ไขรหัสผ่านฟิสิกส์และตัวตน : ไฉน “เคอร์รี” ถึงมี 3 แต้มที่ใครก็หยุดไม่ได้?

ไขรหัสผ่านฟิสิกส์และตัวตน : ไฉน “เคอร์รี” ถึงมี 3 แต้มที่ใครก็หยุดไม่ได้?

ไขรหัสผ่านฟิสิกส์และตัวตน : ไฉน “เคอร์รี” ถึงมี 3 แต้มที่ใครก็หยุดไม่ได้?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด อัจฉริยะก็ไม่ได้สร้างขึ้นในช่วงเวลาข้ามคืนฉันนั้น

สเตเฟน เคอร์รี สร้างความฮือฮาให้กับวงการบาสเก็ตบอลโลกอีกครั้ง ด้วยการขึ้นไปรั้งอันดับ 3 คนยิง 3 คะแนนสูงสุดตลอดกาล หลังทำ 3 คะแนน 5 ครั้ง ช่วยให้ โกลเดน สเตท วอริเออร์ เอาชนะ ชิคาโก บลูส์ 146-109 เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้นในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เขายังทำ 3 คะแนนอีก 11 ครั้ง ในเกมพบกับ ดัลลัส แมฟเวอริค กลายเป็นครั้งที่ 7 ในอาชีพที่ยิง 3 คะแนนได้อย่างน้อย 11 ครั้งในเกมเดียว

แน่นอนว่าในยุคนี้ คงจะไม่มีมือ 3 คะแนนคนไหนที่เก่งกาจไปกว่าเขา จากรางวัลที่การันตีอย่าง แชมป์ NBA 3 สมัย ติดทีมออลสตาร์ 6 สมัย ผู้เล่นทำแต้มสูงสุด 1สมัย รวมไปถึงผู้เล่นทรงคุณค่าแห่งฤดูกาล 2 สมัย

อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของเขา ที่ทำให้ผู้เล่นที่สูงเพียงแค่ 191 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าไม่สูงนักใน NBA ยิง 3 คะแนนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ Main Stand ขอไปหาคำตอบพร้อมกัน

ถ่ายทอดจาก DNA ?
สเตเฟน ไม่ใช่คนจากตระกูลเคอร์รีคนแรก ที่ลงเล่น NBA เพราะก่อนหน้านั้นเมื่อหลาย 10 ปีก่อน เดลล์ เคอร์รี พ่อของเขาก็เคยฝากฝีไม้หลายมือในยอดลีกบาสเก็ตบอลแห่งนี้ ภายใต้สีเสื้อของหลายทีมดังอย่าง ยูทาห์ แจ๊ซซ์, คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส, ชาร์ล็อต ฮอร์เน็ต, มิลวอล์คกี บั๊ค และ โตรอนโต แรปเตอร์ส

ตลอด 16 ฤดูกาลในฐานะชูตติ้ง การ์ด เคอร์รีผู้พ่อ ทำผลงานได้ไม่เลว เขาทำไปทั้งสิ้น 12,670 แต้มจาก 1,083 เกม หรือเฉลี่ย 11.7 คะแนนต่อเกม กับอีก 1,090 แอสซิสต์และ 2,617 รีบาวด์ รวมทั้งเคยคว้ารางวัลตัวสำรองยอดเยี่ยมแห่งปีของ NBA ในปี 1994

000_sapa961223074300
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผลงานการยิง 3 คะแนนของเดลล์ อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี เขามีอัตรายิง 3 แต้มลงห่วงที่ค่อนข้างสูงคือราว 40.2 เปอร์เซ็นต์ และสถิติสูงสุดที่ทำได้คือฤดูกาล 1998-1999 ที่มีอัตราความแม่นสูงถึง 47.6 เปอร์เซ็นต์

ทำให้เชื่อกันว่าอิทธิพลการเป็นมือยิง 3 แต้มเดลล์ ถูกส่งต่อมาถึง สเตเฟน ไม่น้อย ทั้งจากแรงบันดาลใจที่เห็นพ่อตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก และการมีโค้ชส่วนตัวที่เป็นนักบาสระดับ NBA

“เห็นได้ชัดว่ามันน่าทึ่งมาก ผมโชคดีที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ทำให้ผมได้ใช้เวลากับเกมการแข่งขันบาสเก็ตบอล” สเตเฟน กล่าวในงานแถลงข่าวอันเดอร์ อาร์มเมอร์ เอเชีย ทัวร์ ที่ฟิลิปปินส์

“ผมได้เห็นจากพ่อของผม และดูว่าเขารักษาความเป็นมืออาชีพไว้อย่างไร และมันก็ช่วยผมได้ใน NBA ได้”

“เขายังคงอยู่ข้างๆผม เราไปออกกำลังด้วยกัน เขารีบาวด์บอลให้ผม ช่วยฝึกยิงด้วยการเป็นตัวป้องกัน แม่ของผมก็ช่วยเหลือผมเช่นกัน ผมชอบที่จะแชร์ความรู้สึกนี้กับครอบครัวของผม”

กล่าวกันว่าครอบครัวคือพื้นฐานในการสร้างคนคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาในสังคม ไม่ว่าจะในฐานะอะไร และเดลล์ พ่อของเขาก็มีส่วนไม่น้อยในการสร้าง สเตเฟน ให้เก่งกาจได้อย่างในวันนี้ แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง

curry-dad
จังหวะยิงสุดมหัศจรรย์
ต้องยอมรับว่าชั่วโมงนี้ เคอร์รีคือตัวยิงวงนอกที่ดีที่สุดของ NBA ด้วยสถิติยิง 44.4% ในการยิง 3 คะแนนในฤดูกาลนี้ การยิงของเขาดูง่ายราวกับปอกกล้วยเข้าปาก แต่ภายใต้ความง่ายนั้นมันมีความพิเศษซ่อนอยู่ไม่น้อย  

จริงอยู่ที่เคอร์รี อาจจะได้รับอิทธิพลจากพ่อเขาที่เล่นตำแหน่ง ชู้ตติ้งการ์ด แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากพ่อ รวมไปถึงคนอื่นในยุคนี้คือ เคอร์รีคิดไวทำไว ไม่ว่าจะเป็นการเซ็ตท่ายิง การยกบอลขึ้นเหนือหัว หรือแม้กระทั่งการปล่อยบอล ทุกอย่างดูรวดเร็วไปหมดจนคู่ต่อสู้ตั้งตัวไม่ทัน กลายเป็นจังหวะมหัศจรรย์สำหรับตัวเขา

จากสถิติที่ ESPN เคยบันทึกไว้เมื่อปี 2015 พบว่า เคอร์รี ใช้เวลาเพียงแค่ 0.33 วินาทีในการจัดระเบียบร่างกายเซ็ตท่ายิง ใช้เวลายกบอล 0.06 วินาที ก่อนจะใช้เวลาเพียง 0.4 วินาที ในการปล่อยบอล ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของผู้เล่นคนอื่นๆในลีกอยู่ที่ 0.54 วินาที

“ผมไม่เคยเห็นใครที่ปล่อยบอลได้เร็วขนาดนี้ ในทางวิทยาศาสตร์ ง่ายๆเลยคือบอลเดินทางในระยะที่สั้นกว่า ก่อนที่จะถูกปล่อย นี่คืออย่างแรก” จอห์น ฟอนตาเนลลา ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ เจ้าของหนังสือ ‘หลักฟิสิกส์ของบาสเก็ตบอล’ กล่าวกับ San Francisco Chronicle

“อย่างที่สองคือการหักและสะบัดข้อมือ ลูกยิงเกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวเพียงครั้งเดียว มันคือการกระโดดยิงที่แท้จริง แค่เอาบอลไว้เหนือหัวจากนั้นก็สะบัดข้อมือ เขารับบอล และส่งมันลงห่วงในการเคลื่อนไหวเพียงครั้งเดียว”

000_hs825
“ตอนที่บอลมาถึง มันก็เคลื่อนที่ไปแล้ว และจากที่ผมเห็นในเคสของเขา บอลไม่ได้หยุดเลย”

ลูกยิงของเคอร์รี ยังมีองศาการชู้ตที่สูงกว่าคนอื่น ตามทฤษฎีแล้ว 45 องศาคือตัวเลขสมบูรณ์แบบที่สุด ทว่าในความเป็นจริงมันมีโอกาสสูงมากที่จะถูกบล็อค ทำให้เขาปรับเปลี่ยนองศาการยิงอยู่ในระดับ 50-55 องศา

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ้าของ MVP 2 สมัย ฝึกยิงในมุมนี้คือส่วนสูงของเขาที่สูงเพียง 191 เซนติเมตร และถือว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยผู้เล่นส่วนใหญ่ในลีกที่สูงเกือบ 2 เมตร ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาได้รับการปลูกฝังจาก เดลล์ ผู้เป็นพ่อมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ

นอกจากนี้ การปล่อยบอลทันทีที่กระโดดของเขา จากปกติควรจะปล่อยบอลตอนอยู่บนจุดสูงสุดของการกระโดด ยังทำให้บอลของเคอร์รีลอยเป็นวิถีโค้งกว่าคนอื่น โดยจุดสูงสุดของลูกยิงของเขาคือ 16.23 ฟุต มากกว่าค่าเฉลี่ยของ NBA ที่มีความสูง 15.77 ฟุต

“ในทุกทีมที่เขาลงเล่น เขาเป็นคนตัวเล็กที่สุด แต่เขาก็หาวิธีทำให้มันโดดเด่นจนได้” เดลล์ เคอร์รีกล่าวถึงลูกชาย

000_was8932961
“เขาปล่อยบอลเป็นจังหวะ ปล่อยเมื่อมือมาถึงบริเวณหัว มันเป็นเส้นโค้งและบล็อคยาก วิธีนี้มันเหมาะกับคนสูง 6 ฟุต 3 นิ้วแบบเขา”

และความสูงของวิธีโค้ง ทำให้ลูกยิงของเคอร์รี ได้เปรียบในการทำมุมกับห่วง เพราะยิ่งโค้งสูงเท่าไร มุมก็จะเปิดกว้างมากขึ้น จากสถิติระบุว่าองศาของเคอร์รี เพิ่มโอกาสบอลลงห่วงถึง 19 เปอร์เซ็นต์และกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เขายิงสามคะแนนได้อย่างไร้เทียมทาน

“ผมแน่ใจว่าเคอร์รีปล่อยบอลในมุมที่การยิงที่นุ่มนวลที่สุด หมายความว่าเขามีเทคนิคชั้นเซียนในการทำให้บอลพุ่งลงห่วง มันค่อยๆเคลื่อนที่อย่างช้าๆเท่าที่ทำได้” ฟอนตาเนลลากล่าว

“ถ้าคุณเพิ่มหรือลดมุม มันจะเคลื่อนที่เร็วขึ้น เรียกได้ว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านวิถีการยิงจริงๆ”

ยิงจากทุกที่ในสนาม
“เคอร์รีมีชุดทักษะที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ทั้งเรื่องการยิงและเลี้ยงบอล ควบคู่ไปกับสปีดและความว่องไว” สตีฟ เคอร์ กุนซือ โกลเดน สเตท กล่าวถึงลูกทีมกับ San Francisco Chronicle

นี่ไม่ใช่การกล่าวเกินเลย เพราะนอกจากความสามารถในฐานะตัวยิงที่พึงมี เคอร์รี ยังมีทักษะการทะลุทะลวงในฐานะการ์ดจ่าย เขาสามารถเลี้ยงบอลเพื่อไปหาตำแหน่งยิงที่ดีที่สุด โดยใช้เวลาเพียง 0.33 วินาทีในการหยุดแล้วเซ็ตท่ายิง แล้วก็ “ซวบ”  

000_t76yh
อีกหนึ่งในกุญแจความสำเร็จของเขาคือระยะในการยิง เขาอาจจะยังไม่ใช่เป็นมือยิง 3 คะแนนที่ดีที่สุดตลอดกาลของ NBA แต่เขาคือมือยิง 3 คะแนนระยะไกลที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา เขายิง 3 แต้มมาแล้วในทุกรูปแบบ ทั้งฝั่งคู่แข่ง กลางสนาม หรือแดนตัวเอง

เจ้าของแชมป์ NBA 3 สมัยมีสถิติการยิงที่น่าทึ่งคือเขามักจะยิงในระยะ 30-35 หลา และสามารถส่งลูกลงห่วงได้ถึง 54 เปอร์เซ็นต์ในฤดูกาลนี้ ในขณะที่สถิติ เฉลี่ยทั้งหมดของลีกอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ และในระยะนี้ยิงลงกันไปเพียงแค่ 22 เปอร์เซ็นต์

ตามทฤษฎีแล้วระยะ 30-35 หลาถือเป็นระยะที่ยิงค่อนข้างยาก แต่ เคอร์รี กลับทำได้อย่างง่ายดาย โดย 4 ฤดูกาลหลังบวกกับฤดูกาลนี้ เคอร์รี สามารถส่งลูกลงห่วงในระยะนี้ได้สูงถึง 48 เปอร์เซ็นต์

“เรามีพอยน์การ์ดมากมายใน NBA แต่ไม่มีใครใกล้เคียงกับสเตฟ ความเร็ว และการทำอะไรๆ ที่ดูง่ายไปหมด ทำให้เขาน่ากลัวเหลือเกิน” แบรนดอน เพย์น จากศูนย์ฝึก Accelerate Basketball และเป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวของ เคอร์รี กล่าว

“สเตฟ มีความมั่นใจมากในทุกมุมของสนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงบอลของเขา เขารู้ว่าเขาไม่มีทางเสียบอล ไม่ว่าเขาจะทำแบบไหนกับมัน”

000_was8932408
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำให้เขามีสถิติการยิงที่โดดเด่น คือการยิง 3 คะแนนในทุกจังหวะที่มีโอกาส เคอร์รี ต่างจากดาวดังคนอื่นอย่างไมเคิล จอร์แดน หรือ เลบรอน เจมส์ ที่มักจะแหวกเข้าไปทำคะแนนวงใน แต่หัวใจสำคัญของเขาคือการพยายามยิงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญมันดันแม่นเสียด้วย

นับตั้งแต่ NBA บรรจุกฎ 3 คะแนนลงในการแข่งขันเมื่อ 40 ปีก่อน แทบจะไม่มีใครคิดว่าจะมีทีมที่คว้าแชมป์ และคว้ารางวัล MVP ด้วยการยิง 3 คะแนนเป็นหลักมาก่อน เคอร์รี มีสถิติพยายามยิง 3 คะแนนอย่างน้อย 12 ครั้งต่อเกม และลงห่วงไปถึง 45 เปอร์เซ็นต์

เขายังเป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นที่พยายามยิง 3 คะแนนมากที่สุด นับตั้งแต่ สตีฟ เคอร์ เข้ามาคุมทีมในปี 2014-2015 โดยยิงไปทั้งสิ้นเกือบ 4,000 ครั้ง

ความสามารถของเขาที่มีราวกับเป็นพรสวรรค์ เพราะน้อยคนที่จะทำได้ แต่ก็ไม่ได้ถูกต้องเสียทั้งหมดหากจะพูดอย่างนั้น

ผมมันอันเดอร์ด็อก
ในวัย 30 ปี เคอร์รีถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตอาชีพ เขากวาดรางวัลทุกรางวัลที่ควรได้ใน NBA ทั้งแหวนแชมป์ ผู้เล่นทรงคุณค่ายอดเยี่ยม ติดทีมออลสตาร์แห่งปี หรือแม้กระทั่งผู้เล่นทำแต้มสูงสุดของฤดูกาล ก็ต่างได้เชยชมมาหมดแล้ว แต่กว่าจะมาได้ถึงจุดนี้ไม่ใช่ความสามารถทั้งหมด

000_hkg10207275
ในอดีต เคอร์รี ถือเป็นผู้เล่นที่ตัวเล็กและผอมบาง ลักษณะทางร่างกายของเขาเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาไม่ได้รับเลือกจากมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในเรื่องบาสเก็ตบอล

และสิ่งสำคัญที่ทำให้ เคอร์รี ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองคือ ซ้อม ซ้อม และซ้อมให้มากที่สุด ความขยันซ้อมของเขา ทำให้เขาโดดเด่นตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย และมันยังเป็นสิ่งที่เคอร์รียึดถือมาตลอดจนถึงตอนนี้

“ผมไม่คิดว่าทุกคนจะสนุกกับการฝึกซ้อม วิดพื้น วิ่ง หรือทำอะไรแบบนี้ทั้งหมด ถ้าคุณรักในเกม ถ้าคุณอยากจะซาบซึ้งกับช่วงเวลาที่สปอตไลท์ส่องมา หรือทุกครั้งที่ยิง คุณต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อช่วงเวลานั้น”

การซ้อมของเคอร์รี เริ่มต้นตั้งแต่เบสิค ฟุตเวิร์ค เขาใช้เวลาไปร่วมชั่วโมงในการซ้อมโดยไม่มีบอล ก่อนจะไปซ้อมการเลี้ยงบอล และการครองบอล

“เราวอร์มอัพช่วงเริ่มต้นการฝึกซ้อมในทุกวันด้วยแบบฝึกที่โฟกัสกับการเลี้ยงบอล, ครองบอล และเคลื่อนที่ไปกับบอลโดยเฉพาะ ค่อยๆทำไปทีละสเต็ป สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆหลายครั้งในเกม ซึ่งบางทีคุณต้องผ่านมันไป เพียงแค่ประสานงานกันให้ดี มันต้องสุดยอดแน่นอนในสนาม” เคอร์รีกล่าว

นอกจากการฝึกซ้อมเป็นทีมแล้ว เคอร์รี ยังฝึกซ้อมพิเศษเป็นการส่วนตัว ตั้งแต่ระดับง่ายๆอย่าง เลี้ยงบอลสองมือในทีเดียว เลี้ยงจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งโดยมีสายรัดยางยืดผูกเอวเอาไว้ ไปจนถึงระดับแอดวานซ์เช่น  ปิดตาเลี้ยงลูกพร้อมกับโยนลูกเทนนิสไปด้วย หรือไฟจำลองเพื่อฝึกปฏิกิริยาของมือในการเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้

“เรามีไฟจำลองอยู่ในสนามซ้อม ถ้ามีผู้เล่นแนวรับอยู่ตรงหน้าผม ผมต้องรู้ว่าเขาอยู่ตรงไหน และพร้อมเสมอสำหรับการเคลื่อนไหวที่ผมกำลังจะทำต่อไป”  

การฝึกซ้อมของ เคอร์รี ถือว่าอยู่ในระดับที่บ้าคลั่ง แม้กระทั่งจนถึงทุกวันนี้ เขายังใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงหยุดซัมเมอร์ไปกับการซ้อม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูกาลใหม่อยู่เสมอ

“ผมเป็นคนประเภทนักกีฬารองบ่อนมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลายแล้ว” เคอร์รี่กล่าวกับ Sporting News

000_1929wa
“สิ่งเดียวที่ผมควบคุมได้ คือ ขึ้นอยู่ว่าคุณจะซ้อมอย่างหนักในยิมช่วงซัมเมอร์ได้แค่ไหน เพราะต้องเตรียมที่จะเจอกับตารางการแข่งขัน 82 เกม และมันก็ยากขึ้นยากขึ้นทุกปี นี่เป็นส่วนสำคัญสำหรับการเติบโตของผมในฐานะผู้เล่น”

“ไม่ว่าใครก็สามารถเตรียมตัวให้พร้อมกับการเข้าค่ายเก็บตัวและการแข่งขันออลสตาร์ก่อนเปิดฤดูกาล แต่เพื่อรักษาสภาพร่างกายของตัวเองให้ตลอดรอดฝั่งในการแข่งขันที่ลากยาวขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบเพลย์ออฟ  นี่คือสิ่งที่คุณต้องทำ หากต้องการยกระดับตัวเองขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น”

ฤดูกาลนี้ เคอร์รีกำลังไล่ล่าแหวนวงที่ 4 และกำลังไปได้สวย เมื่อโกลเดน สเตท วอริเออร์ เป็นผู้นำในสายตะวันตก โซนแปซิฟิค ด้วยสถิติชนะ 41 แพ้ 16 โดยตัวเองทำแต้มเฉลี่ยสูงสุดของทีมที่ 28.6 คะแนนต่อเกม

แม้ผลงานของเขาจะทำให้สื่อพากันเรียกว่าผู้เล่นมหัศจรรย์ แต่ภายใต้ความยอดเยี่ยมนี้ มัน คือ ความพยายามที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองซ่อนอยู่

จริงอยู่ที่เคอร์รี มีพรสวรรค์ในการชู้ตที่ยากจะหาใครลอกเลียนแบบ แต่กว่าที่จะมาได้จุดนี้เขาต้องซ้อมอย่างหนัก ในหนึ่งสัปดาห์เขาต้องซ้อมยิงเป็นพันลูก เพื่อให้ร่างกายจำได้ และเซ็ตท่ายิงได้อย่างสมบูรณ์แบบ แถมช่วงปิดฤดูกาลก็ต้องซ้อม เพื่อไม่ให้ตัวเองตามหลังคนอื่น

มันความมุมานะ และการมีวินัยกับตัวเองเพื่อที่รักษามาตรฐานเอาไว้ 3 แต้มมหัศจรรย์จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้อย่างที่วลีประจำตัวของเขาว่าเอาไว้

“I Can Do All Things” ผมทำได้หมดทุกอย่างนั่นแหละ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook