ศึกชิงเก้าอี้ทองคำ : เมื่อฟุตบอลไม่ยอมให้ แบล็ตเตอร์ โกงเลือกตั้ง...อีกต่อไป
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/169/846233/r.jpgศึกชิงเก้าอี้ทองคำ : เมื่อฟุตบอลไม่ยอมให้ แบล็ตเตอร์ โกงเลือกตั้ง...อีกต่อไป

    ศึกชิงเก้าอี้ทองคำ : เมื่อฟุตบอลไม่ยอมให้ แบล็ตเตอร์ โกงเลือกตั้ง...อีกต่อไป

    2019-01-14T15:57:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    "ผมคือเเพะภูเขาที่ทำเป็นแต่เดินไปข้างหน้า และไปข้างหน้าอย่างเดียว ผมหยุดไม่ได้ การไปข้างหน้าคือหน้าที่ของผม"

    เซปป์ แบล็ตเตอร์ อดีตประธานสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ "ฟีฟ่า" ว่าถึงสิ่งที่เขาเป็นหลังจากเอาชนะเลือกตั้งเก้าอี้นายใหญ่แห่งฟีฟ่าเป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน และเป็นเหตุผลเดียวกับที่ว่าทำไมอายุของเขาจึงยืนยาวนัก

    ทุกการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 1998 เเบล็ตเตอร์ คือผู้กุมชัยชนะเหนือคู่แข่งที่หาญกล้าขึ้นมาคานอำนาจเขาตลอด ทว่าในทุกๆครั้งที่เกิดชัยชนะเขาได้สะสมชื่อเสียงด้านลบเอาไว้ จนกระทั่งมันเดินทางมาถึงปี 2015 ซึ่งเป็นกำลังจะเป็นสมัยที่ 5 ของเขาเเละทีมคอนเน็คชั่นที่แข็งแกร่งหลังจากวางระบบกันมาอย่างยาวนาน

     

    อย่างที่ทุกคนรู้กัน การเลือกตั้งประธานฟีฟ่าในปี 2015 ไม่ใช่ปัญหาของ แบล็ตเตอร์ แต่อย่างใด เขาชนะแบบไม่ต้องออกแรงมาก ทว่าที่สุดเเล้วสำหรับคนจะเป็นผู้นำ ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเดียวอาจไม่พอ ... หลังรับตำแหน่งสมัยที่ 5 ได้เพียง 5 วัน แบล็ตเตอร์ ก็ประกาศลาออกท่ามกลางปัญหาและแรงกดดันที่เขาไม่อาจรับมือได้อีกต่อไป ... อะไรทำให้เขาทนไม่ไหวขนาดที่ว่าทนอยู่ต่อไม่ได้ขนาดนั้น ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

    ราชาแห่งสนามเด็กเล่นสู่ราชาแห่งฟีฟ่า

    "เราภูมิใจมากที่มีคนสวิสเป็นผู้ดูแลองค์กรระหว่างประเทศที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้" โรลันด์ บูเชล สมาชิกรัฐสภาและผู้รณรงค์เพื่อความโปร่งใสของประเทศสวิตเซอร์แลนด์กล่าวยินดีกับ เซปป์ แบล็ตเตอร์ ที่สามาถก้าวขึ้นมาเป็นเป็นเฮดของฟีฟ่าได้สำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศแห่งนี้

     1

    เเรกเริ่มเดิมที แบล็ตเตอร์ ไม่ได้เติบโตมากับการบริหารงานด้านองค์กรกีฬาแต่อย่างใด เขามีหน้าที่เป็นคนงานในอุตสาหกรรมนาฬิกาซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และด้วยความเป็นคนที่ชื่นชอบเรื่องกีฬามาตั้งแต่เด็กเขาจึงเริ่มมีโอกาสพัวพันกับสหพันธ์ฮ็อคกี้ของสวิส และเมื่อสะสมชื่อเสียงเรื่อยมาที่สุดเเล้ว "ราชาสนามหญ้า" ฉายาของเขาที่ได้มาในวัยเด็ก เพราะเป็นเด็กผู้ชายที่เล่นฟุตบอลเก่งที่สุดในหมู่บ้านก็มีตำแหน่งในฟีฟ่าจนได้ ด้วยการเป็นประธานเทคนิค ในปี 1975 และไต่เต้าขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการขึ้นเป็นเลขาธิการในปี 1981 ไปจนถึงตำแหน่งท่านประธานในปี 1998

    ชัยชนะครั้งนั้นมีแต่คนสรรเสริญเยินยอตัวของ แบล็ตเตอร์ ทั้งสิ้น ภาพลักษณ์ของเขาเป็นคนดี เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้โตมาจากครอบครัวร่ำรวยและอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง รู้ว่าโลกฟุตบอลต้องการอะไร และที่สำคัญคือเขาเป็นคนที่สนิทกับสื่อมาก เปิดใจรับฟังเรื่องต่างๆและปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด  

    สิ่งที่ ฟีฟ่า นำเสนอในช่วงเวลาตลอด 17 ปี ในตำแหน่งประธานของ เเบล็ตเตอร์ ดูจะเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมตลอด ฟุตบอลโลกมีคนดูมากขึ้น การแข่งขัน ความสะดวกสบาย และเม็ดเงินรายรับจากด้านต่างๆก็มากขึ้น นี่คือการทำงานที่สะดวกโยธินเสียนี่กระไร ไม่ว่าผู้สมัครคนไหนที่พยายามท้าชิงกับเขาก็มักจะโดนตีตกไปหมดด้วยเหตุผลด้านบวกทั้งหมดที่กล่าวมา

     2

    ความสำเร็จคือบทสรุปของชัยชนะในการเลือกตั้ง  คนที่คว้าชัยมักจะมีเรื่องเล่าของตัวเองอยู่เสมอ และแน่นอนว่าเมื่อคนเราไม่ใช่พระอรหันต์ย่อมมีด้านที่ไม่ดีนักหลบซ่อนอยู่ เรื่องลับๆเหล่านี้ยังไม่สามารถทำอะไรแบล็ตเตอร์ได้มากนัก ทว่ามันกลับสะสมไปทีละนิดๆ จากปัญหาเท่าเส้นผมกลายเป็นเศษผงกองโตที่รู้ตัวอีกทีก็สูงท่วมหัวจนตัวเขาเองหายใจหายคอไม่ออกและต้องดิ้นรนเพื่อเอาชนะอย่างยากลำบาก ... ชนิดที่ว่าไม่อาจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนได้อีกต่อไป

    ‘FIFA EXCO' 26 อรหันต์ ของ แบล็ตเตอร์

    ปี 1998 แบล็ตเตอร์ เอาชนะ เลนนาร์ต โยฮันส์สัน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ได้อย่างพลิกล็อกเล็กๆ และถือเป็นชัยชนะที่ทำให้เขาเริ่มนับหนึ่งในฐานะผู้มีอำนาจ แม้จะประสบความสำเร็จ แต่เสียงที่ไล่หลังในเวลานั้นคือ แบล็ตเตอร์ ได้ทำการซื้อเสียงโดยผ่านบุคคลที่ 3

     3

    มีการรายงานว่าทีมงานของแบล็ตเตอร์ เล็งเห็นช่องว่างในการซื้อเสียงของประเทศสมาชิกฟีฟ่าในฝั่งทวีปแอฟริกา ซึ่งการเคลื่อนไหวของสื่อในอังกฤษรวดเร็วยิ่งกว่าใคร พวกเขาสืบไปจนเจอว่าและค้นพบว่า ฟาร์ร่า อาโด้ รองประธานสมาพันธ์ฟุตบอลทวีปแอฟริกา และ ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลของประเทศโซมาเลีย เป็นคนที่ได้รับเงินราว 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก แบล็ตเตอร์ ในการเลือกตั้งปี 1998  แต่ไม่เป็นไร นี่แค่ครั้งแรก เขายังคงเฉิดฉายบนตำแหน่งท่านประธานต่อไป เพราะไม่มีการหาหลักฐานที่ชัดเจนได้มากกว่านั้น

    มีอีกหลายครั้งที่ แบล็ตเตอร์ มักจะถูกเปิดโปงเรื่องราวความทุจริตที่มักจะมาจากเรื่องเงินๆทองๆ แต่การถืออำนาจสูงสุดในฟีฟ่า ก็เหมือนกับการเดินเกมการเมืองอย่างไรอย่างนั้น ยิ่ง แบล็ตเตอร์ อยู่ในอำนาจนานเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งมีเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น โดยเป้าของ แบล็ตเตอร์ คือชาติเล็กๆที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจลูกหนัง เพราะทีมของเขาสามารถเสนอข้อแลกเปลี่ยนที่จูงใจได้

    ดังนั้นทีมงานตัวเอ้ของ แบล็ตเตอร์ จึงประกอบไปด้วยรายชื่อของ คอนตัส ทักคาส เลขาธิการสมาคมฟุตบอลหมู่เกาะเคย์แมน, แจ็ค วอร์เนอร์ อดีตรองประธานฟีฟ่าและประธานคอนคาเคฟ ชาวตรินิแดดแอนด์โตเบโก, ไปจนถึง เจฟฟรีย์ เว็บบ์ รองประธานฟีฟ่าและประธานสมาพันธ์ฟุตบอลคอนคาเคฟ และ โมฮาเหม็ด บิน ซัลมาน อัครมหาเศรษฐีชาวกาตาร์ที่เป็นประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย และคนอื่นๆอีกมากมาย

     4

    พวกเขาทั้งหมดนี้รวมตัวกันในชื่อของ 26 อรหันต์ ‘FIFA EXCO’ หรือกลุ่มคณะกรรมการ 26 คน ที่มีอำนาจล้นฟ้าที่สุดในโลกฟุตบอลนั่นเอง เครือข่ายนี้คือกลุ่มที่สามารถชี้ถูกเป็นผิด และชี้ผิดเป็นถูกให้กับ แบล็ตเตอร์ ได้ตลอด การตัดสินใจลงมติต่างๆกลุ่ม ‘FIFA EXCO’ จะทำการแบ่งเค้กกันให้เรียบร้อยก่อนการประชุมใหญ่ ว่าง่ายๆก็คือพวกเขาจะล็อบบี้กันไว้เรียบร้อยเเล้ว แม้กฎที่ตั้งมาจะโดนเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่กลุ่มนี้จะมีความคิดเห็นตรงกันเสมอ พวกเขามีอำนาจในการจัดแข่งขันฟุตบอลหลายรูปแบบทัวร์นาเม้นต์ตั้งแต่ระดับเยาวชนไปจนถึงการจัดบอลชิงแชมป์ทวีป

    โดยเฉพาะการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่สุดที่คนรักฟุตบอลรอคอย นั่นคือการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก การแข่งขันฟุตบอลที่มีลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดแพงที่สุด และยิ่งเวลาผ่านไปมันก็ยิ่งมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ

    ชาติมหาอำนาจอย่าง อังกฤษ,อิตาลี และ สหรัฐอเมริกา ได้ยื่นซองเเสดงเจตจำนงเพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 และ 2022 ซึ่งฟีฟ่าตัดสินใจรวบมาประกาศพร้อมกัน ในการประชุมสมาชิกฟีฟ่าในปี 2010 แต่ว่าพวกเขาต้องน้ำตาตกทั้งหมด เมื่อ เเบล็ตเตอร์ หยิบซองหลังรวมคะแนนขึ้นมาแสดงต่อสาธารณชน เขาพูดเสียงดังฟังชัดว่า "รัสเซีย และ กาตาร์"

     5

    โป้ง! เท่านั้นแหละมหกรรมรุ่นใหญ่ออกมาสาวไส้จึงเริ่มขึ้น และสีเทาๆของ ‘FIFA EXCO’ และ แบล็ตเตอร์ ก็ยิ่งดูมีสีเข้มขึ้นทุกที เพราะหนนี้กลุ่มผู้ค้านอำนาจมีข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจน

    จับปูดำขยำปูนา

    อังกฤษ ชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องความบ้าฟุตบอลและสื่อที่ชอบข่าวขุดคุ้ยคือชาติแรกที่แสดงอาการมีหือมีอือจากการเลือกเจ้าภาพครั้งนั้น พวกเขาเป็นตัวเต็งในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 โดยใช้ เดวิด เบ็คแฮม เป็นแอมบาสเดอร์ ซึ่งอดีตปีกขวาหมายเลข 7 มั่นใจเป็นอย่างมากว่า ฟุตบอลโลก 2018 เสร็จบ้านเกิดเขาแน่

     6

    "เจ้าชายวิลเลียม และคนส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษ ทำงานอย่างหนัก เพื่อการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 มันเป็นเรื่องไม่แปลก ที่ อังกฤษ จะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 เพราะเรามีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางฟุตบอลมาช้านาน ผมว่ามันเป็นเรื่องเหมาะสมแล้วที่เราจะได้เป็นเจ้าภาพ"  นี่คือสิ่งที่เขาว่าไว้ก่อนจะได้รู้ผล ซึ่งอย่างที่เราๆได้รู้กัน ทุกอย่างพลิกล็อก อังกฤษ เสียสิทธิ์จัดฟุตบอลโลกครั้งดังกล่าวให้ประเทศ รัสเซีย แถมยังเป็นความพ่ายแพ้แบบเสียหน้าสุดๆ เมื่อพวกเขาได้เสียงโหวตเพียง 2 เสียงเท่านั้น และตกรอบเป็นชาติแรก

    เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ เดวิด ทรีสแมน อดีตประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษหรือ เอฟเอ เริ่มชี้เป้าเป็นคนแรกและบอกว่า วรวีร์ มะกูดี หนึ่งในบอร์ดบริหารฟีฟ่าที่เป็นประมุขบอลไทยในช่วงเวลานั้น คือคนที่พยายามเรียกสินบนให้ทางอังกฤษ มาจัดแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรกับทีมชาติไทย รวมถึงมอบลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ให้กับ ไทย ด้วย หากอังกฤษสามารถเอาชนะการรับเลือกครั้งนี้  เพื่อรับเสียงโหวตจากเขาซึ่งเป็นเสียงสำคัญ

     7

    โดยนอกจาก บังยี เเล้วยังมีชื่อของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ฟีฟ่า อีกถึง 4 คนที่ทำเช่นเดียวกันนี้ ... เรียกได้ว่าเทศกาลสาวไส้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงหลังจากการผิดหวังของอังกฤษ

    อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นไม่นาน นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ เวลานั้น ก็ยืนยันว่านี่เป็นเรื่องเข้าใจผิด และทางอังกฤษผิดหวังที่ไม่ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018  มากกว่า "ผมทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และเชื่อว่า มันเป็นเพียงการกล่าวหากันเท่านั้น เพราะยังไม่มีหลักฐาน หรือ เอกสารใดออกมาชี้ชัดว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องจริง" 

    บังยีรอด แต่อีก 2 คนที่ถูกกล่าวถึงอย่าง อามอส อดามู จากไนจีเรีย และเรย์นัลด์ เตมารี จากตาฮิติ โชคไม่ดีขนาดนั้น นิตยสารอังกฤษอย่าง The Sunday Times มีเทปลับการเรียกสินบนของทั้งคู่ ข้อเสนอของ อดามู คืออังกฤษจะต้องจ่ายเงินให้เขา 2.5 ล้านปอนด์ ขณะที่ตัวของ เรย์นัลด์ เตมารี ขอประดับยศเป็นอัศวินของอังกฤษ หลังจากจับได้ทั้งสองคนก็ถูกตัดสิทธิ์ออกเสียงและถูกดำเนินคดีไปตามกฎหมาย

     8

    ส่วนการเลือกกาตาร์ เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 คือสิ่งที่ต้องยอมรับว่าค้านสายตาชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง แม้ประเทศแห่งนี้จะมีเงินมากมาย แต่ปัญหาเรื่องความพร้อมและอุปสรรคต่างๆก็เยอะอย่างที่มีข่าวออกมาให้ปวดหัวทั้งเรื่องของอากาศที่ร้อนจนต้องขยับมาเตะฟุตบอลโลกกันในช่วงปลายปี ซึ่งถือว่าผิดธรรมเนียมเดิมไปหลายเดือน (ปกติเเล้วฟุตบอลโลกจะเตะกันในเดือน มิถุนายน จนถึง กรกฎาคม) รวมถึงเรื่องโควต้าและประสบการณ์การจัดการแข่งขันที่ทำให้ประเทศที่แพ้ในการเลือกเจ้าภาพ 2022 พยายามแทงเรื่องให้ฟีฟ่าเปลี่ยนเจ้าภาพหลายต่อหลายครั้ง

    และการที่กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ก็ทำให้เกิดตัวละครใหม่ที่ขอร่วมจองเวรในครั้งนี้ นั่นคือ สหรัฐอเมริกา ที่พ่ายแพ้ในการโหวตเป็นเจ้าภาพเช่นเดียวกัน ไมเคิล เจ การ์เซีย ทีมกฎหมายของสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐอเมริกายกมือประท้วงทันที เขายืนยันว่าการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งนี้ไม่โปร่งใส "ไม่มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลและผู้ตรวจสอบเลยแม้แต่คนเดียว งานนี้ศาลอนุญาโตตุลาการสามารถเปลี่ยนแปลงระบบขององค์กรนี้ได้" การ์เซีย เขียนในรายงานของเขา

    "ผมไม่อยากจะเชื่อกับบางอย่างที่เกิดขึ้น ผมว่าเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดนะ" ดอน การ์เบอร์ บอร์ดบริหารของวงการฟุตบอลแดนมะกันกล่าว "ตลาดฟุตบอลของเราน่าจะพัฒนาพอ แต่บางทีชื่อเสียงประเทศของเราก็ไม่สามารถได้รับการสนับสนุนจากประเทศอื่น  เอาเถอะการตัดสินใจครั้งนี้ไม่น่าเชื่อจริงๆ ผมว่าเราต้องการและก็พร้อมมากสำหรับการจัดทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ระดับนานาชาติแบบนี้"

     9

    อังกฤษหมัด อเมริกาหมัด ก็ทำเอา แบล็ตเตอร์ เริ่มจะเมาหมัดบนสังเวียนท่านประธานมากขึ้นเรื่อย หลายเรื่องวุ่นดันเกิดขึ้นในช่วงใกล้เลือกตั้งประธานฟีฟ่าในช่วงปลายปี 2015  ซึ่งเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่านี่จะเป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 5 ของเขา ... แม้จะมีเรื่องร้ายแต่เอาล่ะ อย่างน้อย 26 อรหันต์ ‘FIFA EXCO’ ยังพร้อมอยู่เคียงข้างเขาอยู่ดี เมื่อแบล็ตเตอร์คือแพะภูเขาอย่างที่ตัวเขาว่า ทางเดียวที่มีให้เลือกคือต้องไปต่อเท่านั้น

    ฟุตบอลไม่ใช่ของใครคนเดียว

    เกมในสภาคือสิ่งที่สามารถชี้ขาดการตัดสินใจ แต่ถ้าหากผู้มีอำนาจมองข้ามหัวเสียงบริสุทธิ์จากผู้ไม่หวังผลประโยชน์มากเกินไป อำนาจในมือของพวกเขาอาจจะเสื่อมถอยได้ง่ายๆ

     10

    เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2015 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งประธานฟีฟ่าใหม่อีกครั้ง แต่ แบล็ตเตอร์ เดินเกมภายในเสร็จเกือบเรียบร้อยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเสียอีก เมื่ออดีตลูกน้องที่เคยคิดจะชิงตำแหน่งของเขาอย่าง มิเชล พลาตินี่ ที่เติบใหญ่จนได้เป็นประธานยูฟ่า อยู่ๆก็ตัดสินใจไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งเสียอย่างนั้น ทำให้เหลือเพียง เจ้าชาย อาลี บิน อัล-ฮุสเซน แห่งประเทศจอร์แดนเป็นคู่แข่งรายเดียว ทว่าหลังการโหวตรอบแรกเสร็จสิ้น เจ้าชายอาลีก็ถอนตัวด้วยเช่นกัน

    แบล็ตเตอร์ ไม่ต้องแข่งกับใครแล้ว ทีนี้ก็เรียบร้อย การเลือกตั้งวันที่ 29 พฤษภาคม ได้ผู้ชนะเรียบร้อย เซปป์ แบล็ตเตอร์ เป็นผู้ชนะครั้งที่ 5 ติดต่อกัน

    "อันดับแรกผมขอแสดงความเคารพ และยกย่อง เจ้าชาย อาลี เพราะพระองค์ทรงเป็นคู่แข่ง และขอขอบคุณสมาชิกที่ไว้ใจให้ผมทำงานต่อไปอีก 4 ปี ผมจะนำเรือที่ชื่อว่า ฟีฟ่า แล่นต่อไปข้างหน้า และจะกู้ศรัทธาคืนมาให้ได้" ชายวัย 78 กล่าวอย่างภูมิใจ

    แต่เมื่อพูดถึงความศรัทธา ดูเหมือน แบล็ตเตอร์ จะพูดถึงเรื่องนี้ได้ไม่เต็มเสียงเท่าไหร่ เพราะระหว่างการหาเสียงและล็อบบี้ชาติสมาชิก กลุ่มผู้ตรวจการณ์ของฟีฟ่าสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กลับเตรียมการบางอย่างเอาไว้เพื่อเป็นไพ่ตายในการล้างบางกลุ่มอำนาจแบล็ตเตอร์ครั้งนี้ ...

    27 พฤษภาคม 2015 ก่อนวันเลือกตั้งประธานฟีฟ่า 2 วัน กลุ่ม แบล็ตเตอร์ เตรียมงานครั้งใหญ่เหมือนเช่นทุกคน พวกเขานัดพบกันในโรงแรมหรูกลางใจเมืองซูริค แน่นอนมันยังคงเป็นเรื่องการเเบ่งเค้กผลประโยชน์ แต่หนนี้ หน่วยสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ได้สืบสวนคดีมานานถึงสามปี และเมื่อทุกอย่างสุกงอม ก็ได้เวลาเปิดฉากปฏิบัติการลับเสียที

    ผู้บริหารระดับสูงของฟีฟ่า 6 คน ถูกล้อมจับคาโรงแรมในคดีทุจริตทางการเงินมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการรับเงินสินบน เพื่อแลกกับการทำสื่อโฆษณาฟุตบอลรายการสำคัญระดับโลกไม่ว่าจะในระดับทวีปและฟุตบอลโลก   

     11

    สื่อจากอังกฤษอย่าง สกาย สปอร์ตส ขยี้ดอกแรงไปได้ไม่นาน สื่อจากอเมริกาอย่าง นิวยอร์ก ไทม์ส ก็มาตามนัดด้วยการเผยชื่อ ผู้ที่ถูกจับกุมตัวทั้ง 9 คน  ประกอบไปด้วย เจฟฟรีย์ เว็บ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลคอนคาเคฟ, ยูเกนิโอ ฟิเคอเรโด อดีตประธานสมาคมฟุตบอลอุรุกวัย, แจ็ค วอร์เนอร์ อดีตรองประธานฟีฟ่า, อีดัวเอโดร์ ลี ประธานสมาคมฟุตบอลคอสตาริต้า, ฮูลิโอ โรช่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาของฟีฟ่า รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 4 คน เช่น คอสตัส ทาคคัส, ราฟาเอล เอสกีเวล, โฮเซ มาเรีย มาริน และนิโคลัส เลออส

    เรียบร้อยโรงเรียน เอฟบีไอ พวกเขาติดกับพร้อมกันทั้งหมด และเรื่องก็ถูกสาวต่อไปถึงลูกพี่ใหญ่อย่าง แบล็ตเตอร์ จนได้ เพราะมีหลักฐานที่ว่า แบล็ตเตอร์ ได้เซ็นมอบสิทธิ์ส่วนแบ่งให้กับ แจ็ค วอร์เนอร์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2005 แต่นาทีนี้หลายเรื่องโยงกันจนก๊กรุ่นใหญ่ของฟีฟ่าก็สั่นคลอนทันที

    และสิ่งที่แบล็ตเตอร์พูดถึงลูกน้องผู้ทำให้เขายิ่งใหญ่กับเป็นคำพูดที่ราวกับไม่รู้เรื่องอะไร

     12

    "ช่วงเวลาตอนนี้เป็นห้วงขณะที่ยากลำบากสำหรับฟีฟ่า ผมจะไม่ยอมให้การกระทำอันเสื่อมเสียของบุคคลกลุ่มเล็กๆ มาทำลายความพยายามหนักของคนส่วนใหญ่ที่ต่อสู้และหลังรักเกมกีฬาฟุตบอล"

    "หลายๆ คนกล่าวว่าผมจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ แต่ผมตรวจสอบทุกคนตลอดเวลาไม่ได้" เขากล่าวไว้แค่นั้น แต่ก็มากพอที่จะทำให้อะไรก็ตามที่เคยทำมาหมดความชอบธรรมลงตั้งแต่วันนั้น

    ล่มสลาย

    ไม่เหลือชื่อเสียงหรือศรัทธาให้กอบกู้อีกต่อไปแล้ว ไม่มีใครกล้าไว้ใจคนที่ทำผิดซ้ำซาก สัญญาไม่เป็นสัญญา ... เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การต่อสู้ในสภาและห้องประชุมอีกเเล้ว ฟีฟ่า ต้องรับศึกรอบด้าน

     13

    แบรนด์อย่าง โคคา-โคลา, วีซ่า, อาดิดาส และแมคโดนัลด์ พาร์ทเนอร์หลักของฟุตบอลโลกเริ่มมีความรู้สึกว่า แบรนด์ “ฟีฟ่า” ติดภาพลักษณ์เชิงลบจากข่าวคอร์รัปชั่นภายในองค์กรซึ่งส่งผลทำให้ผู้บริหารหลายคนถูกสอบสวนและพ้นจากตำแหน่งหลังปี 2014 จนส่งผลให้ความมั่นใจในฟุตบอลโลก 2018 ลดน้อยถอยลง จึงต้องจี้ให้ฟีฟ่าล้างภาพฉาวด่วนที่สุด ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะไม่สนับสนุนอีกต่อไป

    อำนาจในมือของเขาหนนี้ร้อนเป็นไฟ หลังเอามันคืนมาอยู่กับมือได้ มันกลับทำให้เขาต้องร้อนรน ไม่มีใครสนับสนุนมีแต่เสียงโจมตี ลูกน้องที่เคยมีก็หดหาย และคอนเน็คชั่นใหม่ก็ถอยทัพทั้งหมด

    หลุยส์ ฟิโก้ ตำนานนักเตะทีมชาติโปรตุเกสคือหนึ่งในคนที่มองเก้าอี้ประธานฟีฟ่าเมื่อปี 2015 แต่ก็ทนไม่ไหวและไม่เห็นทางชนะ แบล็ตเตอร์ สุดท้ายเขาก็ถอนตัว แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเขารู้ดีว่าฟุตบอลที่เขารักจะเป็นอย่างไรถ้าไม่ได้รับการแก้ไขหลังจากนี้

     14

    “วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งอันแสนมืดมน ที่เมืองซูริค ... ฟีฟ่า พ่ายแพ้ เหนือสิ่งอื่นใดวงการฟุตบอลพ่ายแพ้ และทุกๆ คนที่ทุ่มเทกับฟุตบอลก็แพ้ไปด้วย”

    “แบล็ตเตอร์มีปฏิกิริยาเยาะเย้ยถากถางผู้อื่น เมื่อเขาบอกว่า เขาไม่สามารถควบคุมทุกคนได้ มันทำลายความสามารถของทุกคน บุคคลเหล่านี้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาหลายปี ฟีฟ่า กลายเป็นองค์กรที่เสื่อมศรัทธา หาก แบล็ตเตอร์ กังวลเรื่องฟุตบอลเป็นอย่างน้อย เขาควรจะยอมแพ้การเลือกตั้ง หรือมีจริยธรรมสักหน่อย ก็น่าจะลาออกอีก 2-3 วันข้างหน้า”

    ฟิโก้ เดาผิด ... แต่เป็นการเดาผิดไปแค่วันเดียว แบล็ตเตอร์ ประกาศลาออกใน 4 วันหลังจากนั้น

    "ผมตรึกตรองอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับการเป็นประธานของผม และ 40 ปีที่ฟีฟ่ามีบทบาทกับชีวิตผม ผมรักฟีฟ่ามากกว่าอะไร และเพียงต้องการทำให้ดีที่สุด ผมตัดสินใจเข้าสู่การเลือกตั้งอีกครั้งเพื่อนำสิ่งดี ๆ มาสู่ฟุตบอล" นี่คือสิ่งที่เขาแถลงในค่ำคืนที่หมดอำนาจ

     15

    การต่อสู้กับคดีความต่างๆของ แบล็ตเตอร์ ที่คั่งค้างมาเป็นสิบๆปียังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่ตอนนี้เขาไม่ได้สวมหัวโขนท่านประธานอีกแล้ว ซึ่งนั่นอาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ทุกวันนี้ แบล็ตเตอร๋์ โดนแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลเป็นเวลา 8 ปี (ก่อนจะได้รับการลดโทษเหลือ 6 ปีในปี 2016)

    นับเวลาแล้ว กว่าที่แบล็ตเตอร์จะพ้นโทษแบนก็ปาเข้าไปปี 2022 ซึ่งมันมากเกินกว่าจะเป็นช่วงเวลาที่จะกลับมาชิงอำนาจเเล้ว เมื่อถึงตอนนั้นเขาจะมีอายุมากถึง 85 ปี ดังนั้นช่วงเวลาที่ห่างหายก็ถือเป็นช่วงโอกาสที่ดีที่เขาจะได้ทบทวนสิ่งต่างๆที่เคยทำ ... สุดท้ายโลกนี้อะไรก็ไม่แน่นอน อำนาจอยู่ในมือแท้ๆ เขาก็ต้องทิ้งไปทั้งๆที่พยายามดิ้นรนมาครองเเทบตาย

    แต่เรื่องแบบนี้จะโทษใครได้ล่ะ?

    อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ ศึกชิงเก้าอี้ทองคำ : เมื่อฟุตบอลไม่ยอมให้ แบล็ตเตอร์ โกงเลือกตั้ง...อีกต่อไป