ทวงคืนเสื้อหมายเลข 12 จากแฟนบอลไทยลีก?

ทวงคืนเสื้อหมายเลข 12 จากแฟนบอลไทยลีก?

ทวงคืนเสื้อหมายเลข 12 จากแฟนบอลไทยลีก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฟนคลับมักถูกนิยามจากสโมสรในไทยลีกว่า พวกเขาคือ “ผู้เล่นคนที่ 12” และสิ่งที่หลายๆทีมปฏิบัติคล้ายกัน คือ การรีไทร์หมายเลข 12 ให้แก่แฟนคลับ

คงไม่มีลีกอาชีพไหนในโลก ที่มีการยกเลิกเสื้อหมายเลข 12 ให้กับแฟนบอลตัวเองมากเท่าที่ ไทยลีก จากข้อมูลพบว่า ในฤดูกาล 2018 สโมสรจากศึก ไทยลีก 1 ทั้ง 18 ทีมได้เว้นเบอร์ 12 ไว้ทั้งหมด ส่วนในไทยลีก 2 มีเพียง 3 สโมสรเท่านั้นที่ใช้เบอร์ 12 ได้แก่ เกษตรศาสตร์ เอฟซี, ระยอง เอฟซี และกระบี่ เอฟซี

ในมุมหนึ่ง นั่นแสดงให้เห็นว่า “เมืองไทย” เป็นสังคมลูกหนังที่ให้คุณค่าแก่ แฟนคลับของตนเอง ถึงขนาดยอมสละเบอร์เสื้อ เบอร์ 12 แก่สาวกของสโมสรได้

เพราะในทางกลับกัน การรีไทร์เบอร์เสื้อในสังคมฟุตบอลต่างแดน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากมาก นอกเสียจาก นักฟุตบอลคนนั้นเป็นผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ ทำคุณประโยชน์ อุทิศตัวเพื่อสโมสรอย่างแท้จริง หรือเสียชีวิตไปแล้ว

ช่วงหลายปีหลัง ภาพของนักฟุตบอลที่ใส่เสื้อหมายเลข 12 ลงเล่นฟุตบอลอาชีพในบ้านเรา เริ่มหดหายไป จนกลายเป็นเรื่องแปลก หากเราเปิดทีวี หรือเข้าไปชมเกมในสนาม แล้วเห็นว่ายังมี นักเตะใส่เบอร์ 12 อยู่

ถึงแม้ว่า สโมสรฟุตบอลในไทย จะยกย่องแฟนบอลไว้อย่างสูง ด้วยการยกเลิกหมายเลข 12 ให้แฟนคลับ แบบที่สโมสรเมืองนอกไม่กล้าทำ

แต่เหตุใด ตัวเลขผู้ชมในสนาม ยอดขายสินค้าที่ระลึก ของหลายๆสโมสรที่รีไทร์ กลับลดลง หรือการยกเลิกเสื้อ 12 ไม่ได้ส่งผล ที่จะทำให้ แฟนคลับ ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรโดยแท้จริง จนพร้อมจะเข้ามาสนับสนุนทีมตลอดไป

Law of Attraction

สโมสรฟุตบอล นอกเหนือจากก่อตั้งมาเพื่อส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน สโมสรฟุตบอล  ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอะไรบางอย่างทางสังคม

 1

การเลือกสนับสนุนสโมสรใดสโมสรหนึ่งของมนุษย์ จึงเกี่ยวพันกับพื้นฐานชีวิต และความรู้สึกนึกคิด ของคนๆนั้น

ทีมฟุตบอล จึงมีแรงดึงดูดที่ดึงคนที่มีความชอบคล้ายๆกัน เข้ามาอยู่ในสถานที่เดียวกัน ผ่านทีมฟุตบอลที่เป็นตัวแทนของ ชุมชน, เมือง, สถานะทางสังคม (ชนชั้น), ความเชื่อ, รสนิยม, ภาษา ฯ  อาจรวมถึง สไตล์การเล่น และความสำเร็จของสโมสร ที่จะเป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดชั้นดี

บางคนชอบดูฟุตบอลเพราะคิดว่ามันเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง ก็อาจไม่ชอบทีมที่เล่นฟุตบอลน่าเบื่อ บางคนชอบบรรยากาศของชัยชนะ มากกว่าความพ่ายแพ้ ก็มีโอกาสที่จะเป็นสาวกของทีมฟุตบอลที่ได้แชมป์เยอะ มากกว่าเชียร์ทีมรองบ่อน หรือบางคนชอบเชียร์ทีมนอกสายตา และมีความสุขกับแค่เห็นทีมเล่นดี เท่านั้น โดยไม่ได้ยึดติดเรื่องความสำเร็จ ชัยชนะ

ช่วงเวลา 90 นาทีในเกมฟุตบอล ที่สโมสรสามารถดึงดูดกลุ่มคนแบบเดียวกัน เข้ามาอยู่ที่เดียวกันได้ ทำให้ สังคม วัฒนธรรมการเชียร์ เกิดขึ้นและเติบโตจากตรงนี้

จากการมาเชียร์ฟุตบอลแบบ ปัจเจกบุคคล ที่ต้องการมาสนับสนุนทีมที่เป็นตัวแทนของตนเอง กลายเป็นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ร้องเพลงเดียวกัน ร่วมกันส่งเสียงเชียร์สโมสรเดียวกัน ในทางฟุตบอลเราเรียกคนจำพวกนี้ว่า “แฟนคลับ”

แม้ว่าฟุตบอลไทยลีก ได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1996 แต่ลักษณะของแฟนคลับสโมสรฟุตบอล ยังไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น จนกระทั่งมีการรวมลีกระหว่าง โปรวินเชียล ลีก กับ ไทยลีกเดิม มาไว้ด้วยกัน และสโมสรฟุตบอลเริ่มขยายตัวออกไปในต่างจังหวัดมากขึ้น ไม่ได้กระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ

ทำให้กระแสลีกอาชีพไทย ค่อยๆบูมขึ้น นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 10 ปีพอดี ที่แต่ละสโมสร เติบโตขึ้น มีกองเชียร์เป็นของตัวเอง

กลุ่มแฟนคลับเหล่านี้ จะทำกิจกรรมเชียร์ร่วมกัน ตั้งแต่ก่อนเริ่มเกมจนจบเกม รวมถึงแสดงออกผ่านพฤติกรรมการเชียร์ เช่น การเปล่งเสียง ตะโกน ร้องเพลง เพื่อส่งพลังให้กับนักฟุตบอลทีมตนเอง หรือส่งเสียงโห่ ด่า เพื่อกดดันผู้เล่นคู่แข่ง แม้ในสายตาคนที่ไม่ได้อินกับฟุตบอล อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลมากนัก ที่ต้องเสียเงินค่าบัตร ไปแหกปากตะโกนให้เจ็บคอ

 2

แต่สำหรับแฟนคลับ หากเสียงของพวกเขา สามารถช่วยให้ นักฟุตบอล วิ่งได้มากขึ้น ฮึดขึ้นมาอีกนิด พวกเขาไม่ลังเลใจที่จะทำมัน แกนนำเชียร์บางคน เสียเงินซื้อบัตรทุกนัด แต่เลือกที่จะหันหลังให้กับสนามฟุตบอล โดยไม่ได้ดูบอลเลยตลอดทั้งเกม เพื่อร้องเพลงเชียร์สโมสร

สังคมการเชียร์ฟุตบอล เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆตามกาลเวลา จนดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่าง แฟนคลับ กับสโมสรฟุตบอลในไทย ตัดกันไม่ได้ ขายไม่ขาด?

ในความใกล้ มีระยะห่าง

หากผู้อ่านมีโอกาสได้ชมเกมฟุตบอลไทยลีก ในสนาม หรือดูผ่านการถ่ายทอดสด สิ่งที่ผู้อ่านคงเห็นด้วยสายตาคือ สโมสรกับแฟนบอล มีระยะห่างกันแค่อัฒจันทร์กั้นเท่านั้น เพราะทุกทีมมีกองเชียร์เป็นของตัวเอง...แต่ถ้ามอง ในแง่ความรู้สึก ระหว่างสโมสรกับแฟนบอล เราพบว่าสองอย่างนี้ เริ่มมีระยะห่างกันออกไปเรื่อยๆ

 3

ในช่วงที่ ไทยลีกยุคใหม่ กำลังเริ่มเฟื่องฟู สโมสรต่างๆ พยายามเร่งเติบโตขึ้น ในทุกๆด้าน เพื่อต้องการให้มีคนเข้ามาเชียร์ สนับสนุนทีมของตัวเอง บางสโมสรใช้สปอนเซอร์ที่มาจากท้องถิ่น คลื่นมวลชนเข้ามาสนับสนุนในแต่ละสนาม เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากแต่เดิมที่เตะสนามกลาง มีแค่คนดูหลักร้อย ถึงหลักพันต้นๆ

ช่วงเวลานั้นมีการจัดกิจกรรม ใช้สื่อประชาสัมพันธ์ เชิญชวนกันแฟนบอลอย่างเต็มเหนี่ยว บางสนามลดแลกแจกแถม ราคาค่าตั๋วถูกมาก บางสโมสรมีรถรับ-ส่ง บางทีมแจกเสื้อเชียร์ เสื้อแข่งด้วยซ้ำ 

ประกอบกับแฟนบอลเหล่านั้น ต่างมีเชื้อเพลิงที่จุดติดง่าย เพราะสโมสรที่เคยเป็นของเอกชน เป็นของหน่วยงานธุรกิจ ถูกแปรสภาพเป็นทีมท้องถิ่น ทีมจังหวัดที่ก่อตั้งใหม่ ก็บูมขึ้นได้รวดเร็ว จนเกิดกระแสท้องถิ่นนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง

ผลที่ตามมาจากการเติบโตที่ก้าวกระโดดของลีกไทย คือเรื่องเงินลงทุนที่สโมสรต้องหาเพิ่มขึ้น สโมสรจวิ่งเข้าหาสปอนเซอร์มากขึ้น เพราะทีมจำเป็นต้องอยู่ด้วยเม็ดเงินก้อนใหญ่จากนายทุน และสปอนเซอร์แบรนด์ใหญ่ๆ ในช่วงเวลาต่อมาที่การแข่งขันสูงขึ้น 

“เหตุผลหลักที่ผมเชียร์ เชียงราย ยูไนเต็ด เพราะนี่คือทีมบ้านเกิดผม เรื่องเสื้อหมายเลข 12 ของกองเชียร์ ไม่มีความหมายสำหรับผมเลย กองเชียร์ 70-80 เปอร์เซนต์ของสโมสรเป็นคนเชียงรายโดยเนื้อแท้ สำหรับผมขอแค่มีคำว่า เชียงรายอยู่ ผมก็ยังเชียร์ต่อไป ไม่ได้เกี่ยวกับเบอร์เสื้อ หรือว่าทีมเรามีนักบอลซูเปอร์สตาร์” บุ๋ม - วงศ์สกุล รุ่งเรือง แฟนคลับเชียงราย ยูไนเต็ด กล่าวเริ่ม

“แต่ต้องยอมรับว่า ลีกอาชีพบ้านเรายังมีความเป็นมืออาชีพจริงๆ อยู่น้อย สโมสรส่วนใหญ่อิงกับสปอนเซอร์ มากกว่าแฟนบอล เพราะเขามองผิดมุม มองว่ารายได้จากแฟนบอลเป็นแค่ส่วนน้อย ก็ต้องเอาใจสปอนเซอร์เจ้าใหญ่ๆ ที่ให้เงินมากกว่า”

“ผมมองเป็นกลาง แบบคนที่เข้าใจสโมสรนะ ผมตีตัวเลขคร่าวๆ เตะในบ้านเต็มที่ สโมสรได้เงินไม่เกิน 2 ล้านบาท เดือนหนึ่งเตะ 2 นัด ปีหนึ่งสโมสรได้เงินจากแฟนบอลไม่เกิน 30 ล้านบาท  เพราะค่าจ้างสตาฟฟ์โค้ช นักเตะแต่ละปีสูงมาก ไม่ผิดที่สโมสรจะต้องยึดสปอนเซอร์เป็นหลัก แต่คำว่าท้องถิ่นนิยม และความผูกพันจะค่อยๆหายไป ถ้าเราไม่ได้พูดคุยสื่อสารกัน ในขณะที่คุณกินไวน์อยู่ในห้องกระจก แต่พวกเรานั่งกินเหล้าขาวอยู่หน้าสนาม”

 4

จิตกร ศรีคำเครือ คอลัมนิสต์และผู้บรรยายกีฬาต่างประเทศ เปรียบเทียบภาพของลีกไทย กับลีกยุโรป ที่เขาเคยไปสัมผัสในการประจำการทำข่าว ว่า มีความแตกต่างกันหลายด้าน และคงยากจะเอามาเทียบกันได้

เนื่องจาก ลีกต่างประเทศที่ได้รับความนิยม ใช้เวลาเป็นร้อยปี บ่มเพาะ จนการเชียร์กลายเป็นวัฒนธรรม แต่ในเมืองไทยเพิ่งเริ่มต้นแค่ไม่กี่ปี รวมถึงบริบท ลักษณะ อัตลักษณ์ของคนไทย ก็ไม่เหมือนชาวตะวันตก

“สโมสรบ้านเราพยายามไปให้ถึงจุดนั้นเร็วไปนิดนึง ทั้งที่เรื่องพวกนี้ (การยกเลิกเบอร์เสื้อ) เป็นรายละเอียดปลีกย่อยมาก ไม่ใช่ว่าทุกสโมสรต้องรีไทร์หมายเลข 12 ให้กับแฟนบอล ซึ่งฝรั่งเขาแทบไม่ได้มองจุดนี้เลยด้วยซ้ำ อย่างเลสเตอร์ สิ่งที่เขาทำมาตลอด คือการทำกิจกรรมการกุศล การช่วยเหลือชุมชน ไปตามสถานสงเคราะห์ โรงพยาบาล ทำให้คนในเมืองรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสโมสร เขาไม่ได้ยกเลิกเบอร์ 12 แต่ก็เห็นได้ว่า คนในเมืองรักสโมสรมากแค่ไหน”

“บ้านเรายังมีค่านิยมที่เวลาเห็นอะไรเวิร์ค อะไรดี ก็เห่อทำตามกัน เช่น สินค้าอะไรกำลังอยู่ในกระแส ก็จะแห่ไปซื้อมาขาย ปลูกผลไม้นี้ดี ก็แห่ปลูกตามกัน การยกเลิกเบอร์ 12 ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่สะท้อนค่านิยม ที่เห็นว่ามีสโมสรไหนทำแล้วมันเวิร์ค ก็ทำตาม"

"แต่อย่างที่เห็น พอยกเลิกแล้วยังไงต่อ ไม่มีแผนว่าปีหนึ่ง ควรทำยังไงดี ในขณะที่สโมสรในเยอรมัน เขาจะเชิญตัวแทนแฟนบอลมาร่วมประชุม แผนประจำปีของสโมสรด้วย เมืองไทย อาจคิดว่ารีไทร์เบอร์ 12 ยกย่องว่าเป็นผู้เล่นคนที่ 12 แล้วจบ ซึ่งความจริงบริบทของแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าสิ่งที่สโมสรหนึ่งในไทยทำ มันจะเวิร์คเสมอไป เวลานำมาใช้กับทีมตัวเอง”

 5

ค่านิยมดังกล่าว สอดคล้องกับพฤติกรรมการเชียร์ของแฟนบอล หากเคยได้ยินการร้องเพลงเชียร์ ของหลายๆสโมสรในไทย จะพบว่าทำนอง เนื้อเพลงส่วนมาก เป็นเพลงเดียวกัน มีการเปลี่ยนแค่ชื่อทีมเท่านั้น เช่น “วี อาร์…? วี เชียร์...? วี อาร์…? วี เชียร์…? ล้าล๊าลาล่า ล้าลาล่าล๊า ล้าล๊าลาล่า ล้าลาล่าล๊า”

ว่ากันว่าหลายๆเพลงเชียร์ที่เราได้ยินในฟุตบอลไทยลีก ถูกดัดแปลงมาจาก เพลงเชียร์สโมสรญี่ปุ่น และทีมในยุโรปอีกที อย่างที่เห็นชัดล่าสุด แฟนคลับ จะทำการโห่-รับส่งกัน รวมถึงการปรบมือแบบ Viking Clap ที่หลายสโมสรในไทย นำมาใช้  

ถึงกระนั้นต้องยอมรับว่า วัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอลอาชีพในไทย เพิ่งเริ่มต้นมาได้อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้แค่ 10 ปี เท่านั้น ต่างจากในยุโรปที่สร้างกันมาเป็นร้อยปี จนเชียร์กันเป็นธรรมชาติ สามารถดัดแปลง เนื้อร้องใหม่ ขึ้นมาได้ตลอด ในท่วงทำนองเดิมที่ทุกคนร้องตามกันได้

เรื่องการรีไทร์เบอร์ 12 ก็เป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมที่ว่ามา  โดยไอเดียนี้มีจุดกำเนิดขึ้นจาก ชลบุรี เอฟซี ที่ประกาศยกเลิกหมายเลข 12 อย่างเป็นทางการในปี 2008 ซึ่งมี เนย์ ฟาเบียโน เป็นผู้เล่นคนสุดท้ายที่ได้สวมใส่เบอร์ดังกล่าว

ช่วงเวลานั้น ฉลามชล ได้รับการยอมรับว่าเป็น สโมสรท้องถิ่นนิยม ที่มีแฟนบอลตามไปเชียร์อย่างเหนียวแน่นทุกที่ จนได้รับการขนานนามว่า กองเชียร์ชลบุรี คือ ผู้เล่นคนที่ 12 ของพวกเขา

แต่ที่น่าจะทำให้กระแสรีไทร์เสื้อเบอร์ 12 แก่กองเชียร์ฮิตขึ้นมา คงต้องยกให้เป็น กลุ่มกองเชียร์ GU12 ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่รีไทร์เบอร์ดังกล่าว ด้วยลักษณะการเชียร์ที่เฉพาะตัว บวกกับความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของสโมสร ทำให้เวลาต่อมา ทีมต่างๆเริ่มทยอยยกเลิก หรือเว้นเบอร์ 12 ไว้ให้กับกองเชียร์ ทั้งแบบอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ

 6

จนสังคมฟุตบอลไทย เข้าใจได้ว่า เบอร์ 12 คือ หมายเลขของกองเชียร์ แคมเปญดังกล่าวไปไกลกว่าสโมสร เพราะเมื่อช่วงเดือน มีนาคม ปี พ.ศ.2561 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้ประกาศยกเลิกเบอร์ 12 ของทีมฟุตบอลทีมชาติไทย โดยมีการเว้นเบอร์เสื้อดังกล่าว ในการแข่งขันศึกชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ ครั้งที่ 46 

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวว่า “ช้าง และสมาคมฯ ให้ความสำคัญกับแฟนฟุตบอลไทยเป็นอย่างมาก มีความเห็นตรงกันที่จะทำการรีไทร์เสื้อทีมชาติไทยเบอร์12 ให้กับแฟนบอลไทยทุกคน เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าคนไทยจะร่วมกันส่งเสียงเชียร์ทีมชาติไทย ไม่ว่าจะเชียร์ที่สนามหรืออยู่หน้าจอ เสียงจากแฟนบอลไทยทุกคนจะถูกส่งถึงนักฟุตบอลอย่างแน่นอน และจะเป็นกำลังใจให้กับนักฟุตบอลในสนามทุกคน เชื่อว่าจะสู้กับทีมใดก็ได้ในโลกนี้”

“สำหรับเสื้อช้างศึกเบอร์ 12 ออกแบบมาเพื่อแฟนบอลชาวไทยในการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพ ครั้งที่ 46 โดยเฉพาะ และถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะปลุกพลังให้คนไทยลุกขึ้นเชียร์ฟุตบอลไทยให้ดังกระหึ่มทั่วสนามอีกครั้ง”

 7

แม้ในทางปฏิบัติทัวร์นาเมนต์ที่ได้รับการรองรับจาก ฟีฟ่า จะไม่สามารถทำการยกเว้นเบอร์ได้ก็ตาม เหมือนอย่างที่ อาร์เจนตินา ถูกปฏิเสธจากการยื่นเรื่องขอรีไทร์เบอร์ 10 ของ ดิเอโก มาราโดนา รวมถึง แคมมารูน ที่พยายามยื่นเรื่องขอรีไทร์เบอร์เสื้อของ มาร์ค วิเวียน โฟเอ้ ดาวเตะที่เสียชีวิตคาสนามระหว่างรับใช้ทีมชาติ ก็ถูกปฏิเสธจากฟีฟ่าเช่นกัน

พลพงศ์ จันทร์อัมพร หัวหน้ากองบรรณธิการ สำนักข่าว โกล ประเทศไทย แสดงความเห็นกับเราว่า การที่สโมสร ยกเลิกเบอร์ 12 แก่แฟนคลับไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่สโมสรปฏิสัมพันธ์กับแฟนบอลน้อยเกินไป จนดูเหมือนว่าไม่ได้จริงใจ หรือแคร์แฟนบอล ขนาดที่สามารถรีไทร์เบอร์เสื้อให้ได้

“เท่าที่ผมรู้มา ผมมองว่าสโมสรในไทย มีปฏิสัมพันธ์กับแฟนบอลตัวเองน้อยเกินไป เข้าถึงยาก ลองเทียบกับ เซเรโซ โอซาก้า เขายังพยายามจัดแฟนมีตติ้งในไทยเลย เพื่อให้คนไทยที่ตามทีมเขา มีกิจกรรมร่วมกับสโมสร ได้ถามคำถาม ได้พูดคุยกัน”

“อย่างในต่างประเทศ เขาจะมีการจัด Fan’s Forum เปิดโอกาสให้ตัวแทนแฟนคลับ มาตั้งคำถามพูดคุยกับ ประธานสโมสร, โค้ช นักเตะ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สโมสรรับฟังเสียงของแฟนบอลนะ”

“รวมถึง Kid’s Forum ที่ให้เด็กๆยิงคำถามนักเตะ อย่างกรณีของ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ประธานสโมสร (เดชพล จันศิริ) บอกกับแฟนคลับในงาน Fan’s Forum ว่าเขากำลังพยายามหาทางขายสโมสรอยู่นะ ผมคิดว่าตอนนี้ ส่วนที่ขาดหายไประหว่างสโมสรในไทยลีกกับแฟนบอล คือการปฏิสัมพันธ์กัน”

แค่รีไทร์หมายเลข 12 ไม่พอ?

สำหรับคนที่ไม่ใช่สาวก GU12 และเป็นแฟนคลับของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อาจเคยสงสัยและมีความรู้สึกว่า เหตุใด “ปราสาทสายฟ้า” ถึงต้องเอานักฟุตบอลในสังกัด มาร้อง เล่น เต้น รำ บนเวที ให้แฟนบอลได้ดู ในงานปีใหม่ หรือตามเทศกาลต่างๆ แบบที่สโมสรอื่นในประเทศ ไม่คิดทำ

 8

ไม่หนำซ้ำ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ยังเป็นเพียงไม่กี่สโมสรในไทยที่ระบุในสัญญาว่า นักฟุตบอลต้องทำกิจกรรมร่วมกับสโมสร รวมถึงต้องแจกลายเซ็น ถ่ายรูปกับแฟนบอล อีกด้วย หลายๆ อีเวนต์ที่สโมสรลงทุนในแต่ละปี ที่ไม่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล ตีตัวเลขกลมๆ คงไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งดูเป็นการจ่ายเงินแบบไร้สาระ แทนที่จะเอาส่วนนี้ไปกับการลงทุนซื้อนักฟุตบอล

แต่ผลที่ได้กลับมา ในฤดูกาล 2018 บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด วินทั้งในและนอกสนาม นอกเหนือจากแชมป์ไทยลีกสูงสุดสมัยที่ 6 พวกเขายังสร้างสถิติใหม่ เป็นทีมที่มียอดผู้ชมสูงสุดในประวัติศาสตร์ ไทยลีก ในเกมกับ พัทยาฯ ด้วยตัวเลขผู้ชม 34,689 คน และมียอดค่าเฉลี่ยผู้ชมรวมตลอดทั้งฤดูกาล สูงสุดในลีก อยู่ที่ 13,000 คนต่อนัด

แถมยังเป็นทีมที่มียอดจำหน่ายสินค้าที่ระลึกสูงสุดในไทย ตัวอย่าง ในช่วงสงกรานต์ ปี 2561 บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีการจัดเทศกาลสงกรานต์หน้าสนาม ปรากฏว่าช่วงเวลาแค่ 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-17 เมษายน บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทำรายได้จากการขายสินค้าที่ระลึกถึง 17 ล้านบาท

ส่วนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่สโมสรจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ปราสาทสายฟ้า สามารถจำหน่ายเสื้อแข่งฤดูกาล 2019 ได้ถึง 180,000 ตัว หรือคิดเป็นเงินอยู่ที่ 106,200,00 บาท เรียกว่าได้เงิน 100 ล้านบาท จากแฟนบอล โดยที่ยังไม่ได้เริ่มต้นฤดูกาลแข่งขันด้วยซ้ำ

 9

“สโมสรต้องเข้าใจก่อนว่า ทรัพย์สินที่มีค่าสุดของพวกเขา คือนักฟุตบอล เพราะเป็นส่วนที่สโมสรลงทุนเยอะที่สุด ในการจ่ายค่าตัว ค่าจ้าง ถ้าคิดแบบธรรมชาติที่สุดคือ จ้างมาแล้วก็ต้องใช้ให้คุ้มที่สุด แต่สโมสรในไทยเปลี่ยนแปลงนักเตะกันบ่อย ใช้แล้วเปลี่ยน ใช้ไม่ค่อยคุ้มในแง่ของการตลาด”

“ยกตัวอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด เขาจะจ้างพวกนักฟุตบอลระดับตำนาน มาทำหน้าที่ ฑูตสโมสร หน้าที่คือพากรุ๊ปทัวร์ไปเยี่ยมชมสนาม แฟนบอลก็รู้สึกดี เพราะรู้สึกว่าตัวเองได้ โดยไม่ต้องร้องขอ สโมสรต้องรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มที่สุด ไม่ใช่บอกว่า ราคานักฟุตบอลเฟ้อ แต่ตัวเองก็ไม่ได้เก็บเกี่ยวอะไรจากนักเตะเลย”

“ถ้าสโมสรขายสินค้าที่ระลึกไม่ได้ วิธีที่ง่ายสุดเลยนะ คือเอานักบอลมาช่วยขาย ยังไงก็ขายได้ เพราะสำหรับแฟนบอล นักฟุตบอลเป็นเหมือนดารา ศิลปิน ไอดอลคนหนึ่ง ที่เราไม่มีโอกาสได้เจอบ่อยๆ แต่หากมีโอกาสที่สามารถเข้าถึงได้ พูดคุยได้ ได้เจอ ได้ทักทาย แลกกับเสียเงินซื้อเสื้อตัวละไม่กี่ร้อย ยังไงเขาก็พร้อมจ่าย ขนาดสโมสรระดับโลกอย่าง เรอัล มาดริด เวลาเปิดตัวนักบอล เขายังเปิดสนามให้แฟนบอลท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมเลย”

“แต่ละพื้นที่ต้องรู้จักประยุกต์ให้เข้ากับ รสนิยม ของคนในพื้นที่ ผมเชื่อว่าเจ้าของทีมส่วนใหญ่ ก็เป็นคนในท้องถิ่นนั้นๆอยู่แล้ว ย่อมรู้ดีว่าคนในพื้นที่ต้องการอะไร ผมมองว่ารูปแบบกิจกรรมแฟนมีต เป็นสิ่งที่น่าทำ และทำได้ง่ายสุด เพราะใช้ต้นทุนน้อยมาก คุณไม่จำเป็นต้องจัดเวที งานใหญ่โต แค่มีพื้นที่ให้แฟนบอลได้มาทำกิจกรรมร่วมกันกับนักเตะ กับสโมสร ก็พอ” พลพงศ์ จันทร์อัมพร จากโกล ประเทศไทย กล่าว

 10

โมเดลของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ ตรงที่สโมสรสามารถทำให้คนทั้งจังหวัด เป็นส่วนหนึ่งของสโมสรได้ ไม่ใช่แค่คนที่ชื่นชอบการดูฟุตบอล

บางคนอาจไม่ได้อยากเข้าสนามไปดูบอล แต่อยากมาร่วมกิจกรรมงานวันเด็ก เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์  ที่สำคัญกิจกรรมต่างๆ เป็นงานที่สโมสรไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากแฟนบอล แต่ใช้วิธีการขอการสนับสนุนจาก สปอนเซอร์ที่สนับสนุนทีมอยู่แล้ว มาจัดกิจกรรมเพื่อคนในจังหวัด ซึ่งสปอนเซอร์ต่างแฮปปี้ที่จะจ่าย เพราะในแต่ละงานมีคนเรือนหมื่น เรือนแสน เข้าร่วมกิจกรรม

แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกสโมสรต้องจัดคอนเสิร์ตเทศกาล อีเวนต์ให้ใหญ่แบบบุรีรัมย์ ยกตัวอย่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด หากจัดงานลักษณะเดียวกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็คงไม่เข้ากับกลุ่มแฟนคลับตัวเอง ที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นสโมสรต้องตีโจทย์ให้แตกว่า แฟนคลับของตนเองเป็นใคร และทำยังไงให้คนทในท้องถิ่น สนับสนุนทีมได้ โดยที่ไม่ต้องจำเป็นเข้าสนาม แบบที่บุรีรัมย์ สร้างรายได้มหาศาลจากการขายสินค้าที่ระลึก

ทาเกะยูกิ โอยะ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการสร้างสัมพันธ์นานาชาติของเจลีก อธิบายถึงสิ่งที่ สโมสรเจลีกปฏิบัติกับแฟนบอล และน่าทำมาใช้ที่เมืองไทย  “เอาจริงๆ ในแง่ของการตลาดสโมสรไทยลีกทำงานกันได้ดีมากนะส่วนใหญ่ และพวกเขาก็ดูมีโอกาสจะพัฒนาได้มากขึ้นไปอีก แต่สิ่งที่จำเป็นอีกอย่าง คือ ทุกๆ สโมสรควรมีกิจกรรมที่เข้าถึงแฟนบอลมากกว่านี้ อาจจะเป็นลักษณะของการบุกโรงเรียนในชุมชน ที่ญี่ปุ่นเราทำอะไรแบบนี้กันเยอะเลยล่ะ ในทุกๆ วันจันทร์แต่ละสโมสรจะส่งนักฟุตบอลไปโชว์ตัวที่โรงเรียนในชุมชน”

 11

“อาจไม่จำเป็นต้องเป็นนักฟุตบอลดังระดับซูเปอร์สตาร์ของทีมเสมอไปก็ได้ แต่ไปปรากฏตัวไปสร้างความคุ้นเคย ไปทำให้พวกเขารู้จักตัวตน มันดีกว่าการรอให้เด็กๆ เหล่านั้นเข้ามาดูเกมที่สนามเฉยๆ แน่”

“จุดนี้ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นจุดอ่อนของหลายๆสโมสรในไทยลีกนะ อย่าเข้าใจผิด แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ถ้าเพิ่มเติมเข้าไป มันคงช่วยเรื่องการเข้าถึงแฟนบอลได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ทีมระดับรากหญ้ามากกว่าที่ต้องสื่อสาร และมีปฏิสัมพันธ์กับแฟนบอลท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่กับแค่ที่ไทยนะ ญี่ปุ่นเราก็ไม่หยุดพัฒนาเช่นกัน”

ในมุมมองของแฟนคลับ วงศ์สกุล รุ่งเรือง สาวกเชียงราย ยูไนเต็ด ชี้ว่า สโมสรสามารถทำการตลาด ทำธุรกิจ ควบคู่กับการเติบโตพร้อมๆกับกองเชียร์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ควรรับฟังเสียงจากแฟนบอลเพื่อปรับปรุง พัฒนาทีม เพราะปัจจุบันกลุ่มกองเชียร์สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากสโมสร

“จริงๆ วิธีการเอาใจแฟนบอลนี่โคตรง่ายนะ คนที่เขาเชียร์จริงๆ เขาไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมายเลย  ไม่ได้ต้องการเบอร์เสื้อหมายเลข 12 เราไม่ได้ต้องการเงินจากสโมสร เพราะพวกเราจ่ายเงินซื้อค่าตั๋วทุกนัด พวกเราคือกลุ่มคนที่สนับสนุนสโมสร แต่สิ่งที่เราต้องการ ขอแค่ให้มีการอำนวยความสะดวกในแต่ละเกมเท่านั้น”

“มีคนบอกว่า ตั๋วฟุตบอลใบละ 200 บาท ถูกกว่าบัตรชมหนังที่เมเจอร์ แต่คนดูหนังมากกว่า ก็ลองเทียบความสะดวกสบายสิ นั่นแหละคือสิ่งที่แฟนบอลต้องการ เราต้องการห้องน้ำที่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้หญิง เกมหนึ่งมีคนมาดูหลักพัน ผู้หญิงต้องต่อแถวยาวๆ เพื่อรอคิวห้องน้ำ เพิ่มได้ไหมสัก 3 ห้องของผู้หญิง หรืออย่างที่จอดรถ มีเจ้าหน้าที่ คอยดูแลความสะดวกให้แฟนบอลที่ขับรถมา ขอแค่นี้เลย”

“การหาสปอนเซอร์ได้เยอะๆ ไม่ได้ความหมายว่า ต้องทิ้งแฟนบอลไว้ตามมีตามเกิด มันสามารถเดินหน้าควบคู่ไปได้ อาจจะธุรกิจ 70 เปอร์เซนต์ อีก 30 เปอร์เซนต์เป็นแฟนคลับ แฟนคลับเขาไม่ได้โง่นะ แต่เหมือนอยู่ในภาวะจำยอม มีดีกว่าไม่มี  จริงๆ ตั้งแต่ผมเชียร์มา สโมสรเคยจัดประชุมให้แฟนคลับถามแค่ครั้งเดียว แต่พอสโมสรตอบไม่ค่อยได้ ก็ไม่เคยจัดอีกเลย ผมว่าสโมสรควรต้องมีการพูดคุยกับแฟนคลับ เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน รับฟังปัญหา เพื่อไปแก้ไข”

 12

เช่นกันกับความเห็นของ แฟนคลับการท่าเรือ เอฟซี ท่านหนึ่ง ที่ขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เบอร์ 12 ถ้าสามารถยกเลิกให้กับแฟนบอลได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่แฟนบอลต้องการมากที่สุด อาจไม่ใช่แค่เบอร์เสื้อเพียงอย่างเดียว

“ผมว่าสิ่งที่แฟนบอลท่าเรือต้องการจากสโมสรมากที่สุด คือเรื่องความสะดวกสบาย และสาธารณูปโภค ห้องน้ำ แฟนบอลท่าเรือเข้ามาเชียร์เพราะรักและผูกพันสโมสรนี้ แม้แต่ช่วงที่เราตกชั้น กองเชียร์มีหายไปแค่บางส่วน แต่อีก 80 เปอร์เซนต์เขายังอยู่”

“วันที่ตกชั้น เราเสียใจ ร้องไห้กันในสนาม แต่วันที่เลื่อนชั้น เรามีความสุขยิ่งกว่าได้แชมป์เสียอีก รู้ไหม ช่วงไหน ที่เรามีความสุขที่สุด นั่นเป็นช่วงที่ผู้บริหารทีมเราไม่ค่อยมีเงินนะ แต่ผู้บริหารลงมาคลุกคลี กอดคอ กินเบียร์กับเรา ผิดกลับตอนนี้เราเป็นทีมที่มีเงินลงทุน มีผู้เล่นดีๆเยอะ ลุ้นแชมป์ได้ แต่เรากลับรู้สึกว่า ระยะห่างระหว่างแฟนบอลกับผู้บริหารมีอยู่”

 13

เสื้อหมายเลข 12 ที่สโมสรยกเลิกให้แฟนบอล อาจไม่มีความหมาย หากปราศจากปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

พลพงศ์ จันทร์อัมพร หน.กองบรรณธิการ โกล ประเทศไทย มองว่า สโมสรฟุตบอล ที่ต้องการให้ความสัมพันธ์กับแฟนคลับยั่งยืน ควรต้องทำให้ แฟนบอลเกิดความรู้สึกว่า สโมสรแห่งนี้เปรียบเสมือน ครอบครัวเดียวกัน เพื่อนกัน ที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะร่วมทุกข์ ร่วมสุข ฉลอง ดีใจ ในวันที่ชนะ ร้องไห้ เสียใจ ในวันที่แพ้ไปด้วยกัน มากกว่าความสัมพันธ์แบบเทิดทูนบูชา ที่หากไม่เป็นดั่งหวัง อาจเลิกรากันไป

“การยกย่องว่าแฟนคลับเปรียบเสมือนผู้เล่นคนหนึ่ง ด้วยการยกเลิกเบอร์เสื้อ เป็นเหมือนการยกย่อง แบบเทิดทูนบูชามากกว่า สำหรับผม การบริหารทีมฟุตบอล ควรทำให้แฟนบอลรู้สึกว่าเป็นเหมือนคนในครอบครัว  ตรงนี้น่าจะทำให้แฟนบอลรู้สึกผูกพันได้มากกว่า ความรู้สึกที่สโมสรต้องมาเชิดชูตนเอง”

“เพราะไม่ว่าสโมสรใดๆ ก็ตาม ไม่มีทางที่จะเก่งได้ตลอดกาล มันต้องมีวันดาวน์ลงไป แม้ว่าสโมสรจะไม่ได้อยากให้ผลงานตกต่ำลงมา แต่ก็มีปัจจัยสารพัดที่ทำให้ ทีมฟุตบอลดาวน์ลงไปได้ แต่แฟนคลับที่ผูกพันกับสโมสร ไม่ว่ายังไงเขาก็ยังเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนทีมตลอดไป”

“ความผูกพันแบบเพื่อนกัน พี่น้องคนในครอบครัว มันยั่งยืนกว่า เพราะต่อให้วันหนึ่งที่เพื่อนเรามันไม่เก่ง ไม่ดี ผิดพลาดไปบ้าง เราก็ไม่ได้เลิกคบ และยังเป็นเพื่อนกับมันอยู่ ถ้าไม่ได้ทำเรื่องเลวร้าย หรือย้ายทีมหนี ผมว่าลักษณะความสัมพันธ์ของสโมสรกับแฟนคลับ ควรเป็นแบบนี้”

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ ทวงคืนเสื้อหมายเลข 12 จากแฟนบอลไทยลีก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook