หน้าที่รัฐหรือเอกชน? : ทำไมเด็กไทยเรียนฟุตบอลยังต้อง "เสียเงิน"

หน้าที่รัฐหรือเอกชน? : ทำไมเด็กไทยเรียนฟุตบอลยังต้อง "เสียเงิน"

หน้าที่รัฐหรือเอกชน? : ทำไมเด็กไทยเรียนฟุตบอลยังต้อง "เสียเงิน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอลโลกคือความฝันของแฟนฟุตบอลไทยทุกคน การได้ไปลุยการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกฟุตบอล คือเป้าหมายที่ทัพช้างศึกต้องการพุ่งชนมากที่สุด

หนึ่งในวิถีทางที่จะสานฝันการไปเล่นฟุตบอลโลก คือการพัฒนาระบบเยาวชน เพื่อสร้างยอดนักเตะที่จะทีมชาติไปลุยฟุตบอลโลก

ในขณะที่หลายประเทศได้ไป ฟุตบอลโลก ด้วยการลงทุนสร้างศูนย์ฝึกเพื่อพัฒนาแข้งรุ่นเยาว์ ประเทศไทยกลับไม่มีศูนย์ฝึกเยาวชน ที่จัดทำโดยภาครัฐแม้แต่เเห่งเดียว

 

ในทางกลับกัน เด็กไทยต้องเสียเงินจำนวนมาก ไปกับการเรียนฟุตบอลในปัจจุบัน เพื่อสานฝันการเป็นผู้เล่นของทีมชาติ

เหมือนว่าเป้าหมายในภาพมายาคติ กับการปฏิบัติจริงของวงการฟุตบอลไทยยังดูสวนทางโดยสิ้นเชิง และทีมชาติไทยต้องเสียโอกาสอะไรไปบ้าง กับการพัฒนาเยาวชนที่ไม่เป็นระบบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เพชรที่หายไป

ย้อนไปในอดีต หากเด็กสักคนมีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ การเดินตามความฝันของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

 1

แม้ฟุตบอลจะเป็นกีฬายอดนิยมของชาวไทยมาอย่างยาวนาน แต่วงการฟุตบอลไทยกลับไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐาน แบบที่ควรจะเป็น เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการสร้างนักฟุตบอลเขาสู่ระบบ

ในอดีตเด็กไทยจำนวนมาก ต้องทิ้งความฝันการเป็นนักฟุตบอล เพราะการสร้างนักฟุตบอลไทยที่ไม่เป็นระบบ และมีพื้นที่สำหรับการสร้างแข้งเยาวชนอย่างจำกัด

หากใครเกิดมามีพรสวรรค์ด้านลูกหนังติดตัว ถือว่าเป็นโชคดี เพราะมีโอกาสสูงที่จะได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนต่อกับโรงเรียนกีฬาประจำจังหวัด หรือเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ มาทดสอบฝีเท้ากับโรงเรียนชื่อดังในเมืองหลวงที่สนับสนุนด้านกีฬา เพื่อเป็นนักฟุตบอลประจำโรงเรียน

แต่หากเป็นเด็กที่ไม่ได้มีพรสวรรค์ด้านฟุตบอล ความฝันของการเป็นนักบอลอาชีพดูสิ้นหวัง เพราะไม่มีพื้นที่ให้เด็กกลุ่มนี้ได้พัฒนาฝีเท้าตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะฟุตบอลไทยในอดีตไม่มีมูลค่ามากพอที่จะทำให้ ภาคเอกชนหันมาเปิดโรงเรียนสอนวิชาฟุตบอล

ประกอบกับฟุตบอลไทยที่ยังเป็นแบบกึ่งอาชีพ เด็กหลายคนอาจมีพรสวรรค์ แต่หากมาจากครอบครัวที่มีฐานะหรือสามารถส่งให้เรียนหนังสือในระดับปริญญาตรีได้ เส้นทางของพวกเขามักจะไปจบกับการเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย มากกว่าไปเสี่ยงดวงบนเส้นทางลูกหนังที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

“สมัยก่อนไม่มีใครทำอคาเดมีฟุตบอล เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่อยากเป็นนักฟุตบอลมีฐานะยากจน เปิดอคาเดมีสอนคงไม่มีเด็กมาเรียน เด็กที่จะได้เรียนฟุตบอลคือมีพ่อเป็นนักฟุตบอล ส่วนพวกที่เหลือต้องหัดเตะบอลกันเอง ดูจากทีวี อาศัยครูพักลักจำ”

“ดังนั้นเด็กที่จะก้าวขึ้นเป็นนักฟุตบอลได้ ต้องมีทั้งความอดทน ความพยายาม และมีความรักที่อยากจะเป็นนักฟุตบอลจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะถอดใจ เลิกเล่นไปเสียหมด” อาจารย์ สมบัติ ลีกำเนิดไทย ผู้ก่อตั้ง อินเตอร์ ไทยแลนด์ อคาเดมี โรงเรียนสอนฟุตบอลชื่อดังในเมืองไทยที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 10 ปี ให้ข้อมูลกับ Main Stand

 2

ความไม่พร้อมของฟุตบอลไทยที่ขาดความเป็นมืออาชีพ ทั้งการสร้างเยาวชน และการสร้างความมั่นคงในอาชีพของนักฟุตบอล เด็กไทยจำนวนมากต้องสูญเสียความฝันการเป็นนักฟุตบอลในวัยเยาว์

สุดท้ายการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เปิดโอกาสให้เพียงคนบางกลุ่มที่มีพรสวรรค์ และพร้อมเสี่ยงวางอนาคตของตัวเองกับการเป็นนักบอลอาชีพเท่านั้น ทั้งที่เด็กทุกคนที่มีความฝันอยากเป็นนักบอล ควรได้เข้าสู่ระบบการสร้างนักบอลเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าดีพอจะอยู่ในเส้นทางนี้หรือไม่

ขณะที่เด็กไทยสูญเสียความฝัน วงการฟุตบอลไทยต้องเสียทรัพยากรนักฟุตบอลจำนวนมาก ที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการสร้างนักฟุตบอล และก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นอาชีพสร้างชื่อเสียงให้กับวงการฟุตบอลไทย

คงบอกไม่ได้ว่าเพชรเม็ดงามของประเทศเรา หายไปเยอะมากแค่ไหน เพราะเพชรเหล่านั้นไม่ได้มีโอกาสถูกเจียระไนเมื่อครั้งยังเป็นก้อนหินธรรมดา

เพชรเหล่านั้นที่เราเสียไปเมื่อในอดีต อาจทำให้ทีมชาติไทยเป็นหนึ่งทีมแถวหน้าของเอเชีย ขณะที่มูลค่าที่เสียไปอาจหมายถึงโอกาสในการไปเล่นฟุตบอลโลก ความฝันสูงสุดของทีมชาติไทย

ความเหลื่อมล้ำของเยาวชน

อย่างไรก็ตาม วงการฟุตบอลไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพ พร้อมกับการปรับโครงสร้างของสโมสรฟุตบอลไทยในปี 2009 ที่สโมสรฟุตบอลต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลตามข้อบังคับของเอเอฟซี

 3

เม็ดเงินจำนวนมหาศาล หลั่งไหลเข้าสู่วงการฟุตบอลไทย ผลที่ตามมา สโมสรต่างๆ เริ่มพัฒนาโครงสร้างต่างๆ รวมถึงการปรับค่าเหนื่อยของนักบอลไทยที่เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว

ในอดีตนักบอลต้องไปค้าแข้งต่างแดน หรือเป็นนักบอลควบกับเป็นพนักงานนั่งโต๊ะ ปัจจุบันการเป็นนักฟุตบอลอาชีพเพียงอย่างเดียว สามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และมากพอที่จะเปลี่ยนความคิดของผู้ปกครองที่มีต่ออาชีพนักฟุตบอล พร้อมส่งเสริมให้บุตรชายเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

จากที่เคยมีแค่โรงเรียนกีฬาหรือโรงเรียนในกรุงเทพฯเป็นเส้นทางเข้าสู่วงการฟุตบอล ปัจจุบันอคาเดมีของสโมสรฟุตบอลคือเส้นทางใหม่ที่ตอบโจทย์กับการก้าวสู่การเป็นผู้เล่นอาชีพ

แต่อคาเดมีของสโมสรฟุตบอลในปัจจุบันเปิดรับนักฟุตบอลอย่างจำกัด ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเข้าไปสู่กระบวนการสร้างนักเตะ จำนวนเด็กหลายหมื่นชีวิตที่แห่ไปคัดตัวกับสโมสรใหญ่ๆ เพื่อลุ้นโอกาสเป็นไม่กี่สิบชีวิตต่อรุ่น ที่จะได้รับคัดเลือก กลายเป็นภาพข่าวที่ถูกนำเสนอออกสื่อบ่อยครั้ง

ด้วยค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ของอาชีพนักฟุตบอลในปัจจุบัน ทำให้การเดินตามฝัน อยากเป็นนักบอลของลูกชาย เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะเสี่ยงในสายตาของคุณพ่อคุณแม่ เมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน

 4

โรงเรียนสอนฟุตบอลจำนวนมากเกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทยที่มองภาพของอาชีพนักฟุตบอลเปลี่ยนไป โรงเรียนสอนฟุตบอลที่สนามหญ้าเทียม (หรือคนไทยเรียกติดปากว่า อคาเดมี) จะช่วยเสริมสร้างทักษะเเละกระดูกตัวน้อย เพื่อให้มีความพร้อมกับการเข้าสู่อคาเดมีสโมสรฟุตบอลต่อไป

ธีรยุทธ บัญหนองสา ผู้บรรยายกีฬาชื่อดังของเมืองไทย เป็นอีกคนที่ส่งลูกชายเข้าเรียนในโรงเรียนฟุตบอล มองเห็นความสำคัญของอคาเดมีฟุตบอลตามสนามหญ้าเทียมในปัจจุบัน ว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างเยาวชนขึ้นมาประดับสู่วงการฟุตบอลไทย ทั้งมุมมองในฐานะสื่อและคุณพ่อคนหนึ่ง

“โรงเรียนสอนฟุตบอลเข้ามาตอบโจทย์ในการสร้างเยาวชน เพราะการสร้างนักฟุตบอลต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่ 4-5 ขวบ หรือจนถึง 7 ขวบ ในทุกช่วงอายุเด็กจะได้พัฒนาความสามารถตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งต่อยอดเป็นพัฒนาการต่อไปในแต่ละวัย”

“ผมส่งลูกชายเรียนตั้งแต่ 4 ขวบ ส่งเรียนมา 2 ปีแล้ว เพราะมีความฝันอยากเห็นเขาเป็นนักเตะทีมชาติ การให้ลูกชายไปเรียนตั้งแต่เด็ก คือให้เขาไปปลูกฝังทัศนคติความสนุกกับฟุตบอล”

“ผมไม่บังคับลูกชายให้เป็นนักฟุตบอลนะ ถ้าเขาโตมาแล้วไม่อยากเป็นก็ไม่เป็นไร แต่ผมมองว่าเด็กทุกคนที่อยากเป็นนักฟุตบอล ต้องได้เรียนในอคาเดมี เพื่อเป็นการปูพื้นฐานต่อไปในอนาคต เด็กได้เข้าสู่กระบวนการสร้างนักฟุตบอลอย่างถูกต้อง”

 5

โรงเรียนสอนฟุตบอลตามสนามหญ้าเทียมเข้ามา ช่วยสร้างความพร้อมให้กับเด็กไทยกับเส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ไม่ต้องเริ่มต้นแบบไร้หลักสูตรเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

แต่ในขณะที่วงการฟุตบอลไทยมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนของการเป็นนักฟุตบอลจึงเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์ และค่าเดินทางในการพาไปคัดตัวตามแต่สถานที่ แม้จะไม่ใช่ปัญหาสำหรับครอบครัวที่มีทุนทรัพย์ แต่สำหรับเด็กที่ไม่ได้มีฐานะครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ การเป็นนักฟุตบอล ยังคงเป็นความฝันที่ไกลเกินจริง นอกเหนือจากว่าเด็กคนนั้นจะมีพรสวรรค์มาก จนสามารถคัดตัวผ่านเข้าไปอยู่ในสโมสรได้

ผู้เขียน รู้จักเด็กคนหนึ่งที่มีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลตั้งแต่วัยเยาว์ แต่เขาไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะ สุดท้ายต้องล้มเลิกความฝันการเป็นนักบอลเพราะมีต้นทุนที่สูงเกินไป และหันไปเอาดีด้านกีฬาประเภทอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า

แม้วงการฟุตบอลไทยจะได้รับความนิยมขึ้น และโอกาสในการเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลไทยมีมากขึ้น แต่ก่อให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำ” ระหว่างเด็กไทย ที่มีโอกาสไม่เท่ากันกับการเป็นนักบอลอาชีพ สุดท้ายเด็กไทยจำนวนไม่น้อย ต้องเสียโอกาสในการเป็นนักฟุตบอล เพชรล้ำค่าของทีมชาติไทยไม่มีโอกาสได้ฉายแสง เพราะขาดเงิน  ที่จะกะเทาะหินแข็งที่ปกคลุมอยู่

“ลองนึกภาพเด็กที่อยู่ในชนบท อยู่อำเภอชายขอบ ไม่ได้อยู่เขตเมือง หรือมาจากครอบครัวที่ขาดทุนทรัพย์ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กเหล่านี้จะได้หาองค์ความรู้ด้านฟุตบอล เป็นจุดอ่อนของระบบโรงเรียนสอนฟุตบอลเอกชน คือเข้าไม่ถึงในทุกพื้นที่ ตรงนี้ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือ” ธีรยุทธ บัญหนองสา แสดงความเห็นกับ Main Stand

 6

เช่นเดียวกับ อาจารย์ สมบัติ ลีกำเนิดไทย ที่มองว่า แม้ในปัจจุบันอคาเดมีสอนฟุตบอล จะมีความสำคัญมากกับการสร้างเยาวชนในวงการลูกหนังไทย แต่อคาเดมีแต่ละแห่งสามารถรับนักเรียนได้อย่างจำกัด และยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็กที่มีความฝันและต้องการจะเรียนรู้เป็นนักฟุตบอล

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ความผิดของ โรงเรียนสอนฟุตบอลพิเศษ ที่เปิดขึ้นมากมาย และเรียกเก็บเงินค่าฝึกสอน

เพราะโรงเรียนสอนฟุตบอล (อคาเดมี) เหล่านี้ ก็สร้างประโยชน์และผลดี ต่อวงการฟุตบอลไทย แต่เพราะภาครัฐขาดการสนับสนุน ที่จะสร้างความเท่าเทียมให้เด็กไทยทุกคน มีโอกาสในการได้เริ่มต้นเส้นทางฟุตบอลของตัวเอง

ศูนย์ฝึกเยาวชนที่ก่อตั้งโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับเยาวชน รวมถึงมีบทบาทในการสร้างนักเตะเข้าสู่สารบบทีมชาติ สำหรับประเทศหัวแถวในโลกฟุตบอล

แต่ในประเทศไทย จำนวนของศูนย์ฝึกฟุตบอลสำหรับสร้างแข้งเยาวชนคือ “ศูนย์”

เรียนรู้จากชาติชั้นนำ

ขณะที่วงการฟุตบอลไทย ปล่อยให้การสร้างนักฟุตบอลเป็นไปตามกลไกตลาดของภาคเอกชน ในหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จทางฟุตบอล ภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างมากในพัฒนาผู้เล่นเยาวชน

 7

หนึ่งในชาติต้นแบบการสร้างผู้เล่นเยาวชนของโลกฟุตบอลอย่าง เยอรมัน ลงทุนสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนมากถึง 390 แห่งทั่วประเทศ และในทุกปีเด็กเยอรมันจำนวน 22,000 คน จะถูกดึงเข้าสู่ศูนย์ฝึก เพื่อเข้าสู่กระบวนการสร้างแข้งอินทรีเหล็กในอนาคต

เยอรมันทุ่มเงิน 10 ล้านยูโร (ประมาณ 400 ล้านบาท) ต่อปี ในการพัฒนาเยาวชน โดยร่วมมือกับทุกสโมสรฟุตบอลในเยอรมัน ที่มีการฝึกในแนวทางเดียวกัน เด็กที่มีแววสโมสรฟุตบอลอาชีพจะมารับตัวไปฝึกต่อ ส่วนใครที่ยังไม่เข้าตา สามารถฝึกที่ศูนย์ฝึกได้ต่อจนถึงอายุ 17 ปี หลังจากนั้นถ้ายังไม่ได้รับการเซ็นสัญญาจากสโมสร คงจำเป็นที่จะต้องยุติความฝันกับเส้นทางนักฟุตบอล

“ที่เยอรมันต้องสร้างศูนย์ฝึกเยอะ เพราะต้องการสร้างนักฟุตบอลให้ได้เยอะที่สุด สมมุติว่าเรานักเตะเข้ามาหนึ่งรุ่นจำนวน 1,000 คน พอถึงอายุ 17-18 ปี จะเหลือ 500 คน ครึ่งหนึ่งจะถูกคัดออก และจาก 500 คนที่เหลืออยู่มีประมาณแค่ 20 คน ที่จะได้ไปต่อจริงๆในอาชีพฟุตบอล”

“เห็นได้ว่ามีความจำเป็นที่เยอรมันต้องสร้างศูนย์ฝึกเยอะ เพราะความจริงศูนย์ฝึกสร้างนักฟุตบอลแถวหน้าได้น้อย อคาเดมีของสโมสรฟุตบอลก็เช่นกัน ดังนั้นยิ่งมีศูนย์ฝึกเยอะ ยิ่งสร้างนักเตะคุณภาพได้เยอะ”

 8

วิทยา เลาหกุล หรือ โค้ชเฮง ผู้เคยมีประสบการณ์ไปสัมผัสการสร้างเยาวชนในเยอรมันมาแล้ว จากประสบการณ์การค้าแข้งในบุนเดสลีก้า ฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญที่หน่วยงานฟุตบอลที่เยอรมัน จำเป็นต้องลงทุนมหาศาลกับการสร้างเยาวชน

การสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนนอกจากสร้างผลดีต่อวงการฟุตบอล เพราะเป็นการเพิ่มจำนวนแข้งฝีเท้าดีให้เพิ่มขึ้น ยังให้โอกาสเด็กทุกคนได้เดินตามฝันการเป็นนักฟุตบอล ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยเด็กทุกคนได้มีโอกาสลอง เพิ่อที่จะได้รู้ว่าเขาสามารถเป็นนักบอลได้หรือไม่ ดีกว่าต้องทิ้งความฝันไปทั้งที่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ

เขยิบมาใกล้ตัวมากขึ้น ญี่ปุ่นคืออีกประเทศที่ภาครัฐบาลให้การสนับสนุนการสร้างนักฟุตบอลเยาวชนมาโดยตลอด สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นหรือเจเอฟเอ วางแผนที่เรียบง่ายแต่ทรงประสิทธิภาพ นั่นคือเน้นการพัฒนาเยาวชน ซึ่งเป็นวิธีสร้างความมั่นคงในระยะสั้นและระยะกลางให้แก่วงการฟุตบอลแดนอาทิตย์อุทัย

เพื่อตอบโจทย์นั้น ญี่ปุ่นสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนตามแต่ละภูมิภาคของประเทศ โดยมีหลักสูตรการสอนเดียวกัน และฝึกสอนเยาวชนด้วยโค้ชระดับโปรไลเซนส์หรือเอไลเซนส์

 9

เป้าหมายของการสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนของญี่ปุ่น คือการพยายามหานักฟุตบอลที่มีคุณภาพให้ได้มากที่สุดเข้าสู่ทีม “ซามูไร บลู” เจเอฟเอเชื่อว่าประเทศญี่ปุ่นมีทรัพยากรนักฟุตบอลรุ่นเยาว์ที่พร้อมจะก้าวเป็นยอดนักเตะแถวหน้าของโลก จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างศุนย์เยาวชน เพื่อไม่ให้ทรัพยากรในประเทศต้องเสียเปล่า

นอกจากนี้ เจเอฟเอยังส่งโค้ชที่ผ่านการอบรมมีไลเซนส์ จากฟีฟ่าหรือเอเอฟซี ไปอยู่ตาม โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อสอนวิชาฟุตบอลให้กับเด็กในโรงเรียน ที่ไม่ได้เข้าสู่อคาเดมีสโมสรฟุตบอล ได้อยู่ในเส้นทางฟุตบอลต่อไป และเป็นอีกแนวทางหนึ่งกับการสร้างเยาวชนขึ้นสู่ทีมชาติ

“ญี่ปุ่นมีหลายเส้นทางในการสร้างนักฟุตบอลอาชีพ อคาเดมีสโมสรฟุตบอล, ศูนย์ฝึกเยาวชน ไปจนถึงทีมบอลประจำโรงเรียน ซึ่งทุกทางในการปั้นเยาวชน มีเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างนักฟุตบอลทีมชาติ” เฮงซังกล่าวถึงแนวทางการสร้างนักเตะทีมชาติของทัพซามูไร บลู

“รัฐบาล” หัวเรือสำคัญ

ทั้งเยอรมันและญี่ปุ่น คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการสนับสนุนจากภาครัฐส่งผลดีให้กับวงการฟุตบอลในชาติทั้งเรื่องการสร้างเยาวชนเพื่อขึ้นสู่การเป็นผู้เล่นทีมชาติ รวมถึงเป็นการให้โอกาสเด็กไทยที่อยากเป็นนักฟุตบอลได้เดินตามฝัน

 10

โค้ชเฮง ชายที่ทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนในเมืองไทยมาอย่างยาวนาน มองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีศูนย์ฝึกเยาวชนส่วนกลางที่จัดทำโดยภาครัฐ เพื่อสร้างนักฟุตบอลที่มีคุณภาพให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

“การมีศูนย์ฝึกเยาวชนที่สร้างโดยภาครัฐสำคัญมากในการสร้างเยาวชนขึ้นสู่ทีมชาติ เพราะเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของการสร้างและพัฒนานักฟุตบอลให้มีคุณภาพ ทำให้การสร้างเยาวชนมีแบบแผน พัฒนาในหลักสูตรเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในชาติฟุตบอลชั้นนำทั่วโลก”

“ยกตัวอย่างญี่ปุ่น การพัฒนาเยาวชนต้องมาควบคู่กับการพัฒนาโค้ช แต่ประเทศไทยตอนนี้สร้างแต่โค้ช ไม่สร้างศูนย์ฝึกเยาวชนให้โค้ชเหล่านี้ไปทำงาน พอมาไม่ควบคู่กัน โค้ชก็ไม่มีที่ทำงาน สุดท้ายต้องไปเปิดโรงเรียนสอนของตัวเอง”

แม้การสร้างศูนย์ฝึกให้กับเยาวชนจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่โค้ชเฮงยอมรับตามตรงว่า การสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนต้องใช้งบประมาณมหาศาล และดูเหมือนว่าในปัจจุบัน การสร้างพัฒนานักฟุตบอลรุ่นเยาว์ไม่ใช่เรื่องที่ได้รับความสำคัญจากรัฐบาลส่วนกลาง

“หลายฝ่ายมองว่า การสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนต้องเป็นหน้าที่ของสมาคมฟุตบอลไทย แต่สมาคมไม่ได้มีงบประมาณขนาดนั้น ความจริงเรามีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) คอยดูแลเรื่องนี้อยู่ ซึ่งเรื่องการสร้างเยาวชนเป็นสิ่งที่ทางกระทรวงและกกท.ควรดำเนินการมาก”

“การสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนเริ่มต้นจากการสร้างศูนย์ฝึกตามแต่ละภูมิภาคก่อนก็ได้ สัก 4-5 แห่ง เพราะแค่นี้เราจะได้เด็กจำนวนมากเข้าสู่การพัฒนาเป็นนักฟุตบอล ยังมีแข้งช้างเผือกรอให้ค้นหาตามพื้นที่ต่างๆอีกจำนวนมาก”

ขณะที่ อาจารย์ สมบัติ ลีกำเนิดไทย ที่ให้ความเห็นว่า รัฐบาลไทยยังขาดความพร้อมที่จะสร้างศูนย์ฝึกเพื่อพัฒนาเยาวชนด้านฟุตบอล ทำให้การสร้างศูนย์ฝึกยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในปัจจุบัน เพราะวงการฟุตบอลไทยยังขาดความพร้อมหลายด้านทั้งเรื่องงบประมาณและทรัพยากร

“ถ้าจะสร้างศูนย์ฝึกเราต้องการบุคลากรจำนวนมาก และเงินทุนมหาศาล เพราะต้องจ้างโค้ชจำนวนมาก และศูนย์ฝึกที่รัฐบาลเปิด ต้องมีเงินทุนสนับสนุนเด็กจำนวนมากที่จะเข้ามาเรียน คำถามคือรัฐบาลมีงบประมาณให้ตรงนี้ไหม?”

“สมมติว่าสร้างมาแล้วขาดบุคลากรจำนวนมาก ไปเอาครูพละที่ไม่ได้ผ่านการอบรมไลเซนส์โดยตรงมาสอน ก็ไม่มีประโยชน์ ผลไม่เกิดผลดีอะไร เป็นการสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์”

“วิธีที่ง่ายที่สุดที่รัฐจะมาสนับสนุนคือสร้างโค้ช จัดอบรมโค้ชตามโรงเรียนอคาเดมีต่างๆ ให้โค้ชมีองค์ความรู้ มีแบบแผนการฝึกสอนไปในทิศทางเดียวกัน อย่างมีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมงบประมาณผ่านอคาเดมี ทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่าย”

ด้าน ธีรยุทธ บัญหนองสา ผู้บรรยายกีฬาที่คลุกคลีกับวงการฟุตบอลไทยมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เห็นตรงกันว่าไทยยังขาดความพร้อมด้านบุคลากร ทำให้การสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนอาจไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แม้การสร้างศูนย์ฝึกจะเป็นเรื่องที่ดีต่อการพัฒนาเยาวชนไทย

“การจะสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลเราจำเป็นต้องมีบุคลากรโค้ชที่เพียงพอ อย่างที่ญี่ปุ่นโค้ชเอไลนเซนส์เต็มไปหมด สอนทั้งในอคาเดมีสโมสรไปจนถึงโรงเรียนมัธยมทั่วไป”

“แต่ของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นระดับซีไลเซนส์ที่สอนในระดับเยาวชน ซึ่งจริงๆแล้วโค้ชระดับเอไลเซนส์ต้องเป็นคนดูแลเรื่องการพัฒนาเยาวชน ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างโค้ช”

 11

ในส่วนของ โค้ชเฮง-วิทยา เลาหกุล ยังมองว่ามีอีกหลายทางที่ภาครัฐจะช่วยเหลือและเริ่มต้นในการพัฒนาเยาวชนให้วงการฟุตบอลไทย เช่นการให้งบสนับสนุนไปยังโรงเรียนกีฬาตามจังหวัดต่างๆที่มีพร้อมอยู่แล้ว หรือส่งโค้ชไปฝึกสอนฟุตบอลตามโรงเรียนทั่วไป

“ความจริงโรงเรียนกีฬาในสมัยก่อนก็คือศูนย์ฝึกเยาวชน แต่คุณภาพไม่ดีพอที่จะสร้างนักฟุตบอลอาชีพ เพราะขาดงบประมาณ เราพัฒนาโรงเรียนกีฬาได้ ส่งโค้ชไปสอน ให้งบประมาณเพื่อไปพัฒนาโครงสร้างและอุปกรณ์ คำถามคือรัฐบาลจะทำหรือเปล่า?”

“หรือเราจะทำตามญี่ปุ่นส่งโค้ชไปสอนตามโรงเรียน ที่ญี่ปุ่นทีมฟุตบอลประจำโรงเรียนมีคุณภาพมาก สูสีกับทีมจากอคาเดมีสโมสร บางปีได้แชมป์รุ่นเยาวชนด้วยซ้ำไป ยิ่งเรามีแนวทางในการสร้างพัฒนาเยาวชนมากเท่าไหร่ ยิ่งดีกับทีมชาติไทยมากเท่านั้น”

“ทุกวันนี้มีแค่การทำคลีนิคฟุตบอลไปตามโรงเรียนต่างๆ ของสโมสรฟุตบอล หรือของสปอนเซอร์ ซึ่งมันไม่ยั่งยืน และเป็นเรื่องของการทำการตลาดมากกว่าการพัฒนาเยาวชนจริงๆ”

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ หน้าที่รัฐหรือเอกชน? : ทำไมเด็กไทยเรียนฟุตบอลยังต้อง "เสียเงิน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook