้ผู้คนจำนวนมากต่างเฝ้ารอเวลา ยลโฉมเสื้อแข่งใหม่ สินค้าใหม่ๆ ของสโมสรฟุตบอลที่ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะเดินไปข้างหน้า…

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ในฐานะของผู้บริหารรุ่นใหม่คนหนึ่ง เด็กสาวคนนี้ ทำในสิ่งที่น่าเหลือเชื่อ ที่ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่เคยทำได้ ให้เกิดขึ้นกับวงการกีฬาอาชีพบ้านเราได้อย่างไร ผ่านสินค้าที่มีสไตล์ไม่เหมือนใครของสโมสรแห่งนี้?

เด็กสมาธิสั้น

“แนนเป็นเด็กสมาธิสั้น อยู่กับอะไรนานๆไม่ได้ นอกจากศิลปะ” ชิดชนก กล่าวเริ่มถึงวัยเด็กของตนเอง

 1

“จริงๆ แนนไม่ไช่คนที่รักสวยรักงามนะ เป็นเด็กห้าวๆมากกว่า เพราะพี่น้องอีก 3 คนเป็นผู้ชายทั้งหมด พ่อแม่ก็จะเลี้ยงแบบบุฟเฟต์ เขาค่อนข้างปล่อย เราต้องเอาตัวรอด และอยู่ให้ได้ แต่มีความชอบในเรื่องของศิลปะมาตั้งแต่เด็กแล้ว จำได้ว่าตอ ป.2 เคยแข่งปั้นดินน้ำมันได้ที่ 2 ของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย พอย้อนกลับไปดูตัวเองตอนเด็กๆ ก็มีความคิดเพี้ยนๆ ติสท์ๆ แบบนี้นานานแล้ว”

ทายาทคนที่ 2 ของ เนวิน ชิดชอบ นักการเมืองชื่อดัง ในเวลานั้น เล่าต่อถึงอีกเหตุผลที่ทำให้เธอเริ่มหลงใหลในศิลปะ เพราะว่าด้วยความที่เธอเป็นเด็กไฮเปอร์ และสมาธิสั้น ทำให้เธอเป็นเด็กที่ไม่สามารถอยู่เฉยๆ กับสิ่งรอบตัวได้นานๆ ยกเว้นเรื่องเดียวคือ ศิลปะ ที่เธอสามารถใช้เวลากับมันได้กว่าเรื่องอื่น

ชิดชนก บอกว่า สมองเธอประมวลทุกอย่างให้เห็นเป็นภาพก่อน แล้วจึงลงมือทำตามภาพที่เห็น ยกตัวอย่างเช่น สไตล์การแต่งตัว แม้อาจจะผิดแปลกจากพี่น้องคนอื่น แต่ก็ดูเหมือนว่าเธอไปได้สวยกับทักษะด้านศิลปะ โดยเฉพาะช่วงเธอที่ย้ายไปเรียนต่อไฮสคูลที่ต่างประเทศ ตั้งแต่อายุ 13  

“แนนสมาธิสั้นมาก ต้องไปหาหมอ และกินยาด้วย ไม่งั้นจะกลายเป็นเด็กที่ไฮเปอร์มากเกินไป แนนอยู่กับอะไรนานๆ ไม่ได้เลย ยกเว้นวิชาที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และงานศิลปะ”

“แนนเรียนต่อไฮสคูลต่อ ที่อังกฤษ ตอนอายุ 16 นอกเหนือจากวิชาหลักพวก วิทย์, คณิตฯ, ภาษาอังกฤษ ที่ต้องเรียนอยู่แล้ว เราสามารถเรียนวิชาเลือกเองได้อีกด้วย เช่น วิชาธุรกิจ, เศรษฐศาสตร์ และ Art Design (ศิลปะการออกแบบ) แนนก็เลือกเรียนวิชา Art Design ตั้งแต่ตอนนั้น”

 2

การเรียนช่วงมัธยมฯ ที่ต่างประเทศ ทำให้เธอไม่ต้องเป็นที่สนใจของเพื่อนร่วมชั้นว่า เธอมีนามสกุลอะไร พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นใคร? แถมยังได้ลงเรียนในวิชาที่ตัวเองชื่นชอบอย่าง การออกแบบศิลปะ จนเธอมีความสนใจอยากเรียนต่อด้านศิลปะ หลังเรียนจบไฮสคูล

แต่ในเวลานั้น ความต้องการของ แนน ชิดชนก กับพ่อ-แม่ ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ทางบ้านอยากให้เธอเรียนแพทย์ เนื่องจาก ชิดชนก มีผลการเรียนที่น่าพอใจ แถมยังเป็นอาชีพที่ดูมีอนาคตกว่า ส่วนตัวเธออยากเรียนศิลปะ ที่ยังไม่สามารถตอบคำถามพ่อแม่ได้ว่า หลังเรียนจบจะเอาความรู้ด้านศิลปะไปใช้กับอะไร?

“ช่วงนั้นทะเลาะกับพ่อแม่อยู่นานพอสมควร เพราะเขายืนยันว่าอยากให้แนนเรียนหมอ แต่แนนเป็นคนกลัวเลือด กังวลกลัวตัวเองเรียนไม่ได้แน่ๆ แค่วิชา Biology (ชีววิทยา) อาจารย์เปิดวิดีโอเกี่ยวกับ เม็ดเลือดแดง นั่งดูอยู่ดีๆ แนนก็หน้ามืดเป็นลมไปเลย คุณครูตกใจมาก แนนรู้ว่าตัวเองเรียนหมอแบบที่แม่ คาดหวังไว้ไม่ได้แน่”

“แนนเข้าใจพ่อแม่นะว่าทำไมเขาอยากให้แนนเรียนหมอ ถ้าย้อนกลับไปสัก 10 ปีก่อน Art Design ในบ้านเรา ยังไม่ได้บูมมากหรือเปล่า? ดูเป็นสาขาที่ไม่ค่อยมั่นคง พ่อแม่เขาก็คงนึกไม่ออกว่าถ้าส่งลูกไปเรียน จบมาจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง เขาใช้คำพูดหนึ่ง ที่แนนรู้สึกว่าแรงว่า “จะเรียนศิลปะทำไม จบไปวาดภาพข้างถนนเหรอ?” เราก็รู้สึกมันไม่ใช่แบบนั้นนะ ใช้เวลาคุยกันนานพอสมควร”

“สุดท้ายพ่อแม่ กับแนน ก็มาเจอกันตรงกลางที่ว่า เขาให้แนนเรียน Interior Design (การออกแบบภายใน) ที่มีศิลป์ แต่มีวิทย์เข้ามานิดหนึ่ง ถามว่ามันตรงไหม ก็ไม่นะ แนนไม่ได้เรียนด้านแฟชั่น ไม่ได้เกี่ยวกับผ้า ไปเรียนกับการออกแบบพื้นที่  แต่แนนคิดว่า ถ้าเราเป็นดีไซเนอร์ที่มีความเป็นศิลปิน น่าจะดีกว่า ศิลปินที่มีความเป็นนักออกแบบ”

 3

“สิ่งต่างๆที่เราได้เรียนรู้มา มันเป็นสกิลติดตัวเราถึงทุกวันนี้ แนนคิดว่าการออกแบบ สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอย่าง ถ้าเราเข้าใจวิธีคิดของมัน อีกอย่างพ่อแม่คงรู้ว่า แนน เป็นคนติสท์ๆ ก็ยังมีพี่น้องอีกตั้ง 3 คน ให้พวกนั้นแหละไปเรียนอะไรที่ฉลาดๆ”

“พอมาถึงวันนี้ พ่อก็ชอบพูดว่า “คิดถูกแล้วนะที่ส่งมันเรียนทางนี้” เพราะเวลาออกสื่อ พ่อเขาชอบพูดว่า “Creativity is unlimited” (ทำเสียงเลียนแบบ) วิชาศิลปะที่เราเรียนมันสามารถใช้ได้จริง นั่นแหละเพราะเราเป็นสายอัลเทอร์เนทีฟในบ้านมาตลอด (หัวเราะ)

เสื้อฟุตบอลตัวแรก

“ช่วงเรียนมหา’ลัยที่ Chelsea College of Arts แนนเหมือนเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ไม่ได้วางแผนหรือคิดไปไกลขนาดที่ว่า ต้องเรียนจบมาช่วยงานที่บ้านนะ แนนคิดแค่ว่า แนนอยากเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ถ้าสิ่งที่กำลังเรียน ไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ ก็ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม เพราะจบมา เราคงไม่ชอบมัน และไม่ไปทำแนวนั้นอยู่ดี”

 4

“ทุกปีพอถึงช่วงปิดเทอมฤดูใบไม้ผลิ เดือนเมษายน จะตรงกับช่วงที่สโมสรเตรียมออกแบบเสื้อสำหรับฤดูกาลใหม่ พ่อจะชอบให้แนนไปนั่งฟังด้วย และถามความคิดเห็นเรื่องการออกแบบ เราค่อยๆมีส่วนร่วมกับทีมขึ้นมาทีละนิด ทีละหน่อย เพิ่มมาเรื่อยๆ”

สำหรับเด็กหญิงวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีความสนใจด้านฟุตบอลมาก่อน การต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมออกแบบชุดแข่งประจำฤดูกาล 2013 นับเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ชิดชนก ชิดชอบ ไม่น้อย

แต่ไอเดียที่เธอปิ๊งขึ้นมา ได้ทำให้ชุดแข่งตัวนั้นมีความแปลกใหม่ ด้วยดีไซน์ และรายละเอียดตรงแขนเสื้อที่ไม่เหมือนใคร

“เสื้อตัวแรกที่แนน มีส่วนร่วมเป็นเสื้อปี 2013 ฤดูกาลเราได้สิทธิ์ไปแข่ง เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ครั้งแรก เรามีความคิดว่าอยากนำเอาธงชาติไปปักบนเสื้อ เพื่อนำเสนอความเป็นไทยในระดับเอเชีย”

“จากการที่ แนนสังเกตเห็นแฟนบอลสโมสรเรา เวลาเขามาเชียร์บอลจะชอบพับแขนเสื้อขึ้นมา ถ้าเราสมมุติเราใส่ลายธงชาติไทยไว้บนแขนเสื้อ ให้เขารู้สึกว่าเวลาพับแล้วมีอะไร ก็น่าจะแปลกใหม่ดี”

ชุดแข่งขันตัวแรกที่ ชิดชนก เข้ามามีส่วนร่วม ในฤดูกาล 2013 ได้รับกระแสตอบรับจากแฟนบอลเป็นอย่างดี นำมาซึ่งโปรเจกต์แนวทดลองต่อมาที่ชื่อว่า Ballin ที่ต้องการนำเสนอ สินค้าทางเลือก ของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นอกเหนือจากชุดแข่งขันฟุตบอล

ชิดชนก เริ่มฉายแววความเป็นนักออกแบบฝีมือดีตั้งแต่ยังเรียนอยู่ จนเมื่อศึกษาจบระดับปริญญาตรี คราวนี้กลายเป็นว่า เธอต้องใช้ความรู้ที่มีมาทำงานช่วยกิจการสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เติบโตขึ้นมากในทุกๆปี

 5

“Ballin เป็นโปรเจกต์ที่ทำตั้งแต่ แนน ยังเรียนอยู่ ก็พัฒนามาเรื่อยๆ แต่คอนเซปท์ของมันยังใช้ถึงทุกวันนี้ ที่ Ballin มาจากคำว่า Buriram be ballin เป็นคำแสลงเบาๆ ที่แปลว่า เจ๋ง เก๋า เพราะมีช่วงหนึ่งที่เราโดนแซวว่าเป็น กองเชียร์บ้านนอก ทีมบ้านนอก แต่แนนคิดว่า เราก็มีความเจ๋ง ความเก๋าในแบบองเรานะ เลยคิดคำนี้ขึ้นมา”

“บวกกับอยากทดลองทำสินค้าทางเลือก ที่ไม่ทับกับสินค้าหลักมากเกินไป อีกอย่างถ้าดูโลโกของ Ballin ตัว B จะมีความคล้ายกับเลข 3 เชื่อมโยงกับคำพูดของพ่อที่ชอบพูดว่า สามแต้ม”

“ช่วงปิดเทอมใหญ่หลังจากเรียนจบ พ่อก็อยากให้ช่วยทำงานกับเขาก่อนสักระยะ แนนก็วางแผนไว้ว่า เดี๋ยวช่วยพ่อเสร็จ ก็กลับไปเรียนต่อปริญญาโท แต่ผ่านไปได้ 2 เดือน พ่อมาบอกว่า ไม่ต้องกลับไปอังกฤษแล้ว ไหนๆทำตรงนี้ ก็ทำต่อไป เพราะไม่มีใครช่วยทำ”

“เราตกใจมาก เพื่อนๆทุกคนช็อกกันหมด ของใช้ เสื้อผ้าทุกอย่าง ยังอยู่ที่อังกฤษเลย ฉันยังไม่ได้ร่ำลาเพื่อนๆสักคน สุดท้ายต้องโทรบอกเพื่อนที่อังกฤษ ให้ช่วยติดต่อ บริษัทขนย้ายบ้าน ให้แพ็คของส่งกลับมาที่ไทยที”

“ผู้อำนวยการเจเนอรัลเบ๊”

“ผู้อำนวยการเจเนอรัลเบ๊” เป็นป้ายประจำตำแหน่งที่ ชิดชนก ชิดชอบ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าที่ระลึก สโมสรบุรีรัมย ยูไนเต็ด แปะไว้เพื่อเป็นโจ๊กภายในออฟฟิศ เพราะในช่วงที่เธอเริ่มต้นทำงาน แผนกดังกล่าวมีพนักงานแค่ 1 คน และสินค้าที่ระลึกมีเพียงแค่ เสื้อฟุตบอล เท่านั้น

 6

ทำให้ผู้บริหารวัยยี่สิบต้นๆ ต้องเริ่มจากลงมือทำหลายๆอย่างด้วยตัวเอง ตามขนาดของทีมงาน… แม้เธอจะได้งานทำเลย โดยที่ไม่ต้องไปสมัครที่ไหน แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับเด็กเรียนจบใหม่ๆ ที่ต้องเริ่มต้นในตำแหน่งที่สูงอย่าง ผู้อำนวยการฝ่ายฯ

“ยากมากๆ เพราะแนนเป็นเด็กอาร์ท ไม่ค่อยรู้เรื่องธุรกิจเท่าไหร่ แนนเริ่มต้นจาการเอาข้อมูลทั้งหมดมาดูว่ามีอะไรที่เราต้องทำบ้าง พร้อมกับการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ เพราะเมื่อก่อนเราไม่ได้มีแผนว่า วันหนึ่งจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็สามารถทำขาย แบบบ้านๆได้ ซึ่งมันก็เวิร์กในระดับหนึ่ง แต่พอเราเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ เขาจึงต้องเรียกเรากลับมาช่วยงานให้เร็วขึ้น”

“แนนเริ่มลงมือทำอย่างจริงจังเมื่อ 3 ปีที่แล้ว พยายามปรับตัว ค่อยๆบิวด์ทีมกันไป ได้เรียนรู้กับหลายๆอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน จนถึงตอนนี้ทีมงานในแผนกมีประมาณ 10 คน อาจไม่ต้องไปทำทุกอย่างแบบเมื่อก่อน แต่มันก็ดีตรงที่เราได้เริ่มต้นทำตั้งแต่แผนกยังมีขนาดเล็ก ได้เห็นทุกกระบวนการ ไม่ใช่แค่การออกแบบและผลิตออกมา แต่ยังต้องดูแลจนถึงการขายส่ง ขายปลีก”

“ก่อนแนนจะเข้ามาทำตรงนี้ สโมสรเรามีสินค้าแค่อย่างเดียว คือ เสื้อบอล ถึงแม้แนนจะไม่ใช่คนที่ชอบดูบอล เพิ่งจะมาเข้าใจกติกาล้ำหน้าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว แต่ว่าพ่อเป็นคนชอบดูบอล เวลาไปต่างประเทศ ก็จะชอบจัดทริปพาครอบครัวไปดูบอล แนนไปเห็นบรรยากาศสนาม ชอปสโมสรเมืองนอก เดินเข้าไปเราเห็นทีมเขามีทุกอย่างเต็มไปหมด ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันรถถัง”

“พอเราไปเห็นแบบนั้น ก็คิดว่า แบรนด์ของเราใหญ่ขึ้นอยู่ตลอด เราจะมีแค่เสื้อบอลอย่างเดียวไม่ได้ สินค้าควรต้องขยายตามไปด้วย ก็เริ่มทำมาเรื่อยๆ”

 7

นอกเหนืออีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทายของ แผนกสินค้าที่ระลึก คือ การออกแบบเสื้อแข่ง สินค้า ให้ได้ตามแนวทางของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ต้องการให้เสื้อแข่งของสโมสร สามารถใส่ได้ทุกวัน ทุกโอกาส รวมถึงเข้ากับคนทุกเพศทุกวัย

นั่นทำให้ ชิดชนก ให้ความสำคัญกับรายละเอียดในการผลิตสินค้าหลัก และสินค้ารองของสโมสร จนผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดี และอุดหนุนสินค้าจาก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กันอย่างเนืองแน่นตั้งแต่วันแรก จนเกิดปรากฏการณ์ที่แม้แต่ตัวเธอ ก็ยังไม่อยากเชื่อ

“คุณพ่อเขาจะมีโจทย์ทุกปีว่า เสื้อที่เราออกแบบต้องเป็นอะไรที่ใส่ง่าย ใส่ได้ทุกโอกาส จึงเป็นที่มาที่เราใช้คอปกมาตลอด เพราะดูเรียบร้อยกว่าคอกลม คนต่างจังหวัดซื้อแล้วสามารถใส่ได้ทุกงาน รวมถึงเราไปพูดคุยกับสปอนเซอร์ เพื่อต้องการดูดสีออกให้หมด เป็นที่มาของ สีของ โลโก้ทีม สีของผู้สนับสนุน เป็นแบบโมโนโทน ซึ่งต้องคุยกับผู้สนับสนุนหลายเจ้ามาก”

“ตอนแรกๆ พ่อชอบพูดกึ่งเล่นกึ่งจริงว่า เขาไม่หวังอะไรมาก แค่อยากให้ขายเสื้อได้ 300 ล้านบาท  ยอมรับว่าเครียดและหมกมุ่นกับตรงนั้นนาน จนมาคิดได้ว่า ถึงคิดกับเรื่องนี้มากไป ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราแค่ต้องพยายามลืมตรงนี้ออกไปแปปนึง พยายามโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองทำให้ได้มากสุด มากกว่าจะไปมองว่าเป้าหมายสูงอยู่ตรงไหน แนนใช้หลักการนี้ทำมาเรื่อยๆ”

“แนนไม่ได้ดูบอลไทยมากขนาดนั้น เพราะว่าเรียนอยู่ต่างประเทศหลายปี แต่ทีมที่เห็นและรู้สึกชอบสินค้าของเขาคือ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง โดยเฉพาะสินค้า Casual เขาจะมีการร่วมมือผูกกับแบรนด์ต่างๆ ตลอดเวลา อย่างล่าสุดก็ไปผูกกับ ไมเคิล จอร์แดน ทำให้แม้แต่คนที่ไม่ค่อยดูบอลอย่างแนน ยังรู้สึกว่าแบรนด์สโมสรนี้น่าสนใจ”

“หลักของการ Design จะมีสองอย่าง คือ สัดส่วน กับ สี ถ้าสัดส่วนมีความลงตัว สีโอเค ใส่อะไรก็ดูดี อย่างเรื่องสี แนนจะต้องลงมาจิ้มเองว่า ถ้าเป็นสีเหลือง สีชมพู ต้องเป็นเหลืองโทนไหน ชมพูโทนไหน ที่กลุ่มลูกค้าของเรา แฟนบอลเรา สามารถซื้อไปใส่แล้ว เขาจะรู้สึกดูดี”

“ตอนทำชุดสีเหลืองจิ้มนานมากกว่าจะได้เหลืองแบบที่เห็น มันเป็นความภูมิใจนะวันที่วางขาย มีคนผิวคล้ำเดินมาขอบคุณที่ทำสีเหลืองออกมาให้เขาใส่แล้วรู้สึกหน้าเขาใสขึ้น ไม่ดูดำ ความจริงสีเหลืองเป็นสีที่หลายทีมใช้นะ แต่ไม่ใช่เหลืองแบบที่เราใช้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเขาไม่ใส่ใจเรื่องสีนะ เราแค่อยากทำออกมาให้ดีที่สุด และทำให้คนใส่รู้สึกว่าได้ว่า เราใจใส่กับเรื่องนี้”

 8

40,196 ตัว คือจำนวนเสื้อชุดเหย้าประจำฤดูกาล 2019 ที่สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำหน่ายออกไปได้ในวันแรกของการเปิดขาย

นับเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึง สินค้าที่ผ่านการออกแบบจากเธอ ได้รับความนิยมและกระแสตอบรับดีอย่างมาก ซึ่ง ชิดชนก มองว่ามีหลากหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้ยอดจำหน่ายเสื้อของบุรีรัมย์ฯ ขายดีตั้งแต่วันแรก หนึ่งในนั้นคือ คุณภาพของผ้าที่เธอใส่ใจมากเป็นพิเศษ

“แนนไม่เคยคิดมาก่อนว่าวันหนึ่งเสื้อที่เราออกแบบ จะเป็นที่สนใจและได้รับการตอบรับที่มากขนาดนั้น มัน Amazing Thailand มาก นึกถึงทีไรก็ขนลุกทุกที เพราะเราเคยเห็นแต่แบรนด์ระดับโลกอย่าง Supreme ที่มีคนมาเข้าคิวตั้งแต่เมื่อวาน จนวันหนึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับแบรนด์ที่ตัวเองมีส่วนร่วม มันตื้นตันใจกับการได้เห็นแฟนบอล มีแพชชั่นกับแบรนด์เรามากขนาดนี้ เพื่อให้ได้เสื้อสักตัวหนึ่ง”

“แนนมองว่าการที่สโมสรบุรีรัมย์ สามารถทำยอดขายเสื้อได้สูง มันไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวสินค้าอย่างเดียว แต่ยังมีหลายปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน เช่น ความสำเร็จของทีม, ผลงานทีม, แบรนด์ดิ้งของสโมสร ฯ อีกอย่างเสื้อของบุรีรัมย์ กลายเป็นของฝากประจำจังหวัดไปแล้ว”

“แต่ไม่ได้แปลว่าทีมอื่นๆ  ในไทย จะไม่มีศักยภาพทำได้ แนนเชื่อว่าทุกทีมทำได้ เพราะก่อนปีที่แนนจะมาทำ สโมสรเคยขายได้ต่อปีประมาณ 5-6 แสนตัว พอแบรนด์บุรีรัมย์ สตรองขึ้น ยอดขายเราก็เติบโตขึ้น ดังนั้นแนนเชื่อทุกทีมทำได้ ถ้าเขาใส่ใจในสินค้าที่ตัวเองทำ เพราะต่อให้แบรนด์แข็งแรงแค่ไหน แต่ถ้าคุณภาพของไม่ดี คนก็ไม่ซื้อ”

“อาจเป็นเพราะแนนใช้ของแบรนด์เนมมาก่อน รู้ว่าคุณภาพมันต่างกันจริงๆ แค่จับผ้าก็รู้แล้ว พวกแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์ มาทำโรงงานผลิตในไทย ดังนั้นสินค้าของเราจึงใช้โรงงานเดียวกับที่ผลิตให้แบรนด์ระดับโลก เพื่อให้เราได้ของที่มีคุณภาพจริงๆ”

สีสันของลมหายใจ

ในวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่า จังหวัดบุรีรัมย์ กลายเป็นเมืองแห่งกีฬาอย่างเต็มตัว พวกเขามีทั้งสนามแข่งรถที่ได้มาตรฐาน ผ่านการจัดรายการระดับโลกอย่าง MotoGP, ฟุตบอลสเตเดียม ที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงกำลังเดินหน้าสู่วงการอีสปอร์ตสเต็มตัว

 9

คำว่า “เลิศล้ำเมืองกีฬา” จึงถูกนำไปต่อท้ายคำขวัญประจำจังหวัดเดิมที่ว่า “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม” อันบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า กีฬา ได้มีความสำคัญต่อเมืองๆนี้ เปรียบได้ดั่ง ลมหายใจ

ท่ามกลางความเจริญ เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาสู่เมืองบุรีรัมย์ ชิดชนก ชิดชอบ กลับเลือกที่จะสนใจรากเหง้า และวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ค่อยๆถูกกลืนหายไป โดยเฉพาะคำว่า “ผ้าไหมสวย” ที่เคยเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดแห่งนี้

“แนนเป็นคนชอบเกี่ยวกับ ผ้ามานานแล้ว เวลาไปเที่ยวไหนทั้งในและต่างประเทศ จะไม่ค่อยเดินห้าง ชอบไปเดินตามตลอด ย่านที่มีของขาย เพื่อดูผ้าแต่ละพื้นที่ ที่มีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกัน และสามารถซื้อกลับมาได้ง่าย พอกลับมาดูผ้าไทย แนนว่างานหัตถกรรมไทย สวยมากนะ มันมีความเป็นเราอยู่ในนั้น แนนสนใจเรื่องผ้าของบุรีรัมย์มานานแล้ว เพียงแต่ยังหาช่วงเวลาที่เหมาะเจาะไม่ได้”

“โชคดีที่ในฤดูกาล 2019 สโมสรจะครบรอบ 10 ปี ด้วยไทม์มิ่ง และปัจจัยหลายอย่าง ทำให้แนนคิดว่านี่น่าจะเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่นำผ้าไทยเข้ามาทำตอนนี้ อย่างที่คุณพ่อพูดออกสื่อมาตลอดว่า ตั้งแต่มี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทีมของเราช่วยให้ท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น”

“แต่บุรีรัมย์ เป็นเมืองปลูกข้าวนะ คนที่ได้รับผลประโยชน์ตรงๆจากการที่เรามาทำทีมฟุตบอล คือพวกร้านอาหาร โรงแรม ถามว่าดีไหม ก็ดีนะ แต่คนบุรีรัมย์ส่วนใหญ่ในจังหวัด เขาไม่ได้รับผลประโยชน์ตรงๆ ขนาดนั้น แล้วคนเหล่านี้ คือกลุ่มคนที่สนับสนุนเราจริงๆ ทุกครัวเรือนอย่างน้อยต้องมีเสื้อบุรีรัมย์ 1 ตัว เขาสนับสนุนเรา แล้วเราสามารถทำอะไรให้เขาได้บ้าง”

“แนนก็มาดูที่วัฒนธรรมของคนบุรีรัมย์ ช่วงเช้าจะไปทำนา ตอนบ่ายกลับมาเลี้ยงหลาน ทอผ้าอยู่หน้าทีวี พอแนนเห็นว่ายังมีวิถีชีวิตแบบนี้อยู่ เลยอยากเข้าไปช่วยทำตรงนี้ให้เป็นรายได้เสริมของเขา”

 10

ผ้าไทย เป็นสินค้าที่ดูห่างไกลกับสนามฟุตบอลไทย มากพอสมควร และนับเป็นเรื่องใหม่ที่แปลกมากของวงการลูกหนังไทย

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นำเอาวัฒนธรรมผ้าทอท้องถิ่นมาปรับให้เข้ากับยุคสมัย และที่สำคัญเป็นงานทำมือ ที่ถูกทอด้วยชาวบ้าน ไม่ใช่เครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้รายได้กลับคืนสู่คนในชุมชน

จากผ้าพันคอที่คนไทยรับวัฒนธรรมจากเมืองนอก เข้ามาประกอบการเชียร์กีฬา ก็ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็น ผ้าขาวม้า ที่สามารถให้แฟนบอลนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น เกษตรกร ที่โพกผ้าขาวม้าอยู่แล้ว แม้จะต้องใช้แรงกาย และการพูดคุยสร้างความเข้าใจอยู่นาน เพื่อหากลุ่มหมู่บ้านทอผ้า ที่เปิดใจ และอยากมาร่วมมือกับ ชิดชนก ชิดชอบ   

“ใช้ความพยายามในการพูดคุยอยู่นาน กว่าที่คุณป้าๆ จะเข้าใจ เพราะเขาทอผ้ามานานกว่าที่ แนนมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้”

“อยู่ๆ จะไปบอกว่า ป้าคะ ลองเปลี่ยนมาทอแบบนี้ดูไหมคะ คงเป็นไปไม่ได้ ป้าแต่ละคน เขามีความชำนาญในด้านนี้อยู่แล้ว แนนใช้วิธีการขอร้อง ให้ทดลองหน่อย ค่อยๆปรับไป ด้วยความที่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ดูเป็นองค์กรมากๆ เวลาเข้าไปท้องถิ่นคุยเรื่องพวกนี้ พวกป้าๆ ก็จะไม่เข้าใจระบบหลังบ้าน วิธีการจัดส่ง สั่งซื้อ ต้องปรับความเข้าใจกันสักพักหนึ่ง จนได้หมู่บ้านที่เขายินดีจะทำร่วมกับเรา”

“เราจะทำแบบนั้นก็ได้นะ แต่แนนคิดว่ามันไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม และวัฒนธรรมนั้นเลย” เธอตอบคำถามของเราที่ว่า ทำไมถึงไม่จ้างโรงงานผลิตผ้าไทย? ที่ต้นทุนถูกกว่า ได้กำไรเข้าสโมสรเต็มๆ

“ทุกครั้งที่แนนเข้าไปในหมู่บ้าน คนรุ่นป้าๆ เขาจะดีใจมากที่เห็นคนเจเนอเรชั่นเรา ยังสนใจในสิ่งที่เขาทำ เพราะลูกหลานเขาไม่ได้สานต่อวัฒนธรรมนี้ ไปทำงานโรงงงาน ไปทำงานในกรุงเทพฯ ที่รายได้มากกว่า แนนว่าถ้าเราไม่อนุรักษ์ไว้ วิถีชีวิตแบบนี้จะหายไป”

“แนนไม่รู้ว่าตัวเองคิดถูกหรือไม่ จากที่คุยกับหลายๆคน เขามองการอนุรักษ์ เป็นเรื่องของการรักษาลวดลายดั้งเดิมเอาไป แต่แนนกลับว่ามันเป็นเรื่องของ การอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีชีวิต ไม่ได้เกี่ยวกับว่าสุดท้ายสินค้าจะออกมาอย่างไร คนอนุรักษ์ลวดลายเก่าๆ ดีไหม ดี เพราะนี่คือประวัติศาสตร์ แต่ลายแบบนั้น บนสินค้าแบบนั้น มันเคยใช้ได้ในยุคก่อน แต่ในยุคปัจจุบัน มันใช้ได้จริงไหม?”

“กางเกงลายหางกระรอก ลายนกยูงที่เขามัด คนสมัยนี้เขาไม่ได้ใส่แบบนั้นในชีวิตประจำวันแล้ว แนนแค่อยากให้วัฒนธรรมที่เขารักษามา ยังคงอยู่ และทักษะที่เขามีในการทอผ้า ได้รับผลประโยชน์กลับไปสูงสุด”

“แนนดีใจมากนะที่ทำให้ ผ้าไทยออกไปสู่วงกว้าง กระแสตอบรับโปรเจกต์นี้ดีมาก มีคนติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ แนนก็พยายามพัฒนาโปรเจกต์นี้ต่อไป เพราะว่าบุรีรัมย์ยังมีอีกหลายๆวิถีชีวิต เช่น หมู่บ้านตีมีด หมู่บ้านจัดสาน เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่แนนตื่นเต้นที่สุด ที่จะได้ลงไปดูว่า มีไอเทมอื่นๆอีกไหมที่เราสามารถช่วยได้ เราไม่อยากทำโปรเจกต์ผ้าแค่ครั้งเดียว แล้วจบไป”

 11

แม้จะเป็นภารกิจที่หนักหนาสำหรับ วัยรุ่นคนหนึ่ง ที่นอกเหนือจากการต้องดูแลแผนก ที่หารายได้เข้าสโมสรปีละ หลายร้อยล้านบาท เธอยังต้องเป็นอีกคนที่เข้ามาช่วยต่อลมหายใจให้กับ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ที่เคยถูกมองข้าม ให้มีคุณค่า และความสำคัญอีกครั้ง จากสีสันที่ถูกแต่งแต้ม ถักทอ ลงไปในสินค้าทุกชิ้น

“Breath of Buriram เป็นคำคาดอยู่บนสนามฟุตบอลเรามาหลายปีแล้ว แต่แนนเพิ่งมาตีความ และตอบโจทย์มันได้ก็ในปีนี้ จริงๆ คำนี้ให้ความรู้สึกที่ดีมากเลยนะ สั้นๆ เข้าใจได้ทันที ในสิ่งที่เราอยากทำ อยากเป็น เลยอยากนำเอาคำนี้มาใช้ในโปรเจกต์นี้ แทนที่จะใช้คำว่า ผ้าแห่งบุรีรัมย์”

“เพื่อสื่อสารออกไปว่า Breathe of Buriram ไม่ได้แปลว่า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นลมหายใจของคนบุรีรัมย์ แต่คนบุรีรัมย์ ต่างหากที่เป็นลมหายใจของเรา”

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ แนน - ชิดชนก ชิดชอบ : ลูกสาวเนวินสุดติสท์ผู้แต่งแต้มสีสันให้เมืองบุรีรัมย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook