การยืนหยัดของลูกหนังซีเรีย...ฤาสงครามก็ทำลายล้างไม่ได้?

การยืนหยัดของลูกหนังซีเรีย...ฤาสงครามก็ทำลายล้างไม่ได้?

การยืนหยัดของลูกหนังซีเรีย...ฤาสงครามก็ทำลายล้างไม่ได้?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาตัดสินใจสั่งถอนทหารออกจากซีเรียเมื่อเดือนธันวาคม 2018 แต่ดินแดนแห่งนี้ก็ยังเต็มไปด้วยไฟสงครามกลางเมืองที่คุกรุ่นเป็นเวลาเกือบ 8 ปี

นั่นคือระยะเวลาใกล้เคียงกับที่ทีมฟุตบอลทีมชาติซีเรียไม่อาจลงเล่นในบ้านของตัวเองได้จากเหตุดังกล่าว ถึงกระนั้น “อินทรีแห่งคาซิอุน” (The Qasioun Eagles) ก็ยังยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง กับการผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลเอเชี่ยนคัพ 2019 ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังเกือบสร้างประวัติศาสตร์ไปแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2018 ได้อีกด้วย

เหตุใดฟุตบอลของซีเรีย จึงยืนหยัดท่ามกลางไฟสงครามได้กัน?

ลูกหนังในอดีต
สหพันธ์ฟุตบอลซีเรีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1936 และเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ในปีถัดมา โดยก่อนที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี เมื่อปี 1970 พวกเขาซึ่งเป็นชาติแรกๆ ของเอเชียที่เข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกปี 1950 ต้องเทียวไปเทียวมากับการไปร่วมแข่งขันรอบคัดเลือกกับโซนยุโรปบ้าง แอฟริกาบ้าง ตามภูมิศาสตร์ของประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกับทั้งสองทวีป

ช่วงระยะเวลาดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าซีเรียดูจะโอเคกับการไปเตะกับชาติในทวีปแอฟริกามากกว่า เพราะพวกเขายอมลงเตะกับ ซูดาน ในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 1958 ส่วนเวลาที่ต้องไปเตะกับชาติจากยุโรปทีไร มักจะมีเรื่องเสมอ เช่นปี 1950 ซึ่งประกาศถอนทีมหลังโดนตุรกียำใหญ่ในนัดแรกที่พบกัน 7-0 และปี 1966 ที่ซีเรียยืนหยัดเคียงข้างชาติจากเอเชียและแอฟริกา ไม่ส่งทีมลงแข่งแม้พวกเขาถูกจัดอยู่ร่วมกลุ่มเดียวกับสเปนและไอร์แลนด์แล้วก็ตาม หลังจากที่ฟีฟ่ายังตัดสินใจให้ทวีปเอเชียและแอฟริกาต้องชิงโควต้าเข้ารอบสุดท้ายที่มีเพียงทีมเดียว

หลังจากที่ทัพอินทรีแห่งคาซิอุนเข้าเป็นสมาชิกเอเอฟซีแล้ว พวกเขาก็ลงแข่งทุกรายการที่จัดแข่งทั้งของฟีฟ่าและเอเอฟซีอย่างสม่ำเสมอ แม้ไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ก็ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเอเชี่ยนคัพถึง 5 ครั้ง โดยพวกเขามักจะสลับกันเล่นที่กรุงดามัสกัส และเมืองอเลปโป สองเมืองใหญ่ของประเทศในเวลาที่พวกเขาเป็นเจ้าบ้าน

ปี 2010 ดูเหมือนวงการลูกหนังซีเรียกำลังจะเข้าสู่ยุครุ่งโรจน์ เมื่อพวกเขาสามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายเอเชี่ยนคัพ 2011 ที่กาตาร์ได้สำเร็จ ส่วนในระดับสโมสร อัล อิตติฮัด อเลปโป ก็สามารถคว้าแชมป์เอเอฟซีคัพได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทีม (ซึ่งพวกเขาชนะ เมืองทอง ยูไนเต็ด ในรอบรองชนะเลิศมาด้วย)

แต่ใครเล่าจะคิดว่า เกมอุ่นเครื่องที่ซีเรียแพ้คาบ้านในกรุงดามัสกัสต่ออิรัก 0-1 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมปีนั้น จะเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะได้เล่นในสถานที่ซึ่งพวกเขาเรียกว่า … บ้าน

000_nic521542
จุดเปลี่ยนจากสงคราม
เพราะช่วงเวลาเดียวกันนั้น “อาหรับสปริง” หรือเหตุการณ์การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง ก็ได้ขยายตัวจากประเทศตูนิเซียซึ่งเป็นจุดกำเนิด สู่นานาประเทศร่วมภูมิภาคทั้งในทวีปแอฟริกาและเอเชีย

และแน่นอน ซีเรีย ก็หนีไม่พ้นกระแสดังกล่าวเช่นกัน

หลังจากที่ทัพอินทรีแห่งคาซิอุนกลับจากศึกเอเชียนคัพที่กาตาร์ ในเดือนมีนาคม 2011 ก็ได้เกิดการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี บัชชาร อัล อะซัด เพื่อหวังให้สละตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ แต่ อัล อะซัด กลับเลือกที่จะส่งเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมอย่างหนัก ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเริ่มหันไปจับอาวุธ เพื่อป้องกันตัวเองและเพื่อขับไล่กองกำลังรัฐที่เข้ามาในพื้นที่ของพวกเขา

จากนั้น ความรุนแรงก็ขยายตัวกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด

ซีเรียกลายเป็นพื้นที่สีแดง ประชาชนจำนวนมากต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ และมีอีกไม่น้อยที่ต้องลี้ภัยจากประเทศ สวนทางกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่เข้ามาให้การสนับสนุนทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้ต่อต้านอย่างลับๆ จนกลายเป็นสงครามที่มีตัวละครร่วมแสดงอยู่มากมายนับไม่ถ้วน

และแน่นอนว่าวงการฟุตบอลก็ได้รับผลกระทบตามเป็นลูกโซ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะเพียงไม่นานหลังจากไฟสงครามปะทุ ซีเรียก็ถูกฟีฟ่าและเอเอฟซีสั่งห้ามเล่นในบ้านด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ทำให้พวกเขาต้องย้ายบ้านไปเล่นตามประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องเวลามีเกมทีมชาติ

ซึ่งช่วงเวลานั้น ฟุตบอลโลก 2014 รอบคัดเลือกของซีเรียก็เริ่มขึ้นพอดี พวกเขาเริ่มต้นได้สวย ด้วยการชนะทาจิกิสถานด้วยผลรวม 2 นัดขาดลอยถึง 6-1 แต่หลังจากนั้นไม่นาน รอยยิ้มที่กว้างก็ต้องหุบลง เมื่อมีการตรวจสอบพบว่าทีมส่งผู้เล่นผิดกฎลงสนาม ผลการแข่งขันจึงถูกปรับให้เป็นชัยชนะของทาจิกิสถานทั้ง 2 นัด ซีเรียยุติเส้นทางสู่บราซิลตั้งแต่ไก่โห่

000_par6255101
รอยร้าวที่บังเกิด
ไม่เพียงแต่พวกเขาจะไม่สามารถลงเล่นเกมทีมชาติที่บ้านตัวเองได้แล้ว เหตุประท้วงที่ลุกลามสู่สงครามการเมืองยังทำให้เกมลีกฤดูกาล 2010/11 ต้องยกเลิกกลางคันอีกด้วย

ทว่า อัล อะซัด รู้ดีว่า ฟุตบอลที่ซีเรียก็เปรียบเหมือนศาสนา หากสามารถนำกีฬาลูกหนังกลับสู่วิถีชีวิตประจำวันของผู้คนได้ ไม่เพียงแต่จะทำให้บรรยากาศในประเทศดีขึ้นเท่านั้น ตัวเขาก็จะได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นด้วย ผู้นำสูงสุดของซีเรียจึงให้การสนับสนุนทีมชาติ และวงการลูกหนังในประเทศ เพื่อให้เกมลีกสามารถกลับมาแข่งขันกันได้ตามปกติ

แต่ใช่ว่าคนในวงการลูกหนังทุกคนจะเห็นดีเห็นงามกับ อัล อะซัด ช่วงกลางปี 2012 ฟิรัส อัล คาห์ติบ (Firas Al Khatib) นักเตะดาวดังอันดับ 1 ของทีมในตอนนั้นประกาศตนว่าจะขอยืนหยัดเคียงข้างกลุ่มผู้ต่อต้าน หลังเมือง ฮอมส์ (Homs) บ้านเกิดของเขาถูกถล่มจากฝ่ายรัฐบาล พร้อมยืนยันอย่างแข็งกร้าวว่าจะไม่ขอเล่นให้ทีมชาติซีเรียอีกหาก อัล อะซัด ยังอยู่ในตำแหน่ง

อีกคนที่โดนหนักไม่แพ้กันเห็นจะเป็น อุมัร อัล โซมะห์ ดาวยิงคนสำคัญ ซึ่งขณะนั้นเป็นดาวรุ่งหน้าใหม่ในทีมชาติ ที่การแสดงออกของเขากลับทำให้ต้องหมดอนาคตกับทีมชาติไปหลายปี

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปลายปีเดียวกัน ซึ่งซีเรียสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันตกได้เป็นครั้งแรก หลังทำผลงานหักปากกาเซียนด้วยการเฉือนชนะอิรักในนัดชิงชนะเลิศ 1-0 ซึ่งเรื่องที่ว่าเกิดขึ้นหลังจบเกม เมื่อ อัล โซมะห์ ไปฉลองกับแฟนบอลที่โบกธงของฝ่ายกบฏต่อต้านรัฐบาล … เท่านั้นเอง

000_nic6246803
สู่จุดต่ำสุด
หากปี 2012 คือช่วงเวลาที่คนซีเรียทั้งชาติมีความสุขกับทีมชาติของพวกเขา ปีต่อมานั้นก็คงเป็นเรื่องราวตรงกันข้ามเลยทีเดียว

เมื่อผลงานของทัพอินทรีแห่งคาซิอุนในศึกเอเชี่ยนคัพ 2015 รอบคัดเลือกสรุปได้ว่า แพ้ 4 เสมอ 1 ชนะเพียง 1 ตกรอบแบบไม่ต้องสืบ โดยชัยชนะเหนือสิงคโปร์และเสมอจอร์แดน ที่กรุงเตหะรานของอิหร่าน ซึ่งพวกเขาต้องไปใช้เป็นบ้านชั่วคราว คือสองนัดที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องอับอายคนทั้งชาติไปมากกว่านี้

ซึ่งผลลัพธ์จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ทีมชาติซีเรียต้องร่วงไปอยู่ในอันดับที่ 152 ในตารางอันดับโลกของฟีฟ่า และนั่นคือจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ของทีมเลยทีเดียว

ก่อนที่ทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้นเมื่อ ฟาจีร์ อิบราฮิม (Fajr Ibrahim) กุนซือที่เคยคุมทีมมาแล้วถึง 2 รอบ หวนกลับมาคุมทัพอินทรีแห่งคาซิอุนเป็นคำรบสาม เพื่อนำทีมสู้ศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก รอบสอง ซึ่งพวกเขาต้องเจองานหนักเมื่ออยู่ร่วมกลุ่มอี กับญี่ปุ่น ชาติที่เป็นขาประจำของฟุตบอลโลก รวมถึงต้องลงเล่นเกมเหย้าที่ประเทศโอมาน

000_dv892431
และแม้พวกเขาจะผ่านเข้ารอบต่อไปในฐานะทีมอันดับ 2 ที่ดีที่สุด แต่ความพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นยับเยินถึง 0-5 ในเกมสุดท้าย ก็ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลซีเรียทนไม่ไหว สั่งปลดอิบราฮิมจากตำแหน่งเฮดโค้ชทันที

ซึ่งคนที่เข้ามาแทนที่นั้น คือหนึ่งในส่วนสำคัญ ที่ทำให้ทีมชาติซีเรียนอกจากจะโชว์ฟอร์มดีในสนามแล้ว ยังทำให้ทั่วทั้งประเทศเกิดสันติขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็ในตอนที่ทีมชาติลงแข่งขัน

ฮีโร่คืนทีม
เมื่อ อายมาน ฮาคีม (Ayman Hakeem) ตัดสินใจเข้ามารับงานคุมทีมชาติซีเรียเมื่อเดือนพฤษภาคม 2016 เขารู้ดีว่านี่คือภารกิจที่สาหัสที่สุดเท่าที่เคยทำมา

เพราะหากพวกเขาหวังจะผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย เป้าหมายที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด คือการติดอันดับ 3 ของกลุ่มเอเพื่อไปเล่นรอบเพลย์ออฟ เนื่องจาก อิหร่าน และ เกาหลีใต้ ขาประจำของฟุตบอลโลกคงจะเข้าป้าย 2 อันดับแรกแน่ๆ แต่การจะคว้าที่ 3 ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี เพราะคู่แข่งที่เหลือ หากไม่นับจีนที่เคยเข้ารอบสุดท้ายมาเมื่อปี 2002 อุซเบกิสถาน และ กาตาร์ ต่างก็เป็นทีมที่เฉียดไปเฉียดมากับการเข้ารอบสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง

สิ่งแรกที่วาบขึ้นมาในความคิดของเขาคือ เมื่อถึงจุดนี้ ทีมต้องมีผู้เล่นที่ดีที่สุด … และนั่นทำให้เขาตัดสินใจทาบทาม อัล คาห์ติบ และ อัล โซมะห์ ที่ต่างทำผลงานได้ดีกับต้นสังกัดในต่างแดนกลับมาร่วมทีมชาติอีกครั้ง

ซึ่งนั่นทำให้ อัล คาห์ติบ ต้องคิดหนักเลยทีเดียว

000_nic6265426
“ผมกลัวมากเลยนะเรื่องการกลับมาเล่นให้ทีมชาติอีกครั้ง” เจ้าตัวกล่าวกับทาง ESPN “ทุกคืนก่อนนอนผมต้องคิดเรื่องนี้อย่างน้อยๆ ก็ซักชั่วโมงนึง เพราะไม่ว่าผมจะตัดสินใจอย่างไรมันก็มีผลกระทบทั้งสิ้น คนครึ่งประเทศคงยกให้ผมเป็นพระเจ้า ส่วนอีกครึ่งก็คงเตรียมฆ่าผมแน่หากกลับมาเหยียบประเทศนี้อีกครั้ง”

แต่ที่สุดแล้ว ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะมองข้าม เพราะหากซีเรียเข้ารอบสุดท้ายได้สำเร็จ ไม่เพียงแต่เขาจะถูกยกย่องในฐานะฮีโร่เท่านั้น ประชาชนทั้งประเทศทั้งที่สนับสนุนและต่อต้าน อัล อะซัด ก็จะมีความสุขกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้อย่างแน่นอน

เหตุผลเหล่านี้ ทำให้ทั้ง อัล คาห์ติบ และ อัล โซมะห์ ตัดสินใจกลับมาสวมเสื้อทีมชาติอีกครั้ง ซึ่งทั้งคู่ก็ร่วมมือกับ อุมัร คริบิน อีกหนึ่งดาวดังของซีเรีย ในการสู้กับชาติยักษ์ใหญ่ของทวีปอย่างไม่น้อยหน้าใคร แม้คราวนี้พวกเขาจะต้องเดินทางไกล ไปเล่นเกมนัดเหย้าถึงประเทศมาเลเซียก็ตาม

000_t37k2
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัล โซมะห์ ซึ่งทำประตูในช่วงทดเจ็บของเกมนัดสุดท้าย ทำให้พวกเขาไล่ตีเสมออิหร่านได้สำเร็จด้วยสกอร์รวม 2-2 คว้า 1 คะแนนสำคัญที่ทำให้ทีมเข้าป้ายอันดับ 3 ของกลุ่มเอ ด้วยการชนะอุซเบกิสถานเพียงประตูได้เสียเท่านั้น ซึ่งในเกมดังกล่าว มีการตั้งทีวีจอยักษ์ในกรุงดามัสกัส เพื่อให้ประชาชนได้ชมผลงานของทีมชาติของพวกเขาอีกด้วย

หลังจากนั้น อัล โซมะห์ ก็ฟอร์มแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เขายิงประตูสำคัญได้อีกครั้งในช่วงท้ายเกม ให้ซีเรียไล่ตีเสมอ ออสเตรเลีย 1-1 ในเกมเพลย์ออฟชิงอันดับ 5 นัดแรก

ก่อนที่จะยิงได้อีกตั้งแต่ช่วงต้นเกมเพลย์ออฟนัดสอง ที่พวกเขาต้องไปเยือนถึงนครซิดนี่ย์

แม้ที่สุดแล้ว ทิม เคฮิลล์ จะดับฝันของซีเรียด้วยการยิงประตูชัยช่วงต่อเวลาพิเศษให้ออสเตรเลียชนะ 2-1 (เข้ารอบไปด้วยประตูรวม 3-2 ก่อนเอาชนะฮอนดูรัส ได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นทีมที่ 5 ของโซนเอเชีย) และทำให้ฮาคีมต้องแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง แต่นี่ก็ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของพวกเขา

ซึ่งหลังจบเกมรอบเพลย์ออฟนัดสอง ประธานาธิบดี อัล อะซัด ก็ได้เปิดทำเนียบประธานาธิบดี ต้อนรับเหล่าฮีโร่กลุ่มนี้ด้วยตนเองด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น จนแม้กระทั่ง อัล คาห์ติบ ที่ก็ยังหวั่นๆ ในตอนแรกว่าจะได้รับการต้อนรับจากคนในชาติอย่างไรจากสิ่งที่เขาทำในอดีตยังยอมรับว่า

"ไม่มีความรู้สึกใดที่จะดีกว่าได้กลับบ้านอีกแล้ว"

000_i430a
บนโลกคู่ขนาน
โลกของนักเตะทีมชาติซีเรียอาจจะดูงดงามขึ้นหลังจากผลงานครั้งประวัติศาสตร์ แต่หากไม่นับความสำเร็จของทีมชาติ วงการฟุตบอลในประเทศก็ยังไม่ถึงกับดีขึ้นมากนัก เพราะต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า ฟุตบอลลีกของซีเรียยังอยู่ได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล จำนวนผู้ชมในสนามก็ลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหายจากความหวาดกลัวภัยก่อการร้ายและความยากจน

สำหรับนักฟุตบอลอาชีพที่นั่น นักเตะที่ฝีเท้าดีหน่อยจะได้ค่าเหนื่อยราว 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (6,000 บาท) ต่อเดือน ซึ่งถือว่ามากกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนทั่วไปในประเทศมากโข แต่ก็ยังไม่เท่ากับที่พวกเขาจะได้จากการไปเล่นยังต่างประเทศ ซึ่งนั่นทำให้นักเตะซีเรียต่างเร่งยกระดับฝีเท้าของตัวเอง เพื่อหวังออกไปค้าแข้งยังต่างแดน แสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

"สถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ส่งผลถึงกีฬาอย่างแน่นอน พวกผมหลายคนมองหาช่องทางที่จะออกไปเล่นฟุตบอลอาชีพต่างประเทศ เพื่อที่ตัวเราและครอบครัวจะได้มีชีวิตที่ดีกว่านี้" โมฮานนัด อิบราฮิม (Mohannad Ibrahim) อดีตนักเตะทีมชาติซีเรียที่เคยมีประสบการณ์ลงเล่นทั้งในซาอุดิอาระเบีย, จอร์แดน, อิรัก, บาห์เรน และโอมาน ซึ่งปัจจุบันกลับมาเล่นที่ซีเรียบ้านเกิดอีกครั้งกับ อัล คารามาห์ เผย

แต่ชีวิตก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทั้งหมด เพราะนักเตะหลายคนก็จำต้องเล่นฟุตบอลอาชีพในซีเรียต่อไป เนื่องจากพวกเขาต้องเข้ารับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารนั่นเอง

firas-al-ali
อีกด้านหนึ่ง ยังมีนักเตะอีกหนึ่งคนที่สงครามทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปชนิดพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ นั่นคือ ฟิรัส อัล-อาลี (Firas al-Ali) อดีตนักเตะทีมชาติซีเรีย ซึ่งสงครามกลางเมืองได้ทำให้เขาสูญเสียแทบทุกอย่าง ทั้งสมาชิกในครอบครัวและบ้าน จนกระทั่งคำพูดเหยียดหยามกลุ่มต่อต้าน ซึ่งเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างลับๆ หลุดจากปากของเพื่อนร่วมทีมชาติ ก็กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เขาตัดสินใจโดดแคมป์ หอบครอบครัวหลบหนีจากซีเรียกลายเป็นผู้ลี้ภัยในตุรกี ณ ตอนนี้ ซึ่งเขากำลังสร้างทีมชาติซีเรียพลัดถิ่นขึ้นมา หวังเทียบเคียงทีมชาติซีเรียของจริงที่ได้รับการสนับสนุนจาก อัล อะซัด

อนาคตที่รออยู่
แม้ดูท่ายังไม่มีวี่แววว่า สงครามกลางเมืองในซีเรียจะถึงจุดสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะกล่าวได้คือ ความสำเร็จของทีมชาติซีเรีย ที่เกือบสร้างประวัติศาสตร์ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้สำเร็จ รวมถึงผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลเอเชี่ยนคัพ 2019 (จากการผ่านเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก) ทำให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า กีฬาฟุตบอลคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพ

แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีเหตุการณ์นักฟุตบอลเสียชีวิตหรือสูญหายจากเหตุรุนแรงอยู่เนืองๆ แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า รัฐบาลซีเรียให้ความสำคัญกับกีฬานี้มาก ฟุตบอลในซีเรียจึงน่าจะดำเนินไปได้ตามครรลองของมันแบบที่เคยเป็นมา

ส่วนทีมชาติซีเรีย พวกเขาก็เตรียมลงเล่นศึกเอเชี่ยนคัพรอบสุดท้ายที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้ ภายใต้การนำของ แบรนด์ ชตังก์ กุนซือชาวเยอรมัน ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2018 และเคยผ่านประสบการณ์คุมทีมชาติอย่าง โอมาน, อิรัก, เบลารุส กับ สิงคโปร์ มาแล้ว ซึ่งแม้ อัล คาห์ติบ จะหลุดจากทีมชุดนี้ไป แต่ อัล โซมะห์ กัปตันทีมคนปัจจุบัน และ คริบิน สองดาวยิงคนสำคัญ ก็พร้อมนำทีมรบกับคู่ต่อสู้ในกลุ่ม บี อย่าง ปาเลสไตน์, จอร์แดน และ ออสเตรเลีย ชาติที่ดับฝันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรกของพวกเขาแล้ว

000_13a6a3
แต่ถึงบรรยากาศฟุตบอลในประเทศจะดูดีขึ้น เกมทีมชาติทุกนัดกลายเป็นสัญญาณที่ทุกคนรู้กันว่า ถึงเวลาพักรบเพื่อเชียร์ฮีโร่ของพวกเขาที่เป็นตัวแทนของชาติลงแข่งขัน ที่สุดแล้ว ทุกคนก็เห็นตรงกันว่า หากเป็นไปได้ ก็อยากให้สงคราม เหตุรุนแรงในซีเรียถึงจุดสิ้นสุด และนำสันติภาพกลับสู่ประเทศโดยเร็ว อย่างที่ อัล คาห์ติบ กล่าวว่า

"ผมเพียงหวังว่าความขัดแย้งในซีเรียจะยุติลงเสียที ถ้ามันจบลงได้ ฟุตบอลของเรา ของซีเรียจะก้าวกระโดดขึ้นมาดีกว่าเดิม ดีกว่าที่เคยเป็นมา"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook